คู่มือการใช้เต็นท์ (Used to Tent)

เต็นท์

แค้มป์บนยอดเขาหลวง จ.สุโขทัย

                              เปรียบเสมือนเป็นบ้านชั่วคราวในระหว่างการเดินทางรอนแรม กลางป่าเขาลำเนาไพรและหมู่เกาะแก่งกลางท้องทะเล ทำให้เรานอนหลับได้อบอุ่นสบายใจ โดยปราศจากการรบกวนจากยุง แมลง สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด รวมทั้งสามารถกันแดดกันฝน

ในสมัยก่อนเต็นท์คงมีแต่รูปแบบของทหาร ซึ่งผลิตจากผ้าขนาดหนาที่มีความแข็งแรงทนทาน และสามารถป้องกันน้ำกันฝนได้ 100% แต่มีน้ำหนักมาก ต่อมาเมื่อการท่องเที่ยวแนวแค้มป์ปิ้งเริ่มแพร่หลาย เต็นท์ก็ได้ถูกดัดแปลงให้มีน้ำหนักเบาด้วยการผลิตจากผ้าไนล่อน โดยปกติเต็นท์ที่ผลิตขึ้นมาในเมืองไทยเป็นเต็นท์ที่ไม่สามารถป้องกันน้ำกันฝนได้ 100% เพราะสภาพภูมิอากาศในบ้านเราเป็นเขตร้อนชื้น หากว่านำเต็นท์ที่สามารถป้องกันน้ำกันฝนได้ 100% มาใช้ ผู้ใช้จะรู้สึกอึดอัดหายใจไม่สะดวก ยิ่งในช่วงฤดูร้อน..ภายในเต็นท์จะมีความร้อนอบอ้าวจนไม่สามารถนอนหลับได้อย่างเป็นสุข ดังนั้นเต็นท์ที่ใช้ในเมืองไทยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวจึงจำต้องมีผ้าคลุมเต็นท์(Fly Sheet) ใช้คลุมเต็นท์อีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยป้องกันน้ำค้าง และน้ำฝน แต่จะป้องกันได้ 100% หรือมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่าผ้าที่ผลิตตัวเต็นท์และผ้าคลุมเต็นท์นั้นได้มีการเคลือบสารกันน้ำที่พื้นผิวผ้าและซีลตะเข็บผ้าได้ดีเพียงใด ซึ่งการเคลือบสารกันน้ำช่วยเสริมความแข็งแรงของผ้าในการป้องกันแสงแดด ลม และน้ำฝน รวมทั้งช่วยชะลอการเสื่อมอายุการใช้งาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อผ้าด้วยว่ามีความหนาเพียงใด เช่น ผ้าไนล่อน 210T มีความหนากว่าผ้า 190T เป็นต้น

เต็นท์แต่ละรุ่นก็จะมีการบอกว่าผ้าที่นำมาผลิตนั้นสามารถกันน้ำได้เท่าไร โดยมีหน่วยวัดทดสอบการรั่วซึมของน้ำในระดับแรงดันต่างๆที่ทำให้น้ำสามารถซึมผ่านเนื้อผ้าได้เป็นมิลลิเมตรน้ำ หรือ mm. H2O เท่าที่สำรวจก็พบว่าเต็นท์ส่วนใหญ่สามารถป้องกันน้ำได้ตั้งแต่ 1,000 mm. H2O ขึ้นไป

