ยลผีเสื้อ สัตว์ป่า และพรรณไม้ในอุทยานฯปางสีดา จ.สระแก้ว

อุทยานแห่งชาติปางสีดาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทือกเขาพนมดงรัก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500,320.22 ไร่ สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำของลำห้วยหลายสายที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำบางปะกง โดยลักษณะของพื้นที่จะมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ เมื่อฝนตกหนักปริมาณน้ำฝนจากเทือกเขาไหลลงสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความลาดชันค่อนข้างสูง

ลานกางเต็นท์ที่หน่วยฯห้วยน้ำเย็น

อุทยานฯปางสีดา เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ามรดกโลก“ดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ที่แห่งนี้ได้รับการยกย่องจากนักดูผีเสื้อให้เป็น“ดินแดนผีเสื้อแห่งผืนป่าตะวันออก” ซึ่งจากการสำรวจของสมาคมรักษ์ปางสีดาและนักดูผีเสื้อ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พบผีเสื้อกลางวันมากกว่า 500 ชนิด และคาดว่าจะมีรายงานการพบชนิดเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ประมาณปลายเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม จะมีฝูงผีเสื้อจำนวนมากมาบินออกจากป่ามารวมตัวกันที่โป่งเทียม สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก จากนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็จะเริ่มมีผีเสื้อป่าทยอยออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นตามโป่ง ทุ่งหญ้า ต้นไม้ และดอกไม้ ซึ่งเสน่ห์ของผีเสื้อ ณ ปางสีดา คือ ตื่นตา พบง่าย หลากหลาย ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูผีเสื้อ คือ ช่วงเวลาประมาณ 9.00-12.00 น.ในวันฟ้าเปิด ไม่มีเมฆฝน และอาจดูได้ถึงช่วงบ่าย

ทางอุทยานฯจึงได้จัดเทศกาลดูผีเสื้อปางสีดาเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่14 เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้พบความสวยงามของเหล่าผีเสื้อหลากชนิด และได้เรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขาอย่างสนุกสนาน โดยมีเจ้าหน้าที่ฯคอยให้ความรู้

ต่างตื่นตื่นใจกับการบันทึกภาพผีเสื้อ

เทศกาลดูผีเสื้อปางสีดาปีนี้ มีพิธีเปิดงานฯในวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน ซึ่งคาดว่าวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน คงมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนและเพื่อนพ้องจึงเลื่อนเดินทางไปในสัปดาห์ถัดไป

จุดที่นักท่องเที่ยวสามารถชมผีเสื้อได้นั้น จะมีอยู่ 12 จุดใหญ่ แต่ที่นิยมมากที่สุดมีอยุ่ 4 จุด คือ

น้ำตกปางสีดา อยู่เลยที่ทำการอุทยานฯไปเพียงเล็กน้อย มีที่จอดรถด้านขวามือ นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าเข้าไปยังบริเวณลานหินของน้ำตก และสามารถชมผีเสื้อได้ตลอดเส้นทางเดินจนถึงตัวน้ำตก

โป่งผีเสื้อ จุดนี้อยู่เลยน้ำตกปางสีดาไปราว 300 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถขับรถเข้าไปเที่ยวชมได้เอง โดยมีเจ้าหน้าที่ฯคอยดูแลอำนวยความสะดวกและให้ความรู้ รวมทั้งมีการแจกคู่มือดูผีเสื้อแบบแผ่นพับให้แก่นักท่องเที่ยวใช้ศึกษาด้วย

ลานหินดาด จุดนี้นักท่องเที่ยวจะต้องติดต่ออุทยานฯเพื่อใช้รถของทางอุทยานฯพาเข้าไป เนื่องจากเป็นเส้นทางค่อนข้างลำบาก หากมาถูกช่วงเวลาก็จะเห็นผีเสื้อนับแสนๆตัวบินอวดโฉมอย่างเพลินตาเพลินใจ

หน่วย ปด.5 หรือหน่วยฯห้วยน้ำเย็น จุดนี้อยู่เลยจากโป่งผีเสื้อขึ้นไปกว่า 10 กม. สภาพถนนค่อนข้างจะเละในช่วงฤดูฝน รอบๆหน่วยฯห้วยน้ำเย็นมีผีเสื้อให้ชื่นชมหลากชนิด โดยเฉพาะบริเวณริมลำธารจะมีฝูงผีเสื้อบินว่อนโฉบไปมาจนละลานตา

การเดินทางจากกรุงเทพฯ – อ.เมือง จ.สระแก้ว ระยะทาง 256 กม. จากนั้นเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 3462(สายสระแก้ว-บ้านคลองน้ำเขียว) ระยะทางประมาณ 27 กม. ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯปางสีดา

แผนที่การเดินทางสู่อุทยานฯปางสีดา

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานฯปางสีดา โทร.081-862-1511 หรือ อุทยานแห่งชาติปางสีดา ตู้ ปณ. 55 ตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 27000

การเดินทางของผู้เขียนในครั้งนี้เน้นยลโฉมผีเสื้อเป็นหลัก ส่วนพรรณไม้และสัตว์ป่าอื่นเป็นผลพลอยได้จากการท่องเที่ยวท่ามกลางธรรมชาติอันพิสุทธิ์ในช่วงป่าฉ่ำฝน

ในที่นี้ขอแบ่งสัตว์ป่าและพรรณไม้ที่พบออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ ผีเสื้อกลางวัน(44 ชนิด) ผีเสื้อกลางคืน(11 ชนิด) และสัตว์ป่า(12 ชนิด) พรรณไม้ป่า(9 ชนิด) และเห็ด(1 ชนิด)


ผีเสื้อกลางวัน


พบหลายชนิด ซึ่งบันทึกภาพได้ 44 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่

1. ผีเสื้อลายใต้เลอะ

ชื่อสามัญ : Tree Flitter

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hyarotis adrastus Stoll, 1780

วงศ์ย่อย : HESPERIINAE

วงศ์ : HESPERIIDAE

ผีเสื้อลายใต้เลอะ

ยังไม่มีรายละเอียดของผีเสื้อชนิดนี้มากนัก คงรู้แต่ว่ามีขนาด 3.4-3.8 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีสีน้ำตาลเข้ม กลางปีกมีแถบสีขาวพาดยาวไม่สม่ำเสมอบนปีกทั้งสองคู่ ใกล้มุมปลายปีกของปีกคู่หน้ามีจุดสีขาว3จุดเรียงต่อกัน ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

วงจรชีวิตระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอน 30-35 วัน และระยะดักแด้ 7-8 วัน

ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย praba Moore, 1865

พบตามทุ่งหญ้า และป่าโปร่งทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย จีน ฮ่องกง เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

2. ผีเสื้อหนอนพุทราธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Pierrot

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Castalius rosimon Fabricius, 1775

วงศ์ย่อย : MILETINAE

วงศ์ : LYCAENIDAE

ผีเสื้อหนอนพุทราธรรมดา

ผีเสื้อหนอนพุทราธรรมดา

มีขนาด 2.4-3.2 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกคู่หลังที่มุมปลายปีกหลังมีเส้นขนเล็กๆข้างละ1เส้น

ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีขาว ขอบปีกสีดำ กลางปีกมีจุดสีดำประปราย โคนปีกมีเกล็ดสีฟ้าหรือสีน้ำเงินจางๆกระจาย ใกล้มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีจุดสีดำ ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีขาว มีแต้มจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วทั้งปีก

วงจรชีวิตระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอน 16-20 วัน และระยะดักแด้ 5-11 วัน

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย rosimon Fabricius, 1775

มักพบตอมดอกไม้ตามริมทางเดิน ชายป่า ทุ่งหญ้า ลำห้วย และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน ฮ่องกง เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และติมอร์

3. ผีเสื้อหนอนถั่ว

ชื่อสามัญ : Bean Butterfly ; Peablue

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lampides boeticus Linnaeus, 1767

วงศ์ย่อย : POLYOMMATINAE

วงศ์ : LYCAENIDAE

ผีเสื้อหนอนถั่ว

มีขนาด 2.4-3.6 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกคู่หลังที่มุมปลายปีกหลังมีเส้นขนเล็กๆข้างละ1เส้น

ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีม่วง มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีจุดสีดำ ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล กลางปีกมีสีฟ้าอ่อน มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีจุดสีดำแต้มสีส้ม

ปีกด้านล่างของทั้งสองเพศคล้ายกัน พื้นปีกสีน้ำตาลอ่อน มีเส้นลวดลายสีขาวและสีน้ำตาล มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีจุดสีแต้มสีส้ม2จุด

พบตามทุ่งหญ้า ลำห้วย และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในทวีปเอเชียตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปออสเตรเลีย หมู่เกาะแปซิฟิก ทวีปแอฟริกา และทวีปยุโรปด้านตะวันตก

4. ผีเสื้อขอบไร้จุด

ชื่อสามัญ : Common Quaker

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neopithecops zalmora Butler, 1870

วงศ์ย่อย : POLYOMMATINAE

วงศ์ : LYCAENIDAE

ผีเสื้อขอบไร้จุด

ผีเสื้อขอบไร้จุด

มีขนาด 2-3 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม กลางปีกคู่หน้ามีแต้มสีขาวจางๆ ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกสีขาว ขอบปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลเข้ม โคนปีกคู่หลังมีสีน้ำตาล

ปีกด้านล่างทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายผีเสื้อดำจุดขอบ(Forest Quaker) มีพื้นปีกสีขาว ขอบปีกด้านข้างมีลายเส้นขีดสีดำเรียงต่อกันตามแนวขอบปีก ไม่มีสีน้ำตาลอ่อนที่ขอบปีกเหมือนผีเสื้อดำจุดขอบ ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หลังมีจุดสีดำใหญ่1จุด ขอบปีกด้านในมีจุดสีดำขนาดเล็กกว่า1จุด

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย zalmora Butler, 1870

พบตามทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

5. ผีเสื้อสีอิฐธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Yeoman

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cirrochroa tyche Felder & Felder, 1861

วงศ์ย่อย : ACRACINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อสีอิฐธรรมดา

มีขนาด 6.5-7.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีเหลืองเข้มจนถึงสีน้ำตาลส้ม ปีกทั้งสองคู่มีลวดลายสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำจางๆ มีจุดสีดำเล็กๆระหว่างเส้นปีก ขอบปีกสีดำบางๆ และมีลวดลายซิกแซกขนานขอบปีก ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกออกไปทางสีน้ำตาลอมเขียวและมีลวดลายคล้ายกับตัวผู้

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายกับปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า เห็นจุดและลวดลายจางๆเป็นสีน้ำตาลแดง

วงจรชีวิตระยะไข่ 3-7 วัน ระยะหนอน 15-27 วัน และระยะดักแด้ 9-19 วัน

ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย mithila Moore, 1872 แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในเมืองไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

– ชนิดย่อย rotundata Butler, 1879 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในเมืองไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

ขณะเกาะมักกางปีก ขาคู่แรกลดรูป ชอบเกาะดูดน้ำหวานของดอกไม้ที่มีแสงแดดส่องถึง พบอาศัยอยู่ตามลำห้วย ป่าดิบ และป่าโปร่ง

6. ผีเสื้ออไซเรี่ยนใหญ่

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้ออะซีเรี่ยนใหญ่

ชื่อสามัญ : Large Assyrian

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terinos atlita Fabricius, 1787

วงศ์ย่อย : ACRACINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้ออไซเรี่ยนใหญ่

มีขนาด 7-8 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปลายปีกของผีเสื้อชนิดนี้ตัดเป็นเหลี่ยม ปีกด้านบนมีพื้นปีกมีสีน้ำตาลเข้มแกมดำ กลางปีกมีสีน้ำเงินเหลือบม่วง โคนปีกคู่หลังสีม่วงแกมดำ ปีกคู่หลังบริเวณขอบปีกด้านข้างและด้านล่างมีสีเหลืองจางๆ มีลวดลายรูปพระจันทร์เสี้ยวเรียงต่อกัน ปลายปีกคู่หลังมีหางยื่นแหลมเล็กน้อย

ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อนกว่าปีกด้านบน และไม่มีสีน้ำเงินเหลือบม่วงและสีเหลืองเหมือนปีกด้านบน

ผีเสื้ออไซเรี่ยนใหญ่

ผีเสื้ออไซเรี่ยนใหญ่

ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย militum Oberthür, 1877 แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในเมืองไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

– ชนิดย่อย teuthras Hewitson,1862 แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย ในเมืองไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

พบอาศัยตามลำห้วย และป่าดิบ

7. ผีเสื้ออไซเรี่ยนเล็ก

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้ออะซีเรี่ยนเล็ก

ชื่อสามัญ : Royal Assyrian

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terinos terpander Hewitson, 1862

วงศ์ย่อย : ACRACINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้ออไซเรี่ยนเล็ก

ผีเสื้ออไซเรี่ยนเล็ก

เป็นผีเสื้อที่มีขนาดเล็กที่สุดในสกุล Terinos มีขนาด 5.5-7.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกมีสีน้ำตาลไหม้ กลางปีกคู่หลังมีสีน้ำเงินเหลือบม่วง ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังเป็นมุมแหลมยื่นที่เส้นปีก ขอบปีกล่างของปีกคู่หลังสีน้ำตาลอมส้มจนถึงสีเหลือง

ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลแดง มีเส้นลวดลายสีเทา ไม่มีสีเหลือบน้ำเงิน

ผีเสื้ออไซเรี่ยนเล็ก

ผีเสื้ออไซเรี่ยนเล็ก

ทั่วโลกพบ 10 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย intermedia Godfrey, 1916 แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในเมืองไทยพบเฉพาะทางภาคตะวันออก

– ชนิดย่อย robertsia Butler, 1867 ปีกด้านบนบริเวณขอบปีกล่างของปีกคู่หลังไม่มีสีเหลือง แต่เป็นแต้มสีขาว และปีกด้านล่างจะมีแต้มสีขาวบริเวณขอบปีกล่างของปีกคู่หลัง อันเป็นตำแหน่งเดียวกับแต้มสีขาวของปีกด้านบน แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในเมืองไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

พบอาศัยตามลำห้วย และป่าโปร่ง

8. ผีเสื้อม้าเขียวธรรมดา

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา

ชื่อสามัญ Common Nawab

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyura athamas Drury, 1773

วงศ์ย่อย : CHARAXINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อม้าเขียวธรรมดา

