พรรณไม้และสัตว์ป่า..ดอยสุเทพ-ดอยปุย และบึงบอระเพ็ด

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

เส้นทางถนนสู่ดอยปุย

ดอยสุเทพ-ดอยปุย

ดอยสุเทพ เดิมชื่อว่า“ดอยอ้อยช้าง” สำหรับดอยสุเทพที่เรียกกันในปัจจุบันนี้เป็นชื่อที่ได้มาจาก“พระฤาษีวาสุเทพ” ซึ่งเคยบำเพ็ญตบะอยู่ที่เขาลูกนี้เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว แต่เดิมก่อนที่ป่าดอยสุเทพจะได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นป่าหวงห้าม ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 28 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2492 ต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 124 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2507 และได้มีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติพิเศษเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2510 ในขณะเดียวกันกองบำรุง กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งสถานีวนกรรมภาคเหนือขึ้นในพื้นที่บริเวณดอยสุเทพ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับการปลูกป่าในที่สูง การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่ถูกบุกรุก และการทดลองปลูกพืชพรรณไม้ต่างถิ่น เช่น สน ยูคาลิปตัส และไม้เมืองหนาวอีกหลายชนิด ซึ่งยังคงสภาพอยู่หลายแปลงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติยอดดอยปุย

                              ในปี พ.ศ.2516 ทางราชการได้กำหนดป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และป่าอื่นๆในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงส่ง“นายปัญญา บุญสมบูรณ์” ออกไปดำเนินการสำรวจป่าดอยสุเทพ-ปุย หลังจากนั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจึงได้มีมติให้กำหนดพื้นที่ที่เป็นป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยกันพื้นที่ของราษฎรออกไป และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดอยสุเทพในท้องที่ตำบลโป่งแยง ตำบลแม่แรม ตำบลแม่สา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลบ้านปง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง และตำบลช้างเผือก ตำบลสุเทพ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 57 วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2524 ครอบคลุมพื้นที่ 100,662.50 ไร่ หรือ 161.06 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 24 ของประเทศไทย

จากบ้านพักอุทยานฯดอยสุเทพ มองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่

                              ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ.2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายขอบเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ครอบคลุมบริเวณน้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก-วังฮาง น้ำตกตาดหมอกฟ้า และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยรอบของน้ำตกทั้งสามแห่งในพื้นที่ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง และตำบลแม่แรม ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 62,500 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 163,162.50 ไร่ หรือประมาณ 261.06 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 137 วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2525

ในที่นี้ขอแบ่งพรรณไม้และสัตว์ป่าที่พบออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ พรรณไม้ป่า(29 ชนิด) , เฟิน(3 ชนิด) , มอสส์(1 ชนิด) , เห็ด(2 ชนิด) , แมงและแมลง(12 ชนิด) และนกดอยสุเทพ-ดอยปุย(8 ชนิด)


พรรณไม้ป่า


บันทึกภาพได้ 29 ชนิด(เน้นเฉพาะที่พบดอก หรือผลที่เด่นสะดุดตา) โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. ระงับ

ชื่อท้องถิ่น : ระงับพิษ(เชียงใหม่ , เลย) ; จีผาแตก(ลำปาง) ; หญ้ากำแพง(เลย) ; อังกาบ(ทั่วไป)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barleria siamensis Craib

วงศ์ : ACANTHACEAE

ระงับ Barleria siamensis Craib

                              ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 60-100 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกสั้นๆตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วงอ่อน หรือสีม่วง ดอกเป็นหลอดรูประฆัง ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 230 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4-5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ทั่วทุกภาค

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย

ชื่อสกุล Barleria ตั้งให้เพื่อเป็นเกียรติแก่ Jacques Barrelier นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส

2. ฮ่อมช้าง

ชื่อท้องถิ่น : ห้อมช้าง(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phlogacanthus curviflorus (Wall.) Nees

วงศ์ : ACANTHACEAE

ฮ่อมช้าง Phlogacanthus curviflorus (Wall.) Nees

                              ไม้พุ่ม ตั้งตรงสูง 2-6 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อกระจะและแยกแขนงตั้งตรงตามปลายกิ่ง ยาว 14-18 ซม. ช่อละ 1-5 ดอก ดอกสีชมพู สีแดงอิฐ สีม่วงอมชมพู หรือสีม่วงอมแดง ดอกเป็นหลอดโค้ง ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนกุมภาพันธ์

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 15 ชนิด ในเมืองไทยพบ 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามริมลำธารหรือพื้นที่ชุ่มชื้นในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,600 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก โดยพบมากทางภาคเหนือ

ฮ่อมช้าง Phlogacanthus curviflorus (Wall.) Nees

                              แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ภูฎาน จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม ชื่อสกุล Phlogacanthus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า phlogos แปลว่า เปลวไฟ และคำว่า akantha แปลว่า หนาม

3. หูปากกา

ชื่อท้องถิ่น : หนามแน่ขาว(ภาคเหนือ) ; จิงจ้อ , จิงจ้อเขาตาแป้น(สระบุรี) ; ช่องหูปากกา(ประจวบฯ) ; ทองหูปากกา(สุราษฎร์ฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thunbergia fragrans Roxb.

วงศ์ : ACANTHACEAE

หูปากกา Thunbergia fragrans Roxb.

                              ไม้เลื้อย ทอดเลื้อยยาว 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่กว้าง รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกตามซอกใบ 2-3 ดอก ขนาดดอก 4 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอดทรงกระบอก ปลายหลอดดอกแยกเป็น5กลีบ ปากหลอดดอกอาจมีแต้มสีเหลืองอ่อนๆ ออกดอกในราวเดือน ส.ค. – ม.ค.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 90 ชนิด ในเมืองไทยพบ 8-10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพันต้นไม้อื่นระดับต่ำในบริเวณป่าค่อนข้างโปร่งที่ชุ่มชื้นและอยู่สูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

หูปากกา Thunbergia fragrans Roxb.

                              แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ หกมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

พืชสกุลนี้ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ Carl Peter Thunberg เป็นนักพฤกษศาสตร์ นายแพทย์ และนักสำรวจธรรมชาติชาวสวีเดน ที่สำรวจและค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกได้กว่า 300 ชนิด

4. ผักหนอก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrocotyle siamica Craib

วงศ์ : APIACEAE

ผักหนอก Hydrocotyle siamica Craib

                              ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้น ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กว้าง มักมีด้านกว้างขนาดใหญ่กว่าด้านยาว ขอบใบหยักเป็นเหลี่ยม 5-7 แฉก โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่มกลมเพียงช่อเดียว ตรงข้ามกับใบ ก้านช่อฯยาว 5-17 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีขาว หรือสีขาวอมเขียว กลีบดอก5กลีบ ปลายกลีบตลบไปด้านหลัง ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม

ผักหนอก Hydrocotyle siamica Craib

                              พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 100 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ และใกล้ริมลำธารในป่าดิบเขาาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,000-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ

แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

ชื่อสกุล Hydrocotyle มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า hydor แปลว่า น้ำ และคำว่า kotyle แปลว่า ถ้วยขนาดเล็ก ตามลักษณะถิ่นที่อยู่และรูปร่างของใบแบบก้นปิด

5. โลมาซอจี(ผล)

ชื่อท้องถิ่น : โลมาซอจึ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Disporopsis longifolia Craib

วงศ์ : ASPARAGACEAE

โลมาซอจี Disporopsis longifolia Craib

โลมาซอจี Disporopsis longifolia Craib

ไม้ล้มลุก ลำต้นโค้งสูงราว 60-100 ซม. ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละ 2-5 ดอก ดอกสีขาว ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น6กลีบ ออกดอกในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม ผลรูปไข่แกมกลม ขนาด 1-2 ซม. ผลแก่สีขาว ออกผลในราวเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 7 ชนิด ในไทยมีรายงานการพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามหุบเขาหรือใกล้ริมลำธารในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,000 เมตร ทางภาคเหนือ และ จ.เลย

แพร่กระจายในจีน ไทย ลาว และเวียดนาม

6. เทียนสันติสุข

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens santisukii T. Schmizu

วงศ์ : BALSAMINACEAE

เทียนสันติสุข Impatiens santisukii T. Schmizu

                              ไม้ล้มลุกอวบน้ำ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามซอกใบและปลายยอด ดอกสีม่วง กลีบดอก5กลีบ มีปื้นสีขาวบริเวณด้านในของโคนกลีบคู่ด้านข้างและกลีบคู่ด้านล่าง ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 487 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 68 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้นในป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 900-1,600 เมตร ทางภาคเหนือ ปัจจุบันมีรายงานการพบเฉพาะ จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน เท่านั้น

เทียนสันติสุข Impatiens santisukii T. Schmizu

                              เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ชื่อชนิดตั้งชื่อตาม ศ.ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้พบเป็นคนแรก

ชื่อสกุล Impatiens มาจากภาษาละติน แปลว่า ไม่อดทน หมายความถึง“ผลที่แตกง่ายเมื่อสัมผัส”

7. เทียนดอย

ชื่อท้องถิ่น : เทียนป่า(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Impatiens violiflora Hook.f.

วงศ์ : BALSAMINACEAE

เทียนดอย Impatiens violiflora Hook.f.