แค้มป์สันหนอกวัว อุทยานฯเขาแหลม

                              วิธีการทดสอบนั้น ผู้ผลิตเต็นท์ต้องส่งเนื้อผ้าให้แก่หน่วยงานที่มีเครื่องมือฯในการทดสอบ อย่างบริษัทฯก็จะส่งผ่านสถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือ บจก. SGS Thailand โดยส่งผ้าจำนวน 5 ชิ้น ทำการทดสอบการรั่วซึมของน้ำในระดับแรงดันต่างๆ ด้วยการขึงผ้าแต่ละชิ้นให้ตึง แล้วปล่อยน้ำด้วยระดับแรงดันที่ต่างกันทั้ง5ชิ้น เมื่อพบว่ามีการรั่วซึมของหยดน้ำผ่านผ้าตั้งแต่3หยดขึ้นไป จึงทำการจดบันทึกค่า ซึ่งผ้าทั้ง5ชิ้นก็จะได้รับค่าต่างกัน แล้วนำผลของผ้าทั้ง5ชิ้นมาหาค่าเฉลี่ยในการกันน้ำ(หรือความต้านน้ำซึม) นี่แหละเป็นที่มาของค่าการกันน้ำของเต็นท์แต่ละรุ่น โดยจะได้รับหมายเลขการตรวจสอบเป็นหลักฐาน อาทิเช่น G 1370/60 , Test Report No.4349483 , Test Report No.4361077 เป็นต้น

หลายท่านคงเริ่มสงสัยว่าแล้วเราควรเลือกเต็นท์ที่มีค่ากันน้ำเท่าใดดี จึงขอแนะนำคร่าวๆ ดังนี้

– เต็นท์ที่มีค่ากันน้ำระดับ 1,000 mm. H2O เหมาะสำหรับท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน

– เต็นท์ที่มีค่ากันน้ำระดับ 1,500 mm. H2O เหมาะสำหรับท่องเที่ยวในช่วงต้นฤดูฝนหรือปลายฤดูฝน และเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีลม มีน้ำค้างไม่แรง

– เต็นท์ที่มีค่ากันน้ำระดับตั้งแต่ 2,000 mm. H2O ขึ้นไป เหมาะสำหรับท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝน และมีน้ำค้างลงหนัก

นอกจากนี้เวลาซื้อเต็นท์ควรตรวจสอบดูด้วยว่ามีการซีลกันน้ำตามตะเข็บผ้าคลุมเต็นท์(Fly Sheet)หรือไม่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการซึมของน้ำได้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันนั้นเต็นท์ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงโดม มีบ้างที่เป็นรูปทรงหกเหลี่ยมหรือสามเหลี่ยม มีโครงเต็นท์เป็นระบบ Frame Work คือ สามารถกางเต็นท์ให้เป็นรูปทรงได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถเคลื่อนย้ายเต็นท์ทั้งหลังได้ง่ายดาย รวมทั้งกางเต็นท์ได้แทบทุกสภาพภูมิประเทศ นอกจากนี้มักจะมีผ้าคลุมเต็นท์ขายควบคู่อยู่ด้วย

อนึ่งเต็นท์โดมขนาดเล็กเหมาะสำหรับการตั้งแค้มป์บริเวณที่มีลมแรงจัด เช่น บนยอดเขา ริมหน้าผา เป็นต้น ส่วนเต็นท์โดมขนาดใหญ่เหมาะสำหรับการตั้งแค้มป์บริเวณที่มีลมไม่แรงมากนัก หรือมีแนวป่าช่วยกำบังลม

แค้มป์ดอยม่อนจอง จ.เชียงใหม่

หลักการเลือกซื้อเต็นท์

  1. ควรเลือกเต็นท์ที่ผลิตจากผ้าไนล่อน เพราะมีน้ำหนักเบา และยิ่งขนาดด้ายของผ้าไนล่อนมีขนาดใหญ่มากเท่าไรก็ยิ่งมีความแข็งแรงมากขึ้น
  2. ควรเลือกเต็นท์ที่มีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดี
  3. หากเป็นการท่องเที่ยวที่รถยนต์หรือเรือเข้าไปถึงจุดตั้งแค้มป์ หรือเดินจากที่จอดรถจอดเรือไปยังจุดตั้งแค้มป์เพียงเล็กน้อย หรือ มีลูกหาบช่วยแบกแม้ว่าจะเป็นการเดินระยะทางไกลกว่าจะถึงจุดตั้งแค้มป์ เราจะนำเต็นท์ขนาดใหญ่แค่ไหน และใช้เต็นท์รูปแบบใดก็ได้ ส่วนการท่องเที่ยวที่จำต้องเดินเท้าเป็นระยะทางไกลและต้องแบกสัมภาระด้วยตนเอง ควรใช้เต็นท์ขนาดเล็กประมาณ 2-3 คน ก็เพียงพอ
  4. ควรเลือกซื้อเต็นท์ที่มีผ้าคลุมเต็นท์(Fly Sheet) เพราะเราไม่อาจคาดการณ์ได้อย่างแน่นอน 100% ว่าจะไม่มีฝนตกในช่วงฤดูร้อน หรือน้ำค้างลงไม่หนักในช่วงฤดูหนาว

