พรรณไม้และสัตว์ป่า..ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 32 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2522 มีพื้นที่ 975,000 ไร่ หรือ 1,500 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในท้องที่ตำบลทุ่งลุยลาย ตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร , ตำบลโนนทอง ตำบลบ้านบัว ตำบลหนองข่า ตำบลกุดเลาะ ตำบลบ้านยาง ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และตำบลหนองบัวแดง ตำบลนางแดด ตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
ป่าภูเขียวมีพื้นที่เชื่อมต่อเป็นผืนป่าผืนเดียวกับป่าอนุรักษ์แห่งอื่น รวมเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 2,800,000 ไร่ ทิศเหนือติดแนวเขตด้านใต้ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์(หรือเขื่อนน้ำพรม)ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ทิศใต้จดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ทิศตะวันออกจดภูเขาดิน บริเวณห้วยน้ำพรม กุดีด่านนอก และป่าสงวนแห่งชาติโคกใหญ่ ส่วนทิศตะวันตกจดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ และอุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์
ป่าภูเขียวเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาล้อมรอบพื้นที่ราบสูงตอนกลาง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 235 – 1,310 เมตร ทางตอนเหนือของพื้นที่วงรอบไปด้วยเทือกเขาภูเขียวน้อยและต่อด้วยเทือกเขาภูเขียวใหญ่ ทอดเป็นแนวยาวทางด้านทิศตะวันออก และวกลงใต้กลับขึ้นไปจดกับภูเขียวน้อยทางทิศตะวันตก ทำให้ลักษณะพื้นที่คล้ายรูปเกือกม้า บริเวณสันเขาจะเป็นหน้าผาสูงชันตลอดทั้งแนว ทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นภูเขาสูงชันเรียงรายสลับซับซ้อน บางส่วนเป็นเทือกเขาหินปูน ซึ่งประกอบด้วยถ้ำขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามหลายแห่ง มียอดเขาที่สูงที่สุดได้แก่ ยอดเขาโป่งทองหลาง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,310 เมตร
ฝายทหาร
จากกรุงเทพไปถึงอำเภอเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร จากอำเภอชุมแพ ไปตามเส้นทางของแก่น-หล่มสัก ประมาณ 20 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปตามเส้นทางคอนสาร-เขื่อนจุฬาภรณ์ จนถึงหลักกิโลเมตรที่36 ก็จะพบทางแยกด้านซ้ายมือ ซึ่งเป็นด่านตรวจฯและเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ป่าฯปางม่วง จากนี้ตรงต่อไปอีกราว 26 กิโลเมตร ก็ถึงสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
บริเวณสำนักงานเขตฯภูเขียว มีร้านสวัสดิการอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งมีบ้านพักและลานกางเต็นท์ไว้รองรับนักท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้หากต้องการพักแรม ควรทำเรื่องขออนุญาตเข้าพื้นที่ฯ ก่อนเดินทางไป
ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบบนภูเขียวออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(10 ชนิด) , สัตว์ป่า(10 ชนิด) และนก(23 ชนิด)
ไม้ป่า
มีทั้งหมด 10 ชนิด เน้นเฉพาะที่พบดอก ผล หรือต้นที่เด่นสะดุดตา โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด
1. จ๊าฮ่อม
ชื่อท้องถิ่น : กระดองเต่าร้าง , กระดองเต่าหัก(หนองคาย) ; หว้าชะอำ(นครราชสีมา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peristrophe lanceolaria (Roxb.) Nees.
วงศ์ : ACANTHACEAE
จ๊าฮ่อม
ไม้ล้มลุก ตั้งตรง สูง 1-1.5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรี หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกยาวราว 7.5-11.5 ซม. ดอกจะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกสีชมพู สีชมพูอมม่วง หรือสีม่วง ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ.
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 20 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าดิบและตามไหล่เขาสูงทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แพร่กระจายในเอเชียเขตร้อน
2. เหียง
ชื่อท้องถิ่น : ตะลาอ่ออาหมื่อ , ล่าทะยอง(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; เกาะสะเตียง(ละว้า-เชียงใหม่) ; เห่ง(ลื้อ-น่าน) ; สะแบง(อุตรดิตถ์ , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ตาด(พิษณุโลก , จันทบุรี) ; คร้าด(โซ่-นครพนม) ; ซาด(ชัยภูมิ) ; กุง(อุบลฯ , ปราจีนบุรี) ; ตะแบง(ภาคตะวันออก) ; ยางเหียง(จันทบุรี , ราชบุรี) ; สาละอองโว(กะเหรี่ยง-กาญจนฯ) ; เหียงพลวง , เหียงโยน(ประจวบฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq.
วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE
เหียง
ไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 8-30 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งก้าน รูปไข่กว้าง รูปขอบขนาน หรือรูปรี ผลัดใบในช่วงปลายหนาวต้นร้อน ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้นๆตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 2-10 ซม. ช่อละ 3-7 ดอก ขนาดดอก 3.5-5 ซม. เมื่อดอกบานเต็มที่ก็จะหลุดร่วงลงสู่พื้น ดอกสีชมพู หรือสีชมพูสด กลีบดอก5กลีบ รูปใบหอก ปลายกลีบบิดเวียนเป็นเกลียวคล้ายกังหัน ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – มี.ค.
ผลรูปกลม ขนาด 1.5-3.5 ซม. เปลือกแข็ง สีน้ำตาลเป็นมัน มีกลีบเลี้ยงซึ่งเจริญเป็นปีก5ปีกห่อหุ้มกลางผล เป็นปีกขนาดยาว2ปีก รูปขอบขนาน หรือรูปใบพาย ปีกอ่อนสีแดงสด ปีกแก่สีชมพู ส่วนอีก3ปีกรูปรีกว้าง ขอบปีกพับกลับ ผลอ่อนมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ผลแก่มีผิวเรียบเกลี้ยง มีเมล็ดเดียว สีน้ำตาล รูปกลมหรือรูปไข่ ปกติออกผลในราวเดือน ก.พ. – เม.ย.
ผลของเหียง
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 70 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 17-19 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นไม้เด่นในป่าเต็งรัง ทนต่อไฟป่า พบขึ้นอยู่เป็นดงแน่นขนัดตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าสนเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) คาบสมุทรมลายูตอนบน และหมู่เกาะอันดามัน
3. กวาวเครือ
ชื่อท้องถิ่น : โพมือ(กะเหรี่ยง-แม่ฮฉ่องสอน) ; จานเครือ(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; โพ้ตะกุ(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ; ทองเครือ(ภาคกลาง) ; ตานจอมทอง(ชุมพร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea superba Roxb.
วงศ์ : FABACEAE
กวาวเครือ
เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง หัวใต้ดินเป็นก้อนใหญ่สีขาว ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับ ออกดอกเดี่ยว ขนาดใหญ่ ดอกสีแสด ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอก5กลีบ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 4 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นพันต้นไม้ใหญ่ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายจากอินเดีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนึ่งชื่อสกุลตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ที่เป็นขุนนางชาวสกอตแลนด์ John Stuart, 3rd Earl of Bute (1713-1792)
4. Pogostemon sp.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pogostemon sp.
วงศ์ : LAMIACEAE
Pogostemon sp.
Pogostemon sp.
เป็นไม้ล้มลุกไม่ทราบชนิด พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 94 ชนิด ในเมืองไทยพบ 17 ชนิด
5. ขี้ครอก
ชื่อท้องถิ่น : ขี้คาก , ปอเส้ง , หญ้าผมยุ่ง , หญ้าอียู(ภาคเหนือ) ; บอเทอ , ปะเทาะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; หญ้าหัวยุ่ง(เย้า-แม่ฮ่องสอน) ; ชบาป่า(น่าน) ; ขมงดง(สุโขทัย) ; ขี้หมู(นครสวรรค์) ; ขี้ครอกป่า(ภาคกลาง) ; ปูลู(ภาคใต้) ; เส้ง(นครศรีฯ) ; ปูลุ(มลายู-นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Urena lobata L.
วงศ์ : MALVACEAE
ขี้ครอก
ไม้พุ่ม สูงราว 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบมีรูปร่างและขนาดของใบแตกต่างกันมาก ใบบริเวณโคนต้นค่อนข้างกลม ใบตอนกลางของต้นเป็นรูปไข่ และใบบริเวณยอดเป็นรูปค่อนข้างกลมยาวจนถึงรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยว หรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละ 2-3 ดอก ดอกบานในตอนเช้ามืด เลยเที่ยงมักเริ่มหุบดอก ดอกสีชมพู สีชมพูอมม่วง หรือสีชมพูอมแดง กลีบดอก5กลีบ เรียงเป็นรูปกงล้อ กลีบดอกรูปไข่กลับ ออกดอกเกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 10 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นดงหนาแน่นตามที่โล่งทั่วไป ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก
6. ค้างคาวอีลิด
ชื่อท้องถิ่น : มะดูก , หมากดูก(เชียงราย) ; ตาเสือทุ่ง , ตาเสือเหลือง(ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dysoxylum cyrtobotryum Miq.
วงศ์ : MELIACEAE
ค้างคาวอีลิด
ค้างคาวอีลิด
ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ สูง 3-20 เมตร หรือมากกว่า ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3-5 คู่ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 3-10 ซม. บางครั้งพบช่อดอกยาวได้ถึง 20-30 ซม. ขนาดดอก 0.8-1 ซม. กลิ่นหอมเล็กน้อย ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบดอก4กลีบ ออกดอกในราวเดือน พ.ย. – ม.ค.
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 101 ชนิด ในเมืองไทยพบ 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,800 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในเทือกเขาหิมาลัย เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน
7. Syzygium sp.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium sp.
วงศ์ : MYRTACEAE
Syzygium sp.
Syzygium sp.
เป็นไม้ยืนต้นไม่ทราบชนิด พืชสกุลนี้แยกมาจากสกุล Eugenia ทั่วโลกพบ 1,157 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 106 ชนิด
8. ไคร้มด (ดอกเพศผู้)
ชื่อท้องถิ่น : แมงเม่านก(ภาคเหนือ) ; เหมือด(เลย) ; ปลายสาน , เปียย้อย(ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurya nitida Korth.
วงศ์ : PENTAPHYLACACEAE
ไคร้มด ดอกเพศผู้
ไคร้มด ดอกเพศผู้
ไคร้มด ดอกเพศผู้
ไม้ยืนต้น สูง 1-5 เมตร หรืออาจสูงได้ถึง 10 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ดอกแยกเพศ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกห้อยคว่ำตามซอกใบและลำต้น ช่อละ 2-6 ดอก ดอกสีขาวนวล กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – พ.ค.
พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในวงศ์ THEACEAE ทั่วโลกพบ 130 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,565 เมตร ทั่วทุกภาค
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบอร์เนียว และฟิลิปปินส์
9. กระโถนฤาษี
ชื่อท้องถิ่น : กระโถนพระฤาษี(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapria himalayana Griff.
วงศ์ : RAFFLESIACEAE
กระโถนฤาษี
เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝาก ลำต้นเป็นก้อนกลมติดอยู่กับรากไม้ สูงไม่เกิน 1 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยลดรูปเป็นกาบแข็งหุ้มลำต้นและโคนดอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มคล้ายเห็ด ดอกอ่อนหรือดอกตูมเป็นรูปค่อนข้างกลม สีแดง ขนาด 4-7 ซม. ดอกอุ้มน้ำและมียางขาว ดอกเมื่อบานเต็มที่มีขนาด 8-20 ซม. ดอกเป็นรูปถ้วยปากใหญ่หรือกระโถนปากแตร สีแดงคล้ำประขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำประเหลือง ดอกแข็ง อุ้มน้ำ และแยกเพศ ดอกเพศผู้มีแกนกลมหรือแท่งกลมตรงกลางฐานดอกใต้ช่องวงแหวน เกสรตัวผู้20อัน ติดอยู่รอบใต้ส่วนปลายของแกนที่ผายออก ส่วนดอกเพศเมียมีแกนกลวงที่ขนาดใหญ่ ตอนปลายแผ่ออกคล้ายรูปจาน มีขนาดประมาณช่องวงแหวนของแผ่นกระจังหรือใหญ่กว่าเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบโดยฝังอยู่ในฐานดอก มีหลายช่องและมีไข่อ่อนจำนวนมาก ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ก.พ.
กระโถนฤาษี
กระโถนฤาษี
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 3 ชนิด ในเมืองไทยพบทั้ง 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยเกาะกินน้ำและอาหารอยู่บนรากไม้ของต้น“หุ่นแป”(Tetrastigma cruciatuma Craib et Gagnep.) และ“เครือเขาน้ำ”(Tetrastigma leucostaphylum Balakrishnan) ตามป่าดิบที่ชุ่มชื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยพบมากทางภาคเหนือ
แพร่กระจายในเทือกเขาหิมาลัย อินเดีย ภูฎาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อนึ่งพบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในแถบหิมาลัย เมื่อปี พ.ศ.2388 ส่วนในประเทศไทยพบครั้งแรกที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงปี พ.ศ.2447-2450
10. แก้มขาว
ชื่อท้องถิ่น : พอแต(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; กำเบ้อ , ผีเสื้อ(เพชรบูรณ์) ; กะเบ้อขาว(เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mussaenda sanderiana Ridl.
วงศ์ : RUBIACEAE
แก้มขาว
ไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1-2 เมตร เมื่อต้นเติบโตสูงเต็มที่ก็จะทานน้ำหนักกิ่งก้านและใบไม่ไหว ทำให้กิ่งก้านราบลู่ลงกับพื้นหรือพาดพิงไปตามต้นไม้อื่นจนดูคล้ายไม้เลื้อย ซึ่งทอดยาวไปได้ไกล 10-15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบหอก รูปรี หรือรูปดาบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก แต่จะทยอยออกดอกบานทีละ 2-4 ดอก ขนาดดอก 1 ซม. ดอกสีเหลือง หรือสีส้ม ดอกเป็นรูปหลอดคล้ายแจกันทรงสูง ปลายแยกออกเป็น5กลีบคล้ายรูปดาว กลีบเลี้ยงรูปถ้วย ปลายแยกเป็น5แฉก 4แฉกมีขนาดเล็กและปลายแหลม อีกแฉกหนึ่งขยายใหญ่เป็นรูปป้อมหรือรูปรี สีขาว ดูคล้ายใบประดับหรือใบต่างดอกซึ่งดูเด่นสะดุดตา ออกดอกตลอดปี
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 160 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามข้างทางที่ชุ่มชื้นหรือชายป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 400-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค โดยพบมีมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
สัตว์ป่า
คำว่า“สัตว์ป่า”ในที่นี่ ยกเว้นนก พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 10 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด
1.เนื้อทราย
ชื่อท้องถิ่น : ทราย , ตามะแน
ชื่อสามัญ : Hog Deer ; Indian Hog Deer ; Indochina Hog Deer ; Indochinese Hog Deer ; Thai Hog Deer
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Axis porcinus Zimmermann, 1780
ชื่อพ้อง : Cervus porcinus Zimmermann, 1780 ; Hyelaphus porcinus Zimmermann, 1780
วงศ์ : CERVIDAE
เนื้อทราย
เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์หรือตระกูลเดียวกับกวาง มีรูปร่างอ้วนป้อม ขาสั้น ขนาดลำตัวค่อนข้างเล็ก ขนาดลำตัว(วัดจากปลายจมูกจนถึงโคนหาง)ยาว 140-150 ซม. หางยาว 17.5-21 ซม. เมื่อโตเต็มวัยสูงจากพื้นถึงหัวไหล่ประมาณ 65-72 ซม. น้ำหนักประมาณ 70-110 กก. นัยน์ตามีน้ำตาหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ทำให้เป็นสัตว์ที่มีดวงตาสวยงามชนิดหนึ่ง จึงมีคำเปรียบเปรยว่า“ตาสวยดั่งเนื้อทราย” ลำตัวมีขนสั้นละเอียด สีขนจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ในฤดูร้อนจะมีสีน้ำตาล ในฤดูหนาวจะออกสีเทา แต่คางและใต้คอจะมีสีขาว หางส่วนด้านบนมีสีน้ำตาล หางส่วนด้านล่างสีขาว ตัวผู้ที่มีอายุมากจะมีขนสีน้ำตาลดำคล้ำกว่าตัวเมีย
ตัวผู้มีนิสัยค่อนข้างดุและหวงถิ่น และเฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่มีเขาข้างละ3กิ่ง คล้ายกับเขาของกวางป่า ผลัดเขาทุกปีในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม เขาเริ่มแก่ในราวเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์
ช่วงปีแรก เขาของตัวผู้ไม่มีกิ่งก้าน เป็นเขาลำเดียวยาวประมาณ 10-15 ซม. และมีหนังหุ้มเขาอยู่ ปีต่อมาจึงมีการแตกแขนงและมีรูปทรงตามลักษณะของเขาเนื้อทราย ความยาวของเขาวัดจากโคนเขาถึงปลายเขา โดยวัดตามส่วนโค้งด้านนอกของลำเขา ยาวประมาณ 42-44 ซม. และระยะระหว่างปลายเขาทั้งสอง 24-26.5 ซม.
เนื้อทราย ตัวผู้
มีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นและฟังเสียงที่ดีเยี่ยม ออกหากินในเวลากลางคืน บางพื้นที่พบหากินตามลำพัง บางพื้นที่ก็อาศัยอยู่เป็นฝูงเล็กๆราว 12 ตัว เมื่อมีภัยมาถึง แต่ละตัวจะหนีกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง ไม่หนีไปเป็นกลุ่ม เวลาวิ่งเข้าไปในพุ่มรกมักซุกตัวลงต่ำ เมื่อมีสิ่งกีดขวางก็จะมุดไป แทนที่จะกระโดดข้ามเช่นเก้งและกวางทั่วไป พฤติกรรมวิ่งมุดหัวนี้มีลักษณะคล้ายหมู จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า“Hog Deer” เนื้อทรายเตือนภัยด้วยการส่งเสียงหวีดแหลม หรือเสียงเห่า ขณะกระโดดจะชูหางขึ้น จึงเห็นสีขาวใต้หางได้ชัด
เนื้อทรายเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปี ตัวผู้ไม่ได้สร้างฮาเร็มมีตัวเมียเป็นจำนวนมากเหมือนกวาง แต่จะผสมพันธุ์ตัวเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวผู้จะต่อสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ ตัวเมียตั้งท้องนาน 220-240 วัน มักออกลูกครั้งละตัว ตัวแม่จะจดจำลูกตัวเองได้ด้วยการดมกลิ่น
ลูกเนื้อทรายแรกเกิด ขนลำตัวสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีลายจุดทั่วลำตัว และมีแถบสีดำสองข้างบนหลังตั้งแต่ต้นคอถึงโคนหาง เมื่ออายุมากขึ้นขนเริ่มปุย พร้อมกับสีของขนเริ่มจางลงเป็นสีน้ำตาลแดง จุดขาวข้างตัวจางลงเช่นเดียวกัน จวบจนอายุได้ 3 เดือน จุดขาวจะจางลงเกือบหายไป
เมื่ออายุมากกว่า 3 เดือน ขนเริ่มขยายขึ้นมากเป็นลำดับ หน้าผากมีแถบสีเข้มคาดตามยาว ไม่มีเขี้ยวบนเหมือนกวางชนิดอื่น และหย่านมเมื่ออายุ 6 เดือน เป็นตัวเต็มวัยเมื่อมีอายุ 1 ปี โดยมีอายุยืนได้ถึง 20 ปี
เนื้อทรายมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– Axis porcinus annamiticus แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีชื่อเรียกเฉพาะว่า“เนื้อทรายอินโดจีน”
– Axis porcinus porcinus แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย เนปาล จีน เมียนมาร์ และไทย ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก มีชื่อเรียกเฉพาะว่า“เนื้อทรายอินเดีย”
ส่วนเนื้อทรายที่พบในศรีลังกา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เป็นสัตว์ที่มนุษย์นำไปปล่อย
เนื้อทราย ตัวเมีย
พบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบต่ำที่น้ำท่วมถึงตามริมฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้หนอง บึง และมีหญ้าขึ้นปกคลุมตามที่ราบต่ำ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ มีพื้นที่หากินกว้างราว 0.7 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันเนื้อทรายที่พบนั้นส่วนใหญ่เป็นเนื้อทรายที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในหลายพื้นที่
เดิมเป็นสัตว์ป่าสงวนตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2509 ก่อนถูกถอดชื่อออกและเปลี่ยนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้ ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
2.กวางป่า
ชื่อสามัญ : Sambar
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rusa unicolor Kerr, 1792
ชื่อพ้อง : Cervus unicolor Kerr, 1792
วงศ์ย่อย : CERVINAE
วงศ์ : CERVIDAE
กวางป่า
กวางป่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง และมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความยาวลำตัว(วัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง)ประมาณ 180-200 ซม. หางยาวประมาณ 25-28 ซม. ความสูง(วัดจากตีนหน้าที่พื้นถึงหัวไหล่)ประมาณ 140-160 ซม. มีน้ำหนักประมาณ 185-260 กก.
