พรรณไม้และสัตว์ป่าบนภูหินร่องกล้า-น้ำหนาว
ปีนี้ฝนไม่ชุ่มฉ่ำเหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้พรรณไม้ที่เคยออกดอกบานสะพรั่งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ย่อมอาจไม่ได้พานพบ หรือพบก็คงมีไม่หนาแน่นเหมือนอย่างที่เคยเป็น สำหรับอุณหภูมิทั้งที่ภูหินร่องกล้าและน้ำหนาวที่ได้ไปเยือนมา ก็ค่อนข้างมีอากาศร้อนในช่วงกลางวัน และไม่หนาวในยามค่ำคืน ต่างจากที่เคยเป็นมาที่จะมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นในยามค่ำคืนจนถึงรุ่งเช้าในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว ส่วนกลางวันมีอากาศเย็นสบาย อันเป็นผลมาจากอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นหรือที่เรียกกันว่า“ภาวะโลกร้อน” นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในพื้นที่อุทยานฯทั้ง2แห่งก็มีการปิด ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าท่องเที่ยว ด้วยเหตุเกรงว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปหนาแน่นและอาจมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯก็เป็นได้
ลานหินปุ่ม
อุทยานฯภูหินร่องกล้ามีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยยอดภูเขาที่สำคัญคือ ภูหมันขาว ภูแผงม้า ภูขี้เถ้า ภูลมโล ภูหินร่องกล้า โดยมีภูหมันขาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1,820 เมตรจากระดับทะเลฯ เทือกเขาเหล่านี้จะมีความสูงลดหลั่นลงไปจากด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก และเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยลำน้ำไซ ห้วยน้ำขมึน ห้วยออมสิงห์ ห้วยเหมือดโดน และห้วยหลวงใหญ่
ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2527 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่48ของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 191,875 ไร่ หรือ 307 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ่อโพธิ์ ตำบลเนินเพิ่ม ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
อุทยานฯน้ำหนาวตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตกั้นระหว่างภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวผ่านจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นเนินยอดป้านที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกบริเวณนี้ในอดีต มีความสูงจากระดับทะเลฯอยู่ระหว่าง 650-1,200 เมตร โดยมีภูด่านอีป้องเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงราว 1,271 เมตร เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสายที่สำคัญ เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเชิญ ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์
ลานกางเต็นท์ริมลำห้วย ณ อุทยานฯน้ำหนาว
ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2515 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่5ของประเทศ มีพื้นที่ประมาณ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำหนาว อำเภอหล่มเก่า , ตำบลบ้านกลาง ตำบลบ้านติ้ว ตำบลห้วยไร่ ตำบลปากช่อง ตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก , ตำบลบ้านโคก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
การบันทึกภาพพรรณไม้และสัตว์ป่าเหล่านี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ ไม้ป่า แมง/แมลง และนก
ไม้ป่า
รายชื่อพรรณไม้ที่พบ(ทั้งที่ออกดอก หรือออกผล มีทั้งหมด 33 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่
1. ช้าส้าน
ชื่อท้องถิ่น : ส้านแก่น(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saurauia napaulensisDC.
วงศ์ : ACTINIDIACEAE
ช้าส้าน Saurauia napaulensis DC.
ไม้ยืนต้น สูง 4-12 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งก้าน รูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบและปลายยอด ขนาดดอก 0.6-0.9 ซม. ดอกสีชมพู ดอกรูประฆังคว่ำขนาดเล็ก ปลายแยกเป็น5กลีบและพับงอ ภายในดอกมีแต้มสีม่วง ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม
ผลรูปกลม ขนาด 0.6-1.5 ซม. ปลายผลมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผิวเป็นสัน5สัน ผลแก่สีเหลืองอมสีเขียวอ่อน แตกออกด้านบน มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก
ผลของช้าส้าน Saurauia napaulensis DC.
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 391 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมลำห้วยหรือพื้นที่ที่ชุ่มชื้นของป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 700 เมตร ขึ้นไป ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคเหนือ
ชื่อสกุล Saurauia ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Friedrich von Saurau ผู้สนับสนุนด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย ซึ่งเป็นเพื่อนของ Carl Ludwig Willdenow นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณริมถนนหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่7(หมันแดง)
แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย
2. มือซาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Schefflera subintegra (Craib) C.B.Shang
วงศ์ : ARALIACEAE
ผลของมือซาง Schefflera subintegra (Craib) C.B.Shang
ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 6 เมตร ใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มีใบย่อย 5-11 ใบ รูปรี หรือรูปใบหอก
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 542 ชนิด ในไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอิงอาศัยตามไม้ยืนต้นขนาดเล็กในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 700-1,600 เมตร ทั่วทุกภาค
ใบของมือซาง Schefflera subintegra (Craib) C.B.Shang
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตก
แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
3. เขืองหลวง
ชื่อท้องถิ่น : เขืองใหญ่ , เต่าร้างดอย , เต่าร้างยักษ์(ภาคเหนือ) ; จอย(แม่ฮอ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caryota maxima Blume
วงศ์ : ARECACEAE
ผลของเขืองหลวง Caryota maxima Blume
ต้นสูงได้ถึง 30 เมตร ใบเป็นใบประกอบ ออกดอกเป็นช่อห้อยลง 3-5 ช่อ มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้มีขนาด 0.12-0.15 ซม. ดอกเพศเมียมีขนาด 0.6-0.8 ซม. ผลย่อยมีขนาด 2-2.5 ซม. ผลสดสีเขียว ผลสุกสีส้มอมแดง ส่วนมากมีเมล็ดเดียว เนื้อในเมล็ดเป็นชั้น
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 14 ชนิด ในไทยพบ 4-5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,800 เมตร ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณริมถนนหน้าหน่วยฯน้ำตกหมันแดง
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
4. เบญจมาศดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ethulia conyzoides L.
วงศ์ : ASTERACEAE
เบญจมาศดอย Ethulia conyzoides L.
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 0.5-1.5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอกแคบ ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นตามปลายกิ่ง ดอกสีม่วงอ่อน หรือสีขาวอมม่วง ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 15 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามพื้นที่ที่ชุ่มชื้นในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,200 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เบญจมาศดอย Ethulia conyzoides L.
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเขตร้อนในแอฟริกา
5. ผักกาดภู
ชื่อท้องถิ่น : ผักกาดภูหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sonchus wightianus DC.
วงศ์ : ASTERACEAE
ผักกาดภู Sonchus wightianus DC.
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ตั้งตรงสูง 50-100 ซม. หรือมากกว่า ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกขนาดเล็ก สีเหลืองสด ดอกเป็นหลอด ปลายกลีบหยักเป็น5แฉก ออกดอกในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 98 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามริมทาง ริมน้ำ และพื้นที่โล่งแจ้งตามลาดไหล่เขาทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณริมถนนหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่7(หมันแดง)
แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
6. เทียน(ไม่ทราบชนิด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens sp.
วงศ์ : BALSAMINACEAE
Impatiens sp.
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,047 ชนิด ในไทยพบกว่า 68 ชนิด สำหรับชนิดนี้ยังไม่ทราบชนิด พบตามที่ชื้นแฉะและทางน้ำไหลทั่วไปบนภูหินร่องกล้า เป็นสกุลเทียนที่มีดอกขนาดเล็กมาก ผู้เขียนมักเรียกว่า“เทียนแคระ”หรือ“เทียนจิ๋ว” ลำต้นและก้านใบสีน้ำตาลอมแดง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ขอบใบหยักมนและมีหนามแหลมสีน้ำตาลแดงชี้ตั้งขึ้นบริเวณขอบของโคนใบ ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบบริเวณปลายยอด ดอกสีม่วง หรือสีชมพูอมแดง กลีบดอก 5 กลีบ กลีบบนมีขนาดกว้างกว่า มีแต้มสีขาวบริเวณด้านในของโคนกลีบล่างทั้ง2กลีบ มักพบออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน ซึ่งผู้เขียนเคยพบเทียนชนิดนี้อีก 3 แห่ง คือ อุทยานฯทุ่งโนนสน จ.เพชรบูรณ์ – จ.พิษณุโลก , อุทยานฯภูสวนทราย(นาแห้ว) และเขตรักษาพันธุ์ฯภูหลวง จ.เลย
Impatiens sp.
ชื่อสกุล Impatiens มาจากภาษาละติน แปลว่า ไม่อดทน หมายความถึง“ผลที่แตกง่ายเมื่อสัมผัส”
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
7. ดาดหินทราย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Begonia arenosaxa ined.
วงศ์ : BEGONIACEAE
ดาดหินทราย Begonia arenosaxa ined.
ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของชนิดนี้มากนัก คงรู้แต่ว่าเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีหัวหรือเหง้าเพื่อใช้พักตัวในฤดูแล้ง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว แผ่นใบมีขนอ่อนนุ่ม ผิวใบด้านบนมีสีแดงแกมน้ำตาลตามเส้นใบ ผิวใบด้านล่างสีแดง ออกดอกเป็นช่อ ดอกสีชมพู
ดาดหินทราย Begonia arenosaxa ined.
ผิวใบด้านล่างของดาดหินทราย Begonia arenosaxa ined.
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,871 ชนิด ในไทยพบกว่า 50 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นชนิดใหม่ของโลก และเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ปัจจุบันมีรายงานการพบอิงอาศัยบนหินแกรนิตและหินทรายในป่าดิบเขาทางภาคเหนือ
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามทางเดินเข้าสำนักอำนาจรัฐ
8. หญ้าเครือไฟ
ชื่อท้องถิ่น : ผักปลาบนา(สกลนคร) ; หญ้าก้านแดง , หญ้ากาบไผ่ , หญ้าป้องเล็บมือนาง(ชลบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyanotis vaga (Lour.) Schult. & Schult.f.
วงศ์ : COMMELINACEAE
หญ้าเครือไฟ Cyanotis vaga (Lour.) Schult. & Schult.f.
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 10-60 ซม. ใบเดี่ยว ใบที่โคนต้นออกกระจุกเป็นวงรอบ รูปแถบจนถึงรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ดอกสีม่วง สีม่วงอมน้ำเงิน สีม่วงอมชมพู หรือสีชมพู กลีบดอก3กลีบ ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 49 ชนิด ในไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามทุ่งหญ้าบนเนินเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 400 เมตร ขึ้นไป โดยเฉพาะตามทุ่งหญ้าป่าสนเขาจะพบขึ้นอยู่เป็นทุ่ง ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเขตร้อนในทวีปแอฟริกา
9. ปอแต๊บ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macaranga kurzii (Kuntze) Pax & K.Hoffm.
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ผลของปอแต๊บ Macaranga kurzii (Kuntze) Pax & K.Hoffm.
ไม้ยืนต้น สูง 1-7 เมตร ผลัดใบช่วงสั้นๆ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยมักออกตามปลายกิ่ง รูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยมฐานกว้าง ดอกแยกเพศ โดยดอกเพศผู้เป็นช่อยาวสีเหลือง ส่วนดอกเพศเมียเป็นกลุ่มกลม ผลขนาดเล็กเป็นพู มีหนามขึ้นกระจายห่างๆ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 305 ชนิด ในไทยพบ 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสันเขาที่ค่อนข้างแล้งในป่าที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,600 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ใบแก่ก่อนหลุดร่วงของปอแต๊บ Macaranga kurzii (Kuntze) Pax & K.Hoffm.
ชื่อสกุล Macaranga เป็นภาษาพื้นเมืองของมาดากัสการ์
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตกและลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม
10. ทองแห
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Callerya cinerea (Benth.) Schot
วงศ์ : FABACEAE
ทองแห Callerya cinerea (Benth.) Schot
ไม้เลื้อยทอดยาวได้ไกลถึง 6 เมตร ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย5ใบ รูปรีแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ขนาดดอก 1.2-1.6 ซม. ดอกสีแดงจนถึงสีม่วงซีด ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอก5กลีบ กลีบบนมีขนาดใหญ่สุด รูปไข่หรือรูปกลมรี ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกรกฎาคม
ทองแห Callerya cinerea (Benth.) Schot
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 15 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 1 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นป่าที่กำลังฟื้นตัวจากการถูกทำลายในป่าที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 150-1,200 เมตร ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณริมถนนหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่7(หมันแดง)
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
11. เอื้องอัญชัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clitoria mariana var. orientalis Fantz
วงศ์ : FABACEAE
เอื้องอัญชัน Clitoria mariana var. orientalis Fantz
ไม้ล้มลุกกึ่งเลื้อย สูง 45-60 ซม. ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบรูปรีจนถึงรูปรีแกมรูปไข่ ออกดอกตามซอกใบ ขนาดดอก 2.5-5 ซม. ดอกสีคราม หรือสีม่วง ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอก5กลีบ กลีบล่างมีขนาดใหญ่สุด ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 66 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
Clitoria mariana var. orientalis Fantz
ชื่อสกุล Clitoria มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า kleitoris หรือคำว่า kletoridos แปลว่า คลิตอริส(เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะเพศหญิง) ตามลักษณะกลีบดอก
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในอินเดีย ภูฏาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
12. ม่วงพนาวัน
ชื่อท้องถิ่น : เครือม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Craspedolobium unijugum (Gagnep.) Z.Wei & Pedley
วงศ์ : FABACEAE
ม่วงพนาวัน Craspedolobium unijugum (Gagnep.) Z.Wei & Pedley
ไม้พุ่มรอเลื้อย สูงได้ถึง 3 เมตร ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบรูปไข่กลับจนถึงรูปรีกว้าง ออกดอกเป็นช่อคล้ายช่อกระจะตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 0.9-1.1 ซม. ดอกสีชมพูจนถึงสีชมพูอมม่วง ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอก5กลีบ กลีบบนมีขนาดใหญ่สุด ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน
ม่วงพนาวัน Craspedolobium unijugum (Gagnep.) Z.Wei & Pedley
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามพื้นที่ชุ่มชื้นที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 600-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณริมผาของลานหินแตก และตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม
13. หญ้าดอกคำ
ชื่อท้องถิ่น : ดอกคำหญ้า , ดอกหญ้าคำ , ตาลเดี่ยว(ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypoxis aurea Lour.
วงศ์ : HYPOXIDACEAE
หญ้าดอกคำ Hypoxis aurea Lour.
ไม้ล้มลุกมีอายุฤดูเดียวถึงหลายปี สูง 2.5-20 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปแถบแกมรูปขอบขนาน หรือรูปเรียวยาวคล้ายใบหญ้า ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะตามซอกใบหรือกลางกลุ่มใบ ขนาดดอก 1-3 ซม. ดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองสด ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนมกราคม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 103 ชนิด ในไทยพบประมาณ 2-3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดินทรายบริเวณทุ่งหญ้าโล่ง ลานหินที่ชุ่มชื้น หรือมีทางน้ำไหลผ่านในป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ชื่อสกุล Hypoxis มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า hypo แปลว่า ข้างล่าง หรือใต้ และคำว่า oxys แปลว่า ปลายแหลม หรือคม ตามลักษณะของใบ ส่วนชื่อชนิด aurea แปลว่า สีเหลือง ความหมายก็คือ“ดอกที่มีสีเหลือง”
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี
14. ฉัตรฟ้า
ชื่อท้องถิ่น : ปิ้งแดง(ภาคเหนือ) ; พวงพีเหลือง(เลย) ; เข็มฉัตร , เข็มชาด(นครพนม) ; ปิ้งจงวา(เขมร-สุรินทร์) ; สาวสวรรค์(นครราชสีมา) ; หัวลิง(สระบุรี) ; นมสวรรค์ , พนมสวรรค์ , มาลี(ภาคกลาง , ภาคใต้) ; พู่หมวก(กรุงเทพฯ) ; พนมสวรรค์ป่า(ยะลา) ; นมหวัน , น้ำนมสวรรค์(มลายู-นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum paniculatumL.
วงศ์ : LAMIACEAE
ฉัตรฟ้า เพศผู้ Clerodendrum paniculatum L.
ไม้พุ่มผลัดใบ สูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปฝ่ามือ รูปไข่ หรือค่อนข้างกลม ออกดอกเป็นช่อกระจุกตั้งตรงและแยกแขนงเป็นรูปฉัตรหรือรูปพีระมิดขนาดใหญ่ตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกแยกเพศและบานทนนานราว1สัปดาห์ ดอกเพศผู้มีสีขาวหรือสีซีดจางเกือบขาว ส่วนดอกเพศเมียมีสีแดง สีส้ม หรือสีส้มแดง ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในช่วงฤดูฝน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 297 ชนิด ในไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่รกร้างหรือพื้นที่โล่ง ริมลำน้ำ ชายป่า เชิงเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 800 เมตร ทั่วทุกภาค
ชื่อสกุล Clerodendrumมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า kleros แปลว่า โอกาส หรือโชคชะตา และคำว่า dendron แปลว่า ต้นไม้ ความหมายก็คือ“ต้นไม้แห่งโอกาสที่หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร”
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้าและอุทยานฯน้ำหนาว ตามชายป่า
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน จีนด้านตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
15. กลอนดู่
ชื่อท้องถิ่น : หอมฮอก(เชียงใหม่) ; ขนหนอน(สุราษฎร์ฯ-นครศรีฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gomphostemma javanicum (Blume) Benth.
วงศ์ : LAMIACEAE
กลอนดู่ Gomphostemma javanicum (Blume) Benth.
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ตั้งตรงสูง 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและปลายยอด ดอกสีขาว หรือสีขาวครีมแกมเหลืองอ่อน ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น4กลีบ ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 29 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้นในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 600-1,600 เมตร ทั่วทุกภาค
กลอนดู่ Gomphostemma javanicum (Blume) Benth.)
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
16. มณเฑียรทอง
ชื่อท้องถิ่น : แววมยุราสีเหลือง(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคกลาง) ส่วนชื่อ“มณเฑียรทอง”นั้นเป็นชื่อที่ ศจ.ดร.เต็ม สมิตินันท์ เป็นผู้ตั้งชื่อให้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Torenia hirsutissima Bonati
วงศ์ : LINDERNIACEAE
มณเฑียรทอง Torenia hirsutissima Bonati
ไม้ล้มลุกมีอายุฤดูเดียว ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปไข่ หรือรูปไข่แคบถึงรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบและปลายยอด ดอกสีเหลืองสด หรือสีเหลืองทอง ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายผายกว้างและแยกออกเป็น5กลีบ ออกดอกในช่วงฤดูฝน แต่มีมากในราวเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน
มณเฑียรทอง Torenia hirsutissima Bonati
พืชสกุลนี้พบทั่วโลก 65 ชนิด ในไทยพบประมาณ 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ทุ่งหญ้าที่ชุ่มชื้น ตลอดจนทางน้ำไหลผ่านบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,300 เมตร ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก
ชื่อสกุล Torenia ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Reverrend Olof Torén หมอสอนศาสนาและนักสำรวจชาวสวีเดน ผู้ค้นพบพืชสกุลนี้เป็นคนแรก
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในไทย ลาว และกัมพูชา
17. มณเฑียรแดง
ชื่อท้องถิ่น : แววสุพัตรา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Torenia pierreana Bonati
วงศ์ : LINDERNIACEAE
มณเฑียรแดง Torenia pierreana Bonati
ไม้เลื้อยอายุฤดูเดียว โคนต้นมักทอดเลื้อยแล้วชูยอดตั้งตรงสูง 10-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปใบหอกจนถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ หรือเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่ง ขนาดดอก 2.5-3 ซม. ดอกสีแดงอ่อน สีชมพูอมแดง สีม่วงอ่อน หรือสีม่วงอมชมพู และมักมีปื้นสีม่วงอมแดงที่ปลายกลีบ ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายดอกผายกว้างและแยกออกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม
มณเฑียรแดง Torenia pierreana Bonati
พบขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ทางน้ำไหลผ่าน ชายป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 600-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในไทย และกัมพูชา
18. กาฝากพญามหาปราบ
ชื่อท้องถิ่น : กาฝากก่อ(ภาคเหนือ) ; เตอสี่นะเดอ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; กาฝากไม้มังตาน(ชุมพร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helixanthera parasitica Lour.