การดูแลรักษาและทำความสะอาด

  1. หลังจากกลับจากการไปท่องเที่ยว หากเต็นท์สกปรกมากก็ควรทำความสะอาดด้วยการใช้ไม้กวาดเพื่อปัดกวาดเอาเศษขยะภายในเต็นท์ และที่ติดอยู่ตามภายนอกเต็นท์ออกไป จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเปล่าพอหมาดๆ นำมาเช็ดถูภายในเต็นท์และภายนอกเต็นท์แล้วนำไปตากแดดในที่ร่มหรือแดดอ่อนๆยามเช้าหรือยามเย็น ควรตากให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันกลิ่นอับและเชื้อราที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเต็นท์สกปรกน้อยนิดก็อาจเพียงแต่ปัดกวาดทำความสะอาดเต็นท์ภายในและภายนอกเท่านั้น
  2. ถ้านำเต็นท์ไปท่องเที่ยวตามชายทะเล นอกจากทำความสะอาดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังต้องทำความสะอาดบริเวณซิปเป็นพิเศษด้วยการใช้น้ำฉีดพ่นบริเวณซิป เพื่อขจัดกรวดทรายและคราบไอทะเลที่เกาะอยู่ให้หลุดไป รวมทั้งเป็นการป้องกันฟันของซิปสึกหรอหรือฝืดจนใช้การไม่ได้ นอกจากนี้ควรนำเศษผ้าจุ่มขึ้ผึ้งหรือใช้เทียนไขก็ได้มาขัดถูบริเวณซิปเพื่อยืดอายุการใช้งานของซิป
  3. หากต้องการซักเต็นท์ เพราะเห็นว่ามีความสกปรกมากและมีกลิ่นอับเหม็น ควรใช้น้ำผสมสบู่หรือยาสระผมอย่างอ่อน ห้ามใช้ผงซักฟอกอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เนื้อผ้าของเต็นท์เสื่อมสภาพเร็วขึ้น นอกจากนี้ควรใช้แป้งทาตัว(อย่างอ่อน)โรยบริเวณซอกมุมของเต็นท์เพื่อช่วยขจัดความชื้นให้หมดไป
  4. ควรเก็บเต็นท์ไว้ในสถานที่ๆอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อบอ้าวจนเกินไป และไม่ควรวางไว้กับพื้น โดยเฉพาะพื้นปูน เพราะบริเวณนั้นจะมีความชื้นและทำให้เต็นท์เกิดเชื้อราได้ง่าย
  5. นานๆครั้งควรนำเต็นท์ออกมากางผึ่งแดดอ่อนๆเพื่อขจัดกลิ่นอับ

แค้มป์น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น จ.กาญจนบุรี

การเลือกทำเลที่ตั้งแค้มป์และการตั้งแค้มป์

สำหรับผู้ที่เพิ่งริเริ่มเที่ยวธรรมชาติในรูปแบบการตั้งแค้มป์ ควรที่จะเรียนรู้ครั้งแรกในฤดูหนาว เพราะการตั้งแค้มป์ในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝนย่อมสร้างความลำบากใจให้แก่ผู้นั้น จนอาจมีความรู้สึกเกลียดธรรมชาติฝังใจไปเลยก็ได้ ต่างจากผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติโดยเฉพาะการท่องป่าที่มักกล่าวว่า“ป่าหน้าฝนเป็นเสมือนสวรรค์ของนักนิยมไพร”

