พรรณไม้และสัตว์ป่า ณ น้ำตกผาตาด และน้ำพุร้อนหินดาด จ.กาญจนบุรี
ในช่วงวันที่ 8-9 สิงหาคม พ.ศ.2560
น้ำตกผาตาด ชั้น2และชั้น3
การชมน้ำตกช่วงฤดูฝนจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการไปเที่ยวมากที่สุด หลังจากหมดภารกิจการงานที่ต้องเดินทางไกลมาถึง อ.สังขละบุรี ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม จึงวางแผนพักผ่อนกายใจที่น้ำตกผาตาดและน้ำพุร้อนหินดาด อ.ทองผาภูมิ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ
“น้ำตกผาตาด”เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอุทยานฯเขื่อนศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของอุทยานฯ น้ำตกแห่งนี้เกิดจากลำห้วยเล็กๆบริเวณเทือกเขากะลาฝั่งตะวันตก อ.ทองผาภูมิ ไหลรวมกันเป็นห้วยกุยมั่งและไหลบ่ามาเป็นน้ำตกใหญ่เรียกว่า“น้ำตกผาตาด” เป็นน้ำตกหินปูน มีทั้งหมด 3 ชั้น สูง(โดยรวม) 30 เมตร แต่ละชั้นมีขนาดใหญ่และมีแอ่งน้ำให้เล่นน้ำ ตัวน้ำตกจะแผ่กระจายกว้างออกไปในแนวระนาบกว้างมากกว่าแนวดิ่ง น้ำตกชั้นที่3เป็นชั้นที่สวยสุดของน้ำตกแห่งนี้ กว้างกว่า 10 เมตร สายน้ำไหลลดหลั่นซ้อนกันลงมาอย่างงดงาม ทั้ง3ชั้นอยู่ภายใต้ความร่มรื่นของพันธุ์ไม้ใหญ่นานาชนิดที่ขึ้นอยู่หนาแน่น นับเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของ จ.กาญจนบุรี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน น้ำตกแห่งนี้ไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อยใต้เขื่อนเขาแหลม
น้ำตกผาตาด ชั้น2และชั้น3
อุทยานฯเขื่อนศรีนครินทร์มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอไทรโยค อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบด้วยเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก น้ำพุร้อน ถ้ำ และเกาะแก่งต่างๆในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ที่มีทิวทัศน์สวยงาม มีเขตติดต่อกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเอราวัณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีเนื้อที่ประมาณ 957,500 ไร่ หรือ 1,532 ตารางกิโลเมตร ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 38 ของประเทศ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2524
ส่วน“น้ำพุร้อนหินดาด”หรือ“น้ำพุร้อนกุยมั่ง” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกาญจนบุรี ตั้งอยู่ที่บ้านกุยมั่ง ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ ถูกค้นพบโดยทหารญี่ปุ่นที่คุมเชลยศึกมาสร้างรถไฟสายมรณะ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ ที่มีตาน้ำอยู่ใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดปี สร้างเป็นบ่อซีเมนต์ไว้เป็นบ่อแช่ มีด้วยกัน 3 บ่อ ที่มีความร้อนต่างระดับกันไป คือบ่อน้ำร้อนมาก ร้อนปานกลาง มีบ่อเล็กสำหรับเด็กที่น้ำไม่ร้อนมาก และยังมีบ่อสำหรับพระสงฆ์แยกอยู่ต่างหาก อุณหภูมิน้ำร้อนที่ผิวดินอยู่ในช่วง 40-100 องศาเซลเซียส อุณหภูมิน้ำบ่อแช่ประมาณ 45-55 องศาเซลเซียส
น้ำตกผาตาด ชั้น1
ที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในวันธรรมดาจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมแวะมาแช่น้ำที่นี่กันเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ไม่ควรพลาด เพราะการอาบน้ำแร่ แช่น้ำพุร้อน มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีสรรพคุณในการรักษาและบรรเทาอาการของโรคต่างๆได้
บ่อน้ำพุร้อนนี้อยู่ในความดูแลของ อบต.หินดาด ในเรื่องการรักษาความสะอาด และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวมาแช่พุร้อนเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่มีการรักษาความสะอาดล้างบ่อ และดูแลเปลี่ยนน้ำถ่ายน้ำใหม่ทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ ในช่วงเวลา 15.00 น.