วงศ์ : LORANTHACEAE
ผลของกาฝากพญามหาปราบ Helixanthera parasitica Lour.
ไม้พุ่มจำพวกกาฝาก ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปไข่กว้าง ออกดอกเป็นช่อกระจะเดี่ยวหรือคู่ตามซอกใบ ขนาดดอก 0.5 ซม. ดอกสีแดงอมขาว สีแดงคล้ำ สีชมพู หรือสีออกเหลือง กลีบดอก5กลีบ หลุดร่วงง่าย ผลรูปกลมรีจนถึงรูปไข่กลับ สีเหลือง ผิวมีปุ่มเล็กๆ มีเนื้อนุ่ม ผลสุกสีแดง ผลแก่สีดำ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 43 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝากเกาะตามคาคบไม้ในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค
ผลของกาฝากพญามหาปราบ Helixanthera parasitica Lour.
ชื่อสกุล Helixanthera มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า helix แปลว่า บิดเวียน และคำว่า anthera แปลว่า อับเรณู ตามลักษณะของอับเรณูรูปแถบ เมื่อแห้งแล้วบิดเวียน
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตก
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ทิเบต จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
19. มณฑาป่า
ชื่อท้องถิ่น : มณฑาดอย , มณฑาแดง , มะองนก(เชียงใหม่) ; ปอนาเตอ(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Magnolia garrettii (Craib) V.S.Kumar
วงศ์ : MAGNOLIACEAE
ผลของมณฑาป่า Magnolia garrettii (Craib) V.S.Kumar
ไม้ยืนต้น สูง 10-25 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง ขนาดดอก 8-10 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆในช่วงเช้าและช่วงใกล้ค่ำ ดอกสีชมพูอมม่วง สีม่วงอมชมพูเข้ม สีม่วงแดง หรือสีม่วงอมเขียวและแดง มีกลีบดอก 9-12 กลีบ มักมี9กลีบ เรียงเป็นวงๆละ 3 กลีบ กลีบวงนอกสีเขียวอมม่วง ค่อนข้างบอบบาง รูปไข่กลับ ส่วนกลีบวงกลางและวงในมีสีม่วงแดง กลีบดอกหนาและอวบน้ำ รูปช้อน ดอกบานเพียง 2-5 วัน กลีบดอกจะลู่ลงและร่วงโรยแยกเป็นกลีบ ออกดอกในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม
ผลของมณฑาป่า Magnolia garrettii (Craib) V.S.Kumar
ผลออกเป็นช่อกลุ่ม ยาว 4-12 ซม. ผลย่อยรูปไข่ รูปไข่ป้อม หรือรูปทรงกระบอก ยาว 1-1.5 ซม. ปลายมีจะงอยสั้น มี 1-5 เมล็ด สีแดง รูปรีและแบน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 320 ชนิด ในไทยพบ 27 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,000-1,900 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ชื่อสกุล Magnolia ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Pierre Magnol นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณหน่วยต้นน้ำฯ
แพร่กระจายในจีน ไทย และเวียดนาม พืชชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกบนดอยผ้าขาว จ.เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2465 โดย H.B.G. Garrett นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ
20. เอนอ้าขน
ชื่อท้องถิ่น : เฒ่านั่งฮุ่ง(เชียงใหม่) ; โคลงเคลงหิน , เอ็นอ้าขน(เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.
วงศ์ : MELASTOMATACEAE
เอนอ้าขน Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.
ใบของเอนอ้าขน Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.
ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วง สีม่วงแดง หรือสีชมพูแกมม่วง กลีบดอก4กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนมกราคม ผลรูปคนโท มีขนแข็งรูปดาวหนาแน่น เนื้อในผลนุ่ม ผลแห้งแตกเป็น 4-5 ฝา
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 43 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งและทุ่งหญ้าที่ชุ่มชื้นและริมลำห้วย ตลอดจนทุ่งหญ้าและสันเขาที่ชุ่มชื้นบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-2,000 เมตร ทั่วทุกภาค
เอนอ้าขน Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.
ชื่อสกุล Osbeckia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Pehr Osbeck นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตกและลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เนปาล ภูฎาน ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
21. เอื้องตาเหิน
ชื่อท้องถิ่น : เอื้องเงินหลวง(แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium infundibulum Lindl.
วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE
วงศ์ : ORCHIDACEAE
เอื้องตาเหิน Dendrobium infundibulum Lindl.
ลำต้นรูปแท่งดินสอกลมและผอม ขึ้นอยู่เป็นกอ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ต้นหนึ่งมี 35-40 ใบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปยาวรี หรือรูปไข่ มักทิ้งใบเมื่อต้นแก่และก่อนออกดอก ออกดอกเดี่ยวๆตามข้อใกล้ปลายยอด ขนาดดอก 3.5-8 ซม. กลิ่นหอม ดอกบานทนนานเป็นเดือน ดอกสีขาว ปากดอกรูปรี มีแต้มสีเหลือง สีเหลืองเข้ม สีแสด หรือสีแดงที่กลางปาก ออกดอกตลอดทั้งปี แต่มีมากในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนมีนาคม
พบอิงอาศัยตามโขดหิน ผาหิน และต้นไม้ในป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก โดยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
เอื้องตาเหิน Dendrobium infundibulum Lindl.
ชื่อสกุล Dendrobium มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า dendro แปลวา ไม้ต้น และคำว่า bios แปลว่า สิ่งมีชีวิต ความหมายก็คือ“สิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนต้นไม้” ส่วนชื่อชนิด infundibulum มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า infundibularis แปลว่า รูปกรวย ความหมายก็คือ“เดือยกลีบปากดอกที่เป็นรูปกรวย”
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณริมถนนใกล้หน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่7(หมันแดง)
แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ไทย และลาว ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศเมียนมาร์
22. ลิ้นมังกร
ชื่อท้องถิ่น : สังหิน(เลย) ; ปัดแดง , ปัดม่วง , ปัดส้ม , ปัดเหลือง(ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Habenaria rhodocheila Hance
วงศ์ย่อย : ORCHIDIOIDEAE
วงศ์ : ORCHIDACEAE
ลิ้นมังกร Habenaria rhodocheila Hance
เป็นกล้วยไม้ดิน มักขึ้นเป็นกอขนาดใหญ่ สูง 15-30 ซม. หรือมากกว่า ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรง ขนาดดอก 0.8-4 ซม. ดอกทยอยบานทนนานเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ มีความผันแปรสูงทั้งรูปร่างและสีของดอก ได้แก่ สีแดง สีม่วงอ่อนระเรื่อแดง สีชมพู สีเหลือง สีส้ม สีเหลืองอมส้ม สีแสด หรือสีขาว(หาพบยาก) ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกุมภาพันธ์
ลิ้นมังกร Habenaria rhodocheila Hance
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 600 ชนิด ในเมืองไทยพบ 45 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามพื้นดิน ลานหินทราย โขดหินตามริมลำธาร หรือก้อนหินบนเขาหินปูนในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค
ชื่อสกุล Habenaria มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า habena แปลว่า เชือกบังเหียน ความหมายก็คือ“กลีบดอกและกลีบปากดอกมีรยางค์ยื่นยาว” ส่วนชื่อชนิด rhodocheila มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า rhodo แปลว่า สีแดง และคำว่า cheila แปลว่า ปาก ความหมายก็คือ“กลีบปากดอกมีสีแดง”
ลิ้นมังกร Habenaria rhodocheila Hance
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในจีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดนี้พบครั้งแรกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน จากการสำรวจของ Henry Fletcher Hance นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ
23. เอื้องม้าวิ่ง
ชื่อท้องถิ่น : กล้วยไม้ม้า , ละเม็ด , หญ้าดอกดิน , หญ้าดอกหิน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; กล้วยหิน(ตราด) ; กระทิงแดง(ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phalaenopsis pulcherrima (Lindl.) J.J.Sm.
วงศ์ย่อย : VANDOIDEAE
วงศ์ : ORCHIDACEAE
เอื้องม้าวิ่ง Phalaenopsis pulcherrima (Lindl.) J.J.Sm.
ลำต้นเป็นรูปก้านกลมๆขนาดสั้นๆที่มีอยู่เป็นกระจุก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยออกซ้อนกันเป็นแผง รูปรีแกมรูปขอบขนาน บ้างก็พบเป็นรูปรีเกือบกลม ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรงตามซอกใบ ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกมีสีหลากหลายตั้งแต่สีซีดเกือบขาวจนถึงสีแดงเข้ม สีม่วง สีม่วงอ่อน หรือสีชมพูอมม่วง ปกติออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนพฤศจิกายน แต่บางครั้งพบออกนอกฤดูกาลในราวเดือนธันวาคม – เดือนมกราคม
พืชชนิดนี้เดิมอยู่ในสกุล Doritis พบอิงอาศัยตามลานหินที่มีอินทรีย์วัตถุทับถมกันตามป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,400 เมตร พบบ้างตามป่าชายหาด โดยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง
ชื่อสกุล Phalaenopsis มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า phalaina แปลว่า ผีเสื้อกลางคืน และคำว่า opsis แปลว่า เหมือน ความหมายก็คือ“ดอกมีรูปทรงคล้ายผีเสื้อกลางคืน” ส่วนชื่อชนิด pulcherrima มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า pulcher แปลว่า สวยงาม ความหมายก็คือ“ดอกมีความสวยงาม”
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตกและลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศเวียดนาม
24. ยอป่า
ชื่อท้องถิ่น : สลักป่า , สลักหลวง(ภาคเหนือ) ; คุ(แม่ฮ่องสอน) ; โคะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; คุย(พิษณุโลก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda coreia Buch.-Ham.
วงศ์ : RUBIACEAE
ผลของยอป่า Morinda coreia Buch.-Ham.
ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-25 เมตร ผลัดใบ ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและปลายกิ่ง ขนาดดอก 2-2.5 ซม. กลิ่นหอม ดอกสีขาว ปกติออกดอกในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม
ผลย่อยจำนวนมากเชื่อมติดกันเป็นรูปรีหรือรูปกลม และค่อนข้างบิดเบี้ยว ผลสดสีเขียว ผลแก่สีส้ม ขนาด 2-3 ซม. ผิวนอกเป็นปุ่มปมนูนและมีขน เนื้อผลสีขาวฉ่ำน้ำ มีหลายเมล็ด ปกติออกผลในราวเดือนธันวาคม – เดือนมกราคม
ผลของยอป่า Morinda coreia Buch.-Ham.
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 43 ชนิด ในไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,300 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
ชื่อสกุล Morinda มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า morus แปลว่า หม่อน และคำว่า indicus แปลว่า อินเดีย ตามชื่อสามัญ Indian mulberry
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตก
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
หมายเหตุ ชนิดนี้อาจไม่ถูกต้อง รอการยืนยันจากผู้รู้ ส่วนตัวผู้เขียนนั้นคิดว่าใช่
25. โพอาศัย
ชื่อท้องถิ่น : โพวาไหสยี , วิรุญจำบัง(เชียงราย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neohymenopogon parasiticus(Wall.) Bennet
วงศ์ : RUBIACEAE
โพอาศัย Neohymenopogon parasiticus (Wall.) Bennet
ดอกตูมของโพอาศัย Neohymenopogon parasiticus (Wall.) Bennet
ไม้พุ่มกึ่งอิงอาศัย สูง 0.3-2 เมตร ใบเดี่ยว โคนต้นออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ปลายต้นออกเป็นวงๆละ4ใบ รูปใบหอก รูปใบหอกกลับ รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว บางครั้งพบสีเขียวอ่อนแกมขาว ดอกเป็นหลอดรูปกรวย หรือรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนธันวาคม ผลรูปหลอดโป่งพอง หรือรูปโคนหัวกลับ ตั้งขึ้น สีเขียวแกมเหลือง
โพอาศัย Neohymenopogon parasiticus (Wall.) Bennet
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 3 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยเป็นพืชอิงอาศัยขึ้นบนต้นไม้หรือบนก้อนหินที่มีมอสส์หนาแน่น บางครั้งพบขึ้นตามพื้นหรือซอกหินที่ชื้นเฉอะแฉะหรือมีทางน้ำไหลผ่านและไหล่ผาในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,200 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ชื่อสกุลเดิมชื่อ Hymenopogon แต่พบว่าซ้ำกับชื่อสกุลของมอสส์ จึงเปลี่ยนเป็นชื่อสกุลใหม่
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตกและลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนามตอนบน
26. กำยาน
ชื่อท้องถิ่น : เซพอบอ(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; เขว้(ลัวะ-เชียงใหม่) ; ซาดสมอง(นครพนม) ; สะด่าน(สุรินทร์-เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Styrax benzoides Craib
วงศ์ : STYRACACEAE
ต่อมและผลของกำยาน Styrax benzoides Craib
ต่อมของกำยาน Styrax benzoides Craib
ไม้ยืนต้น สูง 8-20 เมตร เรือนยอดโปร่ง ตามกิ่งบริเวณซอกใบมักพบหูดหรือต่อมเป็นถุงยาวคล้ายดาบ จำนวน 6-12 อัน ยาว 3-6 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่กว้าง รูปมนรีแคบ หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อและแยกแขนงสั้นๆตามซอกใบและปลายกิ่ง ขนาดดอก 0.9-1.8 ซม. กลิ่นหอม ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน ผลรูปกลมแป้น สีเขียวอมเทาอ่อน แข็งมาก ปลายผลมีติ่งแหลม
ใบของกำยาน Styrax benzoides Craib
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 125 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 600-1,600 เมตร ทางภาคเหนือ
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม
27. ส้มสันดาน
ชื่อท้องถิ่น : เถาส้มออบ(สุราษฎร์ธานี) ; ส้มข้าว(ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cissus hastata Miq.
วงศ์ : VITACEAE
ส้มสันดาน Cissus hastata Miq.
ไม้เลื้อย ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกซ้อนตรงข้ามกับใบ ดอกสีครีม กลีบดอก4กลีบ ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม ผลออกเป็นช่อ ผลย่อยรูปกลม ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดง ก่อนเปลี่ยนเป็นสีดำ มีเนื้อนุ่ม มีเมล็ดเดียว
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 287 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 19 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้า พื้นที่เปิดโล่ง ชายน้ำ ริมน้ำ และพื้นที่ที่ชุ่มชื้นบนภูเขา ทั่วทุกภาค
ส้มสันดาน Cissus hastata Miq.
ชื่อสกุล Cissus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า kissos แปลว่า ไม้เลื้อย ความหมายก็คือ“ลักษณะนิสัยของพืชสกุลนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อย”
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตกและลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในบังกลาเทศ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลียตอนบน
28. เปราะภู
ชื่อท้องถิ่น : เปราะภูดอกขาว , เปราะภูเมี่ยง(พิษณุโลก , เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia alba (K. Larsen & R. M. Sm.) Mood & L. M. Prince
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
เปราะภู Boesenbergia alba (K. Larsen & R. M. Sm.) Mood & L. M. Prince
ไม้ล้มลุกพบขึ้นอยู่เป็นกอ ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 30-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก หรือรูปแถบ ออกดอกเป็นช่อตามกาบใบที่ปลายยอด ดอกสีขาว สีขาวระเรื่อชมพูอ่อนๆ สีขาวอมชมพู สีชมพูอมม่วง จนถึงสีม่วง ดอกเป็นหลอดรูปแตร ปลายแยกออกเป็น3กลีบ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม
เปราะภู Boesenbergia alba (K. Larsen & R. M. Sm.) Mood & L. M. Prince
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 68 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 26 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักพบขึ้นอยู่เป็นทุ่งตามป่าสนเขา หรือทุ่งหญ้าบนลานหินที่ชุ่มชื้นและมีอากาศเย็นตลอดทั้งปีบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 900-1,500 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบที่ จ.อุตรดิตถ์ จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.เลย
เดิมอยู่ในสกุล Caulokaempferia นักพฤกษศาสตร์ได้ยุบมาอยู่ในสกุลนี้ด้วยเหตุผลด้านชีวโมเลกุล นอกจากนี้นักพฤกษศาสตร์บางท่านได้รวมเปราะภูประเทศไทย[Boesenbergia thailandica(K. Larsen) Mood & L. M. Prince] และเปราะภูดอกม่วง[Boesenbergia violacea (K.Larsen & Triboun) Mood & L.M.Prince] ไว้อยู่ในเปราะภูชนิดนี้
เปราะภู Boesenbergia alba (K. Larsen & R. M. Sm.) Mood & L. M. Prince
ชื่อสกุล Boesenbergia ตั้งตาม Clara Boesenberg น้องสาวของ Otto Kuntze (1843-1907) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตกและลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในไทย และลาว
29. กระเจียวโคม
ชื่อท้องถิ่น : กระเจียวฉัตร(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; บัวชื่น(กทม.)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma petiolata Roxb.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
กระเจียวโคม Curcuma petiolata Roxb.
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 30-90 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอก หรือรูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปทรงกระบอกแทงขึ้นมาจากเหง้าและแทรกระหว่างก้านใบ ช่อดอกมีใบประดับเป็นกาบเรียงซ้อนทับกันอยู่หนาแน่น โคนช่อสีเขียวอ่อน หรือสีขาวอมเขียว ส่วนปลายช่อมีใบประดับขนาดใหญ่กว่า สีขาวอมชมพู จนถึงสีชมพู ดอกออกตามซอกใบประดับบริเวณโคนช่อถึงกลางช่อ ช่อละ 20-30 ดอก ดอกสีเหลือง ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็น4กลีบ ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนสิงหาคม
พืชสกุลนี้ปัจจุบันได้รวมสกุล Smithatris และสกุล Stahlianthus เข้าไว้ด้วยกัน ทั่วโลกพบ 100 ชนิด ในเมืองไทยการพบ 45 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดินที่ชื้นๆในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 220-1,100 เมตร ทั่วทุกภาค
ชื่อสกุล Curcuma มีรากศัพท์มาจากภาษาอาราบิกคำว่า Kurkum แปลว่า สีเหลืองของหัวหรือเหง้าขมิ้น
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว ตามชายป่าใกล้ลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
30. ว่านดอกเหลือง
ชื่อท้องถิ่น : อีทือ(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ว่านขมิ้น(เลย) ; เข้าพรรษาขาว(ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Globba adhaerens Gagnep.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
ว่านดอกเหลือง Globba adhaerens Gagnep.
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 20-50 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนง ดอกสีเหลืองส้ม ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น3กลีบ ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน
ว่านดอกเหลือง Globba adhaerens Gagnep.
ดอกตูมของว่านดอกเหลือง Globba adhaerens Gagnep.
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 98 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 48 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้น ทุ่งโล่งริมลำธาร ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-1,350 เมตร ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ชื่อสกุล Globba มาจากภาษา Amboinese ในอินโดนีเซียที่ใช้เรียกพวกขิงข่า
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
31. ตาเหินไหว
ชื่อท้องถิ่น : สะเหิน , สะเหินตัวผู้(เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedychium ellipticum Buch.-Ham. ex Sm.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
ตาเหินไหว Hedychium ellipticum Buch.-Ham. ex Sm.