โดยทั่วไปกวางป่าตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม ขนมีขนาดสั้น ค่อนข้างหยาบ แข็ง และไม่ขึ้นถี่อย่างขนเก้ง ขนมีสีเทาน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน สีไม่ฉูดฉาดอย่างสีขนกวางดาวและเก้ง ขนตามตัวยาวประมาณ 2-4 ซม. ขนรอบคอของกวางป่าตัวผู้ค่อนข้างยาว โดยยาวประมาณ 7-10 ซม. ขนบริเวณท้องและก้นขึ้นห่างกว่าบริเวณอื่นและสีขนอ่อนกว่าบนหลัง สีขนจะเข้มเพิ่มขึ้นตามอายุ ช่วงฤดูหนาวสีขนจะจางกว่าปกติ หางเป็นพวงค่อนข้างสั้น ขนส่วนล่างของหางมักจะมีสีขาว มีแอ่งน้ำตาขนาดใหญ่ที่หัวตาข้างละแห่ง เรียกว่า“ต่อมใต้กระบอกตา” ทำหน้าที่คัดหลั่งสารที่มีกลิ่นฉุนมากให้ไหลออกตามร่องน้ำตาที่มุมตาด้านใน โดยจะเอาหน้าไปเช็ดถูตามต้นไม้ เพื่อเป็นการสื่อสารและบ่งบอกถึงอาณาเขตที่อยู่ของตน ต่อมนี้จะขยายใหญ่ขึ้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์
กวางที่มีอายุมากๆจะมีขนที่คอค่อนข้างยาวเป็นแผงคล้ายขนของม้า จึงเป็นที่มาของคำว่า“กวางม้า”
กวางป่าจะมีเขาเฉพาะเพศผู้เท่านั้น โดยกวางเพศผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป จะเริ่มงอกเขาอ่อน(คือโครงสร้างของมวลคล้ายกระดูกอ่อนที่ยังมีเลือดไปหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลาได้) โดยงอกออกมามีรูปร่างเหมือนเขา แต่จะแตกต่างจากเขาก็โดยมีหนังที่เต็มไปด้วยขนสั้นละเอียดและหนาแน่นคล้ายผ้ากำมะหยี่หุ้ม ต่อมาเมื่อมันได้สลัดหนังหุ้มกำมะหยี่โดยการถูไถกับต้นไม้ จนหนังหุ้มหลุดออกไปหมดแล้ว ก็จะถือว่าเป็นชุดเขาที่แท้จริง ระยะเวลาตั้งแต่แรกงอกจนถึงชุดเขาที่แท้จริงจะอยู่ระหว่าง 3-6 เดือน
เขาของกวางป่างอกติดกับกระดูกด้านหน้า แต่ไม่ได้เป็นส่วนของกะโหลกศีรษะ ปกติจะมีข้างละ3กิ่ง กิ่งแรกเรียกว่า“กิ่งรับหมา” จะชี้ไปด้านหน้า ลำเขาหรือเขากิ่งที่สองจะชี้ไปด้านหลัง ปลายลำเขาจริงจะแตกแขนงออกเป็น2กิ่ง กลายเป็นเขากิ่งที่สาม โดยกิ่งหลังจะสั้นกว่ากิ่งหน้า ขนาดของเขากวางนั้นความยาววัดจากโคนเขาถึงปลายเขาโดยวัดตามส่วนโค้งด้านนอกของลำเขาประมาณ 54-90.5 ซม. เส้นรอบวงของลำเขาประมาณ 10-.5-14 ซม. ระยะระหว่างปลายเขาประมาณ 38.5-71.5 ซม. และกิ่งรับหมายาวประมาณ 20-28 ซม.
ตัวผู้จะสามารถผลัดเปลี่ยนเขาได้ทุกปี คือ เมื่อใกล้ถึงฤดูผสมพันธุ์จะมีการสร้างเขาใหม่ขึ้นมาเสมอ
ส่วนใหญ่กวางป่าจะหากินในช่วงตอนเช้า ช่วงพลบค่า และช่วงเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะหลบซ่อนพักผ่อนในบริเวณที่มีพุ่มไม้หนาแน่น ในช่วงของแต่ละวันกวางป่าจะใช้เวลากินอาหาร 2 ชม. นอนและเคี้ยวเอื้อง 14 ชม. ยืนนิ่งๆ 2 ชม. และเดินประมาณ 6 ชม. ซึ่งในบางครั้งกิจกรรมดังกล่าวอาจจะเกิดพร้อมกัน การวิ่งเคลื่อนตัวไปข้างหน้าของกวางป่าจะใช้การเงยหน้าเชิดจมูกพุ่งตรงไปข้างหน้า เขาของมันทอดนอนลู่ไปด้านหลังช่วยในการเปิดทางหรือถ่างกิ่งไม้และต้นไม้ให้แยกออกเป็นช่อง เพื่อให้สามารถวิ่งลอดผ่านไปได้สะดวก
มูลของกวางป่า
ลักษณะที่บ่งบอกถึงสุขภาพกวางป่าที่สมบูรณ์ สังเกตได้จากขนตามลำตัวมันเงา ดวงตาแจ่มใส จมูกชื้น มูลเป็นเม็ดและไม่มีกลิ่น ปัสสาวะใส ไม่แยกตัวออกจากฝูง รวมทั้งร่างกายไม่ผอมผิดปกติ
กวางป่าฝูงหนึ่งจะประกอบไปด้วยกวางตัวเมียมากกว่าตัวผู้ และยังมีลูกกวางที่ไม่สามารถจำแนกเพศได้ กวางป่ามักมีโรคประจำตัวเป็นเรื้อนซึ่งเป็นแผลถลอกเป็นวงกลมขนาดไม่ใหญ่บริเวณใต้คอ เรียกว่า“เรื้อนกวาง”
ในฝูงจะมีการแบ่งแยกชนชั้นลดหลั่นกัน ตัวผู้ด้วยกันจะต้องประลองกำลังโดยการต่อสู้แบบตัวต่อตัวเพื่อครองความเป็นจ่าฝูง วิธีการต่อสู้นั้นจะก้มหัวลงและชี้ปลายเขาที่แหลมคมพุ่งไปหาคู่ต่อสู้เพื่อท้าทาย หากตัวผู้อีกตัวยินดีรับคำท้าก็จะทำกิริยาอาการเช่นเดียวกัน จากนั้นจึงมีการขวิดการดันตอบโต้กัน ระหว่างการต่อสู้นั้นกวางป่าตัวผู้จะพองขนที่หน้าอกตั้งชันแข็ง ต่อมใต้ตาจะเปิดกว้างเป็นสีแดงเข้ม มีการกัดฟันกรอดๆและส่งเสียงคำรามในลำคอตลอดเวลา การต่อสู้จะกินเวลา 5-15 นาที หรือบางครั้งอาจนานเป็นชั่วโมง จนกว่าตัวใดตัวหนึ่งจะยอมแพ้หนีไป การต่อสู้เพื่อครองความเป็นจ่าฝูงจะเกิดขึ้นทุกปีในช่วงเริ่มฤดูผสมพันธุ์ ส่วนมากจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนมกราคม
ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะมีกลิ่นฉุน เนื่องจากสารที่ขับออกมาจากต่อมกลิ่น มีนิสัยดุร้าย หงุดหงิด คึกคะนอง ชอบเอาเขาขวิดต้นไม้คล้ายเป็นการแสดงความแข็งแกร่งและเป็นการลับเขาเพื่อให้ส่วนปลายเขาแหลม เม็ดมะระบริเวณปลายของกิ่งเขาจะถูกขัดถูจนสึกหรอไปมาก
ช่วงนี้ตัวผู้จะไม่กินอาหารใดๆเลย และจะต่อสู้กับตัวผู้ด้วยกันเพื่อความเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว เมื่อชนะได้เป็นจ่าฝูงก็จะรวมฝูงตัวเมียทั้งหมด ด้วยการวิ่งวนรอบๆฝูงตัวเมีย เพื่อสื่อให้รู้ว่าต้องอยู่รวมด้วยกันและผสมพันธุ์กัน ขณะวิ่งนั้นตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูงจะวิ่งเหยะๆพร้อมกับยื่นหน้าเข้าหาตัวเมียและสูดดมกลิ่นอวัยวะเพศของตัวเมียทุกตัวในฝูง ระหว่างนั้นหากตัวเมียตัวใดพร้อมที่จะให้ผสมพันธุ์ ตัวผู้ก็จะกระโดดขึ้นคร่อมเพื่อทำการผสมพันธุ์ เพราะระยะระยะเวลาเป็นสัดของกวางตัวเมียมีเพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น
หากตัวเมียใดยังไม่พร้อม จ่าฝูงก็จะคอยติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาจนกว่าจะผสมพันธุ์เสร็จ จึงค่อยติดตามตัวเมียตัวอื่นในฝูงต่อไปจนกว่าจะผสมพันธุ์หมดฝูง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นกฎธรรมชาติที่สัตว์ตัวที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นจะสามารถสืบพันธุ์ได้เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่แข็งแรง ตัวเมียจะตั้งท้องประมาณ 8 เดือน และส่วนใหญ่จะออกลูก 1 ตัว การออกลูก 2 ตัวนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกวางป่าในเมืองร้อน แต่หากเป็นเมืองหนาวแล้ว มีโอกาสได้ลูก 2 ตัว สูงกว่า
กวางป่าวัยเด็ก
ลูกกวางป่าที่คลอดใหม่ๆจะมีลายจุดบนตัว หลังจากดูดนมแม่แล้วในเวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงแรก ก็จะแยกตัวออกไปนอนนิ่งอยู่ในพงหญ้า หรือบริเวณที่มีกิ่งไม้ใบไม้รกทึบ ในขณะเดียวกันแม่กวางก็จะมาให้ลูกกินนมเป็นครั้งคราวตลอดในช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการพรางตัวจากสัตว์อื่นๆไม่ให้สังเกตเห็นลูกของตน โดยแม่กวางจะออกไปหากินภายในรัศมีไม่ไกลจากที่ลูกของมันนอนนิ่งอยู่ หลังจากลูกมีอายุได้ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งมีความแข็งแรงมากขึ้น จึงสามารถเดินตามแม่ไปรวมเข้าฝูงได้
เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่นเดียวกับวัว ควาย แพะ และแกะ อาหารที่สำคัญคือ ใบไม้ ต้นไม้อ่อน หญ้าต่างๆ เปลือกไม้บางชนิด ผลไม้และหน่อพืชต่างๆ นอกจากนี้ก็กินดินโป่ง ซึ่งมีแร่ธาตุจำเป็นเพื่อให้เขาเจริญเติบโตและแข็งแรง โดยเฉพาะกวางตัวเมีย อาหารที่กวางป่าชอบมาก ได้แก่ หญ้าระบัด ซึ่งเป็นหญ้าอ่อนที่งอกขึ้นใหม่หลังจากที่ไฟไหม้แล้ว
ชอบหากินทั้งอยู่เดี่ยวๆและอยู่เป็นกลุ่มเป็นฝูง ออกหากินพร้อมๆกัน คอยช่วยระวังภัยให้แก่กัน เป็นสัตว์ที่มีการระวังภัยสูงมากจึงมีอาการตื่นกลัวและระมัดระวังอันตรายจนเป็นนิสัยตลอดเวลา สามารถได้ยินเสียงต่างๆได้ดี สามารถดมกลิ่นและมีประสาทสัมผัสว่องไว ทำให้สามารถหลบหลีกจากการถูกล่าในฝูงสัตว์ป่าด้วยกันได้ดี เช่น เมื่อได้ยินหรือเห็นสิ่งผิดปกติก็จะชูคอ หันหน้าและใบหูทั้ง2ข้างไปยังทิศทางที่ได้ยินหรือเห็น หางจะชี้ขึ้น ยืนนิ่งเงียบ จากนั้นจะส่งเสียงร้องแหลมดังขึ้น ถ้าอยู่กันหลายตัวจะไปยืนรวมกัน เมื่อมีตัวใดตัวหนึ่งตื่นและวิ่ง จะทำให้ตัวอื่นทั้งหมดวิ่งตามได้ , หย่อมขนสีบริเวณสองข้างของตะโพก เมื่อเวลาตกใจหรือพบเห็นภัยอันตราย หย่อมขนสีนี้จะเข้มขึ้นและเป็นประกายอย่างเห็นได้ชัดเจน สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล รวมทั้งเป็นสัญญาณเตือนภัยให้แก่ตัวอื่นๆภายในฝูง เป็นต้น
ปกติแล้วกวางป่าจะกินอาหารอย่างรีบร้อน เพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรูที่คอยจ้องทำร้าย จะรีบกินแล้วหลบไปยังที่ซ่อนตัว จากกนั้นก็จะขยอกอาหารออกมาเคี้ยวเพื่อบดให้ละเอียด
กวางป่า
กวางป่าว่ายน้ำเก่งมากเวลาหนีศัตรู ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นหมาใน กวางป่ามักจะวิ่งหนีลงไปในน้ำลึก เนิ่องจากหมาในเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำไม่เก่ง
ทั่วโลกพบ 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ Rusa unicolor cambojensis พบในภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซียตะวันตก และ Rusa unicolor eguinus พบในเกาะสุมาตราและประเทศไทย มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า“กวางป่ามลายู”
พบอาศัยอยู่ได้ในป่าหลายประเภท มีพื้นที่อาศัยกว้าง ตั้งแต่ป่าที่ราบจนถึงบนยอดเขา แต่มักชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีต้นไม้ รวมทั้งป่าที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น รกทึบ ชอบซุกซ่อนตัวอยู่ในป่าที่ค่อนข้างรก สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆได้เป็นอย่างดี โดยพบทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในเอเชียใต้ จีน ไต้หวัน เอชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนเหนือของออสเตรเลีย(ซึ่งเป็นกวางป่าที่ถูกนำไปปล่อยในสมัยล่าอาณานิคม)
3.งูสิงธรรมดา
ชื่อท้องถิ่น : งูสิงอ้อย , งูเห่าตะลาน , งูเห่าตาลาน(ภาคเหนือ) ; งูสิงดง , งูสิงนา , งูสิงบ้าน(ทั่วไป)
ชื่อสามัญ : Chinese Ratsnake ; Indochinese Rat Snake
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ptyas korros Schlegel, 1837
วงศ์ย่อย : COLUBRINAE
วงศ์ : COLUBRIDAE
งูสิงธรรมดา
เป็นงูขนาดกลาง ความยาวจากปลายหัวถึงหางประมาณ 1-2.56 เมตร เฉพาะหางยาวราว 44.5 ซม. ส่วนของหัวเรียวยาวและกว้างกว่าลำคอเล็กน้อย ปลายหัวมน ตากลมโตใหญ่มาก ลำตัวกลม ส่วนปลายหางเรียว ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดปกคลุม เกล็ดบนหัวเป็นแผ่นกว้าง เกล็ดบนหลังทางส่วนต้นของลำตัวมีขนาดใหญ่และผิวเรียบ เกล็ดท้องขยายกว้าง เกล็ดใต้หางเป็นแถวคู่ เกล็ดรอบลำตัวในตำแหน่งกึ่งกลางตัวมีจำนวน 15 เกล็ด เกล็ดท้องมีจำนวน 170 เกล็ด และเกล็ดใต้หางมีจำนวน 125 เกล็ด
ลำตัวด้านบนของหัวและส่วนหลังทางด้านหน้ามีสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมเขียวมะกอก ส่วนหลังทางด้านท้ายของลำตัวมีสีน้ำตาล เกล็ดปกคลุมลำตัวและหางมีขอบแผ่นเกล็ดสีจางหรือสีขาว ซึ่งสีจางหรือสีขาวของขอบแผ่นเกล็ดได้ขยายกว้างขึ้นตามลำดับไปทางด้านท้ายลำตัวและหาง ทำให้ด้านท้ายของลำตัว โดยเฉพาะหางดูเป็นสีขาวและมีโครงข่ายร่างแหสีดำ ใต้คอและด้านท้องมีสีขาวอมน้ำตาล และใต้หางสีขาว
งูวัยอ่อนมีจุดเล็กสีขาวเรียงตัวเป็นแถวพาดขวาง(ไม่เป็นระเบียบ)เป็นระยะๆอยู่ทางส่วนต้นของลำตัว
เป็นงูที่มีพิษอ่อน ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืนตามพื้นดิน แต่สามารถเลื้อยขึ้นต้นไม้ได้ดีและรวดเร็ว รวมทั้งว่ายน้ำได้ ขณะว่ายน้ำจะชูส่วนหัวขึ้นพ้นเหนือผิวน้ำ เมื่อถูกรบกวนจะพยายามเลื้อยหนี แต่หากจวนตัว ไม่สามารถหนีทัน ก็จะยกหัวและส่วนบนของลำตัวขึ้นมาสูงจากพื้นดิน พร้อมกับแกว่งหางถี่ ขณะชูคอและส่วนหัวนั้นบริเวณลำคอจะขยายกว้างจนเกือบแบนและโยกหัวไปหน้ามาหลัง พร้อมกับส่งเสียงขู่ฟ่อคล้ายงูเห่าไม่ให้ศัตรูเข้ามาใกล้ จึงได้ชื่อว่า“งูเห่าตะลีตะลาน” คำว่า“งูเห่าตะลีตะลาน” แปลว่า“รีบร้อนลุกลน” ก่อนเรียกเพี้ยนมาเป็น“งูเห่าตะลาน”
งูสิงธรรมดามีการเลื้อยแตกต่างจากงูเห่า คือ จะเลื้อยได้รวดเร็วและลำตัวส่ายไปมาทางด้านข้าง แต่งูเห่าจะเลื้อยค่อนข้างช้าและค่อนข้างเป็นเส้นตรง
กินสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ หนู กิ้ง ก่า จิ้งเหลน และกบ ด้วยการใช้ลำตัวรัดเหยื่อให้ติดกับพื้นจนตาย แล้วกินเหยื่อ แต่บางครั้งก็พบกินเหยื่อเป็นๆทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่
วางไข่ครั้งละ 4-12 ฟอง
งูสกุลนี้ในเมืองไทยมีรายงานการพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามพื้นที่เกษตรกรรมตามพื้นราบจนถึงป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยพบครั้งแรกของโลกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
4. มดฮี้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crematogaster sp.