                              ไม้ล้มลุกอวบน้ำ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โคนต้นออกใบห่างๆ ปลายยอดออกใบเป็นกระจุก รูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อละ 2-3 ดอก ดอกสีม่วง สีชมพูเข้ม หรือสีชมพูอมแดง กลีบดอก5กลีบ โคนกลีบล่างทั้ง2กลีบมีปื้นขาวและแต้มสีเหลือง ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนพฤศจิกายน

พบขึ้นตามริมลำน้ำและใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ชุ่มชื้น บางครั้งพบอิงอาศัยตามลานหิน โขดหิน หรือบนต้นไม้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 700-2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม

8. ผักปลาบเขียว

ชื่อท้องถิ่น : หญ้าใบไผ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhopalephora scaberrima (Blume) R. B. Faden

วงศ์ : COMMELINACEAE

ผักปลาบเขียว Rhopalephora scaberrima (Blume) R. B. Faden

                              ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามปลายยอด ขนาดดอก 1-2 ซม. ดอกสีม่วง สีม่วงอ่อน หรือสีฟ้าอมม่วง กลีบดอก3กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 4 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามหุบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 800-2,100 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

9. มันฤาษี

ชื่อท้องถิ่น : เครือเขาหลง , เครือเขาหลวง , บ่าน้ำป่า , สีจ้อ(เชียงใหม่) ; เครือตาปลา(เชียงราย) ; ฮ้านผีป้าย(จันทบุรี) ; เถาวัลย์หลง , เถาหมาหลง(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Argyreia splendens (Hornem.) Sweet

วงศ์ : CONVOLVULACEAE

มันฤาษี Argyreia splendens (Hornem.) Sweet

                              ไม้เลื้อย มีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อละ 4-6 ดอก แต่ดอกมักทยอยบานทีละดอก และดอกหลุดร่วงง่าย ขนาดดอก 2-3.5 ซม. ดอกอ่อนมีสีขาวอมม่วงแกมชมพู ดอกแก่มีสีม่วงอมชมพู กลางดอกสีม่วงเข้มหรือสีชมพูเข้ม ออกดอกเกือบตลอดปี มีมากในราวเดือนสิงหาคม – เดือนพฤศจิกายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 90 ชนิด ในเมืองไทยพบกว่า 35 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยพันต้นไม้อื่นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 400-1,200 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย

ชื่อสกุล Argyreia มาจากภาษากรีก คำว่า argyreios แปลว่า คล้ายเงิน หรือคำว่า argyros แปลว่า เงิน ความหมายก็คือ“ผิวด้านล่างของใบหรือหลังใบมีสีเงิน”

10. ผักบุ้งรั้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea cairica (L.) Sweet

วงศ์ : CONVOLVULACEAE

ผักบุ้งรั้ว Ipomoea cairica (L.) Sweet

                              ไม้เลื้อยมีอายุหลายปี ทอดเลื้อยตามพื้นหรือพันต้นไม้ไปได้ไกล 5-10 เมตร ใบประกอบรูปฝ่ามือ หรือรูปนิ้วมือ ออกเรียงสลับ ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อตามซอกใบ ขนาดดอก 4-7 ซม. ดอกสีชมพู สีม่วง จนถึงสีม่วงอมแดง ดอกเป็นหลอดรูปกรวยปากแตรหรือรูปลำโพง ปลายดอกผายบานเป็น5กลีบ ภายในหลอดมีสีเข้มกว่ากลีบดอก ออกดอกตลอดปี

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 500 ชนิด ในไทยพบประมาณ 23 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบทอดเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพันต้นไม้อื่นบริเวณที่รกร้าง ทุ่งหญ้า พื้นที่โล่งแจ้ง ป่าชายหาด ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

ชื่อสกุล Ipomoea มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า ipos แปลว่า หนอน ความหมายก็คือ“พืชที่มีลำต้นเลื้อยเหมือนหนอน”

11. ว่านไก่แดง

ชื่อท้องถิ่น : กาฝากก่อตาหมู , ไก่แดง(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeschynanthus andersonii C.B.Clarke

วงศ์ : GESNERIACEAE

ว่านไก่แดง Aeschynanthus andersonii C.B.Clarke

                              ไม้พุ่มอิงอาศัย มีลำต้นเดี่ยวหรืออาจขึ้นอยู่เป็นกอ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว โดยออกเป็นกระจุกตามปลายยอด รูปรี รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตั้งขึ้นตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายยอด ช่อละ 1-7 ดอก ดอกสีแดง สีแดงอมส้ม หรือสีส้มอมแดง ดอกเป็นหลอดยาวโค้งงอ ปลายหลอดดอกแยกออกเป็น5กลีบ และมีแถบสีแดงเข้มตามกลีบ ออกดอกในราวเดือนกันยายน – เดือนธันวาคม บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม

ว่านไก่แดง Aeschynanthus andersonii C.B.Clarke

                              พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 196 ชนิด ในเมืองไทยพบราว 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้มักพบขึ้นอิงอาศัยตามต้นไม้โดยเฉพาะต้นก่อที่ขึ้นอยู่ตามไหล่เขาริมผาในป่าดิบเขา แต่บางครั้งก็พบขึ้นตามไหล่ผาที่มีอากาศเย็นชื้นและมีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,300-1,900 เมตร ทางภาคเหนือ

แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ไทย ลาว และมาเลเซีย

ชื่อสกุล Aeschynanthus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า aischyno แปลว่า น่าอาย และคำว่า anthos แปลว่า ดอก ตามลักษณะดอกที่กลีบดอกไม่บานออก

12. เอื้องหงอนไก่

ชื่อท้องถิ่น : ว่านไก่เต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aeschynanthus fulgens Wall. ex R. Br.

วงศ์ : GESNERIACEAE

เอื้องหงอนไก่ Aeschynanthus fulgens Wall. ex R. Br.

                              ไม้พุ่มอิงอาศัย ขึ้นเป็นต้นเดี่ยวหรือเป็นกอ ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามปลายกิ่ง ช่อละ 8-16 ดอก ดอกสีแสด สีส้มอมแดง หรือสีแดงสด ดอกเป็นหลอดรูปปากแตรโค้งงอ ปลายหลอดดอกแยกออกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม

พบขึ้นอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าดิบชื้น โดยเฉพาะต้นก่อในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย อนึ่งชนิดนี้มีขนาดดอกใหญ่ที่สุดในสกุลนี้

13. ส่าฮ่อม

ชื่อท้องถิ่น : ฮ่อมป่า(เชียงใหม่)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Achyrospermum wallichianum (Benth.) Benth. ex Hook.f.

วงศ์ : LAMIACEAE

ส่าฮ่อม Achyrospermum wallichianum (Benth.) Benth. ex Hook.f.

                              ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 150 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่กว้าง ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตั้งขึ้น มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมากเรียงอัดกันแน่น ดอกสีม่วง หรือสีขาว ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 25 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว พบขึ้นใต้ร่มเงาไม้ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 800-1,400 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันตก

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เนปาล ทิเบต จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย

14. ปิ้งขาว

ชื่อท้องถิ่น : เขาะคอโดะ , แบบิสี่ , พอกวา(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; เข็มป่า , พวงพีขาว(เลย) ; นมสวรรค์เขา(นครศรีฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum colebrookianum Walp.

วงศ์ : LAMIACEAE

ปิ้งขาว Clerodendrum colebrookianum Walp.

                              ไม้พุ่มผลัดใบ สูง 1-4 เมตร บางครั้งอาจพบสูงได้ถึง 6 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปไข่กว้าง หรือรูปหัวใจแกมรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตั้งขึ้นตามปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกตูมสีชมพู ดอกเมื่อบานเต็มที่มีสีขาว หรือสีขาวอมชมพูอ่อน นานๆครั้งจะพบสีชมพูอ่อน ดอกคล้ายดอกเข็ม ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 308 ชนิด ในเมืองไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,800 เมตร ทั่วทุกภาค

ปิ้งขาว Clerodendrum colebrookianum Walp.

                              แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน ทิเบต จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ชื่อสกุล Clerodendrum มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า kleros แปลว่า โอกาส หรือโชคชะตา และคำว่า dendron แปลว่า ต้นไม้ ความหมายก็คือ“ต้นไม้แห่งโอกาสที่หลายชนิดมีสรรพคุณด้านสมุนไพร”

15. บ่าตายวายป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum garrettianum Craib

วงศ์ : LAMIACEAE

บ่าตายวายป่า Clerodendrum garrettianum Craib

                              ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานจนถึงรูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจะแยกแขนง ส่วนช่อย่อยเป็นแบบช่อกระจุก มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีเขียวอ่อนจนถึงสีเขียวอ่อนแกมเหลือง ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 308 ชนิด ในเมืองไทยพบ 21 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,200 เมตร ทางภาคเหนือ และ จ.เลย

แพร่กระจายในจีน ไทย และลาว

16. อัคคีทวาร

ชื่อท้องถิ่น : ตั้งต่อ , ปอสามเกี๋ยน , แว้งค่า , สามสุม(ภาคเหนือ) ; หมอกนางต๊ะ , หลังสามเกียน , หลัวสามเกวียน(เชียงใหม่) ; แข้งม้า(เชียงราย) ; ควิโด , ตือซือซาฉ้อง , เตอสีพ่ะดู่ , ยาแก้(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; คุ้ยโดโวต(กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร) ; ผ้าห้ายห่อคำ , หมักก้านต่อ , หูแวง , ฮังตอ(เลย) ; พรายสะเรียง , สะเม่าใหญ่(นครราชสีมา) ; มักแค้งข่า(ปราจีนฯ) ; ตรีชะวา(ภาคกลาง) ; อัคคี(สุราษฎร์ฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.

