พรรณไม้และสัตว์ป่า..น้ำตกทีลอซู-น้ำตกปะหละทะ-ดอยหัวหมด จ.ตาก

ทะเลหมอกบนดอยหัวหมด

                              ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนและทีมงานได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก หลังจากมาครั้งล่าสุดเมื่อ5ปีก่อน โดยได้ล่องเรือยางตามลำน้ำแม่กลอง ก่อนนั่งรถไปชมน้ำตกทีลอซู แล้วกลับมานอนที่ อ.อุ้มผาง วันรุ่งขึ้นไปเที่ยวน้ำตกปะหละทะและดอยหัวหมด เป้าหมายที่วางไว้นั้น นอกจากชมทิวทัศน์ของสายน้ำแม่กลองและน้ำตกที่ยิ่งใหญ่นามว่า“ทีลอซู”แล้ว ก็เป็นการศึกษาพรรณไม้ที่ออกดอกในช่วงฤดูกาลนี้ โดยเฉพาะ“พิศวงตานกฮูก”

ล่องลำน้ำแม่กลอง

                              ตลอดการเดินทาง2วัน2คืน ทีมงานได้บันทึกภาพพรรณไม้ป่า(43 ชนิด) และสัตว์ป่า(57 ชนิด)


พรรณไม้ป่า


                              บันทึกภาพได้ทั้งหมด 43 ชนิด เรียงตามวงศ์ สกุล และชนิด ได้แก่

1. กระดูกไก่น้อย

ชื่อท้องถิ่น : เขียงพร้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rostellularia diffusa (Willd.) Nees

วงศ์ : Acanthaceae

กระดูกไก่น้อย

ไม้ล้มลุก ตั้งตรงสูง 20-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตั้งขึ้นตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว สีขาวอมชมพู สีชมพู และสีชมพูอมม่วง ดอกเป็นหลอดรูปปากเปิด ปลายหลอดดอกแยกเป็น2ปาก ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนมีนาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 25 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามทุ่งหญ้าหรือพื้นที่โล่งในป่า ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,600 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก

พืชชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ var. diffusa แพร่กระจายในโอมาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมา ไทย เวียดนาม และทวีปแอฟริกาด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่อชนิด diffusa แปลว่า กระจายอย่างหลวมๆ ความหมายก็คือ“ดอกในช่อที่กระจายอย่างหลวมๆ”

2. หูปากกา

ชื่อท้องถิ่น : หนามแน่ขาว(ภาคเหนือ) ; จิงจ้อ , จิงจ้อเขาตาแป้น(สระบุรี) ; ช่องหูปากกา(ประจวบฯ) ; ทองหูปากกา(สุราษฎร์ฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thunbergia fragrans Roxb.

วงศ์ : Acanthaceae

หูปากกา

ไม้เลื้อย ทอดเลื้อยยาว 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่กว้าง รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ 2-3 ดอก ขนาดดอก 4 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอดทรงกระบอกแกมรูปกรวย ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 150 ชนิด ในไทยพบประมาณ 11 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพันต้นไม้อื่นระดับต่ำในบริเวณป่าค่อนข้างโปร่งที่ชุ่มชื้นและอยู่สูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และฟิลิปปินส์ ชื่อสกุล Thunbergia ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ Carl Peter Thunberg (ค.ศ.1743-1828) เป็นนักพฤกษศาสตร์ นายแพทย์ และนักสำรวจธรรมชาติชาวสวีเดนที่สำรวจและค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกได้กว่า 300 ชนิด ส่วนชื่อชนิด fragrans แปลว่า มีกลิ่นหอม โดยมีกลิ่นหอมในเวลากลางคืน

3. มะแหลบเชียงดาว

ชื่อท้องถิ่น : ผักอีเปา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peucedanum siamicum Craib

วงศ์ : Apiaceae

ดอกตูมของมะแหลบเชียงดาว

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 30-60 ซม. บางครั้งพบสูงได้ถึง 100 ซม. ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3-4 ใบ ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปหัวใจแกมรูปไข่กว้าง ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มและแยกแขนงตามซอกใบและปลายยอด มีช่อย่อยมากมาย ช่อละ 15-24 ดอก ดอกสีขาว กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนพฤศจิกายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 74 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามเขาหินปูนสูงชันที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 990-2,200 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะดอยเชียงดาว ดอยเวียงผา จ.เชียงใหม่ และดอยหัวหมด จ.ตาก

เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย ชื่อชนิด siamicum ตั้งตามประเทศสยาม ซึ่งเป็นชื่อเดิมของประเทศไทยที่เป็นสถานที่ที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก สำรวจพบครั้งแรกโดย“นายพุด ไพรสุรินทร์” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2469 จากดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่

4. หยั่งสมุทร

ชื่อท้องถิ่น : มะคะแนง , มะจินดา , ส้มจินดา , ส้มจี , ส้มป่อง , ส้มมะแง่ง(ภาคเหนือ) ; เครือกิ่วคา , เครือข้าวนึ่ง(เชียงใหม่) ; แตงเถื่อน(เชียงราย) ; ส้มเสี้ยน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amalocalyx microlobus Pierre ex Spire

วงศ์ : Apocynaceae

หยั่งสมุทร

ไม้เลื้อยเนื้อแข็งสีเขียว และเหนียว ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปมนแผ่ หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีชมพู สีขาวอมชมพู หรือสีขาวอมม่วง ดอกเป็นหลอดรูปกรวยหรือรูปแตร ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ รูปรีกว้าง ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว โดยพบทอดเลื้อยตามพื้นหรือตามต้นไม้ในเขาหินปูน ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,300 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ชื่อสกุล Amalocalyx มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า amalos แปลว่า นุ่ม และคำว่า kalyx แปลว่า กลีบเลี้ยง ความหมายก็คือ“กลีบเลี้ยงมีขนสั้นนุ่ม”

5. นางเลว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chlorophytum nepalense (Lindl.) Baker

วงศ์ : Asparagaceae

นางเลว

ไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้น รูปแถบแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะหรือช่อแยกแขนงตามปลายยอด ดอกสีขาว กลีบดอกเป็นกลีบรวม6กลีบ ซ้อนกัน2ชั้นๆละ3กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนานแคบ ออกดอกในราวเดือนเมษายน – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ Liliaceae ทั่วโลกพบ 201 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า ทุ่งหญ้า และบนเขาหินปูนทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมา และไทย

6. กากหมาก

ชื่อท้องถิ่น : ว่านดอกดินขาว(ภาคเหนือ) ; โหราเท้าสุนัข

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balanophora latisepala (Tiegh.) Lecomte

วงศ์ : Balanophoraceae

กากหมาก ดอกเพศผู้

กากหมาก ดอกเพศเมีย

ไม้ล้มลุกจำพวกพืชเบียนหรือพืชกาฝาก สูงราวๆ 6-25 ซม. สีชมพูอ่อนจนถึงสีม่วงอ่อน บริเวณที่ติดกับรากของพืชที่อาศัยอยู่จะเป็นก้อนปุ่มปมที่มีลักษณะไม่แน่นอน ประกอบด้วยก้อนขนาดเล็กและแตกแขนง ผิวเป็นสะเก็ดหยาบๆคล้ายตุ่มรูปดาวกระจายอยู่ทั่วไป พักตัวในช่วงฤดูแล้ง เจริญเติบโตในช่วงฤดูฝน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบลดรูปคล้ายเกล็ด 3-6 ใบ ใบไม่มีสีเขียว แต่มีสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลือง เพราะเป็นพืชเบียนที่ไม่ต้องสังเคราะห์แสง ออกดอกเป็นช่อกระจะคล้ายช่อเชิงลดตามปลายยอด ดอกแยกเพศและอยู่ต่างต้น ต้นหนึ่งมีช่อเดียวหรือมากกว่า มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก กลิ่นหอมเอียน ช่อดอกเพศผู้รูปยาวคล้ายไม้กระบอง หรือรูปไข่แกมรี ดอกสีขาวหรือสีขาวครีมติดอยู่เป็นระยะที่ปลายช่อ รูปดอกเบี้ยว กลีบดอกรวมมี 4-6 กลีบ เรียงเป็น2แถว ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่ หรือรูปเกือบสี่เหลี่ยม ส่วนช่อดอกเพศเมียรูปไข่ยาวๆ รูปรี หรือรูปไข่กลับ ดอกสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดง ไม่มีกลีบดอกรวม แต่จะมีขนาดเล็กราวปลายดินสอเรียงตัวอัดกันแน่นอยู่บนก้านช่อดอก ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนกุมภาพันธ์

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 25 ชนิด ในไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝากที่อาศัยเกาะกินน้ำและอาหารอยู่บนรากพืชในวงศ์ Fabaceae วงศ์ Vitidaceae และสกุล Ficus วงศ์ Moraceae ตามใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,600 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในเมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว ชื่อสกุล Balanophora มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า balanos แปลว่า กาบรูปถ้วย และคำว่า phoros แปลว่า เกิด ตามลักษณะช่อผลที่มีใบประดับคล้ายกาบรูปถ้วย

7. เทียนปีกผีเสื้อ

ชื่อท้องถิ่น : เทียนหัวหมดแคระ , เทียนอุ้มผาง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens patula Craib

วงศ์ : Balsaminaceae

เทียนปีกผีเสื้อ

ไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว สูง 10-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามซอกใบและปลายกิ่ง ขนาดดอกราว 2.5 ซม. ดอกเป็นรูปคล้ายเด็กผู้หญิงนุ่งกระโปรง ดอกสีชมพู หรือสีชมพูอมม่วง กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 1,120 ชนิด ในไทยพบกว่า 80 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งของภูเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,500 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะบนดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก และเทือกเขาหินปูนใน จ.กาญจนบุรี

เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย ชื่อสกุล Impatiens มาจากภาษาละติน แปลว่า ไม่อดทน หมายความถึง“ผลที่แตกง่ายเมื่อสัมผัส” ส่วนชื่อชนิด patula เป็นภาษาละติน แปลว่า เปิดออก หรือกางออก ในที่นี้หมายถึงกลีบดอกคู่ล่างที่กางออกคล้ายปีกผีเสื้อ

8. เอื้องหมายนาใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hellenia lacera (Gagnep.) Govaerts

วงศ์ : Costaceae

เอื้องหมายนาใหญ่

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สีเขียวอมน้ำตาลแดง สูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีถึงรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตั้งตรงตามปลายยอด ขนาดดอก 5-7 ซม. ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพู ดอกเป็นหลอดรูปกรวยปากแตร ปลายหลอดดอกแยกออกเป็น3กลีบ กลางดอกมีแต้มสีเหลืองอ่อน ขอบกลีบดอกหยักและย่น ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากสกุล Cheilocostus ทั่วโลกพบ 8 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าที่มีความชุ่มชื้น ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ เชิงเขา และริมลำห้วยในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 800-1,700 เมตร ทางภาคเหนือ

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมา และไทย

9. เอื้องหมายนา

ชื่อท้องถิ่น : ชู้ไล้บ้อง , ซูเลโบ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; บรรไดเวียน , บันไดเวียน , เอื้องดิน(ภาคกลาง) ; บันไดสวรรค์ , เอื้องดิน , เอื้องใหญ่(ภาคใต้) ; เอื้องเพ็ดม้า(เกาะสมุย) ; เอื้องช้าง(นครศรีฯ) ; เอื้องต้น(ยะลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hellenia speciosa (J.Koenig) S.R.Dutta

วงศ์ : Costaceae

เอื้องหมายนา

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงราว 0.7-3 เมตร ปลายยอดมักโค้งเวียน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบด้านล่างมักลดรูป ใบช่วงบนเป็นรูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามปลายยอด ดอกมักทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพู ดอกตูมมีกาบสีแดงคล้ำหุ้ม ดอกเมื่อบานเต็มที่เป็นหลอดรูปกรวยปากแตร ตรงกลางภายในดอกมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพู ปลายหลอดดอกผายบานออกเป็น3กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกัน ออกดอกตลอดทั้งปี แต่มีมากในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม

พบขึ้นตามชายป่าที่มีความชุ่มชื้น ริมลำห้วย ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ป่าพรุ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,700 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย เกาะนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และออสเตรเลีย

10. เสี้ยวฟ่อม

ชื่อท้องถิ่น : เสี้ยวน้อย , เสี้ยวป๊อก(แพร่) ; เสี้ยวเคี้ยว(เลย) ; บะหมะคอมี(กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ; ส้มเสี้ยวน้อย(ปราจีนบุรี) ; ส้มเสี้ยวใบบาง(ประจวบคีรีขันธ์)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia viridescens Desv.

วงศ์ : Fabaceae

เสี้ยวฟ่อม

ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูงได้ถึง 4 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลม ดอกแยกเพศ ต่างต้น ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวแกมเขียวจนถึงสีเหลืองอ่อน ดอกเมื่อบานเต็มที่มีกลีบดอก5กลีบ รูปช้อน หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 192 ชนิด ในไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 800 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พืชชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบทั้ง 2 ชนิดย่อย ได้แก่ var. hirsuta K.Larsen & S.S.Larsen เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.กาญจนบุรี และ var. viridescens แพร่กระจายในบังกลาเทศ จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และอินโดนีเซีย ชื่อสกุล Bauhinia ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเกียรติแก่2พี่น้องตระกูล Bauhin คือ Jean Bauhin (ค.ศ.1514-1613) และ Gaspard Bauhin (ค.ศ.1560-1624) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวิตเซอร์แลนด์

11. กระดูกอึ่ง

ชื่อท้องถิ่น : มะแฮะนก(ภาคเหนือ) ; ขมิ้นนาง , ลูกประคำผี(ปราจีนบุรี) ; อีเหนียว(ภาคกลาง) ; ขมิ้นลิง(ประจวบคีรีขันธ์) ; เหนียวหมา(ชุมพร) ; หน้านวล(สงขลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrolobium triangulare (Retz.) Schindl.

วงศ์ : Fabaceae

กระดูกอึ่ง

ไม้พุ่ม สูง 0.5-2 เมตร ใบประกอบแบบใบย่อย3ใบ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบย่อยตอนปลายรูปรีแกมรูปไข่กลับแคบ ใบย่อยคู่ด้านข้างมักเบี้ยว รูปไข่จนถึงรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะสั้นๆตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน ดอกเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอก5กลีบ กลีบกลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก4กลีบ รูปไข่กลับจนถึงรูปค่อนข้างกลม กลีบคู่ด้านข้างรูปขอบขนาน โคนกลีบเบี้ยวและสอบเรียวเป็นก้าน กลีบคู่ล่างรูปขอบขนาน ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 19 ชนิด ในไทยพบ 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-800 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

พืชชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบทั้ง 2 ชนิดย่อย ได้แก่ subsp. cephalotoides (Craib) H.Ohashi แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เมียนมา และไทย และ subsp. triangulare แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีน ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เกาะบอร์เนียว และอินโดนีเซีย

12. โสกเหลือง

ชื่อท้องถิ่น : โสกเหลืองแม่เมย(ทั่วไป) ; ตะนา(กะเหรี่ยง-แม่เมย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saraca thailandica Pongam. , Panyadee & Inta

วงศ์ : Fabaceae

โสกเหลือง

ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 15 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มีใบย่อย 3-6 คู่(ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม) รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดหลั่นตามลำต้น ดอกสีส้มอมเหลือง ก่อนเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ปลายหลอดแยกเป็น4กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกัน รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 12 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 800-1,400 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.เชียงใหม่ , จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก

เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย(แต่อาจมีการพบในเมียนมา รอการสำรวจ) ชื่อสกุล Saraca อาจมาจากภาษาอินเดียคำว่า asoka แปลว่า ต้นไม้ และภาษาสันสกฤตคำว่า sara แปลว่า สีสัน หมายถึง“ต้นไม้ที่มีสีสดใส” ส่วนชื่อชนิด thailandica มีความหมายว่า“พืชแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก ค้นพบโดย“นายวิทยา ปองอมรกุล” “ดร.ประทีป ปัญญาดี” “นายนัทธี เมืองเย็น” นักพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และ“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา อินตา” จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก โดยได้ตีพิมพ์การค้นพบนี้ในวารสารพฤกษศาสตร์ไทย (Thai Journal of Botany) ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 หน้า 29–36

13. เอื้องหงอนไก่

ชื่อท้องถิ่น : ว่านไก่เต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeschynanthus fulgens Wall. ex R.Br.

วงศ์ : Gesneriaceae

เอื้องหงอนไก่

ไม้พุ่มอิงอาศัย ขึ้นเป็นต้นเดี่ยวหรือเป็นกอ สูง 40-60 ซม. ชนิดนี้มีความผันแปรสูง ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบปลายกิ่ง ช่อละ 3-16 ดอก ดอกสีแสด สีส้มอมแดง หรือสีแดงสด ดอกเป็นหลอดรูปปากแตรโค้งงอ ปลายหลอดดอกแยกออกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 185 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบชื้น โดยเฉพาะต้นก่อในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย ชื่อสกุล Aeschynanthus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า aischyno แปลว่า น่าอาย และคำว่า anthos แปลว่า ดอก ตามลักษณะดอกที่กลีบดอกไม่บานออก อนึ่งชนิดนี้มีขนาดดอกใหญ่ที่สุดในสกุลนี้

14. บุหงาอุ้มผาง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microchirita lilacina C.Puglisi

วงศ์ : Gesneriaceae

บุหงาอุ้มผาง

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 40 ซม. โคนต้นมีใบเดียว สูงขึ้นมาเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก ใบเดียวจะมีขนาดใหญ่กว่า รูปไข่ ออกดอกเป็นช่อวางบนใบเดียว ช่อละ 2-15 ดอก ขนาดดอก 0.25 ซม. ดอกสีม่วงอ่อนแกมขาว ดอกเป็นหลอดรูประฆัง ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในสกุล Chirita ทั่วโลกพบ 48 ชนิด ในไทยพบ 30 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอิงอาศัยบนหินที่ชุ่มชื้นในป่าดิบ และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 120-990 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก และ จ.กาญจนบุรี

เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย ชื่อสกุล Microchirita หมายถึงคล้ายพืชในสกุล Chirita แต่มีขนาดเล็ก

15. ชาม่วง

ชื่อท้องถิ่น : ก้านเกาสตุกะ , ชาครามดอย(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paraboea glandulifera (Barnett) C.Puglisi

วงศ์ : Gesneriaceae

ชาม่วง

ไม้พุ่มเตี้ย ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีม่วง บางครั้งพบดอกสีขาว ดอกเป็นรูประฆังเบี้ยว ปลายแยกเป็น5กลีบซ้อนเหลื่อมกัน ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากสกุล Didymocarpus และปัจจุบันได้รวมเอาสกุล Phylloboea และสกุล Trisepalum ไว้ด้วย ทั่วโลกพบ 152 ชนิด ในไทยพบ 75 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามพื้นที่โล่งบนเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 800-1,000 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะบนดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก

แพร่กระจายในเมียนมา และไทย ชื่อสกุล Paraboea แปลว่า สกุลที่คล้ายกับสกุล Boea

16. เฉวียนฟ้า

ชื่อท้องถิ่น : โคมสายกระดิ่ง , ช่อม่วง , ดอกฟ้า , รุ้งฟ้า , ไอ้เบี้ยว(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhynchoglossum obliquum Blume

วงศ์ : Gesneriaceae

เฉวียนฟ้า

ไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว ลำต้นอวบน้ำ สูงราว 10-150 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่รี หรือรูปไข่เบี้ยว ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายยอด ช่อละ 10-24 ดอก เรียงเป็นแถวบนก้านช่อดอกเพียงด้านเดียว และมักจะห้อยลง ขนาดดอก 0.5-1.5 ซม. ดอกสีน้ำเงิน สีฟ้า สีฟ้าแกมม่วง สีม่วงเข้ม หรือสีม่วงอมชมพู ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายหลอดดอกแยกเป็น2ปาก ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 14 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นบนหินปูนที่เปียกชื้น อาจพบขึ้นบนหินชนิดอื่น ชายป่าที่ชุ่มชื้น ริมลำน้ำ ไหล่ผาลาดชันในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว และเกาะนิวกินี ชื่อสกุล Rhynchoglossum มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า rhynchos แปลว่า จะงอย และคำว่า glossa แปลว่า ลิ้น ตามลักษณะของกลีบปากล่างยื่นยาวเป็นจะงอยคล้ายลิ้น

17. กลอนดู่ดอกเหลือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gomphostemma parviflorum Wall. ex Benth.

