พรรณไม้และสัตว์ป่า ณ ทุ่งโนนสน อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง

ท่องป่ารอบทุ่งโนนสน

ช่วงปลายเดือนตุลาคม สายฝนยังคงเทลงมาสร้างความชุ่มฉ่ำไปทั่วผืนป่า หนทางแม้จะเฉอะแฉะอยู่บ้าง แต่ทว่าความงามแห่งป่ามีมากเกินกว่าพวกเราจะบ่นถึงความยุ่งยากต่อสิ่งเหล่านี้

สำหรับผู้รักการผจญภัย ชอบนอนกลางดินกินกลางป่า เสาะแสวงหาความสวยงามตามธรรมชาติ เสพสมเพิ่มเติมพลังอันกล้าแกร่งให้กับชีวิตแล้ว ฝนเป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ในการบุกเข้าไปในป่าดิบทึบ เพราะนอกจากจะต้องทนกับความหนาวเย็นจากสายฝนที่พรำไม่หยุดแล้ว ยังต้องผจญกับฝูงแมลงสารพัด ตลอดจนการหลับนอนและหุงหาอาหารก็ยากลำบาก โดยเฉพาะหนทางในป่าอันทุลักทุเลแม้ในยามหน้าแล้ง แล้วเมื่อฝนตกลงมา ความยากลำบากจะไม่เพิ่มเป็นทวีคูณหรอกหรือ แต่ในความยากลำบาก เพราะสายฝนอันเฉอะแฉะนั้น ค่าของมันก็คุ้มกับการที่เราจะบุกบั่นเข้าไป เพราะป่าที่แห้งมาตลอดหลายเดือนกลับสดชื่นเขียวชอุ่ม สายน้ำไหลหล่อเลี้ยงลำห้วยที่เคยแห้งขอดมานานวัน เหล่าส่ำสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งเหล่าวิหคนกไพรต่างคึกคักไปกับสายฝนอันชุ่มฉ่ำนี้ด้วย

อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ 789,000 ไร่ หรือ 1,262.40 ตร.กม ครอบคลุม อ.วังทอง อ.นครไทย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ องเขาค้อ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ชื่ออุทยานฯมีที่มาจากทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งมีไม้ยืนต้นที่มีชื่อว่า“แสลงใจ”ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงๆต่ำๆ มีป่าหลากหลาย และสัตว์ป่าชุกชุม จึงตั้งชื่อว่า“ทุ่งแสลงหลวง”


กำแพงธรรมชาติ

“ทุ่งโนนสน”ที่ผู้เขียนมาเยือนอีกครั้ง(นับรวมๆได้เกือบ 10 ครั้ง) มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร เป็นทุ่งหญ้าป่าสนเขาที่สวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้จะดาษดื่นไปด้วยดอกไม้นานาพรรณชูช่อล้อไสวไปตามแรงลม สมัยก่อนต้องเข้าทางหน่วยฯ สล.8(หนองแม่นา) แล้วเดินเท้าเข้าไปอีกด้วยระยะทาง 16 กม. แต่ปัจจุบันนิยมใช้ทางหน่วย สล.12(หน่วยฯรักไทย) มีระยะทางใกล้กว่า เพียง 8 กม. เท่านั้น

ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบจากการเดินป่า ณ ทุ่งโนนสน ออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(55 ชนิด) กล้วยไม้(10 ชนิด) เฟิน(4 ชนิด) เห็ด(7 ชนิด) ผีเสื้อกลางคืน(5 ชนิด) ผีเสื้อกลางวัน(20 ชนิด) แมลงปอ(3 ชนิด) แมง/แมลง(12 ชนิด) หอยทากบก(1 ชนิด) และสัตว์ป่า(3 ชนิด)

พรรณไม้ป่า

รายชื่อพรรณไม้(ทั้งที่ออกดอก หรือออกผล มีทั้งหมด 55 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่

1. ระงับ

ชื่อท้องถิ่น : ระงับพิษ(เชียงใหม่ , เลย) ; จีผาแตก(ลำปาง) ; หญ้ากำแพง(เลย) ; อังกาบ(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barleria siamensis Craib

วงศ์ : ACANTHACEAE


ระงับ

ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 60-100 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วงอ่อน หรือสีม่วง ดอกเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 230 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

2. จ๊าฮ่อม

ชื่อท้องถิ่น : กระดองเต่าร้าง , กระดองเต่าหัก(หนองคาย) ; หว้าชะอำ(นครราชสีมา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peristrophe lanceolaria (Roxb.) Nees.

วงศ์ : ACANTHACEAE


จ๊าฮ่อม

จ๊าฮ่อม

ไม้ล้มลุก ตั้งตรง สูง 1-1.5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรี หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ยาวราว 7.5-11.5 ซม. ดอกจะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ดอกสีชมพู สีชมพูอมม่วง หรือสีม่วง ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็น2กลีบ กลีบล่างเป็นรูปคล้ายลำเรือ ส่วนปลายกลีบบนเป็นหยักเล็กๆ3หยัก เมื่อดอกบานเต็มที่..กลีบบนจะเปิดตลบไปด้านหลัง ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ. ผลเป็นฝักรูปรี รูปกระบอง หรือรูปกระสวย ผลแก่แตกได้ มี4เมล็ด

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 20 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าดิบและตามไหล่เขาสูงทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเอเชียเขตร้อน

3. เฒ่าหลังลาย

ชื่อท้องถิ่น : ร่องไม้(ภาคใต้) ; รงไม้ , ยายปลัง(สุราษฎร์ฯ) ; เฉียงพร้าป่า(ตรัง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseuderanthemum crenulatum (Wall. ex Lindl.) Radlk.

วงศ์ : ACANTHACEAE


เฒ่าหลังลาย

ไม้พุ่ม ตั้งตรงสูง 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบมน หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อสั้นๆตั้งตรงตามปลายกิ่งหรือปลายยอด ยาว 5-7 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วงอมชมพู สีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม หรือสีขาว ดอกเป็นรูปหลอดแคบๆ ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – เม.ย. ผลรูปรียาว ผลแก่แตกออกเป็น2เสี่ยง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 47 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ชื้นแฉะในป่าดิบที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย ไทย ลาว เวียดนาม และภูมิภาคมาเลย์

4. ระฆังเขียว

ชื่อท้องถิ่น : หมาดำ(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Miliusa cuneata Craib

วงศ์ : ANNONACEAE


ผลของระฆังเขียว

ไม้ยืนต้น สูง 2-6 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี ออกดอกเป็นช่อห้อยคว่ำตามซอกใบ ช่อละ 2-3 ดอก ขนาดดอก 1.2-1.5 ซม. ดอกสีเขียว กลางกลีบด้านในมีแถบสีม่วงเข้ม กลีบดอกเรียงเป็น2ชั้น มีขนาดแตกต่างกัน กลีบดอกชั้นนอกมีขนาดใกล้เคียงกับกลีบเลี้ยง ส่วนกลีบดอกชั้นในมีโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังคว่ำ ปลายแยกเป็น3กลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.พ. – มิ.ย. ผลออกเป็นกลุ่ม ช่อละ 8-17 ผล ผลย่อยรูปกลม ขนาด 0.8-1 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำ เปลือกผลนิ่ม มีเมล็ดเดียว ก้านผลยาว 1 ซม. ออกผลในราวเดือน ต.ค. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในไทยพบประมาณ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-700 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ และไทย

5. ว่านตรุ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epigynum cochinchinensis (Pierre) Mabb.

วงศ์ : APOCYNACEAE


ว่านตรุ

ไม้เลื้อย ทอดเลื้อยได้ไกล 3-4 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลและมีขนสั้นหนานุ่ม ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงสั้นๆคล้ายช่อซี่ร่มตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาวได้ถึง 13 ซม. ช่อละ 8-20 ดอก ขนาดดอก 4 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆในช่วงกลางวัน ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพู ดอกบานเพียง 1-2 วัน ก็ร่วงโรย ดอกเป็นหลอดรูปเข็ม ปลายแยกเป็น5กลีบ รูปไข่กลับ บิดเวียนซ้าย ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ม.ค. ผลเป็นฝักคู่ ผลแห้งแตก เมล็ดรูปแบน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยตามป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง และดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในพม่า ไทย และเวียดนาม

6. ต้างไม้พันงู

ชื่อท้องถิ่น : กล้วยไม้ฟันงู , ฉมวกปลาวาฬ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hoya multiflora Blume

วงศ์ : APOCYNACEAE


ต้างไม้พันงู

ไม้เลื้อยกึ่งไม้พุ่ม ทอดเลื้อยไปได้ยาวไกล 30-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อรูปครึ่งวงกลมและห้อยลงตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว 1.5-7 ซม. ช่อละ 10-20 ดอก เรียงเป็นซี่ร่ม โดยจะออกดอกบานพร้อมกัน กลิ่นหอมในเวลากลางคืน ดอกสีขาวอมครีม หรือสีเหลืองนวล โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น5แฉกลึก ดอกเมื่อบานเต็มที่ กลีบดอกจะตลบไปด้านหลัง ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – พ.ย. ผลเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ผลแก่แตกออกด้านเดียว

พืชสกุลนี้(เดิมอยู่ในวงศ์ ASCLEPIADACEAE)พบทั่วโลกราว 200-300 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 35 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยอิงอาศัยตามซอกหินก้อนหินริมลำธาร หรือตามต้นไม้ในป่าดิบ โดยพบมากทางภาคเหนือ และหายากทางภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

7. ASTERACEAE

วงศ์ : ASTERACEAE


ASTERACEAE

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของไม้ชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นไม้ล้มลุก

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

8. กากหมาก

ชื่อท้องถิ่น : ว่านดอกดินขาว(ภาคเหนือ) ; โหราเท้าสุนัข

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balanophora latisepala (Tiegh.) Lecomte

วงศ์ : BALANOPHORACEAE


กากหมากตัวผู้ และตัวเมีย

ไม้ล้มลุกกินซาก ดอกแยกเพศและอยู่ต่างต้น สูงราวๆ 6-25 ซม. บริเวณที่ติดกับรากของพืชที่อาศัยอยู่จะเป็นก้อนปุ่มปมที่มีลักษณะไม่แน่นอน ประกอบด้วยก้อนขนาดเล็กและแตกแขนง ก้อนย่อยรูปรีเกือบกลม ผิวเป็นสะเก็ดหยาบๆคล้ายตุ่ม รูปดาว ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบลดรูปคล้ายเกล็ด 3-6 ใบ ใบไม่มีสีเขียว แต่มีสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลือง เพราะเป็นพืชเบียนที่ไม่ต้องสังเคราะห์แสง ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามปลายยอด ต้นหนึ่งมีเพียงช่อเดียวหรือมากกว่า มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลิ่นหอมเอียน ช่อดอกเพศผู้รูปยาวคล้ายไม้กระบอง หรือรูปไข่แกมรี ดอกสีขาวหรือสีขาวครีมติดอยู่เป็นระยะที่ปลายช่อ ส่วนช่อดอกเพศเมียรูปไข่ยาวๆ รูปรี หรือรูปไข่กลับ ดอกสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดง เรียงตัวอัดกันแน่นอยู่บนก้านช่อดอก ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ก.พ. และพบออกดอกนอกฤดูกาลบ้าง แต่มีน้อย


กากหมากตัวผู้ และตัวเมีย

เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝากที่อาศัยเกาะกินน้ำและอาหารอยู่บนรากพืชในวงศ์ FABACEAE วงศ์ VITIDACEAE และสกุล Ficus วงศ์ MORACEAE ตามเขาหินปูน และป่าดิบบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,600 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในพม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลเซีย และเกาะสุมาตราจนถึงเกาะบอร์เนียว

9. เทียนจิ๋ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens sp.

วงศ์ : BALSAMINACEAE


เทียนจิ๋ว

ชื่อ“เทียนจิ๋ว”นั้น ผู้เขียนเป็นผู้ตั้งให้ เพราะมีขนาดเล็ก ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของไม้ชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นไม้ล้มลุก สูง 10-50 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบหยักมนและมีหนามเล็กๆตามขอบ โคนใบแคบ ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบบริเวณปลายยอด ดอกสีชมพู ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 1,000 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 80 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ชื้นแฉะบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันผู้เขียนเคยพบเฉพาะทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

10. บีโกเนีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Begonia sp.

วงศ์ : BEGONIACEAE


บีโกเนีย

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของบีโกเนียชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นไม้ล้มลุก สูง 10-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปหัวใจ หรือเกือบกลม ออกดอกเป็นช่อ ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น ดอกสีขาว วีขาวอมชมพู จนถึงสีชมพูอมม่วง ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – พ.ย. ผลออกเป็นช่อโค้งห้อยลง ผลย่อยมีครีบบางๆคล้ายปีก3ครีบ


ผลของบีโกเนีย

พบขึ้นอิงอาศัยตามก้อนหินหรือเพิงผาหินในป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

11. สรัสจันทร

ชื่อท้องถิ่น : ดอกดิน(ภาคกลาง) ; กล้วยเล็บมือนาง(ภาคใต้) ; กล้วยมือนาง(ชุมพร) ; หญ้าหนวดเสือ(สุราษฎร์ฯ) นอกจากนี้ยังเป็นพันธุ์ไม้ซึ่งสมเด็จพระราชินีฯทรงพระราชทานพระนามว่า“สรัสจันทร”

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Burmannia coelestis D.Don

วงศ์ : BURMANNIACEAE


สรัสจันทร

ไม้ล้มลุก ต้นที่มีดอกตั้งตรงสูง 10-40 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอกจนถึงรูปแถบแคบ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกเล็กๆตั้งขึ้นสูง 10-30 ซม. ช่อละ 1-8 ดอก ดอกขนาดเล็ก สีชมพูจนถึงสีม่วงอมฟ้า หรือสีม่วงอมน้ำเงิน กลีบดอก6กลีบเรียงตัวเป็น2ชั้น ออกดอกในราวกลางเดือน ก.ค. – ต้นเดือน ธ.ค. ผลรูปไข่กลับ ผลแห้งแตก มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก รูปรี

พืชสกุลนี้พบทั่วโลก 57 ชนิด ในเมืองไทยพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นบนซากพืชที่เน่าเปื่อยตามลานหินทรายที่มีน้ำขัง ทุ่งหญ้าโล่งที่ชื้นแฉะ แหล่งน้ำซับ หรือทางน้ำไหลผ่านบนดอยที่มีความสูงจ่ากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 20-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในหมู่เกาะมอริเซียส บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลเซีย และตอนเหนือของออสเตรเลีย

12. สะเดาดิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lobelia alsinoides Lam.

วงศ์ : CAMPANULACEAE


สะเดาดิน

ไม้ล้มลุก สูง 5-50 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีกว้างจนถึงรูปไข่ ออกดอกเดี่ยวชูตั้งขึ้นตามซอกใบ ดอกสีม่วง สีฟ้าอมม่วง สีขาวอมม่วง หรือสีขาวล้วน ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ภายในหลอดดอกมีแต้มสีขาว2แถบพาดยาวจากโคนหลอดดอกจนถึงโคนกลีบล่างทั้ง3กลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ธ.ค. ผลรูปกระสวย หรือรูปขอบขนาน ผลแห้งแตก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 400 ชนิด ในไทยพบ 14 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งนา ทุ่งหญ้าที่ชุ่มชื้น ตลอดจนพื้นที่โล่งบนภูเขาสูงทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในไทย และลาว

13. เอื้องหิน

ชื่อท้องถิ่น : ฝอยหิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyanotis arachnoidea Wight

วงศ์ : COMMELINACEAE


เอื้องหิน

เอื้องหิน

เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นๆ แตกกิ่งตั้งขึ้นหรือเกาะเลื้อย ใบเดี่ยว โคนต้นออกกระจุกเป็นวงรอบ รูปใบหอกหรือรูปแถบ ใบตามกิ่งก้านออกเรียงสลับ รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายกิ่ง เรียงเป็นกระจุกคล้ายช่อกระจุกแน่น ดอกสีชมพู สีม่วงอมขาว สีม่วง จนถึงสีม่วงอมน้ำเงิน ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น3กลีบ ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นทุ่งตามพื้นที่โล่ง ทุ่งหญ้า และบนลานหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,700 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน


เอื้องหิน

เอื้องหิน

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม

14. หงอนนาค

ชื่อท้องถิ่น :หงอนเงือก , หญ้าหงอนเงือก , หญ้าหอนเงือก(เลย) ; ว่านมูก(หนองคาย) ; ไส้เอียน , หงอนพญานาค(อุบลฯ) ; น้ำค้างกลางเที่ยง(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Murdannia gigantea (Vahl) G.Br?ckn.

วงศ์ : COMMELINACEAE


หงอนนาค

ไม้ล้มลุก สูงราว 1-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้น ใบโคนต้นเป็นรูปดาบ หรือรูปแถบยาว ใบตอนบนลดรูปดูคล้ายใบประดับ ออกดอกเป็นช่อแตกแขนงตามปลายยอด ยาว 7-10 ซม. มีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก ดอกจะบานเต็มที่เมื่อมีแสงแดดจัด ดอกสีม่วงอ่อน สีม่วง และสีม่วงน้ำเงิน นอกจากนี้ก็มีสีชมพูและสีขาวแต่ค่อนข้างหาพบยาก กลีบดอก3กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกในช่วงฤดูฝน แต่มีมากในราวเดือน ก.ย. – ต.ค. ผลรูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่ ผลแห้งแตกได้ตรงกลางพู มีเมล็ดจำนวนมาก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นเป็นดงตามชายป่าที่มีน้ำขังหรือชุ่มชื้น ทุ่งหญ้าที่ชุ่มชื้น ทุ่งหญ้าป่าเต็งรัง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,800 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน


ด้านหลังของดอกหงอนนาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในศรีลังกา อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย ชื่อสกุล Murdannia ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พืชในสวนพฤกษศาสตร์ของอินเดีย

15. จิงจ้อนวล

ชื่อท้องถิ่น : จิงจ้อ(สระบุรี) ; จิงจ้อนวลเล็ก(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Merremia hirta (L.) Merr.

วงศ์ : CONVOLVULACEAE


จิงจ้อนวล

ไม้เลื้อย ยาวราว 30-50 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปใบหอก จนถึงรูปเรียวแหลม ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบ ยาว 1.5-7.5 ซม. ช่อละ 1-4 ดอก ดอกสีเหลืองนวล หรือสีเหลืองอ่อน ดอกเป็นหลอดรูปกรวยปากแตร ปลายแยกเป็น5กลีบตื้นๆ มีแถบกลางสีเข้ม ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ม.ค. ผลรูปไข่จนถึงเกือบกลม ผลแห้งแตกออกเป็น4ส่วน มี4เมล็ด


ดอกตูมของจิงจ้อนวล

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 100 ชนิด ในไทยพบมากกว่า 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือต้นไม้อื่นในป่าพรุ นาข้าว ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลียตอนบน

16. กกกันดาร

ชื่อท้องถิ่น : หญ้าแฝกดำ , หญ้าเวียน(อุบลราชธานี) ; เข็มพ่อหม้าย , บันไดเวียน , เส้นขนพันธุรัตน์ , หญ้ากงจักร , หญ้าขนตาช้าง , หญ้าเข็มนาฬิกา , หญ้าพุ่งชู้ , หนวดฤาษี , หนวดเสือ(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fimbristylis insignis Thwaites

วงศ์ : CYPERACEAE


กกกันดาร

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ออกเป็นกอแน่นเพียงต้นเดียว ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกใกล้พื้น รูปแถบจนถึงรูปเคียว บิดวงหรือเป็นเกลียวสะดุดตา ออกดอกเป็นช่อเชิงลดและแยกแขนง 3-5 ช่อ ช่อละ 10 ดอก หรือมากกว่า ดอกสีน้ำตาล รูปกระสวยแกมรูปทรงกระบอก ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ต.ค. ผลรูปสามเหลี่ยมกลับ จนถึงรูปไข่กลับ ผลแก่สีเทาดำ ผลแห้งไม่แตก มีเมล็ดเดียว ออกผลในราวเดือน ก.ค. – ธ.ค.


ต้นและใบของกกกันดาร

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 336 ชนิด ในไทยพบ 62 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่ง หรือบนพลาญหิน ตลอดจนบนภูเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เอเชียเขตร้อน และออสเตรเลีย

17. หยาดน้ำค้าง

ชื่อท้องถิ่น : จอกบ่วาย(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; หญ้าน้ำค้าง(ชุมพร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drosera burmannii Vahl.

วงศ์ : DROSERACEAE


หยาดน้ำค้าง

หยาดน้ำค้าง

ไม้ล้มลุกจำพวกพืชกินแมลง ลำต้นแนบติดกับพื้นดิน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกใบเป็นกระจุกติดพื้นดิน ใบรูปมนรี รูปไข่กลับ หรือเป็นแผ่นกลมๆอวบอ้วนแผ่เป็นรัศมี ออกดอกเป็นช่อกระจะแทงขึ้นมาจากเหง้า 1-3 ช่อ สูงราว 7-20 ซม. ช่อละ 2-25 ดอก โดยจะทยอยบานทีละดอก ขนาดดอก 0.3 ซม. ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพูระเรื่อ กลีบดอก5กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ธ.ค. ผลรูปกลม ผลแห้งแตกได้ มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก


ช่อดอกตูมของหยาดน้ำค้าง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 110 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าเต็งรังและป่าสนเขาบริเวณพื้นดินทรายที่ชื้นแฉะ ลานหินที่มีน้ำขังหรือชุ่มฉ่ำเจิ่งนอง หรือทางน้ำไหลผ่านบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,400 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

18. หญ้าน้ำค้าง

ชื่อท้องถิ่น : บาดทะยัก , มะไฟเดือนห้า , หญ้ายองไฟ , หนามเดือนห้า(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drosera indica L.

วงศ์ : DROSERACEAE


หญ้าน้ำค้าง

ไม้ล้มลุกจำพวกพืชกินแมลง ลำต้นทอดไปตามพื้น แล้วชูยอดตั้งตรงสูงราว 5-30 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปเส้นเรียวยาวคล้ายกิ่งก้านหรือหนวดปลาหมึก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบปลายกิ่ง ยาวได้กว่า 10 ซม. ช่อละ 3-20 ดอก ดอกบานในตอนสาย และหุบดอกในยามบ่าย ขนาดดอก 2-5 ซม. ดอกสีชมพูอ่อนจนถึงสีม่วง กลีบดอก5กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – พ.ย. ผลรูปขอบขนาน ผลแห้งแตกออกเป็น3พู มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก

พบขึ้นบนภูเขาหินทรายตามลานหิน ดินทราย หรือทุ่งหญ้าที่มีน้ำขังหรือชุ่มฉ่ำเจิ่งนอง หรือทางน้ำไหลผ่านบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,600 เมตร ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา เอเชียเขตร้อน และออสเตรเลีย อนึ่งพืชชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย

19. กุหลาบแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhododendron simsii Planch.

วงศ์ : ERICACEAE


กุหลาบแดง

เป็นไม้พุ่ม สูง 1-5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกลุ่มไม่เป็นระเบียบตามปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่ รูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ 2-7 ดอก ขนาดดอก 4-5 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีแดงเรื่อๆ สีแดงแกมส้ม หรือสีแดงเข้ม และมีประสีแดงเข้มแต้มเป็นทางจากปากหลอดไปจนถึงโคนกลีบ ดอกเป็นหลอดรูปกรวยหรือแจกัน ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ม.ค. – พ.ค. ผลรูปไข่ ผลแห้งแตกตามความยาวเป็น5เสี่ยง มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก รูปแบน และมีปีกบางใสล้อมรอบทำให้ลอยปลิวตามลมไปได้ไกล


ดอกตูมของกุหลาบแดง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 1,000 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นเป็นกลุ่มตามที่โล่งริมลำธารในป่าดิบเขาบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม ไต้หวัน และญี่ปุ่น

20. หญ้าดอกขาว

ชื่อท้องถิ่น : กระดุมหนาม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eriocaulon echinulatum Mart.

วงศ์ : ERIOCAULACEAE


ดอกอ่อนของหญ้าดอกขาว

ไม้ล้มลุก ลำต้นสั้นมาก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกซ้อนกันบริเวณใกล้พื้นดิน รูปแถบ ออกดอกเป็นช่อได้ถึง 7 ช่อ แทงขึ้นมาจากเหง้า ก้านช่อดอกสูงได้ถึง 16 ซม. ช่อดอกรูปครึ่งวงกลมจนถึงรูปไข่ ดอกสีเหลืองส้มอมน้ำตาล ก่อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้มีกลีบรวมชั้นนอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น3แฉก กลีบรวมชั้นในมีปลายกลีบแหลม ส่วนดอกเพศเมียมีกลีบรวมชั้นเดียว 2-3 กลีบ กลีบหนึ่งรูปแถบ อีก2กลีบรูปเรือ ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ธ.ค. ผลแห้งแตก มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน สีส้มแกมเหลือง


ดอกอ่อนของหญ้าดอกขาว

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบมากกว่า 400 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 44-45 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่ลุ่มน้ำขัง ทุ่งนา และลานหินทรายที่มีน้ำท่วมขังบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 10-1,300 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น พม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

21. กระดุมเงิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eriocaulon sp.

วงศ์ : ERIOCAULACEAE


กระดุมเงิน

กระดุมเงิน

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของกระดุมเงินชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้นหรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกบริเวณใกล้พื้นดิน รูปแถบ หรือรูปขอบขนานแคบ ออกดอกเป็นช่อมากมายแทงขึ้นมาจากเหง้า สูงได้กว่า 1 เมตร ช่อดอกรูปกลม หรือรูปแป้น มีดอกย่อยสีขาวเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นกระจุก ดอกแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้อยู่รอบใน ส่วนดอกเพศเมียอยู่รอบนอก ออกดอกในช่วงฤดูฝน-ฤดูหนาว

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

22. มะกล่ำตาหนู

ชื่อท้องถิ่น : กล่ำเครือ , กล่ำตาไก่ , มะกล่ำเครือ , มะกล่ำแดง , มะแค้ก(เชียงใหม่) ; หมากกล่ำตาแดง(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; เกมกรอม(สุรินทร์) ; ชะเอมเทศ , ตากล่ำ(ภาคกลาง) ; มะขามเถา , ไม้ไฟ(ตรัง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abrus precatorius L.

วงศ์ : FABACEAE


มะกล่ำตาหนู

ไม้เลื้อย ลำต้นขนาดเล็กทอดยาวได้ไกลและมักเลื้อยพันต้นไม้อื่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบปลายต้น ดอกเป็นรูปดอกถั่ว ขนาดดอก 0.5-1.5 ซม. ดอกสีขาวอมชมพู จนถึงสีม่วง ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ส.ค. ผลเป็นฝักรูปขอบขนานติดกันเป็นพวง ผลย่อยยาว 2-4 ซม. ผลแก่แตกออกตามยาวและบิด มี 2-6 เมล็ด รูปกลมรี ขนาด 0.3-0.5 ซม. ผิวมันวาว ปลายสีแดง โคนสีดำ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 26 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า พื้นที่รกร้าง เขาหินปูน ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 700 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

23. Desmodium sp.

วงศ์ : FABACEAE


Desmodium sp. ชนิด1

Desmodium sp. ชนิด2

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของไม้สกุลนี้ พบด้วยกัน 2 ชนิด

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 372 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

24. ถั่วเสี้ยนป่า

ชื่อท้องถิ่น : ผักผีด(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neustanthus phaseoloides (Roxburgh) Benth.

วงศ์ : FABACEAE


ถั่วเสี้ยนป่า

ไม้เลื้อยมีอายุหลายปี ทอดยาวได้ไกลถึง 10 เมตร ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่กว้าง รูปไข่แกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ใบย่อยตอนปลายมีขนาดใหญ่สุด ออกดอกเป็นช่อกระจะเดี่ยวๆตามซอกใบและปลายยอด ยาว 4-35 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมากตามปลายช่อ โดยออกตามข้อๆละ 4 ดอก หรือมากกว่า มีใบประดับและใบประดับย่อยรองรับ แต่หลุดร่วงง่าย ดอกเป็นรูปดอกถั่ว สีม่วงอมน้ำเงิน หรือสีขาว และมีแถบสีม่วง สีชมพู หรือสีม่วงอมน้ำเงินแผ่กระจายพาดกลางกลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ต.ค.

ผลเป็นฝักรูปเกือบเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ปลายเป็นจะงอย ผลอ่อนสีเทาและมีขนหยาบและแข็ง ผลแก่สีดำ ผิวเกลี้ยง และบิดแตกตอนบน มี 15-20 เมล็ด รูปค่อนข้างกลมจนถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน สีน้ำตาล มีเยื่อหุ้มเมล็ด

พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในสกุล Pueraria ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่ตามพื้นที่โล่งแจ้งของชายป่า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง เขาหินปูน และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,600 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

25. ด่านราชสีห์

ชื่อท้องถิ่น : ถั่วโหนกยาน , หนูท้องขาว(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; หลาบเงือก(ยโสธร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tephrosia vestita Vogel

วงศ์ : FABACEAE


ด่านราชสีห์

ไม้พุ่มกึ่งไม้เลื้อย ตั้งตรงสูงราว 0.5 เมตร แล้วทอดไปตามพื้นดินหรือพาดต้นไม้อื่นได้ยาวไกลถึง 1.5 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 2-7 ซม. ช่อละ 6-14 ดอก ขนาดดอก 1.7 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว มี5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – มี.ค.

ผลเป็นฝักรูปดาบ แบน และโค้งเล็กน้อย เปลือกผลสีน้ำตาลและมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ผลแก่สีน้ำตาลอ่อนและแตกออก มี 10-12 เมล็ด รูปไต สีน้ำตาลอมเขียว สีน้ำตาลดำ จนถึงสีดำ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 390 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้า พื้นที่รกร้าง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 400 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในจีน ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี

26. หญ้าหางเสือ

ชื่อท้องถิ่น : เสลดพังพอน(เชียงราย) ; หญ้าหางกระรอก(แพร่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uraria acuminata Kurz

วงศ์ : FABACEAE


หญ้าหางเสือ

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของไม้ชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 60 ซม. ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ(ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงกันข้าม) ใบย่อยรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน และเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบแหลมยาว ขอบใบเรียบ โคนใบมน ออกดอกเป็นช่อตั้งตรงรูปทรงกระบอกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วง หรือสีม่วงอ่อน กลีบดอกด้านนอกสีอ่อนหรือสีจางกว่า

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 26 ชนิด ในเมืองไทยพบ 14 ชนิด สำหรับชนิดนี้ สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ร่มเงาในป่าดิบทางภาคเหนือ(พบที่ดอยสุเทพ สุง 600 เมตร , ทีลอซู , ทุ่งโนนสน)

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม

27. รุ้งฟ้า

ชื่อท้องถิ่น : เฉวียนฟ้า , ดอกฟ้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhynchoglossum obliquum Blume

วงศ์ : GESNERIACEAE


รุ้งฟ้า

ไม้ล้มลุก สูงราว 10-70 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่รี หรือรูปไข่เบี้ยว ออกดอกเป็นช่อเล็กๆเรียวยาวตามซอกใบและปลายยอด ยาว 15-20 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ขนาดดอก 0.5-1.5 ซม. ดอกสีน้ำเงิน สีฟ้า หรือสีฟ้าแกมม่วง ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ธ.ค. ผลรูปไข่กลับ ขนาด 0.5 ซม. มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามลานหินหรือชายป่าที่ชุ่มชื้น ริมลำน้ำในป่าชื้น ตลอดจนบนภูเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีน อินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

28. ราตรีสวรรค์

ชื่อท้องถิ่น : ปิ้งน้อย(ภาคเหนือ) ; จ้าหอม(ลำพูน) ; กะเบื้อขาว(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum lloydianum Craib

วงศ์ : LAMIACEAE


ราตรีสวรรค์

ไม้พุ่ม ตั้งตรงสูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่ ออกดอกเป็นช่อและแยกแขนงตามปลายกิ่งและปลายยอด ช่อละ 3-5 ดอก ดอกสีขาวจนถึงสีเหลืองนวล ดอกเป็นหลอดแคบ ปลายผายกว้างแยกออกเป็น 5-6 กลีบ แต่ละกลีบเรียงตัวอยู่ด้านบนดูคล้ายรูปครึ่งวงกลม ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – พ.ย. ผลรูปกลม มี 2-4 พู ออกผลในราวเดือน ส.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 150 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 30 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 150-1,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

29. สร้อยสุวรรณา

ชื่อท้องถิ่น : หญ้าสีทอง(เลย) ; เหลืองพิศมร(ภาคกลาง) ; สาหร่ายดอกเหลือง(สุพรรณฯ) สำหรับชื่อ“สร้อยสุวรรณา”นั้นสมเด็จพระราชินีฯทรงพระราชทานพระนามให้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Utricularia bifida L.

วงศ์ : LENTIBULARIACEAE


สร้อยสุวรรณา

ไม้ล้มลุกจำพวกพืชกินแมลง สูงราว 5-30 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกจากไหล ใบรูปแถบ มีอวัยวะจับแมลงออกตามข้อของไหลและซอกใบ เป็นกระเปาะรูปกลม ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรง ยาว 5-60 ซม. ช่อละ 2-10 ดอก ขนาดดอก 0.6-1 ซม. ดอกสีเหลืองสด หรือสีเหลืองเข้ม ดอกเป็นหลอด ปลายดอกแยกออกเป็น2กลีบ กลีบบนมีขนาดใหญ่ราว2เท่าของกลีบล่าง ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ธ.ค. ผลรูปแบนกลมแป้น หรือรูปรีแกมรูปไข่ ผลแห้งแตกตามขวาง


สร้อยสุวรรณา

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 220 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 27 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่หนาแน่นตามลานหินและทุ่งหญ้าโล่งที่มีหน้าดินตื้นชื้นแฉะ มีน้ำขัง และทางน้ำไหลผ่านในป่าเต็งรังและป่าสนเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-1,600 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตก โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเขตร้อนของเอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิก และออสเตรเลีย

30. หญ้าเข็ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Utricularia caerulea L.

วงศ์ : LENTIBULARIACEAE


หญ้าเข็ม

ไม้ล้มลุกจำพวกพืชกินแมลง สูงราว 5-40 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกจากไหล ใบรูปแถบ มีอวัยวะจับแมลงเกิดตามข้อของไหลและซอกใบ เป็นกระเปาะรูปกลม ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรง ช่อละ 2-10 ดอก ขนาดดอก 0.3-1 ซม. ดอกสีเหลือง สีเหลืองแกมขาว สีชมพู สีชมพูอมขาว หรือสีม่วง กลีบดอก5กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปคล้ายรองเท้าที่มีปลายแหลม โคนดอกเป็นจะงอยยื่นออกมาเป็นรูปเดือยปลายแหลมโค้งไปทางด้านหน้า ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ธ.ค.

พบขึ้นอยู่หนาแน่นตามทุ่งหญ้า นาข้าว ตลอดจนตามลานหินและทุ่งหญ้าโล่งที่มีหน้าดินตื้นชื้นแฉะ มีน้ำขัง และทางน้ำไหลผ่านบนภูเขา ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออก โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเขตร้อนของเอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิก และออสเตรเลีย

31. ดุสิตา

ชื่อท้องถิ่น : หญ้าข้าวก่ำน้อย(เลย) ; ดอกขมิ้น(ศรีสะเกษ) ; แดดข้า(อุบลฯ) ส่วนชื่อ“ดุสิตา”นั้นสมเด็จพระราชินีฯทรงพระราชทานพระนามให้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Utricularia delphinioides Thorel ex Pellegr.

วงศ์ : LENTIBULARIACEAE


ดุสิตา

ไม้ล้มลุกจำพวกพืชกินแมลง สูง 10-25 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกจากไหล ใบรูปแถบ มีอวัยวะจับแมลงออกตามข้อของไหลและซอกใบ เป็นกระเปาะรูปกลม ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรง ยาว 5-60 ซม. ช่อละ 3-10 ดอก ขนาดดอก 0.5-1.5 ซม. ดอกสีม่วงเข้ม หรือสีม่วงอมน้ำเงิน ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ธ.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ก.ค. – ส.ค. ผลรูปรี ผลแห้งแตกตามขวาง เมล็ดมีผิวเรียบ


ดุสิตา

ดุสิตา

พบขึ้นอยู่หนาแน่นตามทุ่งหญ้าหรือลานหินที่มีหน้าดินปนทรายตื้นชื้นแฉะ มีน้ำขัง และทางน้ำไหลผ่านในป่าเต็งรังและป่าสนเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 150-1,400 เมตร ทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

32. ขี้ตุ่น

ชื่อท้องถิ่น : ขี้อ้น , หญ้าหางอ้น(ภาคเหนือ) ; ปอขี้ไก่ , ปอเต่าไห้ , ไม้หมัด(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; เข้ากี่น้อย(ภาคตะวันออก) ; ปอมัดโป(ภาคตะวันออกเฉียงใต้) ; ยำแย่(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helicteres angustifolia L.

วงศ์ : MALVACEAE


ผลของขี้ตุ่น

ไม้พุ่มเตี้ย สูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้นตามซอกใบ ยาวราว 1-2 ซม. ขนาดดอก 1-1.2 ซม. ดอกสีน้ำเงินอมม่วง สีน้ำเงินอ่อน สีม่วงอมชมพู สีชมพู หรือสีชมพูอมขาว กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือน เม.ย. – ส.ค. ผลรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปทรงกระบอก มี5พูตามยาว ผลแห้งแตก มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก รูปกลม รูปไข่ หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สีดำ

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ STERCULIACEAE ทั่วโลกพบ 40 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังที่ดินค่อนข้างเป็นกรวดทราย และตามเขาหินปูนในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 30-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันอกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

33. ปอหยุ่มยู่

ชื่อท้องถิ่น : ป่าช้าหมอง , ผมยุ่ง , หญ้าผมยี , หญ้าผมยุ่ง , หางไก่ , อ้นกะเหรี่ยง(ภาคเหนือ) ; ขี้อ้น , ขี้อ้นน้อย , ไม้ขาว , หญ้าตัวตุ่น , หมากเขือขน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Triumfetta pilosa Roth

วงศ์ : MALVACEAE


ปอหยุ่มยู่

ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบ ยาว 0.5-0.8 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ก.พ. ผลรูปกลม ขนาด 0.5 ซม. มีขนหนามทั่วไป ปลายขนงอเป็นตะขอ ผลแห้งแตก

พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในวงศ์ TILIACEAE ทั่วโลกพบประมาณ 150 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5-6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่า ป่าเสื่อมโทรม ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในทวีปแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

34. ขี้ครอก

ชื่อท้องถิ่น : ขี้คาก , ปอเส้ง , หญ้าผมยุ่ง , หญ้าอียู(ภาคเหนือ) ; บอเทอ , ปะเทาะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; หญ้าหัวยุ่ง(เย้า-แม่ฮ่องสอน) ; ชบาป่า(น่าน) ; ขมงดง(สุโขทัย) ; ขี้หมู(นครสวรรค์) ; ขี้ครอกป่า(ภาคกลาง) ; ปูลู(ภาคใต้) ; เส้ง(นครศรีฯ) ; ปูลุ(มลายู-นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Urena lobata L.

วงศ์ : MALVACEAE


ขี้ครอก

ไม้พุ่ม สูงราว 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบมีรูปร่างและขนาดของใบแตกต่างกันมาก ใบบริเวณโคนต้นค่อนข้างกลม ปลายใบแยกเป็นแฉกตื้นๆ3แฉก ขอบใบเป็นหยักห่าง โคนใบมนหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ใบตอนกลางของต้นเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ไม่เป็นแฉก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย หยักมน หรือเรียบ และใบบริเวณยอดเป็นรูปค่อนข้างกลมยาวจนถึงรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยว หรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละ 2-3 ดอก ดอกบานในตอนเช้ามืด เลยเที่ยงมักเริ่มหุบดอก ดอกสีชมพู สีชมพูอมม่วง หรือสีชมพูอมแดง กลีบดอก5กลีบ ออกดอกเกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว

ผลรูปกลมแป้น ขนาด 1 ซม. มีหนามหัวลูกศรและเหนียวปกคลุมผล ผลแห้งแตกออกเป็น 4-5 ซีก มีเมล็ดเดียว รูปไต สีน้ำตาล

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 10 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นดงหนาแน่นตามที่โล่งทั่วไป ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาจนถึงทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

35. โคลงเคลงตัวผู้

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melastoma orientale Guillaumin

วงศ์ : MELASTOMATACEAE


โคลงเคลงตัวผู้ Melastoma orientale Guillaumin

โคลงเคลงตัวผู้ Melastoma orientale Guillaumin

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของไม้ชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วง หรือสีม่วงอมชมพู ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ธ.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 22 ชนิด ในเมืองไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า ริมลำธาร ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บริเวณปากทางเดินตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม

36. เอนอ้าน้อย

ชื่อท้องถิ่น : อ้าน้อย(เชียงใหม่) ; เอ็นอ้าน้อย(อุบลฯ) หญ้าพลองขน(ชุมพร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osbeckia chinensis L.

วงศ์ : MELASTOMATACEAE


เอนอ้าน้อย

เอนอ้าน้อย

ไม้ล้มลุก ตั้งตรงสูงราว 10-150 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีแคบๆ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบหรือปลายกิ่งก้าน ช่อละ 1-3 ดอก หรืออาจมีได้ถึง 10 ดอก ดอกสีม่วง กลีบดอก4กลีบ ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ม.ค. ผลรูประฆัง หรือรูปคนโท ผลแก่แตกออกเป็น 4-5 แฉก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่โล่งแจ้งและทุ่งหญ้าบริเวณที่ชื้นแฉะ หรือมีทางน้ำไหลผ่านบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,600 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวกินี และออสเตรเลีย

37. โคลงเคลงตัวผู้

ชื่อท้องถิ่น : อ้าทุ่ง(อุบลฯ) ; เอนอ้าตัวผู้(ตราด)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osbeckia cochinchinensis Cogn.

วงศ์ : MELASTOMATACEAE


โคลงเคลงตัวผู้ Osbeckia cochinchinensis Cogn.

โคลงเคลงตัวผู้ Osbeckia cochinchinensis Cogn.

ไม้ล้มลุก ตั้งตรงสูง 10-30 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีม่วง หรือสีม่วงเข้ม กลีบดอก4กลีบ ออกดอกตลอดปี แต่มีมากในช่วงฤดูฝน ผลรูประฆัง ผลแห้งแตกได้เป็น 4-5 ฝา

พบขึ้นทั่วไปตามทุ่งหญ้าโล่ง ริมลำน้ำ ตลอดจนพื้นที่ที่ชื้นแฉะบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

38. แปร้น้ำเงิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sonerila maculata Roxb.

วงศ์ : MELASTOMATACEAE


แปร้น้ำเงิน

ไม้ล้มลุก สูง 20-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีจนถึงรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งและยอด ยาว 3-9 ซม. ช่อละ 7-15 ดอก ดอกสีชมพู หรือสีชมพูอมม่วงอ่อน กลีบดอก3กลีบ ออกดอกในราวเดือน ธ.ค. – ม.ค. ผลรูปกรวย มี6สันตื้นๆ


ดอกตูมของแปร้น้ำเงิน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 150 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,400 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย ภูฏาน เนปาล จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

39. Sonerila rheedii Wall. ex Wight et Arn.

วงศ์ : MELASTOMATACEAE


Sonerila rheedii Wall. ex Wight et Arn.

ไม้ล้มลุก ตั้งตรงสูง 10-16 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ หรือหยักเป็น3พู ออกดอกเป็นช่อกระจุกคล้ายซี่ร่มตามซอกใบและปลายยอด ช่อละ 4-12 ดอก ขนาดดอก 1 ซม. ดอกสีม่วง หรือสีชมพูอมม่วง กลีบดอก3กลีบ รูปรี ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ต.ค.

พบขึ้นตามพื้นที่ที่ชุ่มชื้นในป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ และไทย

40. หม้อข้าวหม้อแกงลิง

ชื่อท้องถิ่น : หม้อข้าวลิง(จันทบุรี) ; กระบอกน้ำพราน , เขนงนายพราน , เหน่งนายพราน(ภาคใต้) ; ลึงค์นายพราน(พัทลุง) ; กระดึงนายพราน , หม้อแกงค่าง(ปัตตานี) ; ปูโยะ(มลายู-ปัตตานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nepenthes mirabilis (Lour.) Druce

วงศ์ : NEPENTHACEAE


ดอกเพศผู้ของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

ดอกเพศผู้ของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

ไม้เลื้อย ทอดเลื้อยไปได้ไกลถึง 7 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้น รูปเรียวรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ เส้นกลางใบจะยื่นยาวออกมาพ้นปลายใบเป็นเส้นกลมเรียวเหนียว ปลายเส้นจะขมวดเวียนทำหน้าที่เป็นมือพันพยุงลำต้น ก่อนแปลงรูปกลายเป็นกระเปาะหรือกระบอกเรียกว่า“หม้อ”ตั้งขึ้น ผิวเรียบ มีเส้นนูนสีเข้ม2เส้นหรือครีบ2ครีบพาดขนานตามยาวทางด้านข้างของหม้อ ปากหม้อผายกว้างและมีฝาปิดเปิด หม้อล่างรูปคนโท ด้านนอกสีแดงคล้ำอมชมพู หรือสีเขียวอมเหลือง มีขนสีน้ำตาลแดงกระจาย ปากหม้อรูปไข่กว้าง ขอบปากสีเขียวอ่อน สีชมพู หรือสีแดงเข้ม ฝาหม้อรูปรีกว้าง ส่วนหม้อบนรูปคนโทแคบ ด้านนอกสีเขียวอมเหลือง หรือสีแดงระเรื่อ มักมีขนประปราย


หม้อบนของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

ออกดอกเป็นช่อกระจะกลางต้น ยาว 20-100 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลิ่นหอมอ่อนๆในยามค่ำคืน ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยง ดอกเพศผู้มีสีเขียวอ่อน หรือสีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยง4กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบเลี้ยงจะพับกลับไปด้านหลัง ส่วนดอกเพศเมียสีน้ำตาลอมแดง จนถึงสีแดงเรื่อๆ กลีบเลี้ยง4กลีบ รูปรี ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ส.ค. ผลเป็นฝักรูปรี ผลแก่แตกตามรอยประสานออกเป็น 3-4 เสี่ยง มีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก


หม้อล่างของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

ทั่วโลกพบ 116 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยตามพื้นหรือพาดต้นไม้อื่นตามที่ชุ่มชื้น มีน้ำขัง ริมลำห้วย แหล่งน้ำซับ ที่รกร้าง ที่ราบลุ่ม ป่าพรุ ป่าดิบชื้น ภูเขาหินทรายในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,300 เมตร พบประปรายทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พบมากทางภาคตะวันออก และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และภูมิภาคมาเลย์

41. ดอกดินแดง

ชื่อท้องถิ่น : ซอซวย(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ปากจะเข้(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; หญ้าดอกขอ(เลย) ; ดอกดิน , หญ้าเข้าก่ำ(ภาคกลาง) ; สบแล้ง , สอน(สงขลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeginetia indica L.

วงศ์ : OROBANCHACEAE


ดอกดินแดง

ไม้ล้มลุกจำพวกพืชเบียน สูงได้ถึง 40 ซม. ทุกส่วนของต้นไม่มีสีเขียว เพราะไม่ต้องสังเคราะห์แสง แต่จะมีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกที่โคนกอ ใบลดรูปเป็นเกล็ดเล็กๆซึ่งไม่มีคลอโรฟิล รูปสามเหลี่ยม สังเกตได้ยาก ออกดอกเดี่ยว โดยแทงก้านดอกแข็งตั้งตรงขึ้นมาจากเหง้า ยาวราว 10-40 ซม. ดอกเมื่อบานเต็มที่จะเป็นรูปหลอดกว้างโค้งงอหรือรูปถ้วยคว่ำอ้วน ปลายอ้าออกเป็น2กลีบ กลีบดอกด้านในสีม่วงอมแดง หรือสีม่วงเข้ม กลีบดอกด้านนอกสีขาวอมม่วงถึงสีม่วงเข้ม ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – พ.ย. ผลรูปกรวย หรือรูปกลมแกมรูปไข่ ผลแห้งแตกได้ เมล็ดขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อน หรือสีขาวอมเหลือง


ดอกดินแดง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 6 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝากที่อาศัยเกาะกินน้ำและอาหารอยู่บนรากไม้อื่นโดยเฉพาะรากต้นไผ่ รากต้นกก และรากต้นหญ้าที่อยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้นหรือมีน้ำขังในป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,600 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

มีถิ่นกำเนิดในอินเดียแล้วแพร่กระจายผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงไปสู่ประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

42. เนียมไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Salomonia thailandica H.Koyama

วงศ์ : POLYGALACEAE


เนียมไทย

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีจนถึงรูปใบหอก ไร้ก้านใบ ออกดอกเป็นช่อยาวเรียวตั้งตรงตามปลายยอดและกิ่งก้าน ยาว 3-10 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ดอกสีชมพู จนถึงสีชมพูอมม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น3กลีบ ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ม.ค. ผลรูปแบนรี มีรยางค์ยื่นยาวตามขอบดูคล้ายหนามและมีขนประปราย สันด้านข้าง2ด้านมีขนสีม่วงคล้ายหนาม 5-8 อัน


ดอกและผลของเนียมไทย

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในเมืองไทยพบทั้ง 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้าบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 150-500 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในไทย และกัมพูชา

43. ตาไก่ใบกว้าง

ชื่อท้องถิ่น : ก้างปลาดง , ตับปลา , ลังกาสา(เชียงใหม่) ; ประดงนก(สุโขทัย) ; ตีนจำโคก(เลย) ; ลังกาสาขาว(ตราด) ; จ้ำเครือ(ภาคกลาง) ; ตาเป็ดหิน(ชุมพร) ; ตาไก่(สุราษฎร์ธานี) ; ตาเป็ดตาไก่(นครศรีธรรมราช) ; มาตาอาแย(มลายู-ยะลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia crenata Sims

วงศ์ : PRIMULACEAE


ตาไก่ใบกว้าง

ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 25-150 ซม. หรืออาจสูงได้ถึง 3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีแกมรูปใบหอก รูปใบหอกแคบ หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่งก้าน ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพู บางครั้งพบสีชมพู จนถึงสีม่วงอมชมพู กลีบดอก5กลีบ รูปไข่ ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ต.ค. ผลรูปค่อนข้างกลม ขนาด 0.5-0.8 ซม. ผลสีแดงสด มีเมล็ดเดียว ออกผลในราวเดือน ต.ค. – ธ.ค.


ผลของตาไก่ใบกว้าง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 450 ชนิด ในเมืองไทยพบ 72 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-2,400 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เกาหลี ญี่ปุ่น พม่า ไทย เวียดนาม ภูมิภาคมลายู และฟิลิปปินส์

44. แส้ม้าฮ่อ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dapsilanthus disjunctus (Mast.) B. G. Briggs & L. A. S. Johnson

วงศ์ : RESTIONACEAE


แส้ม้าฮ่อ

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูงได้ถึง 1 เมตร แตกกอหนาแน่น ลำต้นกลวงและเหนียว ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ขนาดเล็ก แนบติดลำต้น ออกดอกเป็นช่อเชิงลดเรียงเป็นกระจุกแน่นบนช่อแยกแขนง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ ช่อดอกเพศผู้มีดอกเดียว กลีบรวม 4-6 กลีบ ส่วนช่อดอกเพศเมียมี 3-5 ดอก กลีบรวมมี 6-8 กลีบ ออกดอกในราวเดือน ผลรูปรี ขนาดเล็ก ผลแห้งแตกด้านเดียว


แส้ม้าฮ่อ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 4 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามทุ่งหญ้าที่ชื้นแฉะตามชายทะเล ตลอดจนบนภูเขาหินทรายที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

45. กุหลาบหิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Frangula crenata (Siebold & Zucc.) Miq.

วงศ์ : RHAMNACEAE


ผลของกุหลาบหิน

ไม้พุ่มผลัดใบ สูงได้ถึง 4 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ยาว 0.4-1.5 ซม. ช่อละกว่า 10 ดอก ดอกสีขาวครีม กลีบดอกรูปหัวใจกลับ ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ส.ค. ผลรูปกลม หรือรูปกลมแกมรูปไข่กลับ สีเขียว ผลสุกสีแดง ผลแก่สีดำ หรือสีดำอมม่วง มีเมล็ดเดียว และแข็ง ออกผลในราวเดือน ส.ค. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 33 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

46. มะลิดิน

ชื่อท้องถิ่น : แก้มอ้น(นครศรีธรรมราช) ; อุตพิดน้ำ(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Geophila repens (L.) I.M.Johnst.

วงศ์ : RUBIACEAE


ผลของมะลิดิน

ไม้เลื้อยทอดไปตามพื้น ลำต้นตั้งตรงสูงได้ถึง 50 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปหัวใจแกมรูปโล่ หรือรูปหัวใจแกมรูปไต ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายยอด ยาว 1-4 ซม. ช่อละ 1-3 ดอก ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอดรูปแตร ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ส.ค. ผลรูปกลม หรือรูปกระสวย ขนาด 0.4-0.6 ซม. ผลสุกสีแดงสด ออกผลในราวเดือน ก.ย. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 30 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามใต้ร่มเงาไม้ที่ชุ่มชื้นในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,400 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเอเชีย มาดากัสการ์ อเมริกาเขตร้อน และแอฟริกา

47. Hedyotis sp.

วงศ์ : RUBIACEAE


Hedyotis sp.

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของไม้ชนิดนี้ รู้แต่ว่าสูงได้ถึง 1 เมตร ใบเดี่ยว โคนต้นมีใบออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ปลายยอดมีใบออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบแผ่หุ้มลำต้น ไม่มีก้านใบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วง ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น4กลีบ ผิวกลีบด้านในมีขน ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 200 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 25 ชนิด สำหรับชนิดนี้ผู้เขียนเคยพบตามพื้นที่โล่งในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา เฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

48. Psychotria angulata Korth.

วงศ์ : RUBIACEAE


ผลของ Psychotria angulata Korth.

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของไม้ชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นไม้พุ่มสูงกว่า 1 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป้นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบรูปลิ่ม ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ส.ค. ผลรูปค่อนข้างกลม ผลสุกสีแดง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,919 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 50 ชนิด สำหรับชนิดนี้ผู้เขียนเคยพบในป่าป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา เฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในพม่า ไทย และภูมิภาคมลายู

49. ดาดตะกั่วเถา

ชื่อท้องถิ่น : คำแดง(ภาคเหนือ) ; นางฟ้าจำแลง(ภาคกลาง) ; หลังแดง(ภาคใต้) ; เอ็นเขา(สุราษฎร์ฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cissus javana DC.

วงศ์ : VITACEAE


ผลของดาดตะกั่วเถา

ไม้เลื้อย ปลายยอดจะเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่น โดยทอดยาวราว 2-10 เมตร ตามซอกใบมีมือพันเป็นเส้นยาวม้วนงอ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกหลุดร่วงง่าย ดอกเป็นรูปถ้วยสีแดง ปลายแยกเป็นกลีบสีเขียวอมเหลือง ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ม.ค. ผลรูปกลม ผลสุกสีแดงเข้ม ผลแก่สีดำ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 330 ชนิด ในเมืองไทยพบ 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าที่ชุ่มชื้นในป่าดิบเขาทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

50. กะตังใบ

ชื่อท้องถิ่น : ตองจ้วม , ตองต้อม(ภาคเหนือ) ; คะนางใบ(ตราด) ; บังบายต้น(ตรัง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leea indica (Burm. f.) Merr.

วงศ์ : VITACEAE


ผลของกะตังใบ

ไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 2-4 เมตร บางครั้งอาจพบสูงได้ถึง 10 เมตร ใบประกอบแบบขนนก 1-3 ชั้น ออกเรียงสลับ(ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงกันข้าม) ใบย่อยรูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ดอกสีขาว สีขาวอมเหลือง สีเขียวอ่อน หรือสีเขียวอมเหลือง กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ต.ค. ผลรูปกลมแป้น ขนาด 0.5-1 ซม. สีเขียว หยักเป็นพูเล็กน้อย ผลสุกสีแดงเข้ม สีน้ำตาลแดง จนถึงสีดำ เมล็ดรูปไข่

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ LEEACEAE ทั่วโลกพบ 34 ชนิด ในเมืองไทยพบ 11-12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,400 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลียและฟูจิ

51. Xyris sp.

วงศ์ : XYRIDACEAE


Xyris sp.

Xyris sp.

ไม่มั่นใจว่าเป็นชนิดใด แต่ส่วนตัวคิดว่าคล้าย“กระถินภู” ชื่อวิทยฯ X. thailandica Phonsena & P. Chantar.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 280 ชนิด ในเมืองไทยพบ 17 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่โล่งที่ชื้นแฉะโล่งในป่าสนเขา

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

52. เปราะภู

ชื่อท้องถิ่น : เปราะภูดอกขาว , เปราะภูเมี่ยง(พิษณุโลก , เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia alba (K. Larsen & R. M. Sm.) Mood & L. M. Prince

วงศ์ : ZINGIBERACEAE


เปราะภู

ไม้ล้มลุกพบขึ้นอยู่เป็นกอ มีลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับกันขึ้นมาสูง 30-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก หรือรูปแถบ ออกดอกเป็นช่อตามกาบใบที่ปลายยอด ยาวได้ถึง 8 ซม. ช่อละ 1-6 ดอก ดอกทยอยบานจากโคนสู่ปลายช่อ ดอกสีขาว หรือสีขาวระเรื่อชมพูอ่อนๆ และมีแต้มสีเหลืองเป็นรูปเกือบกลมที่โคนกลีบ ดอกเป็นหลอดรูปแตร ปลายแยกออกเป็น4กลีบ ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ต.ค. ผลแห้งแตก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 60 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 25 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักพบขึ้นอยู่เป็นทุ่งหนาแน่นตามพื้นหรือลานหินในทุ่งหญ้าป่าสนเขาที่ชุ่มชื้นและมีอากาศเย็นตลอดทั้งปีบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900-1,500 เมตร ทางภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย เดิมอยู่ในสกุล Caulokaempferia นักพฤกษศาสตร์ได้ยุบมาอยู่ในสกุลนี้ด้วยเหตุผลด้านชีวโมเลกุล นอกจากนี้นักพฤกษศาสตร์บางท่านได้รวมเปราะภูประเทศไทย(Caulokaempferia thailandica K. Larsen) และเปราะภูดอกม่วง(C. violacea K. Larsen & Triboun) ไว้อยู่ในเปราะภูชนิดนี้

53. ว่านนเรศวร

ชื่อท้องถิ่น : เช้าพัน(สระบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia petiolata Sirirugsa

วงศ์ : ZINGIBERACEAE


ว่านนเรศวร

ว่านนเรศวร

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น มีขนาดเล็กและสูงราว 15-50 ซม. ต้นหนึ่งมี 4-5 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเล็กๆที่ปลายลำต้นเทียม ดอกสีขาว มีแต้มสีแดงระเรื่อค่อนไปทางปลายปากดอก ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ต.ค. ผลรูปกระสวย ผลแห้งแตก มี4เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามพื้นที่ที่ชุ่มชื้นสูงใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

54. กระเจียวขาว

ชื่อท้องถิ่น : อาวขาว(เชียงใหม่) ; ว่านม้าน้อย(สุโขทัย) ; กระเจียวโคก , กระชายดง , ชายดง(เลย) ; กระเจียวขาวใหญ่(นครราชสีมา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma parviflora Wall.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE


กระเจียวขาว

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 40-70 ซม. ต้นหนึ่งมี4ใบ 2ใบแรกออกจากเหง้าขึ้นมาก่อน ส่วน2ใบหลังจะออกพร้อมช่อดอก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปทรงกระบอกแทงขึ้นมาจากเหง้าและแทรกระหว่างก้านใบ ยาว 15-30 ซม. ช่อดอกมีใบประดับเป็นกาบเรียงซ้อนทับกันอยู่หนาแน่น โคนช่อสีเขียว รูปไข่กลับ ส่วนปลายช่อมีใบประดับขนาดเล็กกว่า รูปขอบขนานจนถึงรูปรี สีขาว ดอกออกตามซอกใบประดับบริเวณโคนช่อถึงกลางช่อ ดอกสีชมพูปนขาว จนถึงสีม่วงปนขาว ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ต.ค. ผลรูปไข่ หรือค่อนข้างกลม ออกผลในราวเดือน ส.ค. – ต.ค.


กระเจียวขาว

พืชสกุลนี้ปัจจุบันได้รวมสกุล Smithatris และสกุล Stahlianthus เข้าไว้ด้วยกัน ทั่วโลกพบ 120 ชนิด ในเมืองไทยการพบ 44 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดินทรายที่ชื้นๆริมลำห้วย ชายป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และภูมิภาคมลายู

55. ว่านดอกเหลือง

ชื่อท้องถิ่น : อีทือ(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; ว่านขมิ้น(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Globba adhaerens Gagnep.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE


ใบประดับของว่านดอกเหลือง

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 20-35 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ต้นหนึ่งมี 3-5 ใบ รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงและโค้งลงตามปลายยอด ยาว 7-10 ซม. ช่อละ 4-5 ดอก ดอกสีเหลืองส้ม ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ส.ค. ผลรูปกลม ผลอ่อนสีเขียวอ่อน ผลแห้งแตก ออกผลในราวเดือน ส.ค. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบมากกว่า 100 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 50 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้น ทุ่งโล่งริมลำธาร ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,350 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในไทย ลาว และกัมพูชา

กล้วยไม้

มีทั้งหมด 10 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ วงศ์ย่อย สกุล และชนิด) ได้แก่

1. สิงโตสมอหิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum blepharistes Rchb. f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


สิงโตสมอหิน

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปอวบเกือบกลม รูปไข่ หรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม ต้นหนึ่งมี2ใบ รูปลิ้น รูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน สีเขียวแกมน้ำตาล เป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวที่ไม่ผลัดใบในฤดูแล้ง ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตั้งตรงจากโคนลำต้น ช่อละ 4-15 ดอก โดยทยอยออกดอกบานทีละ 2-3 ดอก ขนาดดอก 0.8-2.5 ซม. ดอกสีเหลืองแกมเขียว สีเขียวอ่อนแกมเหลือง หรือสีเหลืองอ่อน มีเส้นสีแดงจางๆ สีน้ำตาลแดงอ่อนๆ หรือสีม่วงแดงซีดๆหลายเส้นพาดตามความยาวของกลีบเลี้ยงคู่ด้านข้าง ปากดอกสีน้ำตาลอ่อน ปลายปากดอกสีม่วง ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ม.ค.


สิงโตสมอหิน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,884 ชนิด ในเมืองไทยพบ 167 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้หรือลานหินในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าสนเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,400 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อนึ่งพบครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ.2415

2. สิงโตรวงทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bulbophyllum orientale Seidenf.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


สิงโตรวงทอง

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่ สีเขียวคล้ำ สีเขียวอมม่วง สีม่วงคล้ำ หรือสีน้ำตาลแดง ต้นหนึ่งมีเพียง1ใบชูตั้งขึ้นบริเวณยอด รูปรี หรือรูปขอบขนาน มีอายุหลายฤดูก่อนหลุดร่วง ออกดอกเป็นช่อกระจะโค้งห้อยลงจากโคนลำต้น มีดอกย่อยเรียงตัวกันอยู่แน่น ออกดอกบานพร้อมกันทั้งช่อดอก ขนาดดอก 0.4-1.5 ซม. กลิ่นเหม็นฉุนคล้ายซากสัตว์ ดอกสีเหลืองอ่อนจนถึงสีส้ม มีจุดสีส้มแดงกระจายไปทั่ว และมีเส้นสีเข้ม 3-5 เส้น ตามความยาวของกลีบดอก ปากดอกสีเหลืองถึงสีเหลืองส้ม ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – พ.ย.


ดอกตูมของสิงโตรวงทอง

พบอิงอาศัยตามต้นไม้หรือลานหินในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,200 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในไทย และลาว อนึ่งพบครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ.2522

3. เอื้องน้ำต้น

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องเลี่ยม , เอื้องเหลี่ยม(ภาคเหนือ) ; เฒ่านั่งฮุ่ง(เชียงใหม่) ; ว่านนอแรด(ชัยภูมิ) ; สาวสามสี(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calanthe cardioglossa Schltr.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


เอื้องน้ำต้น

ลำต้นรูปน้ำเต้า รูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน สีขาวนวล หรือสีเขียวอมเทา ต้นหนึ่งมี 3-4 ใบ รูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรงจากโคนลำต้น บางครั้งปลายช่อดอกโค้งลง ช่อละ 5-20 ดอก โดยจะบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ ขนาดดอก 1-2.5 ซม. ดอกสีแดงเข้ม สีแดงค่อนข้างม่วง สีชมพูอ่อน สีชมพูอมเหลือง สีชมพูเข้ม สีบานเย็น หรือสีขาวอมชมพู ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีเหลืองอ่อนเมื่อใกล้โรย ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – ก.พ. ผลรูปไข่กลับยาว หรือรูปรี ผลแก่แตกได้

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 220 ชนิด ในเมืองไทยพบ 22 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ดินที่พบขึ้นอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,700 เมตร บางครั้งพบอิงอาศัยอยู่ตามโคนต้นไม้ หรือบนหินที่มีเศษซากพืชทับถม เกือบทั่วทุกภาค พบมากทางภาคเหนือ สำหรับภาคใต้มีรายงานการพบเฉพาะ จ.ระนอง

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในพม่า และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

4. เอื้องใบหมาก

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องหมาก(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coelogyne trinervis Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


เอื้องใบมาก

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปไข่อวบสั้น หรือรูปรี สีเหลือง สีเหลืองอมเขียว หรือสีเขียวอมเหลือง ต้นหนึ่งมีเพียง2ใบ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อจากทางด้านข้างของแขนงที่จะเจริญเป็นหัวหรือเหง้าใหม่ ช่อละ 3-8 ดอก ขนาดดอก 2.5-4 ซม. กลิ่นหอม ดอกสีขาวอมครีม หรือสีครีม มีเส้นสีน้ำตาลหลายเส้นพาดตามความยาวตรงปลายปากดอก ขอบปากดอกมีสีเหลืองอมน้ำตาล โคนปากดอกมีสีน้ำตาลเข้ม ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – พ.ย.


เอื้องใบมาก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 200 ชนิด ในเมืองไทยพบ 33 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามก้อนหินหรือลานหินที่ชุ่มชื้นบนภูเขาสูงในป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,300 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบครั้งแรกในประเทศพม่า

5. เอื้องบายศรี

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องคำขน , เอื้องคำหิน(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eria lasiopetala (Willd.) Ormerod

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


เอื้องบายศรี

เอื้องบายศรี

ลำต้นเป็นลำลูกกล้วยรูปแบนเกือบกลม รูปกลมรี หรืออ้วนป้อม อวบน้ำ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ต้นหนึ่งมี 3-5 ใบ รูปแถบแกมรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะและโปร่ง ช่อละ 5-12 ดอก หรือมากกว่า ขนาดดอก 2-4 ซม. ดอกทยอยบานและบานทนเป็นเวลานาน ดอกสีเขียวอ่อน สีเขียวค่อนข้างเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียวเหลือบสีน้ำตาลแดงระเรื่อๆ และอาจมีจุดประสีน้ำตาลแดงตามความยาวของกลีบ ปากดอกสีเขียวค่อนข้างเหลืองจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขอบปากดอกสีน้ำตาลแดง ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ม.ค.


ผลของเอื้องบายศรี

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 238 ชนิด ในเมืองไทยพบ 62 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามโขดหินหรือลานหินในป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย เทือกเขาหิมาลัย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

6. เอื้องกลีบติด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gastrodia exilis Hook. f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


เอื้องกลีบติด

ลำต้นเป็นหัวขนาดเล็กอยู่ใต้ดิน ไม่มีใบ ออกดอกเป็นช่อตั้งขึ้นสูงราว 5-15 ซม. ช่อละ 5-7 ดอก แต่จะทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก ขนาดดอก 0.4 ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดขนาดเล็ก ปลายแยกเป็น5กลีบ ปลายกลีบเป็นชายครุย ปากดอกซ่อนอยู่ภายในหลอดดอก ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 60 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นกล้วยไม้กินซาก พบขึ้นในที่ร่มรำไรจนถึงค่อนข้างมืดครึ้มในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,300 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในไทย และอินโดนีเซีย โดยพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433

7. เอื้องเหลืองพิศมร

ชื่อท้องถิ่น : ตาลเดี่ยว , เอื้องเหลืองศรีสะเกษ(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; หัวข้าวเหนียว , เอื้องหัวข้าวเหนียว(ปราจีนฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spathoglottis affinis de Vriese.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


เอื้องเหลืองพิศมร

เป็นกล้วยไม้ดิน ลำต้นสูงราว 30-40 ซม. มักขึ้นอยู่เป็นกอ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ต้นหนึ่งมี 2-4 ใบ ออกกระจุกอยู่ที่พื้น รูปใบหอกแคบ หรือรูปแถบคล้ายใบหญ้า ออกดอกเป็นช่อกระจะและโปร่ง ช่อละ 4-25 ดอก ดอกทยอยบานจากกลางช่อไปหาปลายช่อ ขนาดดอก 1.8-4 ซม. ดอกสีเหลือง และอาจมีขีดสีม่วง หรือสีน้ำตาลแดง พาดตามยาวที่กลีบเลี้ยงคู่ด้านข้าง 3-5 เส้น ปากดอกแยกออกเป็น3แฉก สีเหลืองเข้มกว่า และมีเส้นประสีน้ำตาลหรือสีม่วงที่โคนปาก ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ธ.ค. แต่พบมากในราวเดือน ต.ค. – ธ.ค. ผลรูปขอบขนาน หรือรูปรี ผลแห้งแตกได้ตามยาว


เอื้องเหลืองพิศมร

เอื้องเหลืองพิศมร

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 49 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ดิน พบขึ้นตามชายป่าหรือทุ่งหญ้าโล่งที่ชื้นแฉะหรือใกล้ลำน้ำในป่าโปร่ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขา บางครั้งพบอิงอาศัยตามลานหินที่มีน้ำซับไหลผ่านในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-1,400 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

8. ลิ้นมังกร

ชื่อท้องถิ่น : ปัดแดง , ปัดม่วง , ปัดส้ม , ปัดเหลือง , สังหิน(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Habenaria rhodocheila Hance

วงศ์ย่อย : ORCHIDIOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


ลิ้นมังกร

มักขึ้นเป็นกอขนาดใหญ่ สูง 30 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปเรียวยาว ออกดอกเป็นช่อตั้งตรง ช่อละ 3-15 ดอก หรือมากกว่า ดอกเกิดค่อนไปทางปลายช่อ ขนาดดอก 0.8-4 ซม. ดอกทยอยบานทนนานเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ กลีบทั้ง5กลีบสีเขียว ปากดอกแยกออกเป็น3แฉกคล้ายลิ้นมังกร แฉกกลางเว้าเป็น2แฉกย่อย มีสีหลากหลายสีตามสายพันธุ์ ได้แก่ สีแดง สีม่วงอ่อนระเรื่อแดง สีชมพู สีเหลือง สีส้ม สีเหลืองอมส้ม หรือสีแสด ออกดอกในราวเดือน มิ.ย.-ก.พ. แต่มีมากในราวเดือน มิ.ย. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 837 ชนิด ในเมืองไทยพบ 46 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามพื้นดินหรือโขดหินในป่าดิบ ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

9. เอื้องช้างฮ้อมคอ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gastrochilus obliquus (Lindl.) Kuntze

วงศ์ย่อย : VANDOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


เอื้องช้างฮ้อมคอ

ลำต้นเป็นแท่ง สูงราว 3-7 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละ 10-30 ดอก ขนาดดอก 1.5-2 ซม. ดอกสีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียวอ่อนๆ และอาจมีประสีม่วง ปากดอกเป็นอุ้งและแผ่กว้าง สีขาว ขอบปากมีสีม่วงแดง กลางปากมีแต้มสีเหลืองและมีประสีแดงอมม่วง ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 57 ชนิด ในเมืองไทยพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

10. เอื้องม้าวิ่ง

ชื่อท้องถิ่น : กล้วยไม้ม้า , ละเม็ด , หญ้าดอกดิน , หญ้าดอกหิน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; กล้วยหิน(ตราด) ; กระทิงแดง(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phalaenopsis pulcherrima (Lindl.) J.J.Sm.

วงศ์ย่อย : VANDOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE


เอื้องม้าวิ่ง

เอื้องม้าวิ่ง

ลำต้นเป็นรูปก้านกลมๆขนาดสั้นๆที่มีอยู่เป็นกระจุก สีน้ำตาล ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยออกซ้อนกันเป็นแผง รูปรีแกมรูปขอบขนาน บ้างก็พบเป็นรูปรีเกือบกลม ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรงตามซอกใบ มักมีมากกว่า1ช่อ ช่อละ 5-30 ดอก ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกมีสีหลากหลายตั้งแต่สีซีดเกือบขาวจนถึงสีแดงเข้ม สีม่วง สีม่วงอ่อน หรือสีชมพูอมม่วง ปากดอกมีสีเหลืองหรือสีขาวครีมแต้มเป็นทาง ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – พ.ย. แต่บางครั้งพบออกนอกฤดูกาลในราวเดือน ม.ค.


กำลังเป็นผล

พืชชนิดนี้เดิมอยู่ในสกุล Doritis ทั่วโลกพบ 70 ชนิด ในเมืองไทยพบ 11 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามลานหินที่มีอินทรีย์วัตถุทับถมกันตามป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,400 เมตร พบบ้างตามป่าชายหาด โดยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เฟิน

พบหลายชนิด แต่ที่น่าสนใจมี 4 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. เฟินโชน

ชื่อสามัญ : Roadside Fern

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicranopteris curranii Copel.

วงศ์ : GLEICHENIACEAE


เฟินโชน

มีเหง้าขนาด 0.3-0.5 ซม. ทอดยาวเลื้อยไปตามพื้นและแยกเป็น2แฉก ปลายเหง้ามีเกล็ดรูปโล่ ใบประกอบแบบขนนกดูคล้ายแตกเป็นส้อม แกนใบประกอบยาว 20-50 ซม. โคนแกนอวบอ้วน ใบรูปขอบขนาน กว้าง 0.5 ซม. ยาวได้ถึง 7 ซม. ปลายใบมน กลม หรือเว้าตื้น ขอบใบเรียบ เส้นใบแตกเป็นส้อมอย่างต่ำ2ชั้น ไม่มีก้านใบย่อย ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมหนาแน่น อับสปอร์รูปกลม เรียงเป็นแถวระหว่างเส้นใบข้างละแถว

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 20 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามที่โล่งริมถนน ป่าพรุ ชายป่าดิบชื้น พื้นที่โล่งแจ้งในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในไทย ภูมิภาคมาเลเซีย และฟิลิปปินส์

2. เฟินเถานาคราช

ชื่อท้องถิ่น : เฟินเกล็ดนาคราช

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oleandra musifolia (Blume) C. Presl

วงศ์ : OLEANDRACEAE


เฟินเถานาคราช

เหง้าขนาด 0.4-0.5 ซม. มีรากค้ำหรือรากเขย่ง ใบเรียงกระจายเป็นกลุ่มตามปลายยอด กลุ่มละ 2-4 ใบ รูปใบหอก รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปแถบ สีเขียวอ่อน ยาว 12-80 ซม. ปลายใบเรียวยาว ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษและมีขนประปราย เส้นใบแยกแขนง1หรือ2ครั้งใกล้เส้นกลางใบ ก้านใบยาว 5-8.5 ซม. อับสปอร์รูปไตและมีเยื่อคลุม เรียงข้างละแถวไม่เป็นระเบียบใกล้เส้นกลางใบ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 19 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดิน หรืออิงอาศัยบนก้อนหินและต้นไม้ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ ไทย ลาว และภูมิภาคมาเลเซีย

3. เฟินกระปรอกหิน

ชื่อท้องถิ่น : กูดเฟือย , กูดไม้ , กูดอ้อม(ภาคเหนือ) ; กูดตั่ง(เชียงใหม่) ; กูดหางม้า(แม่อ่องสอน) ; กระปรอกเล็ก , กระปรอกหัวหิน(จันทบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drynaria rigidula (Sw.) Bedd.

วงศ์ : POLYPODIACEAE


เฟินกระปรอกหิน

มีเหง้าทอดเลื้อยยาได้กว่า 3 เมตร ผิวมีเกล็ดสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ใบมี2แบบ แบบแรกเป็นกาบใบรูปขอบขนาน หรือคล้ายรูปสามเหลี่ยม ยาว 10-35 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นพูลึก โคนใบกลม ไร้ก้านใบ แบบที่สองเป็นใบประกอบแบบขนนก ก้านใบประกอบยาวได้ถึง 2 เมตร สีน้ำตาลอมม่วง มีใบย่อยราว40คู่ รูปใบหอก จนถึงรูปแถบ ยาว 8-25 ซม. ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบหรือหยักเป็นฟันเลื่อย อับสปอร์มีแถวเดียวตามขอบใบ โดยนูนเห็นชัดที่หลังใบ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 15 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามลานหิน ก้อนหิน หรือต้นไม้ในชายป่าพรุ ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลีย

4. เฟินกนกนารี

ชื่อท้องถิ่น : เฟินแผง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Selaginella plana (Desv. ex Poir.) Hieron.

วงศ์ : SELAGINELLACEAE


เฟินกนกนารี

ลำต้นชูตั้งหรือทอดเอนเล็กน้อย สูงได้ถึง 25 ซม. แตกกิ่งก้านสาขาได้ดี ปลายกิ่งแยกเป็น2แฉก มีเหง้าทอดเลื้อยไปตามพื้น ใบแผ่แบนเป็นรูปพัด ใบเป็นเกล็ดเรียงสลับระนาบเดียว ปลายกิ่งแยกเป็น2แฉก ท้องใบมักมีขนสั้นปกคลุม อับสปอร์ออกจากปลายกิ่งและแตกเป็นหน่อเล็กๆ อับสปอร์มีก้านและแยกเพศ

พืชวงศ์นี้มีเพียงสกุลเดียว ทั่วโลกพบ 376 ชนิด ในเมืองไทยพบ 30 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามที่ลาดเชิงเขา หรือตามพื้นป่าบนภูเขาที่มีแสงส่องถึง พบทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

เห็ด

พบหลายชนิด แต่ที่น่าสนใจมี 7 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. เห็ดขมิ้นใหญ่

ชื่อท้องถิ่น : เห็ดขมิ้นหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Craterellus odoratus (Schw.) Fr.

วงศ์ : CANTHARELLACEAE


เฟินกนกนารี

หมวกเห็ดรูปกรวยลึก สีเหลืองเข้ม สีเหลืองอมส้ม หรือสีส้ม กว้าง 2-10 ซม. สูง 2-6 ซม. ขอบหมวกบานออกเป็นรูปปากแตรและหยักย่นเป็นคลื่น เนื้อบาง ยืดหยุ่นเล็กน้อย ผิวเรียบ หรือมีเส้นนูนเล็กๆ ด้านล่างสีเหลืองนวลและเป็นสันเตี้ยๆตามยาว ก้านเห็ดสีเดียวกับหมวกเห็ด กว้าง 0.5-1 ซม. ยาว 1-2 ซม. ภายในก้านกลวง สปอร์รูปรี สีเหลืองอมส้ม

มีกลิ่นหอมอ่อนๆคล้ายดอกขจร ว่ากันว่าเป็นเห็ดที่ทานได้ มักพบขึ้นเป็นกลุ่มบนพื้นดินในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

2. เห็ดหูช้าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ganoderma applanatum (Pers. Ex Wallr.) Pat.

วงศ์ : GANODERMATACEAE


เห็ดหูช้าง

หมวกเห็ดรูปครึ่งวงกลม รูปกีบม้า หรือรูปเกือกม้า สีน้ำตาลอมเหลือง จนถึงสีน้ำตาลหม่น กว้าง 3-20 ซม. หนา 1-3 ซม. ยาว 5-20 ซม. ผิวขรุขระ ย่น และเป็นร่องวงกลมซ้อนกันห่างๆ ขอบหมวกเห็ดสีขาว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เนื้อในเห็ดสีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลอมชมพู เหนียวและแข็งคล้ายไม้เมื่อแห้ง ด้านล่างเป็นรุกลมเล็กๆเชื่อมติดกัน สีน้ำตาล ปากรูสีขาวนวล เมื่อช้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ไม่มีก้าน สปอร์รูปรี สีน้ำตาล

พบขึ้นเป็นดอกเดี่ยว หรือซ้อนกันเป็นชั้นๆคล้ายหิ้งตามโคนต้นไม้หรือขอนไม้แข็ง ทั่วทุกภาค เห็ดชนิดนี้ทำให้เนื้อไม้ผุเปื่อยเป็นสีขาว

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาจนถึงทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

3. เห็ดร่างแหกระโปรงยาว

ชื่อท้องถิ่น : เยื่อไผ่ , เห็ดเยี่ยวงู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dictyophora indusiata (Pers.) Fisch.

วงศ์ : PHALLACEAE


เห็ดร่างแหกระโปรงยาว

ดอกเห็ดเมื่ออ่อนมีเยื่อหุ้มรูปไข่ สีขาว สีขาวอมชมพู หรือสีม่วงอ่อน เมื่อเจริญขึ้นจะปริแตก เห็นก้านและหมวกเห็ดรูประฆัง สีขาว คงเหลือเยื่อหุ้มอยู่ที่โคน หมวกเห็ดกว้าง 2-4 ซม. สูง 2-3.5 ซม. สีขาว จนถึงสีเทาอ่อน ปลายหมวกเป็นแป้นกลม สีขาว ผิวหมวกเห็ดแบ่งเป็นห้องๆคล้ายรวงผึ้ง ภายในมีน้ำเมือกสีน้ำตาลอมเขียวหม่น รสหวานและมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ซึ่งส่งกลิ่นไปได้ไกลเพื่อล่อให้แมลงมาดูดกิน ทำให้สปอร์ที่เกิดในน้ำเมือกติดแมลงไปขยายพันธุ์ในที่อื่นๆ ใต้หมวกเห็ดมีเยื่อบางๆคล้ายร่างแหสีขาว หรือสีขาวอมชมพู แขวนกางห้อยลงมาประมาณ3ใน4ของก้านดอก ดูคล้ายสุ่ม ร่างแหนี้เมื่อถูกลมพัดจะแกว่งไกวไปมาดูคล้ายเต้นระบำ ก้านเห็ดรูปทรงกระบอก กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 10-15 ซม. สีขาว ปลายเรียวเล็กกว่าโคนเล็กน้อย ภายในก้านกลวง เนื้อเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ ด้านล่างของเยื่อหุ้มมีเส้นใยหยาบสีขาวคล้ายเส้นด้าย 1-3 เส้น ยึดติดกับพื้นดิน สปอร์รูปรี หรือค่อนข้างกลม ใส ไม่มีสี ในประเทศจีนผลิตเห็ดชนิดนี้เป็นการค้า โดยตัดหมวกเห็ดและเยื่อหุ้มดอกออก แล้วตากแห้งใช้เป็นอาหาร เรียกว่า“เยื่อไผ่”

พบขึ้นตามพื้นดินที่ชุ่มชื้นในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

4. เห็ดกรวยทองตากู

ชื่อท้องถิ่น : เห็ดกรวยทองตะกู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microporus xanthopus (Fr.) Kuntze

วงศ์ : POLYPORACEAE


เห็ดกรวยทองตากู

หมวกเห็ดรูปกรวยปากกว้าง สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง กว้าง 3.5-10 ซม. มีแถบสีน้ำตาลอมเหลืองจนถึงสีน้ำตาลเข้มเป็นวงหลายวง เรียงเป็นรัศมี ผิวเรียบเป็นมันวาว บาง และหยักย่นเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านล่างเต็มไปด้วยรูกลมเล็กๆสีขาว ก่อนเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล ก้านเห็ดรูปทรงกระบอก กว้าง 0.3-0.4 ซม. ยาว 1-3 ซม. ผิวเรียบ แข็ง สีขาว สีขาวอมเหลือง หรือสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง ปลายก้านใหญ่ โคนก้านแผ่เป็นแป้นกลมเล็กๆไว้ยึดติดกับขอนไม้ เนื้อเห็ดสีขาว และเหนียว สปอร์รูปรียาว สีขาว ว่ากันว่าเป็นเห็ดที่ทานได้ แต่ต้องทำให้สุก

พบขึ้นตามขอนไม้หรือกิ่งไม้ร่วงในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาจนถึงทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

5. เห็ดหล่มสีกุหลาบ

ชื่อท้องถิ่น : เห็ดแดงกุหลาบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Russula rosacea (Pers.) S.F.G.

วงศ์ : RUSSULACEAE


เห็ดหล่มสีกุหลาบ

หมวกเห็ดรูปกระทะคว่ำ สีแดงเข้ม สีแดงสด หรือซีดจางลงจนเป็นสีชมพู กว้าง 3-18 ซม. กลางหมวกเป็นแอ่งเล็กน้อย ผิวเป็นมันวาว แต่จะหนืดเมื่ออากาศชื้น ด้านล่างมีครีบสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวนวล ก้านเห็ดสีขาว สีขาวอมชมพู หรือสีขาวอมแดง กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 3-10 ซม. โคนแคบ ผิวเรียบ เนื้อเห็ดสีขาว ดอกแก่ภายในกลวง สปอร์รูปไข่ หรือเกือบกลม สีเหลืองอ่อน

พบขึ้นดอกเดี่ยวตามพื้นในป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

6. เห็ดถ้วยส้ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cookeina sp.

วงศ์ : SARCOSCYPHACEAE


เห็ดถ้วยส้ม

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของเห็ดชนิดนี้ พบขึ้นตามขอนไม้ผุที่ค่อนข้างเน่าเปื่อย

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

7. เห็ดหางไก่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stereum sp.

วงศ์ : STEREACEAE


เห็ดหางไก่

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของเห็ดชนิดนี้ พบขึ้นเป็นกลุ่มตามขอนไม้ในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

ผีเสื้อกลางคืน

พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 5 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. มอธขาวดำท้องเหลือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Heortia vitessoides Moore

วงศ์ย่อย : ODONTIINAE

วงศ์ : CRAMBIDAE


มอธขาวดำท้องเหลือง

มีขนาด 3 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกคู่หน้าสีเหลืองซีด มีขีดและแถบสีดำกระจาย ปีกคู่หลังสีขาว มีขอบสีดำกว้าง

ไข่รูปแบน สีเขียวอมเหลือง ช่วงเป็นหนอนมีหัวสีน้ำตาลไหม้ ลำตัวสีเขียวซีด และมีแถบสีดำเป็นปุ่มทางด้านข้างทั้ง2ด้าน กินอาหารบนไม้สกุล Rhus วงศ์ ANACARDIACEAE และต้นกฤษณา(Aquilaria malaccensis Lam. วงศ์ THYMELAEACEAE) เมื่อกลายเป็นดักแด้จะทิ้งตัวลงสู่ดิน

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย

2. Genusa simplex Warren

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Genusa simplex Warren

วงศ์ : GEOMETRIDAE


Genusa simplex Warren

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของผีเสื้อกลางคืนชนิดนี้ รู้แต่ว่าปีกบน(หรือหลังปีก)ทั้ง2คู่มีสีขาวใส

แพร่กระจายในไทย ภูมิภาคมลายู เกาะสุมาตรา และฟิลิปปินส์

3. มอธราบปีกแหลม

ชื่อสามัญ : Flatwing

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Micronia aculeata Guen?e

วงศ์ย่อย : MICRONIINAE

วงศ์ : GEOMETRIDAE


มอธราบปีกแหลม

มีขนาด 4.2-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) หัว อก และท้องมีสีขาว และมีแต้มสีน้ำตาลอมดำกระจายอยู่ทั่ว

ปีกบน(หรือหลังปีก)ทั้งสองคู่มีพื้นปีกสีขาว มีลายเส้นสีเทาพาดขวางทั่วทั้งปีก ขณะเกาะจะเห็นแถบดังกล่าวพาดยาวต่อเนื่องกันของปีกคู่หน้าและปีกคู่หลัง มุมปลายปีกทั้ง2คู่แหลม โดยมุมปลายปีกคู่หลังมีแต้มจุดสีดำ

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีลักษณะคล้ายปีกบน แต่เส้นลายจางกว่า

มักชอบเกาะราบอยู่บนใบไม้ของต้นไม้พุ่มเตี้ยๆในป่าที่ร่มครึ้มดูคล้ายมูลนกสีขาว หากถูกรบกวนจะบินช้าๆไปมาสักครู่ ก่อนบินลงเกาะราบกับใบไม้ที่อยู่ห่างออกไปดังเดิม หรือหนีไปเกาะซ่อนตัวทางด้านใต้ของใบไม้

พบอาศัยในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในศรีลังกา อินเดีย จีน ฮ่องกง พม่า ไทย เกาะบอร์เนียว และเกาะชวา

4. มอธหนอนบุ้งขาวปีกแหลม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arctornis cygna Moore

วงศ์ : LYMANTRIIDAE


มอธหนอนบุ้งขาวปีกแหลม

มีขนาด 4.2-4.9 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เป็นตัวเต็มวัยในช่วงเดือน พ.ค. – ต.ค. เพศผู้มีหัวและอกสีขาวอมชมพู หนวดสีน้ำตาล ท้องสีเหลืองอมน้ำตาล ขาคู่หน้าสีส้มสว่าง

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้ ปีกคู่หน้ามีพื้นปีกสีขาวใส ปีกคู่หลังมีสีขาวอมชมพู แต่เพศเมียนั้นปีกทั้ง2คู่มีสีขาวอมชมพู

ช่วงเป็นหนอนมักอาศัยอยู่บนต้นทุเรียน(Durio sp. วงศ์ MALVACEAE)

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเบงกอล อินเดีย จีน ไต้หวัน และไทย

5. Lymantria sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lymantria sp.

วงศ์ : LYMANTRIIDAE


Lymantria sp.

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของผีเสื้อกลางคืนชนิดนี้ รู้แต่ว่าปีกบน(หรือหลังปีก)ทั้ง2คู่มีสีขาวขุ่น มีลวดลายและจุดสีน้ำตาล

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

ผีเสื้อกลางวัน

พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 20 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. ผีเสื้อแต้มแสดธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Posy

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drupadia ravindra moorei Drury

วงศ์ย่อย : THECLINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อฟ้าไม้ก่อ)

วงศ์ : LYCAENIDAE


ผีเสื้อแต้มแสดธรรมดา เพศเมีย

มีขนาด 3-4 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีหางยื่นยาว3เส้น

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้ชนิดย่อย moorei มีพื้นปีกคู่หน้าสีน้ำตาล ไม่มีสีส้มที่กลางปีก แต่ชนิดย่อยboisduvali มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลเข้ม กลางปีกมีแถบสีส้มขนาดใหญ่ ปีกคู่หลังของทั้ง2ชนิดย่อยมีพื้นปีกสีน้ำเงินเข้ม ส่วนเพศเมียชนิดย่อย boisduvali คล้ายเพศผู้ แต่เพศเมียชนิดย่อย moorei มีพื้นปีกสีน้ำตาล กลางปีกคู่หน้ามีแต้มสีส้มเล็กน้อย

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)ทั้ง2ชนิดย่อยคล้ายกัน มีพื้นปีกคู่หน้าสีเหลืองส้ม หรือสีส้ม และมีลวดลายสีน้ำตาล พื้นปีกคู่หลังสีขาวและมีสีส้มจางๆ ขอบปีกด้านบนสีเหลือง มีลวดลายสีดำกระจายอยู่ทั่วปีก

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

2. ผีเสื้อใต้ปีกพราวเล็ก

ชื่อสามัญ : Lesser Harlequin

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Laxita thuisto Hewitson

วงศ์ย่อย : RIODININAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อปีกกึ่งหุบ)

วงศ์ : LYCAENIDAE


ผีเสื้อใต้ปีกพราวเล็ก

มีขนาด 3-4.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มีลักษณะคล้ายผีเสื้อใต้ปีกพราวใหญ่(Taxila haquinus Fabricius) แต่ต่างกันที่แถบสีขาวบริเวณกลางปีกคู่หน้า

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้เกือบดำ ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีแถบสีขาว กลางปีกมีแต้มสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ประปราย

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดสีดำ สีขาว และสีฟ้า กระจายทั่วปีก มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีแถบสีขาว

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อย โดยพบตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

3. ผีเสื้อพุ่มไม้ธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Tit

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypolycaena erylus Godart

วงศ์ย่อย : THECLINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อฟ้าไม้ก่อ)

วงศ์ : LYCAENIDAE


ผีเสื้อพุ่มไม้ธรรมดา เพศเมีย

มีขนาด 3.2-3.6 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีเส้นขนเล็กๆข้างละ2เส้น

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำเงิน หรือสีน้ำเงินเข้ม ปีกหน้ามีจุดวงกลม ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลทึบๆ

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีเทาขาว กลางปีกมีเส้นขีดสีน้ำตาลเกือบขนานกับขอบปีกด้านข้าง มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีจุดสีดำ แต้มสีส้ม


ผีเสื้อพุ่มไม้ธรรมดา เพศผู้

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อย โดยพบตามป่าชายเลน ทุ่งหญ้า ริมลำน้ำในป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

4. ผีเสื้อหางพลิ้ว

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อหางพริ้ว

ชื่อสามัญ : Fluffy Tit

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zeltus amasa Hewitson

วงศ์ย่อย : THECLINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อฟ้าไม้ก่อ)

วงศ์ : LYCAENIDAE


ผีเสื้อหางพลิ้ว

มีขนาด 2.8-3.2 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีลักษณะยื่นยาวคล้ายหางข้างละ2เส้น หางเส้นที่ยาวกว่าจะบิดเป็นเกลียว

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้ที่โคนปีกคู่หน้าและส่วนใหญ่ของปีกคู่หลังมีสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ส่วนพื้นที่ของปีกคู่หน้าที่เหลือเป็นสีดำ มุมปลายปีกคู่หน้ามีสีน้ำเงิน และพื้นที่ของปีกคู่หลังที่เหลือเป็นสีขาว สำหรับเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีขาวขุ่นจนถึงสีฟ้าอ่อน ปีกคู่หน้าตั้งแต่กลางปีกไปจนถึงมุมปลายปีกหน้ามีสีน้ำตาลอมเหลือง มีลวดลายเส้นสีน้ำตาลเข้มบนปีกทั้ง2คู่ ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หลังมีจุดสีดำ1จุด และมุมปลายปีกหลังใกล้กับส่วนหางมีจุดสีดำ2จุด

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก ชอบเกาะริมทางเดินหรือดูดน้ำใกล้แหล่งน้ำตามพื้นทรายเปียก ทุ่งหญ้า ริมลำน้ำในป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

5. ผีเสื้อกะทกรกแดง

ชื่อสามัญ : Red Lacewing

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cethosia bibilis Drury

วงศ์ย่อย : ACRACINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อกะทกรก)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อกะทกรกแดง วัยหนอน

มีขนาด 6.5-9 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เพศผู้และเพศเมียมีสีสันแตกต่างกัน ทั้งสองเพศมีขอบปีกด้านข้างของปีกทั้ง2คู่หยักเว้า

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีแดง ปลายปีกคู่หน้าและขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีสีดำ หรือสีน้ำตาลดำ ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาลอมเทา กลางปีกคู่หลังมีสีเทา

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีแดงอมส้ม มีเส้นลวดลายซิกแซกสีขาวสลับสีดำทั่วทั้งปีก ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาลอมเทา มีเส้นลวดลายสีขาวสลับสีดำ โดยลวดลายและรูปร่างของปีกคล้ายเพศผู้

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามดอกไม้ หรือเกาะพื้นทรายชื้นๆตามชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

6. ผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อตาลหางแหลม

ชื่อสามัญ : Common Cruiser

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vindula erota Fabricius

วงศ์ย่อย : ACRACINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อกะทกรก)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา

มีขนาด 9-11 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มักกางปีกผึ่งแดด บินได้ว่องไว โดยเฉพาะในเวลากลางวันที่มีแสงแดดจัด พบเพศผู้บ่อยกว่าเพศเมีย เพราะเพศเมียมักหากินในป่าลึก แต่บางครั้งก็พบกินน้ำหวานดอกไม้ตามชายป่า

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลส้ม หรือสีเหลืองส้ม มีเส้นสีดำจางๆตามแนวเส้นปีก ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้ง2คู่มีเส้นสีดำหยักเป็นคลื่น2เส้น ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมเล็กน้อย ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาลอมเขียว หรือสีน้ำตาลอมเขียวขี้ม้า มีลวดลายคล้ายเพสผู้


ผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา

ปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีลักษณะคล้ายปีกบน แต่สีอ่อนกว่า

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามริมลำน้ำในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

7. ผีเสื้อเจ้าชายกะลาสี

ชื่อสามัญ : Sailor Emperor

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimathyma chevana chevana Moore

วงศ์ย่อย : APATURINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อเจ้าชาย)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อเจ้าชายกะลาสี

ผีเสื้อเจ้าชายกะลาสี

ไม่มีรายละเอียดของผีเสื้อชนิดนี้ คงรู้แต่ว่าเป็นผีเสื้อที่พบได้ค่อนข้างยาก ผู้เขียนพบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

8. ผีเสื้อเจ้าชายดำสยาม

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อเจ้าชายดำขอบปีกเว้า

ชื่อสามัญ : Black Prince

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rohana parisatis Westwood

วงศ์ย่อย : APATURINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อเจ้าชาย)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อเจ้าชายดำสยาม

มีขนาด 4.5-5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มีลักษณะคล้ายผีเสื้อเจ้าชายดำขอบปีกเรียบหรือผีเสื้อเจ้าชายดำจีน(R. tonkiniana Fruhstorfer) แต่ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้าหยักเว้า และไม่มีขลิบสีขาวที่ขอบปีกทั้ง2คู่ ปลายหนวดสีส้ม

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีดำแบบกำมะหยี่ มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีจุดสีขาวข้างละ1จุด ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีเหลืองอมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลไหม้ และมีจุดสีดำประปราย

เป็นผีเสื้อที่พบไม่บ่อย โดยพบตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

9. ผีเสื้อพเนจร

ชื่อสามัญ : Vagrant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vagrans egista Cramer

วงศ์ย่อย : ARGYNNINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อลายเงิน)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อพเนจร

มีขนาด 5.5-6.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ขณะเกาะมักกางปีกแผ่ราบ รูปร่างของปีกคู่หน้ายาว ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีเหลืองส้ม หรือสีน้ำตาล ลวดลายบนปีกและขอบปีกด้านข้างของปีกทั้ง2คู่มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมเล็กน้อย

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีลักษณะคล้ายปีกบน แต่สีอ่อนกว่า

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามริมลำน้ำในป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

10. ผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อม้าเขียวธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Nawab

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyura athamas Drury

วงศ์ย่อย : CHARAXINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อตาลหนาม)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา

มีขนาด 7.5-8.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมคล้ายหนาม2แฉก

ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีแถบสีเหลืองอมเขียวพาดต่อเนื่องกันกลางปีกทั้ง2คู่ มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีแต้มจุดสีเขียวอ่อนเรียงกัน2จุด ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีลักษณะคล้ายปีกบน แต่แถบกลางปีกจะเป็นสีเขียวอ่อน

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก ชอบดูดน้ำจากพื้นทรายชื้น รวมทั้งมูลสัตว์ โดยพบตามชุมชน ริมลำน้ำในป่าดิบชื้น ไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

11. ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ

ชื่อสามัญ : Common Indian Crow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euploea core Cramer

วงศ์ย่อย : DANAINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อหนอนใบรัก)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อจรกาหนอนยี่โถ

มีขนาด 8.5-9.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ โคนปีกมีสีเข้มเกือบดำ ปลายปีกหน้าเคลือบด้วยเกล็ดสีขาว อันเป็นลักษณะเด่นของผีเสื้อชนิดนี้ ปีกคู่หลังใกล้ขอบปีกมีจุดสีขาวเรียงต่อกัน2แถว ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีลักษณะคล้ายปีกบน

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามดอกไม้ในที่ร่มรำไรตามชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

12. ผีเสื้อลายเสือฟ้าเข้ม

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าใหญ่

ชื่อสามัญ : Dark Blue Tiger

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tirumala septentrionis Butler

วงศ์ย่อย : DANAINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อหนอนใบรัก)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อลายเสือฟ้าเข้ม

มีขนาด 8.5-9.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มีลักษณะคล้ายผีเสื้อลายเสือฟ้าสีคล้ำ(Ideopsis vulgaris Butler) แต่กลางปีกคู่หลังมีแถบลักษณะแตกต่างกัน

ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม มีแถบและจุดสีฟ้าจางๆทั่วทั้งปีก เซลปีกหน้ามีเส้นสีฟ้าขนาดใหญ่และยาวกว่าเส้นอื่น เพศผู้จะสังเกตได้จากเกล็ดเพศที่ปีกหลัง ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ส่วนเพศเมียไม่มีเกล็ดดังกล่าว ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีลักษณะคล้ายปีกบน

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก ชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้มากกว่าลงดูดน้ำจากพื้นทรายที่ชื้น โดยพบตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

13. ผีเสื้อจ่ากระบอง

ชื่อสามัญ : Lance Sergeant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Athyma pravara Moore

วงศ์ย่อย : LIMENTIDINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อกะลาสี)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อจ่ากระบอง

มีขนาด 5.5-7 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลดำ มีลวดลายสีขาว ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีลักษณะคล้ายปีกบน

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามพื้นที่โล่งชายป่า ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

14. ผีเสื้อจ่าเส้นปีกดำ

ชื่อสามัญ : Blackvein Sergeant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Athyma ranga Moore

วงศ์ย่อย : LIMENTIDINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อกะลาสี)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อจ่าเส้นปีกดำ

มีขนาด 6-7 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีดำ ใกล้ขอบปีกด้านนอกของปีกคู่หน้ามีสีเหลือบเขียวขี้ม้าอมน้ำเงิน กลางปีกทั้ง2คู่มีแต้มสีขาวเรียงกัน แต่จะขาดเป็นช่วงๆ ขอบปีกด้านข้างมีขลิบสีขาวระหว่างช่องเส้นปีก ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีลักษณะคล้ายปีกบน


ผีเสื้อจ่าเส้นปีกดำ

เป็นผีเสื้อที่พบไม่บ่อย ชอบเกาะดูดน้ำตามพื้นทรายริมน้ำที่มีแสงแดด โดยพบตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

15. ผีเสื้อจ่าเล็ก

ชื่อสามัญ : Small Staff Sergeant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Athyma zeroca Moore

วงศ์ย่อย : LIMENTIDINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อกะลาสี)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อจ่าเล็ก เพศเมีย

มีขนาด 5-6.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีดำ ใกล้มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีแต้มสีขาวต่อกัน กลางปีกมีแถบสีขาวยาวต่อเนื่องกันเป็นแถบเดียว ซึ่งมีขนาดกว้างและเรียงตัวชิดกว่าผีเสื้อชนิดอื่นในสกุลนี้ ปลายแถบสีขาวมีรูปสามเหลี่ยม ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีอ่อนกว่าเพศผู้ และปีกคู่หน้าบริเวณใกล้ขอบปีกด้านนอกมีแถบรูปกระบอง

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาล มีลายแถบสีขาวคล้ายปีกบน

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อย ชอบตอมมูลสัตว์ และโป่งสัตว์ป่า โดยพบตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

16. ผีเสื้อสะพายขาวปีกโค้ง

ชื่อสามัญ : Knight

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lebadea martha Fabricius

วงศ์ย่อย : LIMENTIDINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อกะลาสี)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อสะพายขาวปีกโค้ง

มีขนาด 7-7.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ลักษณะคล้ายผีเสื้อแถบขาวธรรมดา(Moduza Procris Cramer) แต่รูปปีกแคบและเรียวยาวกว่า ขอบปีกหน้าโค้งเว้าเห็นได้ชัด

ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลแดง กลางปีกมีแถบสีขาวพาดต่อเนื่องกันทั้ง2ปีก(ซึ่งแถบสีขาวนี้มีขนาดเล็กกว่าผีเสื้อแถบขาวธรรมดา) และปลายปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวมัวๆ

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)คล้ายปีกบน แต่สีอ่อนกว่า

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

17. ผีเสื้อช่างร่อน

ชื่อสามัญ : Clipper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parthenos sylvia lilacinus Cramer

วงศ์ย่อย : LIMENTIDINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อกะลาสี)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อช่างร่อน

เป็นผีเสื้อขนาดใหญ่ มีขนาด 9.5-12 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) บินได้ว่องไวมาก ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลหรือสีเขียวขี้ม้า มีเส้นและลวดลายสีดำทั่วทั้งปีก กลางปีกคู่หน้ามีแต้มสีขาวอมเขียวซึ่งโปร่งแสงเรียงต่อกัน ขอบปีกด้านในของปีกคู่หน้าและกลางปีกคู่หลังมีสีฟ้าจางๆ มีเกล็ดสะท้อนแสงบนปีกทั้ง2คู่

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีขาวขุ่น มีลายแถบสีขาวคล้ายปีกบน

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดดตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

18. ผีเสื้อใบไม้เล็ก

ชื่อสามัญ : Autumn Leaf

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Doleschallia bisaltide Cramer

วงศ์ย่อย : NYMPHALINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อขาหน้าพู่)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อใบไม้เล็ก

มีขนาด 7.5-8.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีมุมเหลี่ยม ขอบปีกเว้า มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังยื่นแหลมเล็กน้อย ดูคล้ายก้านใบไม้ เมื่อเกาะหุบปีกตั้งขึ้นจะดูเหมือนใบไม้มาก

ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลแดง มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีสีดำ และมีแถบสีเหลืองหรือสีน้ำตาลแดง ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาลอมเหลือง ขอบปีกใกล้กับโคนปีกคู่หน้ามีแต้มสีดำ

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้ มีเส้นสีน้ำตาลดำพาดจากมุมปีกหลังต่อเนื่องถึงปีกหน้าดูคล้ายเส้นกลางใบของใบไม้แห้ง มีจุดสีขาวประปรายที่ปีกทั้ง2คู่ ใกล้ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีจุดวงกลมจางๆ3จุดเรียงกัน

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามริมลำน้ำในป่าดิบชื้น ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

19. ผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง

ชื่อสามัญ : Common Bushbrown

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycalesis perseus Fabricius

วงศ์ย่อย : SATYRINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อสีตาล)

วงศ์ : NYMPHALIDAE


ผีเสื้อตาลพุ่มสามจุดเรียง

มีขนาด 3.5-4.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดวงกลมสีดำที่กลางปีกคู่หน้า1จุด

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)มีพื้นปีกสีน้ำตาล มีจุดเรียงกันตามขอบปีกด้านข้างที่ปีกคู่หน้า4จุด และปีกคู่หลัง7จุด ถัดจากจุดเข้ามาบริเวณกลางปีกมีเส้นสีขาวพาดยาวต่อเนื่องกันบนปีกทั้ง2คู่

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อย โดยพบตามป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

20. ผีเสื้อเหลืองสยามธรรมดา

ชื่อสามัญ : orange Gull

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cepora iudith Fabricius

วงศ์ย่อย : PIERINAE (วงศ์ย่อยผีเสื้อหนอนกะหล่ำ)

วงศ์ : PIERIDAE


ผีเสื้อเหลืองสยามธรรมดา เพศผู้

มีขนาด 5.58-6.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกบน(หรือหลังปีก)ของเพศผู้มีพื้นปีกสีขาว มุมปลายปีกหน้าและขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้ามีสีดำ ปีกคู่หลังตั้งแต่กลางปีกจนถึงขอบปีกด้านในมีสีเหลือง ขอบปีกด้านข้างสีดำ ส่วนเพศเมียคล้ายเพศผู้ แต่มุมปลายปีกหน้าและขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้ามีสีดำเกือบครึ่งปีก รวมทั้งขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีสีดำหนากว่าเพศผู้

ส่วนปีกล่าง(หรือท้องปีก)นั้น ปีกคู่หน้าจะคล้ายปีกบน แต่มีแถบสีดำหนากว่า ส่วนปีกคู่หลังมีพื้นปีกสีเหลืองอมส้ม ขอบปีกด้านข้างมีสีน้ำตาลดำและหนา

เป็นผีเสื้อที่พบได้บ่อยมาก โดยพบตามทุ่งหญ้า ริมลำน้ำในป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แมลงปอ

พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 3 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่

1. แมลงปอบ้านคู่สีเขียวฟ้า

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านสองสีเขียวฟ้า

ชื่อวิทยาศาสตร์Diplacodes trivialis (Rambur, 1842)

วงศ์ : LIBELLULIDAE


แมลงปอบ้านคู่สีเขียวฟ้า เพศผู้

มีขนาด 2.2-2.4 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เป็นแมลงปอบ้านขนาดเล็ก ตัวผู้..อกมีสีเหลืองนวล หรือสีเขียวอ่อน และจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเมื่ออายุมากขึ้น ปีกใส ท้องสีเหลืองนวล และจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าเมื่ออายุมากขึ้น ปลายท้องมีสีดำ รยางค์สีเหลืองนวล ตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวผู้ แต่อกและท้องมีสีเหลืองนวล หรือสีเขียวอ่อนอมเหลือง

พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและไม้พุ่มเตี้ยที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามป่าละเมาะ ทั่วทุกภาค โดยพบตลอดทั้งปี

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

2. แมลงปอบ้านใหม่กลม

ชื่อวิทยาศาสตร์Neurothemis fulvia (Drury, 1773)

วงศ์ : LIBELLULIDAE


แมลงปอบ้านใหม่กลม เพศเมีย

มีขนาด 2.6-3.2 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เป็นแมลงปอบ้านขนาดกลาง ตัวผู้มีอกและท้องสีแดง ปีกมีแถบสีแดงคลุมเกือบทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่ปลายปีกที่ใสและมีลักษณะคล้ายกับวงกลม รยางค์ปลายท้องสีแดง ส่วนตัวเมียมีอกและท้องสีเหลือง หรือสีน้ำตาล ปีกมีแถบสีน้ำตาลเหลืองหรือสีน้ำตาลแดงคลุมเกือบทั้งปีก ยกเว้นปลายปีก มักพบเกาะตามบริเวณข้างลำธารที่แสงแดดส่องถึง

พบเกาะข้างลำธารที่แสงแดดส่องถึงตามป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค พบได้ตลอดทั้งปี

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

3. แมลงปอเข็มใหญ่สันหลังม่วง

ชื่อวิทยาศาสตร์Indocnemis orang (F?rster in Laidlaw, 1907)

วงศ์ : PLATYCNEMIDIDAE


แมลงปอเข็มใหญ่สันหลังม่วง เพศเมีย

มีขนาด 3.3-3.4 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ตัวผู้..ด้านบนอกมีแถบสีม่วง ท้องสีดำ ปลายท้องมีจุดสีฟ้า ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายกับตัวเมียของแมลงปอเข็มในสกุล Coeliccia แต่มีขนาดใหญ่กว่า แถบด้านบนของอกมีสีเหลือง ค่อนข้างตรง ท้องสีดำ ปลายท้องมีจุดสีขาวอมฟ้าหรือฟ้าสองจุดไม่เชื่อมติดกัน


แมลงปอเข็มใหญ่สันหลังม่วง เพศผู้

พบหากินใกล้ลำธารในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ลงไปถึงภาคใต้ โดยพบได้ตลอดทั้งปี แต่ภาคใต้จะพบได้น้อยกว่าภาคอื่นๆ

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แมง/แมลง

รายชื่อแมง/แมลง(ยกเว้นผีเสื้อกลางคืน ผีเสื้อกลางวัน และแมลงปอ)ที่บันทึกภาพได้ มี 12 ชนิด(เรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่

1. ตั๊กแตนหนวดสั้น

วงศ์ย่อย : OXYINAE

วงศ์ : ACRIDIDAE


ตั๊กแตนหนวดสั้น

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของตั๊กแตนชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นตั๊กแตนหนวดสั้นเท่านั้น

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

2. แมงมุมใยทองลายขนาน

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมต้นไม้ยักษ์ , แมงมุมทรงกระบอกสีทอง

ชื่อสามัญ : Giant Long-jawed Orb-weaver , The Golden Web Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nephila pilipes Fabricius, 1793

วงศ์ : ARANEIDAE


แมงมุมใยทองลายขนาน

เพศเมียมีขนาด 3-6 ซม. หัวและอกด้านบนมีขนสีเหลืองทองหรือสีเทาอ่อนปกคลุม ลำตัวรูปทรงกระบอกยาว สีดำ มีแถบสีเหลืองพาดตามแนวยาวอยู่บนหลัง1คู่ ขาสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ และอาจมีบางส่วนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ปลายขาคู่1 คู่2 และคู่4 มีขนค่อนข้างหนา แต่มักหลุดร่วงเมื่อมีอายุมากขึ้น ส่วนตัวผู้มีขนาด 0.5-0.6 ซม. ทั้งตัวมีสีน้ำตาลแดง

ชอบชักเส้นใยถี่ และใยค่อนข้างตรง ตั้งฉากกับพื้นในพื้นที่โล่งตามเสาไฟฟ้า ริมถนน สวนผลไม้ ป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบ ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

3. ด้วงไม่รู้ชนิด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calopepla sp.

วงศ์ : CHRYSOMELIDAE


ด้วง

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของด้วงชนิดนี้ รู้แต่ว่ามีลักษณะคล้ายกับด้วงกินใบซ้อเป็นอย่างมาก ต่างกันที่หัวและอกไม่ได้มีสีเหลืองส้ม แต่เป็นสีน้ำเงินเข้ม

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

4. จักจั่นแม่ม่ายทรงเครื่อง

ชื่อสามัญ : Black-winged Butterfly Cicada

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tosena melanoptera White, 1846

วงศ์ : CICADIDAE


จักจั่นแม่ม่ายทรงเครื่อง

มีขนาด 13-15 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย หนวดสั้น ตารวมโปนใหญ่ สีน้ำตาล กลางหน้าผากมีตาเดี่ยว หัวและอกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีแถบสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมส้มคาดขวางอกส่วนบน ปีกคู่หน้าสีดำ กลางปีกมีแถบสีเหลืองอ่อนพาดขวาง ปีกคู่หลังสีน้ำตาลใส ท้องสีเหลืองเข้ม ขาสีน้ำตาลเข้ม

ชีวิตส่วนใหญ่ของจักจั่นทุกชนิดนั้นอยู่ใต้ดิน ซึ่งกินเวลานานเป็นปี หรืออาจหลายๆปี เมื่อฌโตเต็มวัยก็จะขึ้นมาบนผิวดิน ทำการลอกคราบและใส่ปีกเข้าไป แล้วเพศผู้ก็พากันทำเสียงแข่งกัน เพื่อให้สาวๆได้เลือก

ปากของจักจั่นเป็นเข็มแหลมคม สามารถเจาะทะลุเปลือกไม้แข็งๆได้เป็นอย่างดี แต่มันไม่เจาะไปลึกมากหรอก เอาแค่ให้ถึงท่อน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ก็พอแล้ว หลังจากนั้นก็ดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ไปเรื่อยๆ ปวดฉี่ก็ปล่อยมา ใครยืนอยู่แถวๆนั้นก็อาจะโดนฉี่จักจั่นได้ บางคนเข้าใจว่าเป็นน้ำค้างยามบ่าย บางคนเรียก“ฝนจักจั่น”

ชอบเกาะตามลำต้นไม้ใหญ่ มักส่งเสียงนานประมาณ 1 นาที แล้วบินไปเกาะส่งเสียงอีกที่หนึ่งต่อไปเรื่อยๆ พบตามป่าดิบ ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5. มวนปอแก้วจีน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cletus trigonus Thunberg, 1783

วงศ์ : COREIDAE


มวนปอแก้วจีน

มีขนาดกว้าง 0.45-0.5 ซม. ยาว 0.8 ซม. ลำตัวสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน จนถึงสีน้ำตาลอ่อน บนสันหลังอกปล้องแรกมีหนามค่อนข้างยาวและแหลม มีจุดเล็กๆสีดำ2จุด ปลายของสันหลังอกปล้องแรกเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบด้านข้างติดกับท้องเป็นฟันเล็กๆ ผิวลำตัวมีรอยรูเล็กๆทั่วไป แผ่นแข็งของปีกมีจุดสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน ด้านล่างของลำตัวและขาสีน้ำตาลอ่อน มีจุดเล็กๆสีดำกระจายอยู่ทั่วด้านล่างของท้อง

ชอบวางไข่เดี่ยวๆตามใบพืช ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชตระกูลฝ้าย ใบของปอแก้วจีน พืชตระกูลข้าว พืชตระกูลถั่ว ปกติมวนชนิดนี้จะดูดกินตาหรือเมล็ดเป็นส่วนใหญ่

วงจรของชีวิตนั้น ระยะไข่ 5-7 วัน ระยะตัวอ่อน 2-3 สัปดาห์ และระยะตัวเต็มวัยอาจนานถึง 60 วัน

พบทั่วไปในป่าทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในศรีลังกา อินเดีย ไทย เกาะบอร์เนียว และฟิลิปปินส์

6. มดฮี้ดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crematogaster coriaria Mayr, 1872

วงศ์ย่อย : MYRMICINAE

วงศ์ : FORMICIDAE


รังของมดฮี้ดำ

มีขนาด 2.5-5.5 ซม. หนวดมีสามปล้อง ส่วนปลายของหนวดมีขนาดยาวกว่าปล้องอื่น หัว อก และท้องมีสีน้ำตาลเข้ม ผิวเรียบ ส่วนท้องมีรูปคล้ายรูปหัวใจ ปลายท้องแหลม

มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ มีนิสัยตื่นตัวตลอดเวลา หากถูกรบกวนจะรีบออกมารวมกันปกป้อง พร้อมปล่อยกลิ่นเหม็นสาบออกมาขับไล่ผู้รบกวน

ทำรังบนต้นไม้ โดยกัดซาพืชให้มีขนาดเล็กผสมกับน้ำลายทำเป็นรังเกาะติดกับลำต้น เป้นรังที่ซับซ้อนและมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชอบเดินหากินบนต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบ ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

7. แมงมุมใยทองท้องดำ

ชื่อสามัญ : Black Wood Spider ; Black Orb-weaver Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nephila kuhlii Doleschall, 1859

วงศ์ : LYCOSAIDAE


แมงมุมใยทองท้องดำ เพศเมีย

แมงมุมใยทองท้องดำ เพศเมีย

เพศเมียมีขนาด 5-6 ซม. หัว อก และท้องด้านบนและด้านล่างมีสีดำ ขาสีน้ำตาลแดง โคนขา ข้อปล้อง และปลายขามีสีดำ ส่วนเพศผู้มีขนาด 0.5-0.6 ซม. ทั้งตัวมีสีน้ำตาลแดง

ชอบขึงใยขนาดใหญ่ตามแนวตั้งฉากกับพื้นระหว่างพุ่มไม้เตี้ยๆตามสวนผลไม้ ป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

8. มวนแมงป่องน้ำ

ชื่อท้องถิ่น : แมงกาบอ้อย , แมงคันโซ่

ชื่อสามัญ : Water Scorpion

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Laccotrephes ruber Linnaeus

วงศ์ : NEPIDAE


มวนแมงป่องน้ำ

มีขนาด 3.6-4.4 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มีรูปร่างคล้ายแมงป่อง เป็นมวนที่บินไม่เก่ง เนื้อปีกส่วนโคนแข็ง ส่วนปลายปีกบาง ลำตัวยาวแหลม หนวดเรียวเล็กแบบเส้นด้าย หัวและอกมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ท้องด้านล่างสีแดงเข้ม ปีกสีน้ำตาล ปลายท้องมีหางเป็นท่อยาว2อัน เพื่อใช้ประกบกันเป็นท่อ โดยชูโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับอากาศเพื่อใช้หายใจขณะอยู่ใต้น้ำ ขาคู่หน้าเป็นแบบขาจับ เพื่อใช้จับเหยื่อ ส่วนขาคู่หลังใช้เดิน

มักชอบอยู่นิ่งๆตามพื้นน้ำที่เป็นโคลนเลน เพื่อรอจับเหยื่อที่เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็ก เจาะดูดกินน้ำเลี้ยงภายในตัวเหยื่อ โดยใช้ท่อที่ปลายท้องโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับอากาศเพื่อใช้หายใจขณะอยู่ใต้น้ำ

พบตามแหล่งน้ำจืด รวมทั้งแอ่งน้ำขังตื้นๆในป่า ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

9. มวนหน้าคน

ชื่อท้องถิ่น : มวนหน้ากาก , มวนหน้าเปาปุ้นจิ้น

ชื่อสามัญ : Man-faced Bug , Man-faced Stinkbug

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Catacanthus incarnatus Drury, 1773

วงศ์ : PENTATOMIDAE


มวนหน้าคน

เป็นมวนที่มีสีสันสวยงาม มีปีกเป็นรูปโล่เกราะของทหารโรมัน บ้างบอกว่ามีลักษณะคล้ายใบหน้ามนุษย์ มีทั้งผมสีดำ ตา จมูก ปาก และหนวดเครา แต่หากมองให้ดีก็จะพบว่ามีถึง2ใบหน้า ลำตัวยาวประมาณ 2-3 ซม.

เป็นแมลงที่มีลักษณะพิเศษ คือ ปีกคู่หน้าเป็นแบบกึ่งอ่อนกึ่งแข็ง สีดำที่เราดูเหมือนผมนั้น คือ ปลายปีกคู่หน้าที่มีลักษณะอ่อน ส่วนโคนปีกมีสีเหลือง สีเหลืองอมส้ม จนถึงสีส้ม มีลักษณะค่อนข้างแข็งและมีลวดลายขีดสีดำเหมือนตา ส่วนสามเหลี่ยมเหมือนจมูกคือส่วนที่เรียกว่า“Scutellum” อันเป็นลักษณะเด่นของมวน และปีกคู่หลังมีเนื้อปีกบางใสทั้งปีก เห็นเส้นปีกได้ชัดเจน


มวนหน้าคน

หนวดมี5ปล้อง ใช้ปากแหลมเจาะเข้าไปดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ในวงศ์ ANACARDIACEAE โดยเฉพาะบริเวณยอด และใบอ่อน เมื่อมีศัตรูคุกคามก็จะพ่นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดและกลิ่นฉุนรุนแรงเพื่อขับไล่ศัตรู

พบเกือบทั่วทุกภาคของไทย ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายจากอินเดีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

10. แมงมุมน้ำสีคล้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dolomedes mizhoanus Kyukichi Kishida, 1936

วงศ์ : PISAURIDAE


แมงมุมน้ำสีคล้ำ

ไม่มีข้อมูลรายละเอียดของแมงมุมชนิดนี้ รู้แต่ว่าเป็นแมงมุมน้ำที่หาพบได้ค่อนข้างยาก

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง บนทุ่งโนนสน

แพร่กระจายในจีน ไต้หวัน ไทย ลาว และมาเลเซีย

11. บึ้งดำไทย

ชื่อท้องถิ่น : ก่ำบึ้ง , บึ้ง , แมงมุมบึ้งดำเล็ก , อีบึ้ง

ชื่อสามัญ : Thailand Black Tarantula

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Haplopelma minax Thorell, 1897

วงศ์ : THERAPHOSIDAE


บึ้งดำไทย

มีขนาด 13-15 ซม. ทั้งตัวมีสีดำและมีขนปกคลุมทั่วตัว โดยเฉพาะที่ขาจะมีขนเป็นจำนวนมาก ท้องอ้วนใหญ่ ขายาว เพศผู้มีอายุได้ถึง 5 ปี ส่วนเพศเมียมีอายุได้ถึง 10 ปี มีเขี้ยวคู่หน้าขนาดใหญ่สำหรับล่าเหยื่อ สามารถฉีดพิษใส่เหยื่อได้ พิษของแมงมุมสกุลนี้อยู่ที่ขนและต่อมพิษบริเวณเขี้ยว

สำหรับต่อมพิษบริเวณเขี้ยวนั้น เมื่อมันกัดและปล่อยพิษจากต่อมพิษ(Poision Gland)เพื่อป้องกันตัวเมื่อถูกคุกคามจากศัตรู จริงอยู่ที่พิษของมันมีเพียงเล็กน้อย แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต ส่วนมนุษย์ที่ถูกกัดและแพ้ก็จะเกิดอาการเป็นแผลบวมแดง หากเกิดอาการแพ้อย่างแรงจะทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอาจช็อกได้

ไม่ชอบขึงใยดักเหยื่อบนต้นไม้ แต่จะขึงใยดักเหยื่อบริเวณปากรูที่อาศัย และจะหลบอยู่ด้านในใกล้ปากรู

ออกหากินตอนกลางคืน มักพบขุดรูอยู่ในดินบริเวณลานหญ้า นาข้าว และตามป่ารก รูลึกประมาณ 45 ซม. โดยจะชักใยสีขาวออกมาปิดรูเพื่อดักเหยื่อ และเสมือนเป็นเกราะป้องกันตัว อันเป็นตัวรับสัญญาณสั่นสะเทือนให้รู้ว่าศัตรูหรือเหยื่อเดินผ่านมา หากเหยื่อเข้ามาติดใย มันก็จะจู่โจมอย่างรวดเร็วและใช้เขี้ยวกัดฝังลงไปในเนื้อ แล้วปล่อยพิษผ่านเขี้ยวจนเหยื่อเป็นอัมพาต จากนั้นก็จะใช้เขี้ยวฉีกเหยื่อและดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อจนแห้งเหลือแต่ซาก

ปกติมักล่าเหยื่อด้วยตนเอง มากกว่าสร้างใยให้เหยื่อมาติด และการฝังเขี้ยวลงในเหยื่อก็จะเป็นลักษณะแนวลึกตรง ต่างจากแมงมุมอื่นที่ฝังเขี้ยวแบบรอยหยิก มีนิสัยขี้ตกใจ ขี้ระแวง คอยระวังภัยอยู่เสมอ เมื่อเจอผู้รุกรานจะยกขาหน้า2ขาขึ้นสูงเพื่อเตรียมพร้อมจู่โจม อาหารทั่วไปของบึ้ง คือ ตะขาบ แมงป่อง ตั๊กแตน จิ้งจก จิ้งเหลนขนาดเล็ก จิ้งหรีด และแมลงตัวเล็ก


บึ้งดำไทย

บึ้งเป็นสัตว์ที่มีการเจริญเติบโตคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลุกด้วยนม คือ การเจริญเติบโตแบบที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ตัวอ่อนจะมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการ วงจรชีวิตจะเริ่มจากเพศเมียวางไข่ในหลุมหรือรูอันเป็นรัง แล้วชักใยมัดไว้เป็นก้อน โดยเริ่มวางไข่ในเดือน พ.ค. – มิ.ย. เมื่อฟักออกมาเป็นตัวอ่อนจะมีรูปร่างเหมือนพ่อแม่ทุกประการ เพียงแต่มีสีขาวคล้ายวุ้น เมื่อเติบโตขึ้นก็จะแยกออกจากรังไปใช้ชีวิตตามลำพัง จวบจนอายุได้ 1 ปี จึงจะมีสีน้ำตาล ต่อเมื่อมีอายุได้ 3 ปี จึงจะมีสีดำ

บึ้งมีประสาทที่แม่นยำในเรื่องความชื้นและอุณหภูมิในอากาศ วันไหนแดดจ้า ฟ้าใส แต่บึ้งกลับหาใบไม้มาปิดปากรู แสดงว่าวันนั้นฝนตกแน่นอน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชีที่2ของอนุสัญญาไซเตส แมงมุมสกุลนี้พบในเมืองไทย4ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

12. แมงโหย่ง

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมขายาว , แมงย่องแย่ง


แมงโหย่ง

แมงโหย่ง มีชื่อสามัญว่า Harvestmen อยู่ในอันดับ Opiliones เนื่องด้วยหากมองผิวเผิน แมงโหย่งมีรูปร่างลักษณะและมีขาเดิน 8 ขา คล้ายสัตว์กลุ่มแมงมุม(spiders) ในอันดับ Araneae จึงไม่น่าแปลกที่สัตว์กลุ่มนี้จะถูกเข้าใจว่าเป็นแมงมุม ประกอบกับเป็นกลุ่มสัตว์ที่ส่วนใหญ่หลบซ่อนตัว และไม่ได้พบตามบ้านเรือนทั่วไป จึงยิ่งไม่เป็นที่รู้จัก

แมงโหย่งมีความหลากหลายทางชนิดมากเป็นอันดับ3ในกลุ่มแมง ปัจจุบันทั่วโลกพบประมาณ 6,000 ชนิด รองจากกลุ่มไร(มี 48,000 ชนิด) และแมงมุม(มี 39,000 ชนิด)

ชื่ออันดับ Opiliones ถูกตั้งขึ้นโดยนักสัตววิทยาชาวสวีเดน ชื่อ Karl J. Sundevall ในปี ค.ศ.1833 ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำภาษาละตินว่า“opilio” หมายถึง“คนเลี้ยงแกะ” เนื่องจากแมงโหย่งส่วนใหญ่มีลำตัวเล็กและมีขายาว คนสมัยนั้นจึงมองว่ามีลักษณะคล้ายกับคนเลี้ยงแกะชาวยุโรปสมัยก่อน ที่มักใช้ไม้ต่อเป็นอุปกรณ์เรียกว่า“Stilts” ใช้เดิน เพื่อต่อให้ตัวสูงขึ้นเพื่อความสะดวกในการนับแกะในฝูงขณะนำออกเลี้ยงในทุ่งกว้าง นอกจากนี้บางท้องที่ในยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษ ยังเรียกแมงโหย่งว่า“Shepherd Spiders” ซึ่งเชื่อว่าทุ่งหญ้าใดที่พบแมงโหย่งถือเป็นทุ่งหญ้าที่ดีสำหรับการเลี้ยงแกะด้วย ส่วนคำว่า“Harvestmen” หมายถึง“ชาวไร่ชาวนา” มีที่มาจากแมงโหย่งมักพบเป็นจำนวนมากในฤดูเก็บเกี่ยว ข้อเท็จจริงก็คือในฤดูเก็บเกี่ยว มีการรื้อไถเพื่อเก็บผลผลิตทางการเกษตร จึงไปรบกวนและทำลายแหล่งหลบซ่อนของแมงโหย่ง ทำให้พบเจอเป็นจำนวนมากนั่นเอง ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งเชื่อว่าชื่อ“Harvestmen”นั้น มาจากพฤติกรรมของแมงโหย่งที่มักชูขาเดินคู่หน้าสุดขึ้นลงขณะเคลื่อนที่ ซึ่งปลายขานี้จะงอโค้ง จึงดูเหมือนชาวนาที่ถือเคียวโบกสะบัดไปมาขณะเก็บเกี่ยวพืชนั่นเอง ส่วนชื่อไทยคำว่า“แมงโหย่ง” ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้บัญญัติ และเกิดขึ้นเมื่อใด แต่คำนี้น่าจะมีที่มาจากพฤติกรรมการโหย่งตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว(bobbing)เมื่อถูกรบกวน เพื่อให้ผู้ล่าสับสนถึงตำแหน่งที่แท้จริงของลำตัว

สำหรับแมงโหย่งในเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์ย่อย GAGRELLINAE วงศ์ SCLEROSOMATIDAE

หากมองเพียงผิวเผิน แมงโหย่งอาจมองดูคล้ายกับแมงมุม แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าแมงโหย่งนั้นมีลักษณะที่แตกต่างจากแมงมุมถึง 5 ประการ ได้แก่

ประการที่1 เห็นได้ชัดเจน คือ ลำตัวของแมงโหย่ง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัวรวมอก(cephalothorax or prosoma) และส่วนท้อง(abdomen or opisthosoma) จะเชื่อมติดกันเหมือนเป็นส่วนเดียวกัน ซึ่งต่างจากแมงมุมที่2ส่วนดังกล่าวนี้จะถูกเชื่อมด้วยส่วนคอดแคบๆที่เรียกว่า“pedicel” พูดง่ายๆคือแมงโหย่งไม่มีเอวเหมือนแมงมุมนั่นเอง

ประการที่2 ตาของแมงโหย่งมีเพียง 2 ตา ซึ่งบางกลุ่มอาจมีจุดตารับแสงเล็กๆอยู่ แต่มองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนกลุ่มแมงมุมจะมีตาจำนวน 6-8 ตา(หรืออาจไม่มีเลยในบางกลุ่ม) เรียงเป็นกลุ่มหรือเป็นแถว

ประการที่3 แมงโหย่งไม่มีอวัยวะที่ใช้สำหรับสร้างใย(Silk Gland) เหมือนในแมงมุม จึงสร้างใยไม่ได้

ประการที่4 แมงโหย่งมีอวัยวะที่สร้างสารเคมีที่มีกลิ่นเหม็น เรียกว่า“ozopores” ใช้ในการป้องกันตัวและติดต่อสื่อสาร ซึ่งไม่พบในแมงมุม

ประการสุดท้าย คือ แมงโหย่งไม่มีต่อมพิษ(Venom Gland) และเขี้ยว(Cheliceral)ไม่แหลมกลวงเหมือนแมงมุม แต่เปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะคล้ายก้ามหนีบ เพื่อใช้ฉีกอาหารเข้าปาก ซึ่งอวัยวะนี้มีขนาดเล็ก ทู่ ปลายตัน แมงโหย่งจึงไม่สามารถกัดทะลุผิวหนังคนได้ และไม่มีพิษ กล่าวได้ว่าแมงโหย่งไม่มีพิษมีภัยต่อมนุษย์เลยก็ว่าได้

เรื่องพิษนี้ก็มีเกร็ดความเชื่อผิดๆเป็นเรื่องเล่าในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเชื่อว่าแมงโหย่งนั้นมีพิษรุนแรง ที่มาของเรื่องเล่านี้ก็คือ แมงโหย่งนั้นในบางท้องที่ถูกเรียกว่า“Daddy Longlegs” ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใช้เรียกแมงมุมขายาวในวงศ์ PHOLCIDAE โดยเฉพาะแมงมุมสกุล Pholcus ซึ่งมีขายาวและชอบโหย่งตัวขึ้น-ลงเวลาถูกรบกวนคล้ายแมงโหย่ง ทำให้มีความสับสนและเข้าใจว่าแมงโหย่งเป็นกลุ่มเดียวกับแมงมุมขายาววงศ์นี้ ซึ่งในธรรมชาติกลุ่มแมงมุมขายาววงศ์ PHOLCIDAE เป็นผู้ล่าของแมงมุมแม่ม่าย ซึ่งถือว่ามีพิษรุนแรง จึงอนุมานกันว่าแมงมุมขายาวน่าจะมีพิษรุนแรงกว่าแมงมุมแม่ม่าย ดังนั้นแมงโหย่งซึ่งลักษณะคล้ายแมงมุมขายาวจึงถูกเข้าใจว่ามีพิษรุนแรงไปด้วย ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงแล้วแมงมุมขายาวและแมงโหย่งไม่สามารถกัดมนุษย์ได้ รวมถึงไม่มีพิษที่เป็นอันตราย นิทานความเชื่อเรื่องพิษก็เป็นด้วยประการฉะนี้

แมงโหย่งมีลักษณะเด่นที่ขาที่ยาวมากเมื่อเทียบกับขนาดตัว แต่บางชนิดก็มีขาสั้น แม้มันจะดูคล้ายแมงมุม แต่เราก็สามารถสังเกตได้จากการที่ส่วน cephalothorax กับ abdomen จะต่อกันตลอดแนว จนดูเหมือนมันเป็นก้อนเดียวกัน และมีตา1คู่..บนหลัง ดูน่ารัก ส่วนใหญ่มีขนาดตัวไม่เกิน 0.7 ซม. นอกจากมีต่อมสร้างกลิ่นที่สามารถใช้ในการไล่แมลงอื่นแล้ว ขาที่หลุดออกของแมงโหย่งสามารถขยับได้(แบบหางจิ้งจก) ทำให้ผู้ล่าหันไปสนใจได้ ขณะที่มันหนี