วงศ์ : LAMIACEAE

อัคคีทวาร Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.

                              ไม้พุ่มผลัดใบ สูง 1-4 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นวงรอบข้อๆละ3ใบ รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดดอก 1-1.5 ซม. ดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น5กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกด้านข้างๆละ2กลีบมีสีขาวหรือสีขาวอมฟ้า ส่วนกลีบดอกตรงกลางหรือกลีบดอกล่างสุดเป็นรูปช้อนและมีสีฟ้าหม่น สีชมพูอมม่วง หรือสีม่วง ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือนมกราคม – เดือนกุมภาพันธ์

อัคคีทวาร Rotheca serrata (L.) Steane & Mabb.

                              พืชสกุลนี้แยกมาจากสกุล Clerodendrum ทั่วโลกพบ 33 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามที่ชุ่มชื้นในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,800 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ทิเบต จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

17. เมียดต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Litsea martabanica Hook. f.

ชื่อท้องถิ่น : ขี้นก , คำป้าง , เจ้าห้าพระองค์ , ตองแข็ง , ตะไคร้ต้น , นมแมว , บางซอน(เชียงใหม่)

วงศ์ : LAURACEAE

เมียดต้น Litsea martabanica Hook. f.

                              ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-12 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปขอบขนานกมรูปรี หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเป็นช่อซี่ร่มเดี่ยวๆหรือหลายช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกแยกเพศและไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยง6กลีบ สีขาวแกมเหลือง จนถึงสีเขียวอ่อนแกมเหลือง รูปรีจนถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบบางคล้ายเยื่อและมีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศเมีย ออกดอกในราวเดือนมิถุนายน – เดือนพฤศจิกายน

เมียดต้น Litsea martabanica Hook. f.

                              พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบเกือบ 400 ชนิด ในเมืองไทยพบ 41 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 600-1,650 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ไทย และกัมพูชา

“ทุกส่วนของต้น”มีกลิ่นหอมเย็นคล้ายกลิ่นการบูร

ชื่อสกุล Litsea มาจากภาษาจีนคำว่า litse หมายถึง ผลคล้ายผลพลัมขนาดเล็ก

18. ขี้ครอก

ชื่อท้องถิ่น : ขี้คาก , ปอเส้ง , หญ้าผมยุ่ง , หญ้าอียู(ภาคเหนือ) ; บอเทอ , ปะเทาะ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; หญ้าหัวยุ่ง(เย้า-แม่ฮ่องสอน) ; ชบาป่า(น่าน) ; ขมงดง(สุโขทัย) ; ขี้หมู(นครสวรรค์) ; ขี้ครอกป่า(ภาคกลาง) ; ปูลู(ภาคใต้) ; เส้ง(นครศรีฯ) ; ปูลุ(มลายู-นราธิวาส)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Urena lobata L.

วงศ์ : MALVACEAE

ขี้ครอก Urena lobata L.

                              ไม้พุ่ม สูงราว 0.5-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว ใบมีรูปร่างและขนาดของใบแตกต่างกันมาก ใบบริเวณโคนต้นค่อนข้างกลม ปลายใบแยกเป็นแฉกตื้นๆ3แฉก ขอบใบหยักห่าง โคนใบมนหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ใบตอนกลางของต้นเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ไม่เป็นแฉก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย หยักมน หรือเรียบ และใบบริเวณยอดเป็นรูปค่อนข้างกลมยาวจนถึงรูปใบหอก

ออกดอกเดี่ยว หรือเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละ 2-3 ดอก ดอกบานในตอนเช้ามืด เลยเที่ยงมักเริ่มหุบดอก ดอกสีชมพู สีชมพูอมม่วง หรือสีชมพูอมแดง กลีบดอก5กลีบ เรียงเป็นรูปกงล้อ ออกดอกเกือบตลอดปี โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว ผลรูปกลมแป้น ขนาด 1 ซม. มีหนามหัวลูกศรและเหนียวปกคลุมผล

ผลขี้ครอก Urena lobata L.

                              พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 10 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นอยู่เป็นดงหนาแน่นตามที่โล่งในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

ชื่อสกุล Urena เป็นภาษา Malabar ในประเทศอินเดียที่ใช้เรียกขี้ครอก(Urena lobata L.)

19. เอนอ้าขน

ชื่อท้องถิ่น : เฒ่านั่งฮุ่ง(เชียงใหม่) ; โคลงเคลงหิน , เอ็นอ้าขน(เลย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.

วงศ์ : MELASTOMATACEAE

เอนอ้าขน Osbeckia stellata Buch.-Ham. ex Ker Gawl.

                              ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร ใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้ามและสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกสีม่วง หรือสีชมพูแกมม่วง กลีบดอก4กลีบ ดอกเมื่อบานเต็มที่..กลีบดอกจะบานอ้าออก เกสรตัวผู้8อัน ยาวเท่าๆกัน อับเรณูเรียวยาว ปลายเป็นจะงอยรูปตัวเอส(S) ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 50 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งและทุ่งหญ้าที่ชุ่มชื้นและริมลำห้วย ตลอดจนทุ่งหญ้าและสันเขาที่ชุ่มชื้นบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-2,000 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เนปาล ภูฎาน ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

ชื่อสกุล Osbeckia ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ Pehr Osbeck นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน

20. มะเดื่อฉิ่ง

ชื่อท้องถิ่น : เดื่อนอด , มะเดื่อชิ้ง(ภาคเหนือ) ; มะเดื่อข้าว(ภาคกลาง) ; จิ้งขาว , ชิ้งขาว , ชิ้งบ้าน(นครศรีธรรมราช) ; เดื่อย(ตรัง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus fistulosa Reinw. ex Blume

วงศ์ : MORACEAE

มะเดื่อฉิ่ง Ficus fistulosa Reinw. ex Blume

                              ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ หรือผลัดใบช่วงสั้นๆ สูง 4-15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศและต่างต้น ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 3-4 กลีบ เกสรตัวผู้อันเดียว ดอกเพสเมียมีกลีบรวมเป็นหลอด ก้านเกสรตัวเมียรูปคล้ายกระบอง ติดคงทน ออกดอกตลอดปี

ออกผลเป็นช่อสั้นๆตามโคนต้น ลำต้น หรือซอกใบ รูปค่อนข้างกลม รูปลูกข่าง หรือรูปไข่กลับ ขนาด 1-2.5 ซม. ปลายบุ๋ม มีก้าน ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลือง ก่อนเปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดง เปลือกผลบาง แห้ง และเหนียว ผลแห้งไม่แตก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 841 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 115 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่ง พื้นที่รกร้าง หรือตามริมลำน้ำในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 600 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังกลาเทศ จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ หมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี

ชื่อสกุล Ficus มาจากภาษาละติน ซึ่งใช้เรียกมะเดื่อชนิดที่ผลทานได้ และทุกชนิดของสกุลนี้ ก่อนผลิใบมักมีกาบหุ้มตารูปดาบยาว พอผลิใบจึงจะหลุดร่วง จึงเห็นรอยควั่นรอบกิ่งเสมอ รวมทั้งและทุกส่วนของต้นเมื่อต้นฉีกหรือมีแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมา พบน้อยที่มีสีใส

21. Syzygium sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium sp.

วงศ์ : MYRTACEAE

Syzygium sp.

                              ยังไม่รู้ชนิด คงรู้แต่ว่าพืชสกุลนี้แยกมาจากสกุล Eugenia ทั่วโลกพบ 1,139 ชนิด ในเมืองไทยพบประมาณ 106 ชนิด

ชื่อสกุล Syzygium มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า syzygos แปลว่า คู่ หรือเชื่อมต่อ ความหมายก็คือ“กิ่งและใบที่ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน” ส่วนชื่อชนิด angkae เป็นชื่อสถานที่ คือ “อ่างกา” อยู่บนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์ William Grant Craib นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้พบพืชชนิดนี้ครั้งแรกของโลก บริเวณอ่างกา เมื่อปี พ.ศ.2472

23. เอื้องกลีบติด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gastrodia exilis Hook. f.

วงศ์ย่อย : EPIDENDROIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องกลีบติด Gastrodia exilis Hook. f.