วงศ์ : Lamiaceae

กลอนดู่ดอกเหลือง

ไม้ล้มลุกมีอายุฤดูเดียว สูงได้ถึง 70 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายยอด ดอกสีเหลือง บางครั้งอาจพบสีขาว หรือสีม่วง ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น2ปาก ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 30 ชนิด ในไทยพบ 11 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นริมลำน้ำ หรือใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้นในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล จีน เมียนมา ไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

18. หญ้านกเค้าน้อย

ชื่อท้องถิ่น : ปริกใบแหลม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucas decemdentata (Willd.) Sm.

วงศ์ : Lamiaceae

หญ้านกเค้าน้อย

ไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียว สูง 50-150 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกย่อยทยอยบานเรียงเป็นวงรอบแกน ขนาดดอก 1-1.3 ซม. ดอกสีขาว หรือสีเหลืองอ่อนแกมขาว ดอกเป็นหลอดรูปปากเปิด ปลายหลอดดอกแยกเป็น2ปาก ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 116 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่รกร้าง ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า ป่าชายหาด ชายป่า เขาหินปูน ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

พืชชนิดนี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ var. decemdentata แพร่กระจายในอิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีน ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะนิวกินี และออสเตรเลีย ชื่อสกุล Leucas มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า leukas แปลว่า สีขาว ความหมายก็คือ“ดอกของพืชสกุลนี้ส่วนใหญ่มีสีขาว” ส่วนชื่อชนิด decemdentata เป็นภาษากรีกแปลว่า หยักเป็นซี่ฟัน10ซี่ ความหมายก็คือ“จำนวนแฉกที่ปลายหลอดกลีบเลี้ยงมี10แฉก”

19. กะเพราะตะนาวศรี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Teucrium scabrum Suddee & A.J.Paton

วงศ์ : Lamiaceae

กะเพราะนาวศรี

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 15-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก และออกเป็นวงรอบข้อๆละ3ใบ รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกตั้งตรงตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยเรียงเป็นกระจุกๆละ2ดอก ดอกสีม่วงอ่อน ดอกเป็นหลอดรูปปากเปิด ปลายหลอดดอกแยกด้านล่างเพียงด้านเดียวเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนพฤศจิกายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 295 ชนิด ในไทยพบประมามณ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งบนเขาหินปูนแถบเทือกเขาตะนาวศรีที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,100 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบตั้งแต่บริเวณ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จนถึง จ.กาญจนบุรี

เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย โดยพบครั้งแรกของโลกบริเวณเขาหินปูนดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก ชื่อสกุล Teucrium มาจากภาษากรีกคำว่า teukrion อาจมาจาก Teukros ผู้ตั้งเมือง Salamis ในไซปรัส ส่วนชื่อชนิด scabrum หมายถึง มีขนสากตามแผ่นใบ โดยได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Kew Bulletin เล่มที่ 63 ของสวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งมีการตีพิมพ์พืชชนิดนี้อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ส่วนชื่อไทยว่า“กะเพราตะนาวศรี” ตั้งชื่อตามแหล่งที่พบบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี

20. สาหร่ายน้ำตก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Utricularia striatula Sm.

วงศ์ : Lentibulariaceae

สาหร่ายน้ำตก

สาหร่ายน้ำตก

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีจำพวกพืชกินแมลง สูงได้ถึง 2.5 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกมากมายบริเวณโคนต้น รูปไข่กลับ หรือรูปช้อน ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรง ช่อละ 1-6(10) ดอก ขนาดดอก 0.3-1 ซม. ดอกสีม่วงอ่อนจนถึงสีขาว ดอกเป็นหลอดรูปปากเปิด ปลายหลอดดอกแยกเป็น2ปาก ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 284 ชนิด ในไทยพบ 29 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามเปลือกต้นไม้ โขดหิน หรือบางครั้งพบตามพื้นดินที่มีความชุ่มชื้นสูงในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 400 เมตร ขึ้นไป ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในโอมาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย เกาะนิวกินี และทวีปแอฟริกา ชื่อสกุล Utricularia มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า utriculus แปลว่า ถุงขนาดเล็ก หรือกระเพาะปัสสาวะ ตามลักษณะของพืชสกุลนี้ที่มีอวัยวะจับแมลงเป็นรูปคล้ายถุงขนาดเล็ก

21. เอนอ้าขนแข็ง

ชื่อท้องถิ่น : เอนอ้าวิเชียร(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osbeckia setosoannulata E.T.Geddes

วงศ์ : Melastomataceae

เอนอ้าขนแข็ง ดอกยังบานไม่เต็มที่

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 20-70 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี หรือรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ช่อละ 2-10 ดอก ดอกสีม่วง กลีบดอก4กลีบ ออกดอกในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 42 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งบนภูเขา โดยเฉพาะเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-600 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.ตาก และ จ.กาญจนบุรี

แพร่กระจายในเมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา ชื่อสกุล Osbeckia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Pehr Osbeck (ค.ศ.1723-1805) นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน ส่วนชื่อชนิด setosoannulata หมายถึง ขนแข็งที่เรียงกันเป็นวงบนฐานรองดอกรูปถ้วย

22. ขาวดงอัสสัม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tropidia angulosa (Lindl.) Blume

วงศ์ย่อย : Neottioideae

วงศ์ : Orchidaceae

ขาวดงอัสสัม

ลำต้นเหนือพื้นดิน สูง 10-20 ซม. ต้นหนึ่งมี 2-3 ใบ ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามทางปลายยอด รูปรี รูปไข่ หรือรูปหัวใจ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายยอด มีดอกย่อยมากได้ถึง 30 ดอก ขนาดดอก 0.6-0.8 ซม. ดอกสีขาว หรือสีครีม กลีบเลี้ยงตอนบนรูปแถบหรือรูปใบหอกแคบ กลีบเลี้ยงคู่ด้านข้างเชื่อมติดกัน รูปขอบขนานจนถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กลีบดอกรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แคบ ดูคล้ายท้องเรือ ปากดอกอยู่ด้านบน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กลางปากดอกมีสันตามยาว2สัน ค่อนไปทางปลายปากดอกมีแต้มสีน้ำตาลอมส้มจนถึงสีส้ม โคนปากดอกมีเดือยดอกรูปทรงกระบอกโค้งลง ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 34 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ดิน พบขึ้นตามร่มรำไรที่ค่อนข้างมืดครึ้มในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,700 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบทางภาคเหนือ , จ.เลย , จ.นครราชสีมา , จ.จันทบุรี , จ.สระบุรี , จ.กาญจนบุรี และ จ.พังงา

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน ทิเบต จีน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สกุลนี้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1831 โดย Sir John Lindley นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อสกุล Tropidia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า tropideion แปลว่า สัน ความหมายก็คือ“มีเส้นใบเป็นสันที่หลังใบ” ชนิดนี้พบครั้งแรกในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย โดย Nathaniel Wallich ต่อมาในปี ค.ศ.1833 Sir John Lindley ได้ตั้งชื่อพฤกษศาสตร์เป็นครั้งแรกว่า Cnemidia angulosa Lindl. หลังจากนั้น Carl Ludwing von Blume ได้ศึกษาทบทวนและย้ายมาไว้ในสกุล Tropidia แล้วใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ตามปัจจุบัน ส่วนชื่อชนิด angulosa หมายถึง ใบ2ใบที่กางออกเป็นมุม

23. นางอั้วจิ๋ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Habenaria porphyricola Schltr.

วงศ์ย่อย : Orchidioideae

วงศ์ : Orchidaceae

นางอั้วจิ๋ว

สูง 10-23 ซม. ต้นหนึ่งมี 2-3 ใบ ออกที่โคนต้น แนบติดผิวดิน รูปรีเกือบกลม สีเขียวเข้มเป็นมันวาว ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรงตามปลายยอด มีดอกย่อยเรียงห่างกัน ขนาดดอก 0.8-1.4 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงตอนบนรูปรีหรือรูปไข่ กลีบเลี้ยงคู่ด้านข้างรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่เบี้ยว กลีบดอกเป็นอุ้งคล้ายหมวก รูปเคียว ปลายปากดอกแยกเป็น3แฉกลึก ปลายแฉกงอโค้ง ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน

เป็นกล้วยไม้ดิน พบขึ้นตามทุ่งหญ้าในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และบนเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 130-700 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบใน จ.เชียงใหม่ , จ.ลำพูน , จ.ลำปาง , จ.ตาก และ จ.จันทบุรี

เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย

24. ดอกดินแดง

ชื่อท้องถิ่น : ซอซวย(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ปากจะเข้(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; หญ้าดอกขอ(เลย) ; ดอกดิน , หญ้าเข้าก่ำ(ภาคกลาง) ; สบแล้ง , สอน(สงขลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeginetia indica L.

วงศ์ : Orobanchaceae

ดอกดินแดง

ไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียวจำพวกพืชเบียน ทุกส่วนของต้นไม่มีสีเขียว เพราะไม่ต้องสังเคราะห์แสง แต่จะมีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกที่โคนกอ ใบลดรูปเป็นเกล็ดเล็กๆซึ่งไม่มีคลอโรฟิล รูปสามเหลี่ยม สีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลแดง สังเกตได้ยาก ดอกมีความผันแปรสูง ทั้งรูปร่าง ขนาด และสีของดอก ออกดอกเดี่ยว โดยแทงก้านดอกแข็งตั้งตรงขึ้นมาจากเหง้า ดอกเมื่อบานเต็มที่เป็นรูปหลอดกว้างโค้งงอหรือรูปถ้วยคว่ำอ้วน ปลายอ้าออกเป็น2ปาก กลีบดอกด้านในสีม่วงอมแดง หรือสีม่วงเข้ม กลีบดอกด้านนอกสีขาวอมม่วงถึงสีม่วงเข้ม ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนพฤศจิกายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 7 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชเบียนหรือพืชกาฝากที่อาศัยเกาะกินน้ำและอาหารอยู่บนรากไม้อื่น โดยเฉพาะรากต้นไผ่ รากต้นกก และรากต้นหญ้าที่อยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้นหรือมีน้ำขังในป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-1,600 เมตร ทั่วทุกภาค อนึ่งชนิดนี้มีความผันแปรสูง ทั้งรูปร่าง ขนาด และสีของดอก

พืชชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ var. indica แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย และเกาะนิวกินี ชื่อสกุล Aeginetia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Paulus Aegineta นายแพทย์ชาวอียิปต์ในช่วงศตวรรษที่ 7

25. ว่านดอกสามสี

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องดิน(ภาคเหนือ) ดอกดิน(ภาคเหนือ , เลย) ว่านหญ้าแฝก(ลพบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Christisonia siamensis Craib

วงศ์ : Orobanchaceae

ว่านดอกสามสี

ไม้ล้มลุกจำพวกพืชเบียนหรือพืชกาฝากบนรากไผ่ มีอายุฤดูเดียว ทุกส่วนของต้นไม่มีสีเขียว ลำต้นสั้นมากอยู่ใต้ดิน ใบลดรูปมีขนาดเล็ก ออกดอกเดี่ยวๆตามปลายยอดลำต้น และขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ดอกสีขาวอมม่วง สีม่วงอมชมพู จนถึงสีม่วงเข้ม ดอกบานเพียง 2-3 วัน ก็ร่วงโรย ดอกเป็นหลอดรูประฆัง ผิวหลอดดอกด้านนอกมีสีขาวขุ่นจนถึงสีขาวแกมม่วง ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบไม่ชัดเจน ขนาดเล็ก สีม่วงเข้ม กลีบล่างด้านในมีแต้มสีเหลืองพาดยาว ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 24 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในป่าดิบและเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,000 เมตร แทบทุกภาค เฉพาะภาคใต้พบที่ จ.ชุมพร

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีน เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม ชื่อสกุล Christisonia ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ Robert Christison (ค.ศ.1797-1882) นักพิษวิทยาชาวสกอตแลนด์ ส่วนชื่อชนิด siamensis หมายถึง สยาม หรือประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก สำรวจพบโดย A.F.G.Kerr นายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวไอริช เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 บริเวณป่าไผ่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯ 210 เมตร ใน จ.น่าน

26. ช่อศิลา

ชื่อท้องถิ่น : คำหิน(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterygiella parishii (Hook.f.) Pinto-Carr., E.Rico & M.M.Mart.Ort.

วงศ์ : Orobanchaceae

ช่อศิลา

ไม้ล้มลุกขนาดเล็กจำพวกพืชเบียนหรือพืชกาฝาก ตั้งตรงสูง 5-15 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ส่วนใหญ่ออกเป็นกระจุกตามโคนต้น ลักษณะคล้ายใบเฟิร์น รูปไข่กว้างถึงรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบใกล้ปลายยอด ขนาดดอก 0.7-1 ซม. ดอกสีเหลืองสด ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น2ปาก ปากบนมี2กลีบ และมีสีม่วงอมแดงแต้มอยู่บนโคนกลีบด้านนอก ปากล่างมี3กลีบ ออกดอกในราวเดือนกันยายน – เดือนกุมภาพันธ์

พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในวงศ์ Scrophulariaceae ทั่วโลกพบ 10 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามซอกหินโขดหินตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่มีอากาศหนาวเย็น บนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 600-2,200 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบบนดอยเชียงดาว ดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ และดอยหัวหมด จ.ตาก

แพร่กระจายในอินเดียตอนเหนือ เมียนมา และไทย

27. ต่างไก่แจ้

ชื่อท้องถิ่น : งวงช้างดง(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polygala umbonata Craib

วงศ์ : Polygalaceae

ต่างไก่แจ้

ไม้ล้มลุกมีอายุฤดูเดียว สูง 10-50 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอกแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ขนาดดอก 0.3-0.5 ซม. ดอกสีเหลือง กลีบดอก3กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันคล้ายดอกถั่ว ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 422 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 18 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นสูงในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา หรือตามพื้นที่โล่งบนเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200 เมตร ขึ้นไป บางครั้งพบอิงอาศัยบนต้นก่อ ปัจจุบันมีรายงานการพบทางภาคเหนือ , จ.เลย , จ.ขอนแก่น และ จ.กาญจนบุรี

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา ชื่อสกุล Polygala มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า polys แปลว่า มาก และคำว่า gala แปลว่า น้ำนม ความหมายก็คือ“พืชพวก milkwort ที่เพิ่มน้ำนมให้สัตว์เลี้ยง”

28. เฟินกูดอ้อม

ชื่อท้องถิ่น : เฟินกูดเวียน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drynaria coronans (Wall. ex Mett.) J.Sm. ex T.Moore

วงศ์ : Polypodiaceae

เฟินกูดอ้อม

เป็นเฟินอิงอาศัยที่มีเหง้าขนาดใหญ่มาก และมีเกล็ดสีน้ำตาลทองจนถึงสีน้ำตาลอมแดงเป็นมันเงาปกคลุมหนาแน่น โดยเหง้าของเฟินชนิดนี้จะเลื้อยเวียนเกาะโอบอ้อมลำต้นไม้ที่มันอาศัยอยู่จนเป็นวงรอบ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ“เฟินกูดอ้อม” ใบหนาแข็ง ขอบใบทั้งสองด้านหยักเป็นพูแบบขนนกชั้นเดียวลึกเกือบถึงแกนกลางใบ หยักเป็นพูได้มากว่า 12 คู่ แต่ละพูเป็นรูปกึ่งสามเหลี่ยมแกมรูปขอบขนาน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 32 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอิงอาศัยในป่าเบญจพรรณ และดิบแล้ง บางครั้งพบตามโขดหินบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-600 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

29. เฟินชายผ้าสีดาหูช้างไทย

ชื่อท้องถิ่น : เฟินชายผ้าสีดาอีสาน , หูช้างไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Platycerium holttumii Joncheere & Hennipman

วงศ์ : Polypodiaceae

เฟินชายผ้าสีดาหูช้างไทย

เป็นเฟินชายผ้าสีดาชนิดหนึ่ง ซึ่งชนิดนี้มีความสง่างามและขนาดใหญ่ จนอาจเรียกได้ว่าเป็น“ราชาของเฟินอิงอาศัย” ลักษณะทั่วๆไปดูคล้ายห่อข้าวย่าบา(P. wallichii Hook.) แต่เฟินชายผ้าฯชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่า  และใบชายผ้ามีความยาวมากกว่า ใบกาบหุ้มลำต้นชูตั้ง แข็ง มีขนาดใหญ่ แผ่ออกเหมือนเป็นมงกุฎ ปลายใบแตกริ้วเป็นชายครุยหรือพูลึก การเกิดของใบกาบนั้นอาจเกิดต่อเนื่องได้หลายชั้น เส้นใบเป็นสันนูนไปตามความยาวของใบกาบ ลายของเส้นใบเหมือนร่างแหสีดำ เห็นได้ชัดเจน ผิวใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาเหมือนแผ่นหนัง มีขนสีขาวปกคลุมบางๆ บางครั้งขณะที่ต้นยังเล็กจะมีลักษณะสีเหลือบฟ้า หรือเหลือบน้ำเงิน ส่วนใบชายผ้าห้อยลงและแผ่กางออกจากโคน ใบแต่ละข้างแยกเป็น2แขนงสั้น-ยาว(หรือ2กิ่งพู กิ่งบนมีขนาดเล็กและยกระดับอยู่สูง ส่วนอีกกิ่งมีขนาดใหญ่กว่าและห้อยย้อยลงต่ำ) ใบชายผ้าแขนงยาวยังแยกออกเป็น2พู ปลายใบแตกริ้วได้หลายชั้น มีแถบอับสปอร์เป็นแผ่นกว้างอยู่ที่ใต้ส่วนเว้าของแต่ละแขนงใบทางท้องใบ โดยมีเยื่อคลุมบางๆ เมื่อสปอร์แก่..เยื่อจะหลุดออก และสปอร์ก็ปลิวไปตามลม สีของใบจะมีสีเขียวอมเหลือง หรือบางครั้งมีสีเขียวเหลือบฟ้าเล็กน้อย

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 17 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับพบอิงอาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา พบได้เกือบทุกภาคของไทย ยกเว้นภาคใต้

แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย ชื่อชนิด holttumii ตั้งชื่อเป็นเกียรติให้กับ ศจ. Richard Eric Holttum นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผ้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ในระหว่างปี ค.ศ.1925-1949 รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเฟินในมาเลเซีย

30. เฟินก้านดำหางชิงช้า

ชื่อท้องถิ่น : กูดหูควาก(ภาคเหนือ) , กูดผา(เลย) ; เฟินหางชิงช้า(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adiantum philippense subsp. philippense

วงศ์ : Pteridaceae

เฟินก้านดำหางชิงช้า

ลำต้นเป็นท่อนเล็กๆสั้นๆ สีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำต้นหนึ่งมี 2-3 ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ก้านใบประกอบยาวได้ถึง 20 ซม. สีน้ำตาลเข้มอมดำ ใบย่อย ออกเรียงสลับ รูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว หรือรูปพัด และมักห้อยย้อยลง ปลายใบที่แตะผิวดินจะสร้างต้นใหม่ขึ้นมาได้

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 237 ชนิด ในไทยพบมากกว่า 13 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทั่วไปตามริมห้วยน้ำตก หน้าผา และภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในเยเมน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีน ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย ออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา

31. ประดับหินใบเข็ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argostemma lobbii Hook.f.