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูงราว 0.5-1.5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อเชิงลดและแยกแขนงสั้นๆตามปลายยอด รูปดอกดูคล้ายดอกกล้วยไม้ ดอกสีขาว หรือสีขาวครีม ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น3กลีบ ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน ผลแก่แตกออกเป็น3เสี่ยง มีเมล็ดเป็นจำนวนมาก หุ้มด้วยเนื้อสีแดง
ตาเหินไหว Hedychium ellipticum Buch.-Ham. ex Sm.
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 93 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 32 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้นและริมผา บางครั้งพบอิงอาศัยตามไม้ใหญ่ที่มีมอสส์ปกคลุม หรือตามซอกหินที่มีอินทรีย์วัตถุสะสมใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 700-1,800 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ชื่อสกุล Hedychium มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก2คำ คือคำว่า hedys แปลว่า หอมหวาน และคำว่า chion แปลว่า หิมะ ตามลักษณะดอกสีขาวในบางชนิด และมีกลิ่นหอม
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินแตกและลานหินปุ่ม
แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม
32. เปราะน้ำหนาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia albomaculata Jenjitt. & K. Larsen
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
เปราะน้ำหนาว Kaempferia albomaculata Jenjitt. & K. Larsen
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ แผ่ออกแบนราบติดกับพื้นดิน รูปรีแกมรูปกลม จนถึงรูปกลม ออกดอกเป็นช่อกระจุกระหว่างยอดลำต้นเทียมและกาบใบ ดอกสีม่วง ดอกเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น3กลีบ มีเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนรูปไปคล้ายกลีบดอก สีม่วงอมชมพู หรือสีม่วง ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม
เปราะน้ำหนาว Kaempferia albomaculata Jenjitt. & K. Larsen
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 57 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 44 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้นใต้ร่มเงาไม้ในป่าเต็งรัง ปัจจุบันมีรายงานการพบตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ – จ.ชัยภูมิ
ชื่อสกุล Kaempferia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Engelbert Kaempfer นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว ใต้ป่าไผ่ริมลำน้ำ
เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย
33. เปราะหิน
ชื่อท้องถิ่น : เปราะภูเขาใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monolophus saxicola (K. Larsen) Veldkamp & Mood
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
เปราะหิน Monolophus saxicola (K. Larsen) Veldkamp & Mood
ไม้ล้มลุก ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูงราว 7.5-50 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด ดอกสีเหลืองสด ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น3กลีบ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 25 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 19 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นทุ่งหนาแน่นตามพื้นหินทรายหรือซอกหินทรายบริเวณที่ชุ่มชื้นริมลำน้ำหรือมีทางน้ำไหลผ่าน บางครั้งพบอิงอาศัยตามต้นไม้ที่มีมอสส์และไลเคนส์ปกคลุมหนาแน่นในป่าสนเขาและป่าดิบเขาที่ชุ่มชื้นและมีอากาศเย็นตลอดทั้งปีบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 900-1,100 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบบนเขาใหญ่ทางด้าน จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี
เปราะหิน Monolophus saxicola (K. Larsen) Veldkamp & Mood
เดิมพืชสกุลนี้อยู่ในสกุล Caulokaempferia นักพฤกษศาสตร์ได้ยุบมาอยู่ในสกุลนี้ และบางชนิดถูกยุบให้อยู่ในสกุล Boesenbergia ด้วยเหตุผลด้านชีวโมเลกุล อนึ่งสกุล Monolophus ได้รวมเอาพืชสกุล Caulokaempferia และสกุล Jirawongsea บางชนิดมาอยู่ในสกุลนี้ และมีหลายชนิดถูกรวมให้เป็นชนิดเดียวกัน
ชื่อสกุล Monolophus หมายถึง สันอับเรณูเป็นแผ่นเดียว และไร้ก้านหรือมีก้านสั้นมาก
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณโรงเรียนการเมืองการทหาร
เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย
มง/แมลง
รายชื่อแมง/แมลงที่บันทึกภาพได้ มีทั้งหมด 25 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่
1. แมงโหย่ง
ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมขายาว , แมงย่องแย่ง
แมงโหย่ง
แมงโหย่ง มีชื่อสามัญว่า Harvestmen อยู่ในอันดับ Opiliones เนื่องด้วยหากมองผิวเผิน แมงโหย่งมีรูปร่างลักษณะและมีขาเดิน 8 ขา คล้ายสัตว์กลุ่มแมงมุม(spiders) ในอันดับ Araneae จึงไม่น่าแปลกที่สัตว์กลุ่มนี้จะถูกเข้าใจว่าเป็นแมงมุม ประกอบกับเป็นกลุ่มสัตว์ที่ส่วนใหญ่หลบซ่อนตัว และไม่ได้พบตามบ้านเรือนทั่วไป จึงยิ่งไม่เป็นที่รู้จัก
แมงโหย่งมีความหลากหลายทางชนิดมากเป็นอันดับ3ในกลุ่มแมง ปัจจุบันทั่วโลกพบประมาณ 6,000 ชนิด รองจากกลุ่มไร(มี 48,000 ชนิด) และแมงมุม(มี 39,000 ชนิด)
ชื่ออันดับ Opiliones ถูกตั้งขึ้นโดยนักสัตววิทยาชาวสวีเดน ชื่อ Karl J. Sundevall ในปี ค.ศ.1833 ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำภาษาละตินว่า“opilio” หมายถึง“คนเลี้ยงแกะ” เนื่องจากแมงโหย่งส่วนใหญ่มีลำตัวเล็กและมีขายาว คนสมัยนั้นจึงมองว่ามีลักษณะคล้ายกับคนเลี้ยงแกะชาวยุโรปสมัยก่อน ที่มักใช้ไม้ต่อเป็นอุปกรณ์เรียกว่า“Stilts” ใช้เดิน เพื่อต่อให้ตัวสูงขึ้นเพื่อความสะดวกในการนับแกะในฝูงขณะนำออกเลี้ยงในทุ่งกว้าง นอกจากนี้บางท้องที่ในยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษ ยังเรียกแมงโหย่งว่า“shepherd spiders” ซึ่งเชื่อว่าทุ่งหญ้าใดที่พบแมงโหย่งถือเป็นทุ่งหญ้าที่ดีสำหรับการเลี้ยงแกะด้วย ส่วนคำว่า Harvestmen หมายถึง“ชาวไร่ชาวนา” มีที่มาจากแมงโหย่งมักพบเป็นจำนวนมากในฤดูเก็บเกี่ยว ข้อเท็จจริงก็คือในฤดูเก็บเกี่ยว มีการรื้อไถเพื่อเก็บผลผลิตทางการเกษตร จึงไปรบกวนและทำลายแหล่งหลบซ่อนของแมงโหย่ง ทำให้พบเจอเป็นจำนวนมากนั่นเอง ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งเชื่อว่า ชื่อ Harvestmen นั้น มาจากพฤติกรรมของแมงโหย่งที่มักชูขาเดินคู่หน้าสุดขึ้นลงขณะเคลื่อนที่ ซึ่งปลายขานี้จะงอโค้ง จึงดูเหมือนชาวนาที่ถือเคียวโบกสะบัดไปมาขณะเก็บเกี่ยวพืชนั่นเอง ส่วนชื่อไทยคำว่า“แมงโหย่ง” ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้บัญญัติ และเกิดขึ้นเมื่อใด แต่คำนี้น่าจะมีที่มาจากพฤติกรรมการโหย่งตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว(bobbing)เมื่อถูกรบกวน เพื่อให้ผู้ล่าสับสนถึงตำแหน่งที่แท้จริงของลำตัว
แมงโหย่ง
สำหรับแมงโหย่งในเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ย่อย GAGRELLINAE วงศ์ SCLEROSOMATIDAE
หากมองเพียงผิวเผิน แมงโหย่งอาจมองดูคล้ายกับแมงมุม แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าแมงโหย่งนั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากแมงมุมถึง 5 ประการ ได้แก่
ประการที่1 เห็นได้ชัดเจน คือ ลำตัวของแมงโหย่ง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัวรวมอก(cephalothorax or prosoma) และส่วนท้อง(abdomen or opisthosoma) จะเชื่อมติดกันเหมือนเป็นส่วนเดียวกัน ซึ่งต่างจากแมงมุมที่2ส่วนดังกล่าวนี้จะถูกเชื่อมด้วยส่วนคอดแคบๆที่เรียกว่า“pedicel” พูดง่ายๆคือแมงโหย่งไม่มีเอวเหมือนแมงมุมนั่นเอง
ประการที่2 ตาของแมงโหย่งมีเพียง1คู่(หรือ2ตา) ซึ่งบางกลุ่มอาจมีจุดตารับแสงเล็กๆอยู่ แต่มองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนกลุ่มแมงมุมจะมีตาจำนวน 6-8 ตา(หรืออาจไม่มีเลยในบางกลุ่ม) เรียงเป็นกลุ่มหรือเป็นแถว
ประการที่3 แมงโหย่งไม่มีอวัยวะที่ใช้สำหรับสร้างใย(Silk Gland) เหมือนในแมงมุม จึงสร้างใยไม่ได้
ประการที่4 แมงโหย่งมีอวัยวะที่สร้างสารเคมีที่มีกลิ่นเหม็น เรียกว่า“ozopores” ใช้ในการป้องกันตัวและติดต่อสื่อสาร ซึ่งไม่พบในแมงมุม
ประการสุดท้าย คือ แมงโหย่งไม่มีต่อมพิษ(Venom Gland) และเขี้ยว(Cheliceral)ไม่แหลมกลวงเหมือนแมงมุม แต่เปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะคล้ายก้ามหนีบ เพื่อใช้ฉีกอาหารเข้าปาก ซึ่งอวัยวะนี้มีขนาดเล็ก ทู่ ปลายตัน แมงโหย่งจึงไม่สามารถกัดทะลุผิวหนังคนได้ และไม่มีพิษ กล่าวได้ว่าแมงโหย่งไม่มีพิษมีภัยต่อมนุษย์เลยก็ว่าได้
แมงโหย่ง
เรื่องพิษนี้ก็มีเกร็ดความเชื่อผิดๆเป็นเรื่องเล่าในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเชื่อว่าแมงโหย่งนั้นมีพิษรุนแรง ที่มาของเรื่องเล่านี้ก็คือ แมงโหย่งนั้นในบางท้องที่ถูกเรียกว่า“Daddy Longlegs” ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใช้เรียกแมงมุมขายาวในวงศ์ PHOLCIDAE โดยเฉพาะแมงมุมสกุล Pholcus ซึ่งมีขายาวและชอบโหย่งตัวขึ้น-ลงเวลาถูกรบกวนคล้ายแมงโหย่ง ทำให้มีความสับสนและเข้าใจว่าแมงโหย่งเป็นกลุ่มเดียวกับแมงมุมขายาววงศ์นี้ ซึ่งในธรรมชาติกลุ่มแมงมุมขายาววงศ์ PHOLCIDAE เป็นผู้ล่าของแมงมุมแม่ม่าย ซึ่งถือว่ามีพิษรุนแรง จึงอนุมานกันว่าแมงมุมขายาวน่าจะมีพิษรุนแรงกว่าแมงมุมแม่ม่าย ดังนั้นแมงโหย่งซึ่งลักษณะคล้ายแมงมุมขายาวจึงถูกเข้าใจว่ามีพิษรุนแรงไปด้วย ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้วแมงมุมขายาวและแมงโหย่งไม่สามารถกัดมนุษย์ได้ รวมถึงไม่มีพิษที่เป็นอันตราย นิทานความเชื่อเรื่องพิษก็เป็นด้วยประการฉะนี้
แมงโหย่งมีลักษณะเด่นที่ขาที่ยาวมากเมื่อเทียบกับขนาดตัว แต่บางชนิดก็มีขาสั้น แม้มันจะดูคล้ายแมงมุม แต่เราก็สามารถสังเกตได้จากการที่ส่วน cephalothorax กับ abdomen จะต่อกันตลอดแนว จนดูเหมือนมันเป็นก้อนเดียวกัน และมีตา1คู่..บนหลัง ดูน่ารัก ส่วนใหญ่มีขนาดตัวไม่เกิน 0.7 ซม. นอกจากมีต่อมสร้างกลิ่นที่สามารถใช้ในการไล่แมลงอื่นแล้ว ขาที่หลุดออกของแมงโหย่งสามารถขยับได้(แบบหางจิ้งจก) ทำให้ผู้ล่าหันไปสนใจได้ ขณะที่มันหนี
แมงโหย่งออกหากินกลางคืน ส่วนใหญ่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร เช่น แมลงเล็กๆ ส่วนประกอบของพืช รา กินซาก หรือแม้แต่อุจจาระสัตว์ ซึ่งถือว่าแปลกกว่าแมงอันดับอื่นๆที่มักกินเนื้อ ในขณะที่บางกลุ่มล่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร อวัยวะที่ใช้กินเรียกว่า“stomotheca” ซึ่งแตกต่างจากแมงชนิดอื่น เพราะไม่จำกัดอยู่กับของเหลว แต่สามารถกินเป็นชิ้นก็ได้ ตาของมันไม่ดีพอจะสร้างภาพขึ้นมา แต่รับรู้โดยใช้ขาคู่ที่2แทนหนวด ที่มีลักษณะยืดยาวมากกว่าขาคู่อื่น และมีอวัยวะรับสัมผัสอยู่ที่ส่วนปลาย เมื่อแมงโหย่งเคลื่อนที่จะใช้ขาคู่นี้ยื่นชี้ออกไปด้านหน้า เพื่อตรวจสอบลักษณะภูมิประเทศที่จะเคลื่อนที่ไป ใช้ในการรวมกลุ่ม ค้นหาเหยื่อ หรืออาหาร ในกลุ่มแมงโหย่งที่ล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร เช่น แมงโหย่งในวงศ์ EPEDANIDAE จะมีส่วน pedipalp หรือขาแปลง ซึ่งเป็นส่วนรยางค์ข้างปากขนาดใหญ่ และมีหนามแหลมจำนวนมาก ใช้ในการจับเหยื่อ แมงโหย่งจึงทำหน้าที่คล้ายแมงมุมในฐานะผู้ควบคุมแมลงขนาดเล็ก และฐานะผู้กินซากคล้ายสัตว์กินซาก ที่ช่วยย่อยสลายหมุนเวียนวัฏจักรอาหารในธรรมชาติ และไม่มีโทษต่อมนุษย์
แมงโหย่ง
การผสมพันธุ์ของแมงโหย่งเป็นลักษณะการจับคู่ตัวผู้ตัวเมีย มีลักษณะการจับคู่ที่หลากหลายตามแต่ชนิด โดยมีวงจรชีวิต 1 ปี
ถิ่นที่อยู่อาศัยของแมงโหย่งมีหลายรูปแบบ ทั้งในป่า และถ้ำ ซึ่งบางชนิดเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น
ปัจจุบันแมงโหย่งถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม(Suborders) ซึ่งทั้งหมดมีรายงานการพบในประเทศไทย ได้แก่
Suborder Cyphophthalmi ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่า 1 ซม. วงศ์ที่พบบ่อยในบ้านเรา คือ วงศ์ STYLOCELLIDAE ตัวอย่างได้แก่ สกุล Fangensis เป็นสกุลใหม่ที่พบครั้งแรกที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แมงโหย่งสกุลนี้พบอาศัยเฉพาะในถ้ำหรือบริเวณใกล้เคียง
Suborder Eupnoi เป็นกลุ่มเด่นในบ้านเราพบในป่าทั่วไปและบ้านเรือนใกล้ชายป่า วงศ์ที่พบบ่อย คือ วงศ์ SCLEROSOMATIDAE แมงโหย่งวงศ์นี้ส่วนใหญ่มีขายาว เช่น สกุล Gagrella และ Pseudogagrella
Suborder Dyspnoi แมงโหย่งกลุ่มนี้มีขนาดตัวเล็ก อาศัยอยู่ใต้เศษใบไม้ในป่าที่มีความชื้นสูง ได้แก่ วงศ์ NEMASTOMATIDAE ตัวอย่างไก้แก่ สกุล Dendrolasma มีขนาดตัวเล็ก บนลำตัวเต็มไปด้วยหนามขรุขระ
Suborder Laniatores เป็นกลุ่มแมงโหย่งที่ส่วนใหญ่มีขาสั้น เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายมากที่สุดในประเทศไทย ที่พบบ่อยได้แก่ วงศ์ ASSAMIIDAE, EPEDANIDAE, ONCOPODIDAE, PODOCTIDAE เป็นต้น
แมงโหย่ง
การรวมกลุ่มของแมงโหย่ง(Aggregations) ภาพที่มักเห็นจนชินตาหรือบ่อยครั้งที่ปรากฏในสื่อต่างๆ คือ ภาพที่แมงโหย่งนับร้อยนับพันตัวมารวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน หลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องผิดปกติและเป็นภาพที่แปลกตา แต่แท้จริงการรวมกลุ่มของแมงโหย่งจำนวนมากเป็นพฤติกรรมปกติของแมงโหย่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมพวกเขาต้องมาอยู่รวมกลุ่มกัน ซึ่งสามารถอธิบายสาเหตุการรวมกลุ่มของแมงโหย่งได้ 3 แนวทาง คือ
1. Defensive Hypothesis การรวมกลุ่มในแนวทางนี้เพื่อการป้องกันตัวจากผู้ล่า เมื่อแมงโหย่งตัวใดตัวหนึ่งถูกรบกวนจากผู้ล่า จะปล่อยสารเคมี ซึ่งเป็น Alarm Signal ออกจากอวัยวะ ozopores สารเคมีนี้มีกลิ่นเหม็นฉุน นอกจากจะทำหน้าที่ขับไล่ผู้ล่าในเบื้องต้นแล้ว ยังเป็นสัญญาณให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มจะทำให้ผู้ล่าเกิดความสับสน ลดโอกาสในการถูกล่าของสมาชิกแต่ละตัวภายในกลุ่ม นอกจากนี้การรวมกลุ่มยังทำให้สารเคมีที่ปล่อยออกมาในการป้องกันตัวมีกลิ่นแรงและมีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย
2. Mating – success- improvement hypothesis เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มโอกาสในการสืบพันธุ์ เนื่องจากแมงโหย่งมีเพศแยก เพศผู้และเพศเมียออกหากินเป็นอิสระ จึงมีโอกาสพบกันได้ยาก แต่เมื่อถึงวัยพร้อมผสมพันธุ์ แมงโหย่งจะใช้สารเคมีกลุ่มฟีโรโมนเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ซึ่งสามารถสร้างได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย สารเคมีนี้ทำให้แมงโหย่งที่พร้อมจะผสมพันธุ์มารวมกลุ่มอยู่ด้วยกันเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์นั่นเอง
3. Physiological hypothesis เป็นการรวมกลุ่มเพื่อปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม แนวทางนี้เป็นแนวทางที่เป็นสาเหตุในการรวมกลุ่มของแมงโหย่งบ่อยครั้งที่สุด เนื่องด้วยแมงโหย่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีพื้นที่ผิวต่อปริมาตรลำตัวสูง และมีขายาวจำนวนมาก จึงมีพื้นที่ผิวที่สูญเสียน้ำออกจากตัวสู่สิ่งแวดล้อมมาก ทำให้สูญเสียน้ำออกจากตัวได้ง่าย แมงโหย่งจึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ(ซึ่งอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำจะอุ้มน้ำได้น้อยกว่าอากาศที่มีอุณหภูมิสูง) หรือพื้นที่ที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง เช่น ในถ้ำ ใต้ขอนไม้ รู โพรง บริเวณใกล้ลำธารหรือน้ำตก เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียน้ำออกจากตัว แต่ในฤดูแล้งหรือเมื่ออยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว แมงโหย่งจะรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น การรวมกลุ่มจะทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมลดลง เพราะถูกล้อมรอบด้วยแมงโหย่งตัวอื่นๆ ความชื้นที่ออกจากตัวของแมงโหย่งแต่ละตัวจะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในกลุ่มเพิ่มสูงขึ้น และเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Diffusion Shell คือ อากาศรอบตัวจะนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนที่ ทำให้อัตราการสูญเสียน้ำออกจากตัวแมงโหย่งลดน้อยลง นอกจากนี้เมื่อการรวมกลุ่มอย่างหนาแน่น ทำให้อัตราการสูญเสียน้ำลดลง แมงโหย่งจึงมีอัตราเมทาบอลิซึมลดลง เนื่องจากไม่ต้องใช้พลังงานในการรักษาสมดุลเกลือแร่ที่จะสูงขึ้นเมื่อขาดน้ำ รวมทั้งไม่ต้องออกเดินเสาะหาสถานที่หลบอาศัยที่เหมาะสม ส่งผลให้สามารถอดน้ำและอาหารได้เป็นระยะเวลานานในสภาวะที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการรวมกลุ่มของแมงโหย่งจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติ อันเป็นการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง
แมงโหย่ง
ปัจจุบันแมงโหย่งหลายชนิดอยู่ในสถานะถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเกิดจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์ เช่น การทำลายพื้นที่ป่า และ การปรับสภาพถ้ำเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตามแมงโหย่งเป็นแมงที่ได้รับการศึกษาน้อยมาก
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณดงสนใกล้บ้านพัก
2. ตั๊กแตนหนวดสั้นปลายขาว
ชื่อสามัญ : Silent Slant-faced Grasshopper ; White-tipped Antenna Grasshopper
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phlaeoba antennata Brunner von Wattenwyl, 1893
วงศ์ย่อย : ACRIDINAE
วงศ์ : ACRIDIDAE
ตั๊กแตนหนวดสั้นปลายขาว Phlaeoba antennata Brunner von Wattenwyl, 1893
ขนาด 2.5-3.5 ซม. หนวดสีดำ ปลายหนวดสีขาว ขณะเกาะนั้นปีกจะยาวเกินส่วนท้อง
ตัวผู้มีส่วนหัว อก และท้องสีเขียว ขาคู่หลังสีน้ำตาลออกเหลือง ส่วนตัวเมียมีสีน้ำตาลทั้งตัว
มักเกาะตามพุ่มไม้เตี้ยๆ บางครั้งพบกินซากแมลง
มีด้วยกัน 2 ชนิดย่อย คือ P. antennata subsp. antennata Brunner von Wattenwyl, 1893 และ P. antennata subsp. malayensis I.Bolívar, 1914
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าละเมาะและป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณรอบๆบ้านพัก
ตั๊กแตนหนวดสั้นปลายขาว Phlaeoba antennata Brunner von Wattenwyl, 1893
แพร่กระจายในอินเดีย จีน ฮ่องกง เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