แมงโหย่งออกหากินกลางคืน ส่วนใหญ่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร(omnivorous) เช่น แมลงเล็กๆ ส่วนประกอบของพืช รา กินซาก หรือแม้แต่อุจจาระสัตว์ ซึ่งถือว่าแปลกกว่าแมงอันดับอื่นๆที่มักกินเนื้อ ในขณะที่บางกลุ่มล่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร อวัยวะที่ใช้กินเรียกว่า“stomotheca” ซึ่งแตกต่างจากแมงชนิดอื่น เพราะไม่จำกัดอยู่กับของเหลว แต่สามารถกินเป็นชิ้นก็ได้ ตาของมันไม่ดีพอจะสร้างภาพขึ้นมา แต่รับรู้โดยใช้ขาคู่ที่2แทนหนวด ที่มีลักษณะยืดยาวมากกว่าขาคู่อื่น และมีอวัยวะรับสัมผัสอยู่ที่ส่วนปลาย เมื่อแมงโหย่งเคลื่อนที่จะใช้ขาคู่นี้ยื่นชี้ออกไปด้านหน้า เพื่อตรวจสอบลักษณะภูมิประเทศที่จะเคลื่อนที่ไป ใช้ในการรวมกลุ่ม ค้นหาเหยื่อ หรืออาหาร ในกลุ่มแมงโหย่งที่ล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร เช่น แมงโหย่งในวงศ์ EPEDANIDAE จะมีส่วน pedipalp หรือขาแปลง ซึ่งเป็นส่วนรยางค์ข้างปากขนาดใหญ่ และมีหนามแหลมจำนวนมาก ใช้ในการจับเหยื่อ แมงโหย่งจึงทำหน้าที่คล้ายแมงมุมในฐานะผู้ควบคุมแมลงขนาดเล็ก และฐานะผู้กินซากคล้ายสัตว์กินซาก ที่ช่วยย่อยสลายหมุนเวียนวัฏจักรอาหารในธรรมชาติ และไม่มีโทษต่อมนุษย์

การผสมพันธุ์ของแมงโหย่งเป็นลักษณะการจับคู่ตัวผู้ตัวเมีย มีลักษณะการจับคู่ที่หลากหลายตามแต่ชนิด โดยมีวงจรชีวิต 1 ปี

ถิ่นที่อยู่อาศัยของแมงโหย่งมีหลายรูปแบบ ทั้งในป่า และถ้ำ ซึ่งบางชนิดเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น

ปัจจุบันแมงโหย่งถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม(Suborders) ซึ่งทั้งหมดมีรายงานการพบในประเทศไทย ได้แก่

Suborder Cyphophthalmi ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกว่า 1 ซม. วงศ์ที่พบบ่อยในบ้านเรา คือ วงศ์ STYLOCELLIDAE ตัวอย่างได้แก่ สกุล Fangensis เป็นสกุลใหม่ที่พบครั้งแรกที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แมงโหย่งสกุลนี้พบอาศัยเฉพาะในถ้ำหรือบริเวณใกล้เคียง

Suborder Eupnoi เป็นกลุ่มเด่นในบ้านเราพบในป่าทั่วไปและบ้านเรือนใกล้ชายป่า วงศ์ที่พบบ่อย คือ วงศ์ SCLEROSOMATIDAE แมงโหย่งวงศ์นี้ส่วนใหญ่มีขายาว เช่น สกุล Gagrella และ Pseudogagrella

Suborder Dyspnoi แมงโหย่งกลุ่มนี้มีขนาดตัวเล็ก อาศัยอยู่ใต้เศษใบไม้ในป่าที่มีความชื้นสูง ได้แก่ วงศ์ NEMASTOMATIDAE ตัวอย่างไก้แก่ สกุล Dendrolasma มีขนาดตัวเล็ก บนลำตัวเต็มไปด้วยหนามขรุขระ

Suborder Laniatores เป็นกลุ่มแมงโหย่งที่ส่วนใหญ่มีขาสั้น เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายมากที่สุดในประเทศไทย ที่พบบ่อยได้แก่ วงศ์ ASSAMIIDAE, EPEDANIDAE, ONCOPODIDAE, PODOCTIDAE เป็นต้น

การรวมกลุ่มของแมงโหย่ง(Aggregations) ภาพที่มักเห็นจนชินตาหรือบ่อยครั้งที่ปรากฎในสื่อต่างๆ คือ ภาพที่แมงโหย่งนับร้อยนับพันตัวมารวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน หลายคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องผิดปกติและเป็นภาพที่แปลกตา แต่แท้จริงการรวมกลุ่มของแมงโหย่งจำนวนมากเป็นพฤติกรรมปกติของแมงโหย่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมพวกเขาต้องมาอยู่รวมกลุ่มกัน ซึ่งสามารถอธิบายสาเหตุการรวมกลุ่มของแมงโหย่งได้ 3 แนวทาง คือ

1. Defensive Hypothesis การรวมกลุ่มในแนวทางนี้เพื่อการป้องกันตัวจากผู้ล่า เมื่อแมงโหย่งตัวใดตัวหนึ่งถูกรบกวนจากผู้ล่า จะปล่อยสารเคมี ซึ่งเป็น Alarm Signal ออกจากอวัยวะ ozopores สารเคมีนี้มีกลิ่นเหม็นฉุน นอกจากจะทำหน้าที่ขับไล่ผู้ล่าในเบื้องต้นแล้ว ยังเป็นสัญญาณให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มจะทำให้ผู้ล่าเกิดความสับสน ลดโอกาสในการถูกล่าของสมาชิกแต่ละตัวภายในกลุ่ม นอกจากนี้การรวมกลุ่มยังทำให้สารเคมีที่ปล่อยออกมาในการป้องกันตัวมีกลิ่นแรงและมีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย

2. Mating – success- improvement hypothesis เป็นการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มโอกาสในการสืบพันธุ์ เนื่องจากแมงโหย่งมีเพศแยก เพศผู้และเพศเมียออกหากินเป็นอิสระ จึงมีโอกาสพบกันได้ยาก แต่เมื่อถึงวัยพร้อมผสมพันธุ์ แมงโหย่งจะใช้สารเคมีกลุ่มฟีโรโมนเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ซึ่งสามารถสร้างได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย สารเคมีนี้ทำให้แมงโหย่งที่พร้อมจะผสมพันธุ์มารวมกลุ่มอยู่ด้วยกันเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์นั่นเอง

3. Physiological hypothesis เป็นการรวมกลุ่มเพื่อปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม แนวทางนี้เป็นแนวทางที่เป็นสาเหตุในการรวมกลุ่มของแมงโหย่งบ่อยครั้งที่สุด เนื่องด้วยแมงโหย่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีพื้นที่ผิวต่อปริมาตรลำตัวสูง และมีขายาวจำนวนมาก จึงมีพื้นที่ผิวที่สูญเสียน้ำออกจากตัวสู่สิ่งแวดล้อมมาก ทำให้สูญเสียน้ำออกจากตัวได้ง่าย แมงโหย่งจึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ(ซึ่งอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำจะอุ้มน้ำได้น้อยกว่าอากาศที่มีอุณหภูมิสูง) หรือพื้นที่ที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง เช่น ในถ้ำ ใต้ขอนไม้ รู โพรง บริเวณใกล้ลำธารหรือน้ำตก เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียน้ำออกจากตัว แต่ในฤดูแล้งหรือเมื่ออยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว แมงโหย่งจะรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น การรวมกลุ่มจะทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมลดลง เพราะถูกล้อมรอบด้วยแมงโหย่งตัวอื่นๆ ความชื้นที่ออกจากตัวของแมงโหย่งแต่ละตัวจะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในกลุ่มเพิ่มสูงขึ้น และเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Diffusion Shell คือ อากาศรอบตัวจะนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนที่ ทำให้อัตราการสูญเสียน้ำออกจากตัวแมงโหย่งลดน้อยลง นอกจากนี้เมื่อการรวมกลุ่มอย่างหนาแน่น ทำให้อัตราการสูญเสียน้ำลดลง แมงโหย่งจึงมีอัตราเมทาบอลิซึมลดลง เนื่องจากไม่ต้องใช้พลังงานในการรักษาสมดุลเกลือแร่ที่จะสูงขึ้นเมื่อขาดน้ำ รวมทั้งไม่ต้องออกเดินเสาะหาสถานที่หลบอาศัยที่เหมาะสม ส่งผลให้สามารถอดน้ำและอาหารได้เป็นระยะเวลานานในสภาวะที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการรวมกลุ่มของแมงโหย่งจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติ อันเป็นการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง

ปัจจุบันแมงโหย่งหลายชนิดอยู่ในสถานะถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเกิดจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์ เช่น การทำลายพื้นที่ป่า และ การปรับสภาพถ้ำเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ตามแมงโหย่งเป็นแมงที่ได้รับการศึกษาน้อยมาก

พบในพื้นที่อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง ตามทางเดินจากตีนเขาสู่ทุ่งโนนสน

หอยทากบก

รายชื่อหอยทากบกที่บันทึกภาพได้มีเพียง 1 ชนิด ได้แก่

หอยห่อเปลือกใหญ่สยาม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Megaustenia siamensis (Haines, 1858)

วงศ์ : HELICARIONIDAE


หอยห่อเปลือกใหญ่สยาม

เป็นพวกหอยทากลดเปลือก ลักษณะเปลือกเป็นรูปไข่ บางใส เนื่องจากมีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบน้อย เปลือกวงสุดท้ายมีขนาดใหญ่ ปากเปลือกกว้าง มีวงเปลือกเพียง 2-3 ชั้น ผิวเปลือกเรียบเป็นมันวาว มีสีน้ำตาลอมเหลืองจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวมีสีน้ำตาลเทา ผิวหนังขรุขระ หรืออาจมีจุดสีดำหรือสีขาวกระจายทั่วตัว โดยปกติหอยชนิดนี้จะยื่นส่วนของเนื้อที่เรียกวา“Mantle Lapped” ลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ผิวขรุขระเป็นตุ่มเล็กๆจำนวนมากออกมาคลุมเปลือกจนมิด แต่เมื่อหอยถูกรบกวน เนื้อเยื่อส่วนนี้สามารถหดเข้าไปในเปลือกได้ หอยพวกนี้มีเมือกเหนียวมาก แต่ไม่เป็นอันตราย

ส่วนมากกินซากใบไม้หรือกินใบไม้สดเป็นอาหาร แต่ไม่เป็นศัตรูทางการเกษตร

มักพบอาศัยอยู่ตามป่าที่มีความชุ่มชื้น โดยเกาะอยู่ตามต้นไม้หรือใบไม้ขนาดใหญ่ ในฤดูแล้งจะหลบซ่อนอยู่ใต้เปลือกไม้ โพรงไม้ หรือซอกหิน ทั่วทุกภาคของไทย

สัตว์ป่า

พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 3 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. กิ้งก่าแก้วเหนือ

ชื่อสามัญ : Emma Gray’s Forest Lizard , Northern Forest Crested Lizard

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calotes emma alticristatus Schmidt, 1925

ชื่อพ้อง : C. alticristatus Schmidt ; C. emma alticristata Taylor

วงศ์ : AGAMIDAE


กิ้งก่าแก้วเหนือ

เป็นกิ้งก่าขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 8.5-12 ซม. หางยาว 24-28 ซม. หางยาวมากกว่า 2-3 เท่าของความยาวหัวกับลำตัว หัวค่อนข้างใหญ่และกว้างกว่าลำคอเล็กน้อย รอบดวงตามักมีลายเส้นรัศมีสีดำ มีหนามเหนือตา 1 อัน ขนาดเล็กมาก ไม่เกินครึ่งของตา(ต่างจากกิ้งก่าแก้วใต้ Calotes emma emmaซึ่งหนามเหนือตามีขนาดใหญ่ชัดเจน ไม่น้อยกว่าครึ่งตา) หนามบริเวณเหนือช่องเปิดหู 2 อัน ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดแข็งปกคลุม เกล็ดบนหัวมีขนาดไม่เท่ากันและเป็นสัน เกล็ดบนหลังและด้านข้างลำตัวมีขนาดไม่เท่ากันและเป็นสัน โดยเกล็ดด้านข้างลำตัวใหญ่กว่าเกล็ดบนหลังเล็กน้อย สันของเกล็ดหลังและทางด้านบนของลำตัวเรียงเป็นแถว เป็นสันพอประมาณ ไม่ถึงกับคมกริบชัดเจนอย่างกิ้งก่าแก้วใต้ มีส่วนปลายของสันชี้ไปทางด้านท้ายในลักษณะเฉียงขึ้น แต่สันของเกล็ดที่ด้านล่างของลำตัวจะมีแนวเฉียงลงทางด้านล่าง เกล็ดด้านข้างลำตัวมีจำนวนเกล็ดมากกว่ากิ้งก่าแก้วใต้ เกล็ดบนหางเป็นสัน เกล็ดด้านท้องเล็กกว่าเกล็ดบนหลัง

มีรอยพับของผิวหนังที่หัวไหล่ ซึ่งภายในปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กสีดำเป็นจำนวนมาก ด้านบนและค่อนมาทางด้านท้ายของตามีหนามสั้น 1 อัน ด้านบนและค่อนมาทางด้านท้ายของแผ่นเยื่อแก้วหูมีหนามสั้น 1 อัน มีแผงหนามจากท้ายทอยต่อเนื่องไปตามแนวสันหลัง โดยมีหนามยาวหลายอันที่ล้อมรอบด้วยหนามสั้น และมีหนามต่อเนื่องไปบนหลังจนถึงโคนหาง โดยหนามมีขนาดสั้นลงตามลำดับ

ลำตัวพบมีสีได้หลากหลาย ตั้งแต่สีเทา สีเทาอมน้ำตาล สีน้ำตาลอมเขียว สีน้ำตาลคล้ำ หรือบางครั้งสีน้ำตาลออกแดง บนหัวมีสีคล้ำกว่าลำตัว ด้านข้างของหัวมีแถบสีดำจากส่วนปลายของปากลากผ่านตาไปสิ้นสุดที่แผ่นเยื่อแก้วหู พื้นที่ด้านบนของแถบสีดำนี้บางครั้งเป็นลายเลอะของสีดำ และบางครั้งเป็นสีดำทั้งหมด ขอบปากบนและขอบปากล่างสีขาว อาจมีลายแถบสีขาว 2 แถบ ขนานแนวสันหลัง บนหลังมีแถบกว้างสีดำพาดขวาง 6 แถบ และมีแถบยาวสีน้ำตาลเหลืองหรือสีน้ำตาลจางพาดยาวจากด้านท้ายของตาไปที่โคนหาง หางมีทางสีเข้มและจางพาดขวางเป็นปล้อง 12-13 แถบ ใต้คางและลำคอสีดำ โดยเฉพาะใต้คอมีประด้วยจุดสีส้มจางๆ ใต้ท้องสีน้ำตาลออกเหลือง หรือสีน้ำตาลอมเทา และบางบริเวณมีประสีเหลืองด้วย ขาหน้าและขาหลังยาวและแข็งแรง มีแถบพาดขวางสีจางๆ นิ้วตีนเรียวยาว และปลายนิ้วตีนทุกนิ้วมีเล็บ

ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะมีลำตัวสีชมพูอมส้ม มีแถบสีขาวสลับสีดำบนหน้าดูคล้ายใส่หน้ากาก และมีแถบสีดำบนหลัง ด้านข้างหัว และใต้คางกับลำคอ เห็นได้ชัดเจนมาก ส่วนตัวเมียมีแถบสีขาวข้างลำตัว และมีแถบสีคล้ำพาดสั้นๆบริเวณคอ

ผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝนหรือราวเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และเริ่มวางไข่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม โดยตัวเมียจะใช้เท้าหน้าขุดดินบนพื้นเป็นหลุมเพื่อวางไข่ ขนาดหลุมลึก 7 ซม. กว้าง 5 ซม. วางไข่ขนาดยาว 1.5 ซม. กว้าง 0.8 ซม. ครั้งละประมาณ 7-12 ฟอง หลังจากวางไข่เสร็จแล้ว ตัวแม่จะนอนคอยเฝ้าอยู่ใกล้ๆหลุมไข่ ระยะฟักไข่นานประมาณ 2 เดือน ลูกแรกเกิดมีสีน้ำตาลอ่อน และจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียว

กิ้งก่าแก้วเหนือแตกต่างกับกิ้งก่าแก้วใต้..ตรงเกล็ด เกล็ดของชนิดย่อยนี้จะมีขนาดเล็ก และเป็นสันน้อยกว่า เมื่อเทียบกับชนิดทางใต้ และเขาจะมีขนาดเล็กกว่าด้วย แต่มีขนาดตัวใหญ่กว่าชนิดทางใต้

ออกหากินในเวลากลางวันตามต้นไม้ บางครั้งก็ลงพื้น ส่วนกลางคืนจะเกาะนอนตามกิ่งไม้ขนาดเล็ก หรือลำต้นไม้ขนาดเล็ก โดยกินแมลงขนาดใหญ่เป็นอาหารหลัก เมื่อถูกรบกวนมักอ้าปากเพื่อใช้ข่มขู่

พบอาศัยในทุ่งหญ้า ป่าปลูก ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบลงไป ซึ่งจะเป็นกิ้งก่าแก้วใต้

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง พ.ศ.2546

แพร่กระจายในแคว้นอัสสัมของอินเดีย แคว้นยูนนานทางตอนใต้ของจีน พม่า และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) โดยพบครั้งแรกของโลกในแคว้นยูนนานทางตอนใต้ของจีน

2. ปูป่าหล่มเก่า

ชื่อท้องถิ่น : ปูป่า

ชื่อสามัญ : Terrestrial crab

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thaipotamon lomkao Ng & Naiyanetr, 1993


ปูป่าหล่มเก่า

ขนาดเมื่อโตเต็มวัย กว้าง 4.35 ซม. ยาว 3.2 ซม. ชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามสวนและป่า เป็นสัตว์ถิ่นเดียวที่พบเฉพาะในพื้นที่อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์

3. งูเขียวไผ่ภูหลวง

ชื่อท้องถิ่น : งูเขียวไผ่

ชื่อสามัญ : Bamboo Pit Viper ; Gumprecht’s Green Pitviper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trimeresurus(Viridovipera) gumprechti David , Vidal and Pauwel

วงศ์ย่อย : CROTALINAE

วงศ์ : VIPERIDAE


งูเขียวไผ่ภูหลวง

พบตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เขียนพบที่ภูหลวง จ.เลย

เป็นงูชนิดใหม่ของโลก พบครั้งแรกในปี พ.ศ.2545 บริเวณแถบลุ่มน้ำโขง และสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย แพร่กระจายบริเวณประเทศจีน พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม

ความในใจของผู้เขียน

“ทุ่งโนนสน” เป็นแหล่งทุ่งดอกไม้ที่สวยงาม 1 ใน 10 แห่งของเมืองไทย เหมาะสำหรับคนรักธรรมชาติที่ต้องนอนกลางดงสนเขา ฟังเสียงสนต้องลมดั่งราวกับเสียงคลื่นซัดสาดเข้าสู่ฝั่ง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก อาหารการกินต้องตระเตรียมไปให้พร้อม ได้โอกาสโชว์ฝีมือเสน่ห์ปลายจวักให้ผองเพื่อนหรือคนรู้ใจได้ลิ้มลอง ไม่มีห้องน้ำ แต่มีอ่างอาบน้ำธรรมชาติให้นอนแช่น้ำเย็นฉ่ำในลำธาร มีท้องฟ้าสีครามเป็นหลังคา ห้องส้วมเป็นแบบ Open Air เลือกได้ตามใจชอบ แต่ควรขุดกลบฝังให้เรียบร้อยและลึกพอควร สุขสุดใจกับธรรมชาติบริสุทธิ์ และเพลิดเพลินกับการบันทึกภาพพรรณไม้นานาชนิดที่บานสะพรั่งในช่วงปลายฝนต้นหนาว


อำลาทุ่งโนนสน

เท่ๆก่อนลงภู

“เพื่อน” คือ “สิ่งสวยงามอย่างหนึ่งของดาวเคราะห์ดวงนี้” ถ้าถามว่าเพื่อนคืออะไร ก็จะตอบว่า“เพื่อนคือสิ่งสวยงามของชีวิต” หากเพื่อนเป็นศาสนาหนึ่ง เพื่อนก็จะประกอบไปด้วยศีลหลักๆ 4 ข้อ คือ 1. เกื้อกูลกัน 2. ดูแลกัน 3. ปกป้องกัน และ 4. ยอมกัน หากใครผิดไปจาก4ข้อนี้ ถือว่า“ปาราชิก”