วงศ์ : Rubiaceae

ประดับหินใบเข็ม

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 8 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม แต่ละคู่มีขนาดไม่เท่ากัน รูปแถบ หรือรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง 1-5 ดอก ดอกสีขาว ดอกเป็นรูปท่อสั้นๆ ปลายแยกเป็น5กลีบ รูปขอบขนาน ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 179 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 32 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นบนเขาหินปูนใกล้ลำธาร หรือใต้ร่มเงาไม้บนก้อนหินโขดหินที่มีมอสส์ปกคลุมใกล้ลำธารในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 100-1,300 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบทางภาคเหนือ , จ.เลย , จ.ชัยภูมิ , จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี

แพร่กระจายในเมียนมา ไทย และลาว ชื่อสกุล Argostemma มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า argos แปลว่า สีขาว และคำว่า stemma แปลว่า มงกุฎ หรือพวงดอกไม้ ความหมายก็คือ“ช่อดอกที่มีดอกสีขาว” ส่วนชื่อชนิด siamense ตั้งตามประเทศสยาม ซึ่งเป็นชื่อเดิมของประเทศไทยที่เป็นสถานที่ที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก

32. ตองลาย

ชื่อท้องถิ่น : ม้าคอกแตก , ฮักมะหาน(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Knoxia sumatrensis (Retz.) DC.

วงศ์ : Rubiaceae

ตองลาย

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 20-100 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรุปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาว สีแดงอมม่วง หรือสีชมพูอมม่วง ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ผิวหลอดดอกด้านนอกสีขาว ปลายหลอดดอกแยกเป็น4กลีบ รูปสามเหลี่ยม ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนพฤศจิกายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีน ไต้หวัน เมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย เกาะนิวกินี และออสเตรเลีย

33. หญ้าตดหมา

ชื่อท้องถิ่น : เครือตดหมา , ตดหมา(เชียงใหม่) ; พอทุอี(กะเหรี่ยง) ; ตดหมูตดหมา , ตำยานตัวผู้ , ตูดหมูตูดหมา , หญ้าตดหมูตดหมา(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Paederia pilifera Hook.f.

วงศ์ : Rubiaceae

หญ้าตดหมา

ไม้เลื้อยมีอายุหลายปี เลื้อยได้ไกลถึง 10 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปหัวใจ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วงอมเทา สีม่วงอมชมพู หรือสีม่วงแดง ดอกเป็นหลอด ผิวหลอดดอกด้านนอกสีม่วงแกมเทาและมีขน ปลายหลอดดอกแยกเป็น5แฉก หยักเว้าตื้นๆ สีขาว ออกดอกในราวเดือนกันยายน – เดือนกุมภาพันธ์

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 33 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบเลื้อยตามพื้นดินหรือพาดต้นไม้อื่นตามที่รกร้าง ชายป่าดิบ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 400-800 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

แพร่กระจายในบังกลาเทศ เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม

34. พิศวงตานกฮูก

ชื่อท้องถิ่น : พิศวงไทยทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thismia thaithongiana Chantanaorr. & Suddee

วงศ์ : Thismiaceae

พิศวงตานกฮูก

พิศวงตานกฮูก

พิศวงตานกฮูก

ไม้ล้มลุกอาศัยรา ไม่มีคลอโรฟิลล์ ปกติจะหลบอยู่ใต้ดินและจะมีเพียงช่วงเวลาสั้นๆ คือช่วงระยะออกดอกเท่านั้น ที่เราจะได้สังเกตุเห็น โดยแทงสูงขึ้นมา 0.12-0.2 ซม. ใบสีออกขาว รูปสามเหลี่ยมแคบ จนถึงรูปไข่ เห็นได้ไม่ชัดเจน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ดอกมีขนาดเล็กมากเท่าหัวไม้ขีดไฟ ลักษณะอวบน้ำ ง่ายต่อการบุบสลาย ดอกอ่อนสีค่อนข้างขาว ดอกบานเต็มที่บริเวณปลายดอกมีสีเขียวมรกตและมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ส่วนโคนดอกสีค่อนข้างขาว มีกลีบรวมเป็นหลอดรูปคนโท ปลายหลอดดอกแยกเป็น6กลีบ รูปสามเหลี่ยม เรียงเป็น2วง วงนอกมีขนาดใหญ่กว่าวงในเล็กน้อย ทั้ง6กลีบเชื่อมติดกันคล้ายหมวก มีรูเปิด3ด้าน มีความสะดุดตาด้วยลักษณะดอกคล้ายนกฮูกตาโต มีหูสองข้าง จึงเรียกกันว่า“พิศวงตานกฮูก” ดอกเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ออกดอกในราวเดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 108 ชนิด ในไทยพบมากกว่า 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นในป่าเต็งรังบนเขาหินปูน โดยเฉพาะใต้ต้นเป้งดอย(Phoenix loureiroi Kunth) และมักมีกากหมากหรือขนุนดิน(Balanophora latisepala Lecomte)ปะปนอยู่ใกล้ๆ ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะดอยหัวหมด จ.ตาก เท่านั้น ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2557 โดย “ดร.กนกอร​ สีม่วง” นักวิจัยมหาวิทยาลัยพะเยา​ และ“นายสุชาติ​ จันทร์หอมหวน” ช่างภาพอิสระ​ ต่อมารองศาสตราจารย์​ ดร.สหัช จันทนาอรพินท์​ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา​ คณะวิทยาศาสตร์​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดร.สมราน​ สุดดี นักวิจัยกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และพันธุ์พืช ร่วมกันตีพิมพ์เป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสาร Phytotaxa เล่มที่ 333(2) หน้า 287-292 ปี ค.ศ.2018

เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย ชื่อสกุล Thismia ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Thomas Smith นักจุลชีววิทยาชาวอังกฤษในช่วงต้นๆของคริสต์ศตวรรษที่18 โดยการเรียงพยัญชนะใหม่ ส่วนชื่อชนิด thaithonggiana ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่รองศาสตราจารย์​ ดร.อบฉันท์ ไทยทอง อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ ซึ่งปูชนียบุคคลของวงการพรรณไม้ของไทย

35. มหาก่านเหลือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wikstroemia dolichantha Diels

วงศ์ : Thymelaeceae

มหาก่านเหลือง

ไม้พุ่ม สูง 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยงเป็นรูปหลอด ปลายหลอดแยกเป็น 4-5 กลีบ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 93 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่โล่งบนเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 900-1,000 เมตร ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะบนดอยหัวหมด อ.อุ้มผาง จ.ตาก

แพร่กระจายในจีน ไทย และเวียดนาม ชื่อสกุล Wikstroemia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Johan Emanuel Wikström (ค.ศ.1789-1856) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน

36. กระชายเขา

ชื่อท้องถิ่น : ว่านสุเทพ , เอื้องดิน(ภาคเหนือ) ; กระทือลิง(ตราด) ; กระชายป่า(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia parvula (Wall. ex Baker) Kuntze

วงศ์ : Zingiberaceae

กระชายเขา

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 7-50 ซม. ต้นหนึ่งมักมี 5-7 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายลำต้นระหว่างซอกใบ ช่อละ 3-7 ดอก ดอกจะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ขนาดดอก 3 ซม. ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น3กลีบ รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ สีขาว หรือสีขาวนวล กลีบคู่ด้านข้างรูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ บางครั้งมีจุดสีแดงประปราย อีก1อันเป็นกลีบปากหรือปากดอก รูปรีกว้าง หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบหยักมนและมีปื้นสีแดง โคนกลีบมีจุดประสี ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 98 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 30 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ที่ชุ่มชื้นสูงใต้ร่มเงาในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

พืชชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบทั้ง 2 ชนิดย่อย ได้แก่ var. major Mood & Veldkamp เป็นพืชถิ่นเดียวในไทย ชนิดย่อยนี้ไม่มีรากสะสมอาหาร ซอกใบและใบประดับมีเมือกใสชัดเจน มีรายงานการพบที่อุทยานฯเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี , อุทยานฯแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ขึ้นตามสันเขาในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯ 900-1,300 เมตร และ var. parvula แพร่กระจายในเมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย อนึ่งชื่อสกุล Boesenbergia ตั้งตาม Clara Boesenberg น้องสาวของ Otto Kuntze (ค.ศ.1843-1907) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน

37. กระชาย

ชื่อท้องถิ่น : จี๊ปู , ซีพู(ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ; เป๊าะซอเร้าะ , เป๊าะสี่(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ละแอน(ภาคเหนือ) ; กระชายดำ , กะแอน , ขิงทราย(มหาสารคาม) ; ว่านพระอาทิตย์(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

วงศ์ : Zingiberaceae

กระชาย

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูงราว 10-100 ซม. สีม่วงอมแดง ต้นหนึ่งมี 3-5(7) ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดแทงขึ้นมาจากเหง้า โดยแทรกขึ้นมาระหว่างซอกใบคู่บนสุด ช่อละ 2-10 ดอก ทยอยออกดอกบานทีละ 2-4 ดอก ขนาดดอก 3-6 ซม. ดอกสีขาว สีขาวปนชมพู สีชมพูอ่อน จนถึงสีชมพูอมแดง ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น3กลีบขนาดไม่เท่ากัน มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปไปคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ สีขาวจนถึงสีชมพู กลีบคู่ด้านข้างรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ สีขาวจนถึงสีชมพูอ่อน อีก1กลีบเป็นกลีบปากหรือปากดอก รูปรี หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ มีเส้นสีม่วงอมแดงเกือบทั้งกลีบ ปลายกลีบแยกเป็น2พูและโค้งออก ปลายกลีบหยักเป็นริ้วและเป็นคลื่นไม่สม่ำเสมอ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม

พบขึ้นตามพื้นที่ที่ชุ่มชื้นสูงใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ในเขาหินปูน ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,200 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีนตอนใต้ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

38. ว่านปด

ชื่อท้องถิ่น : พลอยทักษิณ(ภาคใต้) ; ว่านเอ็นเหลือง(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma aurantiaca Zijp

วงศ์ : Zingiberaceae

ว่านปด

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 12-90 ซม. ต้นหนึ่งมักมี 2-5 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปทรงกระบอกแทงขึ้นมาจากเหง้าและแทรกระหว่างก้านใบ ช่อดอกมีใบประดับเรียงซ้อนทับกันอยู่หนาแน่น โคนช่อมีใบประดับสีเขียวอมส้ม จนถึงสีแดงอมส้ม รูปไข่จนถึงรูปขอบขนาน ส่วนปลายช่อมีใบประดับขนาดใหญ่กว่า สีขาว สีขาวอมชมพูระเรื่อ จนถึงสีชมพู รูปใบหอก ดอกออกตามซอกใบประดับบริเวณโคนช่อ ดอกสีขาว สีเหลืองอ่อน สีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้ม ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น3กลีบ กลีบบนมีปลายกลีบรูปคุ่ม เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ กลีบคู่ด้านข้างขนาดเล็ก สีขาว อีก1กลีบเป็นกลีบปากหรือปากดอก รูปไข่กลับ สีเหลืองเข้ม ปลายกลีบกลมหรือเว้าตื้นเป็น2พู มีแต้มสีเหลืองอมส้มเป็นสันพาดกลางกลีบ ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ปัจจุบันได้รวมสกุล Smithatris และสกุล Stahlianthus เข้าไว้ด้วยกัน ทั่วโลกพบ 167 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 81 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดินที่ชื้นในป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยพบมากทางภาคใต้ตอนล่าง ทั้งนี้ผู้เขียนเคยพบขึ้นบนก้อนหินและพื้นปูนที่ชุ่มชื้น

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ศรีลังกา เมียนมา ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชื่อสกุล Curcuma มีรากศัพท์มาจากภาษาอาราบิกคำว่า Kurkum แปลว่า สีเหลือง ความหมายก็คือ“หัวหรือเหง้ามีสีเหลือง”

39. กระเจียวส้ม

ชื่อท้องถิ่น : ขมิ้นแดง(แม่ฮ่องสอน) ; ฉัตรทอง , บัวสวรรค์(กทม.)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma roscoeana Wall.

วงศ์ : Zingiberaceae

กระเจียวส้ม

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 30-90 ซม. บางครั้งพบสูงได้ถึง 1.20 เมตร ต้นหนึ่งมี 5-8 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกแคบคล้ายใบพาย รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปทรงกระบอกแทงขึ้นมาจากเหง้าและแทรกระหว่างซอกใบ ช่อดอกมีใบประดับสีส้มหรือสีส้มแกมน้ำตาล รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ เรียงซ้อนทับกันอยู่หนาแน่น ปลายช่อมีใบประดับขนาดใหญ่กว่าโคนช่อ ดอกออกตามซอกใบประดับ ขนาดดอก 1 ซม. ดอกสีขาว สีขาวอมเหลือง หรือสีครีม ดอกเป็นหลอดรูปกรวย ปลายหลอดดอกแยกเป็น3กลีบ รูปรีแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ กลีบคู่ด้านข้างรูปไข่จนถึงรูปไข่กลับ สีขาวครีม อีก1กลีบเป็นกลีบปากหรือปากดอก รูปรีกว้าง สีขาวครีม หรือสีขาวแกมส้มอ่อน มีแต้มสีเหลืองจากโคนถึงกลางกลีบ ออกดอกในราวเดือนกันยายน – เดือนพฤศจิกายน

พบขึ้นใกล้ริมลำธาร พื้นที่ร่มรำไรในป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งใกล้เขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 50-800 เมตร ทางภาคเหนือด้านตะวันตก และภาคตะวันตก

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา และไทย

40. ว่านเข้าพรรษา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Globba marantina L.

วงศ์ : Zingiberaceae

ว่านเข้าพรรษา

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่นสูงราว 30-60 ซม. ต้นหนึ่งมี 4-8 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี รูปไข่กลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามปลายยอด แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีเหลือง จนถึงสีเหลืองอมส้ม ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกเป็น3กลีบ กลีบบนรูปไข่ กลีบคู่ล่างรูปไข่กลับ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ สีเหลืองอมส้ม กลีบคู่ด้านข้างรูปขอบขนานหรือรูปแถบ อีก1กลีบเป็นกลีบปากหรือปากดอก รูปไข่กลับ หรือรูปหัวใจกลับ ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 137 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 66 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และชายป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯ ตั้งแต่ 200-1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย เกาะนิวกินี และออสเตรเลีย ชื่อสกุล Globba มาจากภาษา Amboinese ในอินโดนีเซียที่ใช้เรียกพวกขิงข่า

41. ดาวจรัส

ชื่อท้องถิ่น : ปุดนกยูง , ปุดใบเงิน(ยะลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Globba pendula Roxb.

วงศ์ : Zingiberaceae

ดาวจรัส

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 20-135 ซม. ต้นหนึ่งมี 5-14 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจะและแยกแขนงตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีเหลืองส้ม หรือสีเหลืองกลัก ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดแยกเป็น3กลีบ กลีบบนรูปไข่ กลีบคู่ด้านข้างแคบกว่ากลีบบน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ สีเหลืองจนถึงสีเหลืองส้ม กลีบคู่ด้านข้างรูปขอบขนาน หรือรูปรีแคบ อีก1กลีบเรียกว่ากลีบปากหรือปากดอก รูปสามเหลี่ยม หรือรูปหัวใจกลับ ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 137 ชนิด ในเมืองไทยพบอย่างน้อย 66 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้น หรืออิงอาศัยตามก้อนหินโขดหินในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลฯตั้งแต่ 280 เมตร ขึ้นไป ทั่วทุกภาค

พืชชนิดนี้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. pendula แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ศรีลังกา บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ไทย เวียดนาม มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว และอินโดนีเซีย

42. เปราะใหญ่

ชื่อท้องถิ่น : เปราะป่า , เปราะหูวัว , ว่านถอนโมกขศักดิ์ , ว่านนกคุ้ม , ว่านนกคุ้มตัวเมีย(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia elegans Wall.

วงศ์ : Zingiberaceae

เปราะใหญ่

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูงราว 10-48 ซม. ต้นหนึ่งมี 1-4 ใบ ชูตั้งขึ้น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปไข่ป้อม รูปกลมแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกระหว่างยอดลำต้นเทียมและซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมาก แต่จะทยอยบานทีละ 1-3 ดอก ดอกสีขาว หรือสีขาวปนม่วง ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดดอกแยกออกเป็น3กลีบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ หรือรูปแถบ มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ สีม่วงอมชมพู หรือสีม่วงอมแดง และมีแต้มสีขาวที่โคน หรือมีสีขาวล้วนทั้งแผ่นกลีบ กลีบคู่ด้านข้างรูปไข่กลับ อีก1กลีบเป็นกลีบปากหรือปากดอก รูปไข่กลับกว้างเกือบกลม ปกติออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 63 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 41 ชนิด(และยังมีอีกหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการตีพิมพ์เพื่อประกาศเป็นชนิดใหม่) สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมลำน้ำหรือพื้นที่ชุ่มชื้นใต้ร่มเงาไม้ในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และเขาหินปูนที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเกาะบอร์เนียว ชื่อสกุล Kaempferia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Engelbert Kaempfer (ค.ศ.1651–1716) นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน

43. ตะข่าป่า

ชื่อท้องถิ่น : ขิงสิบสองปันนา , ดอกดิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber thorelii Gagnep.

วงศ์ : Zingiberaceae

ตะข่าป่า

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียม เกิดจากกาบใบที่ห่อหุ้มซ้อนทับกันแน่นอยู่หลายชั้น สูง 1-2.5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกแคบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปรี ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตั้งตรงแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกจะทยอยบานโผล่ออกมาตามซอกใบประดับ ดอกสีแดงระเรื่อ ดอกเป็นหลอดสีขาว ปลายหลอดดอกแยกเป็น3กลีบ สีแดงระเรื่อ รูปใบหอกจนถึงรูปขอบขนานแคบ เกสรเพศผู้เป็นหมัน3อันเปลี่ยนรูปดูคล้ายกลีบดอก มี3กลีบ สีเหลืองอ่อน กลีบคู่ด้านข้างรูปไข่กลับจนถึงรูปขอบขนาน อีก1กลีบเป็นกลีบปากหรือปากดอก รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม

พบตามชายป่าหรือริมลำธารในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,500 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

แพร่กระจายในเมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)


สัตว์ป่า


                              สัตว์ป่าที่พวกเราได้พบและบันทึกภาพ ส่วนใหญ่เป็นแมงและมลง มีทั้งหมด 57 ชนิด(เรียงตามวงศ์ สกุล และชนิด) ได้แก่

1. แมลงหนอนปลอกน้ำ

ชื่อสามัญ : Caddisflies

ชื่ออื่นๆ : Sedge

อันดับ : Trichoptera

แมลงหนอนปลอกน้ำ

แมลงหนอนปลอกน้ำ

                              เป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตสมบูรณ์ คือ เจริญเติบโตพัฒนาจากระยะไข่ไปเป็นตัวอ่อน ระยะดักแด้ และตัวเต็มวัย

                              ตัวอ่อนมีรูปร่างเหมือนหนอน ลำตัวอ่อนนุ่ม ส่วนหัวปกคลุมด้วยแผ่นแข็ง ส่วนปลายท้องมีขาเทียม1คู่ และส่วนปลายของขาเทียมแต่ละข้างจะมีตะขอ ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาล เทา เหลือง หรือเขียว มีทั้งชนิดที่สร้างปลอกและไม่สร้างปลอก ชนิดที่สร้างปลอกจะสร้างติดกับวัสดุ เช่น ก้อนหิน เปลือกหอย กิ่งไม้  ใบไม้ เป็นต้น โดยปลอกจะถูกสร้างขึ้นจากทราย เปลือกหอย ใบไม้ กิ่งไม้ และเปลือกไม้ ปลอกใช้สำหรับการพรางตัวและหลบภัยจากศัตรูและสัตว์น้ำที่เป็นผู้ล่า ส่วนชนิดที่ไม่มีการสร้างปลอกก็จะสร้างรังยึดเกาะติดกับวัสดุพื้นท้องน้ำ

                              ตัวเต็มวัยมีขนาด 1.5-4 ซม. แล้วแต่ชนิด ลักษณะคล้ายผีเสื้อกลางคืน ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาล สีเทา และสีดำ ปีกหนา2คู่ปกคลุมไปด้วยขน ขณะเกาะพักปีกจะหุบปีกเป็นรูปสามเหลี่ยม มองดูคล้ายหลังคาบ้าน ปากไม่มีลักษณะเป็นท่อยาวเหมือนผีเสื้อ หนวดเรียวยาว บางชนิดมีหนวดยาวกว่าลำตัว 4-5 เท่า ส่วนใหญ่พบในเวลากลางคืน เพราะมีพฤติกรรมชอบเล่นแสงไฟเหมือนแมลงทั่วไป ในเวลากลางวันจะซ่อนตัวตามพืชใกล้แหล่งน้ำ