รอบๆบ่อน้ำพุร้อนรายล้อมด้วยธรรมชาติ มีต้นไม้ร่มรื่น ติดกับบ่อน้ำร้อนมีลำธารน้ำเย็นของลำห้วยกุยมั่งอยู่ติดกัน คั่นด้วยทางเดินตรงกลาง ลำธารนี้ไหลในแนวขนานกับบ่อน้ำร้อน เป็นน้ำที่ไหลลงมาจากน้ำตกผาตาด หากใครที่ไม่ต้องการแช่น้ำร้อนก็สามารถเล่นน้ำในลำธารได้ น้ำไม่ลึก เป็นน้ำไหล ไม่ถึงกับเชี่ยว ผู้ที่ไม่เล่นน้ำ แต่ต้องการพักผ่อนคลายเส้นก็มีจุดบริการนวดแผนโบราณ ทั้งนวดตัว และนวดฝ่าเท้า บริเวณลานจอดรถก็มีร้านค้ามากมาย ทั้งร้านอาหาร เครื่องดื่ม และของฝากที่ระลึก
ลานกางเต็นท์
ผู้เขียนไม่ได้บันทึกภาพบริเวณน้ำพุร้อนหินดาดมา เนื่องจากมีชาวต่างชาตินุ่งน้อยห่มน้อยลงมาแช่น้ำร้อนกันเป็นจำนวนมาก เกรงว่าจะเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม
ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบออกเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(7 ชนิด) และสัตว์ป่า(7 ชนิด)
ไม้ป่า
มีทั้งหมด 7 ชนิด เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด
1. เอื้องหมายนา
ชื่อท้องถิ่น : ชู้ไล้บ้อง , ซูเลโบ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; บันไดเวียน , บันไดเวียน , เอื้องดิน(ภาคกลาง) ; บันไดสวรรค์ , เอื้องดิน , เอื้องใหญ่(ภาคใต้) ; เอื้องเพ็ดม้า(เกาะสมุย ; เอื้องช้าง(นครศรีฯ) ; เอื้องต้น(ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cheilocostus speciosus (J.König) C.Specht
วงศ์ : COSTACEAE
เอื้องหมายนา
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงราว 1.5-3 เมตร ปลายยอดมักโค้งเวียน ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตั้งตรงตามปลายยอด แต่ละช่อมีใบประดับเป็นกาบสีม่วงแดง สีแดง หรือสีน้ำตาล เรียงชิดติดกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ละใบประดับมีดอกย่อยออกเพียงดอกเดียว ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอดรูปกรวยปากแตร ปลายแยกออกเป็น3กลีบ ตรงกลางภายในดอกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีชมพู ออกดอกตลอดทั้งปี แต่มีมากในราวเดือน พ.ค. – ต.ค. ผลรูปกลม หรือรูปขอบขนานแกมรูปสามเหลี่ยม ผลสุกสีแดง ผลแห้งแตกได้ เมล็ดสีดำเป็นมัน
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าที่มีความชุ่มชื้น ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ เชิงเขา และริมลำห้วยทั่วทุกภาค
พบรอบๆหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศร.4 (ผาตาด)
แพร่กระจายจากอินเดียตะวันออกแพร่กระจายสู่ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
2. หนวดเสือ
ชื่อท้องถิ่น : ดีทิง(ภาคเหนือ) ; ผักคี๊ปา(แพร่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tacca plantaginea (Hance) Drenth
วงศ์ : DIOSCOREACEAE
ดอกเริ่มโรยและผลของหนวดเสือ
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม 1-6 ช่อ ช่อละ 6-20 ดอก ดอกสีเขียวอ่อน สีน้ำตาล หรือสีม่วง ดอกเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น6กลีบ เรียงเป็น2วง วงนอกรูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม วงในรูปไข่กว้าง ออกดอกในราวเดือน พ.ค. – ธ.ค. ผลรูปสามเหลี่ยม รูปกรวย หรือรูปแตร
พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในวงศ์ TACCACEAE ทั่วโลกพบ 16 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นริมลำห้วยในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-600 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง
พบทั่วไปตามซอกหินในน้ำตกผาตาด
แพร่กระจายในจีนตอนใต้ ไทย ลาว และเวียดนาม
- แสลงพัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phanera involucellata (Kurz) de Wit
วงศ์ : FABACEAE
แสลงพัน
ไม้เถาเนื้อแข็ง ยาว 3-5 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปโล่ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองอ่อนอมเขียว หรือสีขาวอมเขียว กลีบดอก5กลีบ ใบประดับติดใกล้โคนฐานดอก ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ก.ย. ผลเป็นฝักแบน รูปใบหอก ยาวได้ถึง 12 ซม.
พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในสกุล Bauhinia ทั่วโลกพบ 84 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยพันต้นไม้อื่นตามป่าดิบแล้ง หรือเขาหินปูนเตี้ยๆทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางตอนล่าง
พบขึ้นหนาแน่นตามริมลำห้วยกุยมั่งติดกับน้ำพุร้อนหินดาด
แพร่กระจายในเมียนมาร์ และไทย
4. หูหมี
ชื่อท้องถิ่น : สะเมาทะมอ(กะเหรี่ยง-จันทบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epithema carnosum Benth.
วงศ์ : GESNERIACEAE
หูหมี
ไม้ล้มลุก สูง 8-30 ซม. ต้นหนึ่งมี3ใบ ใบล่างออกใบเดียวที่โคนต้นมีขนาดใหญ่สุด รูปรี จนถึงรูปไข่ ใบตอนบนออกเป็นคู่ตรงกันข้ามที่ปลายยอด รูปรีแกมรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก แต่จะทยอยออกดอก 1-3 ดอก ขนาดดอก 0.6 ซม. ดอกสีม่วงอ่อน หรือสีขาวอมม่วง ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ก.ย. ผลรูปค่อนข้างกลม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 20 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามหุบเขา และเขาหินปูนที่เปียกชื้นหรือริมลำน้ำใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 300-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันตก
ช่อดอกอ่อนของหูหมี
พบขึ้นทั่วไปตามโขดหินของน้ำตกผาตาด
แพร่กระจายในอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน พม่า และไทย
5. ตะแบกเกรียบ
ชื่อท้องถิ่น : เปื๋อยแดง , เปื๋อยเปลือกบาง , เปื๋อยแมว(ภาคเหนือ) ; โคะกางแอ้(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; เปื๋อยลอกเปลือก(แพร่) ; เปื๋อยกะแอ่ง(สุโขทัย) ; ลิงง้อ(จันทบุรี) ; ตะแบกเกรียบแดง(ราชบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia cochinchinensis Pierre
วงศ์ : LYTHRACEAE
ตะแบกเกรียบ
ไม้ยืนต้น สูง 12-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 40 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่แคบ รูปไข่กว้างแกมรูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อและมักแตกแขนงตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ยาว 6-100 ซม. ขนาดดอก 3-5 ซม. ดอกสีชมพูอมม่วง หรือสีม่วงอมชมพู กลีบดอก6กลีบ หลุดร่วงง่าย ออกดอกในราวเดือน มิ.ย. – ก.ย. ผลรูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปรี ปลายผลจะมีขนปกคลุมหนาแน่นเป็นพิเศษ และมีติ่งหนาม
ผลของตะแบกเกรียบ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 55 ชนิด ในเมืองไทยพบ 18 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง โดยเฉพาะตามริมลำน้ำ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,200 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
พบขึ้นทั่วไปตามริมถนนสายทองผาภูมิ-สังขละบุรี
แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)
- Globba sp.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Globba sp.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
Globba sp.
Globba sp.
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีไม่ทราบชนิด ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงและโค้งลงตามปลายยอด ดอกสีเหลืองส้ม
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบมากกว่า 100 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 50 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ชุ่มชื้นตามเพิงผาน้ำตกผาตาด
7. กระชายดำ
ชื่อท้องถิ่น : ว่านกำบัง , ว่านจังงัง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia parviflora Wall. ex Baker
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
กระชายดำ
ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ส่วนที่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นดินเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบซ้อนทับรวมตัวกันแน่น สูงราว 20-35 ซม. ต้นหนึ่งมี 2-4 ใบ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อสั้นๆแทงขึ้นมาจากโคนกาบใบ ทยอยออกดอกทีละดอก ดอกสีขาว หรือสีขาวอมชมพูอ่อน ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น3กลีบ โคนกลีบล่างมีแต้มสีชมพูเข้มจนถึงสีม่วง ออกดอกในราวเดือน ก.ค. – ส.ค.
กระชายดำ
กระชายดำ
พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 80 ชนิด ในเมืองไทยพบมากกว่า 25 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค
พบตามทางเดินเท้าสู่น้ำตกผาตาด
แพร่กระจายในอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เห็ด
พบหลายชนิด แต่ขอนำเสนอเพียง 1 ชนิด ได้แก่
1.เห็ด Lentinus sp.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lentinus sp.
วงศ์ : POLYPORACEAE
เห็ด Lentinus sp.
เห็ด Lentinus sp.
เป็นเห็ดไม่ทราบชนิด หมวกเห็ดรูปกรวย ตรงกลางเว้ากว้างและลึก สีน้ำตาล ขอบบางและลอนเป็นคลื่น ก้านดอกสีน้ำตาล
ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มหนาแน่นตามขอนไม้ผุหรือขอนไม้ลม
พบขึ้นอยู่บนขอนไม้ในน้ำตกผาตาด
สัตว์ป่า
พบหลายชนิด แต่บันทึกภาพได้เพียง 7 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด
1.นกกาฝากท้องสีส้ม
ชื่อสามัญ : Orange-bellied Flowerpecker
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicaeum trigonostigma Scopoli, 1786
วงศ์ : DICAEIDAE
นกกาฝากท้องสีส้ม..ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 9-9.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ตัวผู้มีปากแหลมยาวกว่า หัวถึงท้ายทอย ปีก และหางสีเทาแกมฟ้า คอและอกสีอ่อนกว่าเล็กน้อย หลังถึงตะโพกและอกถึงก้นมีสีส้มแกมเหลืองสด
ส่วนตัวเมียมีหัวและลำตัวด้นบนสีน้ำตาลแกมเขียวคล้ำ อกและลำตัวด้านล่างสีเทาแกมเขียว กลางท้องถึงก้นสีส้มแกมเหลืองจางๆ ตะโพกสีเข้มกว่า
ตัวไม่เต็มวัยจะคล้ายตัวเมีย แต่คอ อก และสีข้างมีสีเขียวอ่อนแกมเทา
มักพบอยู่เป็นคู่ เวลาบินหรือหากินจะส่งเสียงร้องดังว่า“ติดช-ติดช”หรือ“ซิ่ด-ซิ่ด-ซิ่ด” เป็นนกที่ไม่อยู่นิ่ง จะกระโดดไปมาเพื่อหาอาหารอยู่ตลอดเวลา ชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้
ผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี ทำรังเป็นรูปทรงกลมหรือรูปรี แขวนตามกิ่งไม้ วางไข่ครั้งละ 2-36 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันเลี้ยงดูลูก
นกกาฝากท้องสีส้ม..ตัวผู้
พบอาศัยตามชายป่า ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้งที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 900 เมตร ทางภาคตะวันตก และภาคใต้
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบบริเวณลานจอดรถของน้ำพุร้อนหินดาด
แพร่กระจายในบังกลาเทศ อินเดีย เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน
2. นกเอี้ยงถ้ำ
ชื่อท้องถิ่น : นกกาเขา
ชื่อสามัญ : Blue Whistling-Thrush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Myophonus caeruleus Scopoli, 1786
วงศ์ : MUSCICAPIDAE
นกเอี้ยงถ้ำ
เป็นนกประจำถิ่น ขนาด(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) 31-35 ซม. ลำตัวหนาใหญ่ ปากใหญ่สีเหลือง ขนลำตัวสีม่วงแกมน้ำเงิน แซมด้วยจุดเหลือบสีม่วงน้ำเงินเป็นมัน มีชนิดย่อย caeruleus เป็นนกอพยพ ปากสีดำ
ตัวไม่เต็มวัยมีขนลำตัวสีคล้ำกว่า ไม่มีจุดเหลือบสีม่วงน้ำเงินเป็นมัน ปากสีดำ มุมปากสีเหลืองซีด
นกเอี้ยงถ้ำ
เสียงร้องแหลมยาวว่า“อี้วอี้” และแหลมแต่สั่นเล็กน้อยว่า“อิ่ดด”
พบอาศัยตามโขดหินแถวลำธารในป่าร่มครึ้ม อากาศเย็น ชอบหากินแมลงน้ำ บางท้องถิ่นที่มีป่าชายเลนนกชนิดนี้สามารถหาหอยมากะเทาะเปลือกกินเนื้อหอยภายใน ทำรังตามซอกหินผาหรือโพรงไม้
พบตามพื้นราบตลอดจนป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,565 เมตร พบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง
นกเอี้ยงถ้ำ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบบริเวณรอบๆหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศร.4 (ผาตาด)
แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ภูฏาน ทิเบต เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย
3.นกกินปลีแก้มสีทับทิม
ชื่อสามัญ : Ruby-cheeked Sunbird
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anthreptes singalensis Gmelin, 1788
วงศ์ : NECTARINIIDAE
นกกินปลีแก้มสีทับทิม..ตัวผู้
เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 10.5-11 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีม่านตาสีแดง ตัวผู้มีหัวและลำตัวด้านบนสีเขียวเหลือบเป็นมัน แก้มสีน้ำตาลแดงจนถึงสีแดงเข้มทเหมือนกับทับทิม ใต้แก้มมีขนสีม่วงเหลือบ คอละอกตอนบนสีส้ม อกตอนล่างและท้องสีเหลืองสด
ส่วนตัวเมียมีลำตัวด้นบนสีน้ำตาลแกมเขียวจนถึงสีเขียวไพล คอและอกสีส้ม แต่สีอ่อนกว่าตัวผู้เล็กน้อย
นกกินปลีแก้มสีทับทิม..ตัวผู้
ตัวไม่เต็มวัยจะคล้ายตัวเมีย แต่คอและอกมีสีเหลือง ดูคล้ายนกกินปลีตัวเมียชนิดอื่น เช่น นกกินปลีอกเหลือง(Olive-backed Sunbird) นกกินปลีคอสีน้ำตาล(Brown-throated Sunbird) เป็นต้น
ไม่ได้กินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหารหลัก แต่ชอบจับแมลงกินเป็นอาหาร โดยจะกระโดดลัดเลาะไปตามเปลือกไม้และใบไม้เพื่อสำรวจหาแมลง นอกจากนี้มันยังสามารถตีปีกบินอยู่กับที่และห้อยโหนตีลังกาเพื่อจับแมลงกินได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว
เสียงร้องดังว่า“วี-อิ๊ดซ” ฟังคล้ายเสียงนกกระจิ๊ดธรรมดา(Yellow-brown Warbler)
ช่วงฤดูผสมพันธุ์ทำรังเป็นรูปทรงกระเปาะแขวนกับกิ่งไม้ โดยใช้เศษหญ้าและวัสดุอื่นๆทำรัง วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ช่วงนี้ขนสีเขียวเหลือบเป็นมันสะท้อนแสงของตัวผู้จะค่อยๆหลุดร่วง ดูคล้ายตัวเมีย แต่ก็ยังคงมีขนดังกล่าวสะท้อนแสงหลงเหลืออยู่บ้าง
นกกินปลีแก้มสีทับทิม..ตัวผู้
พบอาศัยตามป่าชายเลน สวนผลไม้ ชายป่า และใกล้น้ำตกในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,370 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง พบมากทางภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบบริเวณลานจอดรถของน้ำพุร้อนหินดาด
แพร่กระจายในบังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน
4. แมลงปอเข็มท้องยาวฟ้าสองขีด
ชื่อสามัญ : Twin-spotted Sylvan
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Coeliccia didyma Selys, 1863
วงศ์ : PLATYCNEMIDIDAE
แมลงปอเข็มท้องยาวฟ้าสองขีด..ตัวเมีย
เป็นแมลงปอเข็มขนาดกลาง ตัวผู้มีอกสีฟ้าคาดด้วยสีดำ ด้านบนอกมีจุด2คู่(ดูเป็นสีฟ้า4ขีด) โดยคู่ล่างมีลักษณะเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ จุดคู่บนรูปกลมมีขนาดเล็ก ปีกใส ท้องสีดำ ปลายท้องมีสีฟ้า
มดกำลังเดินเข้าหานักล่าที่เกาะนิ่ง
