พรรณไม้และสัตว์ป่า..เขาหลวง อุทยานฯรามคำแหง

ในช่วงวันที่ 11-13 สิงหาคม พ.ศ.2561

ยอดเขาพระแม่ย่า

                        เอ่ยชื่อ“เขาหลวง” ทุกคนคงร้องอ๋อ แต่ทั้งนี้ชื่อเขาหลวงมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง แต่ที่เด่นๆและเป็นที่รู้จักมีอยู่2แห่ง โดยอยู่คนละทิศคนละทางกันเลย คือ เขาหลวง จ.สุโขทัย และเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช เขาหลวงในที่นี้ของผู้เขียนคือเขาหลวงของเมืองสุโขทัย..ดินแดนแห่งอารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองเมื่อราว700กว่าปีที่ผ่านมา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่เหมาะแก่ผู้ที่ต้องการไปสัมผัสธรรมชาติในแบบแค้มปิ้ง ปีหนึ่งๆมีนักเดินทางเดินเท้าขึ้นไปเยือนเขาหลวงกันเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว แต่น้อยคนนักที่จะเคยไปเยือนเขาหลวงในช่วงที่ฟ้าฉ่ำฝนดินชุ่มน้ำเช่นนี้ ด้วยเหตุผลที่หลายๆคนมักพูดว่าทางเดินขึ้นเขาลื่นมาก ฝนตกลงมาก็เปียกเฉอะแฉะเหนอะหนะ ความเป็นอยู่ก็แสนลำบาก ทุกอย่างมันดูยากเย็นแสนเข็ญไปหมด ยิ่งถ้าเปียกฝนชุ่มโชกไปทั้งตัวหลายๆชั่วโมงก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก ไอ้เรื่องไข้หวัดน่ะไม่ต้องพูดถึง..รับรองเป็นแน่นอนชัวร์ปึ้ก แต่นักเดินป่าอย่างเราๆที่ชอบเดินป่ากันเป็นอาชีพหลักกลับไม่มีความกังวลกับสภาวะการณ์อย่างที่ว่าเท่าไรนัก

ลานกางเต็นท์บนยอดเขา

                        เขาหลวงเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2523 มีพื้นที่ประมาณ 341 ตารางกิโลเมตร หรือ 213,125 ไร่ ครอบคลุมในท้องที่อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอคีรีมาศ และอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย นอกจากจะมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายซึ่งไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำยม ตลอดจนมีสภาพธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว ยังเป็นอุทยานแห่งชาติทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยปูชนียวัตถุอันเป็นโบราณสถานสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

ยอดเขาพระนารายณ์

                        ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบออกเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(23 ชนิด) และสัตว์ป่า(10 ชนิด)


ไม้ป่า


มีทั้งหมด 23 ชนิด เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

  1. บุกด่าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amorphophallus yunnanensis Engl.

วงศ์ : ARACEAE

บุกด่าง ดอกเริ่มโรย

                        ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ใบประกอบแบบนิ้วมือและแยกแขนง แผ่ออกคล้ายร่ม แกนใบประกอบยาวได้ถึง 1.90 เมตร และมีปีก ท้องใบสีเขียวเข้ม หลังใบสีจางกว่า ออกดอกเป็นช่อเชิงลดมีกาบ ตั้งตรงแทงขึ้นมาจากเหง้า ยาว 13-60 ซม. กาบหุ้มช่อดอกบิดเวียนที่โคนแล้วตั้งตรงโค้งงอไปด้านหน้า กาบฯกว้าง 4-20 ซม. ยาว 9-29 ซม. ผิวด้านนอกกาบฯสีขาว หรือสีขาวแกมเขียวอ่อน บางครั้งมีจุดหรือแต้มสีชมพูอ่อน ตามขอบกาบอาจมีเส้นสีชมพู ผิวด้านในกาบฯสีขาวแกมเขียวอ่อน ดอกสีขาวอมครีม ดอกแยกเพศ ช่อดอกเพศผู้รูปกรวยหรือรูปทรงกระบอกแกมรูปกระสวย ยาว 1-4 ซม. มีดอกย่อยเบียดกันแน่น เกสรตัวผู้ 3-5 อัน อับเรณูสีขาวแกมครีม ส่วนช่อดอกเพศเมียรูปทรงกระบอก ยาว 0.8-3.5 ซม. มีดอกย่อยเบียดกันแน่น รังไข่สีเขียว หรือสีเขียวแกมน้ำตาล ก้านเกสรตัวเมียสีเขียว หรือสีเขียวแกมชมพู ยอดเกสรตัวเมียสีเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ออกดอกในราวเดือน เม.ย. – ก.ค.

พืชสกุลนี้พบทั่วโลก 203 ชนิด ในไทยพบ 58 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณน้ำดิบผามะหวด-ปล่องนางนาค

แพร่กระจายในจีน ไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ

2. กากหมาก

ชื่อท้องถิ่น : ว่านดอกดินขาว(ภาคเหนือ) ; โหราเท้าสุนัข

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balanophora latisepala (Tiegh.) Lecomte

วงศ์ : BALANOPHORACEAE

ไม้ล้มลุกกินซาก ดอกแยกเพศและอยู่ต่างต้น สูงราวๆ 6-25 ซม. สีชมพูอ่อนจนถึงสีม่วงอ่อน บริเวณที่ติดกับรากของพืชที่อาศัยอยู่จะเป็นก้อนปุ่มปมที่มีลักษณะไม่แน่นอน ประกอบด้วยก้อนขนาดเล็กและแตกแขนง ก้อนย่อยรูปรีเกือบกลม ขนาด 2-4.3 ซม. ผิวเป็นสะเก็ดหยาบๆคล้ายตุ่ม รูปดาว