มีขนาด 6-8.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ลำตัวอ้วนป้อมสีดำอมเทา ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมคล้ายหนามข้างละ2แฉก ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ต่างกันที่ตัวผู้มีสีเข้มกว่า

ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีแถบสีเหลืองอมเขียวพาดต่อเนื่องกันกลางปีกทั้งสองคู่ มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีแต้มจุดสีเหลืองแกมเขียวจนถึงสีเขียวอ่อนเรียงกัน2จุด(ขนาดใหญ่1จุด และขนาดเล็ก1จุด) ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่แถบกลางปีกจะเป็นสีเขียวอ่อนและมีลวดลายตามขอบแถบด้านนอก เป็นรูปคล้ายพระจันทร์เสี้ยวเรียงยาวตามแนวแถบ โดยเฉพาะลวดลายตอนบนที่ดูคล้ายรูปหัวใจ ใกล้โคนปีกคู่หน้ามีจุดเล็กๆสีดำ2จุด

วงจรชีวิตระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอน 30-40 วัน ระยะดักแด้ 8-10 วัน และระยะตัวเต็มวัย 10-20 วัน

ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย athamas Drury, 1773

ขณะเกาะมักหุบปีก พบตามชุมชน ลำห้วย ป่าดิบบ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในทิเบต จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

9. ผีเสื้อม้าขาวประดับเพชร

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร

ชื่อสามัญ : Jewelled Nawab

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyura delphis Doubleday, 1843

วงศ์ย่อย : CHARAXINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อม้าเขียวประดับเพชร

มีขนาด 9.5-10 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลืองอ่อน ปีกคู่หน้าตั้งแต่กลางปีกจนถึงมุมปลายปีกหน้ามีสีดำ และมีจุดสีเหลืองอ่อน2จุดในสีดำ ปีกคู่หลังมีแต้มสีดำรูปเคียวตามช่องเส้นปีก

ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีขาว ปีกคู่หน้าตั้งแต่กลางปีกจนถึงมุมปลายปีกหน้ามีสีเทาอ่อน แต้มด้วยสีน้ำตาลและขีดสีเทาเข้ม กลางปีกใกล้โคนปีกมีจุดสีเทาล้อมรอบด้วยเส้นสีดำอยู่ประปราย ตามแนวขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลอ่อนและแต้มสีน้ำตาลเข้มเรียงกัน บางส่วนของปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมคล้ายหนาม3แฉก

ชอบดูดน้ำตามริมน้ำที่ชื้นแฉะ มูลสัตว์ ผลไม้สุก

ผีเสื้อม้าเขียวประดับเพชร

ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย concha Vollenhoeven, 1861 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในเมืองไทยพบตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไปจนถึงภาคใต้

– ชนิดย่อย delphis Doubleday, 1843 แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในเมืองไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไปทางภาคใต้

พบตามลำห้วย ป่าดิบ และป่าโปร่ง

10. ผีเสื้อจรกามลายู

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อจรกาเหลือบฟ้า

ชื่อสามัญ : Blue King Crow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euploea camaralzeman Butler, 1866

วงศ์ย่อย : DANAINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อจรกามลายู

มีขนาด 11-13 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ผีเสื้อในสกุลนี้จำแนกได้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ต้องดูจากจุดสีขาวที่ปีกด้านบน ซึ่งมีพื้นปีกสีดำเหลือบน้ำเงิน เมื่อแสงส่องกระทบจะเห็นเป็นสีน้ำเงินแวววาว

ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ กลางปีกคู่หน้ามีสีเหลือบน้ำเงิน และมีจุดสีขาวบริเวณขอบปีกด้านข้าง ปีกคู่หลังบริเวณขอบปีกด้านข้างมีจุดสีขาวเรียงกัน 2 แถว

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกบน แต่ไม่มีสีเหลือบน้ำเงิน

ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย camaralzeman Butler, 1866 มีลักษณะตามที่กล่าวมาข้างต้น พบตามป่าโปร่งเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในเมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

– ชนิดย่อย malayica Butler, 1878 มีจุดสีขาวที่ปีกคู่หน้าบริเวณกลางปีกไปจนถึงมุมปลายปีก พบทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

11.ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ

ชื่อสามัญ : Common Indian Crow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euploea core Cramer, 1780

วงศ์ย่อย : DANAINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ

มีขนาด 7.5-9.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ปีกคู่หน้าของแต่ละชนิดย่อยจะแตกต่างกัน แต่ปีกคู่หลังทั้ง3ชนิดย่อยมีลักษณะเหมือนกัน คือ มีจุดสีขาวเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง2แถว

ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

ทั่วโลกพบ 21 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย godartii Lucas, 1853 ปีกด้านบนบริเวณมุมปลายปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลจางเกือบขาว กลางปีกมีสีเหลือบน้ำเงินเล็กน้อย บินช้าในลักษณะร่อน แพร่กระจายในเมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

– ชนิดย่อย graminifera Moore, 1883 ปีกด้านบนมีแต้มสีขาวเรียงกันขวางมุมปลายปีกคู่หน้า แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลฌวีย อินโดนีเซีย นิวกินี และออสเตรเลีย ในไทยพบทั่วทุกภาค

– ชนิดย่อย layardi Druce,1874 ปีกด้านบนบริเวณมุมปลายปีกคู่หน้าและขอบปีกด้านข้างมีจุดสีขาว แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในไทยพบทางภาคใต้

วงจรชีวิตระยะไข่ 4 วัน ระยะหนอน 9-22 วัน และระยะดักแด้ 6-14 วัน

ช่วงตัวหนอนมีลวดลายสีสวย มีรยางค์นิ่ม4คู่ สามารถปรับตัวกินพืชได้หลายชนิด ซึ่งล้วนเป็นพืชที่มียางและมีพิษ นกจึงไม่ชอบกินหนอนสกุลนี้เป็นอาหาร ส่วนระยะดักแด้มีรูปร่างคล้ายกระดิ่งสีทองที่สวยงาม

พบได้ตามชุมชน ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง

12. ผีเสื้อจรกาฟ้าป่าต่ำ

ชื่อสามัญ : Plain Blue Crow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euploea modesta Butler, 1866

วงศ์ย่อย : DANAINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อจรกาฟ้าป่าต่ำ

มีขนาด 6-6.4 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเหลือบสีน้ำเงินอมม่วง ส่วนปีกด้านล่างมีสีน้ำตาลและประดับด้วยจุดสีขาวเรียงตามขอบปีกคู่หลัง2แถว

ทั่วโลกพบ 18 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย modesta Butler, 1866

พบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

13. ผีเสื้อลายเสือฟ้าเข้ม

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าใหญ่

ชื่อสามัญ : Dark Blue Tiger

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tirumala septentrionis Butler, 1874

วงศ์ย่อย : DANAINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อลายเสือฟ้าเข้ม

มีขนาด 8.5-9.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) มีลักษณะและสีสันคล้ายผีเสื้อลายเสือฟ้าสีคล้ำ(Dark Blue Glassy Tiger) แต่ต่างกันที่ผีเสื้อชนิดนี้บริเวณกลางปีกคู่หลังมีแถบลักษณะแตกต่างกัน

ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำเงินเข้ม หรือสีน้ำตาลเข้ม มีแถบและจุดสีฟ้าจางๆและสีขาวทั่วทั้งปีก ปีกคู่หน้ามีเส้นสีฟ้าขนาดใหญ่และยาวกว่าเส้นอื่น ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกบน

แยกเพศโดยสังเกตจากเกล็ดที่ปีกคู่หลัง ซึ่งตัวผู้มี แต่ตัวเมียไม่มี

ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย septentrionis Butler, 1874

พบอาศัยอยู่ตามป่าดิบ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

14. ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา

ชื่อสามัญ : Leopard Lacewing

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cethosia cyane Drury, 1773

วงศ์ย่อย : HELICONIINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา ตัวผู้

ปีกมีขนาด(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) 8.5-9.5 ซม. ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะและสีสันคล้ายผีเสื้อกะทกรกแดง(Red Lacewing) แต่ต่างกันที่ผีเสื้อชนิดนี้ ตัวผู้มีพื้นปีกด้านบนสีเหลืองส้มมากกว่า ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกด้านบนสีน้ำตาลอมเทา นอกจากนี้สิ่งที่แตกต่างจากผีเสื้อกะทกรกแดงอย่างเห็นได้ชัด คือ ชนิดนี้มีแถบสีขาวพาดขวางกลางปีกคู่หน้า ซึ่งผีเสื้อกะทกรกแดงไม่มี

ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีเหลืองส้ม ปีกคู่หน้าตั้งแต่กลางปีกไปจนถึงมุมปลายปีกคู่หน้ามีสีดำ และมีแถบสีขาวพาดขวางบนพื้นสีดำ ขอบปีกหยักเว้า ปีกคู่หลังมีจุดสีดำเป็นแนวอยู่ตอนล่าง ขอบปีกสีน้ำตาลเข้มและมีลวดลายซิกแซกสีขาวคล้ายลายผ้าลูกไม้ ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีพื้นปีกสีน้ำตาลอมเทา

ปีกด้านล่างของตัวผู้มีสีคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า โคนปีกสีเหลืองอมส้ม มีเส้นลวดลายเป็นริ้วและจุดสีดำทั่วทั้งปีก ปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวพาดขวางเช่นเดียวกับปีกด้านบน ส่วนตัวเมียมีสีเหลืองอ่อนตั้งแต่กลางปีกจนถึงขอบปีก ตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีสีเหลืองอ่อนตั้งแต่กลางปีกจนถึงขอบปีก

หนวดเป็นแบบกระบอง ปากแบบดูดกิน ปีกบางใสและมีเกล็ดปกคลุม ขาเป็นแบบขาเดิน โดยขาคู่แรกลดรูป

วางไข่เป็นกลุ่ม ประมาณ 30-70 ฟอง วงจรชีวิตระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอน 18-20 วัน ระยะดักแด้ 7-9 วัน และระยะตัวเต็มวัย 14-15 วัน

ระยะหนอนกินใบพืช เช่น กะทกรก เสาวรส ผักบุ้ง เป็นต้น ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานจากดอกไม้

ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย euanthes Fruhstorfer, 1912

พบอาศัยอยู่ตามชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

15. ผีเสื้อจ่าเซลล์ทึบ

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อจ่าเซลทึบ

ชื่อสามัญ : Staff Sergeant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Athyma selenophora Kollar, 1844

วงศ์ย่อย : LIMENITIDINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อจ่าเซลล์ทึบ ตัวผู้

มีขนาด 5.5-7.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีดำคล้ายตัวผู้ของผีเสื้อจ่าคาม่า(Orange Staff Sergeant) กลางปีกมีแถบสีขาวเรียงต่อเนื่องกันเป็นแถบเดียว ปลายแถบสีขาวมีแต้มกลมรูปไข่และต่อด้วยรูปสามเหลี่ยมคล้ายคนใส่หมวก โคนปีกคู่หน้ามีเส้นสีแดงส้มขาดเป็น2ท่อน ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกสีดำเช่นกัน แต่มีลวดลายคล้ายผีเสื้อจ่ามลายู(Malay Staff Sergeant) คือ โคนปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวรูปกระบอง ต่างกันที่แถบสีขาวที่อยู่ต่อจากปลายแถบรูปกระบองบนปีกคู่หน้าจะไม่เป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจนเหมือนกับผีเสื้อจ่ามลายู

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่มีสีอ่อนกว่า

ผีเสื้อจ่าเซลล์ทึบ ตัวผู้

ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย amharina Moore, 1898 แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย ในไทยพบทางภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้

– ชนิดย่อย bahula Moore, 1858 ชนิดย่อยนี้มีขนาดเล็กกว่า ปีกด้านบนของตัวผู้มีสีน้ำตาลแดงแกมดำ แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ไทย ลาว และกัมพูชา ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

พบอาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณที่มีความชื้นสูง

16. ผีเสื้อบารอนจุดแดง

ชื่อสามัญ : Red-spot Baron

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euthalia djata Distant & Pryer, 1887

วงศ์ย่อย : LIMENITIDINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อบารอนจุดแดง ตัวเมีย

ผีเสื้อบารอนจุดแดง ตัวเมีย

มีขนาด 6-8 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลแกมเขียว มีแต้มสีแดง-ดำเฉพาะตามแนวขอบปีกตอนท้ายของปีกคู่หลัง และบริเวณมุมปลายปีกคู่หลังมีแต้มจุดสีแดง1จุด ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ขนาดใหญ่กว่า ปีกคู่หน้ามีแต้มขนาดใหญ่สีขาวจำนวนมาก และปีกคู่หลังมีแต้มสีส้มพาดเป็นแนวต่อเนื่องกัน

ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า และปีกทั้งสองคู่มีแต้มสีแดง

ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย siamica Riley & Godfrey, 1925

พบตามป่าโปร่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

แพร่กระจายในไทย ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย

17. ผีเสื้ออ๊าชดุ๊คจุดฟ้า

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้ออาซดุ๊คจุดฟ้า

ชื่อสามัญ : Blue-spot Archduke

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lexias albopunctata Crowley, 1895

วงศ์ย่อย : LIMENITIDINAE

ลักษณะวงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้ออ๊าชดุ๊คจุดฟ้า ตัวผู้

ผีเสื้ออ๊าชดุ๊คจุดฟ้า ตัวผู้

ไม่มีรายละเอียดข้อมูลของผีเสื้อชนิดนี้ คงรู้แต่เพียงว่ามีขนาด 7-11 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลแกมดำ ปีกคู่หน้าบริเวณขอบปีกตอนบนมีจุดสีเหลืองประปราย ใกล้มุมปลายปีกคู่หน้ามีจุดสีขาว2จุด(ใหญ่1จุด และเล็ก1จุด) ส่วนปีกคู่หลังมีจุดสีฟ้าเรียงเป็นแนว ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาล ปีกคู่หน้ามีแต้มสีขาวทั่วทั้งปีก ใกล้มุมปลายปีกคู่หน้ามีจุดสีขาว2จุด(ใหญ่1จุด และเล็ก1จุด)ตรงกับตำแหน่งปีกด้านบน ปีกคู่หลังบริเวณกลางปีกมีจุดสีขาวแกมเหลืองประปราย

