คู่มือการใช้ท่อหายใจ (Used to Snorkel)
หากเปรียบลีลาธรรมชาติของสรรพสิ่งใต้ทะเลเป็นดั่งภาพยนต์ที่เราได้ชมอยู่แล้วไซร้หน้ากากดำน้ำก็คือตา ส่วนท่อหายใจเป็นเสมือนสิ่งที่ทำให้เราสามารถดูภาพยนตร์นั้นได้อย่างไม่ขาดตอน
ท่อ หายใจช่วยทำให้นักดำน้ำผิวน้ำ (Skin Diver) สามารถนอนคว่ำบนผิวน้ำเพื่อดูธรรมชาติใต้ท้องทะเลได้ตลอดเวลาโดยหายใจสูด อากาศเข้าปอดผ่านท่อหายใจได้อย่างสบาย ซึ่งมีปลายโผล่พ้นผิวน้ำและช่วยสงวนพลังงานของร่างกายโดยไม่ต้องเงยหน้าขึ้น มาหายใจ อันจะทำให้เหนื่อยง่าย รวมทั้งยังมีความสำคัญต่อการดำน้ำลึก (Scuba Diving) ในลักษณะของอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งนักดำน้ำลึก (Scuba Diver) จะใช้ขณะลอยตัวอยู่ที่ผิวน้ำเพื่อประหยัดอากาศในถังดำน้ำก่อนลงดำหรือเมื่อ กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อากาศในถังใกล้หมดหรือหมดไปแล้ว แต่ต้องว่ายกลับเรือหรือเข้าฝั่ง
ท่อหายใจมีรูปทรงคล้ายตัว “J” ในพยัญชนะของภาษาอังกฤษ คือ ปลายด้านล่างโค้งงอขึ้นและมี “ที่คาบหายใจ” (Mouth Piece) ติดอยู่ ปัจจุบันมีการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกล่าวสรุปได้ว่ามีรูปแบบแตกต่างกัน 3 แบบ คือ
1. แบบตัวJหรือธรรมดา (Simple “J”)
2. แบบ ตัวJโค้งเข้า (Contour) มีลักษณะปลายท่อจะโค้งเข้าหาศีรษะเพื่อป้องกันน้ำทะเลกระเซ็นเข้าลงท่ออัน เกิดจากการดำน้ำของตัวเองหรือผู้อื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
3. แบบท่ออ่อน (Flex Hose) มีลักษณะส่วนล่างของท่อหายใจจะเป็นข้อหยัก ๆ ทำให้ท่อยืดโค้งงอได้ตามแต่เราต้องการ
นอกจากนี้ยังแบ่งได้อีก 2 รูปแบบ คือ ชนิดที่มีวาล์ว และไม่มีวาล์ว ซึ่งมีข้อแตกต่างเช่นเดียวกันกับหน้ากากดำน้ำแบบมีวาล์วและไม่มีวาล์ว วิธีการไล่น้ำออกจากท่อหายใจ โดยการหายใจเข้าทางท่อแล้วกลั้นหายใจไว้ พร้อมกับก้มศีรษะลงจนปลายท่อหายใจจมน้ำ จากนั้นเงยหน้าขึ้นมาคว่ำอยู่บนผิวน้ำดังเดิม แล้วเป่าลมหายใจออกจากปากแรง ๆ น้ำก็จะถูกไล่ออกจนหมด หากน้ำยังมีเหลือค้างอยู่ในท่อหายใจ เวลาเราหายใจเข้าก็จะมีเสียงดังครอก ๆ ก็ให้สูดลมหายใจเข้าเบา ๆ ติดต่อกันจนลมเต็มปอด แล้วเป่าพรวดแรง ๆ ก็จะสามารถไล่น้ำที่ค้างอยู่ในท่อหายใจออกมาได้หมด
หลักการเลือกซื้อท่อหายใจ
1. ท่อหายใจที่ได้มาตรฐานจะต้องมีขนาดยาวระหว่าง 14-17 นิ้ว โดยวัดจากจุดกึ่งกลางของที่คาบหายใจ (Mouth Piece) ถึงปลายท่อด้านบน ส่วนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายในท่อควรจะมีขนาดประมาณ 7/8 นิ้ว หรือ (22 มม.) เพื่อให้การนำเข้าอากาศหรือสูดอากาศเข้าปอด และการระบายอากาศหรือการเป่าลมออกจากปอด รวมทั้งการไล่น้ำออกจากท่อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจมีขนาดเล็กลงได้บ้างหากผู้ใช้เป็นเด็กเล็ก
2. ตัวท่อควรมีสีสันสดใส แต่ถ้าชอบแบบสีทึบก็ควรมีแถบสะท้อนแสงหรือมันวาวติดที่ปลายส่วนบน เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนและสะดุดตา รวมทั้งป้องกันการถูกเรือวิ่งชนขณะดำน้ำผิวน้ำ