                        ทุกครั้งก่อนตั้งแค้มป์ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ควรที่จะพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้ เพื่อสร้างโลกส่วนตัวขึ้นมาท่ามกลางธรรมชาติอันพิสุทธิ์ ได้แก่

  1. ควรเลือกสถานที่ตั้งแค้มป์ไว้ก่อนล่วงหน้า ไม่ใช่หอบสัมภาระเดินทะเล่อทะล่าไปโดยไม่มีจุดหมาย
  2. ควรทำการขออนุญาตเจ้าของพื้นที่นั้นๆเสียก่อนที่จะเข้าไปตั้งแค้มป์ จงอย่าคิดว่าขอนอนสักคืนสองคืนเท่านั้น แล้วจะต้องไปขออนุญาตให้เสียเวลาทำไม ควรระลึกอยู่เสมอว่า“แปลกที่แปลกทางแล้ว อย่าริทำตัวเป็นคนแปลกหน้า”
  3. หาข้อมูลเกี่ยวกับบริเวณสถานที่ที่เราจะไปตั้งแค้มป์จากชาวบ้านแถบนั้นหรือเจ้าของพื้นที่นั้นๆว่าจะมีอันตรายจากธรรมชาติและสัตว์ป่าหรือไม่
  4. ควรฝึกหัดกางเต็นท์และเก็บเต็นท์ให้ชำนาญเสียก่อนที่จะไปท่องเที่ยว มิฉะนั้นอาจจะเสียเวลาพอดูโดยใช่เหตุ
  5. ควรตั้งแค้มป์ก่อนพระอาทิตย์ตกดินอย่างน้อย1ชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลาตั้งแค้มป์และตระเตรียมสิ่งต่างๆก่อนที่จะมืดมิด เพราะท่ามกลางความมืดมิดแม้ว่าจะมีไฟฉายก็ตาม อาจจะทำให้เราทำอะไรได้ค่อนข้างลำบากและสับสนวุ่นวายไม่น้อย
  6. ควรสังเกตพื้นที่ที่จะตั้งแค้มป์ว่าเป็นทางเดินของสัตว์ป่าหรือที่เรียกว่า“ด่านสัตว์”หรือไม่ โดยสังเกตได้จากรอยเท้าของสัตว์ที่ย่ำไปย่ำมาในบริเวณนั้น หากเห็นว่าไม่ปลอดภัยก็ควรย้ายทำเลที่ตั้งแค้มป์เสียใหม่