ส่วนตัวเมียนั้นอกมีสีเหลืองคาดดำ ท้องสีดำ ปล้องท้องปล้องที่ 8-9 มีแถบสีเหลืองเชื่อมติดกัน ตัวเมียเมื่อมีอายุมากขึ้น..ส่วนที่มีสีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้า มักพบตามลำธารตลอดทั้งปี เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออก
เอร็ดอร่อยกับอาหารมื้อเช้า
พบตามทางเดินเท้าสู่น้ำตกผาตาด และริมน้ำตกผาตาด
แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ ไทย ลาว และมาเลเซีย
5. นกปรอดเหลืองหัวจุก
ชื่อสามัญ : Black-crested Bulbul
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus flaviventris Tickell, 1833
วงศ์ : PYCNONOTIDAE
นกปรอดเหลืองหัวจุก
เป็นนกประจำถิ่น ขนาด(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) 18.5-19.5 ซม. หัวและคอสีดำ มีหงอนยาวสีดำ ตาสีดำ รอบวงตาสีขาวหรือสีครีม ลำตัวด้านบนสีเหลืองแกมน้ำตาล สีน้ำตาลแกมเขียว หรือสีเขียวมะกอก ลำตัวด้านล่างสีเหลืองสด หางสีเหลือง ปลายหางสีเหลืองแกมดำ
ตัวไม่เต็มวัยมีหงอนสั้นและมีหัวสีน้ำตาลอมเขียว
นกชนิดนี้ แบ่งออกเป็น 8 ชนิดย่อย พบในไทย 6 ชนิดย่อย ได้แก่ auratus พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , elbeli พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ , johnsoni คอมีสีแดงสด พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ , negates พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และ xanthops พบทางภาคตะวันตก
นกปรอดเหลืองหัวจุก
นกชนิดนี้มีชุกชุมตามป่า มักหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆและส่งเสียงร้องสื่อสารกันตลอดเวลา เราจึงได้ยินเสียงร้องของมันก่อนเห็นตัวอยู่เสมอ กินอาหารได้หลายประเภททั้งแมลงและผลไม้ โดยจะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้ยังเคยพบเห็นกินกลีบดอกไม้ น้ำหวานจากดอกไม้ โดยเฉพาะดอกทองหลางป่า
เสียงร้องสั้นและแหลมเร็วว่า“วิด-วิด-ตี้-วิด”
ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน คือระหว่างเดือน เม.ย. – พ.ค. ทำรังเป็นรูปถ้วยตามง่ามของต้นไม้ โดยใช้กิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า ตรงกลางแอ่งมักรองด้วยใบไม้ และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่งเพื่อรองรับไข่ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ไข่สีชมพู มีลายดอกดวงสีน้ำตาลแดงบริเวณไข่ด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน
นกปรอดเหลืองหัวจุก
พบอาศัยตามป่าละเมาะ ชายป่า ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2,565 เมตร พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก พบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบบริเวณลานจอดรถของน้ำพุร้อนหินดาด
แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
6. กบอ่องเล็ก
ชื่อท้องถิ่น : กบโง่ , กบอ๋องข้างลาย , กบอ๋องบ่อ , เขียดโง่ , เขียดโงด , เขียดตาโอด , เขียดอ่อง , เขียดอ่องเล็ก , โงด , อีงาด , อีแง้ด
ชื่อสามัญ : Black-spotted Frog ; Black-striped Frog ; Dark-sided Frog ; Sapgreen Stream Frog
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sylvirana nigrovittata Blyth, 1856