วงศ์ย่อย : MYRMICINAE
วงศ์ : FORMICIDAE
รังของมดฮี้
เป็นมดฮี้ไม่รู้ชนิด ลักษณะของมดสกุลนี้ คือ หนวดมีสามปล้อง ส่วนปลายของหนวดมีขนาดยาวกว่าปล้องอื่น
มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ มีนิสัยตื่นตัวตลอดเวลา หากถูกรบกวนจะรีบออกมารวมกันปกป้อง พร้อมปล่อยกลิ่นเหม็นสาบออกมาขับไล่ผู้รบกวน
ทำรังบนต้นไม้ โดยกัดซาพืชให้มีขนาดเล็กผสมกับน้ำลายทำเป็นรังเกาะติดกับลำต้น เป็นรังที่ซับซ้อนและมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชอบเดินหากินบนต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบ ทั่วทุกภาค
5.ทาก
ชื่อท้องถิ่น : ปลิงบก
ชื่อสามัญ : Land Leeches ; Terrestrial Leeches
วงศ์ : HAEMADIPSIDAE
ทากดูดเลือดจนตัวอ้วน
ทากเป็นสัตว์ในตระกูลหรือวงศ์(Family)เดียวกับปลิงน้ำจืด คือ HAEMADIPSIDAE(เป็นภาษาละติน หมายถึง “กระหายเลือด”) ซึ่งปลิงน้ำจืดส่วนใหญ่อาศัยอยู่แต่ในน้ำ คงมีบางชนิดอาศัยอยู่บนบกได้ แต่ก็จำเป็นต้องเกาะอยู่ในช่องปากหรือโพรงจมูกของเหยื่อตลอด ต่างจากทากที่ดำรงชีวิตอยู่แต่บนบกเท่านั้น นอกจากนี้ปลิงน้ำจืดไม่มีสีสัน ส่วนทากมีหลากหลายสีสัน เฉพาะที่พบในไทยมีสีน้ำตาลลายดำ สีเขียวเหลือง และสีฟ้าแถบน้ำตาล โดยเฉพาะ2ชนิดหลังที่มีสีสันสดใสจะกัดเจ็บมาก
ทาก เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในจำพวก(Phylum)“Annelida”(เป็นภาษาละติน หมายถึง มีลำตัวเป็นปล้องๆ) สัตว์จำพวกนี้มีหลายClass(หรือชั้น) สำหรับทากอยู่ในClass Hirudinca เพราะสัตว์ในClassนี้มี“ต่อมSalivary”ที่สร้าง“สารHirudin” สารนี้มีคุณสมบัติเป็น“Anticoagulin” คือ มีผลทำให้เลือดของเหยื่อที่ถูกทากดูดไม่แข็งตัวอยู่ชั่วขณะ ทำให้มันดูดเลือดเป็นอาหารได้ง่าย
การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอนุกรมวิธานจนถึงปี พ.ศ.2529 พบว่าทั่วโลกมีทาก 17สกุล 55ชนิด พบมากที่สุดในทวีปออสเตรเลีย 8สกุล 24ชนิด ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบ 4สกุล 8ชนิด สำหรับในเมืองไทยพบเพียง 1สกุล 2 ชนิด(คือ Haemadipsa sylvestris และ Haemadipsa zeylanica)
แต่ ณ วันนี้หลังจากนักวิชาการได้ทำการสำรวจครอบคลุมทั่วประเทศ พบว่าเมืองไทยมีทาก 2สกุล 5ชนิด กับอีกอย่างน้อย2สายพันธุ์ย่อย ทั้งนี้บางชนิดเป็นทากชนิดใหม่ของโลกและอยู่ระหว่างการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์
สกุลที่พบใหม่ คือ สกุลTritetrabdella พบในป่าดิบของไทย สำหรับทากสกุลHaemadipsaค่อนข้างมีความหลากหลายสูง ชนิดเด่นๆที่พบทั่วทุกภาคมีชื่อว่า“Haemadipsa zeylanica” ส่วน“Haemadipsa sylvestris”พบมากตั้งแต่บริเวณตอนกลางของประเทศลงไป
ทากมีการแพร่กระจายตั้งแต่เขตเอเชียตะวันออกรวมทั้งหมู่เกาะใกล้เคียง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียและหมู่เกาะใกล้เคียง เกาะมาดากัสการ์และหมู่เกาะเซเชลล์ ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตอนใต้ของยุโรป ทวีปอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้
6. ผีเสื้อเณรภูเขา
ชื่อสามัญ : Changeable Grass Yellow ; Hill Grass Yellow
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema simulatrixi Semper, 1891
วงศ์ย่อย : COLIADINAE
วงศ์ : PIERIDAE
ผีเสื้อเณรภูเขา
มีขนาด 3.4-4.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ผีเสื้อกลุ่มนี้จำแนกชนิดได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีสีออกไปทางสีเหลือง และปีกล่างไม่มีลวดลายใดๆ แต่ละชนิดมีสีสันที่คล้ายกัน นอกจาจะใช้สีดำที่บริเวณขอบปีกบนเป็นจุดสังเกตแล้ว จุดแต้มสีน้ำตาลเล็กๆที่กระจายอยู่บนแผ่นปีกล่างก็มีส่วนช่วยในการแยกแต่ละชนิด
ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีเหลืองกำมะถัน ขอบปีกสีดำ บริเวณสีดำที่ต่อกับสีเหลืองนั้นในปีกคู่หน้าจะหยักเว้าแตกต่างจากปีกคู่หลัง
ปีกล่าง(หรือท้องปีก)ของปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลที่มุมปลายปีกคู่หน้า และมีขีดสีน้ำตาลประปรายทั่วทั้งแผ่นปีกคู่หน้าและคู่หลัง
ลำตัวเป็นปล้องๆรูปทรงกระบอก ลำตัวสีเทาอมเขียว ข้างลำตัวทั้งสองด้านมีแถบสีเหลืองอ่อน1เส้นพาดตามยาว หนวดจะค่อยๆขยายใหญ่ขึ้นไปทางตอนปลายจนมีรูปคล้ายกระบอง ตารวม1คู่ ปีกแบบบางใส มีเกล็ดปกคลุมเนื้อปีก
วงจรชีวิตระยะไข่ 3 วัน ระยะหนอน 16-17 วัน และระยะดักแด้ 7 วัน ช่วงระยะดักแด้นั้นจะใช้ใยเส้นหนึ่งยึดท้ายของลำตัวติดกับพืช และใยอีกเส้นหนึ่งคล้องรอบลำตัว
พบได้ตามทุ่งหญ้า พุ่มไม้ และริมลำธารบนภูเขา ทั่วทุกภาค
7.จิ้งเหลนบ้าน
ชื่อท้องถิ่น : ขี้โก้ะ , จักเล้อ
ชื่อสามัญ : Common Sun Skink ; East Indian Brown Mabuya ; Javan Sun Skink ; Many-lined Sun Skink
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eutropis multifasciata KUHL, 1820
วงศ์ : SCINCIDAE
จิ้งเหลนบ้าน
เป็นจิ้งเหลนขนาดกลาง ความยาวจากปลายปากถึงรูก้น 8.1-13 ซม. หางยาว 14.2-15.6 ซม. หัวกว้างและหนาพอๆกับลำตัว
ลำตัวอวบหนาและมีผิวมันวาว หลังแบน จึงดูคล้ายลำตัวเป็นทรงกระบอกสี่เหลี่ยม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล สีน้ำตาลทอง หรือสีน้ำตาลอมเขียว บางตัวอาจมีลายพาดตามยาวเป็นสีดำ สีเทาอ่อน หรือสีเหลือง ด้านข้างมีแถบสีน้ำตาลแดงจนถึงสีน้ำตาลอมดำพาดตลอดตามความยาว โดยมีสีน้ำตาลเข้มที่สุดทางด้านบนแล้วค่อยๆจางลงสู่ด้านใต้ท้องตอนล่างๆ และมีจุดสีขาวกระจายอยู่ทั่วจนถึงโคนหาง บางตัวมีแถบด้านข้างเป็นสีส้ม ท้องมีสีขาวอมเทา สีขาวอมเหลือง หรือสีครีม หางสีน้ำตาลแดง
เกล็ดบนหัวมีขนาดใหญ่กว่าเกล็ดบนหลัง เกล็ดบนหลังมักมีสัน 3-5 สัน บนแต่ละเกล็ด จำนวนแถวเกล็ดรอบตัวตรงตำแหน่งกึ่งกลางลำตัว 30-34 แถว เกล็ดริมฝีปากสีจางกว่าบริเวณอื่นของส่วนหัว ริมฝีปากล่างมีเกล็ดสีส้มกระจาย
ชอบอาบแดดในยามสายตามพื้น ก้อนหิน ต้นไม้ หรือบนสิ่งก่อสร้าง หากินส่วนใหญ่ตามพื้นดิน ด้วยการล่าเหยื่อจำพวกแมลงขนาดเล็กถึงขนาดกลาง รวมทั้งเขียดขนาดเล็ก ขณะล่าเหยื่อจะคลานไปอย่างช้าๆ คอยมองและมุดหัวหาเหยื่อใต้ใบไม้และขอนไม้ เมื่อพบเหยื่อจะวิ่งไล่งับอย่างรวดเร็ว และไล่ติดตามไปจนกว่าจะจับได้หรือหาเหยื่อไม่พบ เมื่อจับเหยื่อได้จะใช้ปากงับแรงๆหลายครั้งเพื่อให้เหยื่อหยุดดิ้น ก่อนจะกลืนกินเข้าไปทั้งตัว หากเหยื่อมีขนาดใหญ่กว่าปากมาก จะใช้ขาคู่หน้าช่วยในการกิน ด้วยการใช้ขาดันเหยื่อเข้าสู่ปาก
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูฝนเหมือนกับจิ้งเหลนชนิดอื่นๆ โดยตัวเมียที่มีขนาดเล็กกว่าจะเข้าไปในเขตอาศัยของตัวผู้ มีการวิ่งไล่กันไปมาระยะหนึ่งราวกับการเกี้ยวพาราสี ก่อนการผสมพันธุ์ ไข่ฟักเป็นตัวทันทีหลังการวางไข่ ครั้งละ 5-10 ตัว ลูกจิ้งเหลนบ้านเริ่มฟักเป็นตัวในราวเดือนมิถุนายน และมีจำนวนมากในเดือนกรกฎาคม
พบอาศัยตามเรือกไร่สวน ชุมชน ที่ราบลุ่ม และป่าทั่วไป โดยพบมากตามป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค
ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
แพร่กระจายตั้งแต่ด้านตะวันออกของอินเดีย จีนตอนใต้ ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
8. กระรอกหลากสี ชนิดย่อย bocourti
ชื่อสามัญ : Finlayson’s Squirrel ; Variable Squirrel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Callosciurus finlaysonii Horsfield, 1823
วงศ์ย่อย : SCIURINAE
วงศ์ : SCIURIDAE
กระรอกหลากสี ชนิดย่อย bocourti
เป็นกระรอกขนาดกลาง มีขนาด 21-22 ซม.(วัดจากปลายจมูกถึงรูทวาร) ขนค่อนข้างยาวและดูฟูกว่ากระรอกท้องเทา(C. caniceps) และกระรอกท้องแดง(C. erythraeus) ซึ่งสองชนิดหลังนี้ขนจะแน่นและสั้นกว่า
กระรอกหลากสีมีความหลากหลายของสีขนลำตัวสูงมาก ตั้งแต่ขนสีขาวจนถึงสีดำ สีแดงตลอดทั้งตัว และบางตัวอาจมีหลายสีในตัวเดียวกัน
กระรอกหลากสีแบ่งออกได้เป็น 16 ชนิดย่อย เฉพาะในเมืองไทยมีรายงานการพบ 14 ชนิดย่อย ได้แก่
- finlaysoniialbivexilli พบตามเกาะแก่ง
- finlaysoniiannellatus สีน้ำตาลแดง ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.อุบลราชธานี และ จ.สุรินทร์
- finlaysoniibocourti ชนิดนี้แบ่งออกเป็นอีก 3 ชนิด คือ สีขาว ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.เชียงใหม่ จ.เพชรบูรณ์ จ.เลย จ.นครราชสีมา และภาคกลาง
- finlaysoniiboonsongi
- finlaysoniicinnamomeus สีแดงอมน้ำตาล ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.ระยอง
- finlaysoniifinlaysoni พบตามเกาะแก่ง
- finlaysoniifloweri หลังสีน้ำตาลแดง รอบตาสีขาว ท้องและคางสีขาว ปัจจุบันมีรายงานการพบในภาคกลาง
- finlaysoniifollerti พบตามเกาะแก่ง
- finlaysoniifrandseni สีแดงอมน้ำตาล ปัจจุบันมีรายงานการพบบนเกาะช้าง จ.ตราด
- finlaysoniinemanicus สีแดงอมน้ำตาล ปัจจุบันมีรายงานการพบทางภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง
- finlaysoniinox สีดำ ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.ชลบุรี
- finlaysoniisinistralis หลังสีน้ำตาลแดง แก้มและท้องสีแดง โคนหางสีขาว ปัจจุบันมีรายงานการพบทางภาคเหนือ
- finlaysoniitrandseni พบตามเกาะแก่ง
- finlaysoniitrotter พบตามเกาะแก่ง
กระรอกหลากสี ชนิดย่อย bocourti
กระรอกหลากสี ชนิดย่อย bocourti
อาหาร ได้แก่ ใบไม้ ผลไม้ เมล็ดพืช และแมลง เป็นกระรอกที่ปรับตัวได้ดี จึงมักพบได้ตามในเมือง สวนผลไม้ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,200 เมตร ทั่วทุกภาค เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
แพร่กระจายในเมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
9. กระเล็นขนปลายหูสั้น
ชื่อท้องถิ่น : กระถิกปลายขนหูสั้น , กระเล็นตะวันตก , กระเล็นปลายขนหูสั้น
ชื่อสามัญ : Burmese striped squirrel , Himalayan striped squirrel , Western striped squirrel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tamiops mcclellandii Horsfield, 1840
วงศ์ย่อย : SCIURINAE
วงศ์ : SCIURIDAE
กระเล็นขนปลายหูสั้น
กระเล็นขนปลายหูสั้น
เป็นกระรอกที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย มีขนาด 11-12.5 ซม.(วัดจากปลายจมูกถึงรูทวาร) หางยาว 11-13 ซม. ขาหลังยยาว 2-3.2 ซม. ปลายหูสีขาวหรือสีจาง หลังหูมีขนยาวสีขาวเป็นกระจุกคล้ายพู่ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอมเทา บนหลังมีแถบสีขาวอมเหลืองจนถึงสีเหลือง4แถบสลับกับแถบสีดำ5แถบ เป็นแนวยาวขนานไปกับความยาวของลำตัว แถบสีขาวอมเหลืองจนถึงสีเหลืองที่อยู่ด้านนอกสุดมักจะกว้างและยาวกว่าแถบที่อยู่ด้านใน ลำตัวด้านข้างและขามีสีเทา ขนที่ท้องมีสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมส้ม หางเรียว มีจุดประสีเทา สีน้ำตาล และสีดำ ขนหางสั้นและเรียบ ไม่พองฟูเป็นพวงเหมือนกระรอกทั่วไป เพศเมียมีเต้านม6เต้า
กระเล็นขนปลายหูสั้น
กระเล็นขนปลายหูสั้น
ออกหากินในเวลากลางวัน โดยมักมีพฤติกรรมหากินเพียงตัวเดียว หรืออาจเป็นกลุ่มที่เป็นครอบครัวเดียวกัน ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก ลายแถบบนหลังช่วยพรางตัวจากศัตรูได้เป็นอย่างดี อาหารได้แก่ ใบไม้ ผลไม้ เมล็ดพืช และแมลง เป็นต้น เสียงร้องมี2แบบ คือ เสียงสั้นๆดังว่า“จี้ดๆ”คล้ายนก แต่แหลมดังบาดหู และอีกเสียงเป็นเสียงแหลมยาวสั่นระรัวที่ค่อยๆผ่อนเสียงลง
พบอาศัยตามสวนสาธารณะ เรือกไร่สวน ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้
แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฎาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาวตอนเหนือ กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
10. แมลงวันดอกไม้ปีกดำ
ชื่อสามัญ : Flower Flies ; Hover Flies
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dideopsis aegrota Fabricius, 1805
วงศ์ย่อย : SYRPHINAE
วงศ์ : SYRPHIDAE
แมลงวันดอกไม้ปีกดำ
แมลงวันดอกไม้ หรือแมลงวันเซอร์ฟิส เป็นแมลงวันขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ บางชนิดมีลักษณะคล้ายผึ้ง แต่ตัวเต็มวัยไม่กัดหรือต่อยคน
แมลงวันดอกไม้มีปีก2ปีก(ส่วนผึ้ง ต่อ และแตน มี4ปีก) กินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เป็นอาหารหลัก พบได้ทุกหนทุกแห่งขึ้นอยู่กับชนิดที่ชอบถิ่นที่อยู่แตกต่างกัน
ลักษณะเด่น คือ ลำตัวมักมีจุดหรือลายเส้นสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีดำ หลายชนิดมีขนขึ้นปกคลุมผิวดูคล้ายผึ้ง มีลักษณะการบินที่โดดเด่น โดยสามรถบินอยู่กับที่ และบินฉวัดเฉวียนได้อย่างรวดเร็ว
เพศผู้มีดวงตารวมขนาดใหญ่ ส่วนเพศเมียมีตาประกอบที่แยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด
ตัวเต็มวัยมักพบตามดอกไม้ โดยเฉพะดอกไม้ที่มีขาว และสีเหลือง บางครั้งพบบินวนเวียนเหนือดอกไม้ บางชนิดอาศัยอยู่ในรังของแมลงที่อยู่กันเป็นสังคม โดยเฉพาะมด ปลวก หรือผึ้ง บางชนิดอาศัยอยู่ในบาดแผลของต้นไม้ใหญ่ บางชนิดอาศัยอยู่ตามซากใบไม้ กิ่งไม้ผุ บางชนิดอยู่ในน้ำคล้ำที่เน่าเสีย(ตัวอ่อนของชนิดนี้จะมีท่อหายใจอยู่ที่ส่วนปลายของลำตัว และยื่นขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เพื่อใช้หายใจ คนท้องถิ่นมักเรียกตัวอ่อนของแมลงวันดอกไม้ชนิดนี้ว่า“หนอนหางหนู”)
ช่วงวัยตัวอ่อนกินอาหารแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ หลายชนิดเป็นแมลงตัวห้ำที่มีประโยชน์ในการกินเพลี้ยอ่อน มีน้อยชนิดที่กินใบไม้อ่อนเป็นอาหาร ดังนั้นเราจะพบเห็นว่าแมลงวันดอกไม้จะวางไว้ตามต้นไม้ที่มีเพลี้ยอาศัยอยู่ เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่ มันก็จะโยกส่วนหัวไปมาเพื่อคอยจับเพลี้ยกิน ซึ่งตัวอ่อนระยะที่1ยังไม่มีขากรรไกรที่แข็งแรง แต่สามารถใช้ปากดูดเพลี้ยตัวโตด้วยการยกขึ้นกลางอากาศ แล้วดูดกินของเหลวภายในตัวเพลี้ยได้ ตัวอ่อนระยะที่2ใช้เวลาประมาณ 10 วัน จึงกลายเป็นตัวอ่อนระยะที่3 ระยะเวลานี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามอุณหภูมิและปริมาณอาหารที่มันกินเข้าไป ตัวอ่อนระยะที่3จะใช้ท้องตอนต้นยึดติดกับกิ่งไม้ แล้วเริ่มเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้ โดยมีเปลือกหุ้มแข็งไว้ป้องกันตัวจากศัตรู
ปัจจุบันมีรายงานการพบแมลงวันดอกไม้ในเมืองไทยประมาณ 50 ชนิด โดยมี 2 ชนิด ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และพบได้บ่อยๆตามดอกไม้ คือ “แมลงวันดอกไม้หลังลาย”(Mesembrius vestitus Wiedemann, 1824) และ“แมลงวันดอกไม้หัวจุด”(Eristalinus arvorum Linnaeus, 1787)
เป็นแมลงที่มีประสิทธิภาพในการผสมเกสรให้แก่พืช และบ่อยครั้งที่พบตัวเต็มวัยกินเกลือแร่จากเหงื่อตามร่างกายของสัตว์หรือมนุษย์
สำหรับแมลงวันดอกไม้ปีกดำมีขนาดลำตัวยาว 0.96-1.33 ซม. แพร่กระจายในเนปาล จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวกินี และออสเตรเลีย
นก
พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 23 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด
1. นกกะเต็นน้อยธรรมดา
ชื่อท้องถิ่น : นกกระเต็นน้อย , นกกระเต็นน้อยธรรมดา
ชื่อสามัญ : Common Kingfisher ; Small Blue Kingfisher
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alcedo atthis Linnaeus, 1758
วงศ์ : ALCEDINIDAE
นกกะเต็นน้อยธรรมดา
ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีน้อยที่เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 16-18 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและหน้าผากมีสีฟ้าอมเขียวหรือสีน้ำเงินอมเขียว และมีจุดเล็กๆสีฟ้าอ่อนเป็นแนวขวางถี่ๆหลายแนว แก้มและขนคลุมหูสีน้ำตาลแดงต่อกับแถบขาว คอสีขาว ปีกสั้นกว่า 8 ซม. สีฟ้าอมเขียวและมีจุดสีฟ้าอ่อนตรงแนวปีก หลังและตะโพกสีฟ้าวาว อกสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างสีส้มแกมน้ำตาล หางสั้น แข้งและตีนสีแดงสดใส
ตัวผู้และตัวเมียต่างกันตรงที่ตัวผู้มีปากสีดำสนิท ส่วนตัวเมียมีโคนปากล่างและอาจทั้งปากล่างเป็นสีส้มแดง หรือสีน้ำตาลแดง
วัยอ่อนมีอกสีหม่นออกขาวๆเทาๆ ปากล่างสีแดง แข้งและตีนสีดำ
มักพบอยู่โดดเดี่ยว ไม่รวมฝูง ออกหากินเวลากลางวัน โดยจะเกาะอยู่ตามกิ่งไม้แห้งหรือตอไม้ในแหล่งน้ำ เพื่อคอยจับปลาตัวเล็กๆ ลูกอ๊อด กบขนาดเล็ก กุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก ปลาตีน และแมลง เป็นต้น เมื่อพบเหยื่อมันจะบินโฉบใช้ปากคาบเหยื่อ หรือบางครั้งลำตัวของมันจะจมลงไปในน้ำด้วย เมื่อได้เหยื่อมันจะกลับมาเกาะตรงที่เดิมแล้วจึงกลืนกิน หากเหยื่อเป็นปลา มันจะหันทางด้านหัวปลาเข้าปาก หากยังไม่อิ่มก็จะคอยจ้องจับเหยื่อต่อไป
เสียงร้องแหลมสูง ดังว่า“ซิ-ซิ-ซิ”
ทั่วโลกมี 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย bengalensis
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 7 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามแหล่งน้ำต่างๆทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ตามทุ่งโล่ง สวนสาธารณะ ป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,800 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย จนถึงออสเตรเลีย
2. นกพญาไฟสีเทา ตัวผู้
ชื่อสามัญ : Ashy Minivet
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pericrocotus divaricatus Raffles, 1822
วงศ์ : CAMPEPHAGIDAE
นกพญาไฟสีเทา ตัวผู้
ชื่อไทยว่า“นกพญาไฟ”มาจากชนิดประจำถิ่นที่เพศผู้มีสีแดงและเพศเมียมีสีเหลือง ดูสวยสดน่าประทับใจเมื่อได้พบเห็น โดยเฉพาะยามอยู่คู่กัน แต่ชนิดอพยพมีสีสันไม่ฉูดฉาดเท่า
นกพญาไฟสีเทาเป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 18.5-20 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้บริเวณหน้าผากและลำตัวด้านล่างมีสีขาวตัดกับหัวตา ใบหน้า กระหม่อม และท้ายทอยที่มีสีดำ ลำตัวด้านบนและตะโพกสีเทา ปีกสีดำ มีลายแถบสีขาวที่โคนของขนปีก เห็นได้ชัดขณะนกบิน หางสีดำ ขนหางคู่นอกส่วนใหญ่มีสีขาว
ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ต่างกันที่กระหม่อมและท้ายทอยมีสีเทา นอกจากนี้ยังมีลักษณะคล้ายตัวเมียของนกพญาไฟตะโพกสีน้ำตาล(Brown-rumped Minivet) ต่างกันตรงที่หน้าผากตอนหน้าและหัวตาสีดำ ลำตัวด้านบนและตะโพกสีเทา
ระหว่างตัวผู้และตัวเมียของนกชนิดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่หัวของตัวผู้มีสีดำและสีขาวเป็นรูปคล้ายหมวกกันน็อค
ตัวไม่เต็มวัยไม่มีสีขาวที่บริเวณหน้าผาก ลำตัวด้านบนมีลายแต้มสีน้ำตาล ลายแถบสีขาวที่ปีกมักมีลายแต้มสีเหลืองด้วย และลำตัวด้านล่างมักมีลายแถบสีเทา
มักพบอยู่เป็นฝูง และอาจพบอยู่ร่วมกับนกอื่นๆ เช่น นกกระจ้อย(Warbler) นกจับแมลง(Flycatcher) และนกพญาไฟใหญ่(Scarlet Minivet) มักเกาะตามกิ่งไม้และยอดไม้ อาหารได้แก่ แมลงต่างๆ โดยจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้ ไม่บ่อยครั้งนักที่โฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ทำรังวางไข่ทางด้านตะวันออกของรัสเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น อพยพลงมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฤดูหนาว
นกพญาไฟสีเทา ตัวผู้
เสียงร้องดังว่า“ชู-ดี้ ชู-ดี้-ดี้ ชู-ดี้-ดี้”
ชื่อชนิด divaricatus เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า divaric,-a หรือ divaricare แปลว่า ส่วนที่แยกออกไป และคำว่า -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“ส่วนที่ยื่นออกไปคือหาง มีความยาวเท่ากับลำตัว” หรืออาจจะหมายถึง“นกที่มีลักษณะไม่เหมือนกับนกพญาไฟอื่นๆ” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศสิงคโปร์
ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย divaricatus Raffles ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 15 ชนิด ในเมืองไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามสวนสาธารณะ ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,200 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย จีน ไต้หวัน รัสเซียด้านตะวันออก เกาหลี ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
3. นกพญาไฟใหญ่ ชนิดย่อย semiruber ตัวผู้
ชื่อสามัญ : Scarlet Minivet
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pericrocotus speciosus Latham, 1790
วงศ์ : CAMPEPHAGIDAE
นกพญาไฟใหญ่ ชนิดย่อย semiruber ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 17-22 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีลำตัวขนาดใหญ่และหนากว่านกพญาไฟที่พบในเมืองไทยทั้ง 9 ชนิด ตัวผู้บริเวณหัว คอ หลังตอนหน้า ปีก และหางมีสีดำเป็นมัน หลังตอนท้าย ลำตัวด้านล่าง แถบปีก ตะโพก และขอบหางมีสีแดงเข้ม แถบปีกสีแดงมีขนาดใหญ่กว่านกพญาไฟแม่สะเรียง(Short-billed Minivet) และไม่เชื่อมต่อกัน แต่จะมีแถบสีแดงขนาดเล็กแยกออกมาอีกแถบหนึ่ง
ส่วนตัวเมียบริเวณหน้าผาก เหนือตา แถบปีก ตะโพก ลำตัวด้านล่าง และขอบหางมีสีเหลืองสด ท้ายทอยจนถึงลำตัวด้านบนตอนหน้ามีสีเทา ปีกและหางคล้ายตัวผู้ ต่างกันที่มีสีเหลืองแทนสีแดง ตำแหน่งแถบปีกเหมือนตัวผู้
ในธรรมชาติจะสังเกตเห็นได้ชัดว่าตัวสีแดงคือตัวผู้ ส่วนตัวสีเหลืองคือตัวเมีย
นกวัยอ่อนมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่ส่วนที่เป็นสีเหลืองจะเป็นสีเหลืองอมส้มจนถึงสีส้มอ่อน หรือมีสีแดงแซม
มักพบเป็นคู่ เป็นฝูงเล็กๆราว 4-5 ตัว หรืออยู่เป็นฝูงใหญ่ราว 20 ตัว หรือมากกว่า พบเกาะตามยอดไม้สูง บินตรงจากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งไม้หนึ่ง หรือจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นไม้หนึ่ง มักบินตามกันไปเป็นฝูง โดยมีตัวนำ บางครั้งก็ลงมาหากินตามพุ่มไม้ระดับล่าง อาหารได้แก่ ผลไม้สุก หนอน แมลงต่างๆ และแมงมุม ปกติจะจิกกินแมลงตามใบไม้ ดอกไม้ กิ่งไม้ และยอดไม้ บางครั้งก็ใช้การกระพือปีกไล่แมลงให้แตกตื่นและบินออกมาจากที่ซ่อน แล้วจึงบินออกไปโฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้ที่อยู่เกือบปลายกิ่ง และอยู่สูงจากพื้นดิน 6-18 เมตร รังเป็นรูปถ้วยเล็กๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ เปลือกไม้ ต้นหญ้า ไลเคนส์ มอสส์ และเชื่อมรังด้านนอกด้วยใยแมงมุม อาจมีใบไม้แห้งมารองกลางรังเพื่อรองรับไข่
วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ไข่สีเขียวแกมน้ำเงิน มีรอยขีดคล้ายรอยแตกสีน้ำตาลแกมเหลืองและสีเทา ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง แต่ตัวเมียเท่านั้นที่ทำหน้าที่ฟักไข่ การเลี้ยงดูลูกอ่อนนั้นส่วนใหญ่ตัวเมียทำหน้าที่นี้ โดยตัวผู้จะคอยเฝ้าดูแลความปลอดภัย
นกพญาไฟใหญ่ ชนิดย่อย semiruber ตัวผู้
เสียงร้องสั้นๆ แหลมใส ดังต่อเนื่องกันว่า“สวีป สวีป สวีป”
ทั่วโลกพบ 20 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย elegans McClelland ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ elegan,-t แปลว่า ละเอียดอ่อน ความหมายก็คือ“นกที่มีขนละเอียดอ่อน” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือตอนบน แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ และไทย
– ชนิดย่อย flammifer Hume ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า flame หรือ flamma แปลว่า สีแดง และคำว่า fer แปลว่า นำ ความหมายก็คือ“นกที่มีสีแดงเป็นส่วนใหญ่” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย และคาบสมุทรมลายู
– ชนิดย่อย semiruber Whistler & Kinnear ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า semi แปลว่า ครึ่งหนึ่ง และคำว่า rube,-d,-din,-o,=r,-scen หรือ ruber แปลว่า สีแดง ความหมายก็คือ“นกที่มีสีแดงครึ่งร่างกาย” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่รัฐ Andhra ประเทศอินเดีย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แพร่กระจายในเมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
พบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,700 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
4.นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ชนิดย่อย inornata
ชื่อสามัญ : Gold-fronted Chloropsis ; Gold-fronted Leafbird ; Golden-fronted Leafbird
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloropsis aurifrons Temminck, 1829
วงศ์ : CHLOROPSEIDAE
นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ชนิดย่อย inornata
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 18-20 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผากสีเหลืองแกมสีส้มสด หรือสีส้มแกมสีทอง ใบหน้าจนถึงอกมีสีดำ คอมีสีฟ้าแกมม่วงจนถึงสีน้ำเงิน ลำตัวด้านบนสีเขียว มีลายพาดสีฟ้าหรือสีน้ำเงินบริเวณช่วงไหล่หรือหัวปีก ลำตัวด้านล่างสีเขียวแกมเหลือง
ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ต่างจากนกเขียวก้านตองชนิดอื่นที่เฉพาะตัวผู้เท่านั้นมีใบหน้าจนถึงอกเป็นสีดำ
นกวัยอ่อนมีใบหน้า คาง และคอสีเขียว หน้าผากแซมสีเหลืองจางๆ
พบหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆ อาศัยและหากินบนต้นไม้ โดยเฉพาะตามยอดไม้ แต่เนื่องจากลำตัวมีสีเขียวจึงกลมกลืนกับสีของใบไม้ ทำให้มองเห็นตัวได้ค่อนข้างยาก อาหารได้แก่ ผลไม้ น้ำหวานจากดอกไม้ แมลง และแมงมุม
พฤติกรรมการกินผลไม้และน้ำหวานจากดอกไม้นั้น จะบินไปเกาะยังกิ่งก้านที่มีผลไม้และดอกไม้ ซึ่งสามารถเกาะได้ทุกแนว ไม่ว่าจะด้านบน ด้านข้าง หรือด้านล่าง จากนั้นใช้ปากบีบผลไม้ให้แตกแล้วกินเฉพาะเนื้อข้างใน โดยเฉพาะลูกไทร หว้า และตะขบ ส่วนการกินน้ำหวานจากดอกไม้นั้นจะใช้ปากแหย่เข้าไปในดอกไม้แล้วดูดกินน้ำหวาน สำหรับอาหารจำพวกแมลงและแมงก็จะใช้ปากจิกกินตามกิ่งไม้ยอดไม้ บางครั้งก็ใช้วิธีโฉบจับกลางอากาศ แต่ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะมากนัก
เป็นนกที่บินได้ดีและแข็งแรง จะบินจากต้นไม้หนึ่งไปอีกต้นไม้หนึ่งเสมอ และเกือบตลอดเวลา
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังบริเวณเกือบปลายกิ่งไม้ด้านนอกสุด และอาจปกคลุมด้วยกิ่งไม้ใบไม้ หรืออาจทำรังตามง่ามไม้ที่อยู่สูงจากพื้นราว 9-12 เมตร แต่บางครั้งก็พบรังตามไม้พุ่มที่สูงเพียง 1-2 เมตร เท่านั้น รังเป็นรูปถ้วยหยาบๆหรือเป็นแอ่งตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ หญ้า มอสส์ และเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม
วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ไข่สีครีม หรือสีครีมแกมเหลือง มีลายดอกดวงสีออกแดง โดยเฉพาะบริเวณด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
นกชนิดนี้เป็นนักเลียนเสียงอันดับต้นๆในป่าเมืองไทย มีเสียงร้องหลายแบบมาก เสียงร้องแบบหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยๆจะเป็นเสียงคล้ายนกแซงแซวสีเทา(Ashy Drongo) แต่ท่วงทำนองร้องจะยาวนานกว่า และร้องได้เป็นท่วงทำนองเพลง รวมทั้งจังหวะที่ไม่ซ้ำกันเลย
ชื่อชนิด aurifrons เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ aur,-ar,-at,-e,-i หรือ aurum แปลว่า สีทอง และ =frons แปลว่า หน้าผาก ความหมายก็คือนกที่มีหน้าผากเป็นสีทองพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย
นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ชนิดย่อย inornata
ทั่วโลกพบ 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย incompta Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากภาษาละติน คือคำว่า in แปลว่า ไม่ และคำว่า compt แปลว่า เครื่องประดับ ความหมายก็คือ“นกที่มีสีเรียบ” โดบพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศเวียดนาม ในไทยพบทางภาคตะวันตกตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน
– ชนิดย่อย inornata Boden Kloss ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากภาษาละติน คือคำว่า inornatus แปลว่า ไม่มีเครื่องประดับ หรือสีเรียบ ความหมายก็คือ“นกที่มีสีเรียบ ไม่มีเครื่องหมายใดๆ” โดบพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกใน จ.นครราชสีมา ประเทศไทย ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง
– ชนิดย่อย pridii Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ประเทศไทย ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 11 ชนิด(เดิมอยู่ในวงศ์ IRENIDAE) ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ทั่วไปตามชายป่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,220 เมตร
ด้วยความที่มีสีสีนสวยงามทำให้นกทั้ง5ชนิดในสกุลนี้เป็นที่นิยมถูกดักจับมาเลี้ยงในกรง โดยเฉพาะทางภาคใต้ ทั้งๆที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีนด้านตะวันตก เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
5.นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า ชนิดย่อย kinneari
ชื่อท้องถิ่น : นกเขียวลออ
ชื่อสามัญ : Blue-winged Leafbird ; Javan Leafbird ; Yellow-headed Leafbird
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloropsis cochinchinensis Gmelin, 1789
วงศ์ : CHLOROPSEIDAE
นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า ชนิดย่อย kinneari ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 16.5-19 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลักษณะเด่น คือ มีสีน้ำเงินหรือสีฟ้าบริเวณหัวปีก ขอบปีกด้านหน้า และหาง
ปากยาวเรียวโค้งเล็กน้อย ปลายปากงุ้มลงเล็กน้อย ลำตัวตั้งแต่หัว หลังคอ ด้านหลัง ไหล่ ตะโพก จนถึงขนคลุมโคนหางด้านบน มีสีเขียวสด มีลายแต้มสีเหลืองบนหัว ปีกและหางมีแถบสีฟ้า ปีกมนกลม หางยาวตัดตรง ขาและนิ้วเท้าสีเทาอมฟ้า นิ้วเท้าขนาดเล็กยื่นไปข้างหน้า3นิ้ว และยื่นไปข้างหลัง1นิ้ว
ตัวผู้มีขนรอบดวงตาและรอบปาก มีแถบหนวดสีฟ้าแกมม่วง ใบหน้าและคอหอยมีสีดำ บริเวณคางมีขีดสั้นๆเฉียงๆสีน้ำเงินอยู่สองข้าง หน้าผาก ข้างคอ และอกตอนบนสีเหลืองไล่ระดับลงมาเป็นสีเขียว
ส่วนตัวเมียมีใบหน้าสีเขียวอมฟ้า แถบสีฟ้าที่ปีกและหางจางกว่าตัวผู้ ดูคล้ายนกเขียวก้านตองเล็กตัวเมีย(Lesser Green Leafbird) แต่หัวและคอมีแซมสีเหลือง
นกที่ยังไม่เต็มวัยทั้งสองเพศจะมีสีเขียวตลอดตัว และมีสีเหลืองแซมเล็กน้อยที่ท้ายทอย มีแถบสีฟ้าสดใสที่ขนคลุมปีก ขนปลายปีก และขนหางคู่นอก แต่สีฟ้าจะดูหม่นกว่าตัวเต็มวัยเล็กน้อย
เสียงร้องฟังดูคล้ายเสียงผิวปากเป็นท่วงทำนองเพลง และชอบเลียนเสียงนกชนิดอื่น
ปีกค่อนข้างสั้น จึงไม่สามารถบินไปไหนมาไหนไกลๆ แต่จะบินจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้กันท่านั้น เวลาบินจะบินไม่ค่อยเป็นแนวตรง มักบินเป็นลูกคลื่นขึ้นๆลงๆ แต่บินได้รวดเร็ว
อาศัยและหากินตามต้นไม้ โดยเฉพาะตามยอดไม้ เนื่องจากมีสีเขียว ซึ่งกลมกลืนกับสีของใบไม้ จึงทำให้มองเห็นได้ยาก มักอยู่ด้วยกันเป็นคู่ หรือตัวเดียวโดดเดี่ยว หรือเป็นครอบครัวเล็กๆ หากินแต่เช้าตรู่ ถ้าเป็นคู่มันจะแยกย้ายกันหากิน แต่จะอยู่ใกล้ๆกันหรืออยู่บนต้นไม้เดียวกัน อาหารได้แก่ น้ำหวานดอกไม้ ผลไม้ แมลง และแมงมุม ชอบมุดไปตามพุ่มไม้เพื่อจิกกินแมลงที่ซ่อนอยู่ใต้ใบไม้
นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า ชนิดย่อย kinneari ตัวเมีย
พฤติกรรมการกินน้ำหวานจากดอกไม้และผลไม้นั้น นกจะบินไปเกาะตามกิ่งก้านที่มีดอกไม้หรือผลไม้ สามารถเกาะได้ทุกๆแนว ไม่ว่าจะเป็นด้านบน ด้านข้าง และด้านล่าง แล้วใช้ปากแหย่เข้าไปในดอกเพื่อดูดกินน้ำหวาน หรือใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว จากนั้นใช้ปากบีบผลไม้ให้แตกแล้วกินเฉพาะเนื้อข้างใน โดยเฉพาะลูกไทร หว้า และตะขบ สำหรับอาหารจำพวกแมลงและแมงมุมนั้นจะใช้ปากจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับกลางอากาศ แต่ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะมากนัก
มักออกหาอาหารปะปนกับนกขนาดไล่เลี่ยกัน แต่บางครั้งจะแสดงอาการก้าวร้าวไล่จิกนกอื่นๆจนกว่านกเหล่านั้นจะถอยห่างออกไปจากแหล่งอาหาร
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังตามปลายกิ่งไม้หรือแขวนระหว่างกิ่งไม้ดูคล้ายเปลญวน ปกติรังจะอยู่สูงจากพื้นดินราว 6-9 เมตร แต่บางครั้งก็พบรังในระดับต่ำเพียง 1-2 เมตร รังเป็นรูปถ้วย วัสดุทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ รากไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบหญ้า ใบไม้ และเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม
วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ไข่สีครีม หรือสีขาวอมชมพู มีลายดอกดวงและลายเส้นสีดำ สีม่วง และสีน้ำตาลแดง โดยเฉพาะบริเวณด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
ชื่อชนิด cochinchinensis เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ เมือง Cochin China ในประเทศเวียดนาม ซึ่งพบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก
ทั่วโลกพบ 11 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 6 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย auropectus Wells , Dickinson & Dekker มีสีเหลืองสดลงมาถึงอก ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีเหลืองสดบนหัวลงมาจนถึงอก ในไทยพบทางภาคตะวันออก มีชื่อเรียกว่า“นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าตะวันออก” ชนิดย่อยนี้มีการแพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
กลมกลืนกับใบไม้
– ชนิดย่อย chlorocephala Walden ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า chlor,-o หรือ khloros แปลว่า สีเขียว และคำว่า cephal,=a,-o หรือ kephalos แปลว่า หัว ความหมายก็คือ“บริเวณหัวเป็นสีเขียว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีเหลืองบนหัวมากกว่าชนิดย่อย serithai ในไทยพบชนิดย่อยนี้มีการพบกว้างขวางมากที่สุด โดยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนล่างจนถึงคอคอดกระ มีชื่อเรียกว่า“นกเขียวก้านตองฟ้าปีกสีพายัพ” ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ และไทย
– ชนิดย่อย cochinchinensis Gmelin ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก มีชื่อเรียกว่า“นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโคชินไช” ชนิดย่อยนี้มีการแพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) นักวิชาการบางท่านรวมชนิดย่อย auropectus ไว้อยู่ในชนิดย่อยเดียวกับ cochinchinensis
– ชนิดย่อย kinneari Hall and Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกทางตอนเหนือของประเทศลาว ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีเหลืองบนหัวน้อยที่สุด ในไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีชื่อเรียกว่า“นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าคินเนียริ” ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในไทย ลาว และเวียดนาม
– ชนิดย่อย moluccensis J.E.Gray ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ เกาะ Moluccas อยู่ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ แต่ที่แท้จริงแล้วพบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกที่เมือง Malacca ประเทศมาเลเซีย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีเหลืองสดบนหัว ในไทยพบใน จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา มีชื่อเรียกว่า“นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าโมลุกกะ” ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
– ชนิดย่อย serithai Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของกลุ่มบุคคล คือ กลุ่มเสรีไทย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่ จ.สุราษฎร์ธานี ประเทศไทย ในไทยพบตั้งแต่คอคอดกระลงไปจนถึง จ.ตรัง มีชื่อเรียกว่า“นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเสรีไทย” หรือ“นกเสรีไทย” ชนิดย่อยนี้มีการแพร่กระจายในเมียนมาร์ และไทย
ในบรรดานกเขียวก้านตองทั้ง5ชนิดที่พบในไทย มีชนิดนี้เพียงชนิดเดียวที่พบอาศัยทับซ้อนกับนกเขียวก้านตองชนิดอื่นๆได้ทั้งหมด โดยพบอาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,500 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
6.นกบั้งรอกใหญ่ ชนิดย่อย saliens
ชื่อสามัญ : Greater Green-billed Malkoha ; Green-billed Malkoha ; Large Green-billed Maalkoha
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhopodytes tristis Lesson, 1830
ชื่อพ้อง : Melias tristis Lesson, 1830 ; Phaenicophaeus tristis Lesson, 1830
วงศ์ : CUCULIDAE
นกบั้งรอกใหญ่ ชนิดย่อย saliens
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 51-59 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัว คอ และหลังคอสีเทาอ่อน หนังรอบตาสีแดงสดและมีขนสีขาวโดยรอบ ปากค่อนข้างหนาสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวขุ่น หลังและตะโพกสีเทาแกมเขียวเข้มจนถึงสีเทาเข้ม ปีกแต่ละข้างยาวมากกว่า 14 ซม. ปีกและขนหางสีน้ำตาลเหลือบเขียวจนถึงสีดำเหลือบเขียว ลำตัวด้านล่างสีเทาอ่อนแซมด้วยขีดดำเล็กๆ คอหอยและอกมีสีจางกว่าท้องเล็กน้อย หางยาว 37-38 ซม. ปลายขนหางที่ไล่ลดหลั่นกันลงไปเป็นบั้งๆมีสีขาว5แถบทางด้านล่าง
อยู่กันเป็นคู่เกือบตลอดทั้งปี มักพบกระโดดไปมาตามกิ่งไม้ที่รกทึบ หรือโผบินจากต้นไม้หนึ่งไปยังต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ กินอาหารจำพวกตั๊กแตน จักจั่น แมลง ตัวบุ้ง หนอน ตัวอ่อนของแมลง รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆอย่างกิ้งก่า จิ้งเหลน หรือแม้แต่ลูกนกชนิดอื่นที่อยู่ในรัง เหยื่อขนาดเล็กจะจิกกินกลืนลงคอ แต่ถ้าเป็นเหยื่อขนาดใหญ่จะงับให้ตายแล้วจึงฉีกกินทีละชิ้น
เป็นนกที่ค่อนข้างเฉื่อย มักหลบซ่อนและค่อนข้างสงบเงียบ ปกติจะเกาะตามกิ่งไม้ที่มีใบหนาทึบ สังเกตเห็นได้ยาก นอกจากเห็นขณะบิน ซึ่งจะบินระยะสั้นๆจากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีกระโดดและปีนป่ายคล้ายกระรอก บางครั้งก็ลงมายังพุ่มไม้หรือไม้พื้นล่างที่มีใบแน่นทึบ
ส่วนใหญ่พบเป็นคู่ ไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลใด อาหารได้แก่ หนอน และแมลงต่างๆ นอกจากนี้ยังกินสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น อีกด้วย พฤติกรรมการหาอาหารจะใช้วิธีปีนป่ายตามกิ่งไม้และยอดไม้ เมื่อพบเหยื่อจะใช้ปากจิกกิน หากเหยื่อมีขนาดใหญ่จะใช้ปากงับเหยื่อจนตาย แล้วจิกฉีกเหยื่อกินทีละชิ้น
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนสิงหาคม ทำรังตามยอดไม้หรือยอดไผ่ที่อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 3-7 เมตร รังค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของตัว รังเป็นรูปถ้วยหยาบคล้ายรังนกเขา วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ กิ่งไผ่ และเถาวัลย์ต่างๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 10 นิ้ว กลางรังเป็นแอ่งตื้นๆ และนำใบไม้สดมาวางกลางรังเพื่อรองรับไข่ ทั้งนี้มีการนำใบไม้ใหม่สดมาเปลี่ยนใหม่เสมอ เพื่อควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ
วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ไข่รูปค่อนข้างยาว สีขาว มีลักษณะคล้ายผงชอล์คเคลือบบางส่วน ทั้งตัวผู้ตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่ลืมตาและไม่มีขนปกคลุมร่างกาย เมื่อลูกนกแข็งแรงและบินได้แล้ว จึงจะทิ้งรังไป
นกบั้งรอกใหญ่ ชนิดย่อย saliens
เสียงร้องแหบและสั้นดังว่า“ต็อก-ต็อก”หรือ“เอาะ-เอาะ”
ชื่อชนิด tristis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ trist,-i แปลว่า เศร้า ความหมายก็คือ“นกที่มีสีไม่ฉูดฉาด(หรือสีแห่งความเศร้า)” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกที่รัฐฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย longicaudatus Blyth ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า long,-i หรือ longus แปลว่า ยาว และคำว่า caudatus (caud,=a) แปลว่า หาง ความหมายก็คือ“นกที่มีหางยาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศเมียนมาร์ ในเมืองไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– ชนิดย่อย saliens Mayr ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ salien,-t แปลว่า กระโดด ความหมายก็คือ“นกที่มักจะกระโดดไปมา” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่ประเทศลาว ในเมืองไทยพบทางภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 4 ชนิด(เดิมอยู่ในสกุล Phaenicophaeus) ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ชายป่า ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,685 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
7.นกกาฝากสีเรียบ ชนิดย่อย olivaceum
ชื่อสามัญ : Plain Flowerpecker ; Plain-colored Flowerpecker
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicaeum minullum Swinhoe, 1870
วงศ์ : DICAEIDAE
นกกาฝากสีเรียบ ชนิดย่อย olivaceum
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 8-8.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากแหลมสีดำ มีลักษณะคล้ายตัวเมียของนกกาฝากชนิดอื่น แต่หัวและลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลเรียบๆ ตาสีดำ ข้างแก้มและลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมเหลืองจางกว่าลำตัวด้านบนเล็กน้อย ปีกยาวน้อยกว่า 5.5 ซม. ตัวผู้มีหน้าผากสีเหลือบเข้ม แต่สังเกตได้ค่อนข้างยากในธรรมชาติ ส่วนตัวไม่เต็มวัยมีปากสีเนื้อสด หรือสีออกเหลือง
มักพบโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ อาศัยและหากินตามกิ่งไม้ระดับต่ำ หรือตามไม้พุ่มที่ไม่สูงมากนัก ประกอบกับมีขนาดเล็กและว่องไวมาก จึงจำแนกได้ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยเสียงร้องช่วยในการจำแนก อาหารได้แก่ หนอน และแมลง โดยจิกกินตามกิ่งก้าน ยอดไม้ และดอกไม้ นอกจากนี้ยังกินน้ำหวานจากดอกไม้ และผลไม้บางชนิดอีกด้วย
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังห้อยหรือแขวนตามกิ่งไม้ต่างๆที่มีใบแน่นทึบและอยู่สูงจากพื้นราว 3-6 เมตร รังเป็นรูปกะเปาะหรือกระเป๋า มีทางเข้าออกทางด้านข้าง วัสดุใช้ทำรังประกอบด้วยดอกหญ้า ใบไม้ ใบหญ้า และเส้นใยไม้ นำมาสานสอดเข้าด้วยกัน หรือเชื่อมกันด้วยใยแมงมุม
วางไข่ครั้งละ 3 ฟอง ไข่สีนวล ไม่มีลายใดๆ ใช้เวลาฟักไข่ราว 12-13 วัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ระยะแรกจะป้อนอาหารให้ลูกนกค่อนข้างถี่ คือราวๆ 5-10 นาทีต่อครั้ง โดยผลัดกันหาอาหารและเฝ้าลูก อาหารส่วนใหญ่เป็นหนอนและแมลง บางครั้งก็เป็นผลไม้ขนาดเล็ก ทั้งนี้เมื่อป้อนอาหารแล้ว จะยังรออยู่เพื่อเอาของเสียที่ลูกนกถ่ายออกมาเป็นก้อนกลมๆ คาบไปทิ้ง ลูกนกมีอายุราว 20 วัน ก็จะมีขนคลุมเต็มตัวและบินออกจากรังได้
นกกาฝากสีเรียบ ชนิดย่อย olivaceum
เสียงร้องกระชับไม่แหลมก้องเหมือนนกกาฝากชนิดอื่น ดังว่า“ติตซ-ติตซ” และ“ตูวิต-ตูวิต-ตูวิต”
ในอดีตเคยถูกจัดเป็นชนิดเดียวกับ Nilgiri Flowerpecker ชื่อวิทยฯ Dicaeum concolor Jerdon, 1840 ซึ่งมีใบหน้าและลำตัวด้านล่างสีอ่อนกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย borneanum Lönnberg ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลอมเหลือง ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย
– ชนิดย่อย olivaceum Walden ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนล่าง แพร่กระจายในเมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 42 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,700 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และพบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
8.นกแซงแซวสีเทา
ชื่อสามัญ : Ashy Drongo ; Pale Ashy Drongo
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus leucophaeus Vieillot, 1817
วงศ์ : DICRURIDAE
นกแซงแซวสีเทา
เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 25.5-29 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) นกแซงแซวทั้ง7ชนิดที่พบในไทย ส่วนใหญ่มีสีดำ ยกเว้นนกแซงแซวสีเทาเพียงชนิดเดียวที่ลำตัวมีสีเทา แต่มีความหลากหลายทางสีสันมาก ตั้งแต่สีเทาอ่อนจนถึงสีเทาเข้ม สีเทาเข้มเกือบดำ หรือสีเทาเหลือบฟ้า ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดย่อย ลำตัวด้านบนจะสีเข้มกว่าด้านล่าง บางชนิดย่อยมีลายพาดที่ด้านข้างของหัว ซึ่งอาจเป็นสีขาว สีเทา สีเข้ม หรือไม่มีลายใดๆ
หากดูเฉพาะรูปร่างจะมีลักษณะคล้ายนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) แต่หางแฉกไม่ลึกเท่า
พบทั้งโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ มักเกาะตามกิ่งไม้แห้งและกิ่งไม้ทั่วๆไปในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่านกแซงแซวชนิดอื่น กินแมลงต่างๆด้วยการโฉบจับกลางอากาศบริเวณเรือนยอดไม้หรือระหว่างเรือนยอดไม้ บางครั้งโฉบจับแมลงเกือบถึงพื้นดิน มีนิสัยก้าวร้าวไม่ต่างจากนกแซงแซวชนิดอื่น และป้องกันอาณาเขตที่มันครอบครองอย่างแข็งขัน พร้อมที่จะบินเข้าโจมตีนกล่าเหยื่อจำพวกเหยี่ยวได้ทุกเมื่อ บางครั้งมันก็มีนิสัยเสีย ด้วยการโฉบแมลงที่นกอื่นจับได้มาแย่งกินอีก
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้เกือบปลายกิ่งและอยู่สูงจากพื้นดินราว 10-20 เมตร รังเป็นรูปถ้วยตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ใบไม้ ไลเคนส์ และเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม มีใบหญ้าฉีกเป็นเส้นเล็กๆรองพื้นรัง
วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง สีของไข่คล้ายกับไข่ของนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) คือ มีสีขาว หรือสีครีมอมชมพู แต่มีลายจุดและลายดอกดวงมากกว่า ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
นกแซงแซวสีเทา
เสียงร้องก้องดังว่า“ติ๊ก-วู่-วิด ติ๊ก-วู่-วิด” และเสียงแหบว่า“แอช-แอช” และยังสามารถเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้อีกด้วย
ชื่อชนิด leucophaeus มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และ phae,-o หรือ phaios แปลว่า สีเทา ความหมายก็คือ“นกที่มีสีขาวและสีเทา” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบ 16 ชนิดย่อย ในไทยพบ 6 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย bondi Meyer de Schauensee ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่นในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย hopwoodi Stuart Baker ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศบังกลาเทศ ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีลำตัวสีเทาเข้มจนเกือบดำ มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเข้ม ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพในเมืองไทยพบได้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– ชนิดย่อย leucogenis Walden ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และคำว่า geni,-o หรือ genus แปลว่า คาง ความหมายก็คือ“บริเวณคางมีสีขาว” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศจีน ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาอ่อนที่สุด บริเวณหัวตาและคางมีสีขาว มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีขาว ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพในเมืองไทยพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จนถึงคอคอดกระ
– ชนิดย่อย mouhoti Walden ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่นในเมืองไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และอาจจะเป็นนกอพยพที่พบได้เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป
นกแซงแซวสีเทา
– ชนิดย่อย nigrescens Oates ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า nig,-el,=er,-ra,-resc,-ri,-ro แปลว่า สีดำ และคำว่า -escens เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีสีออกดำ” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่เมืองพะโค ประเทศเมียนมาร์ ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาจางกว่าชนิดย่อย hopwoodi ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่นในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออก และตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึง จ.ภูเก็ต โดยมักพบตามป่าชายเลนหรือป่าเสม็ดบริเวณชายฝั่งทะเล
– ชนิดย่อย salangensis Reichenow ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ Salanga หมายถึง “เกาะภูเก็ต” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลก บนเกาะภูเก็ต ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาเข้มกว่าชนิดย่อย leucogenis แต่ใบหน้ามีสีขาวน้อยกว่า และมีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเทา ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 24 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้ที่เป็นนกประจำถิ่นพบอาศัยตามชายป่า ทุ่งโล่ง ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,565 เมตร ส่วนนกอพยพนั้นจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว สามารถพบได้ตามสวนสาธารณะและสวนผลไม้ด้วย
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
9.นกแซงแซวหางปลา ชนิดย่อย cathoecus
ชื่อสามัญ : Black Drongo
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus macrocercus Vieillot, 1817
วงศ์ : DICRURIDAE
นกแซงแซวหางปลา ชนิดย่อย cathoecus
เป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 27-28.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ขนลำตัวสีดำเหลือบน้ำเงินเล็กน้อย หางยาว 12.5-18.4 ซม. หางเว้าลึกมากที่สุดในในนกแซงแซวทั้ง7ชนิดที่พบในไทย ปลายขนหางคู่นอกสุดจะโค้งขึ้นเล็กน้อย ม่านตาสีแดง ปากสีดำ ปากบนขบปากล่าง แข้งและตีนสีดำ บางครั้งมีจุดสีขาวที่หัวตาหรือมุมปาก
ตัวไม่เต็มวัยมีอกสีเทาเข้ม มักมีลายเกล็ดสีขาวบริเวณขนปีกด้านล่าง อกตอนล่าง ท้อง และขนคลุมโคนขนหางด้านล่าง
ที่จริงชื่อไทย“นกแซงแซวหางปลา”ไม่ได้บ่งบอกลักษณะเฉพาะเจาะจงเท่าใดนัก เพราะนกแซงแซวหลายชนิดก็มีหางแฉกลึกคล้ายหางปลาตะเพียนอยู่แล้ว อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ตัวสีดำ ชื่อสามัญ Black Drongo จึงไม่สื่ออะไรเท่าไหร่ แต่ก็จะพอหยวนๆได้ตรงที่มันเป็นนกแซงแซวที่มีหางแฉกลึกที่สุด และตัวสีดำขลับไม่เหลือบเป็นมันวาวเท่าชนิดอื่นๆ หลายตัวมีจุดสีขาวที่มุมปากด้วย
เป็นนกแซงแซวชนิดเดียวที่ชอบเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ที่โล่งแจ้ง ตามท้องทุ่งริมทางใกล้แหล่งน้ำ บางครั้งก็ลงมาตามพื้นดิน มักหากินเพียงตัวเดียว หรืออยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ บางครั้งออกหากินเป็นฝูงเล็กๆ 3-6 ตัว เป็นนกที่มีอุปนิสัยก้าวร้าว หากมีนกอื่นมาใกล้ก็จะไล่จิกตี แม้แต่นกล่าเหยื่อก็ต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกรงเล็บที่แหลมคมและอุปนิสัยใจสู้ไม่เกรงกลัวใครของนกแซงแซว โดยเฉพาะช่วงวางไข่และฟักลูกจะมีนิสัยก้าวร้าวมากขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญอย่างไม่เป็นทางการว่า“King-crow” ที่แปลตรงตัวได้ว่า“ราชาแห่งอีกา”
มักเกาะหากินใกล้ๆนกชนิดอื่น เช่น นกเอี้ยง เป็นต้น เพื่อรอจังหวะโฉบจับแมลงที่หนีออกมาจากนกชนิดอื่น ในขณะเดียวกันนกชนิดอื่นก็มีนกแซงแซวคอยการันตีความปลอดภัยจากนกล่าเหยื่อ แต่นกเหล่านั้นก็อาจโดนนกแซงแซวฉวยโอกาสขโมยเหยื่อตัวใหญ่จากปากไปกินเป็นค่าคุ้มครองได้เช่นกัน
พฤติกรรมการหาอาหารมีหลายแบบ อาทิเช่น เกาะกิ่งไม้ รอโฉบจับแมลงกลางอากาศ แล้วกลับมาที่เดิมเพื่อกลืนกินอาหาร , บินฉวัดเฉวียนกลางอากาศเพื่อไล่จับแมลงเหนือบริเวณที่กำลังเกิดไฟไหม้ , ลงมาตามพื้นดินแล้วใช้ปากจิกมด ปลวก หรือแมลงต่างๆ , เกาะหลังสัตว์เลี้ยงจำพวกวัวควาย เพื่อรอจับแมลงที่หนีจากสัตว์เลี้ยงที่เดินย่ำไป เป็นต้น
ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ มักรวมฝูงเกาะนอนตามป่าละเมาะ และบินอพยพไปด้วยกันในเวลากลางวัน บางครั้งอาจมีนกแซงแซวอพยพชนิดอื่นและนกกิ้งโครงมารวมฝูงนอนปะปนด้วย
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้เกือบปลายสุดของกิ่ง บางครั้งในต้นเดียวกันอาจมีรังของนกชนิดอื่นอยู่ด้วย อย่างเช่น นกขมิ้น นกเขา และนกปรอด ซึ่งนกเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อนกแซงแซว และนกแซงแซวก็ไม่ก้าวร้าวกับนกเหล่านี้ รังเป็นรูปถ้วยตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ สารเยื่อใยต่างๆ และเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม ปูพื้นรังด้วยขนสัตว์และหญ้าอ่อน
วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ส่วนใหญ่ไข่มีสีขาว หรือสีครีมแกมชมพู มีลายจุดลายดอกดวงสีดำและสีน้ำตาลแกมแดง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน บ่อยครั้งที่นกคัคคูต่างๆ(Cuckoo)และนกกาเหว่า(Asian Koel)จะใช้รังของนกแซงแซวหางปลาเป็นที่วางไข่ และปล่อยให้เจ้าของรังช่วยฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน
นกแซงแซวหางปลา ชนิดย่อย cathoecus
เสียงร้องแหบดังว่า“แซ่ก-แซ่ก” และสามารถร้องเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้
ชื่อชนิด macrocercus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า macr,-o หรือ makros แปลว่า ใหญ่ หรือยาว และคำว่า cerc,-o,=us แปลว่า หาง ความหมายก็คือ“นกที่มีหางขนาดใหญ่หรือมีหางยาว” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย albirictus Hodgson ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ alb,-i,-id หรือ albus แปลว่า สีขาว และคำว่า rict หรือ rictus แปลว่า มุมปาก ความหมายก็คือ“บริเวณมุมปากเป็นสีขาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเนปาล ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบทางภาคเหนือ
– ชนิดย่อย cathoecus Swinhoe ชื่อชนิดย่อยยังไม่ทราบที่มาและความหมายที่แน่นอน อาจจะมาจากคำว่า Catholic แปลว่า ผู้นับถือศาสนาคริสต์ หรือมีถิ่นกำเนิดทั่วโลก ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศจีน ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ พบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
– ชนิดย่อย thai Boden Kloss ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชนิดย่อยนี้มีขนาดเล็กกว่าชนิดย่อย cathoecus แต่หางแฉกลึกกว่า ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน
พบอาศัยตามสวนสาธารณะ ทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม หนอง บึง ส่วนใหญ่พบตามพื้นที่ราบ น้อยมากที่จะพบตามป่าเขา แต่ก็อาจพบได้ในช่วงย้ายถิ่น โดยอาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก เป็นนกประจำถิ่น ส่วนทางภาคใต้ตอนบนจะเป็นนกอพยพมาในช่วงฤดูหนาว
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
10.นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ชนิดย่อย rangoonensis
ชื่อสามัญ : Greater Racket-tailed Drongo ; Greater Racquet-tailed Drongo ; Large Racket-tailed Drongo
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus paradiseus Linnaeus, 1766
วงศ์ : DICRURIDAE
นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ชนิดย่อย rangoonensis
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 32-35.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ขนหางคู่นอกมีก้านขนยื่นยาวเหมือนนกแซงแซวหางบ่วงเล็ก(Lesser Racket-tailed Drongo) แต่ต่างกันที่ตอนปลายนั้นจะมีแผงขนแผ่ออกด้านนอกเพียงด้านเดียวและบิด ส่วนนกแซงแซวหางบ่วงเล็กมีแผงขนแผ่ออกทั้ง2ด้าน ก้านขนของนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่อาจยาวได้ถึง 30 ซม. และมีขนาดตัวใหญ่กว่านกแซงแซวหางบ่วงเล็ก
มีพุ่มหงอนขนาดใหญ่และยาวบริเวณโคนปากตอนบน โดยตั้งเป็นกระจุก ขนลำตัวสีดำเหลือบน้ำเงินเล็กน้อย ปลายหางเว้าแฉกตื้นๆ
นกวัยอ่อนมีพุ่มหงอนสั้น ไม่มีก้านขนหางคู่นอก หรือมีแต่ยังไม่ยาว
พบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ และอาจพบอยู่ร่วมกับนกกินแมลง(Babbler)และนกจับแมลง(Flycatcher)ต่างๆ อาหารส่วนใหญ่ได้แก่ หนอน และแมลง โดยการโฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ หรือจิกหนอนและแมลงกินตามลำต้นและกิ่งไม้ที่เกาะอยู่ นอกจากนี้ยังกินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กิ้งก่า นกขนาดเล็ก รวมทั้งกินน้ำหวานจากดอกไม้ โดยจะบินมาเกาะตามยอดไม้หรือบนดอกไม้แล้วใช้ปากดูดกินน้ำหวานจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่งอยู่ตลอดเวลา อนึ่งขณะเกาะลำต้นนั้น บางครั้งจะใช้ขนหางกดลงไปตามลำต้นทำนองเดียวกับนกหัวขวาน
เป็นนกที่ก้าวร้าวและป้องกันอาณาเขตของตนอย่างแข็งขันเฉกเช่นเดียวกับนกแซงแซวชนิดอื่น บ่อยครั้งที่เราเห็นมันบินไล่จิกตีนกหรือสัตว์ชนิดอื่นที่เข้ามาใกล้รังหรืออาณาเขตของมัน รวมทั้งเป็นนกเตือนภัยชั้นยอด ด้วยความที่ชอบเกาะนิ่งและมองหาเหยื่อ จึงเป็นนกตัวแรกๆที่จะมองเห็นเหยี่ยวหรือสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ ก่อนส่งเสียงร้องให้นกชนิดอื่นๆรวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระรอก กระเล็น เป็นต้น รู้ตัวและรีบหลบซ่อนตัว
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้เกือบปลายกิ่งที่อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 5-15 เมตร รังเป็นรูปถ้วย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 10 ซม. ลึกราว 5 ซม. วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ใบหญ้า ใบไม้ และเถาของพืชบางชนิด ซึ่งอาจเชื่อมวัสดุต่างๆด้วยใยแมงมุมเล็กน้อย หรือไม่มีเลย
นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ชนิดย่อย rangoonensis
วางไข่ครั้งละ 3 ฟอง สีสันของไข่ผันแปรมาก ส่วนใหญ่เป็นสีขาวแกมสีครีม จนถึงสีชมพูอ่อน และมีลายขีดสีน้ำตาลแกมแดง หรือสีเทาแกมชมพู
ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน เมื่อฟักออกจากไข่ ลูกนกยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อนกและแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อน รวมทั้งคอยระวังอันตรายให้แก่ลูกนก เมื่อมีอายุ 7-10 วัน จึงเริ่มมีขนคลุมร่างกายบางส่วน และเริ่มหัดบินในระยะใกล้ๆกับรัง จึงมักพบเสมอที่เห็นลูกนกตกลงมายังพื้น และกลายเป็นอาหารของสัตว์นักล่า เมื่อลูกนกแข็งแรงและออกบินหาอาหารได้แล้ว จึงจะแยกจากพ่อแม่ไปอยู่ตามลำพัง