                              โดยปกติวัฏจักรชีวิตจะมีอายุระหว่าง 6 เดือน จนถึง 2 ปี เพศเมียบางชนิดจะวางไข่เป็นกลุ่มตามพืชและวัสดุที่อยู่ใต้ผิวน้ำ บางชนิดก็จะวางไข่ตามพืชและวัสดุระดับผิวน้ำ ไข่จะฟักตัวในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ตัวหนอนที่ฟักออกมาใหม่จะกินสาหร่ายหรือเศษพืช บางชนิดเป็นผู้ล่าสัตว์ขนาดเล็ก ตัวหนอนมี5ระยะ เจริญเป็นตัวเต็มวัยภายใน 6-10 เดือน ระยะเข้าดักแด้นั้นตัวหนอนจะสร้างปลอกตัวอ่อนออกมาหุ้มตัวและเข้าดักแด้ราวว 2-5 สัปดาห์ จากนั้นตัวเต็มวัยจะกัดปลอกแล้วว่ายน้ำหรือคลานขึ้นสู่ผิวน้ำ ต่อเมื่อปีกแห้งสนิทดีแล้วก็จะบินหาอาหารเพื่อดำรงชีวิตได้อีกหลายสัปดาห์ ก่อนจับคู่ผสมพันธุ์และกลับสู่น้ำเพื่อวางไข่อีกครั้ง

                              ตัวหนอนมีลักษณะคล้ายกับตัวหนอนของด้วง ที่อกมีขา3คู่ ท้องเห็นปล้องชัดเจน ปล้องสุดท้ายมีขาเทียม2อัน บางชนิดที่ด้านข้างของท้องหรือใต้ท้องมีเหงือกเรียงเป็นแถว

                              ในระยยะตัวอ่อนอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่สะอาดและมีคุณภาพน้ำดี จึงเป็นแมลงอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้เป็นดัชนีชีวภาพที่บ่งบอกถึงแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี

                              ทั่วโลกมีรายงานการพบแมลงชนิดนี้มากกว่า 10,000 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบประมาณ 1,000 ชนิด(ประมาณ 750 ชนิด เป็นการพบครั้งแรกของโลกในไทย) โดยพบอาศัยตามพืชใกล้แหล่งน้ำ

                              สำหรับชนิดที่เราพบตามทางเดินสู่น้ำตกทีลอซู อยู่ในวงศ์ Lepidostomatidae โดยดูจากลักษณะปลอกที่ใช้ห่อหุ้มพรางตัว ในวงศ์นี้แบ่งออกเป็น 2 วงศ์ย่อย 16 สกุล 84 ชนิด

2. ตั๊กแตนหนวดสั้นปลายขาว

ชื่อสามัญ : White-tipped Antenna Grasshopper

ชื่ออื่นๆ : Silent Slant-faced Grasshopper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phlaeoba antennata Brunner von Wattenwyl, 1893

วงศ์ย่อย : Acridinae

วงศ์ : Acrididae

ตั๊กแตนหนวดสั้นปลายขาว

                              ขนาด 2.5-3.5 ซม. หนวดสีดำ ปลายหนวดสีขาว ขณะเกาะนั้นปีกจะยาวเกินส่วนท้อง เพศผู้มีส่วนหัว อก และท้องสีเขียว ขาคู่หลังสีน้ำตาลออกเหลือง ส่วนเพศเมียมีสีน้ำตาลทั้งตัว มักเกาะตามพุ่มไม้เตี้ยๆ บางครั้งพบกินซากแมลง

                              ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. antennata Brunner von Wattenwyl, 1893

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 24 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอินเดีย จีน ฮ่องกง เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

3. ตั๊กแตนหนวดสั้นสีตาลจาง

ชื่อสามัญ : Testaceous Oblique-face Grasshopper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phlaeoba infumata Brunner von Wattenwyl, 1893

วงศ์ย่อย : Acridinae

วงศ์ : Acrididae

ตั๊กแตนหนวดสั้นปลายขาว

                              ขนาด 2.5-3.5 ซม. ทั้งตัวมีสีน้ำตาลอ่อนคล้ายใบไม้แห้ง ปลายปีกสีเข้มกว่ากลางปีกเล็กน้อย ด้านข้างของส่วนหัวเป็นแถบสีน้ำตาลเข้มและสีน้ำตาลอ่อนสลับกัน และพาดยาวต่อเนื่องไปจนถึงบปีก ขณะเกาะนั้นปีกจะยาวเกินส่วนท้อง

                              มักเกาะตามพุ่มไม้เตี้ยๆตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

                              แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา

4. ตั๊กแตน Xenocatantops sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xenocatantops sp.

วงศ์ย่อย : Catantopinae

วงศ์ : Acrididae

ตั๊กแตน Xenocatantops sp.

                              ยังไม่รู้ชนิด คงรู้แต่เพียงว่าสกุลนี้ทั่วโลกพบ 6 ชนิด

5. ตั๊กแตนข้าวเล็ก

ชื่อท้องถิ่น : ตั๊กแตนข้าวเล็กญี่ปุ่น

ชื่อสามัญ : Small Rice Grasshoppers

ชื่ออื่นๆ : Small Japanese Rice Grasshoppers

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oxya japonica japonica Thunberg, 1815

วงศ์ย่อย : Oxyinae

วงศ์ : Acrididae

ตั๊กแตนข้าวเล็ก

                              ลำตัวมีขนาดยาว 2.5-3 ซม. สีเขียว ทั้งสองเพศมีสีและลวดลายคล้ายกัน แต่เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่า ตัวเต็มวัยมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดจากหลังตาผ่านปีกคู่หน้าไปจรดปลายปีก ข้างละ1แถบ หนวดแบบเส้นด้าย ปากแบบกัดกิน ปีกเป็นแผ่นหนังบาง แต่เหนียว ขา2คู่แรกเป็นขาเดิน ขาคู่หลังเป็นขากระโดด และส่วนปลายของแข้งมีจุดสีน้ำตาล กินแมลงชนิดอื่นเป็นอาหาร วางไข่ใต้ผิวดิน

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 49 ชนิด สำหรับชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. japonica Thunberg, 1815พบตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงออสเตรเลีย

6. กิ้งก่าแก้วเหนือ

ชื่อสามัญ : Northern Forest Crested Lizard

ชื่ออื่นๆ : Emma Gray’s Forest Lizard

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calotes emma alticristatus Schmidt, 1925

วงศ์ย่อย : Agaminae

วงศ์ : Agamidae

กิ้งก่าแก้วเหนือ เพศเมีย

                    เป็นกิ้งก่าขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 8.5-12 ซม. หางยาว 24-28 ซม. หางยาวมากกว่า 2-3 เท่าของความยาวหัวกับลำตัว หัวค่อนข้างใหญ่และกว้างกว่าลำคอเล็กน้อย รอบดวงตามักมีลายเส้นรัศมีสีดำ มีหนามเหนือตา 1 อัน ขนาดเล็กมาก ไม่เกินครึ่งของตา(ต่างจากกิ้งก่าแก้วใต้ Calotes emma emma Gray, 1845 ซึ่งหนามเหนือตามีขนาดใหญ่ชัดเจน ไม่น้อยกว่าครึ่งตา) หนามบริเวณเหนือช่องเปิดหู 2 อัน ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดแข็งปกคลุม เกล็ดบนหัวมีขนาดไม่เท่ากันและเป็นสัน เกล็ดบนหลังและด้านข้างลำตัวมีขนาดไม่เท่ากันและเป็นสัน โดยเกล็ดด้านข้างลำตัวใหญ่กว่าเกล็ดบนหลังเล็กน้อย สันของเกล็ดหลังและทางด้านบนของลำตัวเรียงเป็นแถว เป็นสันพอประมาณ ไม่ถึงกับคมกริบชัดเจนอย่างกิ้งก่าแก้วใต้ มีส่วนปลายของสันชี้ไปทางด้านท้ายในลักษณะเฉียงขึ้น แต่สันของเกล็ดที่ด้านล่างของลำตัวจะมีแนวเฉียงลงทางด้านล่าง เกล็ดด้านข้างลำตัวมีจำนวนเกล็ดมากกว่ากิ้งก่าแก้วใต้ เกล็ดบนหางเป็นสัน เกล็ดด้านท้องเล็กกว่าเกล็ดบนหลัง

                    มีรอยพับของผิวหนังที่หัวไหล่ ซึ่งภายในปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กสีดำเป็นจำนวนมาก ด้านบนและค่อนมาทางด้านท้ายของตามีหนามสั้น 1 อัน ด้านบนและค่อนมาทางด้านท้ายของแผ่นเยื่อแก้วหูมีหนามสั้น 1 อัน มีแผงหนามจากท้ายทอยต่อเนื่องไปตามแนวสันหลัง โดยมีหนามยาวหลายอันที่ล้อมรอบด้วยหนามสั้น และมีหนามต่อเนื่องไปบนหลังจนถึงโคนหาง โดยหนามมีขนาดสั้นลงตามลำดับ

                    ลำตัวพบมีสีได้หลากหลาย ตั้งแต่สีเทา สีเทาอมน้ำตาล สีน้ำตาลอมเขียว สีน้ำตาลคล้ำ หรือบางครั้งสีน้ำตาลออกแดง บนหัวมีสีคล้ำกว่าลำตัว ด้านข้างของหัวมีแถบสีดำจากส่วนปลายของปากลากผ่านตาไปสิ้นสุดที่แผ่นเยื่อแก้วหู พื้นที่ด้านบนของแถบสีดำนี้บางครั้งเป็นลายเลอะของสีดำ และบางครั้งเป็นสีดำทั้งหมด ขอบปากบนและขอบปากล่างสีขาว อาจมีลายแถบสีขาว 2 แถบ ขนานแนวสันหลัง บนหลังมีแถบกว้างสีดำพาดขวาง 6 แถบ และมีแถบยาวสีน้ำตาลเหลืองหรือสีน้ำตาลจางพาดยาวจากด้านท้ายของตาไปที่โคนหาง หางมีทางสีเข้มและจางพาดขวางเป็นปล้อง 12-13 แถบ ใต้คางและลำคอสีดำ โดยเฉพาะใต้คอมีประด้วยจุดสีส้มจางๆ ใต้ท้องสีน้ำตาลออกเหลือง หรือสีน้ำตาลอมเทา และบางบริเวณมีประสีเหลืองด้วย ขาหน้าและขาหลังยาวและแข็งแรง มีแถบพาดขวางสีจางๆ นิ้วตีนเรียวยาว และปลายนิ้วตีนทุกนิ้วมีเล็บ

                    ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะมีลำตัวสีชมพูอมส้ม มีแถบสีขาวสลับสีดำบนหน้าดูคล้ายใส่หน้ากาก และมีแถบสีดำบนหลัง ด้านข้างหัว และใต้คางกับลำคอ เห็นได้ชัดเจนมาก ส่วนตัวเมียมีแถบสีขาวข้างลำตัว และมีแถบสีคล้ำพาดสั้นๆบริเวณคอ

                              ผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝนหรือราวเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และเริ่มวางไข่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม โดยตัวเมียจะใช้เท้าหน้าขุดดินบนพื้นเป็นหลุมเพื่อวางไข่ ขนาดหลุมลึก 7 ซม. กว้าง 5 ซม. วางไข่ขนาดยาว 1.5 ซม. กว้าง 0.8 ซม. ครั้งละประมาณ 7-12 ฟอง หลังจากวางไข่เสร็จแล้ว ตัวแม่จะนอนคอยเฝ้าอยู่ใกล้ๆหลุมไข่ ระยะฟักไข่นานประมาณ 2 เดือน ลูกแรกเกิดมีสีน้ำตาลอ่อน และจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียว

                    กิ้งก่าแก้วเหนือแตกต่างกับกิ้งก่าแก้วใต้..ตรงเกล็ด เกล็ดของชนิดย่อยนี้จะมีขนาดเล็ก และเป็นสันน้อยกว่า เมื่อเทียบกับชนิดทางใต้ และเขาจะมีขนาดเล็กกว่าด้วย แต่มีขนาดตัวใหญ่กว่าชนิดทางใต้

                    ออกหากินในเวลากลางวันตามต้นไม้ บางครั้งก็ลงพื้น ส่วนกลางคืนจะเกาะนอนตามกิ่งไม้ขนาดเล็ก หรือลำต้นไม้ขนาดเล็ก โดยกินแมลงขนาดใหญ่เป็นอาหารหลัก เมื่อถูกรบกวนมักอ้าปากเพื่อใช้ข่มขู่

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 23 ชนิด ในไทยพบประมาณ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยในทุ่งหญ้า ป่าปลูก ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบลงไป ซึ่งจะเป็นกิ้งก่าแก้วใต้

                              เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง พ.ศ.2562

                              แพร่กระจายในแคว้นอัสสัมของอินเดีย แคว้นยูนนานทางตอนใต้ของจีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในแคว้นยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน

7. กิ้งก่าบินปีกส้ม

ชื่อท้องถิ่น : กิ้งก่าบินปีกจุด

ชื่อสามัญ : Spotted Flying Dragon

ชื่ออื่นๆ : Asian Gliding Lizard ; Orange-winged Flying Lizard ; Spotted Gliding Lizard

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Draco maculates Gray, 1845

วงศ์ย่อย : Agaminae

วงศ์ : Agamidae

กิ้งก่าบินปีกส้ม

                              เป็นกิ้งก่าบินขนาดเล็ก ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6-8.2 ซม. หางยาว 9.3-11.5 ซม. ลำตัวเรียวยาว ด้านบนสีน้ำตาลแดง และมีลายประสีคล้ำดูคล้ายเปลือกไม้ จึงสามารถพรางตัวได้เป็นอย่างดีบนต้นไม้ ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่า หัวมีขนาดเล็ก ใต้คางมีแผ่นหนัง1คู่ รูปกลมมน อยู่สองข้างลำคอ ตรงกึ่งกลางระหว่างแผ่นหนังคู่นี้ยังมีแผ่นหนังรูปยาวรีอีกแผ่นหนึ่ง ซึ่งแผ่นหนังนี้สามารถยกขึ้นลงได้ และมีขนาดโตเห็นได้ชัดเจนในตัวผู้ มีสีเหลืองออกส้ม บริเวณโคนมีแถบสีฟ้าพาดยาวเห็นชัด ข้างลำตัวระหว่างขาคู่หน้ากับขาคู่หลังมีแผ่นหนังแผ่ออกไปด้านข้าง(เพื่อใช้ในการร่อน) สีออกส้มและมีลายพาดตามยาวสีจางๆ ใต้แผ่นปีกมีจุดกลมๆสีดำ 1-2 จุด

                    อาศัยอยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่บนต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มักชอบต้นไม้ที่มีเปลือกต้นผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ

                    หากินบนต้นไม้ที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน ช่วงเช้ามืดและพลบค่ำจะซ่อนตัวอยู่สูงในพุ่มใบและกะอยู่นิ่งๆ เคลื่อนไหวน้อยมาก ต่อเมื่อมีแสงแดดส่องมากระทบกับต้นไม้ที่มันเกาะอยู่ก็จะออกมาอาบแดดนานเพียงพอที่จะเคลื่อนไหวออกหากิน ส่วนช่วงเวลากลางวันจะไต่ขึ้นลงตามลำต้นหรือร่อนไปมาตามต้นไม้ 3-5 ต้น ในบริเวณนั้น

                    ขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ในช่วงฤดูฝน โดยตัวเมียจะวางไข่ในหลุมดินที่ขุดไว้ตามซอกพูพอนของต้นไม้ที่อาศัยอยู่และมีแสงแดดส่องถึง วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง

                              ชนิดนี้แบ่งออกเป็น 4 ชนิดย่อย ในไทยพบทั้ง 4 ชนิดย่อย ได้แก่                                    

                              – subsp. divergens Taylor, 1934 ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกบนดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ มีชื่อไทยว่า“กิ้งก่าบินปีกส้มดอยสุเทพ” ชื่อสามัญ Doi Suthep Orange-winged Flying Lizard ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6.9 ซม. หางยาว 10.55 ซม. มีแผ่นหนังใต้คอซึ่งมีกระดูกอ่อนยึด สามารถหุบและกางออกได้ แผ่นหนังนี้สีออกเขียว บริเวณโคนมีสีส้ม ส่วนปลายมีจุดสีฟ้า แผ่นหนังบริเวณสีข้างเป็นแผ่นใหญ่ดูคล้ายปีก มีกระดูกซี่โครงยึด ด้านบนสีส้มแดง มีลายจุดสีดำกระจายอยู่ด้านใน บริเวณกระหม่อมมีลายจุดสีเทาจางๆ มีแถบสีดำพาดระหว่างตา สองข้างคอด้านบนมีจุดสีดำรูปร่างคล้ายหัวศร ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเทา หลังมีแต้มสีดำ1คู่ ท้องสีเทา และหางมีลายแถบพาดขวาง พบตามป่าดิบ เป็นสัตว์ชนิดย่อยถิ่นเดียวในไทย

                              – subsp. haasei Boettger, 1893 ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่ จ.จันทบุรี มีชื่อไทยว่า“กิ้งก่าบินปีกส้มจันทบูรณ์” ชื่อสามัญ Chantabun Orange-winged Flying Lizard ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6.5 ซม. หางยาว 11.3 ซม. มีแผ่นหนังใต้คอซึ่งมีกระดูกอ่อนยึด สามารถหุบและกางออกได้ แผ่นหนังนี้สีส้มเข้ม ไม่มีจุดสีฟ้า ส่วนแผ่นหนังบริเวณสีข้างเป็นแผ่นใหญ่ดูคล้ายปีก มีกระดูกซี่โครงยึด ด้านบนสีส้ม มีลายเส้นสีขาวตามยาว มีลายจุดสีดำกระจายอยู่ด้านใน ด้านล่างสีส้มมีจุดสีดำ 1-2 จุด มีลายจุดสีดำบนหัว 3 จุด และคอด้านบนมีจุดสีดำ1คู่ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดง ในไทยพบตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก แพร่กระจายในไทย กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้

                              – subsp. maculatus Gray, 1845 ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกบนเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย มีชื่อไทยว่า“กิ้งก่าบินปีกส้มมลายู” ชื่อสามัญ Malayan Orange-winged Flying Lizard ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 8.7 ซม. หางยาว 13.8 ซม. มีแผ่นหนังใต้คอซึ่งมีกระดูกอ่อนยึด สามารถหุบและกางออกได้ บริเวณโคนมีจุดสีฟ้า ส่วนแผ่นหนังบริเวณสีข้างเป็นแผ่นใหญ่ดูคล้ายปีก มีกระดูกซี่โครงยึด ด้านบนสีส้มแดง มีเส้นบางๆสีเหลืองอมชมพู มีลายจุดสีดำเรียงเป็นแถบตามขวาง 5-6 แถบ ด้านล่างมีจุดสีดำ 2-3 จุดด้านนอก ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเทา บริเวณคอด้านบนมีจุดสีดำ และมีลายบั้งสีดำบริเวณไหล่ ท้องสีเหลือง หางมีลายแถบพาดขวาง ในไทยพบตามสวนผลไม้ และป่าดิบทางภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย

                              – subsp. whiteheadi Boulenger, 1900 ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่มณฑลไหหนาน ประเทศจีน มีชื่อไทยว่า“กิ้งก่าบินปีกส้มไหหลำ” ชื่อสามัญ Hainan Orange-winged Flying Lizard ขนาดวัดจากปลายปากถึงรูก้น 6.4 ซม. หางยาว 10.2 ซม. คางสีดำ มีแผ่นหนังใต้คอซึ่งมีกระดูกอ่อนยึด สามารถหุบและกางออกได้ บริเวณโคนมีสีดำ ส่วนที่เหลือมีสีส้มแดงหรือสีขาว ส่วนแผ่นหนังบริเวณสีข้างเป็นแผ่นใหญ่ดูคล้ายปีก มีกระดูกซี่โครงยึด ด้านบนสีน้ำตาลเทา มีจุดสีดำกระจาย ด้านล่างสีเทา มีลายขีดโค้งสีดำบริเวณขอบนอก มีจุดสีดำบนหัวและคอ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเทา มีลายสีเทาจางๆ หางมีลายแถบพาดขวาง ในไทยพบตามป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไทย และเวียดนามตอนเหนือ