ปีกด้านบนของตัวเมียมีพื้นปีกสีดำ มีแต้มจุดสีขาว(ขนาดใหญ่กว่าตัวผู้)ทั่วทั้งปีก และมีแต้มสีฟ้าอ่อนตามขอบปีก ส่วนปีกด้านล่างคู่หน้ามีพื้นปีกสีน้ำตาล มีแต้มจุดสีขาวตรงกับตำแหน่งปีกด้านบน ปีกคู่หลังมีสีเทาแกมขาว มุมปีกตอนบนเป็นสีน้ำตาล กลางปีกมีแต้มสีขาวประปราย

ผีเสื้ออ๊าชดุ๊คจุดฟ้า ตัวเมีย

ผีเสื้ออ๊าชดุ๊คจุดฟ้า ตัวเมีย

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย albopunctata Crowley, 1895 แพร่กระจายในไทย กัมพูชา และเวียดนาม ในเมืองไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

– ชนิดย่อย borealis Hanaqfusa, 1990 แพร่กระจายในไทย และลาว ในเมืองไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือ

พบอาศัยตามป่าโปร่ง

18. ผีเสื้อหนอนมะพร้าวขนปุย

ชื่อสามัญ : Common Palmking

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amathusia phidippus Linnaeus, 1763

วงศ์ย่อย : MORPHINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อหนอนมะพร้าวขนปุย

มีขนาด 10-12.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้ ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาล มีเส้นสีขาวขนาดใหญ่หลายเส้นพาดยาวตามแนวขนานกับลำตัวต่อเนื่องกันของปีกทั้งสองคู่ ปีกคู่หลังมีจุดวงกลมใกล้มุมปลายปีกหน้า1จุด และมุมปลายปีกหลัง1จุด

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย phidippus Linnaeus, 1763

พบตามป่าดิบ และป่าไผ่ร่มครึ้มทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

19.ผีเสื้อโคอินัวร์

ชื่อสามัญ : Koh-I-Noor

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amathuxidia amythaon Doubleday, 1847

วงศ์ย่อย : MORPHINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อโคอินัวร์

มีขนาด 11-16 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เป็นผีเสื้อขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างและลวดลายสวยงาม โดยตัวผู้และตัวเมียมีสีสันแตกต่างกัน

ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มคล้ายผีเสื้อพระเสาร์ธรรมดา(Common Saturn) แต่ชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่า ตัวผู้มีแถบสีฟ้าพาดขวางกลางปีกคู่หน้าเหมือนผีเสื้อพระเสาร์ธรรมดา แต่ชนิดนี้แถบจะใหญ่เกือบเต็มแผ่นปีกคู่หน้า บริเวณมุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีสีฟ้า ส่วนตัวเมียมีแถบขนาดใหญ่สีขาวครีมพาดกลางปีกคู่หน้า และมีแถบสีขาวเลอะๆตามช่องเส้นปีกจากบริเวณขอบปีกด้านข้างมาจนถึงกลางปีกทั้งสองคู่

ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีขาวขุ่นหรือสีน้ำตาลอ่อน มีเส้นสีน้ำตาลจางๆพาดยาว ปีกคู่หลังมีจุดวงกลมขนาดใหญ่บริเวณกลางปีกเยื้องไปทางขอบปีกด้านนอก1จุด และมุมปลายปีกหลังอีก1จุด

พบได้ตามป่าไผ่ร่มครึ้ม และป่าดิบ ในเมืองไทยมีรายงานการพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่ ชนิดย่อย anamensis Talbot, 1932 พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออก แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ไทย และลาว , ชนิดย่อย amythaon Doubleday, 1847 พบทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และชนิดย่อย dilucida Honrath , 1884 พบทางภาคใต้ตามชายแดนไทย-มาเลเซีย แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

20.ผีเสื้อไผ่ลายธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Duffer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Discophora sondaica Boisduval, 1836

วงศ์ย่อย : MORPHINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อไผ่ลายธรรมดา

มีขนาด 8-9 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปลายปีกคู่หน้าแหลม

ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลอมม่วง ปีกคู่หน้ามีแต้มจุดสีขาวอมฟ้าประปราย ตามขอบปีกและปีกคู่หลังไม่มีหรือมีน้อยจนแทบมองไม่เห็น ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล ปีกคู่หน้ามีแต้มจุดสีเหลืองและจุดสีขาวอมฟ้าประปรายมากกว่าตัวผู้ บริเวณใกล้ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หน้ามีแถบสีขาว ปีกคู่หลังมีแต้มจุดสีครีมประปราย เห็นได้ชัดเจน

ส่วนปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน คือ มีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อน และมีลวดลายจางๆ แต่ตัวผู้จะมีสีเข้มกว่าตัวเมีย ตั้งแต่กลางปีกไปหาขอบปีกด้านนอกทั้งสองคู่จะมีสีขาวเป็นคราบ ปีกคู่หลังมีจุดสีน้ำตาลเข้มล้อมรอบด้วยสีดำ2จุด

ผีเสื้อไผ่ลายธรรมดา

วงจรชีวิตของผีเสื้อชนิดนี้ คือ วางไข่ใต้ใบไผ่ประมาณ 15-20 ฟอง ระยะไข่ 7-9 วัน ระยะหนอน 35-105 วัน(หนอนระยะเเรกจะมีลำตัวสีดำคาดด้วยเส้นขาว มีขนสีขาวปนดำทั่วทั้งตัว มีหางโผล่ให้เห็นเล็กน้อย หัวมีสีส้มเกือบเเดง หนอนจะอยู่กันเป็นกลุ่มใต้ใบไม้ เเละทำการเอาใบไม้สองใบชักใยมาปิดใส่กันคล้ายรังมดเเดง ; หนอนระยะที่สองมีลำตัวสีดำคาดขาวคล้ายระยะเเรก เเต่ที่เเตกต่างคือ หนอนมีหัวเปลี่ยนเป็นสีดำ ลำตัวใหญ่ขึ้นนิดหน่อย ; หนอนระยะที่สามมีลำตัวอาจดูได้ว่าเป็นสีขาวคาดด้วยดำ มีขนสีขาวทั่วทั้งตัว หัวมีสีดำ มีหางสีดำ 1 คู่ ; หนอนระยะที่สี่มีลำตัวสีดำ ด้านข้างลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน เเละมีเส้นสีน้ำตาลพาดยาวจากหัวไปท้าย เเละด้านข้างลำตัวจะมีจุดสีเเดงเรียงกันตามยาวจากหัวไปท้าย ; หนอนระยะที่ห้าจะมีลำตัวเป็นสีครีมเยอะกว่าสีดำ เเละขนจะสีครีม) และระยะดักแด้ 10-25 วัน(ดักเเด้มี2แบบ คือ ดักเเด้ที่เป็นสีชมพูอ่อน และดักแด้ที่เป็นสีเขียวอ่อน ทั้ง2แบบต่างเขา2เขา)

ทั่วโลกพบ 10 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย zal Westwood, 1851

พบตามป่าดิบ และป่าไผ่ที่รกครึ้ม ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนามตอนใต้

21.ผีเสื้อพระเสาร์ธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Saturn

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zeuxidia amethystus Butler, 1865

วงศ์ย่อย : MORPHINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อพระเสาร์ธรรมดา

เป็นผีเสื้อขนาดใหญ่ มีขนาด 11-12 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีน้ำตาล ตัวผู้มีแถบสีฟ้าเข้มจนถึงสีน้ำเงินสะท้อนแสงพาดขวางกลางปีกคู่หน้า บริเวณมุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีสีฟ้าจนถึงสีน้ำเงินสะท้อนแสง ส่วนตัวเมียมีแถบและจุดสีขาวครีมจนถึงสีเหลืองอ่อนพาดขวางกลางปีกคู่หน้า

ส่วนปีกด้านล่างของทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อนคล้ายใบไม้แห้ง กลางปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวจางๆ ปีกคู่หลังมีจุดวงกลม2จุด บริเวณมุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังยื่นแหลม

ทั่วโลกพบประมาณ 12 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย amethystus Butler, 1865

มักพบเกาะพื้นดินหรือก้อนหินในป่าทึบ ซึ่งสังเกตได้ยาก เนื่องจากมีสีสันกลมกลืนกับธรรมชาติ พบทางภาคตะวันออก และภาคใต้

แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

22.ผีเสื้อแผนที่เล็ก

ชื่อสามัญ : Little Map

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrestis themire Honrath, 1884

วงศ์ย่อย : NYMPHALINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อแผนที่เล็ก

ผีเสื้อแผนที่เล็ก

มีขนาด 4.5-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบนมีพื้นปีกสีขาว ขอบปีกด้านข้างมีแถบหนาสีน้ำตาลเข้ม บนพื้นปีกสีขาวมีเส้นลายสีเหลืองพาดยาวในแนวเดียวกับลำตัว ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายกับปีกด้านบน

ขณะเกาะกินอาหารมักกางปีกกึ่งกนึ่ง ไม่กางราบเหมือนผีเสื้อแผนที่ชนิดอื่น

พบตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในเมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

(อนึ่ง นักวิชาการบางท่านรายงานว่าในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่ ชนิดย่อย siamensis Fruhstorfer, 1898 พบเฉพาะในไทย และชนิดย่อย themire Honrath, 1884 แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในไทยพบทางภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้)

23.ผีเสื้อแพนซีสีตาล

ชื่อสามัญ : Lemon Pansy

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Junonia lemonias Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : NYMPHALINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อแพนซีสีตาล

มีขนาด 4.5-5.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลค่อนข้างเข้ม ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หน้ามีแถบสีขาว ปีกคู่หน้ามีจุดวงกลมขนาดเล็ก(สีดำล้อมรอบด้วยสีส้ม)1จุดอยู่ใกล้มุมปีกตอนบน และมีจุดวงกลมขนาดใหญ่1จุด(สีดำล้อมรอบด้วยสีส้ม)ใกล้ขอบปีกตอนกลาง ปีกคู่หลังมีจุดวงกลมขนาดใหญ่1จุด(สีดำล้อมรอบด้วยสีส้ม)ใกล้ขอบปีกตอนบน ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่พื้นปีกสีน้ำตาลอ่อน และมีลวดลายจางๆ

วงจรชีวิตของผีเสื้อชนิดนี้ คือ ระยะไข่ 4-6 วัน ระยะหนอน 13-60 วัน และระยะดักแด้ 7-38 วัน

ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย lemonias Linnaeus, 1758

พบตามสวนไม้ดอกในชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง และป่าชายเลน ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

24.ผีเสื้อสายัณห์สีตาลธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Evening Brown

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melanitis leda Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : SATYNINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า..ผีเสื้อสายัณห์สีตาละรมดา

ผีเสื้อในสกุลนี้มีพื้นปีกสีน้ำตาลคล้ายใบไม้แห้ง ซึ่งดูกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ อีกทั้งส่วนใหญ่ไม่ชอบบิน แต่เกาะอยู่นิ่งๆ ทำให้มองเห็นได้ยาก สำหรับชนิดนี้มีขนาด 6-8 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปลายปีกเป็นเหลี่ยม ขอบปีกเว้า

ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หน้าบริเวณค่อนไปทางปลายปีกหน้ามีจุดขนาดใหญ่สีดำ2จุด และบนจุดสีดำมีแต้มสีขาวอยู่ภายใน ปีกคู่หลังใกล้กับมุมปลายปีกหลังมีจุดสีดำขนาดเล็ก1จุด โดยมีแต้มสีขาวอยู่ภายในจุดสีดำ

ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลและมีลวดลายคล้ายใบไม้แห้ง มีจุดสีดำที่มีขอบสีเหลืองทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเรียงกันตามแนวใกล้ขอบปีกทั้งสองคู่ ภายในทุกจุดมีแต้มสีขาว

วงจรชีวิตของผีเสื้อชนิดนี้ คือ ระยะไข่ 8 วัน ระยะหนอน 18-27 วัน และระยะดักแด้ 7-8 วัน

ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย leda Linnaeus, 1758

พบตามชุมชน และป่าโปร่ง โดยเฉพาะตามป่าไผ่ ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย หมู่เกาะอันดามัน ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

25.ผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียง

ชื่อสามัญ : Dark-brand Bushbrown

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycalesis mineus Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : SATYNINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียง

มีขนาด 3.5-4.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนและด้านล่างมีลักษณะคล้ายผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง(Common Bushbrown) แต่ต่างกันที่ชนิดนี้ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดวงกลมที่กลางปีกคู่หน้า1จุด ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกบน แต่สีอ่อนกว่า ตามแนวขอบปีกด้านข้างทั้งสองคู่มีจุดวงกลมใหญ่เล็กเรียงกัน โดยปีกคู่หน้ามี2จุด และปีกคู่หลังมี7จุด ถัดจากแนวจุดมีเส้นสีขาวพาดยาวต่อเนื่องกันของปีกทั้งสองคู่

วงจรชีวิตของผีเสื้อชนิดนี้ คือ ระยะไข่ 4-10 วัน ระยะหนอน 25-50 วัน และระยะดักแด้ 7-16 วัน

พบตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในทวีปเอเชีย

26. ผีเสื้อตาลพุ่มพม่า

ชื่อสามัญ : Burmese Bushbrown

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycalesis perseoides Moore, 1892

วงศ์ย่อย : SATYRINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า..ผีเสื้อตาลพุ่มพม่า

มีขนาด 4-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม กลางปีกคู่หน้ามีจุดวงกลมใหญ่1จุด ลักษณะคล้ายผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียง(Dark-brand Bushbrown) แต่ชนิดนี้มีจุดขนาดเล็กเหนือจุดใหญ่ข้างละ1จุด และมีขอบปีกสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อนกว่าปีกด้านบน มีจุดเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่ ลักษณะคล้ายผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง(Common Bushbrown) แต่ต่างกันที่ชนิดนี้มีจุดแต้มที่ปีกคู่หน้า3จุด และที่ปีกคู่หลัง7จุด

พบอาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และสิงคโปร์

27.ผีเสื้อหางดาบใหญ่

ชื่อสามัญ : ผีเสื้อหางดาบธรรมดา

ชื่อสามัญ : Fivebar Swordtail

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Graphium antiphates Cramer, 1775

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อหางดาบใหญ่

เป็นผีเสื้อกลุ่มหางติ่งที่ไม่มีติ่งหาง มีขนาด 8-9.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ลำตัวด้านข้างมีแถบสีดำยาวตลอดลำตัว

ปีกบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ สลับด้วยแถบสีเหลืองอมเขียว ขอบปีกด้านข้างมีแต้มสีดำระหว่างของเส้นปีก ขอบปีกคู่หลังหยักและมีปีกบางส่วนยื่นยาวเป็นติ่งปลายแหลมคล้ายหาง สีน้ำตาลเข้ม และมีแต้มสีเหลืองตรงมุมปลายปีกหลัง

ส่วนปีกด้านล่างบริเวณกลางปีกมีสีเหลืองอ่อน ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หน้ามีแถบหนาสีดำเรียงกัน โคนปีกคู่หลังมีสีเขียวอ่อน

(ใส่รูป46 ใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า..ผีเสื้อหางดาบใหญ่)

วงจรชีวิตระยะไข่ 4 วัน ระยะหนอน 20 วัน และระยะดักแด้ 8 วัน

ทั่วโลกพบประมาณ 17 ชนิดย่อย ในเมืองไทยมีรายงานการพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย itamputi Butler,1885 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในเมืองไทยพบทางภาคใต้

– ชนิดย่อย pompilius Fabricius, 1787 แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในเมืองไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พบตามพื้นที่ชุ่มชื้น ริมลำห้วย และป่าโปร่ง

28.ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแดงต่อ

ชื่อสามัญ : Spotted Jay

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Graphium arycles Boisduval, 1836

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแดงต่อ..ตัวหน้าสุด

เป็นผีเสื้อกลุ่มหางติ่งที่ไม่มีติ่งหาง มีขนาด 7-8 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อหนอนจำปีธรรมดา(Tailed Jay) คือ พื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีแถบและแต้มสีเขียวอ่อนทั่วปีกทั้ง2คู่ แต่ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังไม่มีติ่งหางยื่นออกไป

ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกบน แต่แถบสีเขียวจางกว่า และที่ปีกคู่หลังมีแต้มสีแดงบริเวณขอบปีกด้านในและโคนปีก

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยมีรายงานการพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย arycles Boisduval, 1836 แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในเมืองไทยพบตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ลงไปทางภาคใต้

– ชนิดย่อย sphinx Fruhstorfer, 1899 แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในเมืองไทยพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

พบเกาะตามพื้นที่ชื้นแฉะ โดยพบได้ตามลำห้วยในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

29.ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก

ชื่อสามัญ : Common Jay

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Graphium doson C. & R. Felder, 1864

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก

 มีขนาด 7-8 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปลายหนวดงอขึ้น ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อสะพายฟ้า(Common Bluebottle) ขณะบินจะแยกออกได้ยากมาก ผีเสื้อชนิดนี้มีพื้นปีกด้านบนสีน้ำตาลเข้ม มีจุดแต้มสีฟ้าทั่วปีก โดยเฉพาะมีแถบสีฟ้าอ่อนขนาดใหญ่เรียงพาดกลางปีก ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังไม่มีติ่งหาง

ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่แถบสีฟ้ามีสีอ่อนกว่า และจะเว้นช่องห่างๆ(แต่ผีเสื้อสะพายฟ้านั้นแถบสีฟ้านี้จะเรียงชิดติดกัน) ขอบปีกด้านในของปีกคู่หลังมีแต้มสีแดง บริเวณโคนปีกคู่หลังมีขีดสีแดงสั้นๆอยู่ระหว่างแถบสีฟ้า

วงจรชีวิตระยะไข่ 3 วัน ระยะหนอน 20 วัน และระยะดักแด้ 11-20 วัน

วางไข่บนใบไม้เเบบฟองเดี่ยว หนอนระยะแรกมีสีน้ำตาลเข้ม เเละเหมือนมีเขาสีน้ำตาลอ่อนเรียงกัน 3 คู่ มีหางสีขาว 1 คู่ หางเเละเขามีขนเส้นเล็กๆรอบเขาเเละหาง หัวมีสีน้ำตาลอ่อน

หนอนระยะที่สอง เขา2คู่เริ่มเป็นสีดำ ส่วนเขาอีก1คู่ที่อยู่ใกล้หัวยังเป็นสีน้ำตาล หางมีสีขาว บริเวณด้านข้างลำตัวใกล้กับขาจะมีเเถบสีขาวพาดยาว หัวมีสีชมพู

หนอนระยะที่สาม เขาทั้ง3คู่เป็นสีดำ หางสีขาว เเถบสีขาวที่ข้างลำตัวกว้างขึ้นเล็กน้อย หัวมีสีชมพู

หนอนระยะที่สี่ ลำตัวสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย เขาเริ่่มหดลงสั้นมากจนเหมือนเป็นดวงตาไว้หลอกศัตรู มีหางสีขาว1คู่ หัวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แถบสีขาวที่อยู่ด้านข้างลำตัวหายไป เเต่มีจุดสีเหลืองเรียงตัวกันจากส่วนหัวไปหาส่วนท้ายตามปล้องของลำตัว

หนอนระยะสุดท้าย ลำตัวเปลี่ยนเป็นสีเขียว เวลาอยู่นิ่งๆชอบหดหัวให้เห็นเเต่จุดที่เป็นเหมือนดวงตาอยู่1คู่ มีจุดสีเขียวเรียงที่ข้างลำตัวตามปล้อง หางสีเหลือง และหัวสีเหลืองอมเขียว

ผีเสื้อหนอนจำปีจุดแยก

เมื่อเข้าสู่ระยะดักแด้จะชักใยรัดลำตัวไว้ที่ใต้ใบไม้หรือกิ่งของต้นไม้ ลักษณะดักเเด้มีสีเขียว เเละมีกระสีเขียวเข้มทั่วทั้งตัว มีส่วนที่ยื่นแหลมออกมาจากดักเเด้ตรงส่วนหัว เเละมีเส้นสีเหลือง4เส้นลากจากท้ายมารวมกันที่จุดปลายแหลม

ทั่วโลกพบ 14 ชนิดย่อย ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย axion C. & R. Felder, 1864

ชอบหากินตามพื้นที่แฉะๆ หรือตามซากสัตว์เน่า ขณะกินอาหารจะเกาะอยู่นาน ต่างจากขณะบินที่ไม่ค่อยชอบเกาะนานๆ พบตามลำห้วยในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

30.ผีเสื้อสะพายฟ้า

ชื่อสามัญ : Common Bluebottle

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Graphium sarpedon Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อสะพายฟ้า..ตัวขวา

 มีขนาด 8-9.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ กลางปีกจากปลายปีกหน้าจรดมุมปีกหลังมีแถบโทนสีฟ้าอมเขียว ไล่จากสีอ่อนจนถึงสีแก่ ใกล้โคนปีกของปีกคู่หน้าและมุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีแต้มสีแดง

ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกบน แต่สีพื้นปีกอ่อนกว่าเล็กน้อยย

วงจรชีวิตระยะไข่ 3-7 วัน ระยะหนอน 17-24 วัน และระยะดักแด้ 10-30 วัน

ทั่วโลกพบ 11 ชนิดย่อย ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย sarpedon Linnaeus, 1758

พบตามริมลำห้วยลำธารหรือตามพื้นที่ชื้นแฉะในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

31.ผีเสื้อเชิงลายมหาเทพสยาม

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อหางติ่งมหาเทพ

ชื่อสามัญ : Siamese Raven

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio castor Westwood, 1842

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อเชิงลายมหาเทพสยาม

เป็นผีเสื้อกลุ่มหางติ่งที่ไม่มีติ่งหาง มีขนาด 8-11 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อในสกุลจรกา(Euploea) แต่ชนิดนี้มีพื้นปีกสีน้ำตาลดำเหลือบสีทอง กลางปีกคู่หน้ามีจุดสีขาวเล็กๆ1จุด ปีกคู่หลังมีแต้มสีขาวครีมเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง โดยในตัวผู้จะเห็นแต้มสีขาวครีมเด่นชัด แต่ในตัวเมียจะสีจางกว่ามาก ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีดำ ไม่มีเหลือบสีทอง

ผีเสื้อเชิงลายมหาเทพสยาม

ทั่วโลกพบประมาณ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ mahadeva Moore, 1879

พบตามริมลำน้ำในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในเมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

32.ผีเสื้อหางติ่งสะพายขาว

ชื่อสามัญ : Banded Swallowtail

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio demolion Cramer, 1776

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อหางติ่งสะพายขาว

ผีเสื้อหางติ่งสะพายขาว

มีขนาด 9-10 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนดูเผินๆคล้ายผีเสื้อหางติ่งธรรมดา(Common Mormon) มีพื้นปีกสีดำ ปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวครีมวงรีรูปไข่เรียงต่อกันจากขอบปีกด้านในไปยังมุมปลายปีกหน้า ปีกคู่หลังมีแต้มสีขาวครีมรูปจันทร์เสี้ยวเรียงกันตามขอบปีกด้านข้าง และขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวคล้ายหาง

ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาล โคนปีกสีขาวครีม กลางปีกทั้งสองคู่มีแถบสีขาวคล้ายปีกด้านบน และมีแต้มสีดำประปราย

ผีเสื้อหางติ่งสะพายขาว

ผีเสื้อหางติ่งสะพายขาว

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ demolion Cramer, 1776

พบตามริมลำน้ำในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

33.ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน

ชื่อสามัญ : Red Helen

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio helenus Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน..ตัวซ้ายบน

มีขนาด 11.5-13 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อหางติ่งชะอ้อน ชนิดย่อย chaon Westwood, 1845 คือมีพื้นปีกสีดำ แต่ปีกคู่หลังของชนิดนี้มีแต้มสีแดงเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง มีแถบสีขาวบริเวณกลางปีก3แถบ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวคล้ายหาง ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

บินได้ว่องไวมาก โดยมักชอบบินในระดับสูงไม่เกิน 3 เมตร

วงจรชีวิตระยะไข่ 4 วัน ระยะหนอน 26 วัน และระยะดักแด้ 19 วัน

ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ helenus Linnaeus, 1758

พบตามริมลำน้ำในป่าดิบ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

34.ผีเสื้อหางติ่งนางละเวง

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อถุงเงิน , ผีเสื้อหางติ่งนางระเวง

ชื่อสามัญ : Great Mormon

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio memnon Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อหางติ่งนางละเวง ตัวผู้

มีขนาด 12-15 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีดำ บางส่วนของปีกคู่หน้ามีสีออกเทาเล็กน้อย ปีกคู่หลังมีสีเหลือบน้ำเงิน

ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีดำ มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีสีแดงและแต้มสีดำ

ตัวผู้และตัวเมียต่างกันเด่นชัดที่ตัวผู้มีแต้มสีแดงเฉพาะโคนปีกด้านล่างทั้ง2คู่ ส่วนตัวเมียมีแต้มสีแดงทั้งที่โคนปีกด้านบนและโคนปีกด้านล่างทั้ง2คู่ นอกจากนี้ตัวเมียมีสีสันและลวดลายบนปีกที่แตกต่างจากตัวผู้อย่างชัดเจน

ผีเสื้อหางติ่งนางละเวง ตัวเมีย ชนิดย่อย agenor

วงจรชีวิตระยะไข่ 3-7 วัน ระยะหนอน 15-19 วัน และระยะดักแด้มากกว่า 11 วัน

ทั่วโลกพบตัวผู้เพียงชนิดเดียว ส่วนตัวเมียมีถึง 14 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 7 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย agenor Linnaeus, 1758 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ปีกคู่หลังมีแถบสีขาวและแต้มสีดำเรียงกันตามช่องเส้นปีก แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในเมืองไทยพบทั่วทุกภาค

– ชนิดย่อย alcanor Cramer, 1777 ลำตัวส่วนท้องมีสีเหลือง ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาว มีแถบสีขาวข้างละ4จุด และมีแต้มสีแดงที่ขอบปีกด้านล่างคล้ายตัวเมียของผีเสื้อหางติ่งธรรมดา(Common Mormon) แต่ต่างกันที่ขนาดและพื้นสีดำของปีกชนิดนี้มีมากกว่า

– ชนิดย่อย butlerianus Rothschld, 1895 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่พื้นปีกคู่หน้ามีสีขาวจางๆ

– ชนิดย่อย distantianus Rothschld, 1895 ลำตัวส่วนท้องมีสีเหลือง ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาว มีแถบสีขาวและสีแดงคล้ายผีเสื้อหางติ่งธรรมดา แต่ชนิดนี้มีขนาดปีกที่ใหญ่กว่ามาก

– ชนิดย่อย esperi Butler, 1879 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีแต้มสีขาวที่ปีกคู่หน้า

– ชนิดย่อย rhetenorina Jordan, 1909 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีสีซีดกว่า และบริเวณโคนปีกมีสีแดงและสีดำเข้ม มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีแต้มสีแดงและสีดำ

– ชนิดย่อย vinius Linnaeus, 1758 มีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ปีกคู่หลังบริเวณใกล้ขอบปีกด้านในมีสีขาวจางๆ

ผีเสื้อหางติ่งนางละเวง ตัวเมีย ชนิดย่อย distantianus

พบตามที่ชื้นแฉะ ริมลำธาร และตามทางเดินในป่าที่มีแสงแดดสาดส่อง ตัวผู้มักพบเกาะดูดน้ำตามที่ชื้นแฉะและริมลำธาร ส่วนตัวเมียจะชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้ โดยพบได้ตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ริมลำน้ำในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

35.ผีเสื้อหางติ่งชะอ้อน

ชื่อสามัญ : Black and White Helen

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio nephelus Boisduval, 1836

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อหางติ่งชะอ้อน ชนิดย่อย chaon

 มีขนาด 11.3-13 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) หนวดแบบกระบอง ปากแบบดูดกิน

ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อหางติ่งเฮเลน(Red Helen) คือ มีพื้นปีกสีดำ แต่ปีกคู่หลังของชนิดนี้ไม่มีแต้มสีแดงหรือสีชมพูที่ขอบปีกด้านข้าง และมีแถบสีขาวครีมบริเวณกลางปีกมากกว่า3แถบ(ปกติมี 4-5 แถบ) รวมทั้งมีแต้มรูปจันทร์เสี้ยวสีขาวครีมเรียงตามแนวขอบปีก ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวเป็นหางติ่งรูปใบพาย ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

ทั่วโลกพบ 10 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย annulus Pendlebury, 1936 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในเมืองไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

– ชนิดย่อย chaon Westwood, 1845 แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย ในเมืองไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

– ชนิดย่อย sunatus Corbet, 1940 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในเมืองไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

