คู่มือการใช้ชูชีพ (Used to Life Vest)
ชูชีพ เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างมากในการเดินทางโดยสารทางเรือหรือการเล่น กีฬาทางน้ำ อาทิ การดำน้ำแบบผิวน้ำ (Skin Diving) เพื่อชมปะการังน้ำตื้น เจ็ตสกี สกีน้ำ การแล่นเรือใบ การล่องลำน้ำหรือทะเลสาปด้วยเรือแคนู หรือเรือคายัค การล่องแก่งตามลำน้ำเชี่ยวกรากด้วยเรือยาง การตกปลาขณะอยู่ในเรือ ฯลฯ ส่วนที่สำคัญที่สุดของชูชีพก็คือ เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ประสพภัยทางน้ำ ซึ่งเรือแต่ละลำจะต้องมีชูชีพติดประจำเรือในจำนวนที่ไม่น้อยกว่าผู้โดยสาร อยู่ตลอดเวลาตามกฎหมายของกรมเจ้าท่าที่ได้ประกาศออกมาบังคับใช้เป็นข้อกำหนด
หลักการลอยตัวของชูชีพ : โดยปกติภายในชูชีพจะบรรจุด้วยโฟมสังเคราะห์พิเศษ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ EVA Foam & P.E .Foam ซึ่งทั้ง 2 ชนิด จะมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ เหนียว ลอยตัวในน้ำได้ดี เป็นฉนวนกันความร้อนและสามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดีเยี่ยม แต่ต่างกันตรงที่ EVA Foam จะมีความยืดหยุ่นและหลากสี ส่วน P.E. Foam มีน้ำหนักเบากว่าและมีเฉพาะสีขาว
ควรสวมใส่ชูชีพเมื่อไรและอย่างไร :
1. ก่อนออกเรือสู่ลำน้ำหรือท้องทะเล ควรสวมใส่ชูชีพตลอดเวลา หากไม่สวมก็ควรวางไว้ใกล้ตัวที่สามารถจะหยิบฉวยได้ง่าย ซึ่งเป็นกรณีที่คลื่นลมสงบและไม่มีฝนตก
2. ควรหัดลองสวมชูชีพให้เป็นก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะควรสอนให้เด็กได้รู้จักวิธีใช้ด้วย
3. ก่อนการลงน้ำเพื่อเล่นกีฬาทางน้ำ ควรสวมชูชีพทุกครั้ง มิใช่สวมใส่ขณะที่อยู่ในน้ำซึ่งจะทำได้ค่อนข้างลำบาก
หลักการเลือกซื้อชูชีพ (สำหรับการเล่นกีฬาทางน้ำ)
1. ควรเลือกชูชีพที่ภายในบรรจุด้วยโฟมสังเคราะห์ชนิด P.E. ซึ่งมีคุณสมบัติในการลอยตัวในน้ำและสามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดีกว่าชนิด EVA
2. ควรเลือกชูชีพที่มีลักษณะแบบแจ็คเก็ต ซึ่งจะทำให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ
3. ควรมีสายรัดอกและสายรัดเอวที่สามารถเลื่อนปรับให้กระชับแก่ร่างกายได้ ควรมีสายรัดระหว่างขาจากด้านหลังมาด้านหน้าจำนวน 2 เส้น เพื่อคอยรั้งมิให้ขอบชูชีพบริเวณหัวไหล่เกิดการลอยตัวสูงขึ้นจนปิดใบหน้าและคอขณะที่ลอยตัวอยู่ในน้ำ
4. ควรมีสีสันฉูดฉาดหรือสีสะท้อนแสงตัดกับสีน้ำทะเลเพื่อให้เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็นได้ในระยะไกล และเป็นการป้องกันเรือวิ่งชนขณะเล่นน้ำดำน้ำอย่างเพลิดเพลิน
5. ในชูชีพควรมี “นกหวีดน้ำ” ผูกติดอยู่กับตัวเสื้อชูชีพ เพื่อไว้ใช้เรียกขอความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
เมื่อเลือกได้แล้วก็ลองสวมแล้วปรับสายรัดอก สายรัดเอว และสายรัดระหว่างขา ดูว่าเหมาะสมกับสรีระร่างกายของเรา และสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระขณะสวมใส่หรือไม่
การดูแลรักษาและทำความสะอาด
1. ควรตรวจสอบชูชีพว่ามีรอยปริขาดของเนื้อผ้า และตามตะเข็บหรือไม่ นอกจากนี้ก็ควรตรวจดูตัวล็อคของสายรัดเข็มขัด และซิปว่ายังใช้งานได้ดีหรือเปล่า หากมีส่วนใดเสียหายหรือชำรุดก็ควรทำการซ่อมแซมปรับปรุงทันที
2. หลังการใช้ควรล้างด้วยน้ำจืดทุกครั้ง เพื่อล้างคราบน้ำทะเล และเศษกรวดทรายที่อาจจะจับเกาะอยู่ตามบริเวณซิป หรือตัวล็อคของเข็มขัด จากนั้นนำไปตากลมให้แห้ง ห้ามตากแดดโดยเด็ดขาด ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ด้วยการแขวนหรือวางกับพื้นไม้ ห้ามวางกับพื้นปูนหรือบริเวณที่มีความชื้น เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราเป็นจุดด่างดวงบนชูชีพได้ และทำให้อายุการใช้งานของชูชีพเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ
3. ห้ามนำชูชีพใช้เป็นเบาะรองนั่งหรือเป็นกันชนระหว่างเรือหรือให้บรรทุกของหนักบนผิวน้ำ เพราะอาจจะทำให้ชูชีพหมดสภาพหรือลดประสิทธิภาพในการลอยตัวในน้ำได้ดี
4. ห้ามนำชูชีพไปวางไว้ใกล้เครื่องทำความร้อน หรือถูกน้ำร้อนหรือน้ำมัน เพราะจะทำให้โฟมสังเคราะห์พิเศษเกิดการหดตัว และทำให้สมรรถภาพการลอยน้ำมีคุณภาพลดลงหรือสูญเสียได้