                    สกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 100 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตลอดปีตามอาคารบ้านเรือนที่ติดกับป่า ริมถนน และในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

                              เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

                              แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซียตอนบน

8. ชันโรงปลายปีกขาว

ชื่อท้องถิ่น : ขี้ยาดำ , แมลงขี้ยาดำ(ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Stingless Bee
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trigona(Tetrigona) apicalis Smith, 1857
วงศ์ : Apidae

ชันโรงปลายปีกขาว

                              เป็นชันโรงขนาดกลาง หัวมีลักษณะเรียบเป็นมัน สีน้ำตาลเข้มจนเกือบเป็นสีดำ และมีขนสีน้ำตาลกระจาย อกสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ และมีขนอ่อนสีน้ำตาลกระจาย ปีกคู่หน้าบริเวณโคนปีกถึงกลางปีกมีสีเข้มกว่าปลายปีก มีสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดง เส้นปีกสีน้ำตาลเข้ม ส่วนปลายปีกตอนบนสีขาวขุ่นจนเกือบเป็นสีเหลือง เส้นปีกสีน้ำตาล  และมีขนสั้นๆสีน้ำตาลเข้มกระจายทั่วทั้งแผ่นปีก ท้องสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ ปล้องท้องด้านล่างและตอนปลายมีขนกระจาย ขาคู่หน้าและคู่กลางสีน้ำตาลดำ มีขนสีน้ำตาลกระจาย ขอบด้านบนมีขนยาว ขาคู่หลังสีน้ำตาลดำและมีขนแตกแขนงเป็นพู่ขนนก

                              สามารถบินลอยตัวอยู่ได้นาน โดยไม่ต้องจับเกาะอะไรเลย เพราะกล้ามเนื้ออกและโคนปีกของชันโรงมีความแข็งแรง ทำให้การกระพือปีกได้ถี่ นอกจากนี้ชันโรงมีอายุยืนนานกว่าผึ้ง

                              เป็นแมลงที่ชอบเก็บเกสรดอกไม้มากกว่าน้ำหวาน เพื่อนำไปใช้เป็นอาหารในการเลี้ยงตัวอ่อน ทำให้เกิดการถ่ายละอองเกสรในดอกไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสม่ำเสมอในการเก็บเกสรดอกไม้ทุกชนิด และไม่รังเกียจที่มีผึ้งลงเก็บน้ำหวานแล้ว โดยชันโรงจะชอบดอกไม้ที่มีลักษณะเปิด มองเห็นเกสรชัดเจน มีปริมาณณูมาก

                              ปากทางเข้ารังมีลักษณะเป็นท่อยื่นยาวออกมา แคบเป็นวงรีแนวดิ่ง บริเวณที่พบรังมักมีเศษปลายของปากทางเข้ารังตกอยู่บริเวณรอบๆ สีของปากทางเข้ารังมีหลายช่วงสี ตั้งแต่สีน้ำตาลเข้มจนถึงสีขาวปนดำ โดยปากทางเข้ารังจะแข็งและมีตัวชันโรงบินอยู่บริเวณปากทางเข้ารัง โดยหันหน้าเข้าหารัง ทำหน้าที่ดูแลรัง เมื่อถูกรบกวนจะมีพฤติกรรมหลบเข้าไปด้านใน ไม่ดุร้าย ชันโรงไม่สามารถต่อยได้ เพราะไม่มีเหล็กใน หากจวนตัวก็จะใช้ปากกัดแล้วปล่อยสารพิษออกมา

                              ทำรังอยู่ตามซอกหลืบต้นไม้ที่เป็นโพรงของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทั้งที่ยืนต้นมีชีวิตอยู่ และยืนต้นตาย ซึ่งมีการปรับสภาพอุณหภูมิภายในรังอย่างคงที่

                              ภายในรังมีการสร้างเป็นห้อง หรือเซลล์ หรือกระเปาะ แบ่งแยกกันตามประโยชน์ใช้สอย เพื่อให้นางพญาวางไข่ และตัวงานเก็บละอองเรณูและน้ำหวานเพื่อใช้เลี้ยงตัวอ่อน กระเปาะจะเรียงตัวเป็นชั้นๆไปตามแนวนอนตามพื้นที่ภายในรังจะอำนวย วกวนไปมาหลายๆชั้น โดยที่ผนังกระเปาะแต่ละหน่วยถูกสร้างเป็นผนังบางๆจากชันยางไม้ผสมไขที่ชันโรงสร้างเคลือบเอาไว้ โดยมีห้องที่สำคัญอยู่ 2 ห้อง คือ ห้องเก็บอาหาร และห้องสำหรับวางไข่และเลี้ยงดูตัวอ่อน

                              ชันที่ใช้สร้างรังของชันโรงจะมีจำนวนมากกว่ารังผึ้งทั่วไป เพราะต้องนำไปอุดตามรอยโหว่ รอยแตก หรือสร้างชั้นป้องกันภัย โดยการปิดทับหลายชั้นโดยเฉพาะปากทางเข้าออก ทำให้บริเวณดังกล่าวเหนียวเหนอะ เพื่อป้องกันการบุกรุกของศัตรูจำพวกมด และทุกส่วนภายในรัง ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของยางไม้ทั้งสิ้น

                              สกุลย่อย Trigona ทั่วโลกพบ 30 ชนิด ในไทยพบ….ชนิด สกุลย่อย Tetrigona ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก แพร่กระจายในเขตร้อน

                              คำว่า“ชันโรง” สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากลักษณะการสร้างรัง เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้ได้เก็บหายางไม้และชันของต้นไม้ นำมาอุดยาชันรอบๆปากรังและภายในรัง เพื่อป้องกันน้ำไหลซึมเข้ารัง และยังเป็นการป้องกันศัตรูบริเวณปากรัง

9. แมงมุมนุ่งซิ่นหลากสี

ชื่อสามัญ : Multi-Coloured St.Andrew’s Cross Spider

ชื่ออื่นๆ : St.Andrew’s Cross Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argiope versicolor Doleschall, 1859

วงศ์ : Araneidae

แมงมุมนุ่งซิ่นหลากสี

แมงมุมนุ่งซิ่นหลากสี

                              เพศเมียมีขนาดลำตัวยาว 1.2-1.5 ซม. หัวและอกมีสีน้ำตาล ลายสีเทา และมีขนสีเงินปกคลุม หัวและอกแบน แต่ส่วนหัวจะนูนกว่าเล็กน้อย มี8ตาเรียงเป็น2แถวๆละ4ตา โดยเรียงแบบโค้งลงเล็กน้อย ตาด้านข้างทั้งแถวหน้าและแถวหลังจะอยู่ใกล้กัน มีฟันแถวหน้า3ซี่ แถวหลัง4ซี่ ท้องด้านหลังมีลายขวางสีน้ำตาลอมแดงและขาวอมเหลืองจนถึงสีเหลืองสลับกันดูคล้ายนุ่งผ้าซิ่น อันเป็นที่มาของชื่อไทย บนลายสีน้ำตาลอมแดงมีจุดรูปเหลี่ยมกระจายตามแนวขวาง ท้องรูปห้าเหลี่ยม ลักษณะคล้ายแมงมุมนุ่งซิ่นใหญ่(Argiope pulchella) แต่ชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่า อวัยวะเพศก็จะหนาและกว้าง แต่มีขอบที่บางกว่า ก้นลักษณะกลมและป่อง ขาสีน้ำตาลอมแดงและมีสีขาวหรือสีเหลืองเป็นลายปล้อง ส่วนเพศผู้มีขนาดลำตัวยาว 0.35-0.49 ซม. สีน้ำตาลอ่อน ไม่มีลายแถบสีใดๆ

                              เพศเมียสร้างใยรูปกลมระหว่างพุ่มไม้หรือกอหญ้า ใยมีลักษณะสวยงาม โดยมีเส้นใยหนาซิกแซกบริเวณกลางใยเป็นรูปกากบาท(X) เมื่อเกาะอยู่นิ่งๆมักจะเกาะกางขาแนบติดกันเป็นคู่ๆเป็นรูปกากบาท(X)

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 88 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามเรือกไร่สวน ชายป่า และพื้นที่โล่งในป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายจากปากีสถาน อินเดีย เนปาล จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะบอร์เนียว และอินโดนีเซีย

10. แมงมุมใยเต็นท์โมลุกกะ

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมเต็นท์ , แมงมุมใยโดม , แมงมุมใยราบ

ชื่อสามัญ : Molucca Tent Spider

ชื่ออื่นๆ : Dome Tent Spider ; Maluku Tent Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrtophora moluccensis Doleschall, 1857

วงศ์ : Araneidae

แมงมุมใยเต็นท์โมลุกกะ

แมงมุมใยเต็นท์โมลุกกะ

                              เพศเมียมีขนาด 1.9-6 ซม. ส่วนเพศผู้มีขนาด 0.6-0.8 ซม. หัวและอกปกคลุมด้วยขนสีขาว ท้องรูปไข่ สีน้ำตาลและมีลายเส้นสีขาวประปราย มีขนสีขาวและสีน้ำตาลปกคลุม ท้องด้านหลังมีรูปร่างคล้ายรูปหัวใจแกมรูปกลม สีเงิน มีตุ่มนูนและจุดสีดำ และมีลวดลายสีขาวและสีเหลือง ขายาวสีดำสลับสีขาว และมีขนปกคลุม

                              ชักใยระหว่างกิ่งไม้ใต้เรือนยอดต้นเดียวกันตามไม้พุ่มขนาดใหญ่หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก รังมีขนาดใหญ่คล้ายรูปเต็นท์โดม ตรงกลางเป็นที่หลบภัยและที่พักของแมงมุม มักมีใบไม้แห้งรกรุงรัง

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 47 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนป่า ชายป่า ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอินเดีย ญี่ปุ่น เมียยนมา ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาะนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน เกาะฟิจิ และออสเตรเลีย

11. แมงมุมหลังหนามฮัสเซลท์

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมหลังหนามเหลืองจุดดำ

ชื่อสามัญ : Hassell’s Spiny Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macracantha hasselti C.L.Koch, 1837

ชื่อพ้อง : Gasteracantha hasselti C.L.Koch, 1837

วงศ์ : Araneidae

แมงมุมหลังหนามฮัสเซลท์

                              เพศเมียมีขนาดลำตัวยาว 0.8 ซม. บริเวณหัว อก และท้องด้านบนสีเหลือง มีลายจุดสีดำตามขอบและ4จุดตรงกลาง โดยจุดสีดำตามขอบตอนบนจะมีขนาดใหญ่ ส่วนด้านล่างมีสีดำและไม่มีจุด(แต่ในวัยอ่อนจะมีสีส้มแดง) ขาสีน้ำตาลเข้ม รูปร่างส่วนท้องดูคล้ายกระดองปู ขอบด้านข้างมีหนามแหลมสีดำและมีขนปกคลุม ส่วนเพศผู้มีขนาดลำตัวยาว 0.2 ซม. สีน้ำตาล และมีลายจุดสีดำจางๆตามขอบ รวมทั้ง4จุดตรงกลาง

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในไทยพบทั้ง 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบสร้างใยตามไม้พื้นล่างและมักขวางทางเดินในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

12. แมงมุมใยทองลายขนาน

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมต้นไม้ยักษ์ , แมงมุมทรงกระบอกสีทอง , แมงมุมใยทองท้องขนาน

ชื่อสามัญ : Giant Golden Orb-weaver Spider

ชื่ออื่นๆ : Giant Long-jawed Orb-weaver , Giant Orb-weaver Spider , Giant Wood Spiders , The Golden Web Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nephila pilipes Fabricius, 1793

วงศ์ : Araneidae

แมงมุมใยทองลายขนาน เพศเมีย

                              เพศผู้มีขนาด 0.5-0.9 ซม. สีส้มแกมแดง ส่วนเพศเมียมีขนาด 3-6 ซม. หัวและอกสีเทาอมน้ำตาลเข้ม และมีขนสีขาวปกคลุม ท้องเป็นรูปทรงกระบอกยาว สีดำ และมีลายขีดสีเหลืองขนาดใหญ่2ขีด ขนานอยู่ตรงกลางตามความยาวของท้อง ขาทั้ง8ขาสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ และไม่มีขน ชักใยขนาดใหญ่(เป็นเส้นใยถี่หลายเส้น)ตั้งฉากกับพื้นระหว่างไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่ม มักเกาะตรงกลางของใย เมื่อถูกรบกวนจะไต่ไปตามใยและหลบในใบไม้หรือพุ่มไม้

                              ทั่วโลกพบสกุลนี้ 6 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนผลไม้ สวนยางพารา สวนป่า และป่าทุกประเภท ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ญี่ปุ่น เมียนมา ไทย กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะนิวกินี และออสเตรเลีย

13. หอยทากสยาม

ชื่อท้องถิ่น : หอยดักดาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cryptozona siamensis Pfeiffer, 1856

วงศ์ย่อย : Ariophantinae

วงศ์ : Ariophantidae

หอยทากสยาม

                              ลักษณะทั่วไปของหอยทากสยามมีเปลือกหอยเป็นทรงโดมเตี้ยจนถึงค่อนข้างแบน ส่วนยอดอาจโค้งนูนเล็กน้อย เปลือกเวียนขวา เปลือกกว้าง 2-3.5 ซม. สูง 1-1.5 ซม. เปลือกบางแต่แข็งแรง มีวงเปลือก 8-12 ชั้น สีน้ำตาลอ่อนปนขาว เปลือกด้านบนมีผิวเป็นริ้วตาข่ายละเอียดๆ และมีสีน้ำตาลเข้ม เปลือกด้านล่างค่อนข้างเรียบและมีสีขาวนวลต่างจากด้านบนอย่างชัดเจน อาจพบแถบสีน้ำตาลดำที่ด้านข้างของเปลือก ปากเปลือกเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวหรือรูปรี เมื่อโตเต็มวัยขอบปากเปลือกไม่บานออก แต่จะหนาขึ้นเล็กน้อย สะดือแคบและเป็นหลุมลึก

                              ตัวหอยมีสีขาวนวล น้ำตาลอ่อน จนถึงสีเทาดำ หายใจด้วยปอด มีสองเพศในตัวเดียวกัน แต่มักจะผสมพันธุ์ข้ามตัว โดยถ่าย sperm ให้แก่กันและกัน การผสมพันธุ์ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 45-11/2 ชั่วโมง และจะวางไข่เป็นกลุ่ม เฉลี่ยราว 57 ฟอง/กลุ่ม โดยหอยจะทำโพรงเล็กๆ ลึกลงไปใต้ผิวดินประมาณ 3-5 เซนติเมตร ลักษณะของไข่เป็นสีขาวขุ่น นิ่ม รูปทรงกลม หัวท้ายบุ๋ม ขนาดเฉลี่ย 3.1 x 3.5 มิลลิเมตร และหนักเฉลี่ย 0.028 กรัม แต่หากได้รับความชื้น ไข่จะเป็นรูปกลมรี ใช้เวลาในการฟักประมาณ 7-18 วัน ลูกหอยหนักเฉลี่ย 0.0187 กรัม มีขนาดเฉลี่ย 3.7982 มิลลิเมตร

                              เป็นศัตรูพืชที่สำคัญ เพราะกินและทำลายพืชผักได้เกือบทุกชนิด

                              สกุลนี้พบในไทย 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของเมืองไทย ถิ่นที่อยู่อาศัยนั้นหลากหลาย ตั้งแต่ภูเขาไปจนถึงที่ราบลุ่ม หรือแม้กระทั่งตามเกาะแก่งต่างๆ พบซุกซ่อนตัวอยู่ใต้กองเศษใบไม้ที่กำลังเน่าเปื่อยผุพัง และตามใบไม้และยอดไม้อ่อนของพืชตามพื้นที่ที่ชุ่มชื้น ออกหากินเวลากลางคืน กินอาหารได้หลายชนิด เช่น ซากพืชและต้นอ่อนของพืช มีรายงานการทำลายกล้าไม้โดยหอยทากสกุลนี้บ่อยครั้ง

                              แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย ชื่อชนิด siamensis ตั้งตามประเทศสยาม ซึ่งเป็นชื่อเดิมของประเทศไทยที่เป็นสถานที่ที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก

14. หอยห่อเปลือกใหญ่สยาม

ชื่อสามัญ : Siamese Austen Snail
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Megaustenia siamensis Haines, 1858
วงศ์ย่อย : Macrochlamydinae

วงศ์ : Ariophantidae

หอยห่อเปลือกใหญ่สยาม

                              เป็นหอยทากลดเปลือก เปลือกกว้างประมาณ 1.5-2 ซม. ลักษณะเปลือกเป็นรูปไข่ บางใส เนื่องจากมีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบน้อย ทำให้มองเห็นอวัยวะภายในได้ มีวงเปลือกเพียง 2-3 ชั้น ผิวเปลือกเรียบเป็นมันวาว มีสีน้ำตาลอมเหลืองจนถึงสีน้ำตาลเข้ม เปลือกวงสุดท้ายมีขนาดใหญ่ ปากเปลือกกว้าง ลำตัวมีสีน้ำตาลเทา ผิวหนังขรุขระ หรืออาจมีจุดสีดำหรือสีขาวกระจายทั่วตัว โดยปกติหอยชนิดนี้จะยื่นส่วนของเนื้อที่เรียกว่า“Mantle Lapped” ลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบางๆ สีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน มีผิวขรุขระเป็นตุ่มเล็กๆจำนวนมากออกมาคลุมเปลือกจนมิด แต่เมื่อหอยถูกรบกวน เนื้อเยื่อส่วนนี้สามารถหดเข้าไปในเปลือกได้ หอยพวกนี้มีเมือกเหนียวมาก แต่ไม่เป็นอันตราย

                              อวัยวะสืบพันธุ์มีชุดศรรักขนาดใหญ่ มีกล้ามเนื้อหดเพนิสที่ส่วนปลายของติ่งเอพิฟาลลัส แฟลเจลลัมสั้น ลักษณะเป็นท่อตรง แอ่งปลายห่งมีขนาดใหญ่ หงอนปลายหางสั้นหรือไม่ปรากฏ

                              ส่วนมากกินซากใบไม้ ใบไม้สด และเห็ดราเป็นอาหาร แต่ไม่เป็นศัตรูทางการเกษตร

                              ในฤดูแล้งจะหดตัวเข้าไปในเปลือกได้ทั้งหมด แล้วสร้างเยื่อเอพิเฟรมที่เป็นสารหินปูนออกมาปิด และหลบซ่อนอยู่ใต้เปลือกไม้ โพรงไม้ หรือซอกหิน

                              สกุลนี้พบในเมืองไทยเพียงชนิดเดียว มักพบอาศัยอยู่ตามป่าดิบที่มีความชุ่มชื้น โดยเกาะอยู่ตามต้นไม้หรือใบไม้ขนาดใหญ่ ทั่วทุกภาคของไทย ชื่อชนิด siamensis ตั้งตามประเทศสยาม ซึ่งเป็นชื่อเดิมของประเทศไทยที่เป็นสถานที่ที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก

15. แมลงทับราชา

ชื่อสามัญ : Jewel Beetle

ชื่ออื่นๆ : Metallic Wood-boring Beetle

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysochroa rajah Gray, 1840

วงศ์ : Buprestidae (แต่นักวิชาการบางท่านบอกว่าอยู่ในวงศ์ Crambidae)