เสียงร้องมีหลายแบบและหลายท่วงทำนอง โดยมักเลียนเสียงคล้ายนกชนิดอื่น รวมทั้งเลียนเสียงสัตว์ต่างๆได้เป็นอย่างดี จนบางครั้งทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเสียงของนกหรือสัตว์ชนิดนั้นๆ โดยส่งเสียงร้องในตอนเช้าและเย็น แต่จะได้ยินบ่อยมากในช่วงฤดูผสมพันธุ์
ชื่อชนิด paradiseus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ คำว่า paradis แปลว่า สวน หรือสวรรค์ ความหมายก็คือ“นกของพระเจ้า” หรือ“นกที่มีความสวยงาม”” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองตะนาวศรี ประเทศเมียนมาร์
ทั่วโลกพบ 14 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย malabaricus Latham ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ เมือง Malabar ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย paradiseus Linnaeus ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคใต้ ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
– ชนิดย่อย rangoonensis Gould ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ เมืองร่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
พบอาศัยตามสวนผลไม้ ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,700 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีนด้านตะวันตก เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน
11.นกอีเสือสีน้ำตาล ชนิดย่อย confusus
ชื่อสามัญ : Brown Shrike
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lanius cristatus Linnaeus, 1758
วงศ์ : LANIIDAE
นกอีเสือสีน้ำตาล ชนิดย่อย confusus
เป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 19-20 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้บริเวณหัวและลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลแกมเทา จนถึงสีน้ำตาลแกมแดง ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละชนิดย่อย คิ้วสีขาว แถบคาดสีดำตั้งแต่โคนปาก ผ่านตา ไปจนถึงด้านข้างของหัว คอและลำตัวด้านล่างสีขาวจนถึงสีเหลือง สีข้างมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีสีซีดกว่า มีลายเกล็ดจางๆที่อก และมีลายเกล็ดที่สีข้างมากกว่า
นกวัยอ่อนหรือโตไม่เต็มวัยจะมีสีคล้ำกว่า หน้าผากสีน้ำตาล คิ้วสั้นกว่า แถบคาดตาสีน้ำตาล มีลายเกล็ดที่หัว หลัง และลำตัวด้านล่าง
นกอีเสือสีน้ำตาลเป็นนกชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงฤดูกาลอพยพของนกในเขตอบอุ่นสู่เมืองไทย โดยเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ชุดแรกๆที่จะมาถึงเมืองไทย ปกติจะพบเห็นได้ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
พบโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ โดยเกาะตามยอดไม้พุ่ม เสา หรือสายไฟฟ้า ขณะเกาะนั้นลำตัวเกือบตั้งตรง เป็นนกที่ป้องกันอาณาเขต โดยเฉพาะรัง และแหล่งหากินอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นนกหรือสัตว์อื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าก็ตาม อาหารได้แก่ หนอน แมลง กบ กิ้งก่า นกขนาดเล็ก หนู และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ
พฤติกรรมการหาอาหารนั้นเกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่และเย็นค่ำมากกว่าช่วงกลางวัน ขณะเกาะอยู่ ตาจะจ้องหาเหยื่อ หากเป็นแมลงก็จะโฉบจับแมลงด้วยปากกลางอากาศหรือตามพื้นดิน แล้วกลับมาเกาะที่เดิมหรือใกล้ที่เดิม หากเป็นนกขนาดเล็กและสัตว์อื่นก็จะพยายามต้อนเหยื่อให้ออกมาที่โล่งบนพื้น แล้วใช้ปากที่แข็งแรงจิกบนหัวเหยื่อครั้งแล้วครั้งเล่า จนกว่าเหยื่อตาย นอกจากนี้ยังชอบแย่งอาหารจากนกอื่นขณะที่คาบเหยื่อบินมาใกล้แหล่งอาศัยและหากิน นกอีเสือสีน้ำตาลจะไล่จิกนกดังกล่าวจนกระทั่งต้องทิ้งเหยื่อ จากนั้นมันจะคาบบเหยื่อไปกินแทน
เสียงร้องแหบดังรัวติดต่อกันว่า“แช้ก-แช้ก-แช้ก”
ชื่อชนิด cristatus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า crist,=a แปลว่า หงอน และคำว่า -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่หัวมีลักษณะเด่น” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
นกอีเสือสีน้ำตาล ชนิดย่อย confusus
ทั่วโลกพบชนิดนี้ 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบทั้ง 4 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย confusus Stegmann ชื่อชนิดย่อยอาจมาจากคำว่า confuse แปลว่า ยุ่งยบาก หรือสับสน ซึ่งอาจจะหมายถึงการจัดจำแนกได้ยากหรือสับสน พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศรัสเซีย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ กระหม่อมมีสีน้ำตาลอมเทา ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้
– ชนิดย่อย cristatus Linnaeus ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก
– ชนิดย่อย lucionensis Linnaeus ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ เกาะลูซอน(Luzone) ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งพบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ หน้าผาก กระหม่อม และท้ายทอยมีสีเทา ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบประปรายในภาคเหนือ
– ชนิดย่อย superciliosus Latham ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 3 คำ คือ คำว่า super แปลว่า เหนือ , คำว่า cili,-a,-o,=um แปลว่า ขน และคำว่า –osus แปลว่า เต็มไปด้วย ความหมายก็คือ“คิ้วมีลักษณะเด่น” พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ กระหม่อมและลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลแดงสดใส หน้าผากและลำตัวด้านล่างสีขาวมาก ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบบริเวณ จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 29 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามสวนสาธารณะ พื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ พื้นที่โล่ง ป่าละเมาะต่างๆทั้งที่ใกล้แหล่งน้ำและที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ระดับต่ำ แต่ก็อาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร โดยเฉพาะช่วงทำการอพยพ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี รัสเซียตอนกลางและด้านตะวันออก ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
12.นกกะรางหัวหงอก ชนิดย่อย diardi
ชื่อสามัญ : White-crested Laughingthrush ; White-crested Laughing Thrush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garrulax leucolophus Hardwicke, 1815
วงศ์ : LEIOTHRICHIDAE
นกกะรางหัวหงอก ชนิดย่อย diardi
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 26-31 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีพุ่มหงอนขนขนาดใหญ่สีขาวบนหัว บริเวณหัว คอหอย อก และลำตัวด้านล่างสีขาว มีแถบสีดำทางด้านข้างของหัวพาดผ่านตา ปากสีดำ ปลายปากตอนบนงุ้มปิดปลายปากล่าง มุมปากมีขนสั้นและแข็ง ท้ายทอยสีเทา คอหอยตอนท้ายสีเทา ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว ปีกมนกลมและอยู่แนบชิดลำตัว โคนปีกสีออกแดง ท้องสีขาว สีข้างและขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีออกแดงจนถึงสีน้ำตาลแกมเขียว หางสีน้ำตาลคล้ำจนถึงสีดำ ขนหางแต่ละคู่จะยาวลดหลั่นกันลงไป หางคู่บนยาวมากสุด ขาค่อนข้างใหญ่และแข็งแรง ปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดใหญ่เรียงซ้อนทับกัน นิ้วเท้าแข็งแรง ยื่นไปข้างหน้า3นิ้ว ยื่นไปข้างหลัง1นิ้ว ลักษณะเด่น คือ หัวมีหงอนสีขาวฟูตั้งเป็นสันสูงดูคล้ายผมหงอก
ช่วงวัยอ่อนมีสีสันคล้ายนกเต็มวัย แต่หงอนบนหัวจะสั้น ท้ายทอยสีเทาอมน้ำตาล ลำตัวด้านบนสีค่อนข้างสดใสกว่า โดยเฉพาะที่ขนปีกจะมีแต้มสีเข้มเห็นชัดกว่านกเต็มวัย
ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 2-3 ตัว จนถึง 15 ตัว หรือมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เรามักจะพบนกกะรางหัวหงอกมารวมกันเป็นฝูงใหญ่ และอาศัยปะปนกับนกกะรางชนิดอื่นๆหากินปะปนกันไป
นกที่ชอบหากินปะปนกับนกกะรางหัวหงอก คือ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่(Greater Racket-tailed Drongo) เพื่อคอยจิกกินแมลงที่บินหนีขึ้นอากาศ แต่นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ก็จะช่วยเป็นยามให้แก่ฝูงนกกะรางหัวหงอก รวมทั้งไล่จิกตีเหยี่ยวที่หวังเข้ามาจะจับนกกะรางหัวหงอกเป็นอาหาร
ชอบหากินอยู่ในบริเวณที่มีพุ่มไม้หนาแน่นและมีเถาวัลย์รกรุงรัง กระโดดไปตามกิ่งก้านและลำต้นของไม้ผลและไม้ดอก ใช้ปากเด็ดผลไม้หรือกลีบดอก แล้วกลืนกินเป็นอาหาร หรืออาจจะจิกหนอนและแมลงตามกิ่งก้านและลำต้น หรืออาจลงมาหากินตามพื้นป่าที่มีใบไม้แห้งและกิ่งไม้แห้งทับถมกันหนาแน่น ซึ่งเป็นที่อาศัยของแมลงและหนอน โดยจะใช้นิ้วเท้าคุ้ยเขี่ยดิน ใบไม้ และอื่นๆ จนเป็นวงกลมคล้ายไก่ป่า แต่เป็นวงขนาดเล็ก ก่อนใช้ปากจิกกินหนอนและแมลงที่พบในขณะคุ้ยเขี่ย บางทีมันก็เข้าไปคุ้ยเขี่ยหาปลวกแถวๆจอมปลวกหรือจิกกินตัวแมลงและหนอนตามกอไผ่ผุๆ เนื่องจากขาและเท้าของมันแข็งแรง หากเหยื่อมีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังดิ้นอยู่ มันจะใช้เท้าเหยียบเหยื่อไว้ก่อน แล้วจึงใช้ปากจิกกิน หากสังเกตให้ดีจะพบว่าขณะที่มันกระโดดไปมาตามพื้นดินหรือกิ่งไม้นั้น ลำตัวของมันจะเคลื่อนไหวโยกตัวไปมาด้วย ซึ่งเป็นนกที่กระโดดไปมาได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็ว แต่บินได้ในระยะใกล้ๆเท่านั้น
กินอาหารจำพวกผลไม้ หนอน แมลง และกลีบดอกไม้บางชนิด
ในช่วงฤดูร้อนมักพบนกชนิดนี้ลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำตื้นๆหรือน้ำที่ขังตามพื้น ด้วยการใช้เท้าเหยียบบบนพื้นริมแอ่ง แล้วก้มหัววักให้น้ำไหลผ่านจากหัวไปหาง แล้วสลัดตัว จากนั้นก็ขึ้นมากางปีกและสลัดตัวอีกครั้งหนึ่งบนพื้นหรือบนกิ่งไม้
เป็นนกที่ปากมาก และชอบส่งเสียงร้องหนวกหู ขณะกำลังหากินนั้นมันจะส่งเสียงร้องไปเรื่อยๆ ไม่หยุดปาก แทบทุกๆ 4-5 นาที พอตัวหนึ่งร้อง ตัวอื่นๆก็จะร้องตามไปด้วย ราวกับแข่งขันกันว่าใครจะร้องได้ดังกว่ากัน ขณะที่มันร้องนี้ มันก็ไม่หยุดนิ่ง แต่จะกระโดดหากินไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ขยับปีกถี่ๆบินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
เสียงร้องมีหลายแบบ แต่เสียงร้องที่เรามักได้ยินบ่อยๆ เป็นเสียงร้องเซ็งแซ่แหลมสูงกังวานและถี่ๆ ฟังคล้ายว่าเป็น“เจ๊ก-โกหก” หรือ“อีเพา-หัวหงอก” และร้องรับกันเป็นทอดๆเพื่อประกาศอาณาเขตของฝูง โดยจะได้ยินบ่อยครั้งมากในช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เป็นนกที่ตื่นตกใจง่ายและระแวดระวังภัยมาก หากพบศัตรูหรือมนุษย์ มันจะร้องดังกว่าเดิมเพื่อขับไล่และร้องเตือนภัยในฝูง และหากศัตรูไม่ถอยไป มันก็จะพากันบินหนีไปเองทีละตัวๆจนหมดฝูง
แม้ว่ามันจะส่งเสียงร้องหนวกหู ไม่น่าฟัง แต่ในเวลาที่มันสบายใจ มันก็ร้องเพลงได้ไพเราะมาก โดยมันจะยืดตัวตรง เงยหน้าขึ้น และลดหางต่ำลง แล้วก็ร้องเพลงไปเรื่อยๆ มีท่วงทำนองเพลงที่ไม่ซ้ำกัน
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทั้งฝูงมักทำรังใกล้ๆกัน โดยทำรังตามง่ามไม้ของไม้พุ่ม ไม้ต้นขนาดกลาง หรือกิ่งไผ่ อยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 6 เมตร รังเป็นรูปถ้วย วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบไปด้วยกาบใบของพืชขิงข่า กิ่งไม้ กิ่งไผ่ และต้นหญ้า นำมาสานสอดค่อนข้างละเอียด ขนาดของรังเกือบ 17 ซม. ลึก 7-8 ซม. วางไข่ครั้งละ 2-6 ฟอง ไข่รูปกลมรี สีขาว ไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ราว 13-14 วัน ลูกนกก็จะฟักออกมา มีแต่หนังเปลือยเปล่า ไม่มีขน และยังไม่ลืมตา
นกกะรางหัวหงอกมีพฤติกรรมแตกต่างจากนกกะรางอื่นๆ ตรงที่มีนกกะราง 3-5 ตัว(รวมทั้งพ่อและแม่) มาช่วยฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน อาหารที่นำมาป้อนลูกนก คือ หนอน และแมลง หากมีศัตรูเข้ามาในช่วงนี้ นกทั้งฝูงจะส่งเสียงร้องขับไล่ หากศัตรูยังบุกรุกเข้ามาอีกก็จะช่วยกันรุมจิกตี ลลูกนกเมื่อมีอายุได้ราว 11-12 วัน ลูกนกก็แข็งแรงพอที่จะบินออกจากรังไปหากินรวมกันเป็นฝูง
ชื่อชนิด leucolophus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และคำว่า loph,-i,-o,=us หรือ lophos แปลว่า หงอน หรือพุ่มขน ความหมายก็คือ“พุ่มหงอนขนบนหัวเป็นสีขาว” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกบริเวณเทือกเขาหิมาลัย
ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย belangeri Lesson ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล จะมีลักษณะของทุกชนิดย่อยทั้ง5ชนิดปนกันอยู่ ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ในเมืองไทยพบที่ จ.ตาก และภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย diardi Lesson ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล มีหงอนสีขาวตั้งตรง แถบคาดตาสีดำ ท้ายทอยสีเทา ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดงปนแดงอมส้ม ลำตัวด้านล่างสีค่อนข้างขาว ข้างอกเจือด้วยสีเทา ตะโพกและขนคลุมใต้หางสีแดงอมส้ม ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเวียดนาม ในเมืองไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 45 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่ารุ่น ป่าไผ่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,400 เมตร แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,200 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก พบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในบังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
13. นกกางเขนดง ชนิดย่อย interpositus
ชื่อท้องถิ่น : นกจิงป๊ย , นกบินหลา , นกบินหลาควน , นกบินหลาดง
ชื่อสามัญ : White-rumped Shama
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Copsychus malabaricus Scopoli, 1788
ชื่อพ้อง : Kittacincla malabarica Scopoli, 1788
วงศ์ : MUSCICAPIDAE
นกกางเขนดง ชนิดย่อย interpositus ตัวเมีย
เป็นนกประจำถิ่น ตัวผู้มีขนาด 28-29 ซม.(วัดจากปลายปากพาดผ่านลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) บริเวณหัว คอหอย อก และลำตัวด้านบนสีดำเป็นมัน ตัดกับลำตัวด้านล่างที่มีสีน้ำตาลแดงแกมส้มเข้ม ตะโพก ขนคลุมโคนขนหางด้านบน และขนหางคู่นอกๆมีสีขาว
ส่วนตัวเมียมีขนาด 21-22 ซม.(วัดจากปลายปากพาดผ่านลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด)มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่สีจะทึมกว่าและหางสั้นกว่า บริเวณที่เป็นสีดำในตัวผู้นั้นตัวเมียจะเป็นสีเทาเข้มหรือออกแกมน้ำตาล ท้องและขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาลเหลือง หรือสีส้มแกมน้ำตาล
ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่บริเวณที่เป็นสีเทาเข้มในตัวเมียจะเป็นสีน้ำตาล ขนคลุมขนปีกและช่วงไหล่มีลายเกล็ดสีเหลืองแกมสีสนิม
พบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นครอบครัว มักพบเกาะตามกิ่งก้านในระดับต่ำของต้นไม้ หรือกิ่งก้านของไม้พุ่ม หรือตามโคนกอไผ่ บางครั้งก็ลงเกาะตามพื้นดิน อาหารได้แก่ หนอน และแมลง อุปนิสัยการหาอาหารไม่แตกต่างจากนกกางเขนบ้าน เพียงแตกต่างในสถานที่ที่พบเท่านั้น
ตัวเมียเวลาเกาะกิ่งก้าน ปกติจะยกหางขึ้นคล้ายกับตัวผู้ของนกกางเขนบ้าน ส่วนตัวผู้ของนกกางเขนดงจะไม่ยกหางขึ้น อันเนื่องมาจากหางของตัวผู้ที่ยาวนั่นเอง
นกกางเขนดง ชนิดย่อย interpositus ตัวเมียเพลิดเพลินกับการเล่นน้ำ
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงไม้ต่างๆที่เกิดจากธรรมชาติ หรือเป็นโพรงเก่าของนกและสัตว์อื่น บางครั้งพบทำรังตามซุ้มกอไผ่ ปกติรังอยู่ไม่สูงจากพื้นดิน หรือสูงราว 2-3 เมตร วัสดุทำรังประกอบด้วยใบไม้ ใบหญ้า ใบไผ่ และรากฝอย นำมาวางซ้อนทับกัน
วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ไข่สีเขียวแกมน้ำเงิน และมีลายสีน้ำตาลทั่วฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ราว 15 วัน
เป็นนกที่ร้องได้หลายเสียง โดยใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น ป้องกันอาณาเขต เกี้ยวพาราสี และเรียกลูกนก เป็นต้น เป็นเสียงร้องแหลมสูง หวาน และสามารถร้องเป็นท่วงทำนอง มักส่งเสียงร้องในช่วงเช้าตรู่และพลบค่ำ นับเป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมลักลอบจับนำมาเลี้ยงในกรง เพื่อฟังเสียงร้อง
ชื่อชนิด malabaricus เป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก คือ เมือง Malabar ประเทศอินเดีย นอกจากนี้เมือง Malabar ยังเป็นสถานที่ที่ชาวยุโรปรู้จักประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก
ทั่วโลกพบ 11 ชนิดย่อย ในไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย indicus Stuart Baker ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ ซึ่งพบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก คือ รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ในไทยพบทางภาคเหนือด้านตะวันตก
– ชนิดย่อย interpositus Robinson and Boden Kloss ชื่อชนิดย่อยเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า inter แปลว่า ระหว่าง และคำว่า posit แปลว่า สถานที่ หรือตำแหน่ง ความหมายก็คือ“ลักษณะอยู่ระหว่างนกสองชนิดย่อย” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเวียดนาม ในไทยพบทางภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย pellogynus Oberholser ชื่อชนิดย่อยเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า pell,-o หรือ pellos แปลว่า สีเข้ม หรือสีออกดำ และคำว่า gynus แปลว่า แก้ม ความหมายก็คือ“บริเวณแก้มเป็นสีเข้ม หรือสีออกดำ” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองตะนาวศรี ประเทศเมียนมาร์ ในไทยพบทางภาคใต้
นกกางเขนดง ชนิดย่อย interpositus ตัวผู้
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 9 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้หลากหลาย ทั้งตามป่าดิบชื้น ปาเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,500 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เกาะไหหลำ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
14. นกยอดหญ้าหัวดำ ชนิดย่อย stejnegeri ตัวผู้
ชื่อสามัญ : Eastern Stonechat ; Stejneger’s Stonechat
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saxicola stejnegeri Parrot, 1908
วงศ์ : MUSCICAPIDAE
นกยอดหญ้าหัวดำ ชนิดย่อย stejnegeri ตัวผู้
นกยอดหญ้าหัวดำถูกแยกชนิดมาแล้วถึงสองครั้งสองครา โดยครั้งแรกแยกออกจากชนิดหลักที่มีชื่อสามัญว่า Common Stonechat ชื่อวิทยฯ Saxicola torquata Linnaeus, 1766 ส่วนครั้งที่สองถูกแยกออกจากชื่อสามัญว่า Siberian Stonechat ชื่อวิทยฯ S. maurus Pallas, 1773 ในแถบเอเชียกลาง แม้จะมีอุปนิสัยและสีสันคล้ายกัน แต่ผลการวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอบ่งบอกว่า Stejneger’s Stonechat ที่พบในเอเชียตะวันออกนั้น วิวัฒนาการแตกแขนงออกมาจากบรรพบุรุษร่วมกันหลายล้านปี ก่อนชนิดอื่นๆจะกำเนิดขึ้นมาเสียอีก ไม่ได้มีเชื้อสายใกล้ชิดกับ Siberian Stonechat ที่กระจายพันธุ์ติดกันแต่อย่างใด
ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีน้อยที่เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 11.5-14 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีหัวสีน้ำตาลอ่อน มีแถบคิ้วจางๆ บริเวณหน้า ขนคลุมหู คาง และคอสีแกมดำ อกสีน้ำตาลแดงหรือสีส้มระเรื่อๆ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้มแกมเทา และมีลายสีคล้ำ หางสีดำ ช่วงฤดูผสมพันธุ์บริเวณหัวและคอสีดำ ลำตัวด้านบนสีดำและมีลายสีน้ำตาลจางๆ ข้างคอสีขาว แถบปีกสีขาวแต่เห็นไม่ค่อยชัด ตะโพกสีขาว ปลายขนคลุมตะโพกสีน้ำตาลแดง อกสีน้ำตาลแดงเข้มขึ้นจนถึงสีส้มสด ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมส้ม
ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้นอกฤดูผสมพันธุ์ แต่สีจะจางกว่า คอและก้นแกมขาว ตะโพกสีน้ำตาลอ่อนแกมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีเหลือง ไม่มีลาย
ตัวไม่เต็มวัย ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม มีลายขีดและลายจุดสีแกมสนิม ขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีสนิม อกมีลายขีดสีน้ำตาลเข้ม และลำตัวด้านล่างสีเหลือง
พบโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ มักเกาะนิ่งๆตามยอดหญ้า ยอดไม้พุ่ม เสา หรือหลัก เมื่อพบแมลงก็จะบินลงมายังพื้นดินเพื่อจับแมลง แล้วบินกลับไปเกาะยังที่เดิมหรือที่ใหม่ บางครั้งก็โฉบจับแมลงใกล้ๆกับที่เกาะ ขณะเกาะนั้นหางจะกระดกขึ้นลงอย่างช้าๆ แต่ในช่วงที่ตกใจจะขยับปีกพร้อมทั้งกระดกและแพนหางเป็นจังหวะอย่างรวดเร็ว
นกยอดหญ้าหัวดำ ชนิดย่อย stejnegeri ตัวผู้
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังตามโคนไม้พุ่มที่อยู่เกือบติดพื้นดิน โพรงดินตามฝั่งริมน้ำ หรือผนังดินที่เป็นขั้นบันไดตามพื้นที่กสิกรรม รังเป็นรูปถ้วย วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบไปด้วยใบหญ้า รากฝอย มอสส์ และเยื่อใยต่างๆ รองพื้นรังด้วยขนนกและขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด
วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ไข่สีน้ำเงินแกมเทาอ่อน มีลายแต้มและลายจุดสีออกแดงเป็นวงรอบบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง แต่ตัวเมียเท่านั้นที่ฟักไข่ ใช้เวลาฟักไข่ราว 13 วัน
นกชนิดนี้ที่เป็นนกอพยพ จะทำรังวางไข่ทางตะวันออกของไซบีเรีย มองโกเลีย ไปจนถึงญี่ปุ่น และอพยพลงมายังทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฤดูหนาว ซึ่งในต่างประเทศรั้นมีรายงานพบว่ามันถูกนกคัคคูพันธุ์ยุโรป(Eurasian Cuckoo) แอบมาวางไข่ในรังให้มันช่วยฟักไข่ให้ด้วย
ทั่วโลกพบ 15 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย przewalskii มีสีส้มที่อกยาวลงไปถึงท้อง ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้เฉพาะบนดอยทางทางภาคเหนือตอนบน
– ชนิดย่อย stejnegeri ชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบได้ทั่วไปตามทุ่งโล่ง ทั่วทุกภาค
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 15 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามพื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งหญ้า ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,480 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในไซบีเรียด้านตะวันออก เกาหลี ญี่ปุ่น จีน และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
15.นกขมิ้นปากเรียว
ชื่อสามัญ : Slender-billed Oriole
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oriolus tenuirostris Blyth, 1846
วงศ์ : ORIOLIDAE
นกขมิ้นปากเรียว
เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพในฤดูหนาว มีขนาด 23-27 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้นั้น หลังสีเหลืองแกมเขียวจนถึงสีเขียวคล้ำคล้ายนกขมิ้นท้ายทอยดำตัวเมีย(Black-naped Oriole) แต่ปากเรียวกว่า โดยปากยาว 3-3.3 ซม. แถบสีดำจากโคนปากทั้งสองลากผ่านตาไปจรดกันที่ท้านทอยจะแคบกว่า และขนปลายปีกและขนหางเส้นบนเป็นสีดำ ส่วนตัวเมียมีสีสันคล้ายตัวผู้ แต่มีสีเหลืองอ่อนกว่า ไม่สดใสเท่าตัวผู้ ส่วนบนของลำตัวมักออกแกมเขียวมากกว่า ท้องมีลายขีดจางๆ
นกวัยอ่อนมีลักษณะคล้ายนกวัยอ่อนของนกขมิ้นท้ายทอยดำมาก แต่ปากยาวเรียวกว่าและสีคล้ำกว่า หน้าอกจะเป็นสีค่อนข้างขาวและมีลายขีดสีคล้ำๆ ไม่มีแถบสีดำพาดผ่านตา แต่พออายุมากขึ้นจะเริ่มปรากฏให้เห็นแถบดังกล่าว ลายขีดที่หน้าอกก็จะจางหาย
เสียงร้องเล็กแหบดังว่า“แคร่..” คล้ายนกขมิ้นท้ายทอยดำ
ชื่อชนิด tenuirostris เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ tenu,-i หรือ tenuis แปลว่า เรียว และคำว่า rostr,=um หรือ rostris แปลว่า ปาก ความหมายก็คือนกที่มีปากเรียว โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่รัฐอัสสัม ทางตอนเหนือประเทศอินเดีย
นกขมิ้นปากเรียว
บางตำรา เช่น Howard and Moore 1980 ก็จัดนกขมิ้นปากเรียวเป็นชนิดย่อยหนึ่งของนกขมิ้นท้ายทอยดำ โดยเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oriolus chinensis tenuirostris Blyth แต่หลายตำรา เช่น Sibley and Monroe (1990) และ Inskipp,et. al. 1996 จัดให้นกขมิ้นปากเรียวเป็นนกอีกชนิดหนึ่ง และไม่มีชนิดย่อย
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 29 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,500 เมตร ชนิดที่เป็นนกอพยพจะพบทางภาคเหนือด้านตะวันตก และภาคตะวันตกตอนบน ส่วนชนิดที่เป็นนกประจำถิ่นมีรายงานการพบที่เขตรักษาพันธุ์ฯภูเขียว จ.ชัยภูมิ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในเนปาล จีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เมียนมาร์ ไทย และลาว
16. นกกินแมลงป่าอกสีน้ำตาล ชนิดย่อย fulvum
ชื่อสามัญ : Buff-breasted Babbler ; Tickell’s Babbler ; Tickell’s Jungle Babbler
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pellorneum tickelli Blyth, 1859
ชื่อพ้อง : Trichastoma tickelli Blyth, 1859
วงศ์ : PELLORNEIDAE
นกกินแมลงป่าอกสีน้ำตาล ชนิดย่อย fulvum
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 13.5-15.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากบางแหลม ตาสีน้ำตาลแกมแดง รอบตาและหน้าสีเทา ด้านข้างของหัวและลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลแกมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีเหลือง คอหอยสีจะจางกว่า อกมีลายขีดจางๆ ท้องสีขาวหรือแกมน้ำตาลอ่อน สีข้างมีสีน้ำตาลแกมเขียว ปีกยาวน้อยกว่า 7 ซม. หางค่อนข้างยาว แข้งและตีนสีเนื้อ
มักพบเป็นคู่ ส่วนใหญ่มักพบในบริเวณที่มีไม้พื้นล่างหนาแน่น หากินตามพื้นดิน อาหารได้แก่ แมลง ด้วยการใช้ปากพลิกใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นตามพื้น เมื่อพบเหยื่อจะใช้ปากจิกกิน เมื่อมีสิ่งรบกวนจะกระโดดเข้าไปในพุ่มไม้รกทึบ จะบินก็ต่อเมื่อจวนตัวเท่านั้น
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังตามพื้นดิน พุ่มไม้ หรือกอไผ่ที่อยู่เกือบติดพื้นดิน และมักจะอยู่ใกล้ๆลำธาร รังเป็นรูปทรงกลม หรือกึ่งทรงกลม คล้ายรังนกจาบดิน แต่จะมีขนาดเล็กและหนาแน่นกว่า วัสดุทำรังประกอบด้วยใบไผ่ และใบหญ้า แล้วรองพื้นรังด้วยใบหญ้าที่ฉีกละเอียด
วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ไข่สีเทาแกมเขียวอ่อน มีลายขีดหรือลายดอกดวงเล็กๆสีน้ำตาลแกมแดง หรือสีน้ำตาลแกมเขียว ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
เสียงร้องแหลมรัวเร็ว ดังว่า“วิ-วีวีหวี่” หรือ“วิ-ชู วิดวี่วิดวี่วิดวี่”
ชื่อชนิด tickelli เป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล คือ พันเอก Samuel Richard Tickell (1811-1875) เป็นทหารอังกฤษประจำประเทศอินเดีย และประเทศเมียนมาร์ นอกจากนี้ยังเป็นนักปักษีวิทยา นักเขียน และนักศิลปะ นกชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์
ทั่วโลกพบ 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย fulvum Walden ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ fulv หรือ flavus แปลว่า สีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลแกมเหลือง ความหมายก็คือ“มีสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลแกมเหลือง” พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
– ชนิดย่อย tickelli Blyth ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ในไทยพบทางภาคตะวันตก และภาคใต้
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 8 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,550 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
17.ไก่ฟ้าพญาลอ
ชื่อท้องถิ่น : พญาลอ , พระยาลอ
ชื่อสามัญ : Diard’s Firebacked Pheasant ; Siamese Fireback ; Siamese Fireback Pheasant
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lophura diardi Bonaparte, 1856
วงศ์ : PHASIANIDAE
ไก่ฟ้าพญาลอ
ชื่อไก่ฟ้าพญาลอมีมานานตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว จากวรรณกรรมหลายเรื่องที่แต่งขึ้นในสมัยนั้น แต่บางครั้งใช้คำว่า“พญาลอ” หรือ“พระยาลอ” นอกจากนี้ยังมีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย โดยอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพราะพระองค์ได้ทรงจัดส่งไก่ฟ้าพญาลอ 1 คู่ พร้อมกับสัตว์ป่าชนิดอื่นไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งไปให้พิพิธภัณฑ์สัตวศาสตร์แห่งจักรพรรดิ์(Imperial Zoological Museum) ทำให้พระจักรพรรดิ์แห่งประเทศฝรั่งเศสทรงพอพระราชหฤทัยมาก
ทำให้ชาวฝรั่งเศสและชาวยุโรปเรียกไก่ฟ้าพญาลอเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษว่า“Siamese Fire-backed Pheasant” แปลว่า“ไก่ฟ้าหลังสีเพลิงแห่งประเทศสยาม” ภายหลังเรียกให้กระชับขึ้นว่า“Siamese Fireback”
เป็นนกประจำถิ่น ตัวผู้มีขนาด 70-82 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ส่วนตัวเมียมีขนาด 53-60 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลักษณะเด่น คือ หนังคลุมหน้าสีแดงเข้ม แข้งและตีนสีแดง
ไก่ฟ้าพญาลอ ตัวผู้
ตัวผู้มีหัวสีดำ มีขนยาวสีดำเป็นพุ่มหงอนและโค้งไปทางท้ายทอย ขนนี้จะตั้งชันเมื่อตกใจ หรือเมื่อแสดงพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีตัวเมีย ขนลำตัว คอ และอกสีเทาเข้ม ปีกสีเทาและมีลายสีดำ หลังตอนท้ายมีสีเหลืองหรือสีเนื้อแกมสีทอง แล้วไล่ระดับเป็นลายเกล็ดสีแดงเข้มสลับสีม่วงน้ำเงิน เฉพาะหางยาวมากกว่า 35 ซม. มีสีดำเหลือบเขียว ปลายหางโค้งลง ท้องสีดำเหลือบน้ำเงิน ตัวผู้ที่โตเต็มที่จะมีเดือยที่แข้งข้างละเดือย ลักษณะยาวและแหลมคม
ส่วนตัวเมียไม่มีพุ่มหงอน หัว คอ และอกมีสีน้ำตาล หลังตอนบนและลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแดง ท้องมีลายเกล็ดสีขาว ปีกสีดำและมีลายขวางสีขาวสลับสีดำ หางยาวปานกลางและมีลายคล้ายกับลายบนปีก ไม่มีเดือยที่แข้งเหมือนตัวผู้
ออกหากินตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนจะจับคอนนอนตามกิ่งก้านของไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ปกติพบโดดเดี่ยวเฉพาะตัวผู้ เป็นคู่ หรือเป็นครอบครัวเล็กๆตามป่าที่รกทึบ หรือป่าไผ่ ไม่ค่อยชอบที่โล่งแจ้ง และไม่ตื่นคน ทำให้มองเห็นได้ง่าย บินได้ดีพอสมควร แต่บินได้ในระยะทางที่ไม่ไกลและไม่สูงมากนัก เพราะมีปีกกว้างสั้น หากินตามพื้นด้วยการคุ้ยเขี่ย แล้วใช้ปากจิก อาหารส่วนใหญ่ได้แก่ หนอน แมลง ปลวก และสัตว์ขนาดเล็กที่อยู่ตามพื้น นอกนั้นยังกินเมล็ดหญ้า เมล็ดพืช ขุยไผ่ ผลไม้สุกที่หล่นจากต้น โดยเฉพาะลูกไทร
ไก่ฟ้าพญาลอ ตัวเมีย
ตัวผู้มีนิสัยในการป้องกันอาณาเขต โดยเฉพาะแหล่งหากิน และป้องกันคู่ผสมพันธุ์และครอบครัว โดยจะส่งเสียงร้องดัง พองขน และกระพือปีกอย่างรวดเร็ว พร้อมกับไล่จิกตัวผู้และสัตว์ตัวอื่นที่เข้ามาในอาณาเขตที่มันครอบครองอยู่
ตัวผู้จะจับคู่กับตัวเมียแบบผัวเดียวเมียเดียว ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังตามซุ้มกอหญ้า กอไผ่ หรือบริเวณที่มีไม้รกทึบ ด้วยการขุดดินเป็นแอ่งเล็กน้อย อาจนำใบไม้ใบหญ้ามาวางตรงแอ่งเพื่อรองรับไข่ เป็นนกที่มีการจับคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว วางไข่ครั้งละ 4-6 ฟอง โดยออกไข่ครั้งละฟองในทุกๆ 2-3 วัน ไข่เป็นรูปลูกข่าง ด้านหนึ่งป้าน อีกด้านแหลม สีขาวนวล ไม่มีลายใดๆ ตัวเมียทำหน้าที่ฟักไข่ ส่วนตัวผู้คอยระวังภัยให้ ใช้เวลาฟักไข่ราว 23-25 วัน
ลูกนกแรกเกิด ลืมตาได้ มีขนอุยปกคลุมทั่วตัว ขาและตีนแข็งแรง สามารถยืนหรือเดินได้หลังออกจากไข่ได้ไม่นานหรือเมื่อขนทั่วตัวแห้ง จากนั้นจะเดินตามแม่ไปหาอาหาร ส่วนตัวผู้จะคอยระวังภัยอยู่ใกล้ๆ และส่งเสียงร้องเตือนเมื่อมีภัย เพื่อให้ลูกๆวิ่งหลบซ่อน ตัวเมียเป็นตัวเต็มวัยและพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปี ส่วนตัวผู้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี
ไก่ฟ้าพญาลอ ตัวผู้
ชื่อชนิด diardi เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล คือ Pierre Medard Diard (1795-1863) เป็นชาวฝรั่งเศส นกชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเวียดนาม
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 11 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าค่อนข้างทึบ โดยเฉพาะป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร แต่บางครั้งพบในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีไม้พื้นล่างหนาแน่น โดยเฉพาะไผ่ พบประปรายทางภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในเมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
18.นกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย
ชื่อสามัญ : Blyth’s Crowned Willow Warbler , Blyth’s Leaf Warbler , Southern Blyth’s Leaf-warbler , Yunnan Crowned Leaf Warbler
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phylloscopus reguloides Blyth, 1842
วงศ์ : PHYLLOSCOPIDAE
นกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย
ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ ส่วนน้อยเป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 11.5-12 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) กระหม่อมสีเทาแกมเขียว มีแถบกลางสีอ่อน คิ้วสีขาวแกมเหลือง แถบตาสีคล้ำ ปากล่างสีเหลืองอมส้ม ปลายปากสีดำ ลำตัวด้านบนสีเขียวจนถึงสีเขียวแกมเหลือง ปีกยาว 5.1-6.8 ซม. มีแถบปีก2เส้นสีเหลือง ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเหลืองอ่อน มีสีเหลืองจางๆแซมในบางแห่ง ใต้หางขณะหุบมีสีเทา มีเส้นตรงกลางจากขอบครีบขนหางทางด้านในสีขาว และขอบด้านในของขนหาง3คู่นอกมีสีขาวแคบๆตลอดเส้นขน
การแยกชนิดของนกกระจิ๊ดค่อนข้างยากมาก เพราะมีรูปร่างและสีสันคล้ายกันมาก ต่างกันที่แถบ ซึ่งแต่ก่อนนั้นนกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย นกกระจิ๊ดหางขาวใหญ่(Claudia’s Leaf Warbler) และนกกระจิ๊ดหางขาวตะวันออก(Hartert’s Leaf Warbler) ถูกจัดเป็นชนิดเดียวกัน ก่อนจะพบว่านอกจากเสียงร้องจะต่างกันแล้ว การศึกษาทางดีเอ็นเอก็ยืนยันว่าพวกมันควรถูกจัดเป็นคนละชนิด พฤติกรรมบางประการก็ต่างกันด้วย นกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัยในช่วงผสมพันธุ์นั้น มักยกปีกสลับทีละข้างให้เห็นบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าบางส่วนเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ เช่นเดียวกับกรณีของนกกระจิ๊ดหางขาวตะวันออก อาจจะอพยพมาเป็นจำนวนไม่น้อยประจำทุกปี ไม่ต่างจากนกกระจิ๊ดหางขาวใหญ่ก็เป็นได้
ทั้ง3ชนิดดังกล่าว มีเพียงนกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัยชนิดเดียวที่ทำรังวางไข่ในประเทศไทย และเสียงร้องจับคู่ของมันก็ฟังดูละม้ายคล้ายกับของนกกระจิ๊ดหางขาวเล็ก(Davision’s Leaf Warbler) ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นบนภูเขาที่พบได้ชุกชุมกว่ามาก แต่นกกระจิ๊ดหางขาวเล็กมีใต้หางสีขาวโพลน ต่างจากนกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย(รวมทั้งนกกระจิ๊ดหางขาวใหญ่ และนกกระจิ๊ดหางขาวตะวันออก)ที่มีใต้หางสีเทาและขอบหางสีขาว กลุ่มใต้หางสีเทานี้ก็มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และมักใช้เวลาในการสำรวจก้มมองหาเหยื่อตามซอกหลืบอย่างพิถีพิถัน ทำให้ดูเชื่องช้ากว่าพอสมควร
นกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย
ชื่อชนิด reguloides เป็นคำที่มาจากคำว่า Regular ซึ่งเป็นชื่อสกุลของนกพวกหนึ่ง และ –oides เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่า แบบ หรือเหมือน ความหมายก็คือ“ลักษณะคล้ายนกในสกุล Regulus” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกในประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย claudiae La Touche ชื่อชนิดย่อยเป็นชื่อบุคคล พบครั้งแรกที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน
เสียงร้องดังว่า“วิ๊ดทิชู่ทิชู่ทิชู่วิ๊ด-ทิวิ-ชี่วี่-ชี่วี่”
มักพบอยู่เป็นฝูงเล็กๆร่วมกับนกกินแมลงและนกขนาดเล็กอื่นๆ อาศัยและหากินตามยอดไม้สูง หรือยอดไม้พุ่ม อาหารได้แก่ แมลง และหนอน
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 64 ชนิด ในเมืองไทยพบ 28 ชนิด สำหรับชนิดนี้หากเป็นนกประจำถิ่นจะพบอาศัยตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 2,000 เมตร ขึ้นไป เฉพาะ จ.เชียงใหม่ ส่วนนกอพยพนั้นจะพบได้ตามพื้นราบ ชายป่า และป่าโปร่ง โดยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยพบมากทางภาคเหนือ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
19. นกหัวขวานด่างแคระ ชนิดย่อย canicapillus
ชื่อสามัญ : Grey-capped Pygmy Woodpecker ; Grey-crowned Pygmy Woodpecker ; Grey-headed Pygmy Woodpecker ; Pygmy Pied Woodpecker
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Yungipicus canicapillus Blyth, 1845
ชื่อพ้อง : Dendrocopos canicapillus Blyth, 1845 ; Picoides canicapillus Blyth, 1845 ; P. hardwickii Jerdon ; P. nanua Vigors
วงศ์ : PICIDAE
นกหัวขวานด่างแคระ ชนิดย่อย canicapillus ตัวผู้
เดิมถูกจัดอยู่ในสกุล Dendrocopos เช่นเดียวกับนกหัวขวานด่างส่วนใหญ่ในเอเชีย แต่ผลวิเคราะห์ทางชีวเคมีเผยว่าจริงๆแล้วเจ้าด่างแคระและญาติตัวจิ๋วมีเชื้อสายใกล้ชิดกับนกหัวขวานด่างในสกุล Picoides มากกว่า(ซึ่งสกุลนี้ไม่มีรายงานการพบในเมืองไทย) จึงถูกแยกออกมาจากสกุลเดิม
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 13-15.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผากถึงกระหม่อมมีสีเทา ใบหน้าสีน้ำตาล หลังตาถึงท้ายทอยมีแถบสีขาว ลำตัวด้านบนสีดำและมีลายขวางสีขาว ปีกสีดำและมีจุดสีขาวเรียงกันเป็นแถบปีก ขนคลุมโคนขนหางด้านบนและขนหางคู่กลาง2คู่มีสีดำ ขนหางคู่อื่นๆมีลายพาดสีขาว ซึ่งบางตัวมีมาก บางตัวมีน้อย คางและคอสีขาวหม่นและมีลายขีดสีเทา ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมเทา และมีลายขีดสีดำกระจาย
ตัวผู้มีแถบสีแดงขนาดเล็กทางด้านข้างของหัว ซึ่งบางครั้งมองเห็นแถบนี้ได้ยากมาก ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่แถบสีแดงขนาดเล็กทางด้านข้างของหัวเปลี่ยนเป็นสีดำ
มักพบเป็นคู่ แต่อาจพบอยู่ร่วมกับนกกินแมลงต่างๆ พฤติกรรมทั่วไปคล้ายกับนกไต่ไม้มาก ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนกไต่ไม้(Nuthatch)หากดูจากพฤติกรรม ชอบเกาะตามลำต้นไม้พุ่มที่ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก จนกระทั่งถึงยอดไม้สูง เคลื่อนไหวไปรอบๆลำต้นหรือกิ่งไม้ด้วยการกระโดด ขณะเดียวกันก็ใช้ปากจิกและแคะเปลือกไม้ให้หลุดเพื่อหาอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ มด ปลวก ผึ้ง หนอน และแมลง เมื่อพบอาหารก็จะใช้ลิ้นที่ยาวและเหนียวแหย่เข้าไปตามโพรง รู หรือใต้เปลือกไม้ แล้วตวัดเอาแมลงเข้าปากเป็นอาหาร บางครั้งพบกินผลไม้เปลือกอ่อน เช่น ไทร เป็นต้น บ้างพบกินน้ำหวานจากดอกไม้ เช่น งิ้ว ทองกวาว ทองหลางป่า เป็นต้น บ่อยครั้งเราจะพบเห็นในช่วงเช้าที่มันเกาะอยู่ตามยอดไม้เพื่อผึ่งแดด