ชื่อพ้อง : Hylarana nigrovittata Blyth, 1856 ; Rana nigrovittata Blyth, 1856
วงศ์ : RANIDAE
กบอ่องเล็ก
เป็นกบขนาดกลาง ขนาด(วัดจากปลายปากถึงรูก้น) 4.5-7.5 ซม. น้ำหนักประมาณ 10-25 กรัม รูปร่างเรียว หน้ายาว ระยะห่างระหว่างตาใกล้เคียงกับความกว้างเปลือกตา ลำตัวด้านหลังสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาลอมเทา หรือสีน้ำตาลคล้ำ บางตัวมีลายประสีคล้ำบนแผ่นหลัง หัวสีคล้ำกว่าด้านหลัง แผ่นหูสีคล้ำเห็นได้ชัดเจน และมีปื้นสีดำอยู่ด้านหลังหู ปื้นสีดำนี้จะค่อยจางลงไปทางด้านข้างลำตัว ข้างลำตัวมีสันหนาพาดตั้งแต่ปลายจมูกไปจนถึงโคนขาหลัง ทำให้ดูเหมือนหลังแบน ใต้แนวสันมีแถบสีดำจากจมูกพาดตาและแผ่นปิดหูยาวไปตามแนว สันต่อมนูนที่ขอบหลังเห็นชัด คางและอกสีขาวหรือสีขาวออกเทา ท้องสีขาวและมีจุดประสีคล้ำกระจายอยู่ทั่วไป โดยจุดประนี้จะหนาแน่นทางด้านก้น ขาหน้าสั้น แต่ขาหลังค่อนข้างยาว ขามีลายพาดขวางสีเทาเข้ม ด้านในของต้นขามีลายร่างแหสีดำจนถึงสีเขียว ปลายนิ้วแผ่ขยายออกเป็นแผ่นเล็กๆคล้ายตุ่ม นิ้วขาหลังมีแผ่นพังผืดประมาณ ¾ ของความยาวนิ้ว นิ้วขาหลังนิ้วแรกยาวกว่านิ้วที่สอง
ผิวหนังลำตัวบนหัวเรียบ แต่ผิวหนังลำตัวบนหลังมีตุ่มละเอียดกระจายหนาแน่นและมีตุ่มใหญ่ปะปนอยู่บ้าง รวมทั้งมีตุ่มที่ด้านข้างลำตัวและบนต้นขาหลัง ปุ่ม
ตัวผู้มีต่อม2ต่อมเห็นได้ชัด อยู่ทางด้านล่างค่อนไปทางด้านท้ายของแผ่นเยื่อแก้วหู และที่โคนขาหน้าด้านใน รวมทั้งมีถุงขยายเสียงใกล้มุมปาก
ชอบอาศัยในลำน้ำไหลและมีกลุ่มไม้ปกคลุมชายฝั่ง แต่ปรับตัวอาศัยในแหล่งน้ำนิ่งได้ดี ส่งเสียงร้องเกือบตลอดทั้งปีทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน โดยส่งเสียงร่องว่า“อ่องๆๆๆ” อันเป็นที่มาของชื่อ
ในฤดูฝนมักพบเห็นกระโดดหากินตามพื้น เวลาตกใจจะมุดเข้าซ่อนในซอกหิน โคนต้นไม้ หรือกองใบไม้และกิ่งไม้ ในฤดูแล้งจะอาศัยตามแอ่งน้ำขัง มักโผล่หัวตามริมขอบแอ่ง หากรู้สึกไม่ปลอดภัยก็จะดำน้ำลงไปซุกใต้ใบไม้ที่จมอยู่ก้นแอ่ง
ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ใกล้ลำน้ำ เวลากลางวันหลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มของพรรณพืชที่เติบโตปกคลุมชายฝั่งลำน้ำ หรือตามซอกของโขดหินหรือขอนไม้ตามแนวฝั่งลำน้ำ ปกติออกหากินเวลากลางคืนบริเวณแนวฝั่งลำน้ำและบนลานหิน แต่ในฤดูฝนที่มีฝนตกชุกจะแพร่กระจายเข้าไปหากินอยู่ตามพื้นล่างของป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรังที่อยู่ห่างลำน้ำ แต่อาจพบในเวลากลางวันได้หลังฝนตกหนักและฟ้าครึ้ม กินแมลงขนาดเล็กและไส้เดือนขนาดเล็กเป็นอาหาร
กบอ่องเล็ก
ผสมพันธุ์และวางไข่ในแอ่งน้ำขังข้างลำห้วยลำคลอง หรือแอ่งน้ำขังบนลานหิน
ลูกอ๊อดมีขนาดตัวเล็ก ลำตัวสีคล้ำและมีลวดลายสีเข้ม หางยาว และมีกล้ามเนื้อแข็งแรง แผ่นครีบหางเล็กสีขาวหรือโปร่งแสง แต่มีจุดสีดำกระจาย ปากอยู่ด้านล่างค่อนไปทางด้านหน้าของหัว ช่องปากใหญ่ ตุ่มฟันในอุ้งปากมีจำนวนแถวและลักษณะการเรียงตัวเป็นสูตร I:1+1/1 +1:II จะงอยปากเล็กและขอบของจะงอยปากเรียบ
ลูกอ๊อดหากินบริเวณพื้นท้องน้ำ ส่วนใหญ่จะอยู่นิ่งที่พื้นท้องน้ำ ถ้าถูกรบกวนจะว่ายน้ำหนีได้รวดเร็ว แต่เฉพาะระยะทางสั้น และเข้าไปหลบซ่อนตัวใต้กองวัสดุหรือใบไม้ที่อยู่บนพื้นท้องน้ำ