3. Phlaeoba sp.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phlaeoba sp.
วงศ์ย่อย : ACRIDINAE
วงศ์ : ACRIDIDAE
วัยอ่อนของ Phlaeoba sp.
ยังไม่รู้ชนิด คงรู้แต่ว่าเป็นตัวอ่อนของตั๊กแตนหนวดสั้นในสกุลนี้ ซึ่งสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 23 ชนิด
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
4. แมงมุมใยกลม(ไม่รู้ชนิด)
ชื่อสามัญ : Spotted Orbweavers
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neoscona sp.
วงศ์ : ARANEIDAE
แมงมุมใยกลม สกุล Neoscona sp. ด้านหลัง
แมงมุมใยกลม สกุล Neoscona sp. ด้านท้อง
เป็นแมงมุมใยกลมชนิดหนึ่ง เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ลำตัวสีน้ำตาลแกมดำ ท้องสีน้ำตาล ขามีสีเหลืองส้มสลับสีดำ และมีหนามกระจายทั่วไป ชักใยเป็นรูปกลมไว้ดักรอเหยื่อเพื่อกินเป็นอาหาร
สกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 103 ชนิด
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
5. จักจั่น(ไม่ทราบสกุลและชนิด)
วงศ์ : CICADIDAE
จักจั่น
จักจั่น
ยังไม่รู้สกุลและชนิดของจักจั่นชนิดนี้ พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณบ้านพัก
ทั่วโลกมีรายงานการพบจักจั่นประมาณ 2,500 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบ(ประมาณ 36 สกุล)อย่างน้อย 152 ชนิด
6. แมลงปอเสือลายประดับ
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอเสือธรรมดา
ชื่อสามัญ : Common Clubtail ; Common Flangetail
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ictinogomphus decoratus Selys, 1854
วงศ์ : GOMPHIDAE
แมลงปอเสือลายประดับ ตัวผู้ Ictinogomphus decoratus Selys, 1854
เป็นแมลงปอเสือขนาดใหญ่ที่พบได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่ง ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 3.4-3.7 ซม. ส่วนท้องยาว 4.4-4.6 ซม. ตัวสีดำและคาดด้วยสีเหลืองตลอดทั้งตัว หน้าผากสีเหลืองตาสีเขียวหรือสีฟ้า ท้องสีดำและมีจุดสีเหลือง ท้องปล้องที่8-9มีแถบสีเหลืองที่ไม่เชื่อมติดกัน รยางค์ปลายท้องยาวแหลม ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน แต่รยางค์ปลายท้องตัวเมียจะสั้นกว่าชัดเจน
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 3 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้มี 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ I. decoratus melaenops Selys, 1854 พบได้ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและลำธาร ทั่วทุกภาค ตลอดทั้งปี
แมลงปอเสือลายประดับ ตัวผู้ Ictinogomphus decoratus Selys, 1854
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว ตามริมลำน้ำใกล้ลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน
7. จิ้งหรีด(ไม่รู้ชนิด)
วงศ์ย่อย : GRYLLINAE
วงศ์ : GRYLLIDAE
จิ้งหรีด
ยังไม่รู้ชนิดที่แน่นอน แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็น Velarifictorus (Pseudocoiblemmus) bilobus Tan, Dawwrueng & Artchawakom, 2015
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณบ้านพัก
8. แมงมุมสองหาง(ไม่รู้ชนิด)
ชื่อสามัญ : Common Two-Tailed Spider ; Long Spinnered Bark Spiders ; Two-tailed Spiders ; Tree Trunk Spiders
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hersilia sp.
วงศ์ : HERSILIIDAE
แมงมุมสองหาง สกุล Hersilia sp.
ยังไม่รู้ชนิด ส่วนหัว อก ท้อง และขามีสีน้ำตาล มีลายขีดสีจางกว่ากระจายอยู่ทั่วตัว ส่วนที่ขามีลายแถบสีน้ำตาลเข้มอยู่ทั่วขา
ชอบเกาะนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งกลืนสีกับเปลือกต้นไม้และเสาไม้ในบ้าน เพื่อคอยดักจับแมลงอื่นเป็นอาหาร
แมงมุมสองหาง สกุล Hersilia sp.
สกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 78 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบประมาณ 8 ชนิด ตัวผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็น Hersilia asiatica Song & Zheng, 1982 เพศเมียมีขนาดลำตัวยาวราว 10 ซม. ส่วนเพศผู้มีขนาดลำตัวยาวราว 8 ซม. ในเมืองไทยพบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,300 เมตร ตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ ลงไปจนถึง จ.นครศรีธรรมราช
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณดงสนใกล้บ้านพัก
แพร่กระจายในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย ลาว และกัมพูชา
9. แมลงปอบ้านสีตะกั่วขนขาว
ชื่อสามัญ : Emerald-Flanked Marsh Hawk
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brachydiplax farinosa Kruger, 1902
วงศ์ : LIBELLULIDAE
ตัวผู้ Brachydiplax farinosa Kruger, 1902
เป็นแมลงปอบ้านขนาดกลาง ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 2.2-2.6 ซม. ส่วนท้องยาว 1.7-1.9 ซม. มีเส้นขวางปีก(antenodal crossveins)ในปีกหน้า 8-9 เส้น
ตัวผู้นั้นอกมีสีเหลือบเขียวเข้ม แต่ปกคลุมด้วยขนและผงสีขาว จึงดูเป็นสีฟ้าอมเทา โคนท้องจนถึงปล้องท้องปล้องที่5 มีสีฟ้าแกมขาว ส่วนปล้องท้องที่เหลือมีสีดำ ปีกใสทั้งปีก ส่วนตัวเมียมีปล้องท้องตอนปลายสีเหลืองลายดำ
(รูป107 ใส่คำพูดใต้รูปว่า..แมลงปอบ้านสีตะกั่วขนขาว ตัวผู้ Brachydiplax farinosa Kruger, 1902)
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามลำธาร หรือแหล่งน้ำใกล้ป่าหรือหุบเขา ทั่วทุกภาค โดยพบตลอดปี
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณริมลำน้ำใกล้ลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน
10. แมลงปอบ้านเสือฟ้าหน้าดำ
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านเสือแถบขาวคู่ , แมลงปอบ้านเสืออกขาวคู่
ชื่อสามัญ : Common Blue Skimmer
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthetrum glaucum Brauer, 1865
วงศ์ : LIBELLULIDAE
ตัวผู้ Orthetrum glaucum Brauer, 1865
เป็นแมลงปอขนาดกลาง ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 3.2-3.7 ซม. มีลักษณะคล้ายคลึงกับแมลงปอบ้านเสือฟ้าหน้าขาว(O. luzonicum) แต่แตกต่างกันที่ชนิดนี้ตัวผู้มีใบหน้าสีดำ ตาสีฟ้าเข้ม อกสีเทาเข้ม ท้องสีฟ้า โคนท้องไม่คอดเว้า ปลายท้องสีฟ้าเข้ม และปีกใส
ส่วนตัวเมียมีอกและท้องสีน้ำตาลเข้มสลับแถบสีเหลืองอ่อน ปีกใส เมื่ออายุมากขึ้น ท้องจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้า
แมลงปอบ้านเสือฟ้าหน้าดำ ตัวผู้ Orthetrum glaucum Brauer, 1865
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 55 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามแหล่งน้ำจืดตามป่าละเมาะ ป่าโปร่ง และป่าดิบ ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณริมลำน้ำใกล้ลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน
11. แมลงปอบ้านสี่ปีกแต้มเหลือง
ชื่อสามัญ : Blue-eyed Dwarf ; Pigmy Skimmer
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetrathemis platyptera Seiys, 1878
วงศ์ : LIBELLULIDAE
แมลงปอบ้านสี่ปีกแต้มเหลือง ตัวผู้ Tetrathemis platyptera Seiys, 1878
เป็นแมลงปอบ้านขนาดเล็ก ตัวผู้มีขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 1.8-2.1 ซม. ส่วนท้องยาว 1.5-1.8 ซม. ส่วนตัวเมียมีขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 1.9-2.4 ซม. ส่วนท้องยาว 1.4-1.6 ซม.
ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน อกสีเขียวสะท้อนแสง มีแถบสีเหลืองคาดด้านข้าง ตาสีเขียวเหลือบฟ้า ท้องสีดำและมีลายสีเหลืองเป็นจุดขนาดใหญ่เรียงไปหาเล็กในแต่ละปล้อง ปีกใส โคนปีกสีเหลือง
แมลงปอบ้านสี่ปีกแต้มเหลือง ตัวเมียวัยเด็ก Tetrathemis platyptera Seiys, 1878
ตัวเมียวางไข่ติดกับกิ่งไม้บนบกเหนือน้ำ
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในไทยพบเพียง 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามริมลำน้ำ ทั่วทุกภาค ตลอดทั้งปี
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณริมลำน้ำใกล้ลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย
12. แมลงปอบ้านไตรมิตรสีชมพู
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านแดงเหลืองเล็ก , แมลงบ้านไตรมิตรผู้ม่วง , แมลงปอบ้านใต้ผู้ม่วง
ชื่อสามัญ : Crimson Dropwing ; Red Top Skimmer
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trithemis aurora Burmeister, 1839
วงศ์ : LIBELLULIDAE
แมลงปอบ้านไตรมิตรสีชมพู ตัวผู้ Trithemis aurora Burmeister, 1839
เป็นแมลงปอบ้านขนาดเล็ก ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 2.4-3.4 ซม. ตาสีแดงสด ตัวผู้วัยอ่อนมีอกและท้องมีสีเหลืองเหมือนตัวเมีย เมื่อมีอายุมากจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมชมพูหรือสีชมพูอมม่วง อกมีลายเส้นสีดำคาด ท้องสีชมพูอมม่วง โคนปีกทั้งสองคู่มีสีเหลืองหรือสีแดง ปีกใส เส้นปีกสีชมพู มุมปลายปีกมีแต้มสีดำ ส่วนตัวเมียมีอกและท้องสีเหลือง อกมีลายเส้นสีเข้มคาด ท้องมีสีเหลืองสลับสีดำ โคนปีกมีสีน้ำตาลอ่อน
ขณะเกาะมักยกส่วนปลายท้องชี้ขึ้นสูง
แมลงปอบ้านไตรมิตรสีชมพู ตัวผู้อายุน้อย Trithemis aurora Burmeister, 1839
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 47 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามลำธารที่มีน้ำไหลในพื้นที่เปิดโล่ง ป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค โดยพบได้ตลอดปี
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณริมลำน้ำใกล้ลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และติมอร์-เลสเต
13. แมงมุมใยทองลายขนาน
ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมต้นไม้ยักษ์ , แมงมุมทรงกระบอกสีทอง
ชื่อสามัญ : Giant Golden Orb-weaving Spider , Giant Long-jawed Orb-weaver , Giant Wood Spiders , The Golden Web Spider
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nephila pilipes Fabricius, 1793
วงศ์ : NEPHILIDAE
แมงมุมใยทองลายขนาน ตัวเมีย Nephila pilipes Fabricius, 1793
เพศผู้มีขนาด 0.6-0.9 ซม. ส่วนเพศเมียมีขนาด 4-5 ซม. ลักษณะเด่น คือ เพศเมียมีหัวและอกสีเทาอมน้ำตาลเข้ม และมีขนสีขาวปกคลุม ท้องเป็นรูปทรงกระบอกยาว สีดำ และมีลายขีดสีเหลืองขนาดใหญ่ 2 ขีด ขนานอยู่ตรงกลางตามความยาวของท้อง ขาทั้ง8ขาไม่มีขน
ชอบชักใยขนาดใหญ่ตามแนวดิ่งระหว่างไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่ม มักเกาะตรงกลางของใย เมื่อถูกรบกวนจะไต่ไปตามใยและหลบในใบไม้หรือพุ่มไม้
แมงมุมใยทองลายขนาน ตัวเมีย Nephila pilipes Fabricius, 1793
พบตามสวนผลไม้ สวนยางพารา สวนป่า และป่าทุกประเภท ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลียตอนเหนือ
14. ผีเสื้อลายเสือฟ้าสีคล้ำ
ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าสีคล้ำ
ชื่อสามัญ : Dark Blue Glassy Tiger
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ideopsis vulgaris Butler, 1874
วงศ์ย่อย : DANAINAE
วงศ์ : NYMPHALIDAE
ผีเสื้อลายเสือฟ้าสีคล้ำ Ideopsis vulgaris Butler, 1874
มีขนาด 7-10 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลวดลายคล้ายผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าใหญ่(Dark Blue Tiger) แต่สีพื้นปีกเป็นสีน้ำตาล-น้ำเงิน และมีแถบสีขาว-ฟ้าที่มีขนาดกว้างกว่า ภายในเซลปีกคู่หน้ามีเส้นสีขาวอมฟ้าเช่นเดียวกับผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าใหญ่ แต่ลวดลายปลายเซลปีกต่อเชื่อมด้วยเส้นสีฟ้าบางๆของขอบเซล ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณบ้านพัก
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 8-10 ชนิด สำหรับชนิดนี้ มักพบตามพื้นที่โล่งในป่าโปร่ง และป่าชายเลน ทั่วทุกภาค
ผีเสื้อลายเสือฟ้าสีคล้ำ Ideopsis vulgaris Butler, 1874
ชนิดนี้ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่ I. vulgaris contigua Talbot, 1939 พบในไทยเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในจีน และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) อีกชนิดหนึ่ง คือ I. vulgaris macrina Fruhstorfer, 1904 พบในไทยเฉพาะภาตใต้ แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
15. ผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง
ชื่อสามัญ : Common Bushbrown
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycalesis perseus Fabricius, 1775
วงศ์ย่อย : SATYRINAE
วงศ์ : NYMPHALIDAE
ผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง Mycalesis perseus Fabricius, 1775
ขนาด(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) 3.5-4.5 ซม.
ปีกด้านบน(หรือหลังปีก) : พื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดวงกลมและสีดำที่กลางปีกคู่หน้า 1 จุด
ปีกด้านล่าง(หรือท้องปีก) : พื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดเรียงกันตามขอบปีกด้านข้างที่ปีกคู่หน้า 4 จุด ปีกคู่หลัง 7 จุด ถัดจากจุดเข้ามาบริเวณกลางปีกมีเส้นสีขาวพาดยาวต่อเนื่องกันบนปีกทั้งสองคู่
พบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
16. แมงมุมแมวป่า(ไม่รู้ชนิด)
ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมตาหกเหลี่ยม
ชื่อสามัญ : Lynx Spiders
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oxyopes sp.
วงศ์ : OXYOPIDAE
แมงมุมแมวป่า สกุล Oxyopes sp.
ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของแมงมุมนี้มากนัก เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ เท่าที่สังเกตคงรู้ว่าส่วนหัว อก และขามีสีเหลืองสะท้อนแสง ปลายท้องแหลม ขามีหนามยาวกระจายทั่วไป เป็นตัวห้ำที่กินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร มีนิสัยว่องไว สามารถกระโดดตะครุบจับเหยื่อได้ เมื่อถูกรบกวนจะวิ่งได้อย่างรวดเร็วและกระโดดหลบไปตามใต้ใบไม้ที่มีอยู่หนาแน่น
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
17. ผีเสื้อหางติ่งมหาเทพ
ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อเชิงลายมหาเทพสยาม
ชื่อสามัญ : Siamese Raven
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio castor Westwood, 1842
วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE
วงศ์ : PAPILIONIDAE
ผีเสื้อหางติ่งมหาเทพ Papilio castor Westwood, 1842
ในช่วงแรกๆของการศึกษาผีเสื้อ นักกีฏวิทยาเรียกผีเสื้อชนิดนี้ว่า“ผีเสื้อเชิงลายมหาเทพ” เพราะเดิมผีเสื้อชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในสกุลผีเสื้อเชิงลาย(Chilasa) แต่ปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ในสกุลผีเสื้อหางติ่ง(Papilio)
เป็นผีเสื้อกลุ่มหางติ่งที่ไม่มีติ่งหาง มีขนาด 7.5-11 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มีลักษณะคล้ายผีเสื้อในสกุลจรกา(Euploea) แต่ต่างกันที่ส่วนอกของผีเสื้อชนิดนี้ไม่มีแต้มจุดดำขาว ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลดำเหลือบสีทอง กลางปีกคู่หน้ามีจุดสีขาวเล็กๆ1จุด ปีกคู่หลังมีแต้มสีขาวครีมเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง โดยในตัวผู้จะเห็นแต้มสีขาวครีมเด่นชัด แต่ในตัวเมียจะสีจางกว่ามาก ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีดำ ไม่มีเหลือบสีทอง
หนวดและตาสีดำ จากปลายหนวดถึงส่วนหัวยาวราว 1.8 ซม. ลำตัวและท้องสีดำ จากหัวถึงปลายส่วนท้องยาวราว 2.4 ซม. ปีกคู่บนมีจุดสีขาวเรียงตามขอบปีกด้านข้าง
มักพบหากินตามพื้นที่แฉะ บางครั้งพบเกาะกินน้ำจากเสื้อผ้าเปียกชื้นด้วยเหงื่อของนักท่องเที่ยวที่ตากไว้
ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 215 ชนิด สำหรับชนิดนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ P. castor mahadeva Moore, 1879 พบตามริมลำน้ำในป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่มีระดับความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 500 เมตร ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในเมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
สำหรับชื่อวิทยฯของผีเสื้อชนิดนี้ บางตำราระบุว่า คือ Papilio mahadeva Moore, 1879 บางตำราก็ระบุว่าสกุลนี้มีสกุลย่อย มีชื่อวิทยฯว่า Papilio(Princeps) mahadeva Moore, 1879
18. ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน
ชื่อสามัญ : Red Helen
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio helenus Linnaeus, 1758
วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE
วงศ์ : PAPILIONIDAE
ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน Papilio helenus Linnaeus, 1758
มีขนาด 11.5-13 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อหางติ่งชะอ้อน ชนิดย่อย chaon Westwood, 1845 คือมีพื้นปีกสีดำ แต่ปีกคู่หลังของชนิดนี้มีแต้มสีแดงเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง มีแถบสีขาวบริเวณกลางปีก3แถบ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวคล้ายหาง ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน
บินได้ว่องไวมาก โดยมักชอบบินในระดับสูงไม่เกิน 3 เมตร
วงจรชีวิตระยะไข่ 4 วัน ระยะหนอน 26 วัน และระยะดักแด้ 19 วัน
ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน Papilio helenus Linnaeus, 1758
ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ P. helenus helenus Linnaeus, 1758
พบตามริมลำน้ำในป่าดิบ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
19. ผีเสื้อเณรธรรมดา
ชื่อสามัญ : Common Grass Yellow
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema hecabe Linnaeus, 1758
วงศ์ย่อย : COLIADINAE
วงศ์ : PIERIDAE
ผีเสื้อเณรธรรมดา Eurema hecabe Linnaeus, 1758
มีขนาด 4-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ผีเสื้อกลุ่มนี้จำแนกชนิดได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีสีออกไปทางสีเหลือง และปีกล่างไม่มีลวดลายใดๆ แต่ละชนิดมีสีสันที่คล้ายกัน นอกจาจะใช้สีดำที่บริเวณขอบปีกบนเป็นจุดสังเกตแล้ว จุดแต้มสีน้ำตาลเล็กๆที่กระจายอยู่บนแผ่นปีกล่างก็มีส่วนช่วยในการแยกแต่ละชนิด
ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลือง ขอบปีกสีดำ บริเวณสีดำที่ต่อกับสีเหลืองนั้นในปีกคู่หน้าจะหยักเว้าแตกต่างจากปีกคู่หลัง
ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน เห็นสีดำจางๆของปีกบน มีจุดสีน้ำตาลเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป
ระยะหนอนกินใบของพืชสกุล Cassia และสกุล Senna เป็นอาหาร
ผีเสื้อเณรธรรมดา Eurema hecabe Linnaeus, 1758
ทั่วโลกพบ 16 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย hecabe Linnaeus, 1758
พบได้ตามชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา
20. ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา
ชื่อสามัญ : Common Wanderer
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pareronia anais Lesson, 1837
วงศ์ย่อย : PIERINAE
วงศ์ : PIERIDAE
ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา ตัวเมีย Pareronia anais Lesson, 1837
ขนาด(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) 6.5-8 ซม.
ปีกด้านบนของทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีน้ำตาลดำ มีแถบสีฟ้าสดใสในช่องระหว่างเส้นปีก เพศผู้มีลักษณะคล้ายผีเสื้อฟ้าเมียเลียนมลายู แต่ต่างกันที่มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้าในเพศผู้จะมีจุดสีฟ้า
ส่วนเพศเมียมีลวดลายสีขาวคล้ายผีเสื้อหนอนใบรักสกุล Parantica จึงเป็นที่มาของชื่อ“ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา” ต่างกันที่ชนิดนี้มีแถบสีฟ้าอ่อนเกือบขาวบริเวณกลางปีก ชนิดย่อย lutea จะมีแถบสีเหลืองอ่อน มีขอบปีกและเส้นปีกสีดำหนา
ปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า
ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา ตัวเมีย Pareronia anais Lesson, 1837
เป็นผีเสื้อที่มีความว่องไว โดยเฉพาะเพศผู้ มักพบดูดน้ำหวานจากดอกไม้ พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ริมลำห้วย ป่าละเมาะ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
21. แมลงปอเข็มยาวปลายเด่น
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอเข็มขาแบนลายเหลือง , แมลงปอเข็มหางยาวขาหนาม
ชื่อสามัญ : Spiny-legged Sprites ; Yellow Bush Dart ; Yellow Featherlegs
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Copera marginipes Rambur, 1842
วงศ์ : PLATYCNEMIDIDAE
แมลงปอเข็มยาวปลายเด่น ตัวผู้ Copera marginipes Rambur, 1842
เป็นแมลงปอเข็มขนาดกลางที่หาพบได้ง่ายที่สุดในสกุลนี้ ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 1.7-1.9 ซม. ส่วนท้องยาว 2.8-3.3 ซม. ตัวผู้มีการเปลี่ยนแปลงของสีตามอายุที่มากขึ้น เริ่มจากลอกคราบออกมา อกจะมีสีขาวลายดำทั้งตัว มักเรียกว่า“ghost form” เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ก่อนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสลับแถบสีดำในช่วงที่โตเต็มที่ โดยส่วนอกจะเปลี่ยนสีก่อนส่วนท้อง ซึ่งท้องเปลี่ยนเป็นสีดำ ด้านบนของปลายท้องสามปล้องสุดท้ายจะมีแต้มสีขาวด้านบน รยางค์สีขาว รยางค์ปลายท้องคู่บนสั้น ส่วนรยางค์ปลายท้องคู่ล่างยาวกว่าและโค้งงอเข้าหากัน ปลายรยางค์ทู่ ปีกใส ขาสีเหลือง แข้งแผ่แบนออก ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่สีซีดกว่า และมีการไล่ระดับสีตามช่วงอายุเช่นเดียวกับตัวผู้ ปลายท้องสองปล้องสุดท้ายมีแต้มสีขาว
แมลงปอเข็มยาวปลายเด่น ตัวผู้ Copera marginipes Rambur, 1842
สกุลนี้ทั่วโลกพบ 10 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามลำธารของทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค โดยพบได้ตลอดทั้งปี
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
22. แมลงปอเข็มท้องเข็มดำ
ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอเข็มเรียวดำ , แมลงปอเข็มหางเข็มดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prodasineura autumnalis Fraser, 1922
วงศ์ : PROTONEURIDAE
แมลงปอเข็มท้องเข็มดำ ตัวผู้ Prodasineura autumnalis Fraser, 1922
เป็นแมลงปอเข็มขนาดเล็ก เพศผู้มีส่วนท้องยาว 3.1 ซม. ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลังยาว 1.9 ซม. ส่วนเพศเมียมีส่วนท้องยาว 3.1-3.4 ซม. ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลังยาว 2-2.3 ซม.
ตัวผู้มีลำตัวสีดำเกือบทั้งตัว ในตัวผู้ที่มีอายุน้อยจะมีแถบสีขาว สีเหลือง หรือสีส้ม พาดตามยาวข้างอก 1-2 แถบในแต่ละข้าง อกด้านล่างออกสีเทาขาวจนถึงสีขาว ท้องเล็กเรียวยาวสีดำ ขยายออกที่ส่วนปลายเล็กน้อย
ส่วนตัวเมียนั้น อกมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ มีแถบสีขาวหรือสีเขียวจางๆพาดที่อกด้านข้าง2แถบในแต่ละข้าง ท้องสีดำ มีลายข้างท้องและปลายท้องสีขาว
แมลงปอเข็มท้องเข็มดำ ตัวผู้ Prodasineura autumnalis Fraser, 1922
สกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 37-38 ชนิด ในไทยพบประมาณ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ทั่วไปทั้งในแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหลที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 500 เมตร ทั่วทุกภาค ตลอดทั้งปี
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน ฮ่องกง เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
23. มวนเพชฌฆาต(ตัวอ่อนระยะ4-5)
ชื่อสามัญ : Assasin Bug
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sycanus collaris Fabricius, 1781
วงศ์ย่อย : ECTRICHODIINAE
วงศ์ : REDUVIIDAE
มวนเพชฌฆาต ตัวอ่อนระยะ4-5 Sycanus collaris Fabricius, 1781
ตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 2-3 ซม. ตัวเมียมีขนาดลำตัว ท้อง และขาคู่หลังใหญ่กว่าตัวผู้ ลักษณะทั่วไปมีลำตัวสีดำ และแต้มด้วยสีเหลืองหรือสีแดง ลำตัวด้านบนแบนและโค้งมาทางด้านล่าง หัวแคบและยาว ส่วนท้ายของหัวแคบดูคล้ายคอ หนวดยาวแบบเส้นด้าย มี4ปล้อง ปากเป็นท่อยาวแบบเจาะดูด มี3ปล้อง โค้งงอสอดเข้าไปในร่องใต้แผ่นแข็งของอกปล้องแรก มีปีกบางๆตรงกลาง คลุมลำตัวไม่มิด โคนปีกสีน้ำตาลอมเหลือง กลางปีกมีแถบสีเหลืองปนน้ำตาล ปลายปีกบางใสสีดำ ส่วนท้องขยายใหญ่ออกด้านข้าง ข้างท้องมักมีจุดสีขาวเรียงกันตามความยาวท้อง ขาสีดำ โคนขาคู่หน้ามักขยายใหญ่
การผสมพันธุ์ เพศผู้จะขึ้นเกาะตัวเมียโดยใช้ปากกดหัวเพศเมีย พร้อมกับใช้ขาคู่หน้าลูบท้องเพศเมีย หากเพศเมียไม่พร้อมก็จะดิ้นหนี ช่วงการผสมพันธุ์ใช้เวลาประมาณ 45 นาที หลังผสมพันธุ์ประมาณ 13 -25 วัน เพศเมียจึงเริ่มวางไข่ตามใบไม้ กิ่งไม้ โดยวางไข่ได้ 1 -3 ครั้ง แต่ละครั้งระยะเวลาห่างกัน 10 -15 วัน ลักษณะไข่มีสีน้ำตาลปนส้มและมีเยื่อบางๆสีเหลืองยึดกลุ่มไข่ไว้เป็นก้อน จำนวน 50 -150 ฟอง ต่อ 1 กลุ่ม ไข่แต่ละฟองเป็นแท่งรูปยาวรี ต่อมาไข่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ราว 7 -27 วัน จึงจะฟักเป็นตัวอ่อน
ตัวอ่อนมีถึง5ระยะ ช่วงตัวอ่อนนั้นลำตัวมักมีสีแดงและหลังมีลายสีดำ
ตัวอ่อนระยะที่1 ดูคล้ายมดแดงแต่เคลื่อนที่ช้า ขนาดลำตัวยาว 0.6-0.9 ซม. ลำตัวสีส้ม ส่วนท้องมีแต้มสีดำ ขาคู่หลังยาว 0.2-0.3 ซม. กินน้ำเป็นอาหาร ใช้เวลา 10 – 15 วัน จึงลอกคราบ
ตัวอ่อนระยะที่2 มีลักษณะคล้ายวัยที่1 แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่า ยาว 1.3-1.5 ซม. ขาคู่หลังยาว 0.3-0.45 ซม. เคลื่อนที่ได้เร็ว ตั้งแต่ระยะนี้เป็นต้นไปเริ่มมีพฤติกรรมการห้ำกินของเหลวในตัวหนอน ใช้เวลา 10 – 20 วัน ในการลอกคราบ
ตัวอ่อนระยะที่3 มีลักษณะคล้ายวัยที่2 แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่า ยาว 2-2.35 ซม. เริ่มมองเห็นตุ่มปีกสีดำ ส่วนท้องมีแต้มสีดำ ขาทั้ง3คู่มีลายสีขาวสลับสีดำ ขาคู่หลังยาว 0.5-0.6 ซม. กินเหยื่อได้มากขึ้น ใช้เวลา 10 – 20 วัน เพื่อลอกคราบ
ตัวอ่อนระยะที่4 มีขนาดลำตัวใหญ่ขึ้น ยาว 2.5-2.6 ซม. เริ่มมีขอบของส่วนท้องด้านข้างยื่นขยายออกมาเหนือปีกเล็กน้อย ขาทั้ง3คู่มีลายสีเหลืองสลับสีดำ ขาคู่หลังยาว 0.5-0.6 ซม. สามารถกินเหยื่อเป็นอาหารได้มากกว่าวัยอื่นๆ ใช้เวลา 20 – 25 วัน เพื่อลอกคราบ
และตัวอ่อนระยะที่5 มีลักษณะคล้ายวัยที่4 แต่มีขนาดลำตัวใหญ่ขึ้น ยาว 3.3-4 ซม. เห็นตุ่มปีกได้ชัดเจนขึ้น ขอบของส่วนท้องด้านหน้ายื่นขยายออกมากขึ้นเหนือปีก ขาคู่หลังยาว 0.7-0.85 ซม. สามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วและว่องไว ใช้เวลา 20 – 25 วัน ลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยและพร้อมที่จะผสมพันธุ์
มวนเพชฌฆาต ตัวอ่อนระยะ4-5 Sycanus collaris Fabricius, 1781
ช่วงตัวเต็มวัยที่เพิ่งลอกคราบมาใหม่ๆ ลำตัวมีสีเหลืองจนถึงสีแดงสดปนดำ ปลายหนวดสีแดง โคนหนวดสีดำ เคลื่อนไหวได้ช้าและยังอ่อนแอ หนามของแผ่นสามเหลี่ยมบริเวณสันหลังนั้นยาวตั้งขึ้นเล็กน้อย ขาทั้ง3คู่ยังไม่ดำเข้ม ข้อต่อของขาแต่ละข้างมีสีออกน้ำตาล ต่อมาสีของลำตัวจะเข้มขึ้นจนเป็นสีดำ สามารถบินได้คล่องแคล่วเมื่อมีภัย เพศเมียจะมีอายุประมาณ 50-55 วัน ส่วนเพศผู้มีอายุประมาณ 50-52 วัน
วงจรชีวิตของมวนเพชฌฆาตจะมีอายุรวมทั้งสิ้นประมาณ 140- 182 วัน ทั้งนี้ตัวอ่อนระยะที่3จนถึงตัวเต็มวัย มีพิษ หากเราถูกมันใช้จะงอยปากแทงจะทำให้เกิดเป็นผื่นแดงและเจ็บปวด
มวนชนิดนี้เป็นแมลงตัวห้ำหรือตัวเบียนที่ช่วยทำลายศัตรูพืชได้หลายชนิด มีนิสัยดุร้าย กินของเหลวในเหยื่อเป็นอาหาร โดยเฉพาะหนอน และตั๊กแตนที่เพิ่งลอกคราบใหม่ๆ ด้วยการใช้จะงอยปากแทงที่ปลายส่วนท้องของเหยื่อและปล่อยพิษใส่ให้เหยื่อตาย จากนั้นจึงดูดของเหลวในตัวเหยื่อจนแห้ง ทิ้งไว้แต่ผนังลำตัวที่ห่อหุ้มลำตัวเหยื่อ ก่อนเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
มวนสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 74 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักพบเกาะตามพื้นหญ้า พุ่มไม้เตี้ย โดยพบชุกชุมในช่วงเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน และช่วงเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามเส้นทางเดินลานหินปุ่ม
24. แมลงวันก้นขน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argyrophylax nigrotibialis Baranov, 1935
วงศ์ย่อย : EXORISTINAE
วงศ์ : TACHINIDAE
แมลงวันก้นขน Argyrophylax nigrotibialis Baranov, 1935
ลำตัวมีขนาดยาวประมาณ 0.5-0.6 ซม. ตารวมมีขนาดใหญ่สีน้ำตาลแดง อกและท้องมีขนทั้งสั้นและยาว ปีกใส ท้องปล้องสุดท้ายมีขนสีดำยื่นออกมา ขาทั้ง3คู่มีสีดำ ทำลายหนอนที่เป็นศัตรูพืชหลายชนิด โดยเพศเมียวางไข่บนตัวหนอนเป็นจำนวนหลายฟอง ไข่แมลงวันก้นขนมีลักษณะใสหรือสีครีม เมื่อฟักออกมาเป็นตัวหนอนก็จะไชเข้าไปในหนอนศัตรูพืช กินเนื้อเยื่อภายในหนอนศัตรูพืชและเจริญอยู่ภายใน ทำให้หนอนศัตรูพืชตายอย่างช้าๆ ในที่สุดหนอนแมลงวันก้นขนก็จะเจาะผนังตัวหนอนศัตรูพืชออกมา เพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ ระยะนี้หนอนแมลงวันก้นขนจะมีสีน้ำตาลแดง ส่วนหนอนศัตรูพืชก็จะตายไป
แมลงในวงศ์นี้มีความสำคัญมาก และนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านการควบคุมแมลงโดยชีววิธีมากกว่าแมลงวงศ์อื่นๆ
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณบ้านพัก
25. ตั๊กแตนหนวดยาวหูดำ
ชื่อสามัญ : Dark Tympanal Katydid
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Holochlora nigrotympana Ingrisch, 1990
วงศ์ย่อย : PHANEROPTERINAE
วงศ์ : TETTIGONIIDAE
ตั๊กแตนหนวดยาวหูดำ ตัวเมีย Holochlora nigrotympana Ingrisch, 1990
ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูลมากนัก คงรู้แต่ว่าสกุลนี้ทั่วโลกพบ 57 ชนิด สำหรับชนิดนี้ผู้เขียนพบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า
ในเมืองไทยมีรายงานการพบพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณบ้านพัก
แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และกัมพูชา
นก
รายชื่อนกที่บันทึกภาพได้ มีทั้งหมด 33 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่
1. นกพญาไฟใหญ่
ชื่อสามัญ : Scarlet Minivet
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pericrocotus speciosus Latham, 1790
วงศ์ : CAMPEPHAGIDAE
นกพญาไฟ ชนิดย่อย semiruber ตัวเมีย
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 17-22 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีลำตัวขนาดใหญ่และหนากว่านกพญาไฟที่พบในเมืองไทยทั้ง 9 ชนิด
ตัวผู้บริเวณหัว คอ หลังตอนหน้า ปีก และหางมีสีดำขลับเป็นมัน หลังตอนท้าย ลำตัวด้านล่าง แถบปีก ตะโพก และขอบหางมีสีแดงเข้ม แถบปีกสีแดงมีขนาดใหญ่กว่านกพญาไฟแม่สะเรียง(Short-billed Minivet) และไม่เชื่อมต่อกัน แต่จะมีแถบสีแดงขนาดเล็กแยกออกมาอีกแถบหนึ่ง