                              เป็นกล้วยไม้ดินกินซาก ไม่มีใบ ออกดอกเป็นช่อละ 5-7 ดอก แต่จะทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก ขนาดดอก 0.4 ซม. ดอกสีขาว ปากดอกซ่อนอยู่ภายในหลอดดอก ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 60 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นในที่ร่มรำไรจนถึงค่อนข้างมืดครึ้มในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 800-1,300 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

แพร่กระจายในไทย และอินโดนีเซีย ชื่อสกุลตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2353 โดย Robert Brown นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อสกุล Gastrodia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า gastrodes แปลว่า หม้อที่มีรูปร่างคล้ายระฆัง ความหมายก็คือ“กลีบดอกที่เชื่อมกันและพองโตคล้ายภาชนะ” ชื่อชนิด exilis แปลว่า ผอมบาง ความหมายก็คือ“ลักษณะต้นที่ผอมบาง”

24. เอื้องกล้วยปลวกใหญ่

ชื่อท้องถิ่น : เอื้องแฝง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aphyllorchis caudata Rolfe ex Downie

วงศ์ย่อย : NEOTTIOIDEAE

วงศ์ : ORCHIDACEAE

เอื้องกล้วยปลวกใหญ่ Aphyllorchis caudata Rolfe ex Downie

                              เจริญเติบโตเฉพาะฤดูฝน ทุกส่วนของต้นไม่มีสีเขียวหรือคลอโรฟิลเพื่อสังเคราะห์แสง เนื่องจากเป็นกล้วยไม้ดินกินซากขนาดใหญ่ที่ได้อาหารจากซากผุพังของใบไม้ที่เน่าเปื่อย ใบลดรูปเป็นเกล็ดขนาดเล็กๆ รูปสามเหลี่ยม ติดอยู่บริเวณข้อ สีขาวนวลอมน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อกระจะตั้งตรง มีดอกย่อยจำนวนมากออกเรียงเวียนรอบช่อ ขนาดดอก 2-3 ซม. ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน สีเหลืองอ่อน หรือสีน้ำตาลครีม ปากดอกรูปหัวใจสีน้ำตาลอมเหลือง หรือสีน้ำตาลแดง ออกดอกในราวเดือน ก.ย. – พ.ย.

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 22 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นดินในป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 900-1,700 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เอื้องกล้วยปลวกใหญ่ Aphyllorchis caudata Rolfe ex Downie

                              แพร่กระจายในจีนตอนใต้-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สกุลนี้ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2368 โดย Carl Ludwing von Blume นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน สกุล Aphyllorchis มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 3 คำ คือคำว่า a แปลว่า ไม่มี , คำว่า phyll แปลว่า ใบ และคำว่า orchis แปลว่า กล้วยไม้ ความหมายก็คือ“กล้วยไม้ที่ไม่มีใบ” ชนิดนี้พบครั้งแรกบนดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ชื่อชนิด caudata มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า caudate แปลว่า ยาวคล้ายหาง ความหมายก็คือ“ปลายกลีบที่สอบเรียวคล้ายหาง”

25. ผักไผ่น้ำ

ชื่อท้องถิ่น : ผักบังใบ(ภาคเหนือ) ; พญาดง , เอื้องเพ็ดม้า(ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persicaria chinensis (L.) H. Gross

วงศ์ : POLYGONACEAE

ผักไผ่น้ำ Persicaria chinensis (L.) H. Gross

                              ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกและแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกสีขาว สีขาวอมชมพู จนถึงสีชมพูแกมขาว กลีบดอก5กลีบ ออกดอกในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 66 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามพื้นที่โล่งในป่าโปร่งที่ชุ่มชื้นและป่าดิบ ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 50 เมตร ขึ้นไป บางครั้งพบขึ้นบนโขดหินริมผา พบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

ผักไผ่น้ำ Persicaria chinensis (L.) H. Gross

                              แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

26. มะแว้งป่า(ผล)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lycianthes laevis Bitter

วงศ์ : SOLANACEAE

มะแว้งป่า Lycianthes laevis Bitter

                              ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละ 2-7 ดอก ดอกสีม่วง หรือสีขาวซึ่งปลายกลีบเป็นสีม่วง ดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น5กลีบ ออกดอกในราวเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม

ผลรูปกลม ขนาด 0.5-0.6 ซม. สีเขียว ผิวเกลี้ยง ผลสุกสีแดง มีกลีบเลี้ยงติดคงทน เนื้อผลนุ่ม มีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่ ออกผลในราวเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 138 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่ที่ชุ่มชื้นหรือใกล้ลำน้ำตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 700-1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในจีน ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

27. ขี้ผึ้ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyspora dalglieshiana Orel, Peter G.Wilson, Curry & Luu

วงศ์ : THEACEAE

ขี้ผึ้ง Polyspora dalglieshiana Orel, Peter G.Wilson, Curry & Luu

                              ไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ขนาดดอก 5-7 ซม. กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาว กลีบดอก 4-5 กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนมกราคม

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากสกุล Gordonia ทั่วโลกพบ 40 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 900-2,100 เมตร ทางภาคเหนือ และภาคใต้

ชื่อสกุล Polyspora มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก2คำ คือคำว่า polys แปลว่า มาก และคำว่า sporos แปลว่า เมล็ด ความหมายก็คือ“มีหลายเมล็ด”

เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย

28. เข็มขาวป่า

ชื่อท้องถิ่น : ไก่แก้ว , เหมือดขาว((ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Daphne sureil W. W. Sm. & Cave

วงศ์ : THYMELAEACEAE

เข็มขาวป่า Daphne sureil W. W. Sm. & Cave

                              ไม้พุ่ม สูง 1-4 เมตร ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามปลายกิ่ง ช่อละ 5-14 ดอก กลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสีขาว หรือสีครีม ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ปลายแยกเป็น4กลีบ ออกดอกในราวเดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 95 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 1,200-2,200 เมตร ทางภาคเหนือ

แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล จีนตอนใต้ เมียนมาร์ และไทย

ชื่อสกุล Daphne มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคำว่า daphne ที่ใช้เรียกต้นใบกระวาน ชื่อวิทยฯ Laurus nobilis L. วงศ์ LAURACEAE

29. หญ้าหนูต้น

ชื่อท้องถิ่น : ว่านมีดยับ(ภาคเหนือ) ; มะพร้าวป่า , ศรีคันไชย(เชียงใหม่) ; โก่กำแล่น , โก่กำหลั่น , ไก่กำแล่น(ชัยภูมิ) ; ลำพัน(จันทบุรี) ; หอมแดง(ภาคกลาง) ; หญ้าหนู(ระนอง-ปัตตานี) ; ซีบะ , เซียอ๊ะ(มลายู-ปัตตานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dianella ensifolia (L.) DC.

วงศ์ : XANTHORRHOEACEAE

หญ้าหนูต้น Dianella ensifolia (L.) DC.

                              ไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี ขึ้นอยู่เป็นกอ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ โดยออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้น รูปดาบ หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ออกดอกเป็นช่อ ดอกสีขาวนวล สีขาวแกมเขียว สีเหลืองอ่อน หรือสีม่วงแกมน้ำเงิน ดอกเป็นหลอดเล็กๆ ปลายแยกเป็น6กลีบ ออกดอกในราวเดือน ต.ค. – ธ.ค. บางครั้งพบออกดอกนอกฤดูกาลในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน

ผลรูปเกือบกลม ขนาด 0.6-0.8 ซม. สีเขียว ผลแก่สีม่วงเข้มหรือสีม่วงอมน้ำเงิน มี3พู

พืชสกุลนี้ย้ายมาจากวงศ์ LILIACEAE ทั่วโลกพบ 41 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบขึ้นตามทุ่งหญ้าในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,700 เมตร ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ออสเตรเลียด้านตะวันออก หมู่เกาะในแปซิฟิก มาดากัสการ์ และเขตร้อนในแอฟริกา


เฟิน


บันทึกภาพได้หลายชนิด แต่ที่น่าสนใจมี 4 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. เฟินกูดอ้อม

ชื่อท้องถิ่น : เฟินกูดเวียน , เฟินใบกูดอ้อม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aglaomorpha coronans Copel.

วงศ์ : POLYPODIACEAE

เฟินกูดอ้อม Aglaomorpha coronans Copel.

                              เป็นเฟินอิงอาศัยที่มีขนาดใหญ่ เหง้าอวบอ้วน มีเกล็ดสีน้ำตาลทองปกคลุมหนาแน่น และมีขนสีน้ำตาลอมแดงเป็นมันเงา เหง้ามักเลื้อยเวียนอ้อมจนเป็นวงรอบตามต้นไม้ที่มันอาศัยอยู่ จึงได้ชื่อว่า“เฟินกูดอ้อม”  ใบมีขนาดกว้าง 30-60 ซม. ยาวได้กว่า 1 เมตร แผ่นใบหนาแข็ง ผิวเกลี้ยงเป็นมัน ใบหยักเป็นพูแบบขนนกชั้นเดียวลึกเกือบถึงแกนกลางใบ พูมีจำนวนมากกว่า 12 คู่ รูปกึ่งสามเหลี่ยมแกมรูปขอบขนาน ปลายพูเรียวแหลม ขอบพูเรียบ ซอไรเกิด 1-2 แถว ระหว่างใบย่อยหลัก

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 12 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา บางครั้งพบอิงอาศัยตามโขดหินในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 200-2,000 เมตร โดยพบมากในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯช่วง 200-600 เมตร ทั่วทุกภาค

เฟินกูดอ้อม Aglaomorpha coronans Copel.