แค้มป์ภูสวนทราย จ.เลย

  1. ควรตั้งแค้มป์ในบริเวณที่มีแสงแดดยามเช้าส่องเข้ามายังบริเวณแค้มป์ได้ทั่วถึง
  2. ควรตั้งแค้มป์บริเวณที่มีพื้นราบเรียบปราศจากโขดหินระเกะระกะหรือมีตอไม้ แต่หากจำเป็นต้องตั้งแค้มป์ในบริเวณดังกล่าวก็ควรที่จะรองพื้นด้วยใบไม้ใบหญ้าที่สดๆ แล้วกางเต็นท์ทับอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เวลานอนไม่รู้สึกเจ็บหลัง สำหรับใบไม้ที่นำมาปูรองให้สังเกตดูว่าเป็นใบไม้ที่มีพิษหรือไม่ โดยสังเกตได้ง่ายๆว่าใบไม้มีพิษแทบทุกชนิดนั้นส่วนใหญ่จะมีขนเล็กๆปกคลุมอยู่ทั่วทั้งใบ
  3. ควรดูทางหนีทีไล่รอบๆแค้มป์ เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินจะได้หลบหนีภัยได้อย่างถูกทิศทางและปลอดภัย ซึ่งเป็นไปได้ควรกำหนดสถานที่ที่จะหลบหนีภัยไว้อย่างชัดเจน และทุกคนในกลุ่มได้ทราบกันถ้วนหน้า
  4. ควรแบ่งงานให้เพื่อนๆในกลุ่มได้มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น คนนี้มีหน้าที่กางเต็นท์ คนนั้นมีหน้าที่หาฟืน และคนนู้นมีหน้าที่หุงหาอาหาร เป็นต้น เพื่อทำให้การตั้งแค้มป์เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีระบบ
  5. ก่อนกางเต็นท์ต้องตรวจดูทิศทางลมเสียก่อนว่าลมพัดจากทิศไหนไปทิศไหน จากนั้นจึงกางเต็นท์บริเวณต้นลม แล้วก่อกองไฟเพื่อประกอบอาหารและเพื่อความอบอุ่นแก่ร่างกายบริเวณตรงกลาง ส่วนห้องส้วมที่เราสร้างขึ้นหรือห้องส้วมตามธรรมชาติที่เรียกว่า“ถ่ายทุกข์ตามทุ่ง” ควรอยู่ใต้ลม เพื่อป้องกันควันไฟและกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาจากการปล่อยทุกข์รบกวนบริเวณแค้มป์จนทำให้เรานอนไม่หลับ อนึ่งหากตั้งแค้มป์ตามลานโล่งแจ้งบนภูเขาสูงก็ต้องทำใจกับควันไฟและกลิ่นเหม็น เพราะลมจะมีการแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา
  6. ก่อนตั้งแค้มป์ควรที่จะปัดกวาดใบไม้ใบหญ้าที่เรี่ยราดอยู่ตามพื้นออกไปสุมกองไฟให้หมด เพราะใบไม้เหล่านั้นอาจเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษร้ายแรงบางชนิด
  7. การก่อกองไฟนั้นควรให้อยู่ห่างจากเต็นท์พอควร เพราะลมอาจพัดสะเก็ดลูกไฟปลิวว่อนจนถูกเต็นท์และเกิดเป็นรูโหว่ขึ้นมาได้ ซึ่งดีไม่ดีอาจจะกลายเป็นการวางเพลิงแค้มป์ของตัวเองเสียอีก
  8. ควรสำรองฟืนไว้ให้มากพอสำหรับการสุมไฟตลอดคืน โดยเลือกเนื้อไม้แข็งจะติดไฟได้ดีกว่าไม้เนื้ออ่อน ส่วนการหาฟืนนั้นควรเลือกเฉพาะไม้ล้มและตายแล้ว ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าพื้นที่ที่เราเข้าไปตั้งแค้มป์อนุญาตให้ก่อกองไฟได้หรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ส่วนใหญ่กำหนดห้ามก่อกองไฟอย่างเด็ดขาด ซึ่งผู้ที่จะเข้าไปตั้งแค้มป์จำต้องเตรียมอุปกรณ์การหุงต้มไปให้พร้อม อาทิเช่น เตาแก๊สปิกนิก เป็นต้น
  9. ควรนำขี้เถ้าแห้งจากกองไฟที่คลายร้อนแล้ว มาโรยรอบๆเต็นท์แต่ละหลัง เพื่อป้องกันแมลงและสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษร้ายแรงบางชนิด ไม่ให้เลื้อยคลานเข้าไปในเต็นท์
  10. หากจำต้องปลดทุกข์ตามท้องทุ่งหรือธรรมชาติ ควรเลือกทำเลที่ห่างจากลำห้วยลำธาร และก่อนถ่าย..ควรใช้สิ่งใดก็ได้ขุดหลุมเพื่อถ่ายทุกข์ จากนั้นเมื่อเสร็จกิจธุระแล้วจึงกลบหลุมให้มิดชิด พร้อมทั้งทำสัญลักษณ์เหนือหลุม เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้ว่าบริเวณนี้เป็นที่ปลดทุกข์

