ถอดรหัสธรรมชาติ โดย..คนเฝ้าดง..
ปูก้ามดาบ..นาฬิกาชีวะแห่งป่าชายเลน

ป่าชายเลนคุ้งกระเบน

                              ป่าชายเลนเป็นสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำหรืออ่าว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีระดับน้ำทะเลท่วมถึงในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด ความสำคัญของป่าชายเลนต่อมนุษย์มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือเป็นเสมือนปราการที่ยิ่งใหญ่ที่ปกป้องแนวชายฝั่งทะเลไม่ให้ถูกกัดเซาะจากแรงของคลื่น รวมทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ส่วนทางอ้อมคือเป็นแหล่งหากินของชุมชนริมทะเล ทั้งจากสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านหรือชาวประมงอย่างชัดเจนก็คือ“ปูดำ”(Scylla olivacea) และ“ปูแสม”(Episesarma sp.)ที่นิยมนำมาทำปูเค็ม ซึ่งอาศัยประจำอยู่เกือบจะถาวรในป่าชายเลนทั้งในช่วงน้ำขึ้นและลง ส่วนพวกที่เข้ามาหากินชั่วคราวเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นท่วมพื้นป่า คือ กุ้ง และปลา นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์จากไม้ในป่าชายเลนอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำมาทำเป็นถ่าน เครื่องมือประมง เครื่องเรือน สมุนไพร และอาหาร เช่น ลูกลำแพน และน้ำตาลจาก เป็นต้น

ในป่าชายเลนยังมีความหลากหลายของถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งจัดเป็นที่อยู่ลักษณะเฉพาะ เช่น บริเวณผิวดิน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ บริเวณราก ลำต้น ใบ และเรือนยอดของต้นไม้ การกระจายของสัตว์ทะเลหน้าดินบางกลุ่ม เช่น ปู และหอย ต้องอาศัยลักษณะความชุ่มชื้นในดิน และลักษณะร่มเงาจากต้นไม้ นอกเหนือจากปริมาณอินทรีย์สารในดิน บริเวณที่มีเศษไม้ใบไม้ร่วงลงมากนอกจากจะมีปริมาณอินทรีย์สารวัตถุที่เป็นสารอาหารสูงแล้ว ยังเป็นบริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง และเป็นที่อยู่อาศัยของปูและสัตว์น้ำชนิดอื่น

ปูดำ Scylla olivacea

                              พรรณไม้ชนิดต่างๆ เช่น โกงกาง และแสม มักจะขึ้นในดินที่มีลักษณะแตกต่างกัน โกงกางมักจะขึ้นในดินเลนที่อ่อนนุ่ม ส่วนแสมมักจะขึ้นบริเวณดินทรายและดินค่อนข้างแข็งอยู่ติดบนบก ลักษณะดินที่แตกต่างกันนี้มีผลต่อชนิดของสัตว์ที่พบในบริเวณนี้ ป่าชายเลนที่ถูกทำลายเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การถางพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้ง ทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพลดลง โดยเฉพาะพวกสัตว์ทะเลหน้าดิน เพราะที่อยู่อาศัยถูกทำลาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการไหลเวียนของน้ำ เช่น การขุดบ่อก่อสร้างคันดินต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารและอินทรีย์สาร ตลอดจนคุณสมบัติของดินในบริเวณนี้ เป็นต้น

ความหลากหลายของสัตว์ที่พบในป่าชายเลนจะต่างกันตามอายุของป่าแห่งนั้นๆด้วย ถ้ามีการเปรียบเทียบระหว่างป่าปลูกที่มีอายุต่างกัน ก็จะพบว่าป่าปลูกที่มีอายุมากจะมีความหนาแน่นและความหลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ แต่ป่าที่ถูกถางหรือเพิ่งเริ่มปลูกจะมีสัตว์ทะเลหน้าดินอยู่เพียงไม่กี่ชนิด


ทำไมป่าชายเลนต้องมีปู


เคยสังเกตและสงสัยกันบ้างไหมว่า“ทำไมป่าชายเลนทุกแห่งต้องมีปูน้อยใหญ่วิ่งกันขวักไขว่ไปมา” นั่นเป็นเพราะปูกับต้นไม้ในป่าชายเลนมีสัมพันธภาพที่ลึกซึ้งเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี ประมาณว่า“มีเธอจึงมีฉัน”

ปูแสมลาย Grapsus albolineatus

                              โดยหลักๆจะแบ่งปูในป่าชายเลนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปูกลุ่มที่กินอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ปูแสม เป็นต้น ปูกลุ่มนี้จะกินใบไม้ในป่าชายเลนที่ร่วงหล่นลงบนพื้นป่า ด้วยการนำมาฉีกตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำกลับไปเก็บไว้ในรู เพื่อให้จุลินทรีย์ได้ช่วยย่อยสลายเศษใบไม้ก่อน จากนั้นปูจึงค่อยกินเศษซากใบไม้ อาหารเหล่านี้จะผ่านกระเพาะและทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว แต่จะสามารถดูดซึมสารอาหารได้น้อย ปูจึงต้องกินในปริมาณมากเพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอ ซึ่งอินทรีย์สารที่ได้รับการย่อยสลายจากปูกลุ่มนี้จะถูกส่งต่อไปเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับสัตว์ชนิดอื่นที่เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากระบอก กุ้งทะเล หอยแมลงภู่ และหอยอีกหลายชนิด