ผีเสื้อหางติ่งชะอ้อน ชนิดย่อย chaon

ทั้ง3ชนิดย่อยแตกต่างกันที่แถบสีขาวกลางปีกคู่หลัง โดยชนิดย่อย sunatus นอกจากจะมีแถบสีขาวกลางปีกคู่หลังแล้ว ยังมีแถบสีขาวพาดขวางกลางปีกคู่หน้า ส่วนชนิดย่อย annulus จะมีแถบสีขาวกลางปีกคู่หลังมากกว่าอีก2ชนิดย่อย

มักพบเกาะดูดน้ำตามที่ชื้นแฉะและริมลำธาร โดยพบได้ตามริมลำน้ำในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา

36.ผีเสื้อเชิงลายใหญ่

ชื่อสามัญ : Great Blue Mime

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio paradoxa Zincken, 1831

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อเชิงลายใหญ่

ผีเสื้อเชิงลายใหญ่

มีขนาด 9-12 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ทั้งตัวผู้และตัวเมียเลียนแบบตัวผู้ของผีเสื้อจรกาเมียลาย(Striped Blue Crow) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หน้าสีขาวจางๆเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

ในไทยพบด้วยกัน 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย aenigma Wallace, 1865 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

– ชนิดย่อย telearchus Hewitson, 1852 แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

พบตามริมลำห้วยและป่าโปร่ง

37.ผีเสื้อหางติ่งปารีส

ชื่อสามัญ : Paris Peacock

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio paris Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อหางติ่งปารีส

ผีเสื้อหางติ่งปารีส

มีขนาด 12-14 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีดำ แทรกด้วยเกล็ดสีน้ำเงินแกมเขียวสะท้อนแสง กลางปีกคู่หลังมีแถบขนาดใหญ่สีฟ้าอมเขียวสะท้อนแสง ขณะเกาะนิ่งนั้นแถบสีนี้จะถูกปิดทับด้วยปีกคู่หน้า มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีแต้มสีชมพูรูปจันทร์เสี้ยว และขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวคล้ายหาง

ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีดำ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีแต้มสีดำและขอบสีชมพูจนถึงสีแดงวางเรียงกัน

ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ paris Linnaeus, 1758

ตัวผู้มักพบเกาะดูดน้ำตามที่ชื้นแฉะและริมลำธาร ส่วนตัวเมียจะชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้ โดยพบได้ตามริมลำน้ำในป่าดิบ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน ฮ่องกง เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

38. ผีเสื้อเณรแอนเดอร์สัน

ชื่อสามัญ : Anderson’s Grass Yellow ; One-spot Yellow Grass

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema andersonii Moore, 1886

วงศ์ย่อย : COLIADINAE

วงศ์ : PIERIDAE

ผีเสื้อเณรแอนเดอร์สัน

มีขนาด 4-4.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อเณรธรรมดา(Common Grass Yellow) คือ พื้นปีกสีเหลือง ขอบปีกสีดำ บริเวณสีดำที่ต่อกับสีเหลืองในปีกคู่หน้านั้นจะหยักเว้า ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีเหลือง มีจุดเล็กๆสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป แต่มุมปลายปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลเลอะๆ

ทั่วโลกพบประมาณ 13 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

ชนิดย่อย andersonii Moore, 1886 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในไทยพบทางภาคใต้

ชนิดย่อย sadanobui Shirôzu & Yata, 1981 แพร่กระจายในจีน และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พบได้ตามทุ่งหญ้า ลำห้วย และป่าโปร่ง

39. ผีเสื้อเณรธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Grass Yellow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema hecabe Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : COLIADINAE

วงศ์ : PIERIDAE

ผีเสื้อเณรธรรมดา

มีขนาด 4-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ผีเสื้อกลุ่มนี้จำแนกชนิดได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีสีออกไปทางสีเหลือง และปีกล่างไม่มีลวดลายใดๆ แต่ละชนิดมีสีสันที่คล้ายกัน นอกจาจะใช้สีดำที่บริเวณขอบปีกบนเป็นจุดสังเกตแล้ว จุดแต้มสีน้ำตาลเล็กๆที่กระจายอยู่บนแผ่นปีกล่างก็มีส่วนช่วยในการแยกแต่ละชนิด

ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลือง ขอบปีกสีดำ บริเวณสีดำที่ต่อกับสีเหลืองในปีกคู่หน้านั้นจะหยักเว้าแตกต่างจากปีกคู่หลัง

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน เห็นสีดำจางๆของปีกบน มีจุดสีน้ำตาลเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป

ระยะหนอนกินใบของพืชสกุล Cassia และสกุล Senna เป็นอาหาร

ผีเสื้อเณรธรรมดา

ทั่วโลกพบ 16 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย hecabe Linnaeus, 1758

พบได้ตามชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา

40. ผีเสื้อเณรยอดไม้

ชื่อสามัญ : Tree-Yellow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gandaca harina Horsfield, 1829

วงศ์ย่อย : COLIADINAE

วงศ์ : PIERIDAE

ผีเสื้อเณรยอดไม้

มีขนาด 3.5-4.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลืองอ่อน มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีสีดำ บริเวณสีดำต่อกับสีเหลืองนั้นโค้งเรียบ ไม่หยักเว้า

ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีเหลืองอ่อนกว่าปีกด้านบนเล็กน้อย และไม่มีลวดลายใดๆ

วงจรชีวิตระยะไข่ 3-4 วัน ระยะหนอน 17-18 วัน และระยะดักแด้ 7-12 วัน

ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย burmana Moore, 1906

พบได้ตามทุ่งหญ้า ริมลำห้วย ป่าไผ่ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

41.ผีเสื้อหนอนใบกุ่มธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Albatross

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Appias albina Boisduval, 1836

วงศ์ย่อย : PIERINAE

วงศ์ : PIERIDAE

ผีเสื้อหนอนใบกุ่มธรรมดา ตัวเมีย

มีขนาด 5.5-7 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกคู่หน้าค่อนข้างยาว และปลายปีกแหลม

ปีกด้านบนของทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีขาว แต่ขอบปีกทั้ง2คู่ของตัวเมียจะมีสีดำมากกว่าตัวผู้ และกลางปีกคู่หน้าใกล้ขอบปีกด้านข้างมีจุดสีดำ1จุด

ปีกด้านล่างของตัวผู้มีพื้นปีกสีขาวครีม ไม่มีลวดลายใดๆ ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกคู่หน้าสีขาว ขอบปีกโดยรอบเป็นสีเหลืองอ่อน ปีกคู่หลังมีสีเหลืองอ่อน

ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย darada C. & R. Felder, 1865

มักชอบบินตามกันไปเป็นกลุ่ม เพื่อหาแหล่งอาหารตามพื้นที่ชื้นแฉะ และมักเกาะผึ่งปีกตามพุ่มไม้เตี้ยๆ พบได้ตามทุ่งหญ้า ริมลำห้วย และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย หมู่เกาะอันดามัน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

42.ผีเสื้อหนอนใบกุ่มเส้นดำ

ชื่อสามัญ : Striped Albatross

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Appias libythea Fabricius, 1775

วงศ์ย่อย : PIERINAE

วงศ์ : PIERIDAE

ผีเสื้อหนอนใบกุ่มเส้นดำ ตัวผู้

มีขนาด 5-6.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีขาว ขอบปีกด้านข้างสีดำ ดูคล้ายตัวผู้ของผีเสื้อหนอนใบกุ่มขอบตาลไหม้(Chocolate Albatross) แต่ชนิดนี้จะเห็นเส้นปีกสีน้ำตาลดำจนถึงสีดำได้ชัดเจน ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวเมียของผีเสื้อหนอนใบกุ่มขอบตาลไหม้ คือแผ่นปีกมีสีดำหนาเกือบเต็มแผ่นปีกทั้งสองคู่ แต่มีลักษณะของแถบสีขาวแตกต่างกัน

ผีเสื้อหนอนใบกุ่มเส้นดำ ตัวเมีย

ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีขาว ตัวผู้มีเส้นปีก แถบสีตามเส้นปีก และขอบปีกเป็นสีน้ำตาล โคนปีกมีแต้มสีเหลืองส้มจางๆเพียงเล็กน้อย ส่วนตัวเมียมีเส้นปีก แถบสีตามเส้นปีก และขอบปีกเป็นสีเขียวขี้ม้าแกมเหลือง โคนปีกมีแต้มสีเหลืองส้มขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

ในเมืองไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ ชนิดย่อย olferna Swinhoe, 1890

พบตามทุ่งหญ้า ริมลำห้วย และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในเอเชียตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

43. ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่

ชื่อสามัญ : Great Orange Tip

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hebomoia glaucippe Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : PIERINAE

วงศ์ : PIERIDAE

ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่ ตัวผู้

มีขนาด 8-10 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของตัวผู้มีพื้นปีกสีขาว มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีแถบสีส้มขนาดใหญ่ ตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีแต้มสีดำที่ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลัง

ส่วนปีกด้านล่างทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน คือ มีพื้นปีกสีน้ำตาลลายๆคล้ายใบไม้แห้ง

ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่ ตัวเมีย

ทั่วโลกพบ 28 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

ชนิดย่อย aturia Fruhstorfer, 1910 แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในไทยพบเฉพาะภาคใต้

ชนิดย่อย glaucippe Linnaeus, 1758 แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

ผีเสื้อปลายปีกส้มใหญ่

วงจรชีวิตระยะไข่ 4-6 วัน ระยะหนอน 18-90 วัน และระยะดักแด้ 12-100 วัน

พบตามพื้นทรายชื้นบริเวณชุมชน ทุ่งหญ้า ลำห้วย ป่าโปร่ง และป่าชายเลน

44. ผีเสื้อปลายปีกส้มเล็ก

ชื่อสามัญ : Yellow Orange Tip

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixias pyrene Linnaeus, 1764

วงศ์ย่อย : PIERINAE

วงศ์ : PIERIDAE

ผีเสื้อปลายปีกส้มเล็ก

มีขนาด 5-6 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีขาวอมเหลือง ปีกคู่หน้าตั้งแต่กลางปีกจนถึงมุมปลายปีกหน้ามีแถบสีเหลือง ขอบสีน้ำตาลดำจนถึงสีดำ ซึ่งแถบสีเหลืองของตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ และมีพื้นปีกสีคล้ำกว่า ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังเป็นสีดำและมีขนาดใหญ่กว่า

ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีเหลืองคล้ายกับกลุ่มผีเสื้อเณร

ผีเสื้อปลายปีกส้มเล็ก

ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย verna H. Druce, 1874 ชนิดนี้มีลักษณะดังข้อมูลข้างต้น แพร่กระจายในเมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย ในไทยพบทั่วทุกภาค

– ชนิดย่อย yunnanensis Fruhstorfer, 1902 ชนิดนี้ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลืองอ่อนแกมขาว แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ ในไทยพบเฉพาะทางภาคเหนือ

วงจรชีวิตระยะไข่ 4-12 วัน ระยะหนอน 20-47 วัน และระยะดักแด้ 8-16 วัน

ชอบเกาะดูดน้ำหรือตอมดอกไม้ในที่มีแสงแดดตามทุ่งหญ้า ริมลำห้วย และป่าโปร่ง


ผีเสื้อกลางคืน


พบผีเสื้อกลางคืนหรือที่เราเรียกกันว่า“มอธ”หลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 11 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่

1. Pseudalcis sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudalcis sp.

วงศ์ย่อย : ENNOMINAE

วงศ์ : GEOMETRIDAE

Pseudalcis sp.

2. มอธทองเฉียงพร้าขีด

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อหนอนคืบทองเฉียงพร้าขีด , มอธทองเฉียงพร้าป่า

ชื่อสามัญ : Inchworm Moth ; Military Dysphania Moth

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dysphania militaris Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : GEOMETRINAE

วงศ์ : GEOMETRIDAE

มอธทองเฉียงพร้าขีด หนอนระยะที่5

มีขนาด 6.5-8.4 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกคู่หน้าด้านบนบริเวณโคนปีกถึงกลางปีกมีสีเหลือง ส่วนที่เหลือเป็นสีน้ำเงิน และมีแต้มสีขาวบนสีน้ำเงิน ส่วนปีกคู่หลังด้านบนมีสีเหลืองและมีแต้มสีน้ำเงินประปราย ขอบปีกมีสีน้ำเงิน

บริเวณหัว อก และท้องสีเหลือง โดยเฉพาะท้องมีแถบสีน้ำเงินคาดขวางเป็นปล้องๆ หนวดเป็นแบบฟันหวี ตาเป็นแบบตารวม ปากเป็นแบบท่อดูดงวง ขาเป็นแบบขาเดิน

มอธทองเฉียงพร้าขีด หนอนระยะที่5 ตัวบน

ระยะเป็นตัวหนอนจะเกาะกินใบต้นเฉียงพร้านางแอ(Carallia brachiata Merr.) ตัวเต็มวัยมักออกหากินดูดน้ำหวานจากดอกไม้ในยามเช้าจนถึงสายๆ โดยชอบลงกินของเหลวตามกองมูลสัตว์กินเนื้อ พบตามป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

สกุลนี้ทั่วโลกพบอย่างน้อย 49 ชนิด สำหรับชนิดนี้แพร่กระจายในเอเชียใต้ จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3. Artena dotata Fabricius, 1794

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artena dotata Fabricius, 1794

วงศ์ย่อย : CATOCALINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

Artena dotata Fabricius, 1794

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่ว่ามีขนาด 6-7.9 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) หัว อก และท้องมีสีน้ำตาลทอง ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลทอง ปีกคู่หน้าบริเวณกลางปีกมี2เส้นดูคล้ายแถบเป็นรูปตัววี(V) ภายในแถบมีสีสว่างกว่าพื้นปีกนอกแถบ ขอบปีกด้านล่างมีสีขาวแกมฟ้า

พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.Ischyja manlia Cramer, 1776

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ischyja manlia Cramer, 1776

วงศ์ย่อย : CATOCALINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

Ischyja manlia Cramer, 1776 ตัวผู้

ตัวผู้มีขนาด 8-10 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ส่วนตัวเมียมีขนาด 9.6-11.8 ซม. หัวและอกสีน้ำตาลแดงจนถึงสีน้ำตาลดำ ท้องสีน้ำตาลอมดำจนถึงสีน้ำตาลแดง ขามีจุดสีขาวประปราย ปีกด้านบนคู่หน้าสีน้ำตาลแดงอ่อน สีน้ำตาลแกมเหลือง จนถึงสีน้ำตาลแดงเข้ม ส่วนปีกคู่หลังสีน้ำตาลแดงเข้ม