ส่วนตัวเมียบริเวณหน้าผาก เหนือตา แถบปีก ตะโพก ลำตัวด้านล่าง และขอบหางมีสีเหลืองสด ท้ายทอยจนถึงลำตัวด้านบนตอนหน้ามีสีเทา ปีกและหางคล้ายตัวผู้ ต่างกันที่มีสีเหลืองแทนสีแดง ตำแหน่งแถบปีกเหมือนตัวผู้
ในธรรมชาติจะสังเกตเห็นได้ชัดว่าตัวสีแดงคือตัวผู้ ส่วนตัวสีเหลืองคือตัวเมีย
นกวัยอ่อนมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่ส่วนที่เป็นสีเหลืองจะเป็นสีเหลืองอมส้มจนถึงสีส้มอ่อน หรือมีสีแดงแซม
มักพบเป็นคู่ เป็นฝูงเล็กๆราว 4-5 ตัว หรืออยู่เป็นฝูงใหญ่ราว 20 ตัว หรือมากกว่า พบเกาะตามยอดไม้สูง บินตรงจากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งไม้หนึ่ง หรือจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นไม้หนึ่ง มักบินตามกันไปเป็นฝูง โดยมีตัวนำ บางครั้งก็ลงมาหากินตามพุ่มไม้ระดับล่าง อาหารได้แก่ ผลไม้สุก หนอน แมลงต่างๆ และแมงมุม ปกติจะจิกกินแมลงตามใบไม้ ดอกไม้ กิ่งไม้ และยอดไม้ บางครั้งก็ใช้การกระพือปีกไล่แมลงให้แตกตื่นและบินออกมาจากที่ซ่อน แล้วจึงบินออกไปโฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังรูปถ้วยตามง่ามไม้ที่อยู่เกือบปลายกิ่ง และอยู่สูงจากพื้นดิน 6-18 เมตร วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ เปลือกไม้ ต้นหญ้า ไลเคนส์ มอสส์ และเชื่อมรังด้านนอกด้วยใยแมงมุม อาจมีใบไม้แห้งมารองกลางรังเพื่อรองรับไข่
วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ไข่สีเขียวแกมน้ำเงิน มีรอยขีดคล้ายรอยแตกสีน้ำตาลแกมเหลืองและสีเทา ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง แต่ตัวเมียเท่านั้นที่ทำหน้าที่ฟักไข่ การเลี้ยงดูลูกอ่อนนั้นส่วนใหญ่ตัวเมียทำหน้าที่นี้ โดยตัวผู้จะคอยเฝ้าดูแลความปลอดภัย
เสียงร้องสั้นๆ แหลมใส ดังต่อเนื่องกันว่า“สวีป สวีป สวีป”
นกพญาไฟ ชนิดย่อย semiruber ตัวเมีย
ทั่วโลกพบ 20 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย elegans McClelland ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ elegan,-t แปลว่า ละเอียดอ่อน ความหมายก็คือ“นกที่มีขนละเอียดอ่อน” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือตอนบน แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ตอนเหนือ ไทย และอินโดนีเซีย
– ชนิดย่อย flammifer Hume, 1875 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า flame หรือ flamma แปลว่า สีแดง และคำว่า fer แปลว่า นำ ความหมายก็คือ“นกที่มีสีแดงเป็นส่วนใหญ่” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย และคาบสมุทรมลายู
– ชนิดย่อย semiruber Whistler & Kinnear, 1933 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า semi แปลว่า ครึ่งหนึ่ง และคำว่า rube,-d,-din,-o,=r,-scen หรือ ruber แปลว่า สีแดง ความหมายก็คือ“นกที่มีสีแดงครึ่งร่างกาย” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่รัฐ Andhra ประเทศอินเดีย ในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 15 ชนิด ในเมืองไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,700 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
2. นกขุนแผน
ชื่อสามัญ : Blue Magpie ; Red-billed Blue Magpie
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Urocissa erythroryncha Boddaert, 1783
วงศ์ : CORVIDAE
นกขุนแผน
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 65-75 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากยาวหนาสีแดงสด หัวถึงอกสีดำ ท้ายทอยถึงหลังตอนบนมีแถบสีขาว ลำตัวด้านบนและปีกสีน้ำเงินหรือสีฟ้าเข้ม ลำตัวด้านล่างสีขาว มีลายแต้มสีน้ำเงินที่อกและสีข้าง หางสีฟ้า ยาวราว 47 ซม. หรือมากกว่า ปลายขนหางและปีกขลิบสีดำและสีขาว แข้งและตีนสีแดง
นกวัยอ่อนมีสีซีดกว่า ปากสีดำ หางสั้น แข้งและตีนสีไม่แดงสด
มักพบเป็นคู่ หรืออยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ อาจหากินร่วมกับนกกะรางหัวหงอก(White-crested Laughingthrush) นกปีกลายสก็อต(Eurasian Jay) และนกสาลิกาเขียว(Common Green Magpie) อาศัยและหากินตามกิ่งก้านของไม้ใหญ่และไม้พุ่ม บ่อยครั้งที่ลงมาหากินตามพื้นดิน อาหารได้แก่ แมลงขนาดใหญ่ กบ กิ้งก่า งู และนกขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังกินผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะผลไม้สุกที่หล่นจากต้น
เป็นนกที่ชอบฉวยโอกาสเช่นเดียวอีกาที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน มักย่องเข้าหารังนกอื่นเพื่อกินไข่และลูกนกอื่นเป็นอาหาร บางครั้งพบว่าปรับตัวให้อยู่ร่วมกับสัตว์กีบอย่างเช่นกวางแลชะหมูป่า สัตว์เหล่านั้นจะปล่อยให้นกขุนแผนช่วยจิกกินแมลงที่เป็นปรสิตของมัน
นกขุนแผน
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้หรือกิ่งไม้ที่ติดกับลำต้นที่อยู่สูงจากพื้นดิน 6-8 เมตร หรือมากกว่า รังเป็นรูปถ้วยหรือกระจาด ด้วยการนำกิ่งไม้ต่างๆมาวางซ้อนทับกันและมีการสานสอดเล็กน้อย ตรงกลางรังเป็นแอ่ง และรองพื้นรังด้วยใบไม้และรากไม้เล็กๆ วางไข่ครั้งละ 2-5 ฟอง ไข่รูปข่าง ขนาด 2.39 x 3.39 ซม. สีน้ำตาล มีลายจุดและลายดอกดวงสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลแดงทั่วฟองไข่ โดยมีมากบริเวณด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกแรกเกิดไม่มีขนคลุมตัว ต่อเมื่อมีอายุราว 30 วัน จึงจะมีขนคลุมตัว แข็งแรง และบินได้ จากนั้นก็จะทิ้งรังไป
เสียงร้องแหบและลากเสียงยาว ดังว่า“แค๊ก-แค๊ก” โดยมักส่งเสียงเซ็งแซ่ทั้งฝูง
ชื่อชนิด erythrorhyncha เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า erythr,-o หรือ eruthos แปลว่า สีแดง และคำว่า rhynch,-o,=us หรือ rhunkhos แปลว่า ปาก ความหมายก็คือ“นกที่มีปากสีแดง” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศจีน
นกขุนแผน
ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย magnirostris Blyth, 1846 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า magn,-i หรือ magnus แปลว่า ใหญ่ และคำว่า rostr,=um หรือ rostris แปลว่า ปาก ความหมายก็คือ“นกที่มีปากขนาดใหญ่” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 5 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามป่ารุ่น ป่าไผ่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,525 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนล่าง
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
3. นกบั้งรอกใหญ่
ชื่อสามัญ : Greater Green-billed Malkoha ; Green-billed Malkoha ; Large Green-billed Maalkoha
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhopodytes tristis Lesson, 1830
ชื่อพ้อง : Phaenicophaeus tristis Lesson, 1830
วงศ์ : CUCULIDAE
นกบั้งรอกใหญ่ ชนิดย่อยlongicaudatus
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 51-59 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัว คอ และหลังคอสีเทาอ่อน หนังรอบตาสีแดงสดและมีขนสีขาวโดยรอบ ปากค่อนข้างหนาสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวขุ่น หลังและตะโพกสีเทาแกมเขียวเข้มจนถึงสีเทาเข้ม ปีกแต่ละข้างยาวมากกว่า 14 ซม. ปีกและขนหางสีน้ำตาลเหลือบเขียวจนถึงสีดำเหลือบเขียว ลำตัวด้านล่างสีเทาอ่อนแซมด้วยขีดดำเล็กๆ คอหอยและอกมีสีจางกว่าท้องเล็กน้อย หางยาว 37-38 ซม. ปลายขนหางที่ไล่ลดหลั่นกันลงไปเป็นบั้งๆมีสีขาว5แถบทางด้านล่าง
อยู่กันเป็นคู่เกือบตลอดทั้งปี มักพบกระโดดไปมาตามกิ่งไม้ที่รกทึบ หรือโผบินจากต้นไม้หนึ่งไปยังต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ กินอาหารจำพวกตั๊กแตน จักจั่น แมลง ตัวบุ้ง หนอน ตัวอ่อนของแมลง รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆอย่างกิ้งก่า จิ้งเหลน หรือแม้แต่ลูกนกชนิดอื่นที่อยู่ในรัง เหยื่อขนาดเล็กจะจิกกินกลืนลงคอ แต่ถ้าเป็นเหยื่อขนาดใหญ่จะงับให้ตายแล้วจึงฉีกกินทีละชิ้น
เป็นนกที่ค่อนข้างเฉื่อย มักหลบซ่อนและค่อนข้างสงบเงียบ ปกติจะเกาะตามกิ่งไม้ที่มีใบหนาทึบ สังเกตเห็นได้ยาก นอกจากเห็นขณะบิน ซึ่งจะบินระยะสั้นๆจากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีกระโดดและปีนป่ายคล้ายกระรอก บางครั้งก็ลงมายังพุ่มไม้หรือไม้พื้นล่างที่มีใบแน่นทึบ
ส่วนใหญ่พบเป็นคู่ ไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลใด อาหารได้แก่ หนอน และแมลงต่างๆ นอกจากนี้ยังกินสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น อีกด้วย พฤติกรรมการหาอาหารจะใช้วิธีปีนป่ายตามกิ่งไม้และยอดไม้ เมื่อพบเหยื่อจะใช้ปากจิกกิน หากเหยื่อมีขนาดใหญ่จะใช้ปากงับเหยื่อจนตาย แล้วจิกฉีกเหยื่อกินทีละชิ้น
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนสิงหาคม ทำรังตามยอดไม้หรือยอดไผ่ที่อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 3-7 เมตร รังค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของตัว รังเป็นรูปถ้วยหยาบคล้ายรังนกเขา วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้ กิ่งไผ่ และเถาวัลย์ต่างๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 10 นิ้ว กลางรังเป็นแอ่งตื้นๆ และนำใบไม้สดมาวางกลางรังเพื่อรองรับไข่ ทั้งนี้มีการนำใบไม้ใหม่สดมาเปลี่ยนใหม่เสมอ เพื่อควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ
วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ไข่รูปค่อนข้างยาว สีขาว มีลักษณะคล้ายผงชอล์คเคลือบบางส่วน ทั้งตัวผู้ตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่ลืมตาและไม่มีขนปกคลุมร่างกาย เมื่อลูกนกแข็งแรงและบินได้แล้ว จึงจะทิ้งรังไป
เสียงร้องแหบและสั้นดังว่า“ต็อก-ต็อก”หรือ“เอาะ-เอาะ”
ชื่อชนิด tristis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ trist,-i แปลว่า เศร้า ความหมายก็คือ“นกที่มีสีไม่ฉูดฉาด(หรือสีแห่งความเศร้า)” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกที่รัฐฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย longicaudatus Blyth, 1842 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า long,-i หรือ longus แปลว่า ยาว และคำว่า caudatus (caud,=a) แปลว่า หาง ความหมายก็คือ“นกที่มีหางยาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศเมียนมาร์ ในเมืองไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในไทย กัมพูชา และมาเลเซีย
– ชนิดย่อย saliens Mayr, 1938 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ salien,-t แปลว่า กระโดด ความหมายก็คือ“นกที่มักจะกระโดดไปมา” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่ประเทศลาว ในเมืองไทยพบทางภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย และลาว
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 4 ชนิด(เดิมอยู่ในสกุล Phaenicophaeus) ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ชายป่า ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,685 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
4. นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง
ชื่อสามัญ : Gold-fronted Chloropsis , Gold-fronted Leafbird , Golden-fronted Leafbird
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chloropsis aurifrons Temminck, 1829
วงศ์ : IRENIDAE
นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ชนิดย่อยpridii
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 18-20 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีหน้าผากสีเหลืองแกมสีส้มสด หรือสีส้มแกมสีทอง หน้าสีดำ มีลายแถบสีดำล้อมรอบคอหอยที่มีสีฟ้าแกมม่วงจนถึงสีน้ำเงิน ลำตัวด้านบนสีเขียว มีลายพาดสีฟ้าหรือสีน้ำเงินบริเวณช่วงไหล่ ลำตัวด้านล่างสีเขียวแกมเหลือง ส่วนตัวเมียของนกเขียวก้านตองทุกชนิดจะไม่มีสีดำที่คอเหมือนตัวผู้
ตัวไม่เต็มวัยมีใบหน้า คาง และคอสีเขียว หน้าผากแซมสีเหลืองจางๆ
ชอบหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆ อาศัยและหากินบนต้นไม้ โดยเฉพาะตามยอดไม้ และเนื่องจากลำตัวมีสีเขียวจึงกลมกลืนกับสีของใบไม้ ทำให้มองเห็นตัวได้ค่อนข้างยาก อาหารได้แก่ ผลไม้ น้ำหวานจากดอกไม้ แมลง และแมงมุม
พฤติกรรมการกินผลไม้และน้ำหวานจากดอกไม้นั้น จะบินไปเกาะยังกิ่งก้านที่มีผลไม้และดอกไม้ ซึ่งสามารถเกาะได้ทุกแนว ไม่ว่าจะด้านบน ด้านข้าง หรือด้านล่าง จากนั้นใช้ปากบีบผลไม้ให้แตกแล้วกินเฉพาะเนื้อข้างใน โดยเฉพาะลูกไทร หว้า และตะขบ ส่วนการกินน้ำหวานจากดอกไม้นั้นจะใช้ปากแหย่เข้าไปในดอกไม้แล้วดูดกินน้ำหวาน สำหรับอาหารจำพวกแมลงและแมงก็จะใช้ปากจิกกินตามกิ่งไม้ยอดไม้ บางครั้งก็ใช้วิธีโฉบจับกลางอากาศ แต่ในระยะที่ไม่ไกลจากที่เกาะมากนัก
เป็นนกที่บินได้ดีและแข็งแรง จะบินจากต้นไม้หนึ่งไปอีกต้นไม้หนึ่งเสมอ และเกือบตลอดเวลา
นกชนิดนี้เป็นนักเลียนเสียงอันดับต้นๆในป่าเมืองไทย มีเสียงร้องหลายแบบมาก เสียงร้องแบบหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยๆจะเป็นเสียงคล้ายนกแซงแซวสีเทา(Ashy Drongo) แต่ท่วงทำนองร้องจะยาวนานกว่า และร้องได้เป็นท่วงทำนองเพลง
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน ทำรังอยู่เกือบปลายกิ่งไม้ด้านนอกสุด และอาจปกคลุมด้วยกิ่งไม้ใบไม้ หรืออาจทำรังตามง่ามไม้ที่อยู่สูงจากพื้นราว 9-12 เมตร แต่บางครั้งก็พบรังตามไม้พุ่มที่สูงเพียง 1-2 เมตร เท่านั้น รังมีลักษณะเป็นถ้วยหยาบๆหรือเป็นแอ่งตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ หญ้า มอสส์ และเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ไข่สีครีม หรือสีครีมแกมเหลือง มีลายดอกดวงสีออกแดง โดยทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
ชื่อชนิด aurifrons มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ aur,-ar,-at,-e,-i หรือ aurum แปลว่า สีทอง และ =frons แปลว่า หน้าผาก ความหมายก็คือนกที่มีหน้าผากเป็นสีทองพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 6-7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย incompta Deignan, 1948 ชื่อชนิดเป็นคำในภาษาละติน คือคำว่า in แปลว่า ไม่ และคำว่า compt แปลว่า เครื่องประดับ ความหมายก็เช่นเดียวกับ“นกที่มีสีเรียบ” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศเวียดนาม ในไทยพบทางภาคตะวันตกตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน แพร่กระจายในไทย และเวียดนาม
– ชนิดย่อย inornata Boden Kloss, 1918 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำในภาษาละติน คือคำว่า inornatus แปลว่า ไม่มีเครื่องประดับ หรือสีเรียบ ความหมายก็คือ“นกที่มีสีเรียบ ไม่มีเครื่องหมายใดๆ” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย ในไทยพบทางภาคกลาง บางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แพร่กระจายในไทย กัมพูชา และเวียดนาม
– ชนิดย่อย pridii Deignan, 1946 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ในไทยพบทางภาคเหนือ และภาคตะวันตกตอนบน แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย และลาวตอนเหนือ
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 11 ชนิด ในไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ทั่วไปตามชายป่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,220 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีนด้านตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
5. นกกะรางหัวหงอก
ชื่อสามัญ : White-crested Laughingthrush ; White-crested Laughing Thrush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garrulax leucolophus Hardwicke, 1815
วงศ์ : LEIOTHRICHIDAE
นกกะรางหัวหงอก ชนิดย่อยdiardi
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 26-31 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีพุ่มหงอนขนขนาดใหญ่สีขาวบนหัว บริเวณหัว คอหอย อก และลำตัวด้านล่างสีขาว มีแถบสีดำทางด้านข้างของหัวพาดผ่านตา ปากสีดำ ปลายปากตอนบนงุ้มปิดปลายปากล่าง มุมปากมีขนสั้นและแข็ง ท้ายทอยสีเทา คอหอยตอนท้ายสีเทา ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว ปีกมนกลมและอยู่แนบชิดลำตัว โคนปีกสีออกแดง ท้องสีขาว สีข้างและขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีออกแดงจนถึงสีน้ำตาลแกมเขียว หางสีน้ำตาลคล้ำจนถึงสีดำ ขนหางแต่ละคู่จะยาวลดหลั่นกันลงไป หางคู่บนยาวมากสุด ขาค่อนข้างใหญ่และแข็งแรง ปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดใหญ่เรียงซ้อนทับกัน นิ้วเท้าแข็งแรง ยื่นไปข้างหน้า3นิ้ว ยื่นไปข้างหลัง1นิ้ว ลักษณะเด่น คือ หัวมีหงอนสีขาวฟูตั้งเป็นสันสูงดูคล้ายผมหงอก
ช่วงวัยอ่อนมีสีสันคล้ายนกเต็มวัย แต่หงอนบนหัวจะสั้น ท้ายทอยสีเทาอมน้ำตาล ลำตัวด้านบนสีค่อนข้างสดใสกว่า โดยเฉพาะที่ขนปีกจะมีแต้มสีเข้มเห็นชัดกว่านกเต็มวัย
ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 2-3 ตัว จนถึง 15 ตัว หรือมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เรามักจะพบนกกะรางหัวหงอกมารวมกันเป็นฝูงใหญ่ และอาศัยปะปนกับนกกะรางชนิดอื่นๆหากินปะปนกันไป
นกที่ชอบหากินปะปนกับนกกะรางหัวหงอก คือ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่(Greater Racket-tailed Drongo) เพื่อคอยจิกกินแมลงที่บินหนีขึ้นอากาศ แต่นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ก็จะช่วยเป็นยามให้แก่ฝูงนกกะรางหัวหงอก รวมทั้งไล่จิกตีเหยี่ยวที่หวังเข้ามาจะจับนกกะรางหัวหงอกเป็นอาหาร