ส่วนปูอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ปูที่กินดินกินทรายเป็นอาหาร โดยได้สารอาหารส่วนหนึ่งจากมูลของปูกลุ่มแรก เมื่อปูกินอินทรีย์สารแล้วขับถ่ายออกมา มูลของปูจะกลายเป็นปุ๋ยที่เป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่ดินและสู่ต้นไม้อย่างเป็นวัฏจักร

หรือแม้แต่พฤติกรรมการขุดรูของปูที่ขุดชอนไชลงไปในดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ยังเป็นเส้นทางนำพาออกซิเจนเข้าสู่ชั้นดินเบื้องล่าง เพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรีย์สารให้กับจุลชีพ ซึ่งสร้างแร่ธาตุให้กับดินอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นคำตอบของคำกล่าวที่ว่า“มีเธอจึงมีฉัน” หรือ“เพราะมีปูจึงมีป่าชายเลน”นั่นเอง

นับเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่เกิดมาแล้วอยู่เพียงลำพังได้ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการการอยู่อาศัยร่วมกัน และคอยเกื้อกูลกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นความรักและความเอื้ออาทรที่สรรพสิ่งพึงมีต่อกัน โดยมีอยู่หลายรูปแบบ สำหรับแบบนี้เป็นความรักแบบพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน คือ ระหว่างสัตว์กับพืช คือการอยู่ร่วมกันระหว่างปูน้ำเค็มกับป่าชายเลน

ปูแสม Episesarma sp.


อัญมณีแห่งป่าชายเลน


ปูเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เป็นกลุ่มที่มีลำตัวและรยางค์เป็นข้อเป็นปล้อง ทั่วโลกมีปูมากกว่า 1,000 ชนิด เกือบทุกชนิดอาศัยอยู่ในทะเล มีเพียงไม่กี่ชนิดที่อาศัยในน้ำจืด บางชนิดพัฒนาขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกได้ แต่แม่ปูทุกชนิดต้องลงไปวางไข่ในน้ำหรือใกล้น้ำ เพราะลูกปูต้องเจริญเติบโตในน้ำเท่านั้น

กระดองของปูทะเลมักมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีส่วนยาวแคบกว่าส่วนกว้างของกระดองด้านหน้า ระหว่างตามีหนามแหลม 6 อัน เรียงกัน และมีหนามเรียงจากตาไปทางด้านซ้าย-ขวาของกระดองด้านละ 9 อัน ตาของปูทะเลเป็นตารวม ประกอบด้วยตาเล็กๆเป็นจำนวนมาก มีความรู้สึกไวต่อสิ่งเคลื่อนไหวที่อยู่รอบตัว และยังมีก้านตาช่วยในการชูลูกตาออกมาภายนอก เข้าและหดกลับเข้าไปได้

กายวิภาคของปู

                              มีส่วนหัวกับอกรวมกัน ส่วนนี้จะมีกระดองห่อหุ้มไว้ ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลำตัวของปูเป็นแผ่นบางๆ อวัยวะส่วนท้องเรียกว่า“จับปิ้ง” บางท้องถิ่นเรียกว่า“จะปิ้ง” “ตะปิ้ง” หรือ“ตับปิ้ง” พับอยู่ใต้กระดอง มีลักษณะคล้ายแผ่นกระเบื้องเรียงต่อกันอยู่ 7 แผ่น จับปิ้งของปูตัวผู้มีขนาดเรียวเล็กและแคบ ส่วนของตัวเมียมีขนาดกลมกว้างใหญ่เกือบเต็มส่วนอก ปลายมนกลมกว่าตัวผู้ เพื่อใช้อุ้มพยุงไข่ ปลายจับปิ้งหรือแผ่นท้องที่ 7 เป็นรูก้น ใช้ในการขับถ่าย

มีขา 5 คู่(10 ขา) เช่นเดียวกับกุ้งก้ามกราม จักจั่นทะเล และแมงดาทะเล ขาของปูแบ่งเป็นปล้องๆมีทั้งหมด 7 ปล้อง โดยจะมีชื่อเรียกต่างๆไป คู่แรกที่อยู่หน้าสุดเรียกว่า“ก้าม” “ก้ามปู” หรือ“ก้ามหนีบ” ปลายก้ามปูแยกออกเป็น 2 ง่าม มีลักษณะคล้ายคีม ใช้จับเหยื่อกิน และเป็นอาวุธป้องกันตัว ขาคู่ที่ 2-5 เรียกว่า“ขาเดิน” หรือ“ขาว่ายน้ำ” ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-5 มีลักษณะแหลม แต่ขาคู่ที่5ในปูบางชนิด เช่น ปูทะเล ปูม้า เป็นต้น จะมีลักษณะแบนคล้ายใบพาย เพื่อใช้ทำหน้าที่ในการว่ายน้ำ

เลือดของปูมีสีฟ้า อวัยวะภายในหัวใจ กระเพาะอาหาร ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ภายในร่างกายของปู จะมีกระดองปกคลุมอยู่ ปูฟอกเลือดโดยการรับออกซิเจนที่มีอยู่ในน้ำผ่านเข้าทางบริเวณเหงือก(หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า“นมปู”) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าก้ามหนีบ อวัยวะที่ใช้ระบายทางน้ำออกนั้นส่วนมากอยู่บริเวณข้างๆรยางค์ปาก