กากหมาก ตัวผู้

                        ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบลดรูปคล้ายเกล็ด 3-6 ใบ ใบไม่มีสีเขียว แต่มีสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลือง เพราะเป็นพืชเบียนที่ไม่ต้องสังเคราะห์แสง ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลิ่นหอมเอียน ช่อดอกเพศผู้รูปยาวคล้ายไม้กระบอง หรือรูปไข่แกมรี ดอกสีขาวหรือสีขาวครีมติดอยู่เป็นระยะที่ปลายช่อ รูปดอกเบี้ยว กลีบดอกรวมมี 4-6 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ส่วนช่อดอกเพศเมียรูปไข่ยาวๆ รูปรี หรือรูปไข่กลับ ดอกสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดง ดอกย่อยขนาดเล็กราวปลายดินสอเรียงตัวอัดกันแน่นอยู่บนก้านช่อดอก ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ก.พ. และพบออกดอกนอกฤดูกาลบ้าง แต่มีน้อย

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 23 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝากที่อาศัยเกาะกินน้ำและอาหารอยู่บนรากพืชในวงศ์ FABACEAE วงศ์ VITIDACEAE และสกุล Ficus วงศ์ MORACEAE ตามเขาหินปูน และป่าดิบบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,600 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณไทรงาม-ลำธารพระยาแล่นเรือ

แพร่กระจายในเมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลเซีย และเกาะสุมาตราจนถึงเกาะบอร์เนียว

3. เทียนดอย

ชื่อท้องถิ่น : เทียนป่า(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens violiflora Hook.f.

วงศ์ : BALSAMINACEAE

เทียนดอย

                        ไม้ล้มลุกอวบน้ำ สีเขียวคล้ำอมแดง และเปราะหักง่าย ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามซอกใบและปลายยอด มีดอกย่อย 2-3 ดอก ดอกสีม่วง สีชมพูเข้ม หรือสีชมพูอมแดง กลีบดอก5กลีบ กลีบบนมีขนาดใหญ่สุดและเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ กลีบคู่ด้านข้างรูปเกือบกลม ปลายกลีบเว้าตื้น กลีบล่าง2กลีบ เมื่อดอกแรกบาน..กลีบล่างจะติดกันดูคล้ายเป็นกลีบเดียวกัน ต่อมาจะเริ่มแยกออกเห็นได้ชัด ปลายกลีบล่างทั้ง2กลีบมักมีติ่งแหลมงอคล้ายเขี้ยว โคนกลีบมีปื้นขาวและแต้มสีเหลืองหรือสีส้ม ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 487 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 68 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมลำน้ำและใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้น บางครั้งพบอิงอาศัยตามลานหิน โขดหิน หรือบนต้นไม้ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

เทียนดอย

                        พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณไทรงาม-ลำธารพระยาแล่นเรือ

แพร่กระจายในเมียนมาร์ภาคเหนือ และไทย

4. ดาดหินทราย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Begonia arenosaxa ined.

วงศ์ : BEGONIACEAE

ดาดหินทราย

                        ไม้ล้มลุกที่ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูล คงรู้แต่ว่าพืชสกุลนี้พบทั่วโลกประมาณ 1,600 ชนิด ในไทยพบมากกว่า 60 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นชนิดใหม่ของโลก ยังไม่มีข้อมูล ปัจจุบันมีรายงานการพบอิงอาศัยบนโขดหินทรายทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯบริเวณใต้เพิงหินริมผาของยอดเขาภูกา

5. ว่านก้ามกุ้งหิน

ชื่อท้องถิ่น : ว่านหูช้าง(จันทบุรี) ; ก้ามกุ้งหิน(ชุมพร) ; ว่านสบู่ส้ม(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Begonia integrifolia Dalzell

ว่านก้ามกุ้งหิน

                        ไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกเบี้ยวแกมรูปหัวใจ ออกดอกเป็นช่อ ดอกแยกเพศ แต่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้มี4กลีบ ดอกเพศเมียมี5กลีบ ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพู มีเส้นสีม่วงแดงพาดตามยาว ออกดอกในราวเดือน ส.ค.. – ม.ค.

พบอิงอาศัยบนก้อนหินในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณจุดชมวิว

แพร่กระจายในอินเดียตอนใต้ ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และคาบสมุทรมาเลเซีย

6. ชมพูยูนนาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Begonia modestiflora Kurz

วงศ์ : BEGONIACEAE

ชมพูยูนนาน

ชมพูยูนนาน

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายฤดู ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปสามเหลี่ยมเบี้ยว ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกสีชมพู หรือสีชมพูแกมขาว ดอกแยกเพศแต่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน โคนช่อเป็นดอกเพศเมีย 1-2 ดอก ปลายช่อเป็นดอกเพศผู้ ดอกเพศผู้มี4กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบคู่นอกมีขนาดใหญ่กว่ากลีบคู่ใน ส่วนดอกเพศเมียมี5กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่รูปไข่กว้าง กลีบเล็กรูปใบหอกหรือรูปรีแคบ ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ส.ค.

พบขึ้นบนเขาหินปูนและอิงอาศัยตามซอกหินโขดหินใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้นหรือริมลำน้ำในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,800 เมตร ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณไทรงาม-ปล่องนางนาค

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย

7. ฝอยหิน

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องหิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyanotis arachnoidea Wight

วงศ์ : COMMELINACEAE

ฝอยหิน

                        ไม้ล้มลุก แตกกิ่งตั้งขึ้นหรือเกาะเลื้อย ใบเดี่ยว ใบที่โคนต้นออกกระจุกเป็นวงรอบ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ใบตามกิ่งก้านออกเรียงสลับ รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกสีชมพู สีม่วงอมขาว สีม่วงอมน้ำเงิน จนถึงสีม่วง ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น3กลีบ รูปไข่กว้าง ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นทุ่งตามพื้นที่โล่ง ทุ่งหญ้า และบนลานหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,700 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่อุทยานฯตามพื้นที่โล่งบนยอดเขาหลวง

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

8. เอื้องหมายนา

ชื่อท้องถิ่น : ชู้ไล้บ้อง , ซูเลโบ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; บรรไดเวียน , บันไดเวียน , เอื้องดิน(ภาคกลาง) ; บันไดสวรรค์ , เอื้องดิน , เอื้องใหญ่(ภาคใต้) ; เอื้องเพ็ดม้า(เกาะสมุย) ; เอื้องช้าง(นครศรีฯ) ; เอื้องต้น(ยะลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cheilocostus speciosus (J.König) C.Specht

วงศ์ : COSTACEAE

เอื้องหมายนา

                        ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบด้านล่างมักลดรูป ใบช่วงบนเป็นรูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตั้งตรงตามปลายยอด แต่ละช่อมีใบประดับเป็นกาบสีเขียว สีม่วงแดง สีแดง หรือสีน้ำตาลอมแดง เรียงชิดติดกันอยู่เป็นจำนวนมาก ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพู ดอกเป็นหลอดรูปกรวยปากแตร ปลายผายบานออก ขอบกลีบดอกหยักเป็นคลื่น ตรงกลางภายในดอกมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพู กลีบดอกบอบบางและหลุดร่วงง่าย ออกดอกตลอดทั้งปี แต่มีมากในราวเดือน พ.ค. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าที่มีความชุ่มชื้น ริมลำห้วย ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ เชิงเขา และบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,400 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง ตั้งแต่ตีนเขา-ลำธารพระยาแล่นเรือ

แพร่กระจายจากอินเดียตะวันออกแพร่กระจายสู่ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย นิวกินี และออสเตรเลีย

9. สลัด

ชื่อท้องถิ่น : เดื่อขี้อ้น(สุราษฎร์ธานี) ; ช้าหลอด , หลอดเถื่อน(นครศรีธรรมราช) ; ผักหวานช้างโขลง(ตรัง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mallotus peltatus (Geisel.) Müll. Arg.

วงศ์ : EUPHORBIACEAE

ดอกตูมของสลัด

                        ไม้พุ่ม สูง 2-12 เมตร ใบเดี่ยว โคนกิ่งออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ปลายกิ่งออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หรือรูปหัวใจ ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกแยกเพศแยกต้น ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจะไม่แตกแขนง กลีบเลี้ยง 3-4 กลีบ รูปไข่ ปลายกลีบโค้งกลับ ส่วนดอกเพศเมียเป็นช่อกระจะเรียวยาว กลีบเลี้ยงเป็นหลอดรูปคนโท ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่มรูปดาว ปลายหลอดกลีบเลี้ยงแยกออกเพียงกลีบเดียว ออกดอกในราวเดือน ก.พ. – มิ.ย. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ส.ค. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 122 ชนิด ในเมืองไทยพบ 42 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่า ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง ตั้งแต่ลำธารพระยาแล่นเรือ-ลานกางเต็นท์

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีนผไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และออสเตรเลีย

10. ชาดงรัก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dorcoceras geoffrayi (Pellegr.) C.Puglisi

วงศ์ : GESNERIACEAE

ชาดงรัก

                        ไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกซ้อนเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปใบหอก รูปใบหอกกลับ หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุก ดอกสีม่วงอ่อน ดอกเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น5กลีบ

พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในสกุล Boea ทั่วโลกพบ 6 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามหินปูนหรือหินทรายในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ตลอดจนทุ่งหญ้าบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,200 เมตร ทางภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผลของชาดงรัก

                        พบในพื้นที่อุทยานฯบริเวณใต้เพิงหินริมผาของยอดเขาภูกา

แพร่กระจายในไทย และกัมพูชา

11. หูหมี

ชื่อท้องถิ่น : สะเมาทะมอ(กะเหรี่ยง-จันทบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epithema carnosum Benth.

วงศ์ : GESNERIACEAE

หูหมี

                        ไม้ล้มลุก ต้นหนึ่งมี3ใบ ใบล่างออกใบเดียวที่โคนต้นมีขนาดใหญ่สุด รูปรี จนถึงรูปไข่ บตอนบนออกเป็นคู่ตรงกันข้ามที่ปลายยอด รูปรีแกมรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด ช่อละกว่า 20 ดอก แต่จะทยอยออกดอก 1-3 ดอก ขนาดดอก 0.6 ซม. ดอกสีม่วงอ่อน หรือสีขาวอมม่วง ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 20 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามโขดหินในหุบเขา และเขาหินปูนที่เปียกชื้นหรือริมลำน้ำใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณจุดชมวิว-ลำธารพระยาแล่นเรือ

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ และไทย

12. มะเมื่อย (ผล)

ชื่อท้องถิ่น : ม่วย(เชียงราย,อุบลฯ) ; มะม่วย(เชียงใหม่) ; เถาเมื่อย(สุโขทัย) ; แฮนม่วย(เลย) ; เครือมะเมื่อย , เมื่อย(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gnetum montanum Markgraf

วงศ์ : GNETACEAE

ผลของมะเมื่อย

                        ไม้เถาขนาดใหญ่และทอดยาวไปได้ไกลกว่า 10 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามปลายกิ่งและข้อลำต้น มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกแยกเพศอยู่คนละช่อหรือรวมกันอยู่ก็ไม่สมบูรณ์เพศ ช่อดอกตัวผู้มักแยกแขนงเรียงรายรอบตามข้อ ยาว 2.5-6 ซม. แต่ละดอกมีกาบรองดอก2อันซึ่งเชื่อมติดกันเป็นกระจังดูคล้ายกลีบดอก ส่วนช่อดอกตัวเมียออกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อกระจุกประมาณ 5-7 ช่อ/ข้อ ไข่แต่ละอันมีผนังหุ้ม3ชั้น ชั้นนอกคล้ายกลีบดอก อีก2ชั้นถัดเข้าไปคล้ายเป็นเปลือกชั้นนอกและชั้นใน ซึ่งเปลือกชั้นในจะงอกยาวออกไปเป็นท่อเกสรตัวเมีย ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ต.ค.

ผลรูปกระสวย ผลสดสีเขียว ผลสุกสีแดง ก้านผลยาว 0.2-0.3 ซม. เมล็ดแข็ง รูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว 1.2-4 ซม. มีกลีบนุ่มหรือหนาคล้ายหนังหุ้มอยู่ เมล็ดแก่จัดมีเยื่อหุ้มสีส้มอมแสด

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 41 ชนิด ในเมืองไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,800 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณน้ำดิบผามะหวด-ชานเบิกภัย

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

13. กลอนดู่

ชื่อท้องถิ่น : หอมฮอก(เชียงใหม่) ; ขนหนอน(สุราษฎร์ฯ-นครศรีฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gomphostemma javanicum (Blume) Benth.

วงศ์ : LAMIACEAE

กลอนดู่

กลอนดู่

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและปลายยอด ช่อละ 2-6 ดอก ดอกสีขาว หรือสีขาวครีมแกมเหลืองอ่อน ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น4กลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 39 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้นในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,600 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณไทรงาม-ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่บนยอดเขา

แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

14. เกล็ดหอย

ชื่อท้องถิ่น : สามสี , หญ้าลิ้นเงือก(เลย) ; หญ้าลำโพง(อุบลฯ) ; แววมยุรา , แววมยุเรศ(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Torenia fournieri Lind. ex E. Fourn.

วงศ์ : LINDERNIACEAE

เกล็ดหอย

                        ไม้ล้มลุกมีอายุฤดูเดียว ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปป้อมรี หรือรูปไข่ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะตามปลายกิ่ง มักมีช่อละ2ดอก กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีม่วงแก่จนถึงสีม่วงอ่อน ดอกเป็นหลอดรูปกรวยปากแตร ภายในหลอดดอกมีสีเหลือง ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ กลีบบน2กลีบมีขนาดใหญ่ สีม่วงอ่อน รูปกลม กลีบด้านข้าง2กลีบมีแต้มสีฟ้าปนม่วงและมีขนปกคลุม กลีบล่าง1กลีบมีแต้มสีเหลืองหรือสีขาวปนเหลือง ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในช่วงฤดูฝน

พืชสกุลนี้พบทั่วโลก 50 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามซอกหินที่ชุ่มชื้น พื้นที่ที่ชื้นแฉะ ก้อนหินหรือลานหินริมลำธาร ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,200 เมตร ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณจุดชมวิว-น้ำดิบผามะหาด

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไต้หวัน และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

15. สาวสนม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sonerila griffithii C.B. Clarke

วงศ์ : MELASTOMATACEAE

สาวสนม

                        ไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก โดยออกตามโคนต้นดูคล้ายเป็นกระจุก รูปไข่ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อซี่ร่มตามปลายยอด ช่อละ 3-6 ดอก ขนาดดอก 2-3.4 ซม. ดอกสีชมพู หรือสีชมพูเข้ม กลีบดอก3กลีบ ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ธ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 150 ชนิด ในเมืองไทยพบ 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดินที่ชุ่มชื้นหรืออิงอาศัยบนก้อนหินที่เปียกชื้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ บางครั้งพบอิงอาศัยตามโคนต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,700 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯบริเวณใต้เพิงหินริมผาของยอดเขาภูกา

แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย และภูมิภาคมลายู

16. กระทืบยอบ

ชื่อท้องถิ่น : จิยอบต้นตาล(ภาคเหนือ) ; หน่อปีเหมาะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; คันร่ม , เช้ายอบ , ไมยราบ(ภาคกลาง) ; หัวใจไมยราบ(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Biophytum sensitivum (L.) DC.

วงศ์ : OXALIDACEAE

กระทืบยอบ

                        ไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด มีใบย่อย 7-14 คู่ ใบย่อยรูปรีแกมขอบขนาน รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมรูปเคียว ออกดอกเป็นช่อตั้งตรงตามปลายยอด ดอกสีเหลือง ดอกเป็นรูปหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ รูปใบหอก ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 83 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ร่มค่อนข้างชื้น ริมแม่น้ำลำห้วย ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณจุดชมวิว

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

17. ผักไผ่น้ำ

ชื่อท้องถิ่น : ผักบังใบ(ภาคเหนือ) ; พญาดง , เอื้องเพ็ดม้า(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persicaria chinensis (L.) H. Gross

วงศ์ : POLYGONACEAE

ผักไผ่น้ำ

                        ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาว สีขาวอมชมพู จนถึงสีชมพูแกมขาว กลีบดอก5กลีบ รูปไข่ ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 66 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งในป่าโปร่งที่ชุ่มชื้นและป่าดิบ ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50 เมตร ขึ้นไป บางครั้งพบขึ้นบนโขดหินริมผา พบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

ผักไผ่น้ำ

                        พบในพื้นที่อุทยานฯตามพื้นที่โล่งบนยอดเขาหลวง และบนโขดหินริมผาของยอดเขาภูกา

แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

18. วังอด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hedyotis coronaria (Kurz) Craib

วงศ์ : RUBIACEAE

วังอด

                        ไม้ล้มลุก ทอดเลื้อยตามพื้น แล้วชูยอดตั้งขึ้น ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและปลายยอด ขนาดดอก 1-1.5 ซม. ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายหลอดดอกแยกเป็น 4-5 กลีบ ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 158 ชนิด ในเมืองไทยพบ 33 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชื้นแฉะใกล้ลำน้ำ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

วังอด

                        พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณจุดชมวิว-ลำธารพระยาแล่นเรือ

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อนึ่งนักวิชาการบางท่านบอกว่าจะย้ายไปอยู่สกุล Involucrella โดยมีชื่อวิทยฯว่า Involucrella coronaria (Kurz) Neupane & N.Wikstr.