สัตว์สกุลนี้พบในเมืองไทย 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำไหลตลอดปีที่มีโขดหินระเกะระกะและมีร่มเรือนยอดไม้ปกคลุมในป่าดิบชิ้น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 60-1,200 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และพบประปรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พบตามทางเดินเท้าสู่น้ำตกผาตาด และตามแอ่งน้ำขังของน้ำตกผาตาด
แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อนึ่งพบครั้งแรกของโลกที่แม่น้ำตะนาวศรี เมืองมะริด ประเทศเมียนมาร์
7. นกกินแมลงอกเหลือง
ชื่อสามัญ : Striped Tit Babbler ; Pin-striped Tit Babbler
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macronous gularis Horsfield, 1822
วงศ์ : TIMALIIDAE
นกกินแมลงอกเหลือง
เป็นนกประจำถิ่น ขนาด(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) 12.5-14 ซม. หน้าผากถึงกระหม่อมมีสีน้ำตาลแดง มีแถบตาสีดำหรือสีคล้ำ คิ้วและลำตัวด้านล่างสีเหลืองอ่อน มีขีดดำเล็กๆกระจายตั้งแต่คอถึงท้องตอนบน ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเขียวไพล ปีกและหางค่อนข้างสีน้ำตาลแดง สีสันและลายขีดที่อกและท้องแตกต่างกันไปตามถิ่นอาศัยและชนิดย่อย
ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปกติชอบอาศัยอยู่ใกล้ลำธาร กินแมลงเป็นอาหาร ช่วงฤดูผสมพันธุ์ราวเดือน ก.พ. – ก.ค. ทำรังอยู่ตามพุ่มไม้เตี้ยๆ วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง
เสียงร้องแหลมดังและลากเสียงเล็กน้อยว่า“ตวี้ด-ตวี้ด” คล้ายนกกระจิบคอดำ(Dark-necked Tailorbird) หรือร้องก้องดังว่า“ชี้ป-จุบจุบจุบ”หรือ“จี้บ-จั่บจั่บจั่บ” หรือร้องเสียงแหบว่า“อแห่ดดด”
พบอาศัยตามชายป่า ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,525 เมตร พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546
พบบริเวณลานจอดรถของน้ำพุร้อนหินดาด
แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเดินทาง
จากกาญจนบุรีเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข323(กาญจนบุรี-ทองผาภูมิ) ประมาณ 130 กม. แล้วแยกขวาที่บ้านหินดาดเข้าไปอีกราว 12 กม. เป็นทางราดยางตลอด ก็จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศร.4 (ผาตาด) มีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำห้องสุขา ส่วนร้านค้าสวัสดิการนั้นปกติจะเปิดขายเฉพาะช่วงวันหยุดเท่านั้น จากลานกางเต็นท์เดินเท้าลัดเลาะป่าราว 300 เมตร ก็จะถึงน้ำตกผาตาด
แผนที่การเดินทาง
หรือจะขับเลยไปอีกเล็กน้อย จนถึงหลัก กม.180 ก็จะพบทางขวามือเข้าน้ำพุร้อนหินดาดราว 300 เมตร เมื่อแวะอาบน้ำแร่ แช่น้ำพุร้อนกันให้หายเมื่อยล้าแล้ว ก็ขับไปตามทางจนถึงสี่แยก ก็ให้ตรงต่อไป รวมระยะทางจากน้ำพุร้อนหินดาด-หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ศร.4 (ผาตาด) ประมาณ 8 กม.
ความในใจของผู้เขียน
บ้านพักนักท่องเที่ยว ณ หน่วยฯผาตาด
ถามใจตัวเองว่า“ทำไมเราถึงชอบการเดินทางในช่วงฝน” ใจตัวเองตอบว่า“เพราะความฉ่ำชื้นของสายฝนสร้างให้โลกดูเขียวสดชื่น มองไปทางไหนสบายใจกว่าในยามอื่น แม้ว่าจะเปียกปอน หนาวเหน็บ แต่มันเป็นความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ปราศจากการแอบแฝงใดๆ เราจึงชอบฤดูกาลเช่นนี้”
น้ำตกผาตาด