ปูทุกชนิดกินเนื้อสัตว์ที่เน่าเปื่อย และสัตว์มีชีวิตที่เล็กกว่า เช่น กุ้ง ไส้เดือน หนอนทะเล และปูพวกเดียวกันเอง แต่มีปูบางชนิดที่กินสาหร่ายสีเขียวเป็นอาหาร เช่น ปูก้ามดาบ เป็นต้น

ปูแสมหินหน้ากว้าง Metopograpsus latifrons

                              ปูทะเลพบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อย ป่าชายเลน และปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามใต้รากไม้ เนินดิน หรือโคลนเลน บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะมีชุกชุมในบริเวณที่เป็นหาดโคลนหรือเลนที่มีป่าแสมและโกงกาง

หากมีโอกาสไปเที่ยวตามป่าชายเลน ลองกวาดสายตาสังเกตไปตามพื้นล่างของป่า จะพบว่ามีปูหลากหลายชนิดมากมาย บางแห่งมีรายงานการพบกว่า 30 ชนิด(จาก 14สกุล ใน7วงศ์) แต่ละชนิดมีสีสันที่สวยงาม บ้างฉูดฉาดสดใสเด่นสะดุดตา โดยเฉพาะก้าม ประกอบกับความสำคัญของปูที่มีคุณค่าประโยชน์อย่างยิ่งแก่ป่าชายเลน จึงกล่าวได้ว่า“ปู คือ อัญมณีแห่งป่าชายเลน”


ปูก้ามดาบ


ตามป่าชายเลนนั้นมีปูมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีลักษณะพิเศษทางด้านความมหัศจรรย์แตกต่างกันไป เช่น ปูแสมในช่วงน้ำทะเลขึ้น จะเกาะกันอยู่เป็นกระจุกตามต้นแสม(Avicennia sp.)ในป่าชายเลน โดยชาวประมงจะรู้ว่าระดับน้ำทะเลคืนนี้จะสูงแค่ไหน ด้วยการสังเกตการเกาะของปูแสมเป็นตัวชี้วัด ซึ่งจะวัดจากปูแสมตัวล่างสุดราวๆ 1 คืบผู้ใหญ่ ลงมา นั่นคือระดับน้ำทะเลสูงสุดในคืนนี้ เป็นต้น

ปูก้ามดาบ เพศเมีย

                              แต่ปูในป่าชายเลนที่สร้างความสนใจให้แก่ผู้พบเห็นมากที่สุด ก็คือ “ปูก้ามดาบ” อันเนื่องมาจากลักษณะเด่นของตัวผู้ ซึ่งขาคู่แรกที่เรียกว่า“ก้ามปู” มีก้ามสองข้างขนาดไม่เท่ากัน โดยจะมีก้ามข้างหนึ่งใหญ่โตกว่าตัวอย่างเห็นได้ชัด จะเป็นข้างใดนั้นขึ้นอยู่กับชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นข้างซ้าย และมีสีสันเด่นสะดุดตา เช่น สีแดงอมส้มอมเหลือง หรือมีสีฟ้าแซม เป็นต้น ก้ามข้างที่ใหญ่นี้มีรูปคล้ายคลึงกับดาบ จึงเป็นที่มาของชื่อดังกล่าว ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายกับตัวผู้ แต่ก้ามทั้งคู่มีขนาดเล็กเท่ากัน

บางท้องถิ่นเรียกว่า“ปูเปี้ยว” ว่ากันว่าหากจับมากินจะมีรสเปรี้ยว จึงเป็นที่มาของชื่อ แต่ทางภาคใต้จะเรียกว่า“ปูโนรา”หรือ“ปูเปี้ยวโนรา” เนื่องจากพฤติกรรมที่ชอบโบกก้ามข้างใหญ่ไปมาดูคล้ายกับท่ารำของการรำโนรา

บ้างก็เรียกว่า“ปูผู้แทน” เพราะลักษณะของการยกก้ามข้างใหญ่ของตัวผู้นั้น คล้ายคลึงกับการยกมือออกเสียงของบรรดานักการเมืองในสภาฯ

ปูก้ามดาบมีชื่อสามัญ(Common Name)เป็นภาษาอังกฤษว่าFiddler Crab” ซึ่งคำว่า“fiddle” หมายถึง “คันชักของไวโอลิน”ที่ต้องชูสูงทาบกับสายไวโอลินอยู่ตลอดเวลาเพื่อบรรเลงเพลง เฉกเช่นเดียวกับก้ามปูข้างใหญ่โตของมันที่ชูอวดก้ามอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