19. หญ้าตีนมือตุ๊ดตู่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ophiorrhiza trichocarpos Blume

วงศ์ : RUBIACEAE

หญ้าตีนมือตุ๊ดตู่

                        เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ทอดนอนที่โคนต้น แล้วชูยอดสูงได้ถึง 15 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปรี หรือเกือบเป็นรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายยอด ยาว 1-3.5 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 0.6-1 ซม. ดอกสีขาว หรือสีขาวแกมชมพูอ่อน ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 316 ชนิด ในเมืองไทยพบ 17 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

หญ้าตีนมือตุ๊ดตู่

                        พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณชานเบิกภัย-ปล่องนางนาค

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

20. กะตังใบแดง

ชื่อท้องถิ่น : กะลังใบ , เขืองแข้งม้า(ภาคเหนือ) ; กะตังบาย , กะตังใบ , เขือง , บังใบ(ภาคกลาง) ; กะตังแดง(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leea rubra Blume ex Spreng.

วงศ์ : VITACEAE

กะตังใบแดง

กะตังใบแดง

ไม้พุ่ม สูงไม่เกิน 3 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม 8-10 เหลี่ยม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ 2-3 ชั้น ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปรี สีเขียว ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ดอกและก้านช่อดอกสีออกแดง โคนกลีบดอกติดกัน ปลายแยกเป็น5กลีบ รูปไข่ ออกดอกตลอดปี

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ LEEACEAE ทั่วโลกพบ 36 ชนิด ในเมืองไทยพบ 11-12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าและเชิงเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณตีนดอย-จุดชมวิว

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลียและฟูจิ

21. ดอกเข้าพรรษา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Globba nuda K.Larsen

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

ดอกเข้าพรรษา

                        ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ต้นหนึ่งมี 6-8 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะและแยกแขนงตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีเหลืองสด หรือสีเหลืองแกมส้ม ดอกเป็นหลอดโค้ง ปลายหลอดดอกแยกเป็น3กลีบ ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ส.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 98 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 50 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณชานเบิกภัย-ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่บนยอดเขา

แพร่กระจายในเมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

22. เปราะใหญ่

ชื่อท้องถิ่น : เปราะป่า , ว่านถอนโมกขศักดิ์ , ว่านนกคุ้ม , ว่านนกคุ้มตัวเมีย(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia elegans (Wall.) Baker

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

เปราะใหญ่

                        เป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น ต้นหนึ่งมี 2-4 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี รูปไข่ป้อม รูปกลมแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ท้องใบสีเขียว มักมีลายแต้มคล้ายลายเสือ หลังใบสีเขียวอมขาวหรือสีเขียวอมม่วง

ออกดอกเป็นช่อกระจุก ยาว 3-20 ซม. มีกาบดอกหุ้มช่อดอกยาว 3-10 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก แต่จะทยอยบานทีละ 1-3 ดอก ดอกสีม่วง สีม่วงอมแดง หรือสีม่วงอมชมพู ดอกเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น4กลีบ รูปไข่กลับ มีเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนรูปไปคล้ายกลีบดอก รูปไข่กลับกว้างเกือบกลม สีม่วงอมชมพู และมีสีขาวที่โคน หรือสีขาวล้วน ปกติออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ส.ค. บางครั้งพบออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ต.ค.

เปราะใหญ่

                        พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 37 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 25 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้นใต้ร่มเงาไม้ในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณตะเคียนคู่-ไทรงาม

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย ภูมิภาคมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อนึ่งชื่อสกุล Kaempferia ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Engelbert Kaempfer นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน

23. Zingiber sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber sp.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

Zingiber sp.

                        เป็นไม้ล้มลุกที่ยังไม่รู้ชนิด มีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียม เกิดจากกาบใบที่ห่อหุ้มซ้อนทับกัน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โคนใบแผ่ออกเป็นกาบหุ้มซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม ออกดอกเป็นช่อเชิงลดแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 100 ชนิด ในเมืองไทยพบ 60 ชนิด

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณน้ำดิบผามะหาด-ปล่องนางนาต


สัตว์ป่า


พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 10 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1.Ceracris nigricornis Walker, 1870

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceracris nigricornis Walker, 1870

วงศ์ย่อย : OEDIPODINAE

วงศ์ : ACRIDIDAE

Ceracris nigricornis Walker, 1870

                        เป็นตั๊กแตนหนวดสั้นที่ไม่มีรายละเอียดข้อมูล คงรู้แต่ว่าตั๊กแตนสกุลนี้พบทั่วโลก 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในเมืองไทย ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯ บริเวณลานกางเต็นท์บนยอดเขา

แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

2.Caryanda sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caryanda sp.

วงศ์ย่อย : OXYINAE

วงศ์ : ACRIDIDAE

Caryanda sp.

                        เป็นตั๊กแตนหนวดสั้นที่ไม่มีรายละเอียดข้อมูล คงรู้แต่ว่าตั๊กแตนสกุลนี้พบทั่วโลก 67 ชนิด

พบในพื้นที่อุทยานฯ บริเวณลานกางเต็นท์บนยอดเขา

3. นกแอ่นบ้าน

ชื่อสามัญ : House Swift ; Little Swift

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Apus affinis Gray, 1830

วงศ์ : APODIDAE

นกแอ่นบ้าน

                        เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 14-15 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลำตัวสีดำเหลือบน้ำเงิน คอและตะโพกสีขาว มองเห็นได้ชัด ปลายปีกมน ปลายหางตัดหรือเว้าเล็กน้อย โดยจะเห็นหางเป็นแฉกเล็กน้อยเมื่อนกแผ่หางออก แตกต่างจากนกแอ่นตะโพกขาวหางแฉก(Fork-tailed Swift) โดยมีปีกกว้าง และหางสั้นกว่า

มักพบอยู่เป็นกลุ่มหรือเป็นฝูง โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในตอนกลางวันด้วยการบินและร่อน ส่วนเวลากลางคืนเกาะหลับนอนตามแหล่งต่างๆ เป็นนกที่บินได้เร็วมาก บางครั้งก็ร่อนเป็นวงกลม ออกหากินไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยพอประมาณ

อาหารได้แก่ แมลงขนาดเล็กต่างๆ ด้วยการโฉบจับกลางอากาศ แล้วกลืนกินทันที

ฤดูผสมพันธุ์นั้นเกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นในช่วงฤดูหนาว โดยมากจะพบรังในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนตุลาคม ทำรังตามชายคาตึก อาคารสูง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนตามโพรงถ้ำหินปูนและผาหินต่างๆ รูปร่างของรังแตกต่างกันมาก บ้างเป็นรูปทรงกลม บ้างเป็นรูปตะกร้า ใช้วัสดุทำรังจำพวกหญ้า ใบไม้ และขนนก แล้วเชื่อมวัสดุเหล่านี้ด้วยสิ่งที่สกัดออกมาจากต่อมน้ำลาย มักทำรังรวมกันเป็นกลุ่ม ในแต่ละปีหากรังเดิมไม่ถูกทำลายไปก่อน ก็จะตบแต่งด้วยการหาวัสดุมาเสริมทำเป็นรังใหม่ วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง แต่ละฟองใช้ระยะเวลาราว 2-3 วัน บางครั้งก็ยาวนานถึง 7 วัน ไข่สีขาว ใช้เวลาฟักไข่ราว 18-26 วัน โดยทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน เมื่อลูกนกออกจากไข่มาใหม่ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังไม่ลืมตา ลูกนกมีผิวหนังสีน้ำตาล ตาโปน และท้องป่อง พ่อแม่นกจะช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อนจนกว่าลูกนกแข็งแรงและบินออกจากรังหาอาหารได้ โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 37-43 วัน หลังออกจากไข่

ชื่อชนิดเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ affinis หรือ affini แปลว่า เกี่ยวพันกับ หรือสัมพันธ์กับ ความหมายก็คือ“ลักษณะคล้ายกับนกชนิดอื่นๆในสกุลเดียวกันนี้” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย

นกแอ่นบ้าน

                        บางตำราใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของนกแอ่นบ้านว่า Apus nipalensis Hodgson, 1836 ซึ่งชื่อชนิดเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศเนปาล อันเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก

แต่ Ali and Ripley (1970) ถือว่า nipalensis เป็นเพียงชนิดย่อยของ A. affinis ส่วน Sibley and Monroe (1990) จัดให้ทั้ง2เป็นนกคนละชนิดกัน และให้ชื่อสามัญแก่ Apus affinis Gray, 1830 ว่า Little Swift และให้ชื่อสามัญแก่ Apus nipalensis Hodgson, 1836 ว่า House Swift

ขณะที่ Inskipp,et. al. (1996) จัดเป็นนกชนิดเดียวกัน โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ตั้งก่อน คือ Apus affinis Gray, 1830

ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ Apus affinis subfurcatus Blyth ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน2คำ คือ คำว่า sub แปลว่า ข้างใต้ หรือด้านล่าง และคำว่า furcatus (furc,=a,-i) แปลว่า แฉก ความหมายก็คือ“มองจากด้านล่าง จะเห็นหางเป็นแฉก” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกบนเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย

พบได้ตามบ้านเรือน ชุมชน พื้นที่โล่งๆ เกาะแก่งกลางท้องทะเล บางครั้งพบเหนือผืนป่าในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,800 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯ บริเวณริมผาของยอดเขาแม่ย่า และยอดเขาภูกา

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไต้หวัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา

4. มวนนักกล้ามถั่ว

ชื่อสามัญ : Coreid Bug ; Large-femur Coreid Bug ; Legume Pod Bug

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anoplocnemis phasiana Fabricius, 1781

วงศ์ : COREIDAE

มวนนักกล้ามถั่ว

                        มีขนาด 2.2-2.8 ซม. โดยตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย หนวดสีดำ ปล้องปลายสุดสีส้ม หัว อก และปีกมีสีน้ำตาลคล้ำและสีน้ำตาลอ่อนสลับกัน ขาคู่หลังของตัวผู้บริเวณโคนขาจะพองโต โค้ง และมีหนามแหลม ดูคล้ายกล้ามของนักเพาะกาย ส่วนตัวเมียมีโคนขาพองโตกว่าคู่ขาอื่นๆเล็กน้อย

มักอยู่รวมกลุ่ม 10-15 ตัว เพื่อดูดน้ำเลี้ยงจากพืชตระกูลถั่ว หากตกใจจะทิ้งตัวลงสู่พื้น หรือบินหนีไป

ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะทำลายพืชทุกระยะ โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดและใบอ่อนของพืชสกุล Arachis สกุล Glycine และสกุล Vigna วงศ์ FABACEAE ทำให้ใบและยอดเหี่ยว

ศัตรูตามธรรมชาติของมวนชนิดนี้ คือ มด และแมงมุม

พบตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯ บริเวณลานกางเต็นท์บนยอดเขา

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

5. Asceles glaber Günther 1938

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Asceles glaber Günther, 1938

วงศ์ย่อย : NECROSCIINAE

วงศ์ : DIAPHAROMERIDAE

Asceles glaber Günther, 1938

Asceles glaber Günther, 1938

เป็นตั๊กแตนกิ่งไม้ที่ไม่มีรายละเอียดข้อมูลมากนัก คงรู้แต่เพียงว่าเพศเมียมีความยาวราว 8.5 ซม. ส่วนเพศผู้มีความยาวราว 6.5 ซม.