แมลงทับราชา

                              ขนาดตัวยาว 3.2-4.8 ซม. ลำตัวเรียวยาวและแคบไปทางส่วนท้าย ปีกสีเขียวแวววาวจนถึงสีเขียวแกมน้ำเงินแวววาว บริเวณอกมีแต้มสีแดง2อันอยู่ทางซ้ายและขวา ปีกคู่หน้ามีขีดสีส้มแดงพาดยาวตั้งแต่โคนปีกไปจนถึงปลายปีก แถบสีที่ปีกอาจซีดลงได้ ท้องสีเหลืองส้ม มีหนวดแบบฟันเลื่อย ตารวมใหญ่ เป็นแมลงที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน เกาะกินใบไม้บริเวณส่วนยอด เมื่อถูกรบกวนมักมีพฤติกรรมแกล้งตาย ทิ้งตัวหล่นลงจากต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่เกาะอยู่

                              ระยะตัวหนอนกัดกินรากไม้ วงจรชีวิตเหมือนแมลงทับทั่วไป ตัวเต็มวัยมักชอบกินใบจำปาแขก(คนท้องถิ่นเรียก“ปอหูช้าง”) ชื่อวิทยฯ Pterospermum acerifolium (L.) Willd. วงศ์ Malvaceae

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 6 ชนิด พบอาศัยตามป่าเบญจพรรณเฉพาะทางภาคเหนือ

                              เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าและส่งออก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

                              แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมา ไทย และลาว

16. แมลงวันหัวเขียว

ชื่อสามัญ : Blue Bottle Fly

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calliphora vomitoria Linnaeus, 1758 

วงศ์ย่อย : Calliphorinae

วงศ์ : Calliphoridae

แมลงวันหัวเขียว

                              เป็นแมลงที่มีลักษณะคล้ายแมลงวันบ้าน แต่มีขนาดใหญ่กว่าและลำตัวมีสีมันนเป็นเงาแวววาว มีขนาดลำตัวยาว 0.6-1.2 ซม. ลำตัวค่อนข้างกลม ส่วนอกและท้องมีสีแวววาวเหมือนผิวโลหะ โดยมีสีเขียว หรือสีเขียวแกมน้ำเงินจนถึงดำ ส่วนหัวจะเป็นสีเขียว มีตารวมขนาดใหญ่สีน้ำตาล สีน้ำตาลแดง จนถึงสีแดง

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 115 ชนิด สำหรับชนิดนี้ในไทยพบเฉพาะในพื้นที่สูง ไม่พบในบริเวณพื้นราบ ชอบวางไข่ในอุจาระคน หรือมูลสัตว์ หรือตามกองขยะ

17. ตั๊กแตนลิงจุดเชื่อม

ชื่อท้องถิ่น : ตั๊กแตนลิง , ตั๊กแตนหน้าลิง , ตั๊กแตนหลังงอ

ชื่อสามัญ : Conjoined Spot Monkey-grasshopper

ชื่ออื่นๆ : Spot Monkey Grasshopper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erianthus serratus Ingrisch & Willemse, 1988

วงศ์ย่อย : Erianthinae

วงศ์ : Chorotypidae

ตั๊กแตนลิงจุดเชื่อม เพศผู้

ตั๊กแตนลิงจุดเชื่อม เพศเมีย

                              เป็นตั๊กแตนลิงขนาดค่อนข้างใหญ่ หัวโตกว่าส่วนอก ตาสีน้ำตาล หนวดสั้น เพศผู้มีใบหน้าที่คล้ายลิงกำลังเศร้า ลำตัวสีเขียวสด บริเวณอก ท้อง และขาคู่หลังสีเขียวสลับดำ ท้องด้านบนมีสีฟ้าเล็กน้อย ปีกสีน้ำตาลสลับเขียว มีแถบสีขาวบนปีกคู่หน้าค่อนข้างใหญ่และมักเชื่อมติดกัน ส่วนเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลคล้ำและมีแถบสีขาวขนาดเล็กบนปีกและแยกห่าง ไม่เชื่อมติดกัน

                              ชอบเกาะอยู่บนใบพืชที่มีแสงแดดส่องถึง และกระโดดได้ช้ากว่าตั๊กแตนชนิดอื่น

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 17 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า ป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทั่วทุกภาค

                              ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

18. ด้วง Chrysomela populi Linnaeus, 1758

ชื่อสามัญ : poplar Leaf Beetle

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysomela populi Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : Chrysomelinae

วงศ์ : Chrysomelidae

Chrysomela populi

                              ยังไม่รู้ชื่อไทย คงรู้แต่ว่ามีขนาด 1-1.2 ซม. สีส้ม จนถึงสีแดง และมีจุดสีดำอยู่ส่วนหลังตอนบน อกสีดำ บางครั้งพบเป็นสีเขียวแกมบรอนซ์ ตัวอ่อนระยะสุดท้ายยาวได้ถึง 1.5 ซม. สีขาวแกมเหลือง และมีจุดสีเข้มเรียงเป็นแถว

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 25 ชนิด สำหรับชนิดนี้แพร่กระจายในเขตอบอุ่น และเขตร้อน

19. เพลี้ยจักจั่นแดง

ชื่อสามัญ : Red Leafhopper

ชื่ออื่นๆ : Sharpshooter

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bothrogonia indistincta Walker, 1851

วงศ์ย่อย : Cicadellinae

วงศ์ : Cicadellidae

เพลี้ยจักจั่นแดง

                              ลำตัวมีขนาดยาวราว 1-1.2 ซม. สีส้มแดง หนวดเป็นแบบเส้นขน โคนปีกค่อนข้างแข็ง ปลายปีกบาง ขาคู่หลังยาวกว่าขาคู่อื่นและมีหนามแหลมเรียงเป็นแบบฟันปลา

                              เป็นเพลี้ยจักจั่นที่ดูดกินน้ำเลี้ยงพืชได้หลายชนิด ได้แก่ กาแฟ แตง อ้อย ข้าวโพด ข้าว พืชตระกูลหญ้าต่างๆ ตลอดจนพืชพวกถั่ว(เช่น ถั่วฝักยาว เป็นต้น) และยังวางไข่เป็นจำนวนมากบนพืชเหล่านี้อีกด้วย อาการที่ปรากฎ ของพืชจากเพลี้ยชนิดนี้ดูดน้ำเลี้ยง จะเกิดเป็นจุดๆสีขาวๆ

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด สำหรับชนิดนี้แพร่กระจายในจีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

20. หอยหอม(เวียนขวา)

ชื่อสามัญ : Cyclophorid Snails

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyclophorus volvulus Muller, 1774

วงศ์ย่อย : Cyclophorinae

วงศ์ : Cyclophoridae

หอยหอม

                              หอยสกุลนี้เป็นหอยกลุ่มสำคัญที่พบได้ทั่วไปและบ่อยครั้ง มีเปลือกขนาดใหญ่เป็นรูปปิรามิดแบบเตี้ย หนา และแข็ง หอยหอม(เวียนขวา)เมื่อโตเต็มวัยสูงราว 2-2.5 ซม. กว้าง 3-4 ซม. ส่วนยอดสูงขึ้นเล็กน้อย เปลือกวงสุดท้ายมีขนาดใหญ่ ร่องระหว่างวงเปลือกลึก ผิวเปลือกเรียบ มีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำและมีลายประด้วยเส้นสีขาวรอบวงเปลือก วงเปลือกสุดท้ายมีเส้นสีน้ำตาลคาดรอบเปลือก ด้านล่างเปลือกมีแถบสีดำวนรอบสะดือ ปากเปลือกกว้างเป็นรูปวงกลม ขอบปากเปลือกหนา บานออก และตั้งขึ้นเป็นสัน มักมีสีขาว สีเหลืองเข้ม หรือสีส้ม ส่วนของสะดือกว้างและลึก ฝาปิดเปลือกเป็นสารไคติน มีลักษณะเป็นเกลียวแบน มีสีดำเข้มและค่อนข้างแข็ง

                              อนึ่ง การดูว่าตัวนั้นเวียนขวาหรือเวียนซ้าย สังเกตง่ายๆด้วยการหันด้านเปิดเปลือกเข้าหาตัวเรา หากเกลียวก้นหอยอยู่ด้านบน ปากอยู่ทางขวา คือ เวียนขวา โดยทางชีววิทยาจะดูจากการเติบโตของหอยที่มันจะสร้างเปลือกวนเลี้ยวขวาออกมาเรื่อยๆ แต่เมื่อหันด้านเปิดเปลือกเข้าหาตัวเรา หากเกลียวก้นหอยอยู่ด้านล่าง ปากอยู่ทางซ้าย คือ เวียนซ้าย นั่นเอง

                              ศัตรูของหอยชนิดนี้ คือ ทากนักล่าในวงศ์ Rathouisisae มันจะสอดส่วนหัวเข้าไปกินอวัยวะภายในของหอยสกุลหอยหอม

                              สกุลนี้พบในเมืองไทย 27 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามพื้นดินหรือใต้ใบไม้ผุในผืนป่าทั่วไป กินพวกใบไม้และซากพืชผุพังเป็นอาหาร พบทั่วทุกภาคของเมืองไทย

                              แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

21. ตั๊กแตนกิ่งไม้ Clonaria sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clonaria sp.

วงศ์ย่อย : Pachymorphinae

วงศ์ : Diapharomeridae

ตั๊กแตนกิ่งไม้ Clonaria sp.

                              ยังไม่รู้ชนิด รู้แต่เพียงว่าสกุลนี้ทั่ววโลกพบ 128 ชนิด

22. มอธ Olene sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Olene sp.

วงศ์ : Erebidae

มอธ Olene sp. ระยะหนอน

                              ยังไม่รู้ชนิด รู้แต่เพียงว่าสกุลนี้ทั่วโลกพบ 8 ชนิด

23. จักจั่นงวงกุดแดงใต้ปีกใหญ่

ชื่อสามัญ : ไก่ดินปีกหลังแดงธรรมดา , จักจั่นงวงท้องแดงดำ

ชื่อสามัญ : Lantern Bugs

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Penthicodes (Ereosoma) atomaria Weber, 1801

วงศ์ : Fulgoridae

จักจั่นงวงกุดแดงใต้ปีกใหญ่

                              มีขนาด 2-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ลำตัวมีขนาดยาว 1.5-5.5 ซม. หนวดแบบเส้นขน หัวสั้น หัวและอกปล้องแรกสีน้ำตาลอ่อน ตาสีน้ำตาลอ่อน อกสีดำ ท้องด้านบนสีแดง ท้องด้านล่างสีดำ ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลเข้ม มีจุดสีดำประปราย ขอบปีกมีแต้มสีดำข้างละ2แต้ม และมีจุดสีดำ-สีขาวเล็กๆประปราย ปีกคู่หลังสีแดง มีแต้มสีดำที่ขอบปีกด้านใน ถัดไปเป็นแต้มสีขาว ปลายปีกมีแถบสีดำขนาดใหญ่ข้างละแถบ ขาสีดำ

                              ชอบเกาะอยู่ตามลำต้นไม้ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้นพืช เมื่อถูกรบกวนจะบินหนีไปไม่ไกล

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในไทย ลาว เวียดนาม และอินโดนเซีย โดยพบครั้งแรกของโลกที่อินโดนีเซีย

24. ผีเสื้อจุดเหลี่ยมนายมัวร์

ชื่อสามัญ : Moore’s Ace

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Halpe porus Mabille, 1877

วงศ์ย่อย : Hesperinae

วงศ์ : Hesperidae

ผีเสื้อจุดเหลี่ยมนายมัวร์

                              ยังไม่มีรายละเอียด คงรู้แต่เพียงว่ามีขนาด 2.6-2.9 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 55 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในป่าได้ทุกประเภท ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน ทิเบต หมู่เกาะอันดามัน จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

25. มวนท้องยาว

ชื่อท้องถิ่น : มวนแดงท้องยาว , มวนแดงยักษ์ , มวนมะเยา

ชื่อสามัญ : Giant Red Bug

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macrocheraia grandis Gray, 1982

วงศ์ : Largidae

มวนท้องยาว

                              เพศผู้มีขนาดลำตัวยาว 3.9-5.4 ซม. ส่วนเพศเมียมีขนาดลำตัวยาว 2.2-2.5 ซม. ทั้งสองเพศมีลำตัวค่อนข้างยาว ส่วนหัวเล็กกว่าส่วนอกและยื่นไปด้านหน้า ปากแบบเจาะดูด ปีกไม่คลุมส่วนท้อง ปีกสีแดง กลางปีกมีแต้มสีดำขนาดใหญ่ และมีจุดสีดำขนาดใหญ่2จุด มีเส้นปีกมากมาย แต่ไม่ละเอียดเป็นฝอย ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชหลายชนิดที่มียาง

                              มักพบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ตามเรือกไร่สวน ป่าละเมาะ ชายป่า และป่าเบญจพรรณ

                              แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เมียนมา ไทย ลาว และอินโดนีเซีย

26. แมลงปอบ้านใหม่กลม

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านตาลปลายปีกใส

ชื่อสามัญ : Fulvous Forest Skimmer

ชื่ออื่นๆ : Cleartip Widow ; Russet Percher

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Neurothemis fulvia Drury, 1773

วงศ์ : Libellulidae

แมลงปอบ้านใหม่กลม เพศเมีย

                              เป็นแมลงปอบ้านขนาดกลาง ลำตัวยาว 4.9 ซม. ตาเดี่ยวมี3ตา ตารวมมี2ตา หนวดเป็นแบบเส้นขน ปากเป็นแบบกัดกิน ท้องค่อนข้างแบน เพศผู้มีความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 2.7-3.3 ซม. ความยาวส่วนท้อง(วัดจากโคนท้องถึงปลายท้อง) 2.1-2.6 ซม. อกและท้องสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาลแดง จนถึงสีแดงเข้ม ซึ่งสีจะเข้มขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น ปีกมีแถบสีแดงคลุมเกือบทั้งหมด ยกเว้นปลายปีกที่ใสและมีลักษณะคล้ายวงกลม ขอบปีกด้านบนใกล้ปลายปีกมีแถบ1แถบ ระหว่างรอยต่อแต่ละปล้องท้องมีสีเข้ม รยางค์ปลายท้องสีแดง ขาเป็นแบบขาเดิน

                              ส่วนเพศเมียมีลักษณะคล้ายเพศผู้ ความยาวของปีกคู่หลัง(วัดจากโคนปีกถึงปลายปีก) 2.6-3.2 ซม. ความยาวส่วนท้อง(วัดจากโคนท้องถึงปลายท้อง) 2-2.4 ซม. อกและท้องสีน้ำตาลแกมเหลือง ปีกมีแถบสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดงคลุมเกือบทั้งหมด ยกเว้นปลายปีกที่ใส

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 14 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบเกาะข้างลำธารที่แสงแดดส่องถึงตามป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค โดยพบได้ตลอดทั้งปี

                              แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฎาน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

27. แมลงปอบ้านเสือฟ้าหน้าดำ

ชื่อท้องถิ่น : แมลงปอบ้านเสือแถบขาวคู่ , แมลงปอบ้านเสืออกขาวคู่

ชื่อสามัญ : Common Blue Skimmer

ชื่ออื่นๆ : Blue Marsh Skimmer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthetrum glaucum Brauer, 1865

วงศ์ : Libellulidae

แมลงปอบ้านเสือฟ้าหน้าดำ เพศเมีย

                              เป็นแมลงปอขนาดกลาง เพศผู้มีขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หน้า 2.9-3.5 ซม. ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 3.3-4 ซม. ส่วนเพศเมียมีขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หน้า 2.8-3.2 ซม. ขนาดจากมุมปลายปีกด้านซ้ายถึงด้านขวาของปีกคู่หลัง 3.2-3.7 ซม. มีลักษณะคล้ายคลึงกับแมลงปอบ้านเสือฟ้าหน้าขาว(O. luzonicum) แต่แตกต่างกันที่ชนิดนี้ตัวผู้มีใบหน้าสีดำ ตาสีฟ้าเข้ม อกสีเทาเข้ม ท้องสีฟ้า โคนท้องไม่คอดเว้า ปลายท้องสีฟ้าเข้ม และปีกใส

                              ส่วนตัวเมียมีอกและท้องสีน้ำตาลเข้มสลับแถบสีเหลืองอ่อน ปีกใส เมื่ออายุมากขึ้น ท้องจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้า

                              ทั่วโลกพบแมลงปอสกุลนี้ประมาณ 55 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบอย่างน้อย 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามแหล่งน้ำจืดตามป่าละเมาะ ป่าโปร่ง และป่าดิบ ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมา ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย

28. มอธ Paras asp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parasa sp.

วงศ์ : Limacodidae

มอธ Parasa sp. ระยะหนอน

                              ยังไม่รู้ชนิด รู้แต่เพียงว่าสกุลนี้ทั่วโลกพบ 132 ชนิด

29. หนอนร่าน

วงศ์ : Limacodidae

หนอนร่าน

                              ยังไม่รู้สกุลและชนิด คงรู้แต่ว่าขนรอบตัวของหนอนประเภทนี้ หากสัมผัสเข้าจะรู้สึกคันปวดแสบปวดร้อนสำหรับคนแพ้

30. ผีเสื้อฟ้าพุ่มธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Hedge Blue

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acytolepis puspa Horsfield, 1828

วงศ์ย่อย : Polyommatinae

วงศ์ : Lycaenidae

ผีเสื้อฟ้าพุ่มธรรมดา

                              มีขนาด 2.8-3.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีฟ้า ขอบปีกสีดำ เพศเมียมีสีฟ้าอ่อนบริเวณกลางปีก ขอบปีกทั้งสองคู่มีสีน้ำตาล ส่วนปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีขาว มีจุดและขีดสีดำแต้มทั่วทั้งปีก

                              ระยะหนอนกินใบพืชตะคร้อ[ Schleichera oleaosa (Lour.) Oken วงศ์ Sapindaceae] และใบพืชสกุลโนรา(Hiptage sp. วงศ์ Malpighiaceae)

                              ทั่วโลกพบ 42 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. gisca Fruhstorfer, 1910 แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน อินเดีย เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

                              – subsp. lambi Distant, 1882 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 6 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามริมแม่น้ำลำธาร และทุ่งหญ้าในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง

31. ผีเสื้อหนอนพุทราแถบตรง

ชื่อสามัญ : Straight Pierrot

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caleta roxus Godart, 1824

วงศ์ย่อย : Polyommatinae
วงศ์ : Lycaenidae

ผีเสื้อหนอนพุทราแถบตรง

                              มีขนาด 2.6-3 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายเพศเมียของผีเสื้อหนอนพุทราแถบฟ้า(Banded Blue Pierrot) แต่ลักษณะของแถบสีขาวบริเวณกลางปีกแตกต่างกันเล็กน้อย ส่วนปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายผีเสื้อหนอนพุทราแถบหักศอก(Elbowed Pierrot) แต่แถบสีดำที่พาดผ่านบริเวณโคนปีกคู่หน้าต่อเนื่องไปถึงโคนปีกคู่หลังค่อนข้างตรง ส่วนผีเสื้อหนอนพุทราแถบหักศอกจะมีแถบนี้หักเป็นมุมฉาก ปีกคู่หลังที่มุมปลายปีกหลังมีเส้นขนข้างละ1เส้น

                              พืชอาหารของหนอน ได้แก่ ใบของสกุลเล็บเหยี่ยว(Ziziphus sp. วงศ์ Rhamnaceae) และใบของสกุลเถาคัน(Cissus sp. วงศ์ Vitaceae)

                              ทั่วโลกพบ 13 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. pothus Fruhstorfer, 1918 ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

                              – subsp. roxana Nicéville, 1897 ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 8 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามริมแม่น้ำลำธาร ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ

32. ผีเสื้อพุ่มไม้ธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Tit
ชื่อวิทยาศาสตร์Hypolycaena erylus Godart, 1824

วงศ์ย่อย : Theclinae

วงศ์ : Lycaenidae

ผีเสื้อพุ่มมะรรมดา เพศผู้

                              มีขนาด 3.2-3.6 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำเงิน เพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาล ส่วนปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีเทาแกมขาว กลางปีกมีเส้นขีดสีน้ำตาลเกือบขนานกับขอบปีกด้านข้าง มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังมีจุดสีดำแต้มสีส้ม และมีเส้นขนเล็กๆข้างละ2เส้น

                              ทั่วโลกพบ 19 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. himavantus Fruhstorfer, 1912 แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