                              รูปร่างหน้าตาของปูก้ามดาบนั้นมีลักษณะคล้ายกับปูทั่วๆไปที่มีทั้งตา กระดอง ก้ามปู และขา 8 ขา แต่สิ่งที่ปูก้ามดาบแตกต่างกับปูทั่วๆไปก็คือ เป็นปูทะเลขนาดเล็ก ขนาดเฉลี่ยประมาณ 2-4 ซม. กระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านหน้าแคบและโค้งมน ด้านหลังนูนเล็กน้อย ด้านข้างลู่เข้าหากัน และด้านท้ายเป็นแนวเกือบตรง เบ้าตาอยู่ชิดกัน ก้านตายาวมาก และฝังอยู่ในร่องเบ้าตา ก้านตาจะเคลื่อนไหวไปมาได้ตามที่มันต้องการ เมื่อพบอันตรายจะหดก้านตาเข้าเก็บในเบ้าตา ปากอยู่ใต้ตา มีฟันกราม 6 คู่ และรยางค์เล็กคล้ายเขี้ยวอีกหนึ่งคู่

กระดองมีการเปลี่ยนสีสันตามวัย ดังนั้นการกล่าวถึงสีใดๆก็ไม่สามารถระบุชนิดที่แน่นอนได้เสมอไป ต้องดูลักษณะพิเศษอื่นๆเป็นส่วนประกอบด้วย เช่น ร่องที่นิ้วบนของก้ามมี 1 หรือ 2 ร่อง , รูปก้ามเป็นปากคีบหรือแบบใด , ก้ามเป็นแบบสั้นที่มีฟันบนขอบด้านในก้ามเยอะ หรือเป็นแบบยาวที่ฟันด้านในค่อนข้างเรียบ เป็นต้น

ปูก้ามด้าบก้ามยาว เพศผู้ ยังโตไม่เต็มที่ ช่วงที่สอง

                              ขุดรูอาศัยอยู่ในดินเลน หรือดินเลนปนทราย ตัวเมียจะใช้ขาข้างใดข้างหนึ่ง(ทั้ง 4 ขา)ปักลงไปในดิน แล้วขุดดินขึ้นมา ส่วนตัวผู้จะใช้ขาข้างที่มีก้ามเล็ก มันจะขุดไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้พอดีขนาดของตัวมัน เมื่อพอใจแล้ว ก็จะลงไปในรู แล้วใช้กระดองหมุนตัวถูกับผนังรูจนมันเรียบ ลักษณะรูจะเป็นรูปทรงกระบอก ค่อนข้างลึก ตรงกลางป่องออก ส่วนใหญ่จะมีน้ำขังอยู่ในรูกว่า 60% ต่างจากรูของปูแสมที่ไม่ลึก และมีรูเชื่อมติดต่อกันทอดยาวขนานไปกับพื้น

หายใจด้วยเหงือกที่เป็นช่องเปิดเล็กๆระหว่างขาเดิน ด้วยการจุ่มตัวเองลงในน้ำ ช่องเหงือกจะแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ โดยตอนบนที่มีเส้นเลือดฝอยไปเลี้ยงจำนวนมากจะทำหน้าที่เป็นปอด ส่วนตอนล่างจะเป็นช่องเหงือกธรรมดา น้ำจะถูกกักไว้ในช่องเหงือก และพ่นอากาศเข้าไปเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซ โดยดูดออกซิเจนจากน้ำ เหตุนี้รูปูจึงขนาดลึกกว่าปูทั่วไป และมีน้ำขังอยู่เสมอ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นแก่ตัวเอง

ปูก้ามดาบจะออกหากินไม่ไกลจากรูของตัวเอง เพราะต้องวิ่งลงรูเป็นระยะๆเพื่อให้ความชื้นและแก้ปัญหาการสูญเสียน้ำจากตัว เมื่อน้ำขึ้นก็จะลงไปอยู่ในรู เวลาน้ำลงก็จะออกมาหาอาหาร เวลาลงรูก็จะใช้ด้านข้างที่มีก้ามเล็กกว่าลงก่อน แต่บางครั้งจะด้วยความรีบร้อนจากการหนีศัตรูหรืออะไรก็ตามแต่ เราพบว่าตัวผู้บางตัวลงรูด้วยการใช้ด้านข้างที่มีก้ามใหญ่

มันยังรู้จักปรับตัวตามสภาวะอุณหภูมิเพื่อให้ร่างกายมีอุณหภูมิต่ำกว่าภายนอก คือ เมื่ออากาศร้อนมาก ความถี่ในการวิ่งลงรูก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น และในสภาพที่น้ำลงมากผิดปกติหรือที่เรียกว่า“ช่วงน้ำตาย” เป็นช่วงที่น้ำทะเลจะลงเป็นเวลานานมาก มันก็จะแช่ตัวเองอยู่ในรูตลอดเวลา การที่มันสามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้ เพราะมีกระดองห่อหุ้มตัว มีรูสำหรับป้องกันตนเองจากอุณหภูมิที่สูง และมีกระบวนการการระเหยของน้ำที่ผิวลำตัวเหมือนกับการขับเหงื่อของมนุษย์

เป็นสัตว์ทะเลหน้าดินที่กินซากพืชซากสัตว์ และสาหร่ายขนาดเล็กเป็นอาหาร จึงอาจกล่าวได้ว่าปูก้ามดาบเปรียบเสมือนเป็น“เทศบาลประจำป่าชายเลน”ก็ว่าได้ เมื่อมันกินอิ่มแล้วก็ถ่ายมูลออกมา ถือเป็นการทำหน้าที่อันมีประโยชน์ยิ่งในการให้ปุ๋ยแก่ดินเลน ช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุกลับคืนสู่พื้นป่าในรูปของมูลสัตว์ เมื่อน้ำขึ้นก็จะชะเอาปุ๋ยที่สร้างขึ้นจากนักกินตัวน้อยนี้ไปเป็นอาหารของแพลงก์ตอนในระบบปฐมภูมิของห่วงโซ่อาหารต่อไป