แค้มป์หน่วยฯห้วยเย็น อุทยานฯปางสีดา

  1. ภาชนะที่ใส่น้ำดื่มควรมีฝาปิดมิดชิด
  2. ก่อนหลับนอนควรเก็บสิ่งของต่างๆที่วางระเกะระกะให้เรียบร้อย เผื่อตกดึกมีเพื่อนคนใดเดินออกมาเพื่อทำธุระส่วนตัว จะได้ไม่เดินสะดุดหกล้มจนได้รับอันตรายบาดเจ็บ
  3. จรรยาบรรณข้อสุดท้ายในการตั้งแค้มป์ คือ การไม่ทำให้คนอื่นเขาด่าสรรเสริญตามหลัง อาทิเช่น ไม่เที่ยวถ่ายเรี่ยราดจนเป็นพาหะแพร่เชื้อร้ายใส่ธรรมชาติ ไม่ทิ้งขยะจนก่อให้เกิดเป็นภาวะมลพิษ เป็นต้น ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่จะย้ายแค้มป์หรือเดินทางออกจากป่าจะต้องทำความสะอาดบริเวณแค้มป์อยู่เสมอ และนำขยะทิ้งลงในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ แต่ถ้าป่านั้นไม่มีภาชนะดังกล่าวก็ต้องนำออกจากป่ามาด้วย เพื่อช่วยกันรักษาธรรมชาติให้คงอยู่คู่กับเราตลอดไป

ข้อควรวะวังในการตั้งแค้มป์ฤดูร้อน ได้แก่

  1. อย่าตั้งแค้มป์ตามลาดเขาหรือที่มีทุ่งหญ้าแห้ง เพราะในช่วงฤดูกาลนี้จะเกิดไฟไหม้ป่าได้ง่าย แต่ควรหาที่ตั้งแค้มป์ในพื้นที่ที่ไฟป่าได้เผาผลาญไปแล้ว จึงจะปลอดภัยที่สุด
  2. อย่าตั้งแค้มป์ในบริเวณที่ไฟป่ายังไม่ได้เผา เพราะบริเวณนั้นอาจจะมีใบไม้เน่าที่ทับถมกันอยู่เป็นพะเนิน ซึ่งนอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานทีมีพิษร้ายแรงแล้ว ซากใบไม้เน่ายังจะส่งกลิ่นและแก๊สเหม็นอบอวลเวียนหัวอีกด้วย

  1. อย่าตั้งแค้มป์ในลำธารที่แม้ว่าขณะนั้นจะแห้งขอดแล้วก็ตามอย่างเด็ดขาด เพราะเราไม่สามารถจะคาดการณ์ได้ว่าจะไม่มีฝนตกในช่วงหน้าร้อนหรือหน้าหนาวอย่าง 100% หากเกิดฝนตกขึ้นมา น้ำป่าก็จะไหลบ่าลงมาในลำธารจนเต็มไปหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นควรระลึกอยู่เสมอว่า“ลำธารเป็นที่นอนของน้ำ หาใช่ของคนไม่”

ข้อควรระวังในการตั้งแค้มป์ฤดูฝน ได้แก่

  1. ควรขุดร่องน้ำรอบๆเต็นท์เพื่อป้องกันสายฝนไหลผ่านใต้เต็นท์ ซึ่งจะทำให้เกิดความชื้นที่พื้นเต็นท์ และซึมเข้าสู่เต็นท์จนทำให้สัมภาระและตัวเราเปียกได้ หรืออาจจะป้องกันล่วงหน้าด้วยการใช้ผ้ายางหรือผ้าพลาสติกกันน้ำปูพื้น แล้วกางเต็นท์ทับอีกชั้นหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรมีผ้ายางหรือผ้าพลาสติกกันน้ำอีกผืน เพื่อใช้ปูนอนในเต็นท์