ตั๊กแตนกิ่งไม้สกุลนี้พบทั่วโลก 43 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในเมืองไทย ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯ บริเวณลานกางเต็นท์บนยอดเขา

แพร่กระจายในศรลังกา เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี

6. ผีเสื้อฟ้าวาวสีต่างฤดู

ชื่อสามัญ : Common Cerulean

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jamides celeno Cramer, 1775

วงศ์ย่อย : POLYOMMATINAE

วงศ์ : LYCAENIDAE

ผีเสื้อฟ้าวาวสีต่างฤดู เพศเมีย

                        มีขนาด 2.7-3.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีฟ้าอ่อนเกือบขาว ปลายปีกคู่หลังมีจุดสีดำ1จุด ในเพศผู้มีขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้าสีดำ ส่วนเพศเมียมีขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้าและขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หลังเป็นสีน้ำตาลเข้ม ปีกบนคู่หลังทั้งสองเพศมีจุดสีดำแต้มสีส้มบริเวณมุมปลายปีกหลัง

ปีกด้านล่าง(หรือท้องปีก)ของทั้งสองเพศคล้ายกัน พื้นปีกสีน้ำตาล มีเส้นลวดลายสีขาวทั่วทั้งปีก มุมปลายปีกหลังมีจุดสีดำแต้มสีส้มและมีเส้นขนเล็กๆข้างละ1เส้น ทั้งนี้ลวดลายของปีกล่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ในช่วงฤดูฝนจะมีลวดลายเป็นเส้นชัดเจน แต่ในช่วงฤดูแล้งจะมีลวดลายเป็นแถบและแทรกด้วยสีขาว

พืชอาหารของตัวหนอนผีเสื้อชนิดนี้ คือ สกุล Abrus สกุล Butea สกุล Pueraria สกุล Saraca และสกุล Vigna วงศ์ FABACEAE

มักพบตามพื้นดินชื้นๆหรือใบไม้ที่มีแสงแดดตามทุ่งหญ้า ลำห้วย และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง ตั้งแต่จุดชมวิว-ชานเบิกภัย

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

7. นกโพระดกหูเขียว

ชื่อท้องถิ่น : นกกู่เต้น

ชื่อสามัญ : Green-eared Barbet

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Megalaima faiostricta Temminck, 1831

วงศ์ : MEGALAIMIDAE

นกโพระดกหูเขียว ชนิดย่อย praetermissa

                        เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 23-24 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีลักษณะคล้ายนกโพระดกธรรมดา(Lineated Barbet) แต่ปากสีดำ โคนปากสีเหลือง ขนลำตัวสีเขียว หัว คอหอย และอกมีลายขีดสีน้ำตาลเข้ม ท้องสีเขียวจางๆ แก้มและขนคลุมหูสีเขียว มีแถบสีแดงเล็กๆพาดด้านข้างของคอ

พบทั้งที่อยู่โดดเดี่ยวและเป็นคู่ หรืออาจพบเป็นกลุ่มใหญ่ในต้นไม้ที่กำลังออกผลสุก ปกติไม่ค่อยเห็นตัว เพราะสีกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการได้ยินเสียงร้อง

เสียงร้องดังก้องว่า“ตุ๊ก-อรุ๊ก” หรือ“เปอ-รู-รู-รุก” โดยจะร้องซ้ำๆกันอย่างรวดเร็วต่อเนื่องประมาณ 80-85 ครั้ง/นาที ซึ่งเสียงร้องฟังคล้ายเสียงร้องของนกโพระดกคอสีฟ้า(Blue-throated Barbet)มาก ทำให้ยากต่อการจำแนก แต่บางครั้งก็ได้ยินเสียงร้องเป็น“กู่-เต้น” โดยจะร้องซ้ำๆกันและรวดเร็วพอประมาณ อันเป็นที่มาของชื่อท้องถิ่น

มักได้ยินเสียงร้องของนกชนิดนี้ตลอดทั้งวัน โดยได้ยินบ่อยมากในช่วงเช้าและช่วงเย็น

อาหารได้แก่ ผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะไทร หว้า ตะขบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังกินกลีบดอกและน้ำหวานของดอกไม้บางชนิด แมลง หนอน และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆอีกด้วย

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามโพรงของต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติ โพรงที่สัตว์อื่นทำทิ้งไว้ หรืออาจจะเป็นโพรงที่นกชนิดนี้ช่วยกันขุดเจาะตามต้นไม้ที่ยืนต้นตายหรือค่อนข้างผุ หรือไม้เนื้ออ่อนที่ยังมีชีวิตอยู่ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ไข่สีขาว ใช้เวลาฟักไข่ราว 14-15 วัน โดยทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน เมื่อลูกนกออกจากไข่มาใหม่ๆ ยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังไม่ลืมตา พ่อแม่นกจะช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อน เมื่อลูกนกแข็งแรงและบินได้แล้ว ก็จะแยกจากพ่อแม่ไปหาอาหารเอง และทิ้งรังไปในที่สุด

นกโพระดกหูเขียว ชนิดย่อย praetermissa

                        ชื่อชนิดมาจากรากศัพท์ภาษากรีก2คำ คือ คำว่า phaios แปลว่า สีเทา และ stiktos แปลว่า จุด ความหมายก็คือ“นกที่มีลายจุดเป็นสีเทา” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม

ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบทั้ง 2 ชนิดย่อย ได้แก่

M. faiostricta faiostricta Temminck ที่มาและความหมายของชนิดย่อยมีทีมาเช่นเดียวกับชนิด ในเมืองไทยพบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

M. faiostricta praetermissa Boden Kloss ชื่อชนิดย่อยเป็นคำในภาษาละติน คือ praetermissus แปลว่า มอดงข้ามไป หรือละเลย อาจมีความหมายเกี่ยวกับการจัดจำแนก ซึ่งไม่มีใครแยกเป็นชนิดย่อยเลย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศจีน ในเมืองไทยพบได้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบอาศัยตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 900 เมตร

พบในพื้นที่อุทยานฯ บริเวณลานกางเต็นท์บนยอดเขา

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในจีน และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

8. ผีเสื้อเจ้าชายดำสยาม

ชื่อสามัญ : Siamese Black Prince

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rohana parisatis pseudosiamensis Nguyen-Phung 1985

วงศ์ย่อย : APATURINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อเจ้าชายดำสยาม เพศผู้