ปูก้ามด้าบก้ามยาว เพศผู้ ยังโตไม่เต็มที่ ช่วงแรก

                              มีความสามารถพิเศษในการคัดเลือกกินเฉพาะจุลชีพและสารอินทรีย์แยกออกจากดินทรายได้ โดยใช้ก้ามอันเล็กตักอาหาร ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้อนที่ตักอาหารเข้าปากเรา ส่วนปากก็เป็นรยางค์ปากแบบพิเศษ คือ มีรยางค์ปากเป็นรูปร่างคล้ายตะแกรงพู่แบบขนนก เพื่อช่วยกรองและคัดเลือกขนาดของอาหารให้เหมาะกับปาก ตะกอนดินที่ไม่กินก็จะคายทิ้งไว้ในรูปของก้อนดินรูปกลมเล็กๆวางอยู่เป็นกอง กระจุก หรือเรียงกัน ร่องรอยเช่นนี้พบเห็นเช่นเดียวกับปูชนิดอื่นๆที่เรามักพบตามหาดทรายทั่วไป แต่หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรอยที่ปูขุดรู แท้จริงคือเศษอาหารที่มันไม่กิน และทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า

ตัวเมียจะกินอาหารได้เร็วกว่าตัวผู้ เนื่องจากไม่มีก้ามที่ใหญ่โตเทอะทะ จึงมีความคล่องตัวกว่า และสามารถใช้ก้ามทั้งสองข้างคีบอาหารทานได้ ต่างจากตัวผู้ที่ใช้ได้เพียงก้ามเล็กข้างเดียว

ตัวผู้จะชูก้ามอันใหญ่โตนี้อยู่ตลอดเวลาในช่วงวันที่มีแสงแดดจ้าหลังน้ำลงบนหาดเลน เพื่อใช้ประกาศอาณาเขตแสดงความเป็นเจ้าของ ใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้ รวมทั้งใช้(อวดสาว)เรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย

คราใดที่ผู้เขียนมีโอกาสไปป่าชายเลน ก็จะเลือกหาทำเลเหมาะๆเพื่อนั่งเฝ้าวิถีชีวิตอันน่ารักของพวกเขา บาปหรือไม่ก็ไม่รู้ที่ในใจอยากเห็นการต่อสู้ของเขา ซึ่งก็พบอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะตัวผู้ที่จะใช้ก้ามอันใหญ่โตทำร้ายคู่ต่อสู้ ต่างจะใช้ก้ามใหญ่หนีบกันไปมา หากตัวใดพลาด ปล่อยให้อีกฝ่ายสามารถใช้ก้ามใหญ่หนีบกระดองตัวเองได้ มันก็มักจะถูกหนีบจนกระดองแตกและตายในที่สุด

ปูก้ามด้าบก้ามยาว เพศผู้ ยังโตไม่เต็มที่ ช่วงที่สอง

                              หากก้ามใหญ่หักจากการต่อสู้ หรือได้รับบาดเจ็บ ปูตัวนั้นก็จะสลัดก้ามเดิมออก เพื่อรอก้ามใหม่งอกขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้ระยะเวลาราว 3 สัปดาห์ ขณะที่รอก้ามใหญ่งอกขึ้นมานั้น ตัวผู้ก็จะใช้ก้ามเล็กชูขึ้นแทน ทั้งนี้ก้ามใหม่ที่งอกขึ้นมาอาจไม่ใหญ่เท่าก้ามเดิมก็ได้ หรืออาจเล็กกว่าก้ามเล็กที่มีอยู่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารการกินในพื้นที่นั้นๆ หากก้ามงอกมาใหม่มีขนาดเล็ก มันก็จะใช้ก้ามที่ใหญ่กว่าชูขึ้นสูงแทน

เวลาผสมพันธุ์ ตัวเมียอาจเลือกตัวผู้ได้เป็นร้อยๆตัว โดยตัวเมียจะเดินเลือกหาตัวผู้ที่ถูกใจ ซึ่งตัวผู้ก็จะชูอวดก้ามของตน เพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมีย พร้อมกับแกว่งก้ามไปมา ตัวใดที่มีก้ามใหญ่และแกว่งได้เร็วกว่า ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของตัวเมีย ซึ่งตัวเมียจะใช้เวลาตัดสินใจแป็บเดียวก็วิ่งจู๊ดลงไปในรูปูตัวเด่นที่สุดเพื่อรอผสมพันธุ์ โดยเฉพาะขณะที่ตัวผู้กินอาหารนั้น มันก็จะยกก้ามแกว่งไกวไปมาเป็นจังหวะ ดูราวกับทำท่าโค้งคำนับและกวักมือเรียกเพื่อเชื้อเชิญสาวๆด้วยท่าทีสุภาพบุรุษ(เพื่อหวังผสมพันธุ์) ทั้งนี้รูที่ใช้ผสมพันธุ์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นรูของตนเองที่ขุดขึ้น เป็นรูของตัวผู้ตัวอื่นก็ได้ ขอเพียงให้ตัวเมียวิ่งลงไปรอในรูเท่านั้น โดยตัวผู้เจ้าของรูอาจจะไม่อยู่แถวรูของตน หรืออาจถูกขับไล่จากตัวที่ใหญ่และแข็งแรงกว่าก็เป็นได้