                              แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ทิเบต จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

ชื่อวิทยฯชนิดนี้ใน kew science บอกว่าเป็นชื่อพ้องของ Drynaria coronans J.Sm. แต่ใน the plant list เป็นชื่อพ้องของ Pseudodrynaria coronans (Wall. ex Mett.) Ching

2. เฟินกระปรอกเล็ก

ชื่อท้องถิ่น : กูดเฟือย , กูดไม้ , กูดอ้อม(ภาคเหนือ) ; กูดหางม้า(แม่ฮ่องสอน) ; กูดตั่ง(เชียงใหม่) ; กระปรอกหัวหิน(จันทบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drynaria rigidula Bedd.

วงศ์ : POLYPODIACEAE

เฟินกระปรอกเล็ก Drynaria rigidula Bedd.

                              ลำต้นเป็นเหง้าทอดเลื้อยยาวได้กว่า 3 เมตร และมีเกล็ดสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น ขอบเกล็ดมีขนสีน้ำตาลคล้ายตีนกระต่ายประปราย ใบประกบต้นเป็นกาบรูปกึ่งสามเหลี่ยมแกมรูปขอบขนาน กว้าง 8-10 ซม. ยาว 10-35 ซม. ปลายใบหยักเรียวแหลม ขอบใบหยักเป็นพูลึกได้ถึง1ใน3ก่อนถึงเส้นกลางใบ เส้นใบเป็นแบบร่างแหและนูนเห็นได้ชัดเจน ไร้ก้านใบ ใบสร้างสปอร์เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ที่ห้อยย้อยลงมาคล้ายขนนกสีเขียวเข้ม ก้านใบประกอบยาวได้ถึง 2 เมตร สีน้ำตาลอมแดงม่วง มีใบย่อยราว 40 คู่ รูปใบหอกจนถึงรูปแถบ กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 8-25 ซม. ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบหรือหยักเป็นฟันเลื่อย โคนใบเบี้ยว เส้นกลางใบนูนทั้งสองด้าน กลุ่มอับสปอร์มีแถวเดียว พบทั้งสองด้านตามขอบใบ แต่จะนูนขึ้นที่ท้องใบ

มักเจริญเติบโตอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ทำให้สามารถเก็บความชื้นไว้ได้ดี พวกมันจึงอยู่รอดได้ในฤดูแล้ง ด้วยการพักตัวทิ้งใบหมด คงเหลือแต่ใบประกบต้นที่แห้งเป็นสีน้ำตาล ปิดคลุมเหง้าเอาไว้เพื่อรักษาความชื้นตลอดฤดูแล้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนใบประกบต้นก็จะเจริญแตกออกจากเหง้าหลายๆใบและซ้อนกันจนคล้ายเป็นตะกร้า เพื่อสะสมใบไม้ผุที่ร่วงหล่นเก็บไว้เป็นอาหารในช่วงฤดูแล้ง

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 15 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอิงอาศัยตามต้นไม้ เพิงผาดิน หรือลานหินริมลำน้ำในป่าพรุ ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี และออสเตรเลีย

3. เฟินกูดผา

ชื่อท้องถิ่น : กูดผา , ผักแว่น(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adiantum capillus-veneris L.

วงศ์ : PTERIDACEAE (แต่บางตำราแยกไปอยู่ในวงศ์ ADIANTACEAE)

เฟินกูดผา Adiantum capillus-veneris L.

                              มีเหง้าผอม สั้น และทอดนอน แตกสาขามากมาย และมีเกล็ดปกคลุม ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ก้านใบประกอบแข็งแรง สีม่วงดำเป็นมัน ยาวได้ถึง 40 ซม. ใบย่อยรูปสามเหลี่ยมแคบดูคล้ายพัด ขอบใบเรียบ โคนใบแหลม ใบอ่อนนุ่มบางมีสีเขียวดูราวขนนก ใบอ่อนสีเขียวซีด ใบที่ไม่สร้างสปอร์จะมีปลายใบหยักละเอียด ส่วนใบที่สร้างสปอร์จะมีปลายใบหยักเป็นพูลึก อับสปอร์รูปขอบขนาน ก้านใบย่อยสั้น สีม่วงดำเป็นมัน

พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 200 ชนิด ในไทยพบ 13 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามผาหินปูนใกล้น้ำตก เพิงผาใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่มีแสงแดดน้อยมากและมีความชื้นสูง ทั่วทุกภาค โดยพบมากทางภาคเหนือ

แพร่กระจายในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก

4. เฟินก้านดำหางชิงช้า

ชื่อท้องถิ่น : กูดผา , กูดหูขวาก , กูดหูควาก(ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ; หญ้าขวาก , หัวขวาก(เชียงใหม่) ; ผักกะฉอดหนู(จันทบุรี) ; หางชิงช้า(สุราษฎร์ฯ)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adiantum philippense L.

วงศ์ : PTERIDACEAE (แต่บางตำราแยกไปอยู่ในวงศ์ ADIANTACEAE)

เฟินก้านดำหางชิงช้า..อยู่ด้านซ้ายมือ Adiantum philippense L.

                              ขึ้นอยู่เป็นกอ มีเหง้าสั้นๆ ต้นหนึ่งมี 2-3 กิ่ง ห้อยย้อยลง ก้านใบประกอบสีน้ำตาลเข้มปนดำ ยาวราว 20 ซม. ใบย่อยออกเรียงสลับ รูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว หรือรูปพัด ปลายใบที่แตะพื้นดินนั้นสามารถสร้างเป็นต้นใหม่ขึ้นมาได้

พบขึ้นอยู่ทั่วไปตามริมลำห้วย ชายเขาที่เป็นดินหรือหินผา ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯถึง 1,000 เมตร ทั่วทุกภาค

                              แพร่กระจายในเขตร้อนทั่วโลก

ชื่อวิทยฯชนิดนี้ใน the plant list บอกว่าเป็นชื่อพ้องของ Adiantum lunulatum Burm. f.


มอสส์


บันทึกภาพได้หลายชนิด แต่ที่น่าสนใจมี 1 ชนิด ได้แก่

1. Pogonatum sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pogonatum sp.

วงศ์ : POLYTRICHACEAE

Pogonatum sp.

                              สกุลนี้ทั่วโลกพบ 129 ชนิด


เห็ด


บันทึกภาพได้หลายชนิด แต่ที่น่าสนใจมี 2 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. เห็ด Microporus sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microporus sp.

วงศ์ : POLYPORACEAE

Microporus sp.

                              ยังไม่รู้ชนิด

2. เห็ด Xylaria sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylaria sp.

วงศ์ : XYLARIACEAE

Xylaria sp.

                              ยังไม่รู้ชนิด


แมงและแมลง


บันทึกภาพได้ 12 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. Ceracris nigricornis Walker 1870

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ceracris nigricornis Walker 1870

วงศ์ย่อย : OEDIPODINAE

วงศ์ : ACRIDIDAE

Ceracris nigricornis Walker 1870

                              เป็นตั๊กแตนหนวดสั้นที่ไม่มีชื่อไทยและยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของชนิด คงรู้แต่ว่าตั๊กแตนสกุลนี้พบทั่วโลกอย่างน้อย 12 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในเมืองไทย ทั่วทุกภาค

แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ subsp. laeta Bolívar, I., 1914 และ subsp. nigricornis Walker, F., 1870

แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน ไต้หวัน เกาหลี เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

2. Oxytauchira brachyptera Zheng, 1981

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oxytauchira brachyptera Zheng, 1981

วงศ์ย่อย : OXYINAE

วงศ์ : ACRIDIDAE

Oxytauchira brachyptera Zheng, 1981

                              เป็นตั๊กแตนหนวดสั้นที่ไม่มีชื่อไทยและยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของชนิด คงรู้แต่ว่าตั๊กแตนสกุลนี้พบทั่วโลกอย่างน้อย 10 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบในเมืองไทย ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ และไทย

3. มอธหนอนร่าน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parasa lepida Cramer, 1799

วงศ์ : LIMACODIDAE

มอธหนอนร่าน

                              มีขนาด 2.2-3.7 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกคู่หน้าสีน้ำตาล มีแถบขนาดใหญ่สีเขียวใบไม้หรือสีเขียวอมเหลืองเกือบเต็มปีก แถบนี้จะเชื่อมติดกันบริเวณหัว โคนปีกคู่หน้ามีแต้มสีน้ำตาลแดง ปลายปีกมน ปีกคู่หลังสีน้ำตาลอมเหลือง โคนปีกสีเหลือง ขอบปีกสีน้ำตาลแดง ลำตัวป้อมสั้นสีเหลืองอมเขียว หัวสีเขียวและมีแถบด้านข้างสีน้ำตาลแดง หนวดแบบฟันหวี

เพศเมียมีแถบกว้างสีน้ำตาลแดงบริเวณอก ท้องน้อยสีน้ำตาล

แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย

4. ผีเสื้อหนอนพุทราแถบตรง

ชื่อสามัญ : Straight Pierrot

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caleta roxus Godart, 1824

วงศ์ย่อย : POLYOMMATINAE

วงศ์ : LYCAENIDAE

ผีเสื้อหนอนพุทราแถบตรง

                              มีขนาด 2.6-3 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกคู่หลังที่มุมปลายปีกหลังมีเส้นขนเล็กๆข้างละ1เส้น หนวดแบบกระบอง

ปีกด้านบนคล้ายเพศเมียของผีเสื้อหนอนพุทราแถบฟ้า(Banded Blue Pierrot) แต่ลักษณะของแถบสีขาวบริเวณกลางปีกแตกต่างกันเล็กน้อย ขอบปีกสีดำ