3. ไม่ควรเลือกชนิดที่มีลูกบอลหรือลูกปิงปองกันน้ำเข้าอยู่ที่ปลายท่อ เพราะจำทำให้ผู้ใช้หายใจเข้าออกไม่สะดวก รวมทั้งไม่สามารถไล่น้ำออกจากท่อหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพดีพอ
4. ส่วนโค้งจากตัวท่อหายใจมายังบริเวณที่คาบหายใจ (Mouth Piece) นั้นไม่ควรโค้งมากหรือหักมุมแคบมาก เพราะทำให้การหายใจเข้าออกไม่สะดวก และการไล่น้ำออกทำได้ยาก
5. ท่อหายใจควรมีน้ำหนักเบา และยางที่ใช้เป็นส่วนประกอบของท่อหายใจควรเป็นยางที่มีคุณภาพดีไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง และมีความทนทานต่อการใช้งานในทะเล เช่น ซิลิโคน ฯลฯ
6. ต้องมีตัวคล้องหรือที่รัดท่อ (Snorkel Keeper) เข้ากับสายรัดศีรษะของหน้ากากดำน้ำ ซึ่งมีหลายแบบ ได้แก่ แบบรัด คล้อง และตัวหนีบหรือล็อค
7. ลองทดสอบนำท่อหายใจคล้องหรือหนีบเข้ากับสายรัดศีรษะของหน้ากากดำน้ำ แล้วจับส่วนโค้งของที่คาบหายใจ (Mouth Piece) ให้มาอยู่ในตำแหน่งปาก ซึ่งจะต้องรู้สึกว่าเป็นไปอย่างสะดวกคล่องตัวและไม่มีแรงต้านเลยหรือมีน้อยมาก แต่ทั้งนี้ไม่ต้องลองจริงถึงขนาดใช้ปากกับที่คาบหายใจ เพราะผู้ขายอาจไม่พอใจหากเราไม่ซื้อ
วิธีการใช้ท่อหายใจ
นำ ท่อหายใจคล้องหรือหนีบเข้ากับสายรัดหน้ากากดำน้ำให้แน่น โดยให้ตำแหน่งปลายท่อหายใจชี้ขึ้นหลังศีรษะอันเป็นส่วนที่สูงที่สุดในขณะ คว่ำหน้าเพื่อดำน้ำผิวน้ำ ซึ่งจะเป็นจุดที่น้ำจะเข้าท่อหายใจได้ยากหรือไม่สามารถเข้าได้เลยเพราะปลาย ท่อหายใจจะโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำอย่างมั่นคงหาไม่อาจจะทำให้ปลายท่อหายใจเอน ตัวลงจุ่มน้ำเวลาดำน้ำได้ง่าย ทำให้น้ำเข้าท่อหายใจและผู้ใช้เกิดอาการสำลักน้ำได้ ควรติดท่อหายใจเอาไว้ทางด้านซ้ายของศีรษะเพราะในอนาคตเราอาจได้ฝึกฝนเรียน รู้การดำน้ำแบบดำน้ำลึก จะได้เกิดความเคยชิน เนื่องจากการดำน้ำลึกนั้นทางด้านขวาของหน้ากากดำน้ำจะเป็นสายอุปกรณ์หายใจ ใต้น้ำหากติดท่อหายใจทางด้านนี้ก็จะเกิดความเกะกะขณะใช้งาน
ท่อหายใจเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสูดอากาศเข้าออกทางปากแทนจมูกขณะดำน้ำ วิธีใช้ก็โดยใช้ฟันขบตุ่มบนที่คาบหายใจ (Mouth Piece) เพียงเบา ๆ ไม่ต้องกัดแน่นจนตุ่มขาด ตัวแผ่นที่คาบหายใจจะอยู่ระหว่างฟันกับริมฝีปาก ย้ำว่า “ไม่ใช่เป็นการอม” มิฉะนั้นน้ำจะเข้าปาก และสำลักได้
วิธีตรวจสอบว่าท่อหายใจอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและน้ำจะไม่เข้าก็สำรวจได้ด้วยการดูจากตำแหน่งกึ่งกลางของที่คาบหายใจ ซึ่งอาจอยู่ในแนวเดียวกันกับกึ่งกลางของตัวท่อหายใจ หรืออาจให้เพื่อน ๆ ช่วยปรับแต่งให้ก่อนลงน้ำ และก่อนที่จะเริ่มดำน้ำ (ขณะอยู่ในน้ำควรทดสอบตำแหน่งที่ติดตั้งท่อหายใจอีกครั้ง ด้วยการก้มหน้าดำน้ำอยู่กับที่ แล้วหายใจผ่านท่อหายใจไปเรื่อย ๆ จากนั้นทำการก้มหน้าลงและเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งเอียงศีรษะไปทางซ้ายและขวามาก ๆ เพื่อดูว่ามีตำแหน่งใดที่น้ำเข้าได้ เพื่อที่จะได้แก้ไขปรับปรุงให้ท่อหายใจอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องและเหมาะสม หรืออาจเป็นเพราะคาบท่อหายใจยังไม่ดี ก็ให้ขยับปรับให้ดีแล้วลองดูใหม่ เดี๋ยวก็จะได้เอง) การดูแลรักษาและทำความสะอาด เช่นเดียวกับหน้ากากดำน้ำ