นอกจากนี้ยังมีรายงานของนักวิจัยจากคณะชีววิทยา มหาวิทยาลัยออสเตรเลีย ค้นพบว่าปูก้ามดาบเพศเมียมีพฤติกรรมยอมจับคู่ผสมพันธุ์กับปูตัวอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนกับความอยู่รอด ไม่ถูกทำร้ายรุกราน เนื่องจากร่างกายของปูตัวเมียและตัวผู้ต่างกันมาก ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ และไม่เหมาะกับการต่อสู้ ปูก้ามดาบตัวเมียจึงยอมพลีกายแลกการให้มีเซ็กซ์ด้วยเพื่อความอยู่รอด โดยจะเสนอตัวให้ปูตัวผู้ที่เป็นเพื่อนบ้านเพื่อขอความคุ้มครอง ซึ่งเรื่องของขนาดตัวมีความสำคัญมาก ปูตัวเมียจะเลือกตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่กว่าผู้รุกราน

ทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างต้องการปกป้องอาณาเขตของตน เพราะหมายถึงการอยู่รอด ตัวผู้มีก้ามขนาดใหญ่เป็นอาวุธ และเมื่อเทียบก้ามใหญ่กับร่างกายแล้ว ถือเป็นอาวุธที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย โดยปูตัวผู้ร้อยละ 95 จะปกป้องเพื่อนบ้านตัวเมีย หากผู้บุกรุกเป็นตัวผู้ แต่จะช่วยแค่ร้อยละ 15 เท่านั้น หากผู้บุกรุกเป็นตัวเมีย

นกเดินดงหัวปีกเพลิง Red-winged Blackbird

                              พฤติกรรมการมีเซ็กซ์แลกกับความอยู่รอดของตนนั้น ยังพบได้ในสัตว์ชนิดอื่น เช่น นกเดินดงหัวปีกเพลิง(Red-winged Blackbird) ตัวเมียจะจับคู่กับตัวผู้ เพื่อแลกกับการได้หาอาหารในถิ่นของตัวผู้ตัวนั้น และเพนกวิน พันธุ์อะเดลี(ชื่อสามัญ Adelie penguin ชื่อวิทยาศาสตร์ Pygoscelis adeliae)ที่ตัวเมียจะเอาตัวเข้าแลกกับหินหายากที่มีขนาดสูง ซึ่งเหมาะจะใช้สร้างทำรัง

หากตัวเมียแน่ใจว่าการผสมพันธุ์ครั้งนั้นสมบูรณ์ ก็จะวางไข่ในรูที่เป็นรังรัก ปล่อยให้ตัวผู้ขึ้นไปเฝ้าปากรู และรอจนกว่าตัวเมียฟักไข่จนออกมาเป็นตัวสมบูรณ์

แต่หากตัวเมียรู้ว่าการผสมพันธุ์ครั้งแรกไม่สมบูรณ์ ก็จะหาพ่อเชื้อตัวผู้ตัวต่อไป ส่วนตัวผู้ตัวเดิมก็ยังเฝ้ารอด้วยการอวดชูก้ามเช่นเดิม เพื่อรอตัวเมียตัวใหม่ที่จะมาเลือกผสมพันธุ์ การกระทำเช่นนี้ดูราวกับว่าทั้งตัวผู้และตัวเมียเป็นปูนักรักหรือมักมากในกาม บางคนจึงให้สมญานามตัวผู้ว่า“ปูคาสโนว่า” คือ ปูตัวผู้ที่เจ้าชู้ และให้สมญานามตัวเมียว่า“ปูคาสโนวี่” คือ ปูตัวเมียที่เจ้าชู้

จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Naturalist ระบุว่า“นอกจากก้ามใหญ่จะช่วยให้ได้รับเลือกในการผสมพันธุ์จากตัวเมียแล้ว ยังช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงได้เร็วกว่าตัวที่มีก้ามเล็ก ทำให้มันมีชีวิตอยู่รอดได้ดีกว่า แต่ก็มีข้อเสียตรงที่มันเกะกะเทอะทะ เปลืองพลังงานในการแบก และกินอาหารได้น้อยลง เพราะก้ามใหญ่ไม่ได้ช่วยในการกินอาหาร”

ปูก้ามดาบยังเป็นปูที่รักความสะอาด เมื่อลำตัวของมันเปื้อนโคลน มันก็จะใช้ก้ามเล็กนำขึ้นมาแตะบริเวณรยางค์ปาก ซึ่งมีน้ำเปียกลื่น แล้วใช้ก้ามเล็กที่เปียกน้ำนั้นถูไปมาตามบริเวณที่มีโคลนติดจนสะอาดดังเดิม แต่หากตัวของมันเปื้อนโคลนเยอะมาก มันจะวิ่งไปที่แหล่งน้ำแล้วใช้ขาของมันขย่มตัวในน้ำ พร้อมกับใช้ก้ามเล็กทำความสะอาดตัว

