แนะนำแหล่งท่องเที่ยว โดย..หนุ่มสุพรรณ..

 

ปีนดอยดูดอกไม้และชมทะเลหมอกบนดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่

ทิวทัศน์บนยอดหัวสิงห์

 1. อำเภออมก๋อย

           “ปีใดน้ำมาก ปีนั้นจะหนาวสุด” เป็นคำพูดของคนเฒ่าคนแก่ที่ยังใช้ได้ดีเสมอในทุกวันนี้ ซึ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคม ผู้เขียนก็ได้เดินทางไปท่องป่าหน้าหนาว ณ ดินแดนที่ได้ชื่อว่าหนาวที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย คือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

           อ.อมก๋อย เป็น 1 ใน 25 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางใต้สุดของจังหวัด มีอาณาเขตติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราวๆ 165 กม.

           พื้นที่ของ อ.อมก๋อย มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน โดยร้อยละ80เป็นพื้นที่ภูเขาสูง อีกร้อยละ20เป็นพื้นที่ภูเขาเตี้ย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 – 1,929 เมตร จึงทำให้ดินแดนแห่งนี้มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี

           “อมก๋อย”มาจากคำว่า”อำกอย” เป็นภาษาลัวะ(หรือละว้า) แปลว่า “ขุนน้ำ”หรือ”ต้นน้ำ” สันนิษฐานว่าหมายถึงต้นน้ำแม่ตื่นที่ไหลผ่านชุมชนเมืองโบราณ คือ “เมืองตื๋นนันทบุรี” หรือ”แม่ตื่น”ในปัจจุบัน

           ที่ตั้งอำเภอออมก๋อยในปัจจุบันนั้น แต่เดิมเป็นหมู่บ้านของชาวลัวะ มีขุนแสนทองเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมาได้มีคนเมืองอพยพเข้ามาแทนที่ ทำให้ชาวลัวะได้ย้ายออกไปอยู่ในท้องที่อื่น ส่วนทางราชการได้ทำการจัดตั้งเป็นตำบลอยู่ในเขตปกครองของอำเภอฮอด ก่อนทำการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออมก๋อยในปี พ.ศ.2463 และได้ยกฐานะเป็นอำเภออมก๋อยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2501

ทะเลหมอกยามเช้าบนดอยม่อนจอง

           แหล่งท่องเที่ยวในดินแดนแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ตามแดนดอยต่างๆ , น้ำตก(ที่สำรวจและเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว) 6 แห่ง ได้แก่ น้ำตกแม่ตื่นน้อย น้ำตกนางนอน น้ำตกห้วยตาด น้ำตกวังควายเผือก น้ำตกโป่งดิน และน้ำตกตะกอคะ ล้วนเป็นน้ำตกขนาดกลางๆ ไม่ใหญ่โต แต่ยังมีน้ำตกอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่โต แต่ยังไม่สามารถเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ด้วยความที่ยังไม่พร้อมในด้านการจัดการ , การล่องแพยางตามลำน้ำแม่ตื่นสู่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก สมัยก่อนจะมีผู้ประกอบการต่างถิ่น(ส่วนใหญ่เป็น จ.ตาก)เข้ามาดำเนินการ ต่อมากิจกรรมนี้ก็เงียบหายไป อาจเป็นเพราะไม่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว หรืออาจเป็นเพราะทางเขตรักษาพันธุ์ฯแม่ตื่น ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่โดยรอบของลำน้ำสายนี้ เกรงว่าธรรมชาติจะได้รับความเสียหายจากการท่องเที่ยว จึงไม่อนุญาตก็อาจเป็นได้ และการเดินป่าขึ้นดอยม่อนจอง..เป็นกิจกรรมทางธรรมชาติที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากเหล่าชาวแค้มปิ้ง ซึ่งในช่วงหน้าหนาวของทุกปี จะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางขึ้นไปท่องเที่ยว

           สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางด้านศาสนสถาน มีเพียง 2 แห่ง คือ วัดจอมแจ้ง ที่มีอายุกว่า 400 ปี และวัดแสนทอง ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองอมก๋อย มีอายุหลายร้อยปีเช่นกัน เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าแสนทอง..พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน

           สถานที่ที่เราตั้งใจกลับมาเยือนอีกครา(ร่วม20ครั้งเห็นจะได้) ด้วยเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ชื่นชอบมาก ก็คือ“ดอยม่อนจอง” เป็นดอยที่ตั้งอยู่บนทิวเขาถนนธงชัยตอนกลาง คำว่า“ม่อน”เป็นภาษาคำเมืองที่หมายถึง“ดอยหรือเนินเขา ส่วนคำว่า“จอง”นั้นภาษาคำเมืองจะออกเสียงว่า “จ๋อง”หมายถึง”ลักษณะจั่วสามเหลี่ยมที่อยู่สูงที่สุด” ซึ่งเรียกตามลักษณะภูมิประเทศที่เป็นยอดเขาและมีหน้าผาสูงชัน ดอยแห่งนี้มีสภาพทางธรณีวิทยาเป็นภูเขาหินปูนผสมหินทราย หินเซลล์ และหินแกรนิตปะปนกันไป ทำให้ดอยแห่งนี้มีลักษณะตื่นตาตื่นใจ คือ ไหล่เขาด้านตะวันออกเป็นป่าดิบเขาแน่นทึบที่ค่อยๆลาดลงไป ส่วนด้านตะวันตกเป็นหน้าผาสูงชันดำทะมึน มองไกลออกไปตามสันเขาแคบๆที่เลียบเลาะไปตามไหล่ผาอย่างน่าหวาดเสียวสู่ทิศใต้ก็จะเห็นยอดภูผาดอยม่อนจองที่มีลักษณะคล้ายหัวสิงห์ชูยอดเด่นตระหง่านอย่างน่าเกรงขาม โดยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,929 เมตร

หน่วยฯมูเซอร์

           ส่วนใหญ่จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นดอยแห่งนี้เฉพาะช่วงฤดูหนาวเท่านั้น แต่ผู้เขียนเคยขึ้นไปทุกฤดูกาล และนับว่าโชคดีมากๆที่ได้เห็นสัตว์ป่าหายากในผืนป่าแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกวางผาและเลียงผาซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน2ใน15ชนิดของเมืองไทย รวมทั้งสุนัขจิ้งจอก หมาไน เก้ง กวาง และโขลงช้างป่าหลายครั้งด้วยกัน ส่วนพรรณไม้นั้นก็มีหลากหลายให้ชื่นชมได้ทุกฤดูกาล

           อำเภออมก๋อยเป็นอำเภอเล็กๆที่ตั้งอยู่บนดอยทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ จ.เชียงใหม่ อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 165 กม. แต่ก่อนชุมชนบริเวณตัวอำเภอเป็นบ้านไม้เก่าๆ เดี๋ยวนี้เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นตึกแถว ทั้งยังมีร้านสะดวกซื้อเปิดบริการ หลังอาหารเช้าในตัวอำเภอที่มีเปิดขายอยู่เพียง2ร้านในยามเช้า เราก็เดินทางกันต่อไปตามทางหลวงท้องถิ่นหมายเลข1099 อีกราว 40 กม. ก็จะพบป้ายทางแยกเข้าหน่วยฯมูเซอร์อยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ

2.หน่วยมูเซอร์..จุดเริ่มต้นสู่ดอยม่อนจอง

           หน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอร์เป็นหน่วยฯแห่งหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์ฯอมก๋อย ที่ทำการหน่วยฯตั้งอยู่บนไหล่เขาลาดชันที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,250 เมตร โดยปกติมีอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดทั้งปี ยิ่งในช่วงยามเช้าของต้นเดือนธันวา’เช่นนี้ยิ่งมีอากาศหนาวเย็นจับจิตจับใจมากเป็นพิเศษ บริเวณหน่วยฯสามารถมองเห็นทัศนียภาพทางด้านตะวันออกได้กว้างไกลตา รวมทั้งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า นักท่องเที่ยวจำต้องมาทำเรื่องขออนุญาตการเดินทางขึ้นดอยม่อนจองที่นี่ โดยต้องติดต่อล่วงหน้าก่อน เพื่อที่ทางหน่วยฯจักได้เตรียมรถ4WD ลูกหาบ และเจ้าหน้าที่นำทางไว้ให้ ทั้งนี้บนดอยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายใดๆ เราต้องเตรียมกันไปเอง โดยเฉพาะอาหาร เต็นท์ และอุปกรณ์กันหนาว โดยแต่ละวันทางหน่วยฯจะอนุญาตให้ขึ้นไปศึกษาธรรมชาติบนดอยม่อนจองได้ครั้งละไม่เกิน40คน(รวมทุกกลุ่ม)

หมู่บ้านมูเซอร์ดำ

           จากหน่วยฯมูเซอร์เปลี่ยนเป็นรถ4WDเดินทางสู่หน่วยฯม่อนจอง ผ่านหมู่บ้านมูเซอร์ดำเพียงชั่วครู่ หนทางก็เริ่มเป็นถนนลำลองแคบๆลัดเลาะขึ้นไปตามไหล่เขาสูงชันเพื่อข้ามดอยสูงลูกแล้วลูกเล่าภายใต้ป่าแน่นทึบที่แผ่กิ่งก้านร่มครึ้มเย็นสบาย ตามบริเวณยอดดอยจึงจะมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบตัว บางช่วงเป็นทางขึ้นเขาลงเขาชันดิกที่ไต่เลียบไปตามหน้าผาหุบเหวลึกอย่างน่าหวาดเสียว และบ่อยครั้งที่เราต้องลงเดินเมื่อเจอทางที่ลื่นและเฉอะแฉะ ปล่อยให้รถวิ่งขึ้นไปรอบนเนินเขาลาดชัน

นั่งรถมานาน เดินกันบ้าง เมื่อเจอทางที่ลื่นเฉอะแฉะ

  1. เดินเท้าแบกเป้ฯสู่ดอยม่อนจอง

           ก่อน10โมงเช้าเล็กน้อยก็ถึงจุดเริ่มเดินเท้าสู่หน่วยฯม่อนจอง ซึ่งอยู่เลยปากทางเข้าหน่วยฯขุนห้วยปูลิงราว 2 กม. และอยู่ก่อนถึงหน่วยฯม่อนจองราวกิโลฯ บริเวณนี้มีลักษณะเป็นล่านโล่งกว้างภายใต้เรือนยอดสูงใหญ่และหนาทึบของป่าดิบเขาสูง ตามไม้ใหญ่แต่ละต้นในบริเวณนี้จะมีพืชอิงอาศัยขึ้นเกาะเกี่ยวปกคลุมอยู่หนาแน่นจนแทบมองไม่เห็นลำต้นที่แท้จริงของไม้ชนิดนั้นๆเลย หลายคนจึงมักเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า”ต้นไม้ใส่เสื้อ”

จุดเริ่มต้นเดินเท้า

           ทางเดินช่วงแรกเป็นทางเดินขึ้นเนินเขาที่ไม่สูงชันมากนัก บนเนินเขาสามารถมองเห็นทิวเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยผืนป่าเป็นพืดวางตัวสลับซับซ้อนอยู่ทางด้านทิศใต้ จากนี้เป็นทางลงเขาที่ค่อนข้างลาดชัน ทำให้นึกถึงวันเดินทางกลับที่ต้องย้อนกลับตามทางเดิม คงสร้างความเหนื่อยและเรียกหยาดเหงื่อชุ่มฉ่ำกายได้ไม่น้อย ต่อมาเป็นทางสันเขาที่ค่อนข้างราบเรียบภายใต้เรือนยอดไม้ร่มครึ้ม พบพืชวงศ์ LAMIACEAE ขึ้นอยู่หลายชนิด ดอกสีม่วงของกอมก้อห้วย(Anisomeles indica) ดอกสีเหลืองของตานฟัก(Crotalaria ferruginea) ดอกสีขาวอมชมพูของเถาข้าวปอง(Shuteria involucrata) และดอกสีม่วงของแปร้น้ำเงิน(Sonerila maculata) ก่อนหนทางจะลาดชันเล็กน้อยขึ้นสู่สันดอย

           จากสันดอย เดินเลียบเลาะไปตามสันเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ สภาพป่าที่มีไม้ใหญ่หนาแน่นเริ่มจางหาย คงมีแต่ดงหญ้าที่สูงท่วมหัวแซมด้วยไม้พุ่มและไม้ยืนต้นที่ขึ้นประปรายตามไหล่ผา หนทางค่อยๆลาดชันขึ้นไป แต่ไม่เหนื่อยมาก ด้วยอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็นและมีสายลมมาปะทะกายอยู่ตลอดเวลา หากหยุดเดินซิจะรู้สึกหนาวมากกว่า พบประทัดดอย(Agapetes parishii)ออกดอกสีแดงอยู่แทบตลอดทางเดิน

จุดเริ่มต้นเดินเท้า

           เรามาหยุดพักที่ผาช่อ เป็นสันเขาแคบๆที่ขนาบข้างด้วยหุบเหวลึกทั้งสองด้าน ปลายสันเขามีก้อนหินขนาดใหญ่เทินซ้อนกันอยู่ บริเวณนี้จะพบหนาดทอง(Laphangium affine)ออกดอกสีเหลือง ผักล้วน(Elsholtzia blanda)ออกดอกสีขาว และกระดูกไก่น้อย(Justicia diffusa)ออกดอกสีขาว สีขาวอมชมพู สีชมพู และสีชมพูอมม่วง

           แม้จะยังไม่ถึงเวลาเที่ยง แต่พวกเราก็ตกลงที่จะกำจัดข้าวห่อมื้อเที่ยงที่จะต้องแบกให้ลงไปอยู่ในท้อง ด้วยต้องใช้พลังงานอีกมากในการเดินไต่ระดับขึ้นสู่ดอยม่อนจอง ทีแรกคิดว่าจะได้นั่งพักนานๆ แต่สภาพอากาศที่หนาวเย็น บางช่วงมีสายหมอกบางเบาลอยตัวจากหุบเขาลึกเบื้องล่างขึ้นมาปะทะกาย ทำให้เสื้อผ้าที่สวมใส่ชุ่มฉ่ำไปด้วยไอน้ำที่ปะปนมากับสายหมอก ทำให้ต่างเริ่มหนาวสั่นและตัดสินใจที่จะเดินกันต่อไป

           เดินไต่ระดับขึ้นมาได้เล็กน้อยก็พบว่าทางเขตฯได้ทำเส้นทางใหม่ด้านซ้ายมือ เพื่อหลีกเลี่ยงทางเดินขึ้นยอดดอยลูกสาม ซึ่งเป็นทางลาดสูงชันคดเคี้ยวลับหายไปตามแนวไพรไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นจนแสงตะวันไม่สามารถสาดแสงส่องลงมาถึงพื้น

เส้นทางใหม่ที่ค่อนข้างลื่น

           ทางแยกซ้ายเป็นทางลัดเลาะไหล่ดอยที่ขึ้นๆลงๆเล็กน้อย แต่ค่อนข้างลื่นด้วยน้ำค้างที่พร่างพรมไปทั่ว ตามทางจะพบแพรวไพลิน(Dichroa febrifuga)ออกผลมันแววเด่นสะดุดตา ม้าแม่ก่ำ(Polygala arillata)ที่ออกดอกออกผล องุ่นป่า(Ampelocissus martinii)ที่ออกผลคล้ายองุ่นสมชื่อ เมี่ยงดอย(Camellia kissii var. confusa)ที่ออกดอกร่วงหล่นตามพื้น และเอื้องดินสยาม(Anoectochilus albolineatus)ที่ออกดอกชูช่องดงามตา ใช้เวลาไม่นานนักก็ไปบรรจบกับทางลงจากดอยลูกสาม เป็นสันเขาที่เชื่อมระหว่างดอยลูกสามกับดอยม่อนจอง

           บริเวณนี้มีพื้นที่ค่อนข้างราบและกว้างใหญ่พอสมควรภายใต้ดงแมกไม้ใหญ่ที่แผ่เรือนยอดให้ความร่มเงาโดยเฉพาะแนวป่าที่ขนาบทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกช่วยกำบังลมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทางด้านตะวันตกเฉียงใต้จะมีทางเล็กๆลงสู่หุบเขาตื้นๆอันเป็นแหล่งน้ำซับที่มีน้ำใสไหลรินตลอดทั้งปี ซึ่งเคยใช้เป็นจุดพักแรมในอดีต เราพบพรรณไม้หลากชนิด อาทิเช่น เทียนไม่รู้ชนิด(Impatiens sp.) ดอกสีม่วง , กระดูกเกลี้ยง(Sarcandra glabra subsp. brachystachys) ผลสีแดง , Corydalis taliensis var. siamensis ดอกสีชมพูอมม่วง , พืชวงศ์ RUBIACEAE 5 ชนิด และหว้าอ่างกา(Syzygium angkae) ดอกสีขาว หรือสีขาวแกมเขียว

จุดบรรจบของทางสายใหม่กับทางลงจากดอยลูกสาม

  1. สันดอยม่อนจอง

           ทางเดินขึ้นสู่สันดอยม่อนจองเป็นทางชันมากๆ ระยะทางร่วม 300 เมตร แถมค่อนข้างลื่น ตามพื้นจะพบเทียนน้ำ(Impatiens chinensis) ออกดอกสีชมพูอ่อน สีชมพูเข้ม หรือสีม่วงอมชมพู หญ้าดอกลาย(Swertia angustifolia) ดอกสีขาว หรือสีขาวอมม่วง และสิงขรา(Swertia calcicola)ดอกสีขาวและมีเส้นสีม่วง 4-5 เส้น พาดตามยาว

เดินไต่ระดับสู่สันดอยม่อนจอง

           กว่าจะถึงสันดอยก็เล่นเอาเหนื่อยหอบแฮ่กๆกันไปถ้วนหน้า บนสันดอยม่อนจองไม่ได้เป็นทางราบเรียบเหมือนภูเขาทางภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นทางขึ้นเนินลงเนิน มีราบเรียบบ้างเพียงเล็กน้อย อันเป็นลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของภูเขาทางภาคเหนือ

หนทางชันไม่น้อย

           เราเดินเลาะเลียบตามสันดอยที่อ้อมเนินเขาสูง 2-3 ลูก ไปทางทิศใต้เพียงเล็กน้อยก็ถึงทุ่งหญ้าสั้นๆที่กว้างใหญ่ที่สุดบนสันดอย มีชื่อเรียกขานว่า“สนามกอล์ฟช้าง” เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะว่าดินแดนผืนป่าแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่าหลายโขลง ประกอบกับบริเวณนี้เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่ลาดเอียงขึ้นลงตามเนินดูราวกับสนามกอล์ฟ

ตามพื้นจะพบไม้ป่าออกดอกหลากชนิด แต่ด้วยที่เรานอนพักแรมบนดอยแห่งนี้ถึง2คืน มีเวลาอีกมากที่จะบันทึกภาพ จึงแบกเป้ฯลงไปตั้งแค้มป์ในหุบทางด้านตะวันออก ซึ่งมีลำธารเล็กๆไหลอยู่ตลอดทั้งปี

สนามกอล์ฟช้าง

           ทีแรกวางแผนว่ายามเย็นจะขึ้นไปชมตะวันลับฟ้า แต่แล้วสายหมอกขาวโพลนก็ถาโถมลงมาปกคลุมไปทั่วทั้งดอย จึงได้แต่นั่งคุยกันอยู่ข้างๆกองไฟที่ให้ความอบอุ่น จวบจนความมืดเริ่มแผ่เข้ามา อากาศยิ่งหนาวเย็นยะเยือกกว่าเดิม หลังอาหารค่ำ ต่างก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนหลับนอนในเต็นท์ที่ช่วยกันความหนาวได้บ้าง

  1. สนามกอล์ฟช้าง

           ก่อนรุ่งสาง อากาศที่หนาวจับจิตจับใจ ทำให้อดไม่ได้ที่จะต้องลุกขึ้นมาก่อกองไฟและต้มน้ำจิบเครื่องดื่มร้อนๆ พอแสงตะวันเริ่มสาดส่องผ่านแมกไม้ลงมา เสียงนกนานาชนิดก็ร้องขับขานอย่างเริงร่า หลังอาหารเช้าและเตรียมข้าวห่อมื้อเที่ยงไปทานบนยอดดอยม่อนจอง เราก็เดินทางขึ้นไปยังสนามกอลฟ์ช้าง พบนักท่องเที่ยวต่างสนุกสนานเพลิดเพลินกับทะเลหมอกขาวโพลนดั่งสำลีลอยฟูฟ่องหนาแน่นอยู่รอบดอยแห่งนี้คล้ายกับว่าเป็นเกาะอยู่กลางทะเล ตามพื้นมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาฯ ทำให้เกิดเป็นน้ำค้างแข็งที่เรียกตามภาษาเหนือว่า“เหมยขาบ” ส่วนคำว่า“แม่คะนิ้ง”นั้นเป็นภาษาท้องถิ่นของ จ.เลย

ทะเลหมอกบริเวณสนามกอล์ฟช้าง

น้ำค้างแข็ง หรือเหมยขาบ

 

           ดื่มด่ำทิวทัศน์และทะเลหมอกร่วมชั่วโมง จึงออกเดินเลียบเลาะไปตามสันเขาดอยม่อนจองอย่างสบายอารมณ์ท่ามกลางอากาศค่อนข้างเย็นจัด บางช่วงสายลมหอบเอาสายหมอกบางๆลอยตัวมาปะทะกายจนหนาวสะท้าน ตามพื้นมีน้ำค้างชุ่มฉ่ำปกคลุมยอดหญ้าจนทำให้ลื่น ยิ่งช่วงเป็นสันเขาแคบๆที่ต้องเดินเป็นแถวเรียงหนึ่งภายใต้กลุ่มหมอกที่ลอยตัวเข้ามาปกคลุมจนมองไม่เห็นแนวขอบหน้าผา ทำให้เราต้องเดินกันอย่างระมัดระวัง สิ่งที่ต้องท่องจำในใจอยู่เสมอก็คือ”หากพลาดพลั้งตกลงหน้าผา มีแต่ทางตายสถานเดียว ไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกเลย”

เดินทางสู่ยอดหัวสิงห์

  1. เลียบเลาะสันดอยสู่ยอดหัวสิงห์

           เลยจากสนามกอล์ฟช้างขึ้นไปบนเนินสูงลูกแรก นับเป็นจุดชมทัศนียภาพที่สวยงาม มองเห็นสันดอยม่อนจองแคบๆที่เลียบเลาะขึ้นลงไปมาตามริมหน้าผาตัดชันดิกสีดำทะมึนและยิ่งใหญ่ตระการตาทางด้านตะวันตก ส่วนไหล่เขาด้านตะวันออกเป็นป่าดิบเขาแน่นทึบ สุดสายตาที่ปลายดอยจะเป็นยอดสูงสุดของดอยม่อนจองที่มีลักษณะคล้ายหัวสิงห์จนเป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกขานว่า“หัวสิงห์”

ยอดหัวสิงห์ดูเด่นสะดุดตา

           ตามสันดอยจะพบไม้ป่านานาชนิดออกดอกบานสะพรั่ง ไม่ว่าจะเป็นเทียนน้ำ(Impatiens chinensis) หญ้าดอกลาย(Swertia angustifolia) และสิงขรา(Swertia calcicola)ที่เราพบมาตั้งแต่ตีนดอยม่อนจองเมื่อวาน แต่ที่ต่างออกไปก็มีหญ้ากระดิ่ง(Campanula pallida)ออกดอกสีม่วง หรือสีม่วงอมน้ำเงิน ขาวปั้น(Pterocephalodes siamensis)ออกดอกสีขาวอมชมพู หรือสีชมพูอ่อน ฝอยหิน(Cyanotis arachnoidea)ออกสีม่วงอมน้ำเงิน ถั่วเขา(Campylotropis pinetorium)ออกสีขาวครีม สีขาวอมเหลือง หรือสีขาวอมชมพู นางอั้วดอย(Exacum sutaepense)ออกดอกสีม่วง สีชมพู หรือสีขาวอมม่วง หญ้าข้าวตอก(Isodon lophanthoides)ออกดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพูระเรื่อๆ หญ้าหัวเสือ(Leucas ciliata)ออกดอกสีขาว กอมก้อเขา(Teucrium quadrifarium)ออกดอกสีขาว จนถึงสีขาวอมชมพูอ่อน ราชาวดีหลวง(Buddleja macrostachya)ออกดอกสีชมพูอมม่วง ช่อศิลา(Phtheirospermum parishii)ออกดอกสีเหลืองสด Desmodium ferrugineum ออกดอกสีม่วง สีม่วงอมชมพู สีชมพู และสีขาว Himalaiell peguensis ออกดอกสีขาวครีม Hypericum nummularium ออกดอกสีเหลืองสด และ Peucedanum sp. ออกดอกสีขาว

           หน้าผาของเนินดอยลูกแรกดูคล้ายหน้าลิง ไกลออกเป็นยอดหัวสิงห์

           ตามต้นไม้จะพบพืชอิงอาศัยจำพวกประทัดดอย(Agapetes parishii) และเอื้องแพนช่อสั้น(Oberonia brachystachys) และตามไหล่ผาจะพบแอสเตอร์เชียงดาว(Aster vestitus)ออกดอกสีขาว สุวรรณนภา(Senecio craibinnus)ออกดอกสีเหลือง และบัวทอง(Hypericum hookerianum)ออกดอกสีเหลืองทอง

           แม้จะเป็นยามสายที่แดดกล้าแข็ง ทะเลหมอกที่ล่องลอยอยู่รอบดอยแห่งนี้ก็ยังคงไม่จางหายไป คงมีแต่น้ำค้างแข็งตามพื้นและไม้เตี้ยๆที่เริ่มละลายกลายเป็นน้ำ ทำให้รองเท้าและปลายขากางเกงชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำจนเย็นจับจิต เมื่อแดดเริ่มกล้า..ฟ้าก็เริ่มแผ้ว มันใสกระจ่างปานกระจก ยกเว้นแต่บางช่วงของบริเวณหัวสิงห์ที่มีสายหมอกลอยไหลผ่านราวกับสิงห์อมควัน

 บันทึกภาพพรรณไม้หายากที่ขึ้นตามไหล่ผา

           ขณะเลียบเลาะมาตามสันเขาก็อดไม่ได้ที่จะคอยมองตามไหล่ผาชันดิกด้านตะวันตกว่ามีสิ่งใดแปลกปลอมจากหน้าผาและต้นไม้แคระแกร็นที่ขึ้นอยู่หรือไม่ ด้วยผู้เขียนเคยพบ“กวางผา”(Goral)หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า“ม้าเทวดา”ออกมาอาบแดดหรือหากินใบอ่อนของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามผาหิน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพบเห็นถึง4ตัว กวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวน1ใน15ชนิดของไทยที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ มีลักษณะคล้ายแพะและเลียงผา แต่ตัวเล็กกว่า อาศัยตามยอดเขาหินปูนสูงชันที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตรขึ้นไป และมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี

ก้อนหินที่คล้ายใบหน้าคน

           ฟ้าหนาว ดงดอยเป็นสีเขียวและครามเข้ม ส่วนขุนเขาไกลตาเป็นสีเทาอ่อนแก่สลับซับซ้อน แนวสันเขาดอยม่อนจองทอดยาวและคดเคี้ยววกไปวนมาตามริมหน้าผาอย่างน่าตื่นเต้นหวาดเสียว บางช่วงเป็นกิ่วแคบๆที่ต้องเดินอย่างระมัดระวังทุกย่างก้าว บางช่วงมีโหนกดอยยื่นออกไปดูคล้ายหน้าลิง ก้อนหินใหญ่บางก้อนก็ดูคล้ายหน้าคน ยิ่งเมื่อมองย้อนกลับไปก็จะเห็นได้ถึงความยิ่งใหญ่ของหน้าผาขุนเขาแห่งนี้

ทางลาดชันสุดท้ายสู่ยอดหัวสิงห์

  1. ยอดหัวสิงห์

           ครึ่งชั่วโมงต่อมาก็ถึงยอดหัวสิงห์ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,929 เมตร บริเวณนี้จะมีคำแดง(Rhododendron delavayi) เป็นพืชสกุลกุหลาบพันปี1ใน10ชนิดที่พบในไทย ปัจจุบันมีรายงานการพบที่ จ.เชียงใหม่ เพียงแห่งเดียว ขึ้นอยู่เป็นดงหนาแน่นทางไหล่เขาด้านตะวันออก ตามลำต้นถูกปกคลุมไปด้วยมอสส์สีเขียวขจีอยู่อย่างหนาแน่นบ่งบอกถึงอากาศที่เย็นชื้น และแต่ละต้นกำลังทยอยออกดอกบานสะพรั่ง สีแดงเลือดนกหรือสีแดงสดของดอกตัดกับสีเขียวชอุ่มของผืนป่าอย่างเด่นชัด นับเป็นภาพที่สวยงามมาก

สดใสเริงร่าบนยอดหัวสิงห์

           จากยอดหัวสิงห์มองตามสันเขาดอยม่อนจองที่ทอดยาวไปทางทิศใต้ก็จะเห็นเป็นยอดภูผาขนาดเล็กและเตี้ยกว่าหัวสิงห์ มีลักษณะคล้ายหัวลิงจนเป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกขานว่า“หัวลิง” และไกลออกไปหากฟ้าเปิดก็จะเห็นผืนน้ำกว้างใหญ่ นั่นคือ“ทะเลสาบแม่ปิง”

ทุกย่างก้าวต้องระมัดระวังให้มาก

           แม้ตะวันใกล้จะลอยตรงศีรษะ แต่อากาศยังคงหนาวเย็น อีกทั้งมีลมหนาวพัดผ่านตลอดเวลา ทำให้เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปดอกไม้ป่า นกที่มากินน้ำหวานจากคำแดง และทิวทัศน์อย่างสาแก่ใจ ขณะนั่งเหม่อมองชมวิวทิวทัศน์ก็พบผีเสื้อฟ้าหนอนกาฝากบนปีกแดง(Red-breast Jezebel)บินมาล้อลมเล่นอยู่บนยอดดอย อย่างไม่เกรงกลัวนกนานาชนิดที่อยู่บริเวณนี้แต่อย่างใด

มองเห็นสนามกอล์ฟช้างอยู่ทางทิศเหนือ

           เนิ่นนานกับทัศนียภาพรอบตัวอย่างอิ่มอกอิ่มใจ เราก็เดินลงไปตามสันดอยทางทิศใต้ที่จะไปทางดอยหัวลิง เพื่อหาดูพรรณไม้แปลกตาจากที่เคยพบ จวบจนถึงเจดีย์และพระพุทธรูปที่ทางเขตฯมาสร้างไว้ ก็ไม่พบพรรณไม้แปลกตาอย่างที่ต้องการ คงมีแต่ทิวทัศน์ของขุนเขาที่ดูสวยงามไปอีกแบบ เราจึงแวะหาร่มเงาไม้ทางด้านตะวันออกเพื่อใช้เป็นที่พักทานข้าวห่อมื้อเที่ยงที่เตรียมมา

จากยอดหัวสิงห์สู่ดอยหัวลิง

           ครั้นอิ่มแล้วจะนั่งนอนพักผ่อนเอาแรงก็ทนไม่ไหวกับอากาศที่หนาวเย็นมากภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ จำต้องออกเดินภายใต้แสงแดดกลับสู่ยอดดอยม่อนจอง ซึ่งกว่าจะถึงยอดก็เล่นเอาเหนื่อยล้าพอๆกับเดินขึ้นสันดอยม่อนจองเมื่อวานนี้

ทะเลหมอกยามบ่ายที่ยังคงหนาแน่น

เดินทางกลับสู่ยอดหัวสิงห์

           ขณะนั่งพักคลายเหนื่อยบนยอดดอย มีสายลมแรงมาหอบเอาทะเลหมอกที่ปกคลุมหุบเขาด้านตะวันตกไหลลงไปรวมกันทางด้านทิศเหนือ ทำให้มองเห็นหุบเขาเบื้องล่างได้อย่างชัดเจน โดยมีดอยลูกหนึ่งทอดตัวขนานกับดอยม่อนจองอยู่ฝั่งตรงข้าม คนท้องถิ่นเรียกว่า“สันม้า” ในวันที่เงียบสงัดเราจะได้ยินเสียงคล้ายน้ำตกดังมาจากดอยลูกนี้ เคยสอบถามชาวเขาที่เป็นลูกหาบ เขาเล่าว่าเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และมีหลายชั้น ไหลตกจากหน้าผาทางด้านตะวันตกของดอยดังกล่าว พอถามว่าขึ้นไปลำบากไหม เขาบอกว่าเหนื่อยมาก ขนาดเขาเป็นคนท้องถิ่นยังเหนื่อยมาก แล้วหากเป็นเราล่ะ สงสัยคงเหนื่อยสุดๆจนพูดไม่ออก

สายหมอกเริ่มจางหาย

  1. ย้อนทางเดิมกลับสู่แค้มป์

           เวลายิ่งผ่านไปนานเท่าใด แสงตะวันก็เริ่มอ่อนล้าลง พร้อมกับอากาศยิ่งหนาวเย็นมากขึ้นตามลำดับ เราจึงเดินกลับสู่แค้มป์ที่พัก ส่วนการชมอาทิตย์อัสดงช่วงเย็นย่ำวันนี้นะหรือ ยากมากที่จะอวดโฉมให้เราได้เห็น ทะเลหมอกที่เราเห็นล้อมรอบดอยแห่งนี้ราวกับเกาะ ตอนนี้กลายเป็นสายหมอกขาวโพลนปกคลุมไปทั่วทั้งดอยจนมองอะไรไปได้ไม่ไกลนัก

เดินทางกลับสู่แค้มป์

           บรรยากาศของแค้มป์ในค่ำคืนนี้ไม่ต่างจากเมื่อวาน แม้จะมีกองไฟพอให้ความอบอุ่น แต่ก็สู้หลบไปนอนในเต็นท์และซุกในถุงนอนไม่ได้ เพียงแค่หัวค่ำ..ทุกอย่างก็เงียบสงัดยิ่งกว่าเมื่อคืน ด้วยมีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มขึ้นมาค้างเพียงคืนเดียว และลงดอยไปแล้วเมื่อก่อนเที่ยง

           ผู้เขียนนอนใต้เพิง(ไม่ชอบนอนเต็นท์)อยู่ข้างๆกองไฟ ฟังเสียงร้องของเรือนยอดไม้ที่ถูกลมแรงพัดกระหน่ำราวกับมีมือยักษ์จับเขย่าไปมา สลับกับเสียงของแมลงกลางคืนที่ร่ำร้องอย่างไม่ขาดสาย จนผล็อยหลับไปในที่สุด เพื่อพักผ่อนเอาแรงไว้เดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น

แค้มป์ยามเช้า

ทางลงจากสันดอยในยามเช้าที่ลื่นยิ่งกว่าเดิม

  1. การเดินทาง

           เริ่มเดินทางจากเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข108 หรือสายเชียงใหม่-แม่สะเรียง ผ่าน อ.หางดง อ.สันป่าตอง อ.จอมทอง อ.ฮอด อุทยานฯออบหลวง และเลยสวนสนบ่อแก้ว ไปอีกเล็กน้อย รวมระยะทางประมาณ 125 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงท้องถิ่นหมายเลข1099 สู่ อ.อมก๋อย ระยะทาง 40 กม. จากนั้นมุ่งหน้าต่อไปอีกราวๆ 40 กม. ก็จะถึงหน่วยฯมูเซอร์ที่แยกเข้าไปทางด้านซ้ายมือ ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะขึ้นดอยม่อนจองจำต้องมาลงทะเบียนติดต่อ ณ ที่นี้ ก่อนเดินทางสู่ดอยม่อนจอง

แล้วจะกลับมาเยือนเจ้าอีกครา ดอยม่อนจอง