บริเวณอกและท้องของตัวผู้มีขนสีน้ำตาลแกมเทาปกคลุม ส่วนตัวเมียมีขนสีน้ำตาลดำปกคลุม

Ischyja manlia Cramer, 1776 ตัวเมีย

ระยะหนอนช่วงแรกมีสีน้ำตาลเข้ม ก่อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงอ่อน ด้านหลังของท้องปล้องที่8มีตุ่มยื่นออกมา 1 คู่ มีขาเทียม 5 คู่ กินใบไม้เป็นอาหาร เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะเจาะกินผลไม้เป็นอาหาร

สกุลนี้ทั่วโลกพบอย่างน้อย 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้ในเมืองไทยพบทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

5.Ommatophora luminosa Cramer, 1780

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ommatophora luminosa Cramer, 1780

วงศ์ย่อย : CATOCALINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

Ommatophora luminosa Cramer, 1780

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่ว่ามีขนาด 5.8-6 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หน้าบริเวณใกล้มุมปีกตอนล่างมีลวดลายเป็นวงคล้ายตานกฮูก ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่ไม่มีลวดลายเป็นวงคล้ายตานกฮูก

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ทิเบต จีน ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

6.Phyllodes consobrina Westwood, 1848

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllodes consobrina Westwood, 1848

วงศ์ย่อย : CATOCALINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

Phyllodes consobrina Westwood, 1848

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่ว่ามีขนาด 12.4-14.2 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า)

แพร่กระจายในทวีปเอเชีย

7. มอธพิรามหน้ายักษ์

ชื่อสามัญ : Contrasting Catocalin Moth ; Eyed Rustic Moth

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spirama helicina Hübner, 1831

วงศ์ย่อย : CATOCALINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

ใส่คำบรรยายใต้ภาพว่า..มอธพิรามหน้ายักษ์

ตัวเมียมีขนาด 10-10.2 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ส่วนตัวผู้มีขนาด 6-7.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนทั้งสองคู่มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มและมีลวดลายคล้ายเปลือกไม้แห้ง ส่วนปีกด้านล่างทั้งสองคู่มีพื้นปีกสีน้ำตาล มีแถบและจุดสีขาวเรียงจากขอบปีกด้านนอกถึงขอบปีกด้านใน ขอบปีกด้านข้างมีแถบและขนสีเทาอมดำเข้มกว่าด้านใน

ปีกคู่หน้าด้านบนมีลวดลายไม่เป็นระเบียบจากมุมปลายปีกบนถึงมุมปลายปีกล่าง กลางปีกมีแต้มเป็นรูปคล้ายเลขหนึ่ง(๑)ของไทย แต่กลับหัว สีน้ำตาลเข้มเกือบดำปนสีส้ม ปีกละ1วง ขอบสีดำและสีขาว กลางขอบปีกด้านนอกมีแถบสีขาวเรียงถึงวงกลมและเรียงต่อถึงกลางขอบปีกด้านใน มุมปลายปีกหน้ามีแถบสีขาวขนาดใหญ่1แถบและแถบเล็กๆเรียงลงมาที่รอบปีกด้านล่าง

ปีกคู่หลังด้านบน ด้านข้างมีลายหยักขรุขระเรียงจากใกล้มุมปลายปีกหน้าถึงมุมปลายปีกหลัง และมีแถบเส้นสีดำเรียงตั้งแต่กลางปีกด้านนอกถึงกลางปีกด้านใน

อธพิรามหน้ายักษ์

ลำตัวยาวเรียวสีน้ำตาลปนสีขาว มีขนสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่นที่โคนปีก บริเวณหัว อก และท้องมีขนสีน้ำตาลบางๆปกคลุม ระหว่างหัวและอกมีสีดำ จากหัวถึงปลายส่วนท้องกว้าง 1-1.2 ซม. ยาว 3-3.4 ซม. ตาสีน้ำตาลอมแดง หนวดแบบเส้นด้าย ยาว 1.3-1.5 ซม. ปลายหนวดแหลมสีน้ำตาลอมแดง ปากแบบท่องวงสีส้ม ขาสีดำ

เวลากลางวันหลบตามพุ่มไม้หรือมุมมืดในป่า ออกหากินในเวลากลางคืน มักพบบินเข้าหาแสงไฟ

พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

สกุลนี้ทั่วโลกพบอย่างน้อย 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซียด้านตะวันออกเฉียงใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

8. มอธหนอนกระทู้ปีกหลังเหลืองดำ

ชื่อท้องถิ่น : มอธมวนหวานโคโรนาตา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thyas coronata Fabricius, 1775

วงศ์ : CATOCALINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

มอธหนอนกระทู้ปีกหลังเหลืองดำ ตัวผู้และตัวเมีย

มอธหนอนกระทู้ปีกหลังเหลืองดำ ตัวผู้

มอธหนอนกระทู้ปีกหลังเหลืองดำ ตัวเมีย

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่ว่ามีขนาด 6-8.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของปีกคู่หน้ามีพื้นปีกสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หลังมีพื้นปีกสีส้มและมีแถบสีดำพาดขวาง2แถบ ตัวผู้มีแต้มสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำบนปีกคู่หน้าข้างละแต้ม ส่วนตัวเมียไม่มี

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

9. มอธมวนหวานโฮเนสตา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thyas honesta Hübner, 1806

วงศ์ : CATOCALINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

มอธมวนหวานโฮเนสตา

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่ว่ามีขนาด 8.4-10.4 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลอ่อนแกมเขียว กลางปีกมีจุดสีดำ2จุด ปีกคู่หลังมีพื้นปีกสีชมพูจนถึงสีชมพูแกมส้ม ใกล้ขอบปีกด้านล่างมีแถบขนาดใหญ่สีดำ

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

10. Speiredonia mutabilis Fabricius, 1794

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Speiredonia mutabilis Fabricius, 1794

วงศ์ : EREBINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

Speiredonia mutabilis Fabricius, 1794

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่ว่ามีขนาด 6-8 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า)

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

11. Sphingomorpha chlorea Cramer, 1777

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sphingomorpha chlorea Cramer, 1777

วงศ์ : EREBINAE

วงศ์ : NOCTUIDAE

Sphingomorpha chlorea Cramer, 1777 ตัวขวา

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่ว่ามีขนาด 6-8.4 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนคู่หน้ามีพื้นปีกสีน้ำตาลแดงและมีลิ้วลายสีดำ ปีกด้านบนคู่หลังมีพื้นปีกสีน้ำตาลอมดำ

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน อ่องกง ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปแอฟริกา


สัตว์ป่าอื่นๆ


ในที่นี้หมายถึงสัตว์ป่าอื่นๆที่ไม่ใช่ผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืน บันทึกภาพได้เพียง 12 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. ตั๊กแตนหนวดสั้นสีตาลจาง

ชื่อสามัญ : Testaceous Oblique-face Grasshopper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phlaeoba infumata Brunner von Wattenwyl, 1893

วงศ์ย่อย : ACRIDINAE

วงศ์ : ACRIDIDAE

ตั๊กแตนหนวดสั้นสีตาลจาง

ตั๊กแตนหนวดสั้นสีตาลจาง

ขนาด 2.5-3.5 ซม. ทั้งตัวมีสีน้ำตาลอ่อนคล้ายใบไม้แห้ง ปลายปีกสีเข้มกว่ากลางปีกเล็กน้อย ด้านข้างของส่วนหัวเป็นแถบสีน้ำตาลเข้มและสีน้ำตาลอ่อนสลับกัน และพาดยาวต่อเนื่องไปจนถึงบปีก ขณะเกาะนั้นปีกจะยาวเกินส่วนท้อง

สกุลนี้ทั่วโลกพบ 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักเกาะตามพุ่มไม้เตี้ยๆตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว และกัมพูชา

2. ตั๊กแตนหนวดสั้นผิวปม

ชื่อท้องถิ่น : ตั๊กแตนขี้หมา , ตั๊กแตนหญ้า

ชื่อสามัญ : Carinate Locust

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trilophidia annulata Thunberg, 1815

วงศ์ย่อย : OEDIPODINAE

วงศ์ : ACRIDIDAE

ตั๊กแตนหนวดสั้นผิวปม

เป็นตั๊กแตนหนวดสั้น ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย โดยมีความยาวราว 2.32 ซม.

สกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

3. เพลี้ยกระโดดดำ

ชื่อสามัญ : Black Froghopper ; Black Planthopper ; Rice Spittle Bug ; Sugarcane Spittle Bug

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Callitettix versicolor Fabricius, 1794

วงศ์ : CERCOPIDAE

เพลี้ยกระโดดดำ

เพลี้ยกระโดดดำ

มีขนาด 0.5-1 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกสีดำเป็นมัน ใกล้โคนปีกมีแต้มสีขาว4แต้ม ปลายปีกมีแต้มสีชมพูอมแดง4ปีก ลำตัวยาว 1.2 ซม. หัวขนาดเล็กสีดำ ตาสีน้ำตาลและอยู่ด้านข้างของหัว หนวดสั้นเป้นแบบเส้นขน อกและท้องสีดำ ขายาว

มักพบเกาะตามกอหญ้าเตี้ยๆ หรือพุ่มไม้ระดับต่ำ เมื่อถูกรบกวนก็จะบินหนีไปไกล

ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในเมืองไทยตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

4. จิงโจ้น้ำ (คิดว่าเป็น..จิงโจ้น้ำหลังโค้ง Cylindrostethus costalis Schmidt, 1915)

ชื่อท้องถิ่น : มวนจิงโจ้น้ำ , แมงกะพุ้งน้ำ

ชื่อสามัญ : Pond Skaters ; Water Striders

วงศ์ : GERRIDAE

จิงโจ้น้ำ

ทั่วโลกพบ 9 วงศ์ย่อย 80 สกุล และมากกว่า 700 ชนิด ในไทยพบประมาณ 7 วงศ์ย่อย(ได้แก่ CYLINDROSTETHINAE , EOTRECHINAE , HALOBATINAE , GERRINAE , PTILOMERINAE , RHAGODOTARSINAE และ TREPOBATINAE) 24 สกุล และมากกว่า 40 ชนิด

มวนจิงโจ้น้ำอาศัยอยู่บนผิวน้ำ มีความหลากหลายสูง ตั้งแต่ลักษณะรูปร่าง ผิวลำตัว ลวดลาย สี และขนาด พบได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย บริเวณที่ชื้นแฉะ และบางชนิดพบตามชายฝั่งทะเล ป่าชายเลน และทะเลเปิด

ขนาดลำตัวยาว 0.16-3.6 ซม. ปกคลุมด้วยขนสั้นๆที่ป้องกันน้ำ มีสีน้ำตาลจนถึงสีดำ มีตาขนาดใหญ่เป็นตาประกอบ ปากลักษณะคล้ายกรวยยาว มีจำนวน4ปล้อง ใช้แทงดูด ร่างกายประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีขา 6 ขา เป็นปล้อง และมีหนวดยาว 1 คู่ โดยส่วนที่อยู่ติดกับส่วนหัวมีลักษณะแข็งคล้ายขนแปรง ความยาวของหนวดนี้สามารถบอกความแตกต่างของแต่ละชนิดได้

ขา 3 คู่ โดยขาแต่ละคู่ทำหน้าที่ต่างกัน คือ ขาคู่ที่1เป็นขาคู่หน้ามีลักษณะสั้นกว่าขาคู่อื่น ทำหน้าที่ในการจับเหยื่อหรืออาหาร ขาคู่ที่2เป็นขาคู่กลางมีความเรียวและยาว ทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนที่ และขาคู่ที่3เป็นขาคู่หลัง ทำหน้าที่ในการปรับทิศทางขณะเคลื่อนที่

ปีกของจิงโจ้น้ำจะอยู่บริเวณหลังของส่วนอก และบางชนิดไม่มีปีก ความยาวปีกจะต่างกันในแต่ละชนิด บริเวณที่อยู่อาศัยที่เป็นแหล่งน้ำไหลจะพบจิงโจ้น้ำมีปีกที่สั้น ส่วนบริเวณที่น้ำนิ่งจะพบจิงโจ้น้ำที่มีปีกยาว

จิงโจ้น้ำ

ลักษณะของมวนจิงโจ้น้ำที่ทำให้จำได้ง่าย คือ อกปล้องกลางยาวกว่าอกปล้องอื่นๆ ขาคู่กลางและขาคู่หลังยาวมาก โดยที่ femur ของขาคู่กลางและขาคู่หลังยาวเลยส่วนปลายสุดของปล้องท้อง และ coxa ของขาทั้งสองคู่อยู่ใกล้กัน ขาคู่หน้าสั้นและมีลักษณะใช้จับเหยื่อ อยู่ห่างจากขาคู่กลาง อาจมีต่อมกลิ่นอยู่ที่ matastemum มีขนรับความรู้สึก 3-4 คู่ ที่เรียกว่า“trichobothria” อยู่ที่ส่วนหัว ใกล้ตา หนวดยื่นยาวออกจากส่วนหัวชัดเจน มีจำนวน4ปล้อง

มวนจิงโจ้น้ำโดยส่วนใหญ่จะพบการเจริญของปีก ทั้งแบบปีกสมบูรณ์ ปีกสั้น ปีกเล็ก และแบบไม่มีปีก

ในมวนจิงโจ้น้ำแบบมีปีกสมบูรณ์จะมี pronotum ขนาดใหญ่กว่าแบบไม่มีปีก และมีลักษณะคล้ายรูปห้าเหลี่ยม ปีกคู่หน้ามีเซลล์ปิด 2-4 เซลล์ ในตัวเต็มวัยมี tarsus 2 ปล้อง แต่ในตัวอ่อนมี tarsus เพียงปล้องเดียว ในขาคู่หลังอาจรวมกันเห็นเป็นปล้องเดียว ตำแหน่งของเล็บยื่นอยู่ก่อนถึงปลาย สามารถพับเก็บได้ โดยปกติแล้วเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย

จิงโจ้น้ำ

จิงโจ้น้ำเดินบนผิวน้ำ โดยอาศัยแรงตึงผิวของน้ำ ซึ่งยึดเหนี่ยวโมเลกุลของน้ำเข้าไว้ด้วยกัน เกิดความยืดหยุ่น ทำให้ไม่จมน้ำ ประกอบกับมีขาที่ยาวและมีขนขนาดเล็กปกคลุมอยู่ ขนขนาดเล็กเหล่านี้เรียกว่า“ไมโครซีเต”(miceosetae) ทำหน้าที่ในการกักเก็บอากาศเอาไว้ทำให้เป็นฟิล์มบางๆ ป้องกันไม่ให้จมน้ำ และทำให้สามารถเคลื่อนที่อยู่บนผิวน้ำได้

ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่อยู่บนผิวน้ำ ไข่นี้จะพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัยโดยการเปลี่ยนแปลง 5 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน และมีการลอกคราบ ตัวอ่อนของจิงโจ้นน้ำจะมีพฤติกรรมและกินอาหารคล้ายกับตัวเต็มวัย แต่จะมีขนาดเล็กกว่า(ตัวอ่อนยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร) มีสีซีดกว่า และไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ จากตัวอ่อนของจิงโจ้น้ำจะใช้เวลาประมาณ 60-70 วัน ในการพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัย

จิงโจ้น้ำจะกินสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น แมงมุมและแมลงที่ตกลงบนผิวน้ำ เป็นต้น โดยจะใช้ขาคู่หน้าในการจับเหยื่อ จากนั้นใช้ปากสำหรับเจาะดูดของเหลวจากตัวเหยื่อเป็นอาหาร

5. แมลงปอบ้านปีกเปื้อนส้ม

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านส้มเหลือง
ชื่อสามัญ : Asian Amberwing ; Ditch Jewel ; Orange Skimmer
ชื่อวิทยาศาสตร์ Brachythemis contaminata Fabricius, 1793
วงศ์ : LIBELLULIDAE

แมลงปอบ้านปีกเปื้อนส้ม ตัวเมีย

เป็นแมลงปอบ้านขนาดเล็ก มีขนาด 2-2.7 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หลัง) ส่วนท้องยาว 1.7-2.1 ซม.