ส่วนปีกด้านล่างคล้ายเพศเมียของผีเสื้อหนอนพุทราแถบหักศอก(Elbowed Pierrot) แต่แถบสีดำที่พาดผ่านบริเวณโคนปีกคู่หน้าต่อเนื่องไปโคนปีกคู่หลังค่อนข้างตรง ซึ่งแถบนี้ของผีเสื้อหนอนพุทราแถบหักศอกจะหักเป็นมุมฉาก

ทั่วโลกมี 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ roxana de Nicéville, 1897

ผีเสื้อสกุลนี้ทั่วโลกพบ 9 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบดูดกินน้ำหวานตามดอกไม้ ริมลำห้วย และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

5. ผีเสื้อปีกกึ่งหุบดำ

ชื่อสามัญ : Dark Judy

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abisara fylla Westwood, 1851

วงศ์ย่อย : RIODININAE

วงศ์ : LYCAENIDAE

ผีเสื้อปีกกึ่งหุบดำ

                              มีขนาด 5-6 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลไหม้ ปีกคู่หน้ามีแถบสีเหลืองครีมพาดจากกลางขอบปีกด้านนอกไปยังมุมปลายปีกหลัง

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า

ทั่วโลกมี 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ fylla Westwood, 1851

ผีเสื้อปีกกึ่งหุบดำ

                              ผีเสื้อสกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบได้ตามป่าดิบ และป่าโปร่งทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แพร่กระจายในอินเดียตอนเหนือ เนปาล ภูฎาน จีน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

6. ผีเสื้อปีกกึ่งหุบหางยาวธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Tailed Judy

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abisara neophron Hewitson, 1861

วงศ์ย่อย : RIODININAE

วงศ์ : LYCAENIDAE

ผีเสื้อปีกกึ่งหุบหางยาวธรรมดา

                              มีขนาด 5-5.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังยื่นแหลมมากกว่าผีเสื้อปีกกึ่งหุบชนิดอื่นๆ และบริเวณปลายแหลมมีสีขาว

ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม ปีกคู่หน้ามีแถบสีขาวพาดจากกลางขอบปีกด้านนอกไปยังมุมปลายปีกหลัง ปีกคู่หลังที่มุมปลายปีกหน้ามีจุดสีดำเรียงกัน2จุด

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่พื้นปีกเป็นสีน้ำตาลอ่อน

ทั่วโลกมี 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ chelina Fruhstorfer, 1904

พบได้ตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

7. ผีเสื้อบินตลกธรรมดา

ชื่อสามัญ : Common Punchinello

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zemeros flegyas Cramer, 1780

วงศ์ย่อย : RIODININAE

วงศ์ : LYCAENIDAE

ผีเสื้อบินตลกธรรมดา

                              มีขนาด 3.5-4 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลแดง มีลายสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดเล็กๆสีขาวและสีดำประปรายทั่วทั้งปีก

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า

เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ แต่สีสันจางกว่า

วงจรชีวิตระยะไข่ 3-5 วัน ระยะหนอน 22-60 วัน และระยะดักแด้ 9-13 วัน

ทั่วโลกมี 18 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย albipunctatus Butler, 1874 พบทางภาคใต้ตอนล่าง แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

– ชนิดย่อย allica Fabricius, 1787 พบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง แพร่กระจายในเมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

– ชนิดย่อย flegyas Cramer, 1780 พบที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก และภาคตะวันตก แพร่กระจายในอินเดีย จีน เมียนมาร์ และไทย

ผีเสื้อสกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบได้ตามทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง และป่าดิบที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,8000 เมตร แต่ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 500-1,200 เมตร ทั่วทุกภาค

8. ผีเสื้อขี้โอ่ลายแถบ

ชื่อสามัญ : Banded Dandy

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Laringa horsfieldi Boisduval, 1833

วงศ์ย่อย : BIBLIDINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อขี้โอ่ลายแถบ

                              มีขนาด 5-6 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) รูปร่างคล้ายผีเสื้อหนอนละหุ่งธรรมดา(Common Castor) แต่ขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หน้าจะหยักแหลมมากกว่า

ปีกคู่หน้าด้านบนหักเป็นมุมฉาก ขอบปีกด้านข้างหยักแหลม ปีกด้านบนของเพศผู้มีพื้นปีกสีน้ำเงินปนน้ำตาลเข้ม จนถึงสีน้ำตาลเข้ม กลางปีกคู่หน้าและปีกคู่หลังมีแถบสีขาวแกมฟ้าพาดผ่าน ขอบปีกมีขลิบสีขาว ส่วนปีกด้านบนของเพศเมียมีพื้นปีกสีน้ำตาลอมเหลืองจนถึงสีน้ำตาล โคนปีกมีสีเข้มกว่า กลางปีกคู่หน้าและปีกคู่หลังมีแถบสีน้ำตาลอ่อนเกือบขาวพาดผ่าน

ปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน

ผีเสื้อขี้โอ่ลายแถบ

                              ทั่วโลกมี 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ glaucescens de Nicéville, 1895

ผีเสื้อสกุลนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิด ในเมืองไทยพบทั้ง 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง และป่าดิบ ทั่วทุกภาค

ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนาม

9. ผีเสื้อตาลพุ่มคั่นกลาง

ชื่อสามัญ : Intermedia Bushbrown

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mycalesis intermedia Moore,1892

วงศ์ย่อย : SATYNINAE

วงศ์ : NYMPHALIDAE

ผีเสื้อตาลพุ่มคั่นกลาง

                              มีขนาด 4.5-5.5 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีพื้นปีกสีน้ำตาลเข้ม กลางปีกคู่หน้ามีจุดวงกลมขนาดใหญ่1จุด และขอบปีกด้านข้างของปีกคู่หลังมีจุดขนาดเล็ก2จุด

ส่วนปีกด้านหลังมีลักษณะคล้ายผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียง(Dark-brand Bushbrown) มีพื้นปีกสีน้ำตาล แต่สีอ่อนกว่าปีกด้านบน มีลายจุดเช่นเดียวกับผีเสื้อตาลพุ่มสี่จุดเรียง ปีกคู่หน้ามี2จุด และปีกคู่หลังมี7จุด ถัดจากจุดมีเส้นสีขาวพาดยาวต่อเนื่องกันกลางปีกทั้งสองคู่

ผีเสื้อสกุลนี้ทั่วโลกพบ 101 ชนิด ในเมืองไทยพบ 19 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค

แพร่กระจายในอินเดีย จีนตอนใต้ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย

10. ผีเสื้อเณรแอนเดอร์สัน

ชื่อสามัญ : Anderson’s Grass Yellow ; One-spot Yellow Grass

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eurema andersonii Moore, 1886

วงศ์ย่อย : COLIADINAE

วงศ์ : PIERIDAE

 

ผีเสื้อเณรแอนเดอร์สัน ชนิดย่อย sadanobui

                              มีขนาด 4-4.5 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกหน้าซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนมีลักษณะคล้ายผีเสื้อเณรธรรมดา(Common Grass Yellow) คือ พื้นปีกสีเหลือง ขอบปีกสีดำ บริเวณสีดำที่ต่อกับสีเหลืองในปีกคู่หน้านั้นจะหยักเว้า ส่วนปีกด้านล่างมีพื้นปีกสีเหลือง มีจุดเล็กๆสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป แต่มุมปลายปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลเลอะๆ

ทั่วโลกพบประมาณ 13 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย andersonii Moore, 1886 แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในไทยพบทางภาคใต้

– ชนิดย่อย sadanobui Shirôzu & Yata, 1981 แพร่กระจายในจีน และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

ผีเสื้อสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ  75 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6-7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามทุ่งหญ้า ลำห้วย และป่าโปร่ง

11. Pochazia sp.

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pochazia sp.

วงศ์ : RICANIIDAE

 

Pochazia sp.

                              เป็นผีเสื้อกลางคืนที่ยังรู้ชนิด คงรู้แต่เพียงว่าสกุลนี้ทั่วโลกพบกว่า 43 ชนิด

12. ต่อฟันเลื่อย

วงศ์ : VESPIDAE

 

ต่อฟันเลื่อย ระยะหนอน

                              ยังไม่รู้สกุลและชนิด


นกบนดอยสุเทพ-ดอยปุย


บันทึกภาพได้ 8 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. นกพญาไฟใหญ่

ชื่อสามัญ : Scarlet Minivet

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pericrocotus flammeus Forster, 1781

วงศ์ : CAMPEPHAGIDAE

นกพญาไฟใหญ่ ตัวเมีย

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 17-22 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีขนาดใหญ่และลำตัวหนากว่านกพญาไฟชนิดอื่น

ตัวผู้นั้นบริเวณหัว คอ หลังตอนหน้า ปีก และหางมีสีดำเป็นมัน บริเวณหลังตอนท้าย แถบปีก ตะโพก ลำตัวด้านล่าง และขอบหางสีแดงเข้ม แถบปีกสีแดงสลับดำและมีขนาดใหญ่กว่านกพญาไฟแม่สะเรียง(Short-billed Minivet) รวมทั้งมีจุดแดงแยกออกมา

ส่วนตัวเมียบริเวณหน้าผาก ลำตัวด้านล่าง แถบปีก ตะโพก และขอบหางมีสีเหลืองสด ตำแหน่งแถบปีกเหมือนตัวผู้ แต่มีสีเหลืองแทนสีแดง ลำตัวด้านบนสีเทาแกมเหลือง

นกวัยอ่อนมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่ส่วนสีเหลืองจะเป็นสีส้มหรือมีขนสีแดงแซม

มักพบอยุ่เป็นคู่ หรือเป็นฝูง ทั้งฝูงเล็ก 4-5 ตัว หรือฝูงใหญ่ราว 20 ตัว หรือมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ มักพบตามยอดไม้ต่างๆในระดับสูงปานกลางถึงสูงมาก บบินตรงจากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งไม้หนึ่ง หรือจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง และมักบินตามกันไปเป็นฝูง โดยมีตัวนำ

อาหารได้แก่ แมลงต่างๆ และแมงมุม โดยจิกกินตามยอดไม้ และกิ่งไม้ บางครั้งก็โฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยเล็กๆตามง่ามไม้เกือบจะปลายกิ่ง อยู่สูงจากพื้นดินราว 6-18 เมตร รังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า มอสส์ และอื่นๆ โดยเชื่อมรังด้านนอกด้วยใยแมงมุม อาจมีใบไม้แห้งรองกลางรังเพื่อรองรับไข่ วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ไข่สีเขียวแกมน้ำเงิน มีรอยขีดคล้ายรอยแตกสีน้ำตาลแกมเหลืองและสีเทา ขนาดไข่ 1.68 x 2.24 ซม. ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง แต่ตัวเมียเท่านั้นที่ทำหน้าที่ฟักไข่

เสียงร้องสั้นๆแหลมใสต่อเนื่องกัน ดังว่า“สวี้ปสวี้ปสวี้ป”

ชื่อชนิด flammeus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า flamme หรือ flamma แปลว่า สีเปลวไฟ หรือสีแดง ความหมายก็คือ“นกที่มีสีแดง” พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศศรีลังกา

นกพญาไฟใหญ่ ตัวผู้

                              ทั่วโลกพบ 20 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย elegans McClelland, 1840 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า elegan,-t แปลว่า ละเอียดอ่อน ความหมายก็คือ“นกที่มีขนละเอียดอ่อน” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย แพร่กระจายในอินเดีย-จีน เมียนมาร์ตอนเหนือ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สำหรับในเมืองไทยพบทางภาคเหนือตอนบน

– ชนิดย่อย flammifer Hume, 1875 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า flamme หรือ flamma แปลว่า สีแดง และคำว่า fer แปลว่า นำ ความหมายก็คือ“นกที่มีสีแดงเป็นส่วนใหญ่” พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศเมียนมาร์ แพร่กระจายในเมียนมาร์ด้านตะวันออกเฉียงใต้ ไทย และมาเลเซีย สำหรับในเมืองไทยพบทางภาคตะวันตก และภาคใต้

– ชนิดย่อย semiruber Whitler and Kinnear, 1933 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า semi แปลว่า ครึ่งหนึ่ง และคำว่า rube,-d,-din,-o,=r,-scen หรือ ruber แปลว่า สีแดง ความหมายก็คือ“นกที่มีสีแดงครึ่งร่างกาย” พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในรัฐ Andhra ประเทศอินเดีย แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สำหรับในเมืองไทยพบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 15 ชนิด ในเมืองไทยพบ 9 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าสนเขา ป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,700 เมตร

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

  1. นกกระจิบธรรมดา

ชื่อท้องถิ่น : นกกระจิบสวน , นกกระจิบหางยาว

ชื่อสามัญ : Common Tailorbird ; Long-tailed Tailorbird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthotomus sutorius Pennant, 1769

วงศ์ : CISTICOLIDAE

นกกระจิบธรรมดา ชนิดย่อย inexpectatus

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 11-13 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หน้าผากและกระหม่อมสีน้ำตาลแดง บริเวณหัวตา คิ้ว และหน้าสีเนื้อ หรือสีขาวแกมเทา ลำตัวด้านบนสีเขียวจนถึงสีเขียวแกมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีเนื้ออ่อน สีขาวมอๆแกมเหลืองอ่อน จนถึงสีขาว บางครั้งบริเวณอกและคอหอยมีโคนขนเป็นสีเข้ม ทำให้ดูคล้ายกับมีลายสีเทาพาด บางครั้งใต้คอเห็นเป็นสีดำโดยเฉพาะขณะร้อง ดูคล้ายนกกระจิบคอดำ(Dark-necked Tailorbird) แต่ชนิดนี้มีก้นสีขาว ไม่มีสีเหลืองแซมเหมือนนกกระจิบคอดำ

ตัวผู้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะมีขนหางคู่กลางหรือคู่ในสุดยาวมากและปลายแหลม โดยหางจะยาวมากกว่า 3.75 ซม.

นกที่ยังไม่โตเต็มวัยมีสีสันคล้ายตัวเมีย แต่หน้าผากไม่มีสีน้ำตาลแดง และมีสีหม่นกว่า

มักพบหากินโดดเดี่ยว บางครั้งพบกินเป็นคู่ แต่แยกย้ายหากินอยู่ห่างๆ เป็นนกที่ว่องไวคล่องแคล่ว มักพบเกาะและกระโดดไปตามกิ่งก้านล่างของต้นไม้สูงหรือตามไม้พุ่ม รวมถึงกอหญ้าและพืชต่างๆ ขณะที่เกาะนั้นหางมักจะตั้งขึ้นในแนวเกือบตั้งฉากกับลำตัว บินได้ดี แต่มักบบินในระยะทางสั้นๆระหว่างกิ่งไม้ ต้นไม้ หรือพืชต่างๆ

อาหารหลักได้แก่ แมลง และหนอนต่างๆที่อยู่ตามกิ่งไม้ ใบไม้ และดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่ากินน้ำหวานจากดอกไม้บางชนิดด้วย

ช่วงผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน แต่บางพื้นที่จะพบว่าช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในยราวเดือนพฤษภาคม – เดือนสิงหาคม ซึ่งในช่วงนี้จะพบอยู่เป็นคู่ๆ ส่งเสียงร้องไม่ขาดระยะ ทำรังตามต้นไม้หรือพุ่มไม้ที่มีใบค่อนข้างใหญ่ เช่น มะเดื่อ แสงจันทร์ จำปี จำปา เป็นต้น ตัวผู้และตัวเมียช่วยกันเลือกสถานที่ทำรัง จากนั้นหาวัสดุมาช่วยกันทำรังที่อยู่สูงจากพื้นราว 1-3 เมตร ด้วยการโน้มใบพืชของต้นที่สร้างรัง 2-3 ใบ มารวมกัน จากนั้นใช้ปากที่แหลมคมเจาะขอบใบไม้ทั้ง 2-3 ใบ ที่อยู่ชิดติดกันให้เป็นรูตรงกันหลายๆรู แล้วใช้ใยแมงมุมเย็บหรือเชื่อมขอบใบพืชให้ติดกันเป็นรังรูปกระเปาะกรวย บางครั้งพบใช้ใบไม้ขนาดใหญ่เพียงใบเดียว มีก้นรังลึกราว 7-10 ซม. มีทางเข้าออกอยู่ด้านบน โดยมีขนาดราว 4-5 ซม. สีสันของรังก็คือใบพืชของต้นที่สร้างรัง จึงยากที่จะสังเกตเห็นได้ง่าย ภายในรังจะมีวัสดุมารองอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะดอกหญ้า ใบไม้แห้ง ขนสัตว์ หรือเส้นใยพืช วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ขนาดไข่ 1.16 x 1.64 ซม. ไข่เป็นรูปค่อนข้างยาวแหลม มีสีพื้นเป็นหลายสีแตกต่างกัน คือ สีขาว สีครีม สีชมพูอ่อน สีน้ำเงินอ่อน หรือสีเขียวแกมน้ำเงิน และมีลายจุดสีน้ำตาลแดง สีน้ำตาล สีดำ หรือสีดำแกมแดงกระจายอยู่ทั่วไข่ โดยเฉพาะบริเวณด้านป้าน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน ใช้ระยะเวลาฟักไข่ 11-13 วัน ลูกนกที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆมีรูปร่างเทอะทะ หัวโต ตาโต ท้องป่อง ยังไม่ลืมตา และไม่มีขนคลุมร่างกาย พ่อแม่นกต้องช่วยกันกก โดยให้ลูกนกซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และช่วยกันหาอาหารมาป้อน ส่วนใหญ่ได้แก่หนอน ลูกนกเจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว อายุเพียง 3-4 สัปดาห์ ก็จะมีขนาดโตพอๆกับพ่อแม่นก และมีขนคลุมเต็มตัว แต่สีขนยังไม่เหมือนพ่อแม่นก โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากที่ยังไม่ออกเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อลูกนกบินได้แข็งแรง จึงจะทิ้งรังไป

เสียงร้องใสดังก้องติดต่อกันเป็น 2-3 พยางค์ ว่า“จิบ-จิบ-จิบ”หรือ“วิด-วิด-วิด” ขณะกระโดดหากินก็มักจะร้องไปด้วย มีพลังเสียงมากอย่างไม่น่าเชื่อ ขณะร้องมักกระดกหางขึ้นๆลงๆหรือแกว่งไปซ้ายขวาตลอดเวลา