                              – subsp. teatus Fruhstorfer, 1912 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะบอร์เนียว และอินโดนีเซีย ในไทยพบทางภาคใต้

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 60 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามริมลำน้ำในป่าชายเลน ทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ

33. แมงมุมหมาป่าสนาม

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมหมาป่าสนามหญ้า

ชื่อสามัญ : Lawn Wolf Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hippasa holmerae Thorell, 1895

วงศ์ : Lycosidae

แมงมุมหมาป่าสนาม เพศเมีย

                              เพศเมียมีขนาดลำตัวยาว 1.5-3 ซม. บางครั้งพบมีขนาดยาวได้มากกว่า 3 ซม. ส่วนเพศผู้มีขนาดลำตัวยาว 0.6-0.9 ซม. ส่วนหัวมีรูปคล้ายหัวใจ ส่วนท้องเรียวยาวทรงกระบอก สีน้ำตาล มีดวงตาถึง8ตา เรียงกันเป็น3แถว(ขนาดเล็ก4ตาอยู่ในแถวล่างสุด ขนาดใหญ่2ตาอยู่ในแถวกลาง และขนาดกลาง2ตาอยู่ในแถวบนสุด ซึ่งตาแถวบนสุดจะวางตัวอยู่บนหลัง หากเรามองทางด้านหน้าบริเวณหัวของเขาก็ย่อมมองไม่เห็นตา2ตาที่อยู่แถวบนสุด) ช่วยให้มีสายตาอันยอดเยี่ยมในการล่าเหยื่อ ฐานรองเขี้ยวมีรูปร่างคล้ายกรรไกรที่เด่นและแข็งแรง ลำตัวและขาของมันปกคลุมไปด้วยขนสั้นปุกปุยและขนยาวคล้ายหนาม ขาของมันยาว หนา และแข็งแรง จึงทำให้วิ่งได้เร็ว สร้างใยลักษณะเป็นโพรงที่มีปากโพรงใหญ่โตบริเวณพื้นดินหรือตามพุ่มไม้เตี้ยๆ เมื่อเหยื่อเดินผ่านมาติดใยก็จะพุ่งออกมาจับเหยื่อลากเข้าไปกินในโพรง

                              แมงมุมสกุลนี้อาศัยอยู่อย่างสันโดษเพียงตัวเดียวคล้ายกับหมาป่า จึงมีชื่อสามัญว่า“Wolf Spider”

                              เมื่อผสมพันธุ์แล้ว เพศเมียจะนำไข่ไปเก็บไว้ในถุงใยเล็กๆที่ท้อง ใช้เวลาราว 9-27 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ลูกน้อยก็จะฟักตัวออกจากไข่มาเป็นตัวเล็กตัวน้อย จากนั้นก็จะไต่ขึ้นมาเกาะอยู่บนหลังแม่ ดูยั้วเยี้ยไปหมด ลูกน้อยจะอยู่บนหลังแม่ราว 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะแยกย้ายออกไปหากินและดำเนินชีวิตด้วยตนเอง

                              หากเราถูกมันกัด มันจะฉีดพิษเข้าใส่บริเวณแผล อาการที่เกิดจากการเราถูกกัด ได้แก่ คัน บวม และไม่ปวดมาก แต่สำหรับผู้แพ้ก็อาจปวดมากได้ รวมทั้งรู้สึกคลื่นไส้ และเวียนหัว

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 26 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 1 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ทั่วไปในเรือกไร่สวน พื้นที่รกร้าง และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีน ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะบอร์เนียว และอินโดนีเซีย

34. มอธมะเดื่อแถบกว้าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Asota plana Walker, 1854

วงศ์ย่อย : Aganainae

วงศ์ : Noctuidae

มอธมะเดื่อแถบกว้าง ระยะหนอน

                              มีขนาด 5-5.6 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลปนเทา โคนปีกมีสีเหลืองเล็กน้อย กลางปีกมีแถบสีขาวขนาดใหญ่และแถบสีขาวขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลือง อกส่วนหลังมีจุดสีดำ ท้องมีสีดำคาดเป็นปล้อง4ปล้อง

                              ระยะหนอน(ยาว 1.5-1.54 ซม.)กินใบพืชสกุลไทร(Ficus วงศ์ Moraceae)

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 69 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,900 เมตร ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฎาน ทิเบต จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย และเกาะนิวกินี

35. มอธ Scrobigera amatrix Westwood, 1848

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scrobigera amatrix Westwood, 1848

วงศ์ย่อย : Agaristinae

วงศ์ : Noctuidae

มอธ Scrobigera amatrix

                              ยังไม่มีรายละเอียด คงรู้แต่เพียงว่าสกุลนี้ทั่วโลกพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะทางภาคเหนือเท่านั้น

                              แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฎาน ทิเบต จีน เมียนมา และไทย

36. ผีเสื้อจรกาเมียลาย

ชื่อสามัญ : Striped Blue Crow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Euploea mulciber Cramer, 1777

วงศ์ย่อย : Danainae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อจรกาเมียลาย เพศผู้

                              มีขนาด 9-10 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ปีกคู่หน้าของเพศผู้มีสีเหลือบน้ำเงิน และมีจุดสีขาวขนาดเล็กประปราย ปีกคู่หลังสีน้ำตาล ไม่มีลวดลายและไม่มีจุดสีขาว ส่วนเพศเมียปีกคู่หน้ามีเหลือบน้ำเงินจางกว่าเพศผู้ แต่มีจุดสีขาวขนาดใหญ่กว่าในเพศผู้ ปีกคู่หลังมีแถบสีขาวในช่องระหว่างเส้นปีก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ“…เมียลาย” ดูคล้ายผีเสื้อในกลุ่มหนอนรักใบฟ้า

                              ส่วนปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่ไม่มีสีเหลือบน้ำเงิน

                              ระยะหนอนกินใบพืชสกุลไทร(Ficus วงศ์ Moraceae) , ใบพืชสกุลเครือปลาสงแดง(Ichnocarpus sp. วงศ์ Apocynaceae) และใบพืชสกุลเถาวัลย์ดำ(Marsdenia sp. วงศ์ Apocynaceae)

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 116 ชนิด ในไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบบินร่อนและเกาะดอกไม้ในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และสิงคโปร์

37. ผีเสื้อลายเสือฟ้าเข้ม

ชื่อท้องถิ่น : ผีเสื้อหนอนใบรักฟ้าใหญ่

ชื่อสามัญ : Dark Blue Tiger

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tirumala septentrionis Butler, 1874

วงศ์ย่อย : Danainae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อลายเสือฟ้าเข้ม

                              มีขนาด 8.5-9.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) มีลักษณะและสีสันคล้ายผีเสื้อลายเสือฟ้าสีคล้ำ(Dark Blue Glassy Tiger) แต่ต่างกันที่ผีเสื้อชนิดนี้บริเวณกลางปีกคู่หลังมีแถบลักษณะแตกต่างกัน

                              ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำเงินเข้ม หรือสีน้ำตาลเข้ม มีแถบและจุดสีฟ้าจางๆและสีขาวทั่วทั้งปีก ปีกคู่หน้ามีเส้นสีฟ้าขนาดใหญ่และยาวกว่าเส้นอื่น ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกบน

                              แยกเพศโดยสังเกตจากเกล็ดที่ปีกคู่หลัง ซึ่งเพศผู้มี แต่เพศเมียไม่มี

                              ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ subsp. septentrionis Butler, 1874

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 10 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

38. ผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Cruiser

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vindula erota Fabricius, 1793

วงศ์ย่อย : Heliconiinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อตาลหางแหลมธรรมดา เพศเมีย

                              มีขนาด 9-11 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เพศผู้มีพื้นปีกด้านบนสีเหลืองแกมส้ม จนถึงสีน้ำตาลแกมส้ม มีลวดลายสีน้ำตาลหรือออกดำตามแนวเส้นปีก ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่มีเส้นสีดำหยักเป็นคลื่น2เส้น ปีกคู่หลังมีวงกลมข้างละ2วง ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมเล็กน้อย ทำให้มีลักษณะแตกต่างจากผีเสื้อสีอิฐธรรมดา(Common Yeoman) ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียวขี้ม้า มีลวดลายคล้ายเพศผู้ แต่กลางปีกทั้งสองคู่มีแถบสีขาว

                              ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า ปลายขอบปีกคู่หน้ามีจุดสีขาวข้างละ1จุด

                              ขณะเกาะมักกางปีกแผ่ราบ พบเพศผู้บ่อยกว่าเพศเมีย มักหากินในป่าลึก แต่บางครั้งก็พบกินน้ำหวานดอกไม้ตามชายป่า เป็นผีเสื้อที่บินได้ว่องไว โดยเฉพาะยามกลางวันที่แสงแดดจัด

                              พืชอาหารของหนอน ได้แก่ ใบของผักสาบป่าหรือนางนูน[Adenia heterophylla (Blume) Koord. วงศ์ Passifloraceae] , ใบของผักสาบ[Adenia viridiflora Craib วงศ์ Passifloraceae] และใบของกะทกรก[Passiflora foetida L.วงศ์ Passifloraceae]

                              ทั่วโลกพบ 43 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – ชนิดย่อย chersonesia Pendlebyry, 1939 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในไทยพบเฉพาะใน จ.ยะลา

                              – ชนิดย่อย erota Fabricius, 1793 แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีนตอนใต้ เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในไทยพบเกือบทั่วทุกจังหวัด ยกเว้น จ.ยะลา

                              ทั่วโลกพบผีเสื้อสกุลนี้ 5 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามริมลำห้วย ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ

39. ผีเสื้อป่าสีตาลไหม้

ชื่อสามัญ : Common Faun

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Faunis canens Hubner, 1826

วงศ์ย่อย : Morphinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อป่าสีตาลไหม้

                              มีขนาด 6.5-7.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ตาสีเขียวเข้ม ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลแดง ไม่มีลวดลาย ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้ มีเส้นสีน้ำตาลเข้มจากปีกหน้าพาดไปปีกหลัง และมีจุดสีเหลืองขนาดเล็กเรียงกันบริเวณกลางปีกตามแนวขอบปีกด้านข้าง

                              ทั่วโลกพบ 13 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ subsp. arcesilas Stichel, 1933

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นผีเสื้อที่พบเกาะตามพื้นดินในป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

40. ผีเสื้อปีกใบไม้ใหญ่อินเดีย

ชื่อสามัญ : Orange Oakleaf

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kallima inachus Boisduval, 1846

วงศ์ย่อย : Nymphalinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อปีกใบไม้ใหญ่อินเดีย

                              มีขนาด 8.5-11 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำเงินปนน้ำตาล มีแถบขนาดใหญ่สีเหลืองอมส้มพาดขวางกลางปีกคู่หน้า และมีจุดเล็กสีขาวที่ใกล้ปลายปีกคู่หน้า ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาลคล้ายใบไม้แห้ง ตัวที่พบในฤดูฝนอาจมีลายเลอะๆสีขาวคล้ายราขาวที่อยู่บนใบไม้ มีเส้นสีน้ำตาลเข้มพาดจากมุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้าจนถึงมุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลัง ทำให้ดูคล้ายใบไม้ที่มีก้านใบ มุมปลายปีกหลังของปีกคู่หลังยื่นแหลม เมื่อเกาะหุบปีกตั้งขึ้นดูคล้ายใบไม้แห้งมาก เวลาเกาะมักเกาะให้หัวต่ำกว่าส่วนท้อง

                              พืชอาหารของหนอน ได้แก่ ใบของสกุลผักไผ่น้ำ(Persicaria sp. วงศ์ Polygonaceae) , ใบของสกุลตำแย(Girardinia sp. วงศ์ Urticaceae) และใบของสกุลฮ่อม(Strobilanthes sp.วงศ์ Acanthaceae)

                              ทั่วโลกพบ 16 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. alboinachus Nakamura & Wakahara, 2013 ชนิดย่อยนี้แถบขนาดใหญ่ที่พาดขวางกลางปีกคู่หน้ามีสีขาว แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ เท่านั้น

                              – subsp. siamensis Fruhstorfer, 1912 ชนิดย่อยนี้แถบขนาดใหญ่ที่พาดขวางกลางปีกคู่หน้ามีสีเหลืองอมส้ม แพร่กระจายในเมียนมา ไทย และลาว ในไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

                              ทั่วโลกพบสกุลนี้ 14 ชนิด ในไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามริมลำน้ำ ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง

41. ผีเสื้อหนอนมะพร้าวธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Palmfly

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elymnias hypermnestra Linnaeus,1763

วงศ์ย่อย : Satyrinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อหนอนมะพร้าวธรรมดา เพศผู้

                              มีขนาด 6-7 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ทั่วโลกพบ 12 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. tinctoria Moore, 1879 พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ แพร่กระจายในเมียนมา ไทย ลาวตอนเหนือ และมาเลเซีย

                              – subsp. violetta Fruhstorfer, 1902 พบทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก แพร่กระจายในไทย และลาวตอนใต้

                              เพศผู้ในทุกชนิดย่อยมีลักษณะคล้ายกัน ส่วนเพศเมียมีแถบและแต้มสีขาวแตกต่างกันเล็กน้อย

                              ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีสีน้ำเงินแวววาว ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีสีน้ำตาลแดง ส่วนเพศเมียมีพื้นปีกด้านบนเลียนแบบผีเสื้อหนอนข้าวสารลายเสือ(Common Tiger) เพื่อหลอกให้ศัตรูเข้าใจผิด พื้นปีกมีสีน้ำตาลแดง มีแถบสีขาวพาดขวางบริเวณใกล้มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้า ขอบปีกด้านข้างของปีกทั้งสองคู่มีจุดแต้มสีขาวเรียงกัน

                              ปีกด้านล่างทั้งสองเพศคล้ายกัน มีพื้นปีกสีน้ำตาล มีลายกระทั่วแผ่นปีก มุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้ามีสีขาวจางๆเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก

                              วางไข่เป็นฟองเดี่ยวทั้งบนและใต้ใบ วงจรชีวิตระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอน 8-21 วัน(หนอนโตเต็มที่มีสีเขียวเข้ม และมีเส้นสีเหลืองพาดยาวตามแนวลำตัว)  ระยะดักแด้ 7 วัน(มีสีเขียวและลายจุดสีเหลือง ยึดส่วนปลายเพียงจุดเดียว ไม่ห้อยหัวลงตรงๆ แต่จะเอียงราว 30-40 องศา) และตัวเต็มวัย 10-15 วัน

                              พืชอาหารหนอน ได้แก่ พืชในวงศ์ Arecaceae อาทิเช่น สกุลหมาก[Areca sp.] สกุลหวาย[Calamus sp.] สกุลเต่าร้าง[Caryota sp.] มะพร้าว[Cocos nucifera L.] สาคู[Metroxylon sagu Rottb.] ปาล์มหลายสกุล เป็นต้น

                              มักพบบินวนเวียนใกล้พืชอาหาร

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในไทยพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ

42. ผีเสื้อตาลพุ่มคั่นกลาง

ชื่อสามัญ : Intermedia Bushbrown

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycalesis intermedia Moore,1892

วงศ์ย่อย : Satyrinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อตาลพุ่มคั่นกลาง

                              มีขนาด 4.5-5.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม กลางปีกคู่หน้ามีจุดวงกลมขนาดใหญ่ 1 จุด และขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีจุดขนาดเล็ก 2 จุด

                              ส่วนปีกด้านหลังมีลักษณะคล้ายผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียง(Dark-brand Bushbrown) มีพื้นปีกสีน้ำตาล แต่สีอ่อนกว่าปีกด้านบน มีลายจุดเช่นเดียวกับผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียง ปีกคู่หน้ามี 2 จุด และปีกคู่หลังมี 7 จุด ถัดจากจุดมีเส้นสีขาวพาดยาวต่อเนื่องกันกลางปีกทั้งสองคู่

                              ผีเสื้อสกุลนี้ทั่วโลกพบ 101 ชนิด ในเมืองไทยพบ 18-19 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าไผ่ และป่าโปร่ง เกือบทั่วทุกภาค ทางภาคใต้มีรายงานการพบถึง จ.นครศรีธรรมราช

                              แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีนตอนใต้ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

43. ผีเสื้อสีตาลจุดตาห้าธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Five-ring

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ypthima baldus Fabricius, 1775

วงศ์ย่อย : Satyrinae

วงศ์ : Nymphalidae

ผีเสื้อสีตาลจุดตาห้าธรรมดา

                              มีขนาด 3-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลแกมเหลืองจนถึงสีน้ำตาล กลางปีกคู่หน้ามีจุดวงกลมขนาดใหญ่1จุด สีดำ ล้อมรอบด้วยสีเหลือง ปีกคู่หลังบริเวณขอบปีกด้านข้างมีจุดวงกลม5จุด สีดำ ล้อมรอบด้วยสีเหลือง โดยจุดคู่ที่2มีขนาดใหญ่กว่าจุดอื่นๆ ขนาดกลาง1จุด ส่วน2จุดที่อยู่ใกล้มุมปลายปีกคู่หลังมีขนาดเล็ก มักจะมองเห็นไม่ค่อยชัด แต่เพศผู้ในช่วงฤดูฝนจะมีเพียง3จุด(ขนาดใหญ่2จุด และขนาดกลาง1จุด)

                              ปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีน้ำตาล และมีลายหยาบๆ ปีกคู่หน้ามีจุดวงกลมใหญ่คล้ายปีกด้านบน แต่แต้มสีดำจะล้อมรอบด้วยสีออกขาว ปีกคู่หลังมีจุดวงกลม6จุด(อยู่ติดกันเป็นคู่3คู่)

                              วงจรชีวิตระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอน 35-37 วัน และระยะดักแด้ 8-24 วัน

                              ทั่วโลกพบ 13 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. baldus Fabricius, 1775 ในไทยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน จีน เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

                              – subsp. newboldi Distant, 1882 ในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

                              ทั่วโลกพบสกุลนี้กว่า 150 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักชอบเกาะตามพื้นที่มีแสงรำไรตามทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และชายป่าดิบเขา

44. แมงมุมแมวป่ายักษ์เขียว

ชื่อท้องถิ่น : แมงมุมตาหกเหลี่ยมเขียว

ชื่อสามัญ : Indian Green Lynx Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Peucetia viridana Stoliczka, 1869

วงศ์ : Oxyopidae

แมงมุมแมวป่ายักษ์เขียว เพศเมีย

                              เพศเมียมีขนาด 0.7-1 ซม. ส่วนเพศผู้มีขนาด 0.6-0.7 ซม. หัวและอกสีเขียวอ่อนและมีจุดประสีดำ ท้องยาวเรียวสีเขียวสด ท้องด้านบนมีลายคล้ายหอกและมีเส้นสีขาว2เส้นพาดตามแนวยาว ปลายเส้นทั้ง2เส้นจะเชื่อมต่อกันใกล้ส่วนอกเป็นรูปตัวยู(U) มีตารวมเป็นกระจุกอยู่ด้านหน้า ขายาวสีขาวและมีปล้องสีดำหลายปล้อง ตามข้อมีสีเหลือง ขามีขนยาวแหลมสีขาวใสและสีดำ ช่วงวัยอ่อนนนั้นโคนขาคู่หน้ามีสีแดงใส เป็นแมงมุมที่ไม่สร้างใยดักเหยื่อ แต่จะซ่อนตัวตามพงหญ้าและไม้พุ่มเตี้ยๆเพื่อรอดักเหยื่อ

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 48 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้ปัจจุบันมีรายงานการพบตามป่าละเมาะ และป่าเบญจพรรณ เฉพาะทางภาคเหนือเท่านั้น

                              แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกกลาเทศ เมียนมา ไทย

45. ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู

ชื่อสามัญ : Common Rose

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pachliopta aristolochiae Fabricius, 1775

วงศ์ย่อย : Papilioninae

วงศ์ : Papilionidae

ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู

                              มีขนาด 8-11 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน คือ อกและท้องมีสีชมพู-แดง และมีแต้มสีดำบริเวณด้านบนและด้านข้างของลำตัว ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวคล้ายหาง

                              ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีดำ มีเกล็ดสีเทาระบายรอบเส้นปีกและครึ่งหนึ่งของเซลปีกดูคล้ายเป็นเงาสีขาวจางๆ กลางปีกคู่หลังมีแถบสีขาว5แถบตามช่องเส้นปีก แถบที่อยู่ใกล้ขอบปีกด้านในมีสีขาวอมชมพู มีจุดแต้มสีชมพู6จุดเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

                              เพศผู้มักชอบหากินตามพื้นที่ที่ชื้นแฉะ ริมลำห้วย ริมลำน้ำ มูลสัตว์ และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย

                              วงจรชีวิตระยะไข่ 5 วัน ระยะหนอน 16-17 วัน(ลำตัวเป็นปล้องๆ สีดำ มีหนามสีแดงกระจายอยู่บนลำตัว บริเวณกลางลำตัวมีแถบและหนามสีขาว1แถบพาดขวางลำตัว) และระยะดักแด้ 11-12 วัน(ใช้ใยยึดส่วนท้ายของลำตัวติดกับพืชและอีกเส้นหนึ่งคล้องรอบลำตัว)

                              พืชอาหารหนอน ได้แก่ ใบของพืชในวงศ์ Aristolochiaceae เช่น กระเช้าถุงทอง(Aristolochia pothieri Pierre ex Lecomte) กระเช้าผีมด(Aristolochia acuminata Lam.) และหูหมี(Thottea parviflora Ridl.)