ตัวผู้นั้นอกและท้องมีสีน้ำตาล สีเหลืองส้ม จนถึงสีส้มแดง ปีกใส กลางปีกมีแถบสีน้ำตาลส้มจนถึงสีส้มแดง ท้องป้อมสั้นสีส้ม รยางค์ปลายท้องสีอ่อน ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่มีสีน้ำตาลเหลืองจนถึงสีเหลือง ปีกใส และไม่มีแถบสีส้มกลางปีกเหมือนในตัวผู้

ทั่วโลกพบสกุลนี้ 7 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 1 ชนิด พบตามแหล่งน้ำนิ่ง แหล่งน้ำไหล รวมถึงแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดในระดับหนึ่งตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค โดยพบตลอดปี

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

6.แมลงปอบ้านเสือแดงเลือดนก

ชื่อสามัญ : Brown-backed Red Marsh Hawk

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthetrum chrysis Selys, 1891

วงศ์ : LIBELLULIDAE

แมลงปอบ้านสีแดงเลือดนก ตัวผู้

เป็นแมลงปอบ้านขนาดกลาง ตัวผู้มีขนาด 3.1-3.8 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หลัง) ลำตัวยาว 2.8-3.3 ซม. บริเวณอกมีสีน้ำตาลเข้ม ท้องสีแดงสด มีลักษณะคล้ายกับแมลงปอบ้านเสือสีส้ม(Orthetrum testaceum Burmeister, 1839) แต่ชนิดนี้อกมีสีเข้มกว่า และบริเวณท้องปล้องที่2จะมีพู่ขน ปีกใส ปีกคู่หลังบริเวณโคนปีกมีสีน้ำตาล

ส่วนตัวเมียมีขนาด 3.1-3.6 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หลัง) ลำตัวยาว 2.5-3 ซม. บริเวณอกและท้องสีน้ำตาลออกส้ม(ช่วงอายุมาก อกและท้องจะเปลี่ยนเป็นสีเทา) อกด้านบนมีแถบสีเหลือง ปีกใส ปีกคู่หลังบริเวณโคนปีกมีสีน้ำตาล

แมลงปอบ้านสีแดงเลือดนก ตัวผู้

ทั่วโลกพบสกุลนี้ 61 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบใกล้แหล่งน้ำไหลและน้ำนิ่งตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ ทั่วทุกภาค โดยพบมากในช่วงฤดูฝน

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ ฮ่องกง เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน

7. ด้วงคีมร่องเก่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aegus chelifer MacLeay, 1819

วงศ์ : LUCANIDAE

ด้วงคีมร่องเก่า

ตัวผู้มีขนาด 2-4 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ลักษณะเด่นมีตุ่มนูนแหลมตรงกลางหัว มีเขี้ยวยาว กรามปากโค้งเข้าในแนวราบ มีฟันใหญ่ที่โคนเขี้ยว บางตัวมีฟันที่กึ่งกลางด้านในของเขี้ยว ส่วนตัวเมียเป็นรูปไข่ มีขนาด 1.7-2.5 ซม. สีดำปนเทา มีเขี้ยวสั้นๆ

ปีกคู่หน้าทั้งสองเพศมีความแข็งและหนา รวมทั้งมีร่องตื้นๆตามยาวทั่วทั้งปีก แต่ปีกของตัวเมียจะไม่เป็นเงามันเหมือนในตัวผู้ ส่วนปีกคู่หลังทั้งสองเพศเป็นปีกบางใส

อาหารได้แก่ ซากพืช ซากสัตว์ และเศษไม้ผุพัง

ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 194 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในเมืองไทยตามสวนผลไม้ ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

แพร่กระจายในอินเดีย หมู่เกาะอันดามัน บังกลาเทศ ศรีลังกา เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

8. ตั๊กแตนหน้าเอียงจุดขาว

ชื่อท้องถิ่น : ตั๊กแตนหน้าลาดจุดขาว

ชื่อสามัญ : White-spotted Slant-faced Grasshopper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudomorphacris brachyptera Kevan, 1963

วงศ์ย่อย : PYRGOMORPHINAE

วงศ์ : PYRGOMORPHIDAE

ตั๊กแตนหน้าเอียงจุดขาว

ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่เพียงว่าทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

9. ปาดอีสาน

ชื่อท้องถิ่น : เขียดตะปาดเหนือ , ปาดเหนือ

ชื่อสามัญ : Brown Tree Frog ; Hong Kong Whipping Frog ; Hour-glass-marked Tree Frog ; Northern Tree Frog ; Spot-legged Tree Frog

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polypedates megacephalus Hallowell, 1861

วงศ์ย่อย : RHACOPHORINAE

วงศ์ : RHACOPHORIDAE

ปาดอีสาน

ตัวผู้มีขนาด 5.5-6 ซม.(ความยาวจากหัวถึงก้น) ส่วนตัวเมียมีขนาด 6-8 ซม.(ความยาวจากหัวถึงก้น) หัวแบน หน้าสั้นกว้าง ตาโต จงอยปากแหลม บริเวณระหว่างลูกตาจะแบนราบจนติดกับกะโหลก แผ่นปิดหูขนาดใหญ่ปกคลุมด้วยหนังสีเดียวกับลำตัว มีความสามารถเปลี่ยนสีลำตัวได้ตามสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่ที่พบเห็นจะมีลำตัวด้านบนสีน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเหลือง สีเหลือง หรือสีน้ำตาลแดง มีลายแต้มสีเทาอ่อนและสีดำกระจายทั่วไป ไม่มีลายขีดยาวขนานกัน บนหลังอาจมีหรือไม่มีลายรูปตัวเอ็กซ์(X) มีเส้นสีน้ำตาลเข้มจากปลายจมูกถึงหัวตา และจากหางตาผ่านแผ่นหูด้านบนไปยังโคนขาหน้า ด้านข้างมีสีครีมปนสีเทาเป็นจุดๆ ลำตัวด้านล่างสีขาวครีม แข้งขายาว ขามีลายพาดสีเข้ม โดยเฉพาะขาหลังจะเห็นลายพาดเป็นบั้ง โคนขามีจุดกลมขนาดใหญ่สีครีม เท้าแผ่ออกเป็นแผ่นขนาดใหญ่ ปลายนิ้วเป็นปุ่มกลม มีแผ่นยึดเป็นพังผืดระหว่างนิ้วเฉพาะขาหลังเท่านั้น เท้าเหนียวสามารถเกาะติดกับผนังได้

ส่งเสียงร้องดังยาวว่า“แกร็กกกก” วางไข่ในฟองรังรูปร่างกลมขนาดใหญ่ประมาณลูกเทนนิส สีน้ำตาลอ่อน ตามใบไม้บนต้นไม้สูงเหนือแอ่งน้ำ

ลูกอ๊อดมีสีดำสนิท ปลายปากสีขาว ลูกอ๊อดเมื่อมีขนาดราว 3 ซม. จะเริ่มมีสีตัวเปลี่ยนไป โดยมีจุดประสีคล้ำกระจายตามตัว หางส่วนปลายมีสีดำ ลูกอ๊อดกินสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเป็นอาหาร ลูกกบวัยพ้นจากน้ำครั้งแรก มีขนาด 1 ซม. มีแถบสีดำด้านข้าง และบนหลังมีลายประสีดำ

ปาดอีสาน

ทั่วโลกพบสกุลนี้ 23 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,000 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) โดยพบชนิดนี้ครั้งแรกของโลกทางตอนเหนือของประเทศเมียนมาร์

10. แมงมุมกระโดดหัวแหวนทับทิม

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมกระโดดสองแถบ , แมงมุมหัวแหวนทับทิม

ชื่อสามัญ : Two-striped Jumper Spider ; Two Striped Jumping Spider ; Two-striped Telamonia Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Telamonia dimidiate Simon, 1899

วงศ์ : SALTICIDAE

แมงมุมกระโดดหัวแหวนทับทิม ตัวเมีย

ตัวผู้มีขนาด 0.8-0.9 ซม. สีออกน้ำตาลเข้มสลับสีขาว ขา2คู่หน้ามีแผงขนหนาแน่น ส่วนตัวเมียมีขนาด 0.9-1.1 ซม. มีสีครีมสลับสีส้ม

ออกล่าเหยื่อจำพวกแมลงวัน โดยการกระโดดเข้าตะครุบอย่างรวดเร็ว

ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 39 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนผลไม้ ป่าละเมาะ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในเขตร้อนของทวีปเอเชีย

แมงมุมกระโดดหัวแหวนทับทิม ตัวเมีย

 แมงมุมกระโดด(Jumping Spider) เป็นกลุ่มแมงมุมที่มีชนิดมากที่สุด คือ ประมาณ 13% ของแมงมุมทุกชนิดทั่วโลก ชอบจับเหยื่อโดยการกระโดดพุ่งเข้าหาเหยื่อด้วยความเร็วสูง สามารถกระโดดได้ไกลเป็นระยะ 10-40 ช่วงตัว แล้วแต่ชนิด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแมงมุมกลุ่มนี้ แมงมุมกระโดดตัวเมียส่วนใหญ่จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าตัวผู้ อีกทั้งสองเพศจะมีสีสันที่แตกต่างกัน โดยตัวผู้จะมีสีสันฉูดฉาด ส่วนตัวเมียจะไม่ค่อยมีสีสันมาก จนบางครั้งอาจจะดูไม่รู้เลยว่าเป็นชนิดเดียวกัน

แมงมุมกระโดดมีตา 4 คู่ อยู่รอบหัว 2คู่หน้าเป็นคู่ที่มีความแม่นยำในการมองมากที่สุด สามารถมองเหยื่อที่อยู่ระยะไกลได้ 30-40 ซม. ส่วน2คู่หลังจะไว้คอยมองด้านหลังเพื่อระวังภัย โดยที่ไม่ต้องหันตัวกลับ ลักษณะเด่นอีกอย่างของแมงมุมกระโดด คือ มีขนปกคลุมตัว บางชนิดมีผิวหนังมันวาวดูสะดุดตา การล่าเหยื่อแมงมุมกระโดดจะไม่ใช้ใยในการจับ แต่จะใช้ก็ต่อเมื่อขณะกำลังจะกระโดด โดยการปล่อยใยไว้กับสิ่งของที่เกาะอยู่ในขณะนั้น ก่อนกระโดดไปอีกจุดหนึ่ง เพื่อป้องการหล่นลงบนพื้นดิน

แมงมุมกระโดดหัวแหวนทับทิม ตัวเมีย

แมงมุมกระโดดสามารถพบได้ทุกที่ทั่วโลก สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย เราจะสามารถเห็นได้ตาม บ้านเรือน ก้อนหิน ทุ่งหญ้า รวมทั้งไม้ยืนต้นทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

11. กระรอกบินเล็กแก้มขาว

ชื่อสามัญ : Indochinese Flying Squireel ; Phayre’s Flying Squirrel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hylopetes phayrei Blyth, 1859
วงศ์ย่อย : PTEROMYINAE

วงศ์ : SCIURIDAE

กระรอกบินเล็กแก้มขาว

เป็นกระรอกบินขนาดค่อนข้างเล็ก มีขนาด 14.5-19.5 ซม.(วัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง) ตาค่อนข้างกลมและโต บริเวณแก้มจนถึงหลังใบหูมีสีขาว คอหอยสีออกเหลือง ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเทาไปจนถึงสีน้ำตาลดำ โคนหางแคบ หางยาว 13-17 ซม. ขนหางแบนเรียบสีน้ำตาลแกมเทา พังผืดหรือแผ่นหนังที่ใช้สำหรับร่อนมีสีน้ำตาลไหม้ ลำตัวด้านล่างสีขาวหรือสีขาวครีม และมีแต้มสีเหลือง ขาหลังยาว 3-3.6 ซม.