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงไม้ ซึ่งอาจเป็นลำต้นหรือกิ่งไม้ ทั้งไม้ยืนต้นที่ค่อนข้างผุ ไม้เนื้ออ่อน หรือไม้เนื้อแข็งปานกลางที่อยู่สูงจากพื้นดินราว 5-10 เมตร โดยจะใช้ปากขุดเจาะสร้างโพรงเอง ปากโพรงกว้างราว 3-4 ซม. ลึกตามแนวขนาน 10-20 ซม. และลึกตามแนวลำต้นหรือกิ่งไม้ 20-40 ซม. หากเป็นโพรงตามกิ่งไม้ ปากโพรงมักจะอยู่ทางด้านล่างของกิ่ง
วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ไข่สีขาว ใช้เวลาฟักไข่ราว 12-13 วัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่ลืมตา ไม่มีขนคลุมร่างกาย และยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อลูกนกมีอายุราว 30 วัน จึงแข็งแรงและบินได้ดี ก่อนแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง และทิ้งรังไป
เสียงร้องแหลมเร็วดังว่า“ชิก-อิ๊ด ชิก-อิ๊ด ชิก-อิ๊ด”
ชื่อชนิด canicapillus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า can หรือ canus แปลว่า สีเทา และคำว่า capill,-a หรือ capillus แปลว่า ขน ความหมายก็คือ“นกที่มีขนเป็นสีเทา” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์
นกหัวขวานด่างแคระ ชนิดย่อย canicapillus ตัวเมีย
ทั่วโลกพบชนิดนี้ 15 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย auritus Eyton ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า aur,-i,-icul,=is,-it แปลว่า หู และคำว่า -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“บริเวณขนคลุมรูหูมีสีเด่น” พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศมาเลเซีย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีเข้มกว่าชนิดย่อย canicapillus และขนหางคู่กลางมีลายจุดจางกว่ามาก ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบบริเวณ จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา
– ชนิดย่อย canicapillus Blyth ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
– ชนิดย่อย delacouri Meyer de Schauensee ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกที่จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีจางและลายขีดที่อกไม่ชัดเจน ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก
– ชนิดย่อย pumilus Hargitt ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ pumil,-io,-o แปลว่า แคระ ความหมายก็คือ“นกที่มีขนาดเล็ก” พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระจนถึง จ.สตูล
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 7 ชนิด(แยกออกมาจากสกุล Dendrocopos) ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าละเมาะ ป่าชายหาด ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,830 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี รัสเซียด้านตะวันออก เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน
20. นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ ชนิดย่อย isani
ชื่อสามัญ : Olivaceous Bearded Bubul ; Puff-throated Bulbul ; Swinhoe’s White-throated Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alophoixus pallidus Swinhoe, 1870
วงศ์ : PYCNONOTIDAE
นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ ชนิดย่อย isani
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 22-25 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีพุ่มหงอนขนบริเวณหัวค่อนข้างยาว แก้มสีเทา คอสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียวหรือสีเขียวแกมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีเหลืองแกมเขียว อกสีคล้ำกว่าและมีลายแต้มสีเหลือง ท้องสีเหลืองอ่อน ปีกและหางแกมสีน้ำตาลแดง
คู่แฝดของนกปรอดโอ่งเมืองเหนือ คือ นกปรอดโอ่งท้องสีน้ำตาล(Ochraceous Bulbul) มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ต่างกันที่นกปรอดโอ่งท้องสีน้ำตาลมีขนลำตัวทั้งด้านบนและด้านล่างเป็นสีน้ำตาลเข้มมากกว่า ก้นสีน้ำตาลเข้ม และสีเทาที่แก้มไม่เด่นชัด อีกทั้งพบกันต่างสถานที่ โดยพบทางภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้
มักพบนกปรอดโอ่งเมืองเหนืออยู่เป็นฝูง อาศัยและหากินตามพุ่มไม้ ส่งเสียงร้องเซ็งแซ่เมื่อมีสิ่งรบกวน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์อื่นๆหรือนกฝูงอื่นๆ หากินด้วยการกระโดดและบินภายในเรือนยอดของต้นไม้ อาหารได้แก่ หนอน และแมลง โดยจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับแมลงกลางอากาศ ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะอยู่ นอกจากนี้ยังกินผลไม้อีกด้วย โดยใช้ปากเด็ดขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล แต่หากเป็นผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ก็จะจิกกินทีละชิ้น
สนุกสนานกับการอาบน้ำ
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามกิ่งไม้ของไม้พุ่มที่อยู่สูงจากพื้นดินราว 1-2 เมตร รังเป็นรูปถ้วย วัสดุทำรังประกอบด้วยใบไม้แห้ง ใบไผ่ ใบหญ้า ต้นหญ้า และเยื่อใยต่างๆ รองพื้นรังด้วยรากเฟินหรือรากหญ้า วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ไข่สีชมพู มีลายจุดและลายดอกดวงสีม่วงและสีแดง โดยเฉพาะบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ราว 14-15 วัน
เสียงร้องค่อนข้างแหบและดังติดต่อกันว่า“แอ๊ก-แอ๊ก” หรือ“แอ่ก-แอ๊ก-แอ๊ก-แอ๊ก”
ชื่อชนิด pallidus เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ pall,-ens,-esc,-id,-or แปลว่า สีจาง ความหมายก็คือ“นกที่มีสีจาง หรือสีน้ำตาลอ่อน” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศจีน
นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ ชนิดย่อย isani
นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ ชนิดย่อย isani
ทั่วโลกพบ 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย henrici Oustalet ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ
– ชนิดย่อย isani Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ ภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทยย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดเลย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 7 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,450 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
21. นกปรอดเล็กตาขาว ชนิดย่อย propinqua
ชื่อสามัญ : Grey-eyed Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Iole propinqua Oustalet, 1903
วงศ์ : PYCNONOTIDAE
นกปรอดเล็กตาขาว ชนิดย่อย propinqua
เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 19-19.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีพุ่มหงอนขนสั้นๆ ตาสีเทาแกมขาว คิ้วสีน้ำตาลอ่อน แต่ไม่เด่นชัดเมื่อดูในธรรมชาติ ลำตัวด้านบนสีไพล ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมเหลือง หางสีน้ำตาลแดง ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีอบเชย หรือสีน้ำตาลเหลือง ก้นสีน้ำตาลแกมส้ม
มักพบเป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ อาศัยและหากินตามพุ่มไม้หรือภายในเรือนยอดของต้นไม้ ไม่ค่อยออกมายังที่โล่งบ่อยนัก ทำให้มองไม่ค่อยเห็นตัว นอกจากได้ยินเสียงร้อง อาหารส่วนใหญ่ ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ เช่น ไทร หว้า ตะขบ ผลไม้เถาบางชนิด โดยการใช้ปากเด็ดผลออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล นิกจากนี้ยังกินหนอน และแมลงต่างๆตามกิ่งก้าน ใบ และยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามยอดไม้หรือยอดไผ่ที่อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 3-7 เมตร รังค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของตัว รังเป็นรูปถ้วยหยาบคล้ายรังนกเขา วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ กิ่งไผ่ และเถาวัลย์ต่างๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 10 นิ้ว กลางรังเป็นแอ่งตื้นๆ และนำใบไม้สดมาวางกลางรังเพื่อรองรับไข่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ทั้งนี้มีการนำใบไม้ใหม่สดมาเปลี่ยนใหม่เสมอ เพื่อควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 14 วัน
เสียงร้อง ดังว่า“อ๋าย-อ๋าย”
ชื่อชนิด propinqua หรือ propinquus เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ propinqu แปลว่า ใกล้ชิด หรือสัมพันธ์กับ ความหมายก็คือ“ลักษณะคล้ายกับนกอื่นๆในสกุลเดียวกันนี้” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศลาว
นกปรอดเล็กตาขาว ชนิดย่อย propinqua
ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย cinnamomeoventris Stuart Baker ชื่อชนิดย่อยเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า cinnamomeous แปลว่า สีอบเชย หรือสีน้ำตาลเหลือง และคำว่า vent,=er,-r,-ro หรือ ventris แปลว่า ท้อง ความหมายก็คือ“บริเวณท้องเป็นสีน้ำตาลเหลือง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองตะนาวศรี ประเทศเมียนมาร์ ชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่นในเมืองไทยพบได้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
– ชนิดย่อย lekhaguni Deignan ชื่อชนิดย่อยดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล คือ นพ.บุญส่ง เลขะกุล ซึ่งน่าจะเขียนชื่อชนิดย่อยเป็น lekaguli มากกว่า ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย ในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย propinqua Oustalet ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด ชนิดย่อยนี้ที่เป็นนกประจำถิ่นในเมืองไทยพบได้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ส่วนที่เป็นนกอพยพในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออก
– ชนิดย่อย simulator Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ simula แปลว่า เหมือน ความหมายก็คือ“ลักษณะเหมือนกับนกต้นแบบ” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 4 ชนิด ในเมืองไทยพบทั้ง 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามชายป่า ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,500 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
22. นกปรอดเหลืองหัวจุก ชนิดย่อย auratus
ชื่อสามัญ : Black-crested Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus flaviventris Tickell, 1833
วงศ์ : PYCNONOTIDAE
นกปรอดเหลืองหัวจุก ชนิดย่อย auratus
เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพในฤดูหนาว มีขนาด 18.5-19.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและคอสีดำ(ยกเว้นชนิดย่อย johnsoni คอมีสีแดง) มีหงอนขนยาวสีดำ ตาสีดำ รอบวงตาสีขาวหรือสีครีม ลำตัวด้านบนสีเหลืองแกมน้ำตาล สีน้ำตาลแกมเขียว หรือสีเขียวมะกอก ลำตัวด้านล่างสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองสด หางสีเหลือง ปลายหางสีเหลืองแกมดำ
ตัวไม่เต็มวัยมีหงอนสั้น หัวสีน้ำตาลอมเขียว และลำตัวสีเทา
นกชนิดนี้มีชุกชุมตามป่า มักหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆและส่งเสียงร้องสื่อสารกันตลอดเวลา เราจึงได้ยินเสียงร้องของมันก่อนเห็นตัวอยู่เสมอ หากินตามพุ่มไม้และยอดไม้ต่างๆทั้งในระดับสูงและในระดับปานกลาง กินอาหารได้หลายประเภททั้งแมลงและผลไม้ โดยเฉพาะไทร หว้า ตะขบ ตาเสือเล็ก อบเชย และไม้เถาบางชนิด โดยจะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้ยังเคยพบเห็นกินกลีบดอกไม้ น้ำหวานจากดอกไม้ โดยเฉพาะดอกทองหลางป่า และกินหนอนและแมลงต่างๆ ซึ่งจะจิกกินตามกิ่งก้านและยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับแมลงกลางอากาศ แต่ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะมากนัก
เสียงร้องสั้นและแหลมเร็วว่า“วิด-วิด-ตี้-วิด”
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน คือระหว่างเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยตามง่ามของต้นไม้ที่สูงจากพื้นประมาณ 1-3 เมตร หรือมากกว่า โดยใช้กิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า ตรงกลางแอ่งมักรองด้วยใบไม้ และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่งเพื่อรองรับไข่ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ไข่สีชมพู มีลายดอกดวงสีน้ำตาลแดงบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
เสียงร้องสั้นและแหลมเร็วว่า“วิด-วีด-ติ-วีด”
ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย(โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่ประเทศศรีลังกา) ในเมืองไทยพบ 7 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย auratus Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า aur,-ar,-at,-e,-i หรือ aurum แปลว่า สีทอง และคำว่า -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีสีเป็นสีทอง” พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
– ชนิดย่อย caecilii Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคใต้
– ชนิดย่อย elbeli Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่จังหวัดตราด ประเทศไทย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออก
– ชนิดย่อย johnsoni Gyldenstolpe ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ คอมีสีแดง ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคกลาง
– ชนิดย่อย negatus Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ nega แปลว่า คำปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับ และคำว่า –tus เป็นคำลงท้าย อาจจะหมายถึงนกที่ยังไม่มีใครยอมรับการเป็นชนิดย่อย พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย vantynei Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ตอนเหนือประเทศลาว ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือตอนบน นอกจากนี้ยังพบนกอพยพชนิดย่อยนี้ที่ จ.เชียงใหม่ จ.สกลนคร และ จ.อุบลราชธานี
– ชนิดย่อย xanthops Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ xanth,-o หรือ xanthos แปลว่า สีเหลือง และคำว่า op.=s แปลว่า การปรากฏ หรือใบหน้า ความหมายก็คือนกที่มีสีเป็นสีเหลือง พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือตอนล่าง
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 47 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าละเมาะ ชายป่า ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,565 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินดดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
23. นกปรอดหัวโขน ชนิดย่อย pattani
ชื่อท้องถิ่น : นกกรงหัวจุก , นกปรอดหัวโขนเคราแดง , นกพิชหลิว
ชื่อสามัญ : Red-whiskered Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus jocosus Linnaeus, 1758
วงศ์ : PYCNONOTIDAE
นกปรอดหัวโขน ชนิดย่อย pattani
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 18-20.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวสีดำและมีหงอนขนสีดำเป็นพุ่มตั้งบนหัว แก้มสีขาวและมีแต้มสีแดงที่หลังตา แถบหนวดและข้างอกสีดำ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมดำ คอและลำตัวด้านล่างสีขาว อกด้านข้างมีลายแถบสีน้ำตาล หางสีน้ำตาลดำ ปลายหางสีขาว ก้นสีแดง
ตัวเต็มวัยของชนิดนี้ต่างจากนกปรอดหัวสีเขม่า(Sooty-headed Bulbul) ตรงที่มีหงอนเป็นพุ่มตั้งบนหัว แก้มสีขาว มีแต้มสีแดงที่หลังตา ไม่มีลายพาดสีจางบริเวณขนคลุมโคนขนหางด้านบน ขนหางคู่นอกมีลายแถบสีขาวตอนปลาย
นกวัยอ่อนมีหงอนสั้น หัวและคอสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีแต้มสีแดงที่หลังตา และก้นสีชมพู
ปกติพบเป็นคู่ แต่ก็อาจพบเป็นฝูงได้ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ อาจพบอยู่รวมกับนกปรอดชนิดอื่น หากินตามกิ่งก้านและยอดไม้ บางครั้งก็ลงมายังพื้นดิน อาหารได้แก่ ผลไม้ หนอน และแมลงต่างๆ สำหรับผลไม้ที่มีขนาดเล็ก เช่น ไทร หว้า และตะขบ จะใช้ปากเด็ดจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล แต่หากเป็นผลไม้ขนาดใหญ่เกินกว่าจะกลืนกินทั้งผลได้ ก็จะใช้ปากจิกกินผลไม้สุก โดยจิกกินทีละชิ้น ส่วนหนอนและแมลงจะจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม แต่อาจพบได้เกือบตลอดทั้งปี ทำรังตามง่ามไม้ของพุ่มไม้เตี้ยๆ ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก แต่บางครั้งก็พบทำรังตามต้นไม้ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ รังเป็นรูปถ้วยเล็กๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ขนาดเล็ก ใบไม้แห้ง ต้นหญ้า และใบหญ้า อาจเชื่อวัสดุให้ติดกันด้วยใยแมงมุม ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง โดยวางไข่แต่ละฟองในทุกๆ 24 ชั่วโมง ปกติจะวางไข่ในตอนเช้าตรู่ ไข่สีชมพู มีลายจุด ลายขีด และลายดอกดวงสีม่วง สีแดง และสีน้ำตาลแดง โดยเฉพาะบริเวณไข่ด้านป้าน ใช้เวลาฟักไข่ 12-14 วัน ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆจะไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พ่อนกและแม่นกจะช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อมีอายุได้ 14-16 วัน ก็จะเริ่มบินได้ จากนั้นจะทิ้งรังไป แต่ยังคงอาศัยและหากินร่วมกับพ่อแม่อยู่อีกระยะหนึ่ง ก่อนแยกจากไปหากินเอง
เสียงร้องไพเราะก้องกังวาน ดังว่า“วิ่ดวิ่ด-ปิ๊ด-จะลิ่ว” หรือ“วิด-ตี-วีด” หรือ“พิช-หลิว” โดยร้องซ้ำๆกัน จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก และมีการประกวดเสียงร้องของนกชนิดนี้เสมอในภาคใต้ของไทย โดยจะมีการประกวดในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม แล้วแต่พื้นที่ นอกจากนี้ก็เริ่มมีการประกวดฯในพื้นที่บางแห่งของภาคเหนือด้วย
ชื่อชนิด jocosus เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ iocosus แปลว่า รื่นเริง สนุกสนาน หรือตลกขบขัน ความหมายก็คือ“นกที่ไม่ชอบอยู่นิ่งกับที่” หรือ“นกที่มีแก้มสีแดงคล้ายกับตัวตลก” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศจีน
ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย emeria Linnaeus ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ emer,-o แปลว่า สัตว์เลี้ยง หรือทำให้เชื่อง ความหมายก็คือ“นกที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองเบงกอล ประเทศอินเดีย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้เฉพาะภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย pattani Deignan ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ จังหวัดปัตตานี ประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบครั้งแรกของโลก ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตก
พบอาศัยตามสวนผลไม้ สวนใกล้ชุมชน ชายป่า พื้นที่เกษตรกรรม ป่าเบญจพรรณ พื้นที่เปิดโล่งในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,800 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย