พรรณไม้และสัตว์ป่า..ดอยอินทนนท์ และแม่วาง จ.เชียงใหม่
ในช่วงวันที่ 8-10 กรกฎาคม พ.ศ.2560

 

พระมหาธาตุนภเมทนีดล

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อ พ.ศ.2515 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่ อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวเขตเทือกเขาถนนธงชัยที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ โดยทอดตัวมาจากเทือกเขาหิมาลัยในประเทศเนปาล มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 400-2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นจุดที่สูงสุดในประเทศไทย สูงจากระดับน้ำทะเล 2,565.3341 เมตร มีสภาพป่าเป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสายและเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล มีลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำตกแม่ยะที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 482.4 ตารางกิโลเมตร หรือ 301,500 ไร่

ผาช่อ

อุทยานแห่งชาติแม่วางเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาถนนธงชัย ที่ทอดตัวตามแนวเหนือ-ใต้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 400-1,909 เมตร โดยมีดอยผาตั้งเป็นดอยที่สูงที่สุด ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน-แม่วาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทอง ในพื้นที่ อ.จอมทอง อ.แม่วาง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 119.62 ตร.กม. หรือ 74,766 ไร่

ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(17 ชนิด) กล้วยไม้(2 ชนิด) มอสส์และเฟิน(4 ชนิด) เห็ด(1 ชนิด) สัตว์ป่า(5 ชนิด) และนก(5 ชนิด)


ไม้ป่า 


มีทั้งหมด 17 ชนิด เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. ช้าส้าน

ชื่อท้องถิ่น : ส้านแก่น(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saurauia napaulensis DC.

วงศ์ : ACTINIDIACEAE

ช้าส้าน

ไม้ยืนต้น สูง 4-10 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่งก้าน รูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบและปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีชมพู ดอกรูประฆังคว่ำ ปลายแยกเป็น5กลีบและพับงอ ภายในดอกมีแต้มสีม่วง ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ต.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน เม.ย. – พ.ค.

ช้าส้าน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 300 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมลำห้วยหรือพื้นที่ที่ชุ่มชื้นของป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตร ขึ้นไป ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณริมถนนตั้งแต่ด่านตรวจฯ2 ขึ้นไป

แพร่กระจายในอินเดียตะวันออก เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย และภูมิภาคมาเลเซีย

2. อูนอินทนนท์

ชื่อท้องถิ่น : เปล้าเงิน(เชียงใหม่) ; ง้วนภู , จูมคาน , ตาปลา(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Viburnum  odoratissimum Ker Gawl.

วงศ์ : ADOXACEAE

ผลของอูนอินทนนท์

ไม้พุ่ม สูง 4-10 เมตร แต่บางครั้งอาจพบสูงได้ถึง 15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 5-12 ซม. กลิ่นหอม ขนาดดอก 0.5 ซม. ดอกสีขาว หรือสีขาวอมเหลือง ออกดอกในราวเดือน เม.ย. – พ.ค. ผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปขอบขนาน หรือคล้ายทรงกระบอก ขนาด 0.4-0.8 ซม. อวบน้ำ สีน้ำตาลอมแดงจนถึงสีแดงเข้ม ผลแก่สีดำ เมล็ดแบนและเว้าตามขวางดูคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ออกผลในราวเดือน มิ.ย. – ก.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเกือบ 196 ชนิด ในเมืองไทยพบ 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามที่ลุ่มน้ำขังบนป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่พระมหาธาตุฯ ขึ้นไป

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์

3. เทียนคำ

ชื่อท้องถิ่น : เทียนเหลืองอินทนนท์ , เทียนอินทนนท์(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens longiloba Craib

วงศ์ : BALSAMINACEAE

เทียนคำ

ไม้ล้มลุกแตกกอคล้ายไม้พุ่ม สูงราว 0.3-1 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว มักออกใบบริเวณปลายยอด สีเขียวเข้ม รูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ช่อละ 2-4 ดอก ขนาดดอก 2-5 ซม. ดอกสีเหลืองสด ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ธ.ค. แต่มีมากในราวเดือน ต.ค.

เทียนคำ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 1,000 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 80 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามร่มเงาไม้ใหญ่ในป่าดิบเขาที่ชุ่มชื้น หรือตามริมลำห้วยบนภูเขาหินแกรนิตที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,800 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบบนดอยผ้าห่มปก ดอยอินทนนท์ และดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่ เท่านั้น

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณริมถนนบนลานจอดหน้าสถานีเรดาร์ฯและรอบๆสถูปเจ้าอินทรวิชยานนท์

4. ผักปราบเครือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Streptolirion volubile Edgew.

วงศ์ : COMMELINACEAE

ผักปราบเครือ

ผักปราบเครือ

ไม้ล้มลุก ลำต้นทอดเลื้อย ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่แกมรูปหัวใจ ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามข้อตรงข้ามกับใบ ยาว 15 ซม. ช่อย่อยเป็นแบบช่อวงแถวเดี่ยว ช่อละ 2-10 ดอก ดอกสมบูรณ์เพศติดอยู่บนใบประดับช่วงล่าง ส่วนดอกเพศผู้ติดอยู่ช่วงปลายช่อ ดอกสีขาว กลีบดอก3กลีบ ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ส.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1 ชนิด 1 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบบนเขาหินปูน ตามชายป่า หรือพื้นที่โล่งในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,300 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่ด่านตรวจฯ2 ขึ้นไป

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เกาหลี ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

5. สะเภาลม

ชื่อท้องถิ่น : แมวน้ำ(มูเซอร์-เชียงใหม่) ; เหง้าน้ำทิพย์(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Agapetes hosseana Diels.

วงศ์ : ERICACEAE

สะเภาลม ดอกตูม

ไม้พุ่มอิงอาศัย สูงได้ถึง 1 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกสั้นๆห้อยลงตามซอกใบ ช่อละ 2-5 ดอก ดอกสีแดงเข้ม สีแดงอมส้ม หรือสีแดงอมเขียว ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.พ.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 80 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 16 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามโขดหินที่มีมอสส์ปกคลุมหรืออิงอาศัยบนต้นไม้อื่นบริเวณไหล่เขาหินปูน และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป บางครั้งอาจพบขึ้นตามพื้นดินลาดชันที่ถูกน้ำกัดเซาะริมไหล่ผา ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่ด่านตรวจฯ2 ขึ้นไป

แพร่กระจายในเมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ตั้งชื่อชนิดเพื่อเป็นเกียรติแก่ Carl Friederich Hosseus นักสำรวจชาวเยอรมันที่เข้ามาสำรวจในไทยเมื่อปี พ.ศ.2447-2448

6. พวงไข่มุก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gaultheria discolor Nutt. ex Hook.

วงศ์ : ERICACEAE

พวงไข่มุก

พวงไข่มุก

ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2.5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 2-4 ซม. ก้านช่อดอกสีแดงอมชมพู มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 165 ชนิด ในไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าพุ่มหรือพื้นที่ลาดชันในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่ด่านตรวจฯ2 ขึ้นไป

แพร่กระจายในอินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย อนึ่งบางตำราบอกว่าชื่อวิทยฯดังกล่าวเป็นชื่อพ้องของ Diplycosia discolor (Nutt. ex Hook.) C.B.Clarke

7. ว่านไก่แดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeschynanthus parviflorus (D.Don) Spreng.

วงศ์ : GESNERIACEAE

ว่านไก่แดง

ว่านไก่แดง

ไม้พุ่มอิงอาศัย แตกกิ่งก้านห้อยลงราว 40 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปใบหอกแกมรูปดาบ หรือรูปรีแคบ ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ช่อละ 2-6 ดอก ดอกสีส้มอมแดงจนถึงสีแดง ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 196 ชนิด ในเมืองไทยพบราว 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,300 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่ด่านตรวจฯ2 ขึ้นไป อนึ่งชื่อว่านไก่แดงเป็นชื่อที่ซ้ำกันหลายชนิด แต่ต่างกันที่ชื่อวิทยาศาสตร์

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน ไทย และเวียดนาม

8. บัวทอง

ชื่อท้องถิ่น: บัวคำ(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hypericum hookerianum Weight & Arn.

วงศ์ : HYPERICACEAE

บัวทอง

บัวทอง

ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม และสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามปลายกิ่งก้านและยอด ช่อละ 1-5 ดอก ขนาดดอก 3-6 ซม. ดูคล้ายรูปถ้วย ดอกสีเหลืองทอง หรือสีเหลืองอ่อน ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ต.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ธ.ค. – เม.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 515 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 8 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่โล่งแจ้งในป่าดิบเขาที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,600-2,500 เมตร ทางภาคเหนือ

บัวทอง ดอกตูม

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณริมถนนบนลานจอดหน้าสถานีเรดาร์ฯและรอบๆสถูปเจ้าอินทรวิชยานนท์

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฎาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนบน)

9. มะลิไส้ไก่ก้านแดง

ชื่อท้องถิ่น : ไส้ไก่(นครราชสีมา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jasminum anodontum Gagnep.

วงศ์ : OLEACEAE

มะลิไส้ไก่ก้านแดง

มะลิไส้ไก่ก้านแดง

ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ทอดเลื้อยไปได้ไกล 2-5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกบานเพียงวันเดียวก็ร่วงโรย กลิ่นหอมอ่อนๆตลอดวัน ขนาดดอก 1.5-2 ซม. ดอกสีขาว บางครั้งพบกลีบดอกด้านนอกสีแดงอ่อน กลีบดอกด้านในสีขาว ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 220 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 50 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่ตามชายป่าใกล้แหล่งน้ำ และป่าเต็งรังทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่อุทยานฯแม่วาง ตามทางเดินสู่ผาช่อ

แพร่กระจายในไทย และเวียดนาม

10. ม้าแม่ก่ำ

ชื่อท้องถิ่น : ต่างไก่ป่า(เชียงใหม่ , เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polygala arillata Buch.-Ham. ex D.Don

วงศ์ : POLYGALACEAE

ม้าแม่ก่ำ

ไม้พุ่ม สูง 1-5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกจะเริ่มบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ ดอกตูมสีขาวอมเขียว หรือสีเขียวอมขาว เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีสีเหลืองหรือสีเหลืองแกมส้ม ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมน้ำตาล ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ธ.ค. ผลรูปค่อนข้างกลม หรือรูปขอบขนาน และแบน ผลสดสีเขียว ผลแก่สีม่วงสดและแตกกลางพู

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 500 ชนิด ในเมืองไทยพบ 17 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่ตามชายป่าและพื้นที่โล่งในป่าดิบเขา หรือตามไหล่ผาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-2,300 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่ด่านตรวจฯ2 ขึ้นไป

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

11. ดาวขาว

ชื่อท้องถิ่น : ทางขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argostemma stellatum Craib

วงศ์ : RUBIACEAE

ดาวขาว ดอกตูม

ดาวขาว ดอกตูม

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูง 2.5-8 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก 1 หรือ 3 คู่ ดูคล้ายออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น โดยออกเป็นกระจุกตามปลายยอด ใบคู่ที่2จะมีขนาดสั้นกว่าคู่อื่น ใบรูปไข่กลับ ออกดอกเป็นช่อซี่ร่มห้อยคว่ำและแยกแขนงตามปลายยอด ช่อละ 4-8 ดอก ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ส.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 100 ชนิด ในไทยพบกว่า 30 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชถิ่นเดียวของไทยพบขึ้นอยู่ตามก้อนหินโขดหินริมลำธาร ทางน้ำไหล บนก้อนหินที่มีมอสส์ขึ้นปกคลุม และอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พบกระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่พระมหาธาตุฯจนถึงอ่างกา

12. แดงก่อนจาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ophiorrhiza ripicola Craib

วงศ์ : RUBIACEAE

แดงก่อนจาก

แดงก่อนจาก

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ส.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 321 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 40 ชนิด สำหรับชนิดนี้เป็นพืชถิ่นเดียวของเมืองไทย พบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,900 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เท่านั้น

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณอ่างกา

13. กอมก้อ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elatostema cyrtandrifolium (Zoll. & Moritzi) Miq.

วงศ์ : URTICACEAE

กอมก้อ

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูงได้ถึง 70 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก แต่มีใบลดรูปจนดูคล้ายออกเรียงสลับ รูปรีจนถึงรูปรีเบี้ยว ออกดอกแยกเพศต่างต้นตามซอกใบ ช่อดอกค่อนข้างกลมและมีใบประดับ ช่อดอกเพศผู้มีขนาด 0.6-1.3 ซม. ดอกเพศผู้มีกลีบรวมสีขาวอมเขียว ส่วนช่อดอกเพศเมียมีขนาด 1-1.5 ซม. ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 500 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 18 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามเพิงผาริมลำน้ำ บนต้นไม้ หรืออิงอาศัยบนโขดหินที่ชุ่มชื้นในป่าดิบ ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่พระมหาธาตุฯจนถึงอ่างกา

แพร่กระจายในอินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

14. ขมหินสามทาง

ชื่อท้องถิ่น : ผักตะเคียนหิน(ปัตตานี , นราธิวาส และยะลา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pilea melastomoides (Poir.) Wedd.

วงศ์ : URTICACEAE

ขมหินสามทาง

ขมหินสามทาง

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี หรือกึ่งไม้พุ่ม สูงได้ถึง 2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี หรือรูปใบหอกแกมรูปรี ออกดอกแยกเพศ ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกันหรือต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนง ส่วนช่อดอกเพศเมียมีขนาดสั้นกว่า ดอกสีขาว ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 286 ชนิด ในเมืองไทยพบ 13 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งที่ชุ่มชื้นบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคใต้

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตั้งแต่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ ขึ้นไป

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

15. กระเจียวขาว

ชื่อท้องถิ่น : อาวขาว(เชียงใหม่) ; ว่านม้าน้อย(สุโขทัย) ; กระเจียวโคก , กระชายดง , ชายดง(เลย) ; กระเจียวขาวใหญ่(นครราชสีมา)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma parviflora Wall.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

กระเจียวขาว ดอกยังไม่โผล่พ้นใบประดับ

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูง 40-70 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อเชิงลดรูปทรงกระบอกแทงขึ้นมาจากเหง้าและแทรกระหว่างก้านใบ ช่อดอกมีใบประดับเป็นกาบ 16-23 ใบ เรียงซ้อนทับกันอยู่หนาแน่น โคนช่อสีเขียว รูปไข่กลับ ส่วนปลายช่อมีใบประดับขนาดเล็กกว่า รูปขอบขนานจนถึงรูปรี สีขาว ดอกออกตามซอกใบประดับบริเวณโคนช่อถึงกลางช่อ ดอกสีชมพูปนขาว จนถึงสีม่วงปนขาว ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ต.ค.

พืชสกุลนี้ปัจจุบันได้รวมสกุล Smithatris และสกุล Stahlianthus เข้าไว้ด้วยกัน ทั่วโลกพบ 120 ชนิด ในเมืองไทยการพบ 44 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดินทรายที่ชื้นๆริมลำห้วย ชายป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตามทางเดินไปน้ำตกแม่ยะ

แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และภูมิภาคมลายู

16. ว่านเข้าพรรษา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Globba marantina L.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

ว่านเข้าพรรษา

ว่านเข้าพรรษา

ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี สูงราว 50 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามปลายยอด ยาวได้ถึง 10 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีเหลือง ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 106 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 50 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตามทางเดินไปน้ำตกแม่ยะ

แพร่กระจายในเอเชียเขตร้อน และออสเตรเลีย

17. เปราะป่าดอกขาว

ชื่อท้องถิ่น : เปราะป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia roscoeana Wall.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

เปราะป่าดอกขาว

เปราะป่าดอกขาว

ไม้ล้มลุก ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบ2ใบซ้อนทับกัน สูงราว 2 ซม. ต้นหนึ่งมี 2 ใบ แผ่แบนแนบกับผิวดิน รูปค่อนข้างกลม ออกดอกเป็นช่อสั้น ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนาน กลีบปากมีจุดเหลืองที่โคน ปลายกลีบปากแยกเป็น2แฉก แต่ละแฉกรูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ก.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 37 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 25 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าไผ่ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 80-400 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนล่าง

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตามทางเดินไปน้ำตกแม่ยะ

แพร่กระจายใน อนึ่งชื่อสกุลตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Engelbert Kaempfer นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมัน ส่วนชื่อชนิดตั้งให้เป็นเกียรติแก่ William Roscoe นักพฤกษศาสตร์ผู้ก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์แห่งเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ


กล้วยไม้ 


พบออกดอกเพียง 2 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. เอื้องเฉวียน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium porphyrochilum Lindl.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องเฉวียน

เอื้องเฉวียน

ลำต้นรูปแท่งดินสอกลม ต้นหนึ่งมี 3-4 ใบ ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะตามข้อและปลายยอด ช่อละ 3-7 ดอก หรือมากกว่า 10 ดอก กลิ่นหอม ขนาดดอก 0.5-1 ซม. ดอกสีขาวอมเขียว หรือสีเหลืองอ่อนอมเขียว และมีขีดตามยาวสีม่วงแดง ปากดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ปลายปากดอกมีแต้มสีเขียว กลางปากดอกมีแต้มสีม่วงแดง ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ก.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือน ม.ค. – มี.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 1,575 ชนิด ในเมืองไทยพบ 165 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามโขดหินและต้นไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,800 เมตร ขึ้นไป ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ตอนบน

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณปากทางเข้าสูปเจ้าอินทรวิชยานนท์

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย

2. เอื้องนิ่มดอย

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องช่องวงช้าง , เอื้องนิ่มช่อส้ม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pinalia spicata (D.Don) S.C.Chen & J.J.Wood

วงศ์ : ORCHIDACEAE

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

เอื้องนิ่มดอย

เอื้องนิ่มดอย

เป็นลำลูกกล้วยรูปทรงกระบอก สูงราว 3-16 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ต้นหนึ่งมี 2-4 ใบ ออกบริเวณยอด รูปรี หรือรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อเชิงลด 1-3 ช่อ ตามข้อตอนปลาย เมื่อดอกแก่..ช่อดอกจะโค้งห้อยลง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 0.3-1.2 ซม. ดอกสีขาว สีขาวอมชมพู จนถึงสีน้ำตาลอมส้ม ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากสกุล Eria ทั่วโลกพบ 160 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 25 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามโขดหินและต้นไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-2,200 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เอื้องนิ่มดอย ดอกตูม

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณพระมหาธาตุฯ

แพร่กระจายในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ เนปาล จีน เมียนมาร์ และไทย


มอสส์ และเฟิน


พบหลายชนิด แต่ที่สะดุดตามากๆมี 4 ชนิด ได้แก่

1. กูดอ่างกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Araiostegia faberiana (C. Chr.) Ching

วงศ์ : DAVALLIACEAE

กูดอ่างกา

กูดอ่างกา

เหง้าขนาด 0.8-1 ซม. แข็ง และทอดเลื้อยไปได้ไกล มีเกล็ดสีค่อนข้างแดงและขนปกคลุม เกล็ดเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ใบเป็นใบประกอบขนนก2ชั้น รูปสามเหลี่ยม กว้าง 16-20 ซม. ยาว 30-35 ซม. โดยมีใบย่อยเล็กละเอียด 12-16 คู่ ออกเรียงสลับ เส้นใบแตกแบบอิสระ ใบเมื่อแห้งมีสีเขียวอมเหลือง ก่อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก้านช่อใบสีน้ำตาลหรือสีฟาง กว้าง 0.25-0.3 ซม. ยาว 12-15 ซม. หลังก้านใบเป็นร่องตื้น โคนก้านใบมีเกล็ดสีค่อนข้างแดงปกคลุม ซอไรเกิดใกล้ขอบใบ อินดูเซียลักษณะคล้ายถุง สีน้ำตาล เปิดออกทางด้านขอบใบ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 17 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยบนต้นไม้ในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,500 เมตร ขึ้นไป

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณอ่างกา

แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ และไทย

2. เฟินปีกแมลงเม่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crepidomanes sp.

วงศ์ : HYMENOPHYLLACEAE

เฟินปีกแมลงเม่า

ยังไม่มีรายละเอียดข้อมูลของเฟินชนิดนี้ คงรู้แต่ว่าเป็นเฟินที่มีแผ่นใบบางมาก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 33 ชนิด ในเมืองไทยพบ 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยบนต้นไม้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูง

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณพระมหาธาตุฯ

3.เฟินกูดงอแง

ชื่อท้องถิ่น : เฟินงอแง , ลิเภาญี่ปุ่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lygodium japonicum (Thunb.) Sw.

วงศ์ : LYGODIACEAE

เฟินกูดงอแง

มีเหง้าขนาดเล็กเลื้อยอยู่ใต้ดิน และมีขนสีน้ำตาลอมดำปกคลุมหนาแน่น ใบเป็นใบประกอบขนนก2ชั้น รูปร่างเป็นแฉกคล้ายดาว สีเขียวเป็นมัน ใบอ่อนตั้งตรง ก้านใบยาวราว 30 ซม. อับสปอร์เกิดที่ขอบใบเป็นพูเล็กๆ อินดูเซียมีขนที่ขอบ

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 40 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ลาดชันที่มีลักษณะเป็นหินทรายปนกรวดในพื้นที่โล่งของป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,200 เมตรทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก

พบในพื้นที่อุทยานฯแม่วาง ตามทางเดินสุ่ผาช่อ

แพร่กระจายในจีน ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี

4. ข้าวตอกฤาษี

ชื่อสามัญ : Peat Moss ; Sphagnum Moss

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sphagnum cuspidatulum Müll. Hal.

วงศ์ : SPHAGNACEAE

ข้าวตอกฤาษี

เป็นพืชไร้ท่อลำเลียงที่มีขนาดใหญ่กว่ามอสส์ชนิดอื่นๆ ลักษณะคล้ายต้นไม้เล็กๆ ส่วนที่คล้ายลำต้นและใบ คือ “แกมมีโตไฟต์”(Gametophyte)  มีสีเขียวอ่อน สีเหลือง หรือสีแดง มีก้านเล็กๆที่ดูเหมือนลำต้นเป็นแกน ส่วนปลายแกนจะประกอบด้วยกิ่ง3แบบ ได้แก่ กิ่งขนาดยาวจะห้อยลงแนบลำต้น ยาว 1-5 ซม. ทำหน้าที่ดูดซับน้ำจากส่วนโคนต้น กิ่งแบบที่สองเป็นกิ่งยาวแยกตั้งตรงกันข้ามกับกิ่งแบบแรก ยาว 3-8 ซม. ทำหน้าที่ช่วยพยุงลำต้น และกิ่งแบบที่สามเจริญขึ้นไปทางยอด เป็นกิ่งสั้นๆ ยาว 1-2 ซม. ซึ่งต่อมาจะหักออกแล้วเติบโตเป็นต้นใหม่ ปลายยอดของกิ่งที่ตั้งตรงจะมีกิ่งเล็กๆจำนวนมากเกิดเป็นกระจุกๆละ 3-8 กิ่ง ขึ้นอยู่กับชนิด ทำหน้าที่สร้างอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ กิ่งทั้ง3แบบมีรูปร่างคล้ายเรือเรียงซ้อนทับกันตลอด ในช่วงฤดูฝนจะมีสีเขียวสดใส แต่ในช่วงฤดูร้อนจะพักตัว มีสีน้ำตาลอ่อนและเหี่ยวแห้งลงจนกลายเป็นสีขาว

ส่วนที่คล้ายใบนั้นจะออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ กว้าง 0.1-0.2 ซม. ยาว 0.2-0.3 ซม. ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบโค้งขึ้นคล้ายเรือ แผ่นใบบาง มีเซลล์ชั้นเดียว แต่ประกอบด้วยเซลล์ 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง มีขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายไส้กรอก ประเภทที่สองเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภายในเป็นช่องว่าง ทำหน้าที่ช่วยเก็บน้ำ

ข้าวตอกฤาษี

ไม่มีดอก แต่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ ซึ่งสปอร์โรไฟต์เจริญอยู่บริเวณยอดแกมมีโตไฟต์ อับสปอร์รูปกลม ขนาด 0.2 ซม. ก้านชูอับสปอร์สั้น มองเห็นได้ไม่ชัดเจน เมื่ออับสปอร์แก่จะเจริญยืดยาวออกเป็นก้านชูอับสปอร์เทียม สปอร์รูปคล้ายผอบเล็กๆ สีเหลือง สีน้ำตาล และเปลี่ยนเป็นสีดำในที่สุด ก่อนแตกตามแนวรอยต่อของฝาปิดอับสปอร์

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 526 ชนิด ในเมืองไทยพบ 11 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตร ขึ้นไป โดยพบดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ , ภูหลวง และภูกระดึง จ.เลย , ภูเขียว จ.ชัยภูมิ , เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก และเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว คาบสมุทรมาเลย์ ฟิลิปปินส์ เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว เกาะเซเลบีส และเกาะนิวกินี


เห็ด


พบหลายชนิด แต่ที่สะดุดตามากๆมี 1 ชนิด ได้แก่

1. Cyathus sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyathus sp.

วงศ์ : NIDULARIACEAE

 

Cyathus sp.

 

Cyathus sp.

เป็นเห็ดชนิดหนึ่งในกลุ่มเห็ดรังนก ดอกเห็ดสีขาว มีขนาดค่อนข้างเล็ก สูงไม่เกิน 1.5 ซม. กว้างไม่เกิน 1 ซม. รูปร่างคล้ายแจกัน ดอกเมื่ออ่อนจะมีเยื่อบางปิด เมื่อายุมากขึ้น เยื่อบางจะขาดออก เปิดให้เห็นไข่ภายใน หรือเรียกว่า“peridiole” เป็นจำนวนมาก รูปแบนและมน ซึ่งหากผ่าออกก็จะพบสปอร์อยู่ภายใน

Cyathus sp. ฝาปิด

พบขึ้นกระจัดกระจายตามต้นไม้ใหญ่ ตอไม้ ท่อนไม้ในช่วงฤดูฝน

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณตามทางเดินอ่างกา


สัตว์ป่า


สัตว์ป่าในที่นี้ ยกเว้นนก พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้ 5 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. จักจั่น(ไม่รู้ชนิด)

วงศ์ : CICADIDAE

จักจั่น

ทั่วโลกมีรายงานการพบจักจั่นประมาณ 2,500 ชนิด ในเมืองไทยมีรายงานการพบ(ประมาณ 36 สกุล)อย่างน้อย 152 ชนิด

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณใกล้ที่ทำการฯ

2. ด้วงคราม

ชื่อสามัญ : Indigo Hill Chafer

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Enoplotrupes sharpi (Jordan & Rothschild, 1893)

วงศ์ : GEOTRUPIDAE

ด้วงคราม ตัวผู้

ด้วงคราม ตัวผู้

มีขนาด 2.9-3.4 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ลำตัวอ้วนป้อม มีสีดำเหลือบน้ำเงิน บางครั้งมองเห็นเป็นสีน้ำเงินเหลือบม่วง หรือเหลือบสีทองแดง ผิวขรุขระเล็กน้อย เพศผู้มีเขา2เขา เขาด้านบนติดอยู่ที่อกด้านบน ยื่นออกไปด้านหน้า ปลายเขาแยกออกเป็นง่าม ส่วนเขาด้านล่างติดอยู่ที่ส่วนหัว ปลายเขาโค้งงอไปด้านหลังเล็กน้อย

ออกหากินช่วงสายที่มีแดดแรง ชอบบินวนไปมาในระดับที่สูงราว 2 เมตร แล้วร่อนลงสู่ต้นไม้

เป็นแมลงถิ่นเดียวในไทย และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พบตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาทางภาคเหนือ

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณพระมหาธาตุฯ และอ่างกา

3. Orvasca sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orvasca sp.

วงศ์ : LYMANTRIIDAE

Orvasca sp.

ยังไม่รู้ชนิดของผีเสื้อกลางคืนชนิดนี้ คงรู้แต่ว่าอยู่ในวงศ์มอธผีเสื้อหนอนบุ้งหูแดง หรือมอธผีเสื้อหนอนหางเหลือง
พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณบ้านพัก

4. ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา

ชื่อสามัญ : Leopard Lacewing

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cethosia cyane Drury, 1773

วงศ์ย่อย : ACRACINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา ตัวผู้

ขนาด 8.5-9.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) มีลักษณะและสีสันคล้ายผีเสื้อกะทกรกแดง(Red Lacewing) แต่สีพื้นปีกของตัวผู้จะออกสีส้มมากกว่า ส่วนตัวเมียมีพื้นปีกเป็นสีน้ำตาลอมเทา และที่แตกต่างจากผีเสื้อกะทกรกแดงอย่างเห็นได้ชัด คือ ชนิดนี้มีแถบสีขาวที่พาดขวางกลางปีกคู่หน้า ส่วนผีเสื้อกะทกรกแดงไม่มี

ปีกด้านบน(หรือหลังปีก)ของตัวผู้มีพื้นปีกสีน้ำตาลส้ม ปีกคู่หน้าตั้งแต่กลางปีกไปจนถึงมุมปลายปีกหน้ามีสีดำ และมีแถบสีขาวพาดขวางบนพื้นสีดำ ขอบปีกหยักเว้าและมีลวดลายซิกแซกคล้ายลายผ้าลูกไม้

ปีกด้านล่าง(หรือท้องปีก)ของตัวผู้มีสีคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า โคนปีกสีเหลืองอมส้ม มีเส้นลวดลายเป็นริ้วและจุดสีดำทั่วทั้งปีก ปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวพาดขวางเช่นเดียวกับปีกด้านบน ส่วนตัวเมียมีสีเหลืองอ่อนตั้งแต่กลางปีกจนถึงขอบปีก

ผีเสื้อกะทกรกธรรมดา ตัวผู้

วงจรชีวิตระยะไข่ 4-5 วัน ระยะหนอน 15-20 วัน ราะยะดักแด้ 7-10 วัน และระยะตัวเต็มวัย 14-15 วัน

พบอาศัยอยู่ตามชุมชน ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ ตามทางเดินสุ่น้ำตกแม่ยะ

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และคาบสมุทรมลายู

5. กระรอกดินแก้มแดง

ชื่อสามัญ : Asian Red-cheeked Squirrel ; Red-cheeked Squirrel

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dremomys rufigenis (Blanford,1878)
วงศ์ย่อย : SCIURINAE

วงศ์ : SCIURIDAE

กระรอกดินแก้มแดง

เป็นกระรอกดินขนาดเล็ก มีขนาด 18 ซม.(วัดจากปลายจมูกถึงรูทวาร) หางยาว 16 ซม. จมูกยาวและเรียวกว่ากระรอกส่วนใหญ่ ใบหูมีจุดสีขาว หัว ลำตัวด้านบน รวมทั้งด้านบนของขาหน้าและขาหลังมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีเทา แก้มและขนใต้หางมีสีแดงปนน้ำตาล คอหอยและลำตัวด้านล่างสีขาว หางด้านบนสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

ชอบหากินตามพื้นดินหรือใกล้พื้นดิน โดยกินรากไม้ ส่วนอื่นๆของพืช และแมลงเป็นอาหาร พบได้ตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตร ขึ้นไป เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออก และภาคกลาง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

กระรอกดินแก้มแดง

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณพระมหาธาตุฯ

แพร่กระจายในอินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย


นก


พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้ 5 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. นกศิวะหางสีตาล

ชื่อสามัญ : Bar-throated Minla ; Bar-throated Siva ; Chestnut-tailed Minla ; Chestnut-tailed Siva

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Minla strigula Hodgson, 1837

ชื่อพ้อง : Chrysominla  strigula Hodgson, 1837

วงศ์ : LEIOTRICHIDAE

นกศิวะหางสีตาล

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 16-18.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) กระหม่อมสีเหลือง หรือสีเหลืองแกมส้ม หน้าผากสีน้ำตาลแดง คอสีขาวหรือสีเหลือง และมีลายขีดขวางสีดำสลับสีขาว ข้างแก้มมีลายสีดำสลับสีขาว ลำตัวด้านบนสีเขียวไพลหรือสีเขียวมะกอก ปีกมีแถบสีน้ำตาลแกมส้ม สีดำ สีเทา และสีขาว อกและสีข้างมีลายแต้มสีเขียวแกมน้ำตาล ลำตัวด้านล่างสีเหลือง ขนหางคู่บนสุดสีน้ำตาลแดง ขอบหางสีดำ ปลายหางสีขาวอมเหลือง ขนหางคู่อื่นเป็นสีดำ

ชื่อชนิดเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ strig,-a หรือ stria แปลว่า ลายขีด และ gul,=a แปลว่า คอหอย ความหมายก็คือ บริเวณคอหอยเป็นลายขีด พบครั้งแรกที่ประเทศเนปาล

ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ M. strigula castanicauda Hume ชื่อชนิดย่อยเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ castane,=a หรือ castaneus แปลว่า สีน้ำตาลแดง และ caud,=a แปลว่า หาง ความหมายก็คือ หางสีน้ำตาลแดง พบครั้งแรกในประเทศเมียนมาร์เมื่อปี พ.ศ.2420 ในไทยพบครั้งแรกบนดอยอินทนนท์เมื่อปี พ.ศ.2477

เสียงร้องดังว่า“ทุย-ทวี-ที-ทู”หรือ“ทวี-ทิ-ยู”

นกศิวะหางสีตาล

มักพบเป็นฝูงเล็กๆ หากินตามกิ่งไม้พุ่มหรือกิ่งต้นไม้ในระดับสูงปานกลาง สามารุจับเกาะกิ่งไม้ได้ทุกๆแนว โดยเฉพาะทางด้านข้างของกิ่ง อาหารได้แก่แมลง ผลไม้ป่า และน้ำหวานจากดอกไม้

ผสมพันธุ์ในราวเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน วางรังตามพุ่มไม้ในระดับสูงจากพื้นดินไม่เกิน 3 เมตร รังเป็นรูปถ้วย ประกอบไปด้วยใบหญ้า ใบไผ่ มอสส์ และไลเคนส์ รองพื้นรังด้วยขนและวัสดุที่ละเอียดอ่อน เช่น รากฝอบ ใบสนเขา และก้านเฟิน เป็นต้น ออกไข่ครั้งละ 3 ฟอง ไข่สีน้ำเงินเข้ม หรือสีน้ำเงินแกมเขียว มีลายจุดหรือลายขีดสีดำหรือสีแดงจางบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

นกศิวะหางสีตาล

พบอาศัยตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,600 เมตร ขึ้นไป แต่จะพบบ่อยมากในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร ขึ้นไป โดยพบประปรายทางภาคเหนือ

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย

2. นกปีกสั้นสีน้ำเงิน

ชื่อสามัญ : White-browed Shortwing

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brachypteryx montana Horsfield, 1822

วงศ์ : MUSCICAPIDAE

นกปีกสั้นสีน้ำเงิน ตัวผู้

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 12.5-14 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีลำตัวอ้วนป้อม คิ้วยาวสีขาวชิดกับหน้าผาก ขนลำตัวสีน้ำเงินเข้ม ในที่แสงน้อยอาจมองเห็นเป็นสีดำ หางค่อนข้างสั้น ตัวผู้ช่วงวัยอ่อนมีสีน้ำตาลเข้มคล้ายตัวเมีย แต่มีคิ้วขาว

ส่วนตัวเมียมีขนลำตัวสีน้ำตาล หน้าผาก คิ้ว และรอบตามีสีน้ำตาลแกมส้ม หรือสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมเขียวและมีลายแต้มสีเหลือง ขนคลุมโคนหางด้านล่างสีน้ำตาลแกมสีสนิม

ชื่อชนิดเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ mont,-an,-I หรือ montis แปลว่า ภูเขา และ –ana เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ นกที่พบตามภูเขา หรือที่สูงๆ โดยพบครั้งแรกที่เกาะชวงา ประเทศอินโดนีเซีย

นกปีกสั้นสีน้ำเงิน ตัวเมีย

นกปีกสั้นสีน้ำเงิน ตัวเมีย

ทั่วโลกพบ 13 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ B. montana cruralis Blyth ชื่อชนิดย่อยเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ crur,-a หรือ crus หรือ cruris แปลว่า ขา หรือแข้ง และ –alis เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ จุดเด่นอยู่ที่ขา หรือแข้ง พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย

เสียงร้องดังต่อเนื่องกัน และร้องเป็นทำนองไพเราะว่า“ติ่กติ่กติ่ก”

มักพบโดดเดี่ยว หากินตามพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งพบตามกิ่งก้านของไม้พุ่ม ลูกไม้ หรือกอไผ่ เป็นนกที่ว่องไว ไม่ค่อยอยู่นิ่ง อาหารได้แก่ แมลง และหนอน

นกปีกสั้นสีน้ำเงิน ซ้าย..ลูก ขวา..แม่นก

นกปีกสั้นสีน้ำเงิน ซ้าย..ลูก ขวา..แม่นก

ผสมพันธุ์ในช่วงปลายฤดูร้อนต่อฤดูฝน หรือในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามตอไม้หรือก้อนหินที่มีมอสส์ปกคลุมหนาแน่น รังเป็นรูปกระโจม ประกอบไปด้วยมอสส์ และรองพื้นด้วยรากฝอย มีทางเข้าออกรังทางด้านข้าง ออกไข่ครั้งละ3ฟอง ไข่สีขาว ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

พบอาศัยตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,400 เมตร ขึ้นไป พบประปรายทางภาคเหนือ

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณอ่างกา และศูนย์บริการฯบนอ่างกา

แพร่กระจายในเนปาล จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์

3. นกยอดหญ้าสีเทา

ชื่อสามัญ : Grey Bushchat

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Saxicola ferrea Gray,1846

วงศ์ : MUSCICAPIDAE

นกยอดหญ้าสีเทา ตัวเมียในวัยเด็ก

ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ ส่วนน้อยเป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 14.5-16 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีหัวสีเทาเข้ม ด้านข้างของหัวสีดำ หน้าสีดำ คิ้วยาวสีขาวหรือสีขาวแกมเทาเห็นได้ชัดเจน คอหอยสีขาว ลำตัวด้านบนสีเทาแกมน้ำเงิน มีลายขีดสีดำบนหลัง ปีกมีแถบสีขาว ลำตัวด้านล่างสีขาว อกและสีข้างมีสีขาวแกมเทาอ่อน

ส่วนตัวเมียมีหัวและลำตัวด้านบนสีน้ำตาล คิ้วยาวสีขาวแกมน้ำตาลจางๆหรือสีเหลือง ใบหน้ามีลายสีน้ำตาลเข้ม คอสีขาว ลำตัวด้านล่างสีออกแกมน้ำตาล

ตัวไม่เต็มวัยมีลักษณะคล้ายกับตัวไม่เต็มวัยของนกยอดหญ้าหัวดำ(Siberian Stonechat) แต่บริเวณคอ อก และสีข้างมีลายเกล็ดสีน้ำตาล(ไม่มีลายขีด) ขนคลุมโคนขนหางด้านบนเหมือนลำตัวส่วนที่เหลือ

ชื่อชนิดเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ ferr,-o หรือ ferreus แปลวา เหล็ก ความหมายก็คือ มีสีเทาคล้ายกับสีของเหล็ก โดยพบครั้งแรกที่ประเทศเนปาล

มักพบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็กๆ มักพบเกาะตามยอดไม้พุ่ม หรือบางครั้งก็พบเกาะตามเสาไฟฟ้า ลงมาจับแมลงที่เป็นอาหารตามพื้น บางครั้งก็โฉบจับแมลงกลางอากาศ

นกยอดหญ้าสีเทา ตัวเมียในวัยเด็ก

ผสมพันธุ์ในช่วงปลายฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝน หรือในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามพื้นดินใต้กอหญ้า หรือโพรงดินตามช่วงไหล่เขา หรือตามซอกหิน รังเป็นรูปถ้วย ประกอบด้วยใบหญ้าที่ฉีกเป็นละเอียด รองพื้นรังด้วยรากฝอย ขนนก และขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด ออกไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง หายากที่มี 6 ฟอง ไข่สีน้ำเงิน  มีลายคล้ายลายแตกสีออกแดง โดยเฉพาะบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งสองเพศช่วยกันทำรังและเลี้ยงดูลูกอ่อน ตัวเมียเท่านั้นที่ฟักไข่

นกประจำถิ่นจะพบอาศัยตามชายป่า ป่าละเมาะ และทุ่งหญ้าบนป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,220 เมตร ขึ้นไป โดยพบประปรายทางภาคเหนือ แต่นกอพยพ(ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ หรือในฤดูหนาว)จะพบได้ในระดับต่ำลงมา โดยพบทางภาคเหนือ พบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณพระมหาธาตุฯ

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

4. นกกินปลีหางยาวเขียว ชนิดย่อย ankanensis

ชื่อสามัญ : Green-tailed Sunbird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aethopyga nipalensis Hodgson, 1837

วงศ์ : NECTARINIIDAE

นกกินปลีหางยาวเขียว ชนิดย่อย ankanensis ตัวผู้

เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 11-13.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้นั้นมีหน้าผาก ถึงท้ายทอย คอ ขนคลุมโคนหาง และหางสีเขียวเข้มเหลือบเป็นมัน หลังสีแดงเข้ม อกและตะโพกสีเหลือง ต่อด้วยแถบสีแดงอมส้ม ท้องด้านล่างและขนคลุมโคนหางด้านล่างสีเขียวแกมเหลือง โคนปีกสีเขียวแกมเหลืองอ่อนจนถึงสีแดงเข้ม ขนหางคู่กลางยาวกว่าขนหางคู่นอก 2.5 ซม.

ตัวเมียมีปากบนยาวกว่าปากล่างเล็กน้อย หัวและคอหอยมีลายแต้มสีเทา ลำตัวด้านบนสีเขียวคล้ำ ลำตัวด้านล่างสีอ่อนกว่า ไม่มีลายพาดสีเหลืองที่ตะโพก ท้องและขนคลุมโคนหางด้านล่างสีเหลืองแกมเขียว ปลายขนหางด้านล่างมีสีขาวจนถึงสีดำ หางเป็นหางบั้ง ขนหางคู่กลางยาวกว่าขนหางคู่นอก 1.25 ซม.

ชื่อชนิดเป็นคำที่มาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศเนปาล ซึ่งพบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรก

นกกินปลีหางยาวเขียว ชนิดย่อย ankanensis ตัวผู้

ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในไทยพบ 2 ชนิดย่อย คือ A. nipalensis ankanensis Riley ชื่อชนิดย่อยเป็นชื่อสถานที่ คือ ดอยอ่างกา อุทยานฯดอยอินทนนท์ ซึ่งพบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก และชนิดย่อย A. nipalensis australis Robinson and Boden Kloss ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากศัพท์ภาษาละติน คือ austr,-ali แปลว่า ทิศใต้ หรือภาคใต้ เป็นชนิดย่อยที่พบครั้งแรกของโลกบริเวณเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ชนิดนี้ตัวผู้มีอกสีเหลืองแซมด้วยลายเกล็ดสีแดง พบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตร ขึ้นไป

ชนิดย่อย ankanensis Riley พบอยู่เป็นคู่ หรือเป็นฝูง อาศัยและหากินภายในกิ่งก้านของไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง ออกมาเกาะบนเรือนยอดหรือกิ่งไม้แห้งเป็นครั้งคราว เป็นนกที่ค่อนข้างว่องไว กระตือรือร้น ไม่ค่อยจะหยุดนิ่ง ชอบกระโดดจากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง หรือบินจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งเกหือบตลอดเวลา อาหารได้แก่ น้ำหวานดอกไม้ โดยเฉพาะดอกกุหลาบพันปี นอกจากนี้ยังกินแมลง และหนอน

นกกินปลีหางยาวเขียว ชนิดย่อย ankanensis ตัวผู้

ชนิดย่อยนี้เป็นนกเฉพาะถิ่น พบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,500 เมตร ขึ้นไป ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เท่านั้น

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณอ่างกา และศูนย์บริการฯบนอ่างกา

5. นกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย

ชื่อสามัญ : Blyth’s Crowned Willow Warbler , Blyth’s Leaf Warbler , Southern Blyth’s Leaf-warbler , Yunnan Crowned Leaf Warbler

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phylloscopus reguloides Blyth, 1842

วงศ์ : SYLVIIDAE

นกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย

ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ ส่วนน้อยเป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 11.5-12 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) กระหม่อมสีเทาแกมเขียว มีแถบกลางสีอ่อน คิ้วสีขาวแกมเหลือง แถบตาสีคล้ำ ปากล่างสีเหลืองอมส้ม ปลายปากสีดำ ลำตัวด้านบนสีเขียวจนถึงสีเขียวแกมเหลือง ปีกยาว 5.1-6.8 ซม. มีแถบปีก2เส้นสีเหลือง ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเหลืองอ่อน มีสีเหลืองจางๆแซมในบางแห่ง ใต้หางขณะหุบมีสีเทา มีเส้นตรงกลางจากขอบครีบขนหางทางด้านในสีขาว และขอบด้านในของขนหาง3คู่นอกมีสีขาวแคบๆตลอดเส้นขน

การแยกชนิดของนกกระจิ๊ดค่อนข้างยากมาก เพราะมีรูปร่างและสีสันคล้ายกันมาก ต่างกันที่แถบ ซึ่งแต่ก่อนนั้นนกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย นกกระจิ๊ดหางขาวใหญ่(Claudia’s Leaf Warbler) และนกกระจิ๊ดหางขาวตะวันออก(Hartert’s Leaf Warbler) ถูกจัดเป็นชนิดเดียวกัน ก่อนจะพบว่านอกจากเสียงร้องจะต่างกันแล้ว การศึกษาทางดีเอ็นเอก็ยืนยันว่าพวกมันควรถูกจัดเป็นคนละชนิด พฤติกรรมบางประการก็ต่างกันด้วย นกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัยในช่วงผสมพันธุ์นั้น มักยกปีกสลับทีละข้างให้เห็นบ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าบางส่วนเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ เช่นเดียวกับกรณีของนกกระจิ๊ดหางขาวตะวันออก อาจจะอพยพมาเป็นจำนวนไม่น้อยประจำทุกปี ไม่ต่างจากนกกระจิ๊ดหางขาวใหญ่ก็เป็นได้

ทั้ง3ชนิดดังกล่าว มีเพียงนกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัยชนิดเดียวที่ทำรังวางไข่ในประเทศไทย และเสียงร้องจับคู่ของมันก็ฟังดูละม้ายคล้ายกับของนกกระจิ๊ดหางขาวเล็ก ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นบนภูเขาที่พบได้ชุกชุมกว่ามาก แต่นกกระจิ๊ดหางขาวเล็กมีใต้หางสีขาวโพลน ต่างจากนกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย(รวมทั้งนกกระจิ๊ดหางขาวใหญ่ และนกกระจิ๊ดหางขาวตะวันออก)ที่มีใต้หางสีเทาและขอบหางสีขาว กลุ่มใต้หางสีเทานี้ก็มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และมักใช้เวลาในการสำรวจก้มมองหาเหยื่อตามซอกหลืบอย่างพิถีพิถัน ทำให้ดูเชื่องช้ากว่าพอสมควร

นกกระจิ๊ดหางขาวหิมาลัย

ชื่อชนิดของนกชนิดนี้เป็นคำที่มาจากคำว่า Regular ซึ่งเป็นชื่อสกุลของนกพวกหนึ่ง และ –oides เป็นรากศัพท์ภาษากรีก แปลว่า แบบ หรือเหมือน ความหมายก็คือ“ลักษณะคล้ายนกในสกุล Regulus” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกในประเทศอินเดีย

ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ P. reguloides claudiae ชื่อชนิดย่อยเป็นชื่อบุคคล พบครั้งแรกที่มณฑลญุนนาน ประเทศจีน

เสียงร้องดังว่า“วิ๊ดทิชู่ทิชู่ทิชู่วิ๊ด-ทิวิ-ชี่วี่-ชี่วี่”

มักพบอยู่เป็นฝูงเล็กๆร่วมกับนกกินแมลงและนกขนาดเล็กอื่นๆ อาศัยและหากินตามยอดไม้สูง หรือยอดไม้พุ่ม อาหารได้แก่ แมลง และหนอน

หากเป็นนกประจำถิ่นจะพบอาศัยตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 2,000 เมตร ขึ้นไป เฉพาะ จ.เชียงใหม่ ส่วนนกอพยพนั้นจะพบได้ตามพื้นราบ ชายป่า และป่าโปร่ง โดยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยพบมากทางภาคเหนือ

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

พบในพื้นที่อุทยานฯดอยอินทนนท์ บริเวณพระมหาธาตุฯ

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)


การเดินทาง


จากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางสู่อุทยานฯดอยอินทนนท์โดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108(สายเชียงใหม่-ฮอด) ผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันปาตอง เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 58 ก่อนถึงตลาดอำเภอจอมทอง(ราว 2 กม.) จะมีถนนแยกไปทางขวามือตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 เป็นถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ ซึ่งระยะทางถึงยอดดอยอินทนนท์ประมาณ 48 กิโลเมตร และจากทางแยกดังกล่าว เดินทางไปอีกประมาณกิโลเมตรที่ 8 จะมีเส้นทางแยกทางซ้ายมือเลี้ยวเข้าไป 1 กิโลเมตร จะถึงน้ำตกแม่กลาง ส่วนที่ทำการอุทยานฯดอยอินทนนท์ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31

แผนที่การเดินทาง

จากอุทยานฯดอนอินทนนท์ ย้อนกลับไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108(สายฮอด-เชียงใหม่) ราว 37 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่อำเภอแม่วาง โดยถนน รพช. หมายเลข 12039 และ 10240 (แม่วิน-บ่อแก้ว) ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางตลอด ก็จะพบทางแยกซ้ายมือเข้าสู่กิ่วเสือเต้นและผาช่อ เป็นถนนลูกรัง ทั้งกิ่วเสือเต้นและผาช่อเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นเส้นทางเดินของแม่น้ำมาก่อน สังเกตได้จากกรวดหินกลมมนที่กระจัดกระจายอยู่ในเนื้อดินเป็นจำนวนมาก ได้มีการสะสมตัวของตะกอนเป็นชั้นๆบริเวณขอบแอ่งและเชิงเขาของแนวเทือกเขาถนนธงชัยตอนกลาง ตั้งแต่ช่วงปลายยุคเทอร์เชียรี ซึ่งเป็นช่วงที่แผ่นทวีปเคลื่อนที่เข้าสู่ตำแหน่งปัจจุบัน(ประมาณ 5 ล้านปีก่อน) ต่อมาเกิดการแปรสัณฐานของธรณีทำให้เส้นทางเดินของแม่น้ำเปลี่ยน บริเวณนี้ถูกดันตัวขึ้นกลายเป็นพื้นที่เนินเขา และเนื่องจากว่าตะกอนยุคเทอร์เชียรี ซึ่งมีอายุไม่มากนักจึงยังไม่เปลี่ยนสภาพเป็นหินแข็ง ชั้นของตะกอน หินกรวด และหินทรายที่วางตัวเป็นชั้นสลับกัน มีคุณสมบัติคงทนต่อการสึกกร่อนต่างกัน เมื่อถูกน้ำกัดเซาะชะล้างหน้าดินทำให้เกิดเป็นหน้าผาและแท่งเสาดินที่มีลวดลายสวยงาม