ปลาจุมพรวด Periophthalmodon schlosseri เป็นปลาตีนชนิดหนึ่ง

                              ธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ใจของปูก้ามดาบยังไม่หมดเท่านี้ คือ มันสามารถรู้กำหนดเวลาน้ำขึ้นน้ำลงได้อย่างดีเยี่ยม โดยก่อนที่น้ำจะขึ้นราว 1-2 ชั่วโมง มันจะลงไปอยู่ในรู พร้อมทั้งนำดินมาปิดปากรู เพื่อป้องกันน้ำไหลลงรู ทำให้พื้นดินเลนบริเวณนั้นที่เคยมีรูเล็กน้อยอยู่เต็มไปหมด กลับกลายเป็นผิวดินเลนราบเรียบเหมือนกับไม่มีปูขุดรูอาศัยอยู่ ดังนั้นหากเราเห็นปูก้ามดาบนำดินมาปิดปากรูเมื่อไร ก็คาดคะเนได้ว่าอีกราว 1-2 ชั่วโมง จะมีน้ำทะเลหนุนขึ้นมาสูงท่วมพื้นที่บริเวณนั้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า“นาฬิกาชีวะ” หมายถึง นาฬิกาที่มีชีวิตนั่นเอง

ศัตรูของปูก้ามดาบในวัยละอ่อน คือ “ปลาตีน”(Mudskipper หรือ Amphibious Fish) ส่วนในวัยเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวก็คือนก โดยเฉพาะ“นกกินเปี้ยว”(Collared Kingfisher) เป็นนกกะเต็นชนิดหนึ่ง มีขนาด(วัดจากปลายปาก ลากยาวมาตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) 24-26 ซม. พบอยู่ทั่วไปตามป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล และแหล่งน้ำจืดบางพื้นที่ แค่ชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าเป็นนกที่ชื่นชอบกินปูก้ามดาบหรือปูเปี้ยวเป็นพิเศษ มีลักษณะหัวและลำตัวด้านบนสีเขียวแกมฟ้า ปีกสีฟ้า รอบคอและลำตัวด้านล่างสีขาว ปากบนสรดำ ส่วนปากล่างสีเนื้อ ซึ่งนกกินเปี้ยวจะสังเกตเห็นปูก้ามดาบได้สะดุดตาจากพฤติกรรมที่ตัวผู้ชอบชูก้ามใหญ่ที่มีสีสันสวยงามอวดนั่นเอง จึงทำให้ถูกจับกินเป็นอาหารได้ง่าย

นกกินเปี้ยว Collared Kingfisher

                              ปูก้ามดาบอยู่ในวงศ์ OCYPODIDAE ทั่วโลกมี 9 สกุลย่อย ประมาณ 100 ชนิด พบแพร่กระจายพันธุ์ทั่วไปตามชายทะเลในแอฟริกาตะวันตก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และเขตทะเลอินโด-แปซิฟิก

แต่ละชนิดก็จะเลือกที่อยู่อาศัยต่างกันไป เพื่อลดการแก่งแย่งแข่งขันหาอาหารระหว่างกัน ทั้งนี้ปูก้ามดาบชนิดเดียวกันก็อาจจะมีสีสันแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศในท้องถิ่นนั้นๆ

ในเมืองไทยพบปูก้ามดาบ เพียง 2 สกุล 15-16 ชนิด พบตามป่าชายเลน และหาดทรายริมทะเล ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน โดยพบมากทางฝั่งอันดามัน ได้แก่

สกุล Macrophthalmus พบราว 2 ชนิด คือ M. depressus ชื่อสามัญ Long Eyestalk Crab มีกระดองสีเทาอมม่วงอมขาว ตัวผู้มีก้ามใหญ่สีฟ้าอมม่วง และปูก้ามหัก(M. pacificus) มีกระดองสีน้ำตาลอมเขียวอมเทา ตัวเมียมีก้ามสีน้ำตาลอมแดง พบที่ภูเก็ต

ปูก้ามหัก Macrophthalmus sp.

                              สกุล Uca ที่พบในบ้านเรา มีอยู่ 13-14 ชนิด เช่น

Uea annulipes

  1. U. annulipes มีชื่อสามัญ Porcelain Fiddler Crab มีกระดองสีดำล้วน สีดำและมีลายขวางสีขาวอมฟ้า สีขาวหรือสีเทาและมีลายขวางสีน้ำตาล ตัวผู้มีก้ามใหญ่สีส้มอมชมพู ก้ามเล็กสีแดง ขาเดินสีแดง

Uea forcipata

                              ปูก้ามดาบปากคีบ หรือปูเปี้ยวปากคีบ (U. forcipata) มีชื่อสามัญ Forceped Fiddler Crab กระดองสีดำอมแดง อาจมีลายสีฟ้า หรือสีขาว ตัวผู้มีก้ามใหญ่สีน้ำตาลอมม่วง ปลายก้ามฝั่งด้านในจะมีลักษณะการเรียงของฟันค่อนข้างสมมาตรทั้งบนและล่าง เหมือนกับเป็นปากคีบอันเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ แล้วก็ร่องที่นิ้วบนของก้ามจะมีร่องอยู่เพียงร่องเดียว ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่เป็นดินโคลน