การขุดร่องน้ำรอบเต็นท์นั้นควรให้มีความลึกราว 3-4 นิ้ว เป็นอย่างน้อย และทำทางให้ร่องน้ำไหลมาบรรจบกันทางด้านหน้าของตัวเต็นท์(เพื่อสะดวกในการตรวจสอบและแก้ไข หากมีสิ่งใดขวางกั้นทางน้ำ) แล้วขุดร่องน้ำต่อไปเป็นทางให้ไหลลงไปสู่ที่ต่ำกว่าไปสู่ที่ต่ำกว่า ส่วนผ้าคลุมเต็นท์ที่ปกติใช้ดึงตะขอตามมุมไปเกี่ยวกับห่วงที่โคนเสาเต็นท์นั้น ให้เปลี่ยนไปเกี่ยวเข้ากับสมอบกที่ปักอยู่ห่างออกไปจากมุมพื้นเต็นท์ เพื่อช่วยทำให้ผ้าคลุมเต็นท์มีความตึงและลาดชัน ช่วยทำให้น้ำไหลลงพื้น ไม่ขังอยู่บนตัวเต็นท์

  1. อย่าตั้งแค้มป์ในที่โล่งจนเกินไป เนื่องจากในช่วงฤดูกาลนี้จะมีลมค่อนข้างแรงและผันแปรเอาแน่นอนไม่ได้ว่าจะพัดหอบเอาฝนมาทางทิศไหน รวมถึงอาจมีพายุอีกด้วย แต่กรณีที่จำเป็นจริงๆก็ควรกางเต็นท์ให้มั่นคงและแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยตัดไม้ที่มีขนาดพอเหมาะมาทำเป็นสมอบกเสริมขึ้น แล้วนำเชือกมาผูกยึดระหว่างสมอบกกับตัวเต็นท์ให้แข็งแรงเพิ่มขึ้น หรืออาจจะใช้ก้อนหินที่มีน้ำหนักพอเหมาะมาทำเป็นสมอบกเสริมก็ได้

ใช้ผ้าปูรองพื้นเต็นท์ เพื่อป้องกันความชื้น

  1. อย่าตั้งแค้มป์ตามชายเนินเขาหรือไหล่เขา จริงอยู่ที่น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำในลักษณะที่ผ่านไปเลย แต่หากเป็นน้ำป่าไหลบ่าลงมารุนแรงอาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  2. อย่าตั้งแค้มป์ใต้ต้นไม้ซึ่งขึ้นอยู่โดดเดี่ยวหรือใต้ต้นไม้แห้งที่ตายซาก เพราะต้นไม้ที่ขึ้นโดดเดี่ยวจะเป็นสื่อชนวนให้เกิดฟ้าผ่าได้ง่าย ส่วนต้นไม้แห้งที่ตายซากก็อาจจะถูกลมแรงพัดจนทำให้กิ่งหรือลำต้นหักโค่นลงมาและได้รับอันตรายได้
  3. การตั้งแค้มป์ตามดงไม้ทึบ ควรเลือกบริเวณต้นไม้เตี้ยๆและอยู่ให้ห่างจากต้นไม้สูงเอาไว้ โดยกะระยะว่าจะปลอดภัยกรณีที่มันเกิดล้มขึ้นมาเพราะฟ้าผ่าหรือลมพัดก็ตามแต่
  4. อย่าตั้งแค้มป์ในบริเวณที่มีหญ้ารกหรือมีน้ำขังเฉอะแฉะ เพราะมักเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงและสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษบางชนิด
  5. อย่าตั้งแค้มป์ใกล้หนองบึงที่มีลักษณะเป็นน้ำนิ่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีร่องรอยปลักโคลนของสัตว์ป่าต่างๆยิ่งควรหลีกเลี่ยง เพราะมันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไข้มาลาเรียมาสู่ตัวเรา