ชอบหากินอยู่ในบริเวณที่มีพุ่มไม้หนาแน่นและมีเถาวัลย์รกรุงรัง กระโดดไปตามกิ่งก้านและลำต้นของไม้ผลและไม้ดอก ใช้ปากเด็ดผลไม้หรือกลีบดอก แล้วกลืนกินเป็นอาหาร หรืออาจจะจิกหนอนและแมลงตามกิ่งก้านและลำต้น หรืออาจลงมาหากินตามพื้นป่าที่มีใบไม้แห้งและกิ่งไม้แห้งทับถมกันหนาแน่น ซึ่งเป็นที่อาศัยของแมลงและหนอน โดยจะใช้นิ้วเท้าคุ้ยเขี่ยดิน ใบไม้ และอื่นๆ จนเป็นวงกลมคล้ายไก่ป่า แต่เป็นวงขนาดเล็ก ก่อนใช้ปากจิกกินหนอนและแมลงที่พบในขณะคุ้ยเขี่ย บางทีมันก็เข้าไปคุ้ยเขี่ยหาปลวกแถวๆจอมปลวกหรือจิกกินตัวแมลงและหนอนตามกอไผ่ผุๆ เนื่องจากขาและเท้าของมันแข็งแรง หากเหยื่อมีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังดิ้นอยู่ มันจะใช้เท้าเหยียบเหยื่อไว้ก่อน แล้วจึงใช้ปากจิกกิน หากสังเกตให้ดีจะพบว่าขณะที่มันกระโดดไปมาตามพื้นดินหรือกิ่งไม้นั้น ลำตัวของมันจะเคลื่อนไหวโยกตัวไปมาด้วย ซึ่งเป็นนกที่กระโดดไปมาได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็ว แต่บินได้ในระยะใกล้ๆเท่านั้น
กินอาหารจำพวกผลไม้ หนอน แมลง และกลีบดอกไม้บางชนิด
ในช่วงฤดูร้อนมักพบนกชนิดนี้ลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำตื้นๆหรือน้ำที่ขังตามพื้น ด้วยการใช้เท้าเหยียบบนพื้นริมแอ่ง แล้วก้มหัววักให้น้ำไหลผ่านจากหัวไปหาง แล้วสลัดตัว จากนั้นก็ขึ้นมากางปีกและสลัดตัวอีกครั้งหนึ่งบนพื้นหรือบนกิ่งไม้
นกกะรางหัวหงอก ชนิดย่อยdiardi
เป็นนกที่ปากมาก และชอบส่งเสียงร้องหนวกหู ขณะกำลังหากินนั้นมันจะส่งเสียงร้องไปเรื่อยๆ ไม่หยุดปาก แทบทุกๆ 4-5 นาที พอตัวหนึ่งร้อง ตัวอื่นๆก็จะร้องตามไปด้วย ราวกับแข่งขันกันว่าใครจะร้องได้ดังกว่ากัน ขณะที่มันร้องนี้ มันก็ไม่หยุดนิ่ง แต่จะกระโดดหากินไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ขยับปีกถี่ๆบินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
เสียงร้องมีหลายแบบ แต่เสียงร้องที่เรามักได้ยินบ่อยๆ เป็นเสียงร้องเซ็งแซ่แหลมสูงกังวานและถี่ๆ ฟังคล้ายว่าเป็น“เจ๊ก-โกหก” หรือ“อีเพา-หัวหงอก” และร้องรับกันเป็นทอดๆเพื่อประกาศอาณาเขตของฝูง โดยจะได้ยินบ่อยครั้งมากในช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เป็นนกที่ตื่นตกใจง่ายและระแวดระวังภัยมาก หากพบศัตรูหรือมนุษย์ มันจะร้องดังกว่าเดิมเพื่อขับไล่และร้องเตือนภัยในฝูง และหากศัตรูไม่ถอยไป มันก็จะพากันบินหนีไปเองทีละตัวๆจนหมดฝูง
แม้ว่ามันจะส่งเสียงร้องหนวกหู ไม่น่าฟัง แต่ในเวลาที่มันสบายใจ มันก็ร้องเพลงได้ไพเราะมาก โดยมันจะยืดตัวตรง เงยหน้าขึ้น และลดหางต่ำลง แล้วก็ร้องเพลงไปเรื่อยๆ มีท่วงทำนองเพลงที่ไม่ซ้ำกัน
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทั้งฝูงมักทำรังใกล้ๆกัน โดยทำรังตามง่ามไม้ของไม้พุ่ม ไม้ต้นขนาดกลาง หรือกิ่งไผ่ อยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 6 เมตร รังเป็นรูปถ้วย วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบไปด้วยกาบใบของพืชขิงข่า กิ่งไม้ กิ่งไผ่ และต้นหญ้า นำมาสานสอดค่อนข้างละเอียด ขนาดของรังเกือบ 17 ซม. ลึก 7-8 ซม. วางไข่ครั้งละ 2-6 ฟอง ไข่รูปกลมรี สีขาว ไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้เวลาฟักไข่ราว 13-14 วัน ลูกนกก็จะฟักออกมา มีแต่หนังเปลือยเปล่า ไม่มีขน และยังไม่ลืมตา
นกกะรางหัวหงอกมีพฤติกรรมแตกต่างจากนกกะรางอื่นๆ ตรงที่มีนกกะราง 3-5 ตัว(รวมทั้งพ่อและแม่) มาช่วยฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน อาหารที่นำมาป้อนลูกนก คือ หนอน และแมลง หากมีศัตรูเข้ามาในช่วงนี้ นกทั้งฝูงจะส่งเสียงร้องขับไล่ หากศัตรูยังบุกรุกเข้ามาอีกก็จะช่วยกันรุมจิกตี ลลูกนกเมื่อมีอายุได้ราว 11-12 วัน ลูกนกก็แข็งแรงพอที่จะบินออกจากรังไปหากินรวมกันเป็นฝูง
ชื่อชนิด leucolophus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และคำว่า loph,-i,-o,=us หรือ lophos แปลว่า หงอน หรือพุ่มขน ความหมายก็คือ“พุ่มหงอนขนบนหัวเป็นสีขาว” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกบริเวณเทือกเขาหิมาลัย
ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย belangeri Lesson, 1831 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล จะมีลักษณะของทุกชนิดย่อยทั้ง5ชนิดปนกันอยู่ ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ในเมืองไทยพบที่ จ.ตาก และภาคตะวันตก แพร่กระจายในเมียนมาร์ และไทย
– ชนิดย่อย diardi Lesson, 1831 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล มีหงอนสีขาวตั้งตรง แถบคาดตาสีดำ ท้ายทอยสีเทา ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดงปนแดงอมส้ม ลำตัวด้านล่างสีค่อนข้างขาว ข้างอกเจือด้วยสีเทา ตะโพกและขนคลุมใต้หางสีแดงอมส้ม ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเวียดนาม ในเมืองไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 45 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่ารุ่น ป่าไผ่ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,400 เมตร แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,200 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก พบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณด้านหลังร้านอาหาร
แพร่กระจายในบังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
6. นกหางรำดำ
ชื่อสามัญ : Black-headed Sibia ; Dark-backed Sibia
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Heterophasia melanoleuca Blyth, 1859
วงศ์ : LEIOTRICHIDAE
นกหางรำดำ
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 21-23 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและลำตัวด้านบนสีดำ ลำตัวด้านหลังสีดำแกมสีน้ำตาลมากกว่าส่วนอื่นๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว ปีกสีดำ มีลายพาดสีขาวที่ขนปลายปีก เห็นได้ชัดเมื่อบิน หางสีดำ ปลายหางขลิบสีขาวหรือสีเทา
มักพบอยู่เป็นฝูงเล็กๆ อาศัยและหากินตามยอดไม้ ลำต้นที่มีมอสส์ปกคลุม และก่งก้านของต้นไม้ใหญ่ บางครั้งลงมาหากินตามกิ่งก้านไม้พุ่ม เป็นนกที่ค่อนข้างปราดเปรียว จะบินจากกิ่งไม้หนึ่งหรือต้นไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งไม้หรือต้นไม้หนึ่งตลอดเวลา เพื่อหาอาหาร ส่วนใหญ่ได้แก่ หนอน และแมลง นอกจากนี้ยังพบกินน้ำหวานจากดอกไม้บางชนิด รวมทั้งผลไม้บางชนิดด้วย
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยตามง่ามของต้นไม้ในระดับสูงจากพื้นดินราว 2-8 เมตร วัสดุทำรังประกอบไปด้วยใบหญ้า ใบไม้ และมอสส์ รองพื้นรังด้วยรากฝอย ใบสนเขา และวัสดุที่ละเอียดอ่อนอื่นๆ วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาด 1.83-2.55 ซม. มีสีแตกต่างกัน ส่วนใหญ่สีเทาแกมน้ำเงิน มีลายจุดและลายขีดสีน้ำตาล ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
เสียงร้องแหลมดังว่า“เอออ..ริ-อู” หรือ“วิ-วิ-ชิ-ชุ่ย”
ชื่อชนิด melanoleuca เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า melan,-o หรือ melas แปลว่า สีดำ และคำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว ความหมายก็คือ“นกที่มีสีดำและสีขาว” พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์
ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ melanoleuca Blyth, 1859 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 7 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามชายป่า และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานฯที่7(หมันแดง)
ชนิดย่อย melanoleuca แพร่กระจายในเมียนมาร์ด้านตะวันออก และไทย
7. นกกินปลีอกเหลือง
ชื่อสามัญ : Olive-backed Sunbird ; Yellow-bellied Sunbird ; Yellow-breasted Sunbird
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnyris jugularis Linnaeus, 1766
ชื่อพ้อง : Nectarinia jugularis Linnaeus, 1766
วงศ์ : NECTARINIIDAE
นกกินปลีอกเหลือง ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 10-11.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) คอสั้น ปากเรียวเล็กและโค้งยาว ปลายปากแหลม มีลิ้นยาวที่ม้วนเป็นท่อหรือหลอด ปลายลิ้นแยกเป็น2แฉก เพื่อใช้ดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ แต่บางครั้งก็พบกินแมลงเป็นอาหาร
ตัวผู้มีลำตัวด้านบนสีเขียวแกมน้ำตาล(แต่มักมองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นสีน้ำตาล โดยเฉพาะบริเวณที่มีแสงไม่เพียงพอ) หน้าผากและคอจนถึงอกตอนบนมีสีน้ำเงินเข้มเหลือบเป็นมันวาว(แต่มักมองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นสีดำ) ตอนล่างมีแถบสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างสีเหลืองสด ขอบหางคู่นอกและใต้หางสีขาว
ตัวผู้ช่วงผลัดขนหรือช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์มีสีสันคล้ายตัวเมีย แต่ต่างกันที่มีแถบสีน้ำเงินแกมดำพาดกลางคอหอย และมีสีส้มแซมที่คอหอยตอนล่างและอกตอนบน
ส่วนตัวเมียมีลำตัวด้นบนสีเขียวคล้ำแกมเหลือง คิ้วสีเหลือง ลำตัวด้านล่างสีเหลืองหม่นกว่าตัวผู้ ขอบหางคู่นอกและใต้หางสีขาวเช่นเดียวกับตัวผู้ ปลายขนหางด้านล่างมีแถบกว้างสีขาว
นกกินปลีอกเหลืองตัวเมียแตกต่างจากตัวเมียของนกกินปลีอื่นๆตรงที่คอหอยและลำตัวด้านล่างสีเหลืองสดกว่า และแตกต่างจากตัวเมียของนกกินปลีคอสีน้ำตาลตรงที่มีแถบสีขาวตอนปลายขนหางจนถึงด้านล่างของหาง
เสียงร้องเล็กแหลมดังว่า“วิดวิดวิด-วี้วี้วี้ด”
มักพบโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ มักเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้และพืชต่างๆที่กำลังออกดอก โดยสามารถเกาะได้ทุกๆแนว ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้ง หรือแนวราบ หัวอาจจะตั้งขึ้น หรือห้อยหัวลงล่าง
กินน้ำหวานจากดอกไม้ต่างๆเป็นอาหาร โดยเกาะตามกิ่งที่มีดอก หรือเกาะบนดอกไม้ แล้วใช้ปากยื่นเข้าไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้ จากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง และจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังกินหนอน แมง และแมลงที่เกาะตามกิ่งไม้และดอกไม้อีกด้วย
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม ขณะเกี้ยวพาราสีจะเห็นกระจุกขนสีแดงที่บริเวณรักแร้ของตัวผู้ ตัวเมียเท่านั้นที่ทำหน้าที่สร้างรัง ส่วนตัวผู้จะช่วยหาวัสดุเพียงเล็กน้อย โดยทำรังตามกิ่งก้านของต้นไม้หรือพืชต่างๆที่อยู่สูงจากพื้นดินไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร รังเป็นแบบรังแขวน รูปบวม หรือรูปรียาว มีขนาดยาวประมาณ 24 ซม. กลางรังป่องหรือพองโตเป็นกระเปาะ กว้างประมาณ 6-7 ซม. แล้วเรียวไปทางด้านปลายทั้ง2ด้าน ปลายด้านหนึ่งแขวนกับกิ่งไม้ ปลายอีกด้านห้อยลงมา ซึ่งปลายด้านล่างนี้มักจะยาวมาก ทางเข้าออกรังอยู่ทางด้านข้าง กว้างประมาณ 2-2.5 ซม. วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยใบหญ้า ใบไม้ เยื่อไม้ และรากไม้เล็กๆ โดยใช้ใยแมงมุมเป็นตัวเชื่อมวัสดุต่างๆให้ติดกัน ตรงกลางภายในกระเปาะของรังจะบุหรือรองพื้นด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่มจำพวกดอกหญ้าเพื่อรองรับไข่
นกกินปลีอกเหลือง ตัวผู้
ขณะที่ตัวเมียกำลังสร้างรัง ตัวผู้จะเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ เพื่อคอยปกป้องไม่ให้นกคู่อื่นๆมาแย่งสถานที่ทำรังหรือวัสดุที่ใช้ทำรัง วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ไข่สีขาวและมีลายจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่ตัวเมียจะฟักไข่ ตัวผู้ช่วยเหลือบ้างไม่มากนัก ระยะเวลาฟักไข่ราว 13-14 วัน ทั้งพ่อนกและแม่นกช่วยกันหาอาหารมาเลี้ยงดูลูกนก ซึ่งในระยะแรกๆจะเป็นหนอนและแมลง ประมาณ2สัปดาห์ลูกนกก็จะโตและแข็งแรงพอที่จะออกจากรังได้
ชื่อชนิด jugularis เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ jugul,=um หรือ iugulum แปลว่า คอหอย ความหมายก็คือ“นกที่บริเวณคอหอยมีสีสันโดดเด่น” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศฟิลิปปินส์
ทั่วโลกพบ 25 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย flammaxillaris Blyth, 1845 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า flamm หรือ flamma แปลว่า สีเพลิง หรือสีแดง และคำว่า axillaris (=axilla) แปลว่า รักแร้ ความหมายโดยรวมก็คือ“ขนรักแร้เป็นสีแดง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 56 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม สวนสาธารณะ สวนผลไม้ ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าละเมาะ ชายป่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ตลอดจนในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 915 เมตร ทั่วทุกภาค
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงออสเตรเลีย ซึ่งที่ออสเตรเลียมีนกกินปลีชนิดนี้เพียงชนิดเดียวอาศัยอยู่
8. นกขมิ้นหัวดำใหญ่
ชื่อสามัญ : Asian Black-headed Oriole ; Black-hooded Oriole ; Indian Black-headed Oriole
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oriolus xanthornus Linnaeus, 1758
วงศ์ : ORIOLIDAE
นกขมิ้นหัวดำใหญ่
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 25 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีขนลำตัวสีเหลืองทอง บริเวณหัวและคอมีสีดำ ปากสีชมพูแกมแดง ม่านตาสีแดง ปีกและหางมีสีดำแต้มสีเหลือง ตัวเมียคล้ายตัวผู้ แต่มีสีสันลำตัวสดใสน้อยกว่าตัวผู้ หลังและตะโพกแกมเขียวมากกว่า ลายแต้มสีเหลืองที่ปีกเล็กและจางกว่าเล็กน้อย
ส่วนตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ต่างกันที่บริเวณหน้าผากมีสีออกเหลือง วงรอบเบ้าตาสีขาว คอหอยสีเทาและมีลายขีดสีดำ จะงอยปากและม่านตาสีคล้ำ มีลายขีดสีดำประปรายบนพื้นสีขาวที่ใต้ลำตัว
มักพบเป็นคู่ หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ หรือเป็นครอบครัว โดยเฉพาะหลังฤดูผสมพันธุ์ อาจพบอยู่ร่วมกับนกกินแมลงต่างๆและนกปรอดบางชนิด บินได้ดีและแข็งแรง อาศัยและหากินบนต้นไม้ นานๆครั้งถึงจะพบลงมาหากินตามพื้น
นกขมิ้นหัวดำใหญ่
อาหารส่วนใหญ่ได้แก่ ผลไม้ต่างๆ เช่น ไทร หว้า ส้านเล็ก ตะขบ เป็นต้น โดยใช้ปากเด็ดผลออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้ยังกินน้ำหวานจากดอกไม้บางชนิด เช่น งิ้ว ทองหลาง กาฝาก เป็นต้น โดยเกาะตามกิ่งหรือบนดอกไม้ แล้วใบ้ปากดูดกิน นอกจากนี้ยังกินหนอนและแมลงต่างๆอีกด้วย โดยจิกกินตามกิ่งไม้และยอดไม้
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยตามง่ามไม้เกือบปลายกิ่ง สูงจากพื้นดินราว 4-10 เมตร วัสดุทำรังประกอบไปด้วยใบหญ้า เยื่อไม้ และสารเยื่อใยต่างๆ นำมาสานสอดเข้าด้วยกัน วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ส่วนใหญ่พบ 3 ฟอง ขนาด 1.94-2.8 ซม. ไข่สีชมพูและมีลายจุดสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
เมื่อลูกนกที่ออกจากไข่ ยังไม่มีขนคลุมร่างกาย พ่อแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อน จนกระทั่งลูกนกแข็งแรงและมีขนคลุมเต็มตัว จึงจะทิ้งรังไป แต่ยังคงอยู่อาศัยแบบครอบครัวไปอีกระยะหนึ่ง ช่วงนี้บางครั้งพ่อแม่นกยังช่วยหาอาหารมาป้อน ต่อเมื่อลูกนกหาอาหารเองได้แล้ว จึงจะแยกจากกันไปและหากินตามลำพัง
นกขมิ้นหัวดำใหญ่
ชื่อชนิด xanthornus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ xanth,-o หรือ xanthos แปลว่า สีเหลือง และคำว่า orneo หรือ ornus หรือ ornis แปลว่า นก ความหมายก็คือนกสีเหลือง โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย xanthornus Linnaeus, 1758 ที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 29 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 900 เมตร บางแห่งพบตามป่าชายเลน เช่น ภาคใต้ โดยพบได้ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคเหนือด้านตะวันตก และภาคตะวันตก
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย หมู่เกาะอันดามัน จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
9. นกหัวขวานสีตาล
ชื่อสามัญ : Rufous Woodpecker
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Micropternus brachyurus Vieillot, 1818
ชื่อพ้อง : Celeus brachyurus Vieillot, 1818
วงศ์ : PICIDAE
นกหัวขวานสีตาล ชนิดย่อย phaioceps ตัวเมีย
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 24-25.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากสั้นสีดำ หงอนสั้น ใต้คอมีลายขีด ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดงเข้ม มีลายขวางแคบๆและถี่สีดำโดยตลอด ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแดงและมีลายพาดแคบๆสีดำบางส่วน โดยตัวผู้จะมีลายแถบสีแดงบริเวณแก้ม ส่วนตัวเมียไม่มี
มักพบอยู่เป็นคู่ และมักเกาะตามต้นไม้กิ่งไม้ที่มีรังมด บ่อยครั้งที่เกาะอยู่บนรังมด ทำให้มดออกจากรังมาตอมเกาะตามส่วนต่างๆของร่างกาย จากนั้นก็จะกระโดดไปเกาะกิ่งไม้ข้างเคียง แล้วใช้ปากจับมดที่เกาะตามร่างกายมากินเป็นอาหาร
บริเวณหัว ท้อง และปลายหางของนกชนิดนี้จะมีน้ำยางเหนียวๆและกลิ่นแรง สังเกตได้จากมีมดจำนวนมากติดอยู่ที่ขนหาง ซึ่งหน้าที่ของยางเหนียวๆนี้ยังไม่รู้แน่ชัด
นอกจากจะกินมดต่างๆเป็นอาหารแล้ว ยังกินผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะลูกไทร และยังกินน้ำหวานของดอกไม้ต่างๆ เช่น งิ้ว และทองหลางป่า
นกหัวขวานสีตาลจะใช้ปากเคาะกับต้นไม้เช่นเดียวกับนกหัวขวานชนิดอื่น ส่วนใหญ่เฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่ใช้ปากเคาะต้นไม้ และจะพบเคาะต้นไม้บ่อยมากในช่วงฤดูผสมพันธุ์