                        มีขนาด 5-5.3 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า)

ปีกด้านบน(หรือหลังปีก)ของตัวผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้จนถึงสีดำ ปลายปีกและขอบปีกสีน้ำตาลเข้ม มีจุดเล็กๆสีขาวที่ปลายปีกและขอบปีกคู่หน้า ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกสีเหลืองแกมน้ำตาล มีลวดลายสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดเล็กๆสีขาว2จุดที่ใกล้ปลายปีกคู่หน้า

ปีกด้านล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีเดียวกับปีกบน แต่สีอ่อนกว่า เห็นจุดและลวดลายได้ชัดเจน

พืชอาหารของตัวหนอนผีเสื้อชนิดนี้ คือ เทียนดอย(Impatiens violiflora Hook.f.) วงศ์ BALSAMINACEAE และสกุล Celtis วงศ์ CANNABACEAE

พบได้ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯ บริเวณลานกางเต็นท์บนยอดเขา

แพร่กระจายในไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

9. Acropteris iphiataGuenée 1857

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acropteris iphiata Guenée, 1857

วงศ์ย่อย : MICRONIINAE

วงศ์ : URANIIDAE

Acropteris iphiata Guenée, 1857

                        เป็นผีเสื้อกลางคืน มีขนาด 2.5-3.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) พื้นปีกสีขาว และมีลายแถบสีเทาดำพาดขวางลายแถบ

พืชอาหารของตัวหนอนผีเสื้อชนิดนี้ คือ พืชสกุล Cynanchum และสกุล Tylophora วงศ์ APOCYNACEAE

ในเมืองไทยมีรายงานการพบที่เชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย นครศรีธรรมราช และภูเก็ต

พบในพื้นที่อุทยานฯตามทางเดินสู่ยอดเขาหลวง บริเวณไทรงาม

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เกาหลี รัสเซีย ญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย และเขตร้อนในออสเตรเลีย

10. ต่อหัวเสือดอย

ชื่อท้องถิ่น : ต่อเมี่ยง(เชียงใหม่) ; ต่อแดง(ลำปาง)

ชื่อสามัญ : North-siam Tiger-wasps

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vespa velutina variana Vecht, 1957

วงศ์ : VESPIDAE

ต่อหัวเสือดอย

                        มีขนาดลำตัว 2.7 -3.50 ซม. มีปีกสีน้ำตาลบางใส 2 คู่ ปีกคู่หลังมีขนาดเล็กกว่าปีกคู่หน้ามาก มีเขี้ยวที่กางออกทางข้าง 2 ข้าง ลักษณะส่วนหัวมีสีเหลืองอ่อนจนถึงแดงอ่อนปนน้ำตาล มีตารวมสีน้ำตาลเข้มถึงดำ อกมีสีน้ำตาลเข้ม ข้างอกด้านหน้าใกล้ส่วนหัวมีสีเหลือง ส่วนหลังของอกมีสีเหลืองอ่อน ส่วนท้องปล้อง 1-2 มีสีน้ำตาลเข้ม ด้านหลังของปล้องมีสีเส้นสีเหลืองแคบในปล้อง 1 และกว้างในปล้อง2 ปล้อง3 และปล้อง4 มีสีเหลืองอ่อน ยกเว้นเส้นระหว่างปล้อง และจุดรูปสามเหลี่ยมที่ฐานปล้องตรงส่วนกลางของปล้อง3 และบางครั้งก็พบที่ปล้อง4ด้วย มีสีน้ำตาลเข้ม ปล้องใกล้ปลายท้องมีสีน้ำตาลเข้ม อาจจะมีแต้มสีเหลืองอ่อนที่ด้านบนปล้อง5 ลำตัวยาว 15-22 มม.

ต่อเป็นแมลงที่กินสัตว์ เช่น ตัวอ่อนแมลงอื่น และซากสัตว์ เป็นอาหาร รวมทั้งยังจัดเป็นแมลงตัวห้ำ(Predator) อีกทั้งเป็นแมลงที่ดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้

ปกติจะหากินเหยื่อตอนกลางคืน แต่ผู้เขียนก็ยังพบต่อชนิดเดียวกันนี้ออกบินกินน้ำหวานจากปลีกล้วยป่าในเวลากลางวันด้วย

การเจริญเติบโตของต่อ ตั้งแต่ตัวอ่อนซึ่งเป็นมีสภาพเป็นตัวหนอน(larva)ฟักออกมาจากไข่ ต้องผ่านระยะตัวหนอนหลายระยะ โดยตัวหนอนมีปากเป็นแบบกัด หนอนในระยะสุดท้ายจะเริ่มหยุดกินอาหารและเคลื่อนไหวน้อยลงเรียกหนอนในระยะนี้ว่า“ระยะเตรียมเข้าดักแด้”(Prepupa or Pharate Pupa) จากนั้นจะเข้าดักแด้(pupation) จนเป็นตัวเต็มวัยมีปีกบินได้นั้น จัดอยู่ในประเภทการลอกคราบ หรือการถอดรูปสมบูรณ์แบบ(Holometabolous or Complete Metamorphosis)  การถอดรูปในลักษณะนี้มักพบได้ในกลุ่มแมลงที่มีวิวัฒนาการสูง วงจรชีวิตมีการพัฒนาการในระยะต่างๆที่สำคัญรวม 4 ระยะ คือ ระยะไข่  ระยะตัวอ่อนหรือหนอน ระยะดักแด้ และระยะตัวเต็มวัย

เป็นต่อหัวเสือชนิดหนึ่งที่อยู่ในสกุล Vespa ทั่วโลกพบ 17 ชนิด ในเมืองไทยพบ 11 ชนิด สำหรับชนิด velutina ยังแบ่งออกเป็น 12 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ variana

พบในพื้นที่อุทยานฯ บริเวณลานกางเต็นท์บนยอดเขา

แพร่กระจายในไทย ลาว และเวียดนาม