หากมีผ้ากันน้ำมาทำเป็นเพิง จะช่วยป้องกันฝนและน้ำค้างได้เป็นอย่างดี

  1. อย่าตั้งแค้มป์ใกล้ถ้ำ หากจำเป็นก็ต้องตรวจร่องรอยอย่างละเอียดว่าเป็นแหล่งหลบพักอาศัยของสัตว์ป่าที่หนีฝนเข้าไปในถ้ำหรือไม่
  2. ควรเลือกที่พักภายใต้โขดหินที่เงื้อมหรือยื่นออกมา เพราะมันสามารถป้องกันกิ่งไม้ที่ตกหล่น ต้นไม้โค่นล้ม ลมพายุที่พัดแรง และสายฝนที่ชุ่มฉ่ำได้เป็นอย่างดี
  3. การตั้งแค้มป์ใกล้แหล่งน้ำนับว่าเป็นสิ่งดี แต่ควรที่จะตั้งแค้มป์บนตลิ่งที่สูงกว่าระดับน้ำในระยะที่ปลอดภัย(โดยดูจากร่องรอยเก่าของระดับน้ำที่สูงที่สุด) เพื่อป้องกันน้ำป่าที่หลากไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

เต็นท์และเทียนไข

คราใดที่ไปตั้งแค้มป์ นอกจากอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมีด ไฟฉาย เตาแก๊ส และอาหาร สิ่งหนึ่งที่ควรติดตัวไปด้วยเสมอ คือ “เทียนไข” หลายคนอาจแย้งว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้พัฒนาไปมากแล้ว ไฟฉายที่พกพาไปเกิดเสียขึ้นมา ก็ใช้ไฟฉายในโทรศัพท์ได้ แต่หารู้ไม่ว่าเทียนไขมีประโยชน์มากแค่ไหน อาทิเช่น

แค้มป์ทุ่งโนนสน อุทยานฯทุ่งแสลงหลวง

                              – ใช้แก้ไขซิปติดขัด เคยไหมครับ! เวลาที่เราจะรูดซิปเป้ฯ เต็นท์ หรืออุปกรณ์ใดๆเพื่อใช้งาน แต่จนแล้วจนรอด มันก็ไม่ยอมรูดลงหรือเปิดออกตามใจเรา ไม่ยากครับ..เพียงเรานำเทียนไขมาถูบริเวณซิปไปมาอยู่ชั่วครู่ เนื้อเทียนไขก็จะเข้าไปช่วยดันเศษวัสดุที่ทำให้ซิปติดขัด หลุดออกไป จากนี้เราก็สามารถใช้งานลื่นปรู๊ดๆได้ดังเดิม ทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันการสึกหรอของฟันซิปอีกด้วย โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่กลับมาจากไปเที่ยวทะเล ควรทำความสะอาดซิปด้วยเทียนไขทุกครั้งก่อนเก็บ

ใช้เทียนไขถูตามตะเข็บด้านนอก ป้องกันน้ำซึมผ่านตามตะเข็บ

                              – ใช้ป้องกันน้ำเข้าตามตะเข็บผ้าคลุมเต็นท์ จริงอยู่ที่ในวันนี้ผ้าคลุมเต็นท์(Fly Sheet)แทบทุกยี่ห้อจะมีการใช้เทปซีลกันน้ำบริเวณตะเข็บที่เป็นรอยฝีจักรเย็บผ้า เพื่อป้องกันฝนหรือน้ำค้างเข้าตามตะเข็บ แต่หากเทปที่ซีลหมดอายุ โดยที่เราไม่ได้ตรวจตราให้ดีก่อนนำไปใช้งาน ครั้นจะแก้ไขก็สายเกินการเสียแล้ว วิธีแก้ไขง่ายมากๆครับ เพียงนำเทียนไขมาถูตามตะเข็บด้านนอกให้ทั่วอยู่นานพอควร เนื้อเทียนก็จะแทรกซึมเข้าไปอัดแน่นตามรอยฝีจักรเย็บผ้า ทำให้ฝนหรือน้ำค้างไม่สามารถซึมเข้าไปหยดแหมะลงในเต็นท์ที่เรากำลังนอนหลับอย่างสบายอุรา