ปูก้ามดาบก้ามขาว Uea perplexa

                              ปูก้ามดาบก้ามขาว หรือปูเปี้ยวก้ามขาว (U. perplexa) มีชื่อสามัญ White-palm Fiddler Crab กระดองสีดำ มักมีลายสีขาว หรือสีฟ้า คาดตามขวาง และอาจมีสีแดงหรือสีน้ำตาลเป็นลายปะปนอยู่ด้วย ส่วนสีของก้ามใหญ่ในแต่ละตัวและแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน มีตั้งแต่สีส้ม สีเหลือง และสีชมพูอ่อนถึงเข้ม แต่ที่เหมือนกัน คือ บริเวณส่วนของก้ามหนีบจะเป็นสีขาว พื้นผิวปล้องที่6ค่อนข้างเรียบ บริเวณปลายก้ามอันล่างมีฟันรูปสามเหลี่ยม 1 ซี่ ขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นเลนปนทรายของชายขอบป่าชายเลนที่มีแสงสว่าง หรือค่อนข้างเปิดโล่ง

Uea rosea

  1. U. rosea มีชื่อสามัญ Rosy Fiddler Crab เป็นปูก้ามดาบที่ถือว่ามีสีสวยงามที่สุดในบ้านเรา กระดองมีสีดำ หรือสีแดง ผิวมันแวว ตัวผู้มีก้ามใหญ่สีแดง หรือสีแดงอมชมพู

ปูก้ามดาบก้ามยาว(U. spinata) มีชื่อสามัญ Long-finger Fiddler Crab เป็นปูที่มีขนาดใหญ่ กระดองสีดำและมีลายสีน้ำเงิน หรือสีขาวอมเทาและมีลายสีดำ ตัวผู้มีก้ามใหญ่สีเหลือง ชอบอาศัยอยู่บริเวณพื้นดินเลนอ่อนตามริมคลอง

ปูเปี้ยว Uea tetragonon

                              ปูเปี้ยว (U. tetragonon) มีชื่อสามัญ Blue Fiddler Crab ตัวผู้มีกระดองสีฟ้า แต้มด้วยจุดหรือลายดำ ขาเดินมีสีฟ้า สีส้มแดง สีแดงอมม่วง จนถึงสีดำ ก้ามใหญ่สีส้มอมเหลือง และมักมีจุดสีน้ำตาลแดง ส่วนตัวเมียมีกระดองสีดำ แต้มด้วยลายสีฟ้า ก้ามสีขาวอมเหลือง ขาเดินสีส้มแดง พบอาศัยอยู่ตามหาดโคลนใกล้แนวป่าชายเลนเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน

Uea urvillei

                              ปูก้ามดาบหยกฟ้า(U. urvillei) กระดองสีฟ้าเหลือบขาว ลายดำ ขาเดินสีฟ้า ตัวผู้มีก้ามใหญ่สีเขียวอมขาว หรือสีเหลืองอมส้ม

Uea vocans

                              ปูก้ามดาบก้ามส้ม(U. vocans) มีชื่อสามัญ Orange Fiddler Crab กระดองหลากสีแล้วแต่ท้องที่ที่พบ ตัวผู้มีก้ามใหญ่สีเหลืองส้มจนถึงสีส้ม ปลายก้ามบนมีสีขาวจนถึงสีชมพู

เป็นต้น


ความในใจของผู้เขียน


พื้นที่ชายฝั่งและในทะเลของประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสิ่งมีชีวิตที่ยังรอการค้นพบอีกมากมาย เช่น รายงานการพบปู Paracleistostoma tweediei เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จากที่เคยมีการพบในประเทศบรูไน และสิงคโปร์ เป็นต้น โดยสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หากขาดสิ่งมีชีวิตตัวใดตัวหนึ่งไป ก็อาจจะส่งผลกับระบบนิเวศน์ทั้งหมดได้ เป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดมนุษย์อย่างเราควรหันมาให้ความรักกับธรรมชาติ ก็เพราะมนุษย์เองก็ไม่อาจจะอยู่รอดได้ หากขาดทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ดังนั้นความรักที่เรามีให้แก่ตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแล้ว อย่าลืมที่จะนึกถึงธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมตัวเราทุกคนด้วย

ป่าชายเลน

                              แม้ว่าปูก้ามดาบจะไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเหมือนปูทะเลทั่วไป แต่ปัจจุบันจำนวนของปูก้ามดาบนั้นลดลงเป็นจำนวนมาก ด้วยพื้นที่ป่าชายเลนที่สูญหายไป รวมถึงรูปลักษณ์ของมันที่เป็นอันตรายแก่ตนเอง คือ มีสีสันฉูดฉาดสวยงาม และก้ามอันใหญ่โตในตัวผู้ จึงมักมีมนุษย์ใจร้ายจับมาขายเป็นสัตว์เลี้ยง ทั้งๆที่ไม่ใช่สัตว์ทะเลที่เลี้ยงได้ง่ายๆ ต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ รวมทั้งสร้างสภาวะแวดล้อมให้คล้ายกับธรรมชาติที่มันอาศัยอยู่มากที่สุด จึงจะมีชีวิตอยู่รอดได้

ก่อนจับปูก้ามดาบนำมาขายหรือเลี้ยงเพียงเป็นสัตว์น่ารักในตู้เฉกเช่นปลาสวยงามทั่วไป โปรดคิด(ด้วยใจ)สักนิดว่าพวกเขามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อป่าชายเลน

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………….

…….