                              ทั่วโลกพบ 18 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. asteris Rothschild, 1908 ในไทยพบเฉพาะภาคใต้เท่านั้น แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และตอมอร์เลสเต

                              – subsp. goniopeltis Rothschild, 1908 ในไทยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน หมู่เกาะอันดามัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และฟิลิปปินส์

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 15 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามสวนผลไม้ ป่าละเมาะ และริมลำน้ำในป่าเบญจพรรณ

46. ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน

ชื่อสามัญ : Red Helen

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papilio helenus Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : Papilioninae

วงศ์ : Papilionidae

ผีเสื้อหางติ่งเฮเลน

                              มีขนาด 11.5-13 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อหางติ่งชะอ้อน ชนิดย่อย chaon Westwood, 1845 คือมีพื้นปีกสีดำ แต่ปีกคู่หลังของชนิดนี้มีแต้มสีแดงเรียงกันตามแนวขอบปีกด้านข้าง มีแถบสีขาวบริเวณกลางปีก3แถบ ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นยาวคล้ายหาง ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

                              บินได้ว่องไวมาก โดยมักชอบบินในระดับสูงไม่เกิน 3 เมตร

                              วงจรชีวิตระยะไข่ 4 วัน ระยะหนอน 26 วัน และระยะดักแด้ 19 วัน

                              ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ subsp. helenus Linnaeus, 1758 แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

                              ทั่วโลกพบสกุลนี้ประมาณ 215 ชนิด ในไทยพบ 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามริมลำน้ำในป่าดิบ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และสิงคโปร์

47. กิ้งกือมังกรสีชมพู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Desmoxytes takensis Srisonchai, Enghoff & Panha, 2016

วงศ์ : Paradoxosomatidae

กิ้งกือมังกรสีชมพู

                              เป็นสัตว์ถิ่นเดียวในไทย ปัจจุบันมีรายงานการพบที่ อ.ท่าสองยาง , อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก

48. ผีเสื้อเณรแอนเดอร์สัน

ชื่อสามัญ : Anderson’s Grass Yellow

ชื่ออื่นๆ : One-spot Yellow Grass

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema andersonii Moore, 1886

วงศ์ย่อย : Colladinae

วงศ์ : Pieridae

ผีเสื้อเณรแอนเดอร์สัน

                              มีขนาด 4-4.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อเณรธรรมดา(Common Grass Yellow) คือ พื้นปีกสีเหลือง ขอบปีกสีดำ บริเวณสีดำที่ต่อกับสีเหลืองในปีกคู่หน้านั้นจะหยักเว้า ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีเหลือง มีจุดเล็กๆสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป แต่มุมปลายปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลเลอะๆ

                              ทั่วโลกพบประมาณ 13 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. andersonii Moore, 1886 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในไทยพบทางภาคใต้

                              – subsp. sadanobui Shirôzu & Yata, 1981 แพร่กระจายในจีน และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 71 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามทุ่งหญ้า ลำห้วย และป่าโปร่ง

49. ผีเสื้อเณรธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Grass Yellow

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema hecabe Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : Coliadinae

วงศ์ : Pieridae

ผีเสื้อเณรธรรมดา

                              มีขนาด 4-5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ผีเสื้อกลุ่มนี้จำแนกชนิดได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีสีออกไปทางสีเหลือง และปีกล่างไม่มีลวดลายใดๆ แต่ละชนิดมีสีสันที่คล้ายกัน นอกจาจะใช้สีดำที่บริเวณขอบปีกบนเป็นจุดสังเกตแล้ว จุดแต้มสีน้ำตาลเล็กๆที่กระจายอยู่บนแผ่นปีกล่างก็มีส่วนช่วยในการแยกแต่ละชนิด

                              ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีเหลือง ขอบปีกสีดำ บริเวณสีดำที่ต่อกับสีเหลืองนั้นในปีกคู่หน้าจะหยักเว้าแตกต่างจากปีกคู่หลัง

                              ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน เห็นสีดำจางๆของปีกบน มีจุดสีน้ำตาลเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป

                              ระยะหนอนกินใบของพืชสกุล Cassia และสกุล Senna เป็นอาหาร

                              ทั่วโลกพบ 21 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว ได้แก่ subsp. hecabe Linnaeus, 1758

                              ทั่วโลกพบสกุลนี้ 71 ชนิด ในไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

                              ชนิดย่อย hecabe แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีน ญี่ปุ่น เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะบอร์เนียว และอินโดนีเซีย

50. แมงมุมหญ้าสีน้ำตาล

ชื่อสามัญ : Brown Grass Spider

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyboea vulpina Thorell, 1895

วงศ์ : Pisauridae

แมงมุมหญ้าสีน้ำตาล เพศเมีย

                              เพศษเมียมีขนาดลำตัวยาว 0.8-0.9 ซม. เพศผู้มีขนาดลำตัวยาว 0.7-0.8 ซม. หัวและอกสีเหลืองแกมส้ม ท้องสีน้ำตาลและมีลายสีน้ำตาลอ่อนสลับน้ำตาลเข้มตามแนวยาว ขายาวสีเหลืองแกมส้ม

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบสร้างใยตามทุ่งหญ้า ไม้ล้มลุก และไม้พุ่มเตี้ย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

                              แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมา ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์        

51. ปูจ่าแม่สอด

ชื่อท้องถิ่น : ปูป่า

ชื่อสามัญ : Maesot Waterfall Crab

ชื่ออื่นๆ : Terrestrial Crab

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Takpotamon maesotense Naiyanetr 1992

วงศ์ : Potamidae

ปูจ่าแม่สอด

                              ลักษณะขอบด้านนอกมีตุ่มขรุขระ สันขอบข้างกระดองส่วนหน้ายกเป็นขอบชัดเจน มีตุ่มแบบลูกปัดต่อเนื่องตลอดสัน ขนาดความกว้างกระดอง 3.53-4.64 ซม.

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในไทยพบทั้ง 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามลำธาร น้ำตก หรือใกล้ลำน้ำในป่าดิบแล้ง ปัจจุบันมีรายงานการพบ อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.อุ้มผาง จ.ตาก , อุทยานฯแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร , อ.ปะเหลียน จ.ตรัง และอ.มะนัง จ.สตูล เท่านั้น

                              เป็นสัตว์ถิ่นเดียวในไทย ชื่อชนิด maesotense ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบเป็นครั้งแรกของโลก คือ อ.แม่สอด จ.ตาก ถูกค้นพบโดยศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร

52. ตั๊กแตนหน้าเอียงจุดขาว

ชื่อท้องถิ่น : ตั๊กแตนหน้าลาดจุดขาว

ชื่อสามัญ : White-spotted Slant-faced Grasshopper

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudomorphacris brachyptera Kevan, 1963

วงศ์ย่อย : Pyrgomorphinae

วงศ์ : Pyrgomorphidae

ตั๊กแตนหน้าเอียงจุดขาว

                              ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากนัก คงรู้แต่เพียงว่าทั่วโลกพบสกุลนี้ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

53. จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ

ชื่อสามัญ : Spotted Forest Skink

ชื่ออื่นๆ : Common Forest Skink ; Maculated Forest Skink ; Streamside Forest Skink

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sphenomorphus maculatus Blyth, 1853
วงศ์ย่อย : Lygosominae

วงศ์ : Scincidae

จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ ยังโตไม่เต็มวัย

                             เป็นจิ้งเหลนขนาดเล็ก มีขนาด 5.3-7 ซม.(วัดจากปลายปากถึงรูทวาร) หางยาวราว 9.5 ซม. หรือประมาณ 2 เท่าของความยาวลำตัว ลำตัวเรียวยาว หัวแบน หัวสีคล้ำกว่าลำตัวและหาง ส่วนหัวกว้างกว่าลำคอเล็กน้อย ปลายหัวมน

                              ลำตัวด้านหลังสีเขียวมะกอก สีน้ำตาล สีน้ำตาลอมเทา หรือสีน้ำตาลบรอนซ์ บนหลังของบางตัวอาจเป็นสีน้ำตาลและไม่มีลวดลาย แต่บางตัวมีจุดกลมสีดำเรียงตัวคล้ายกับเป็นแถว 2 แถวในแนวกลางตัวที่ส่วนต้นของลำตัว แล้วเหลือเพียงแถวเดียวทางส่วนท้ายของลำตัว ด้านข้างของหัวมีเส้นสีดำพาดยาวจากส่วนปลายของปากผ่านตา แล้วขยายเป็นแถบกว้างทางด้านท้ายของตาผ่านไปทางด้านบนของช่องเปิดหูและทางด้านข้างลำตัวกับทางด้านข้างของหางจนถึงปลายหาง บางตัวอาจมีจุดสีครีมกระจายทั่วในแถบสีดำ ขอบของแถบสีดำที่ด้านข้างลำตัวเป็นเส้นค่อนข้างตรง แต่ที่ด้านข้างของหางเป็นเส้นหยัก ด้านล่างของแถบสีดำเป็นแถบสีขาวพาดยาวจากทางด้านท้ายของตาผ่านช่องเปิดหูและต่อไปทางด้านข้างลำตัวจนถึงส่วนต้นของหาง และทางด้านล่างของแถบสีขาวเป็นประสีดำจากส่วนปลายของปากไปถึงซอกขาหนีบ บริเวณคาง ท้องสีเหลืองอ่อนอมน้ำตาล หรือสีขาวอมเหลือง ใต้หางมีสีขาว หรือสีขาวอมเหลือง ขาหน้าและขาหลังสีน้ำตาลและมีลายเลอะสีเข้ม นิ้วตีนยาว มีสีน้ำตาลเข้มกับจางพาดขวางเป็นปล้อง ปลายนิ้วตีนทุกนิ้วมีเล็บ

                              ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมและพื้นผิวเกล็ดเรียบเป็นมัน เกล็ดบนหัวเป็นแผ่นกว้าง เปลือกตาล่างมีเกล็ดปกคลุมและแผ่นเกล็ดโปร่งใส เกล็ดปลายจมูกแบนราบหรือบุ๋มลงเล็กน้อย เกล็ดบนหลังและทางด้านบนของหางมีขนาดใหญ่ เกล็ดด้านข้างลำตัวมีขนาดเล็ก เกล็ดด้านท้องใหญ่กว่าเกล็ดด้านข้างลำตัวเล็กน้อย เกล็ดใต้หางขยายกว้าง เกล็ดรอบลำตัวในตำแหน่งกึ่งกลางตัวมีจำนวน 38-44 เกล็ด

                              ออกหากินเวลากลางวัน มักหากินอยู่บนพื้นดินใกล้ลำห้วย/คลองหรือบนลานหินที่กระจายอยู่ข้างลำหวย/คลอง แต่ในฤดูฝนที่พื้นดินมีความชุ่มชื้นจะเคลื่อนย้ายไปหากินอยู่ตามพื้นล่างของป่า เดินและวิ่งหากินและหยุดพักเป็นระยะ ในช่วงที่หยุดนิ่งมักยกหัวสูงขึ้นมาจากพื้นดิน เมื่อถูกรบกวนจะวิ่งหลบหนีเข้าซอกหินที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือวิ่งเข้าไปใต้กองใบไม้ที่อยู่ตามพื้นล่างของป่า อันเป็นลักษณะเดียวกับแย้ธรรมดา

                              อาหารหลัก ได้แก่ หนอน จิ้งหรีด แมงมุม ผีเสื้อ แมงและแมลงขนาดเล็ก และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ

                              ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกันยายน – เดือนกุมภาพันธ์ บริเวณท้องจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และใต้หางเป็นสีเหลืองอมส้ม วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง

                 สกุลนี้ทั่วโลกพบ 114 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบใกล้ลำธาร ตามก้อนหิน พื้นทราย ใต้กองใบไม้ ขอนไม้ ทั้งพื้นราบ และบนภูเขาในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง

                              แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย นิวกินี และเกาะซุนดา

                 ชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่

                              – subsp. maculatus Blyth, 1853 แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย(เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้) กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวกินี

                              subsp. mitanensis Annandale, 1905 แพร่กระจายในเมียนมา และไทย(ภาคใต้)

54. กระรอกท้องแดง

ชื่อสามัญ : Pallas’s Squirrel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Callosciurus erythraeus Pallas, 1779
วงศ์ย่อย
: Sciurinae

วงศ์ : Sciuridae

กระรอกท้องแดง

                              มีขนาด 20-26 ซม.(วัดจากปลายจมูกถึงรูทวาร) หางเป็นพวงยาว 19-25 ซม. มีสีเนื้อสลับสีดำจางๆ ขาหลังยาว 4.4-5.5 ซม. และหูยาว 1.8-2.3 ซม. ขนลำตัวด้านบนมีสีแตกต่างกันตามแต่ละสภาพภูมิประเทศ อาทิเช่น สีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีน้ำตาลแดง และมักพบมีแถบสีดำบริเวณกลางสันหลัง(ในประชากรหนึ่งๆจะมีทั้งตัวที่มีแถบสีดำและไม่มี) ขนบริเวณท้องสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลแดง

                              กระรอกท้องแดงมีลักษณะคล้ายกับกระรอกหลากสี แต่มีขนสั้นและแน่นกว่ากระรอกหลากสี

                              อยู่แบบโดดเดี่ยว หรืออยู่แบบครอบครัวครัวขนาดเล็ก ออกหากินกลางวัน อาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก อาหารได้แก่ ผลไม้ ดอกไม้ เปลือกไม้ เมล็ดพืช ไข่นก แมลงต่างๆ และสัตว์ขนาดเล็กเท่าที่จับได้

                              ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนมีนาคม ทำรังตามปลายยอดของต้นไม้สูง ออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว

                              ทั่วโลกพบสกุลนี้ 15 ชนิด ในไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามพื้นที่ชุมชน สวนสาธารณะ สวนผลไม้ ชายป่า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้

                              แพร่กระจายในบังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาด้านตะวันออก ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

55. แมลงวันผลไม้

ชื่อสามัญ : Fruit Fly

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceratitis (Ceratalaspis) sp.  

วงศ์ย่อย : Dacinae

วงศ์ : Tephritidae

แมลงวันผลไม้

                              แมลงวันผลไม้ในวงศ์นี้ เป็นแมลงที่มีแถบสีดำบนปีก ลักษณะปีกและเส้นปีกของแมลงวันผลไม้จัดเป็นลักษณะทางกายภาพที่สำคัญในการ จำแนกชนิดแมลงวันผลไม้โดยทั่วไป

                              แมลงวันผลไม้ทุกสกุลทุกชนิดเป็นแมลงศัตรูสำคัญของพืชผักและผลไม้มากกว่า 4,000 ชนิด แมลงวันประเภทนี้พบกระจัดกระจายอยู่ในเขตหนาว เขตอบอุ่นและเขตร้อนของโลก ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 800 ชนิด ที่พบในเขตภาคพื้นทวีปเอเชีย

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 33 ชนิด

56. แมงมุมเขี้ยวใหญ่ไข่มุกลายช่อง

ชื่อสามัญ : Silver Leucauge Spider
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucauge tessellata Thorell, 1887
วงศ์ : Tetragnathidae

แมงมุมเขี้ยวใหญ่ไข่มุกลายช่อง

                              เพศเมียมีขนาด 0.67-1.1 ซม. เพศผู้มีขนาด 0.5-0.8 ซม. หัวและอกสีส้มใส ท้องสีดำและมีลายเป็นแถบสีเงิน มองจากด้านบนของท้องจะเห็นเป็นช่องสีเงิน2แถว ขนานตามความยาวของท้อง ขาสีส้มใสและมีลายสีดำ ชอบชักใยระหว่างไม้พุ่มขนาดเล็ก หรือต้นหญ้า โดยถักใยเป็นมุมเฉียงกับพื้น และชอบเกาะอยู่ตรงกลางใย เมื่อถูกรบกวนจะหลบใต้ใบไม้บริเวณมุมด้านบนด้านใดด้านหนึ่ง

                              หัวและอกสีน้ำตาลอ่อน มีความยาวมากกว่าความกว้าง ปกคลุมไปด้วยขน พื้นที่ทางด้านท้ายของส่วนอกเป็นรูปสามเหลี่ยมร่องลึก ส่วนหัวแคบกว่าส่วนอก มี8ตา เรียงเป็น2แถวๆละ4ตาแบบโค้งลง โดยแถวหน้าเรียงโค้งมากกว่าแถวหลัง ตากลางคู่หน้าเล็กกว่าตากลางคู่หลังเล็กน้อย ตาด้านข้างเล็กกว่าตาคู่กลาง กระดูกสันอกสีค่อนข้างเหลืองและมีขน ริมฝีปากมีสีน้ำตาลดำ แต่ตรงปลายขอบปากมีสีค่อนข้างเหลืองและมีความยาวเกือบเท่ากับความกว้าง ขากรรไกรสีน้ำตาลดำและมีความยาวมากกว่าความกว้าง เขี้ยวพิษขนาดใหญ่และอ้วนสีน้ำตาลดำ มีฟันแถวหน้า3ซี่ แถวหลัง4ซี่ ขายาวมากและเรียวยาวซึ่งปกคลุมด้วยขนและหนาม โคนของขาคู่ที่4มีแถบขนที่ปลายงอนขึ้น2แถว ท้องยาวเล็กน้อย ท้องด้านหน้ามีส่วนที่มีลักษณะคล้ายปุ่ม2ปุ่มยื่นออกไปเล็กน้อย และด้านหลังของส่วนท้องมีแถบและเส้นสีเงินขาวและสีชอล์กพาดลงไปตั้งแต่ส่วนด้านบนจนถึงด้านล่างของส่วนท้อง ด้านล่างของส่วนท้องมีแถบสีเงิน1คู่ บริเวณด้านหลังโก่งขึ้นมาดูคล้ายหลังค่อม

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 175 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบสร้างใยกลมแนวดิ่งหรือแนวนอนบนไม้พุ่มใกล้แหล่งน้ำหรือมีความชื้นสูง ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

                              แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฎาน จีน ไต้หวัน เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย

57. ตั๊กแตนพุงพลุ้ย

ชื่อสามัญ : The Bushcricket

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mecopoda elongate Linnaeus, 1758

วงศ์ย่อย : Mecopodinae

วงศ์ : Tettigoniidae

ตั๊กแตนพุงพลุ้ย ยังไม่โตเต็มวัย

                              ขนาดลำตัวยาว 7.5 ซม. สีน้ำตาล ปีกประดับด้วยจุดแต้มสีดำ หนวดแบบเส้นด้าย ปากแบบกัดกิน ปีกคล้ายแผ่นหนังบาง ขาคู่แรกและคู่กลางเป็นขาเดิน ขาคู่หลังเป็นขากระโดด

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้ในไทยพบตามทุ่งหญ้าป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือ

                              แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

น้ำตกปะหละทะ

น้ำตกทีลอซู

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..