ช่วงกลางวันอาศัยอยู่ตามโพรงต้นไม้สูง ออกหากินในเวลากลางคืน ใช้พังผืดร่อนหรือโผจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งได้อย่างคล่องแคล่ว โดยจะปีนขึ้นไปยังบนยอดไม้สูงแล้วทิ้งตัวพร้อมกางพังผืดที่อยู่บริเวณลำตัวออก แล้วใช้หางในการบังคับทิศทาง

กระรอกบินเล็กแก้มขาว

ทำรังตามโพรงไม้ อาหารได้แก่ ผลไม้ เมล็ดไม้ ดอกไม้ และแมลงขนาดเล็ก

ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 9-10 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนผลไม้ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันตก

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

12. แมลงวันก้นขน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argyrophylax nigrotibialis Baranov, 1935
วงศ์ย่อย : EXORISTINAE

วงศ์ : TACHINIDAE

แมลงวันก้นขน

ลำตัวมีขนาดยาว 0.5-0.6 ซม. ตารวมมีขนาดใหญ่สีนเตาลแดง อกและท้องมีขนสั้นและขนยาว ท้องปล้องสุดท้ายมีขนสีดำยื่นออกมา ปีกใส ขาทั้ง3คู่มีสีดำ

แมลงวันก้นขนมีประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูข้าวและแมลงศัตรูพืชหลายชนิด โดยตัวเมียจะวางไข่บนหนอนกระทู้กล้าข้าว หนอนกระทู้คอรวง และหนอนกัดกินใบ เมื่อไข่เติบโตเป็นหนอนที่มีลักษณะใสหรือสีครีม มันก็จะไชเข้าไปกัดกินภายในของหนอนกระทู้กล้าข้าว หนอนกระทู้คอรวง และหนอนกัดกินใบ แล้วเจาะผนังตัวหนอนเหล่านั้นออกมาภายนอก เพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ ซึ่งระยะนี้จะมีสีน้ำตาลแดง


ไม้ป่า


บันทึกภาพได้ 9 ชนิด(เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา) โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. ยางเหลือง

ชื่อท้องถิ่น : เหลืองไม้แก้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monoon jucundum B. Xue & R.M.K.Saunders

วงศ์ : ANNONACEAE

ยางเหลือง

ไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ทรงพุ่มกลม แตกกิ่งก้านระดับสูงและขนานกับพื้น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุก 1-4 ดอก ตามกิ่งแก่เหนือรอยแผลใบ ขนาดดอก 3-4 ซม. กลิ่นหอมอ่อน ดอกอ่อนสีเขียว เมื่อบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม กลีบดอกเรียงเป็น2ชั้น กลีบชั้นนอกแคบและสั้นกว่ากลีบชั้นในเล็กน้อย ออกดอกในราวเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม แต่ผู้เขียนพบออกดอกในปลายเดือนมิถุนายน ผลออกเป็นกลุ่ม ช่อละ 25-40 ผล ผลย่อยรูปรี ผิวเกลี้ยง ผลแก่สีแดง มีเมล็ดเดียว

ยางเหลือง ผล

พืชสกุลนี้ได้แยกมาจากสกุล Polyalthia และได้รวมเอาสกุล Enicosanthum มาไว้ในสกุลเดียวกันนี้ ในไทยพบกว่า 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบชื้นที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-500 เมตร ทางภาคตะวันออก และภาคใต้

ชื่อสกุล Monoon มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า monos แปลว่า อันเดียว และคำว่า oon แปลว่า ไข่ ความหมายก็คือ“แต่ละคาร์เพลมีไข่เม็ดเดียว”

แพร่กระจายในไทย กัมพูชา และเวียดนาม

2. ขางแดง

ชื่อท้องถิ่น : หมาตายพราก(เชียงใหม่) ; ถอบแถบ(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rourea minor Alston

วงศ์ : CONNARACEAE

ขางแดง ผล

ไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นตั้งตรง แต่ปลายกิ่งมักโน้มเอนลงสู่พื้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบย่อยด้านข้างมีขนาดเล็กกว่าตอนปลาย รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะและแยกแขนงสั้นๆตามซอกใบ หรือออกเป็นช่อแน่นตามปลายกิ่ง 2-5 ช่อ ดอกสีขาวนวล กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนกรกฎาคม ผลเป็นผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอกแกมรูปรี ผลแก่สีเหลือง มีเมล็ดเดียว และมีเยื่อเนื้อหุ้มเมล็ด ออกผลในราวเดือนมีนาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 70 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าดิบ พื้นที่โล่งในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ หมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลียตอนเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ และเขตร้อนในทวีปแอฟริกา

ชื่อสกุล Rourea เป็นภาษาพื้นเมืองในประเทศกายอานา(เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้)

3. ฉัตรฟ้า

ชื่อท้องถิ่น : ปิ้งแดง(ภาคเหนือ) ; พวงพีเหลือง(เลย) ; เข็มฉัตร , เข็มชาด , พนมสวรรค์(นครพนม) ; สาวสวรรค์(นครราชสีมา) ; หัวลิง(สระบุรี) ; นมสวรรค์ , มาลี(ภาคกลาง-ภาคใต้) ; พนมสวรรค์ป่า(ยะลา) ; นมหวัน , น้ำนมสวรรค์(มลายู-นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum paniculatum L.

วงศ์ : LAMIACEAE

ฉัตรฟ้า

ไม้พุ่มผลัดใบ สูง 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นกอใหญ่ ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปฝ่ามือ รูปไข่ หรือค่อนข้างกลม แผ่นใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก 3-7 แฉก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตั้งตรงและแยกแขนงเป็นรูปฉัตรหรือรูปพีระมิดขนาดใหญ่ตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกแยกเพศและบานทนนานราว1สัปดาห์ ดอกเพศผู้มีสีขาวหรือสีซีดจางเกือบขาว ส่วนดอกเพศเมียมีสีแดง สีส้ม หรือสีส้มแดง ดอกคล้ายดอกเข็ม ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในช่วงฤดูฝน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 308 ชนิด ในเมืองไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่รกร้างหรือพื้นที่โล่ง ริมลำน้ำ ชายป่า เชิงเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 800 เมตร ทั่วทุกภาค

ฉัตรฟ้า

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีนด้านตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ หมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ชื่อสกุล Clerodendrum มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า kleros แปลว่า โอกาส หรือโชคชะตา และคำว่า dendron แปลว่า ต้นไม้ ความหมายก็คือ“ต้นไม้แห่งโอกาสที่หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร”

4. ตะแบกเปลือกบาง

ชื่อท้องถิ่น : ตะแบกใหญ่(นครราชสีมา) ; ตะแบกไข่(ตราด)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia duperreana Pierre ex Gagnep.

วงศ์ : LYTHRACEAE

ตะแบกเปลือกบาง

ไม้ยืนต้นผลัดใบช่วงสั้นๆ สูง 10-25 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรี หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะเชิงลดและแยกแขนงตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ยาว 10-20 ซม. ดอกสีม่วงอ่อน กลีบดอก 5-7 กลีบ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 55 ชนิด ในเมืองไทยพบ 18 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเต็งรังที่เป็นหินทราย และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-400 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

ชื่อสกุล Lagerstroemia ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Magnus von Lagerstrom พ่อค้าชาวสวีเดนที่เก็บตัวอย่างพรรณไม้สกุลนี้

5. ข้าวตาก

ชื่อท้องถิ่น : ข้าวกี่วอก , ชามัด , ปอแป๋ , ยาบขี้ไก่ , หำม้า(ภาคเหนือ) ; ปอข้าวจี่(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ข้าวม่าย(ภาคกลาง) ; เจเนรา(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Grewia hirsuta Vahl

วงศ์ : MALVACEAE

ข้าวตาก

ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนานจนถึงรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตั้งขึ้นตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อละ 2-5 ดอก ดอกสีขาว หรือสีเหลืองอ่อน กลีบดอก5กลีบงอโค้งลง ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ TILIACEAE  ทั่วโลกพบ 321 ชนิด ในเมืองไทยพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ชื่อสกุล Grewia ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Nehemiah Grew นักพฤกษศาสตร์และนักสรีระวิทยาชาวอังกฤษ ส่วนชื่อชนิด hirsuta แปลว่า มีขนหยาบ หมายถึงใบและผลมีขนหยาบปกคลุม

6. เอื้องดอกมะเขือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium hercoglossum Rchb.f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องดอกมะเขือ

ลำต้นรูปกลมเรียว ต้นหนึ่งมี 10-15 ใบ ออกบริเวณตอนกลางของลำต้นจนถึงปลาย ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปใบหอก หรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะสั้นๆตามข้อลำต้นช่วงปลายต้น ช่อละ 3-6 ดอก ขนาดดอก 1-2.5 ซม. ดอกบานทนนานกวว่า 1 สัปดาห์ ดอกสีชมพูแกมม่วง ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม แต่ผู้เขียนพบช่วงปลายเดือนมิถุนายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,575 ชนิด ในเมืองไทยพบ 165 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 600-800 เมตร ทาง จ.เลย และภาคตะวันออก

แพร่กระจายในจีน ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อนึ่งชื่อชนิด hercoglossum เป็นภาษากรีก แปลว่า ลิ้นที่ห่อม้วน ความหมายก็คือ“ปากดอกที่บิดม้วนคล้ายลิ้นห่อ” โดยพบครั้งแรกในประเทศมาเลเซีย

7. เอื้องช้างน้าว

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องคำตาควาย , เอื้องตาควาย(แม่ฮ่องสอน) ; ปะแหน่มีเพ้ย , พอมียอเอ๊ะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; มอกคำตาควาย(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ; สบเป็ด , เอื้องสบเป็ด(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium puchellum Roxb. ex Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องช้างน้าว

ลำต้นรูปแท่งดินสอกลม ตั้งตรงหรือโค้งเล็กน้อย และแข็ง สีเขียวอมน้ำตาล สูง 0.8-2 เมตร เมื่อต้นแก่จัดจะมีสีม่วง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปยาวรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะตามข้อใกล้ปลายยอด ช่อละ 3-10 ดอก ขนาดดอก 4.5-13 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานทนนานไม่เกิน5วัน ดอกสีเหลืองอ่อนๆ สีเหลืองนวล หรือสีครีม และมีเส้นสีชมพูระเรื่อหรือสีม่วงพาดตามความยาวของกลีบโดยเฉพาะบริเวณขอบกลีบ ปากดอกรูปเกือบกลม แล้วแผ่เป็นแผ่นแบนกว้างและแอ่นลง มีสีขาวหรือสีครีม กลางปากดอกสีเหลืองหรือสีเหลืองอมชมพู และมีแต้มขนาดใหญ่สีเลือดหมู สีม่วง หรือสีแดงเข้มอมน้ำตาลขนาบอยู่สองด้าน ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมิถุนายน

เอื้องช้างน้าว

พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 150-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในเทือกเขาหิมาลัย แคว้นอัสสัมของอินเดีย เนปาล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

8. กะตังใบแดง

ชื่อท้องถิ่น : กะลังใบ , เขืองแข้งม้า(ภาคเหนือ) ; กะตังบาย , กะตังใบ , เขือง , บังใบ(ภาคกลาง) ; กะตังแดง(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leea rubra Blume ex Spreng.

วงศ์ : VITACEAE

กะตังใบแดง ดอกตูม

ไม้พุ่ม สูงไม่เกิน 3 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม 8-10 เหลี่ยม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ 2-3 ชั้น ออกเรียงสลับ(ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงกันข้าม) ใบย่อยรูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ดอกและก้านช่อดอกสีแดงสด โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกตลอดปี

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ LEEACEAE ทั่วโลกพบ 36 ชนิด ในเมืองไทยพบ 11-12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าและเชิงเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 600 เมตร ทั่วทุกภาค

กะตังใบแดง ดอกตูม

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

ชื่อสกุล Leea ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ James Lee นักพืชสวนชาวสกอตแลนด์

9. กระทือ

ชื่อท้องถิ่น : กระทือป่า , กะแวน , กะแอน , ขิงด่าง , ระแอน , แสมดำ , แฮวดำ , เฮียงข่า , เฮียวดำ(ภาคเหนือ) ; เฮียงแดง , เฮียวแดง(แม่ฮ่องสอน) ; เปลพ้อ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; เฮียวข่า(เย้า-แม่ฮ่องสอน) ; จี๋กุ๊ก(แพร่) ; ก๋ง(ม้ง-แพร่) ; กระทือดง(กาญจนบุรี) ; ทือ , หัวทือ(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber zerumbet (L.) Roscoe ex Sm.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

กระทือ

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นเป็นหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่มีรูปกลม เกิดจากกาบใบที่ห่อหุ้มซ้อนทับกันแน่นอยู่หลายชั้น ต้นหนึ่งมี 10-20 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกกว้าง หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ยาวราว 10-45 ซม. ช่อดอกเป็นกระเปาะใหญ่รูปไข่จนถึงรูปทรงกระบอก และอวบน้ำ ประกอบด้วยใบประดับเรียงซ้อนกันอยู่หนาแน่น สีค่อนข้างเขียว เมื่อแก่จึงเปลี่ยนเป็นสีแดง มีดอกย่อยจำนวนมาก แต่จะทยอยออกดอกบานทีละ 1-2 ดอก โดยโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ ดอกสีขาวนวล หรือสีเหลือง ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม

กระทือ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 100 ชนิด ในเมืองไทยพบ 60 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นกอตามริมลำห้วย หรือพื้นที่ชุ่มชื้นในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,300 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ชื่อสกุล Zingiber มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า zingiberis ที่ใช้เรียกพวกขิงข่า


เห็ด


พบเห็ดที่น่าสนใจเพียง 1 ชนิด ได้แก่

1. เห็ดดาวลูกไก่

ชื่อท้องถิ่น : เห็ดกระสือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Filoboletus manipularis Singer

วงศ์ : TRICHOLOMATACEAE

เห็ดดาวลูกไก่

เห็ดดาวลูกไก่

หมวกเห็ดสีขาว เมื่อดอกบานเต็มที่มีรูปทรงโค้งคล้ายกระทะคว่ำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-3 ซม. กลางหมวกนูนสีขาวจนถึงสีขาวอมน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ อ่อนนุ่ม และหนืดมือเล็กน้อย ขอบหมวกหยักเป็นซี่ละเอียด ใต้หมวกมีลักษณะเป็นรูแทนครีบและเชื่อมติดกันเป็นเนื้อเดียวกับหมวก รูเป็นเหลี่ยมหลายลักษณะและเรียงเป็นรัศมี สีขาวจนถึงสีครีม ก้านดอกรูปทรงกระบอก สีขาว และมีเกล็ดนุ่ม โคนโป่งเล็กน้อยและมีขนสีน้ำตาลอ่อน เนื้อก้านดอกบางและสีขาว สปอร์รูปไข่ สีขาวใส

พบขึ้นอยู่เป็นกลุ่มบนขอนไม้ผุ สามารถเรืองแสงได้ในเวลากลางคืน โดยพบได้ทั่วทุกภาค เป็นเห็ดที่ทานไม่ได้

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

……………………………………………………………………………………………………………………………………