เสียงเคาะต้นไม้จะเริ่มขึ้นเมื่อนกหัวขวานสีตาลบินมาเกาะต้นไม้ในลักษณะหัวตั้ง แล้วใช้ปากเคาะต้นไม้ 10-12 ครั้ง ในเวลา 10-15 วินาที เมื่อเคาะเสร็จแล้วจะหันหัวไปทางซ้ายและขวา เพื่อฟังหรือหาสิ่งที่จะตอบสนองกลับมา อาจจะเคาะต่อไปในจุดเดียวกัน หรือบินไปยังต้นอื่นเพื่อเคาะแบบนี้อีก
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน ทำรังตามรังของมดที่อยู่บนต้นไม้ โดยจะใช้ปากเจาะทางด้านข้างของรังมดข้างใดข้างหนึ่ง แล้วทำเป็นโพรงด้านใน วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาด 2.01-2.82 ซม. รูปไข่ค่อนข้างยาว สีขาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่จะไม่มีขนคลุมร่างกาย
(รูป158 ใส่คำพูดใต้รูปว่า..นกหัวขวานสีตาล ชนิดย่อย phaioceps ตัวเมีย)
เหตุที่นกชนิดนี้ทำรังตามรังมด ก็อาจเป็นไปได้ที่ต้องการแหล่งอาหาร คือ ไข่มด และตัวอ่อนของมด เพื่อเป็นอาหารให้แก่พ่อแม่นกและลูกนก
ชื่อชนิด brachyurus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า brachy หรือ brakhus แปลว่า สั้น และคำว่า ur,=a,-o หรือ -ouros แปลว่า หาง ความหมายก็คือ“นกที่มีหางสั้น” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ทั่วโลกพบประมาณ 10 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย badius Raffles, 1822 ชนิดย่อยนี้บริเวณคอหอยมีลายคล้ายเกล็ด พบครั้งแรกของโลกในประเทศมาเลเซีย ในไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป
– ชนิดย่อย phaioceps Blyth, 1845 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำ2คำที่มาจากคำว่า phae,-o หรือ phaios เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่า สีเทา และคำว่า =ceps เป็นรากศัพท์ภาษาละตินสมัยใหม่ แปลว่า หัว ความหมายก็คือ“นกที่มีหัวเป็นสีเทา” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
– ชนิดย่อย williamsoni Boden Kloss, 1918 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย นักปักษีบางท่านก็จัดชนิดย่อยนี้เป็นชื่อพ้องของชนิดย่อย phaioceps แต่บางท่านก็ถือว่าเป็นคนละชนิดย่อยกัน ในไทยพบทางภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้เหนือคอคอดกระ
นกหัวขวานสีตาล ชนิดย่อย phaioceps ตัวเมีย
สกุลนี้ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว ในเมืองไทยพบอาศัยตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 900 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในอินเดีย-จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
10. นกหัวขวานด่างแคระ
ชื่อสามัญ : Grey-capped Pygmy Woodpecker ; Grey-crowned Pygmy Woodpecker ; Grey-headed Pygmy Woodpecker ; Pygmy Pied Woodpecker
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Yungipicus canicapillus Blyth, 1845
ชื่อพ้อง : Dendrocopos canicapillus Blyth, 1845
วงศ์ : PICIDAE
นกหัวขวานด่างแคระ ชนิดย่อย canicapillus ตัวเมีย
เดิมถูกจัดอยู่ในสกุล Dendrocopos เช่นเดียวกับนกหัวขวานด่างส่วนใหญ่ในเอเชีย แต่ผลวิเคราะห์ทางชีวเคมีเผยว่าจริงๆแล้วเจ้าด่างแคระและญาติตัวจิ๋วมีเชื้อสายใกล้ชิดกับนกหัวขวานด่างในสกุล Picoides มากกว่า(ซึ่งสกุลนี้ไม่มีรายงานการพบในเมืองไทย) จึงถูกแยกออกมาจากสกุลเดิม
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 13-15.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผากถึงกระหม่อมมีสีเทา ใบหน้าสีน้ำตาล หลังตาถึงท้ายทอยมีแถบสีขาว ลำตัวด้านบนสีดำและมีลายขวางสีขาว ปีกสีดำและมีจุดสีขาวเรียงกันเป็นแถบปีก ขนคลุมโคนขนหางด้านบนและขนหางคู่กลาง2คู่มีสีดำ ขนหางคู่อื่นๆมีลายพาดสีขาว ซึ่งบางตัวมีมาก บางตัวมีน้อย คางและคอสีขาวหม่นและมีลายขีดสีเทา ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมเทา และมีลายขีดสีดำกระจาย
ตัวผู้มีแถบสีแดงขนาดเล็กทางด้านข้างของหัว ซึ่งบางครั้งมองเห็นแถบนี้ได้ยากมาก ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่แถบสีแดงขนาดเล็กทางด้านข้างของหัวเปลี่ยนเป็นสีดำ
มักพบเป็นคู่ แต่อาจพบอยู่ร่วมกับนกกินแมลงต่างๆ พฤติกรรมทั่วไปคล้ายกับนกไต่ไม้มาก ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนกไต่ไม้(Nuthatch)หากดูจากพฤติกรรม ชอบเกาะตามลำต้นไม้พุ่มที่ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก จนกระทั่งถึงยอดไม้สูง เคลื่อนไหวไปรอบๆลำต้นหรือกิ่งไม้ด้วยการกระโดด ขณะเดียวกันก็ใช้ปากจิกและแคะเปลือกไม้ให้หลุดเพื่อหาอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ มด ปลวก ผึ้ง หนอน และแมลง เมื่อพบอาหารก็จะใช้ลิ้นที่ยาวและเหนียวแหย่เข้าไปตามโพรง รู หรือใต้เปลือกไม้ แล้วตวัดเอาแมลงเข้าปากเป็นอาหาร บางครั้งพบกินผลไม้เปลือกอ่อน เช่น ไทร เป็นต้น บ้างพบกินน้ำหวานจากดอกไม้ เช่น งิ้ว ทองกวาว ทองหลางป่า เป็นต้น บ่อยครั้งเราจะพบเห็นในช่วงเช้าที่มันเกาะอยู่ตามยอดไม้เพื่อผึ่งแดด
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงไม้ ซึ่งอาจเป็นลำต้นหรือกิ่งไม้ ทั้งไม้ยืนต้นที่ค่อนข้างผุ ไม้เนื้ออ่อน หรือไม้เนื้อแข็งปานกลางที่อยู่สูงจากพื้นดินราว 5-10 เมตร โดยจะใช้ปากขุดเจาะสร้างโพรงเอง ปากโพรงกว้างราว 3-4 ซม. ลึกตามแนวขนาน 10-20 ซม. และลึกตามแนวลำต้นหรือกิ่งไม้ 20-40 ซม. หากเป็นโพรงตามกิ่งไม้ ปากโพรงมักจะอยู่ทางด้านล่างของกิ่ง
วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ไข่สีขาว ใช้เวลาฟักไข่ราว 12-13 วัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่ลืมตา ไม่มีขนคลุมร่างกาย และยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อลูกนกมีอายุราว 30 วัน จึงแข็งแรงและบินได้ดี ก่อนแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง และทิ้งรังไป
นกหัวขวานด่างแคระ ชนิดย่อย canicapillus ตัวเมีย
เสียงร้องแหลมเร็วดังว่า“ชิก-อิ๊ด ชิก-อิ๊ด ชิก-อิ๊ด”
ชื่อชนิด canicapillus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า can หรือ canus แปลว่า สีเทา และคำว่า capill,-a หรือ capillus แปลว่า ขน ความหมายก็คือ“นกที่มีขนเป็นสีเทา” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์
ทั่วโลกพบชนิดนี้ 15 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 4 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย auritus Eyton, 1845 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า aur,-i,-icul,=is,-it แปลว่า หู และคำว่า -tus เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“บริเวณขนคลุมรูหูมีสีเด่น” พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศมาเลเซีย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีเข้มกว่าชนิดย่อย canicapillus และขนหางคู่กลางมีลายจุดจางกว่ามาก ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้บริเวณ จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา
– ชนิดย่อย canicapillus Blyth, 1845 ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชนิด ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
– ชนิดย่อย delacouri Meyer de Schauensee, 1938 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อบุคคล พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกที่จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีสีจางและลายขีดที่อกไม่ชัดเจน ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก
– ชนิดย่อย pumilus Hargitt ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ pumil,-io,-o แปลว่า แคระ ความหมายก็คือ“นกที่มีขนาดเล็ก” พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ ในเมืองไทยนั้นชนิดย่อยนี้พบทางภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระจนถึง จ.สตูล
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 7 ชนิด(แยกออกมาจากสกุล Dendrocopos) ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าละเมาะ ป่าชายหาด ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,830 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี รัสเซียด้านตะวันออก เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน
11. นกปรอดหัวสีเขม่า
ชื่อสามัญ : Black-capped Bulbul ; Sooty-headed Bulbul ; White-eared Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus aurigaster Vieillot, 1818
วงศ์ : PYCNONOTIDAE
นกปรอดหัวสีเขม่า ชนิดย่อย klossi
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 19-21 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวด้านบนสีดำและมีหงอนสั้นเป็นสัน แก้มและคอสีเทาแกมขาว ปากขนาดเล็ก ปลายปากแหลม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทา ตะโพกสีขาว หางสีดำ มีลายพาดสีออกขาวบริเวณขนคลุมโคนขนหางด้านบน ปลายหางสีขาวหรือสีขาวแกมเทา ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเทาจนถึงสีเทา มีภาวะสีขน2แบบ(dimorphic) คือ บางตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีแดง และบางตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง บางตัวอาจดูเป็นสีส้ม
มักพบเป็นคู่หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ ปกติอาศัยหากินตามต้นไม้ ทั้งตามลำต้น กิ่งก้าน และยอดไม้ และบ่อยครั้งลงมายังพื้น อาหารได้แก่เมล็ด ผลไม้ แมลง และหนอน พฤติกรรมการกินอาหารที่เป็นผลไม้นั้น จะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลินกินทั้งผล เช่น ไทร หว้า ตะขบ อบเชย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น มะละกอ ชมพู่ มะม่วง เป็นต้น จะใช้ปากจิกกินผลไม้สุกคาต้นทีละชิ้น โดยไม่มีการเด็ดผลออกจากขั้ว หากเป็นอาหารที่เป็นแมลงและหนอนจะจิกกินตามลำต้น กิ่งก้าน และบนพื้น บางครั้งโฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ
ชนิดที่มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีแดง อาจพบอยู่ร่วมกับชนิดที่มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีผลกำลังสุก แต่ปกติมักจะแยกฝูงกัน ไม่ค่อยจะอยู่ในฝูงเดียวกัน
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยตามกิ่งก้านของไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือกอไผ่ วัสดุทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า แล้วรองพื้นรังด้วยใบไม้และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่ง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาดไข่ 1.55 x 2.11 ซม. สีขาวแกมชมพู มีลวดลายต่างๆสีน้ำตาลแกมม่วงทั่วฟองไข่ ตัวเมียจะวางไข่ในตอนเช้าตรู่ และวางทุกๆ 24 ชั่วโมง จนกระทั่งครบรัง ระยะเวลาฟักไข่ราว 13-14 วัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
เสียงร้องแหบแห้งว่า“แอ่-แอ่ด”หรือ“วิ-วิ-วี่-วี่” คล้ายเสียงคนบ่นหรือพูดคุยตลอดเวลา
ชื่อชนิด aurigaster เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ 2 คำ คือ คำว่า aur,-ar,-at,-e,-ro หรือ aurum เป็นรากศัพท์ภาษาละตินแปลว่า สีทอง และคำว่า gast,=er,-ero,-r,-ro เป็นรากศัพท์ภาษากรีกแปลว่า ท้อง ความหมายก็คือ“นกที่มีบริเวณท้องเป็นสีทองหรือสีเหลือง” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศจีน
นกปรอดหัวสีเขม่า ชนิดย่อย klossi
ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 5 ชนิดย่อย ได้แก่
– ชนิดย่อย germani Oustalet, 1878 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในเมืองโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สำหรับในประเทศไทยพบชนิดย่อยนี้ในจังหวัดอุบลราชธานี
– ชนิดย่อย klossi Gyldenstolpe, 1920 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในจังหวัดลำพูน ประเทศไทย แพร่กระจายในเมียนมาร์ด้านตะวันออกเฉียงใต้ และไทย สำหรับในประเทศไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
– ชนิดย่อย latouchei Deignan, 1949 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศลาว แพร่กระจายในจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ไทย ลาวตอนเหนือ และเวียดนามตอนเหนือ สำหรับในประเทศไทยพบชนิดย่อยนี้บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนเหนือในจังหวัดเชียงราย
– ชนิดย่อย schauenseei Delacour, 1943 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในจังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ และไทย สำหรับในประเทศไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก
– ชนิดย่อย thais Boden Kloss, 1924 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของสถานที่ คือ ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้ทุกตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง แพร่กระจายในไทย และลาว โดยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก
ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ประมาณ 45-47 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่เกษตรกรรม ชายป่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และพื้นที่เปิดโล่งตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,830 เมตร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบที่อุทยานฯน้ำหนาว บริเวณลานกางเต็นท์
12. นกปรอดหัวตาขาว
ชื่อสามัญ : Flavescent Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus flavescens Blyth, 1845
วงศ์ : PYCNONOTIDAE
นกปรอดหัวตาขาว
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 21.5-22 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวสีเขียวอมเทาและมีหงอนสั้นๆ ซึ่งจะชี้ฟูขึ้นในช่วงตกใจ(ดูคล้ายนกปรอดหน้านวล) หัวตาด้านบนและคิ้วสั้นๆมีสีขาว แต่บางตัวก็มีสีขาวไม่ชัดเจนนัก มีแถบสีดำพาดจากมุมปากไปจรดตา ตาสีดำ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียว สีเขียวแกมเหลือง หรือสีเขียวไพล ปีกสีเขียวแกมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมเขียวและมีขีดจางๆ ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีเหลือง ก้นสีเหลือง
ชื่อไทย“นกปรอดหัวตาขาว” มาจากสีขาวที่อยู่ระหว่างตากับปากเหนือแถบสีดำ แต่บางตัวก็มีสีขาวที่หัวตาไม่ชัดเจนนัก
ช่วงไม่โตเต็มวัยจะมีสีสันจืดชืดเมื่อเทียบกับนกโตเต็มวัย รวมทั้งลายแถบที่พาดระหว่างบริเวณหัวตามีขนาดเล็กและเป็นสีเหลือง
นกปรอดหัวตาขาว
มักพบเป็นคู่ หรืออยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือเป็นฝูงเล็กๆ ไม่กลัวคน มักพบอาศัยและหากินตามกิ่งไม้ระดับสูง พุ่มไม้ หรือยอดหญ้าในระดับเตี้ยใกล้พื้นดิน
กินผลไม้เป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับนกปรอดส่วนใหญ่ แต่ก็จับแมลงและสัตว์ขนาดเล็กกินด้วย โฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ นอกจากนี้ยังกินเมล็ดไม้ของสนสองใบและสนสามใบ
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยบนง่ามของพุ่มไม้ที่อยู่สูงจากพื้นไม่เกิน 3 เมตร ด้วยวัสดุจากรากเฟิน เถาวัลย์ กิ่งไม้เล็กๆ และใบไม้แห้ง ซึ่งอาจจะเชื่อมวัสดุต่างๆให้ติดกันด้วยใยแมงมุม รองพื้นรังด้วยดอกหญ้าหรือใบไม้แห้ง เมื่อมีสิ่งรบกวน มักจะทิ้งรังทันที แล้วไปสร้างรังใหม่ที่อาจจะอยู่ห่างไกลจากที่เดิมพอควร วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง หายากที่มี 4 ฟอง ไข่สีครีมอ่อน มีลายต่างๆสีออกแดงและสีเทาอ่อนทั่วทั้งฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน บางครั้งจะพบลูกนกรุ่นก่อนๆและญาติโกโหติกาของครอบครัวช่วยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกนกอีกด้วย
เสียงร้องแหบห้าวดังว่า“เชอ้อบ”
นกปรอดหัวตาขาว
ชื่อชนิด flavescens เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ flav หรือ flavus แปลว่า สีเหลืองแกมสีทอง และคำว่า -escens เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีสีเหลืองแกมทอง” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย
ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย vividus Stuart Baker, 1917 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ vivida แปลว่า โลดโผน ความหมายก็คือ“นกที่ไม่ค่อยหยุดนิ่งอยู่กับที่” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองตะนาวศรี ประเทศเมียนมาร์
พบอาศัยตามพื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งหญ้า ชายป่า ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตร ขึ้นไป โดยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนล่าง
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
ชนิดย่อย vividus แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม
พบที่อุทยานฯภูหินร่องกล้า ตามริมถนน
ความในใจของผู้เขียน
เงื่อนไขของการท่องเที่ยวธรรมชาติทางป่าด้วยใจรัก ประการสำคัญก็คือเพียงเพื่อแสวงหาทำความรู้จักกับตัวเองและโลกกว้าง ซึ่งเป็นเหตุผลที่หาจุดสิ้นสดไม่ได้ แม้จนบัดนี้ เชื่อเถอะต่อให้เดินทางกระทั่งถึงวันสุดท้ายก็ยังไม่ถึงจุดหมาย เนื่องจากป่าแต่ละป่าและโมงยามแต่ละครั้ง แม้จะคล้ายแต่ก็ไม่เหมือน มันไม่มีที่สิ้นสุดโดยความเป็นจริง สิ่งที่ได้รับชัดเจนที่สุดก็คงจะไม่มีอื่นใดเกิน นั่นคือความเสรีอิสระแห่งแก่นแท้ของมนุษย์ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ มันเป็นที่สุดของที่สุดที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ
บริเวณหน่วยต้นน้ำฯ อุทยานฯภูหินร่องกล้า
ธรณีวิทยาที่น่าสนใจ ณ อุทยานฯภูหินร่องกล้า
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..