ชื่อชนิด sutorius เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า sutor แปลว่า ช่างทำรองเท้า มีความหมายเกี่ยวกับรังของนกชนิดนี้ที่ใช้ใบไม้2ใบมาเย็บรวมกันดูคล้ายกับรองเท้าที่ช่างทำรองเท้าทำขึ้นมา ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศศรีลังกา

ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย inexpectatus La Touche, 1922 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า inexpectata แปลว่า ไม่คาดหมาย อาจจะหมายยถึงพบโดยบังเอิญ ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศจีน แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ด้านตะวันออก ไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ สำหรับในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

– ชนิดย่อย maculicollis Moore, 1855 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า macula,-t แปลว่า ลายจุด และคำว่า coll,-i หรือ collis แปลว่า คอ ความหมายก็คือ“บริเวณคอเป็นลายจุด” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศมาเลเซีย แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในไทยพบตั้งแต่ จ.กระบี่ ลงไป

นกสกุลนี้ทั่วโลกพบ 13 ชนิด ในไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามสวนสาธารณะใกล้ชุมชน สวนผลไม้ ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ชายป่า ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,525 เมตร เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่ จ.ชุมพร จนถึง จ.ภูเก็ต และ จ.นครศรีธรรมราช

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

3. นกแซงแซวสีเทา

ชื่อสามัญ : Ashy Drongo ; Pale Ashy Drongo

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus leucophaeus Vieillot, 1817

วงศ์ : DICRURIDAE

นกแซงแซวสีเทา

                              เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 25.5-29 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) นกแซงแซวทั้ง7ชนิดที่พบในไทย ส่วนใหญ่มีสีดำ ยกเว้นนกแซงแซวสีเทาเพียงชนิดเดียวที่ลำตัวมีสีเทา แต่มีความหลากหลายทางสีสันมาก ตั้งแต่สีเทาอ่อนจนถึงสีเทาเข้ม สีเทาเข้มเกือบดำ หรือสีเทาเหลือบฟ้า ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดย่อย ลำตัวด้านบนจะสีเข้มกว่าด้านล่าง บางชนิดย่อยมีลายพาดที่ด้านข้างของหัว ซึ่งอาจเป็นสีขาว สีเทา สีเข้ม หรือไม่มีลายใดๆ

หากดูเฉพาะรูปร่างจะมีลักษณะคล้ายนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) แต่หางแฉกไม่ลึกเท่า

พบทั้งโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ มักเกาะตามกิ่งไม้แห้งและกิ่งไม้ทั่วๆไปในระดับที่ค่อนข้างสูงกว่านกแซงแซวชนิดอื่น กินแมลงต่างๆด้วยการโฉบจับกลางอากาศบริเวณเรือนยอดไม้หรือระหว่างเรือนยอดไม้ บางครั้งโฉบจับแมลงเกือบถึงพื้นดิน มีนิสัยก้าวร้าวไม่ต่างจากนกแซงแซวชนิดอื่น และป้องกันอาณาเขตที่มันครอบครองอย่างแข็งขัน พร้อมที่จะบินเข้าโจมตีนกล่าเหยื่อจำพวกเหยี่ยวได้ทุกเมื่อ บางครั้งมันก็มีนิสัยเสีย ด้วยการโฉบแมลงที่นกอื่นจับได้มาแย่งกินอีก

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้เกือบปลายกิ่งและอยู่สูงจากพื้นดินราว 10-20 เมตร รังเป็นรูปถ้วยตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ใบไม้ ไลเคนส์ และเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม มีใบหญ้าฉีกเป็นเส้นเล็กๆรองพื้นรัง

วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ขนาดไข่ 1.82 x 2.36 ซม. สีของไข่คล้ายกับไข่ของนกแซงแซวหางปลา(Black Drongo) คือ มีสีขาว หรือสีครีมอมชมพู แต่มีลายจุดและลายดอกดวงมากกว่า ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เสียงร้องก้องดังว่า“ติ๊ก-วู่-วิด ติ๊ก-วู่-วิด” และเสียงแหบว่า“แอช-แอช” และยังสามารถเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้อีกด้วย

ชื่อชนิด leucophaeus มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และ phae,-o หรือ phaios แปลว่า สีเทา ความหมายก็คือ“นกที่มีสีขาวและสีเทา” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

ทั่วโลกพบ 16 ชนิดย่อย ในไทยพบ 6 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย bondi Meyer de Schauensee, 1937 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่ จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาวตอนใต้ กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้) สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบได้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก

– ชนิดย่อย hopwoodi Stuart Baker, 1918 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศบังกลาเทศ ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ มีลำตัวสีเทาเข้มจนเกือบดำ มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเข้ม แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ภูฎาน จีน เมียนมาร์ ลาวตอนใต้ และเวียดนามตอนเหนือ สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบได้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

– ชนิดย่อย leucogenis Walden, 1870 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า leuc,-o หรือ leukos แปลว่า สีขาว และคำว่า geni,-o หรือ genus แปลว่า คาง ความหมายก็คือ“บริเวณคางมีสีขาว” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศจีน ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาอ่อนที่สุด บริเวณหัวตาและคางมีสีขาว มีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีขาว แพร่กระจายในจีน ไทย ลาวตอนเหนือ และกัมพูชา สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จนถึงคอคอดกระ

– ชนิดย่อย mouhoti Walden, 1870 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย และกัมพูชา สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และอาจจะเป็นนกอพยพที่พบได้เกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี ลงไป

– ชนิดย่อย nigrescens Oates, 1889 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า nig,-el,=er,-ra,-resc,-ri,-ro แปลว่า สีดำ และคำว่า -escens เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีสีออกดำ” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่เมืองพะโค ประเทศเมียนมาร์ ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาจางกว่าชนิดย่อย hopwoodi แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันออก และตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนถึง จ.ภูเก็ต โดยมักพบตามป่าชายเลนหรือป่าเสม็ดบริเวณชายฝั่งทะเล

– ชนิดย่อย salangensis Reichenow, 1890 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ Salanga หมายถึง “เกาะภูเก็ต” โดยพบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลก บนเกาะภูเก็ต ประเทศไทย ลักษณะเด่นของชนิดย่อยนี้ คือ ลำตัวสีเทาเข้มกว่าชนิดย่อย leucogenis แต่ใบหน้ามีสีขาวน้อยกว่า และมีลายพาดที่ด้านข้างของหัวเป็นสีเทา แพร่กระจายในจีน ไทย และมาเลเซีย สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบทางภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 24 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้นั้นชนิดที่เป็นนกประจำถิ่นพบอาศัยตามชายป่า ทุ่งโล่ง ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ตั้งแต่พื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,565 เมตร ส่วนนกอพยพนั้นจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว สามารถพบได้ตามสวนสาธารณะและสวนผลไม้ด้วย

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

4. นกแซงแซวหางปลา

ชื่อสามัญ : Black Drongo

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus macrocercus Vieillot, 1817

วงศ์ : DICRURIDAE

นกแซงแซวหางปลา ชนิดย่อย cathoecus

                              เป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 27-28.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ขนลำตัวสีดำเหลือบน้ำเงินเล็กน้อย หางยาว 12.5-18.4 ซม. หางเว้าลึกมากที่สุดในในนกแซงแซวทั้ง7ชนิดที่พบในไทย ปลายขนหางคู่นอกสุดจะโค้งขึ้นเล็กน้อย ม่านตาสีแดง ปากสีดำ ปากบนขบปากล่าง แข้งและตีนสีดำ บางครั้งมีจุดสีขาวที่หัวตาหรือมุมปาก

ตัวไม่เต็มวัยมีอกสีเทาเข้ม มักมีลายเกล็ดสีขาวบริเวณขนปีกด้านล่าง อกตอนล่าง ท้อง และขนคลุมโคนขนหางด้านล่าง

ที่จริงชื่อไทย“นกแซงแซวหางปลา”ไม่ได้บ่งบอกลักษณะเฉพาะเจาะจงเท่าใดนัก เพราะนกแซงแซวหลายชนิดก็มีหางแฉกลึกคล้ายหางปลาตะเพียนอยู่แล้ว อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ตัวสีดำ ชื่อสามัญ Black Drongo จึงไม่สื่ออะไรเท่าไหร่ แต่ก็จะพอหยวนๆได้ตรงที่มันเป็นนกแซงแซวที่มีหางแฉกลึกที่สุด และตัวสีดำขลับไม่เหลือบเป็นมันวาวเท่าชนิดอื่นๆ หลายตัวมีจุดสีขาวที่มุมปากด้วย

เป็นนกแซงแซวชนิดเดียวที่ชอบเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ที่โล่งแจ้ง ตามท้องทุ่งริมทางใกล้แหล่งน้ำ บางครั้งก็ลงมาตามพื้นดิน มักหากินเพียงตัวเดียว หรืออยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ บางครั้งออกหากินเป็นฝูงเล็กๆ 3-6 ตัว เป็นนกที่มีอุปนิสัยก้าวร้าว หากมีนกอื่นมาใกล้ก็จะไล่จิกตี แม้แต่นกล่าเหยื่อก็ต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกรงเล็บที่แหลมคมและอุปนิสัยใจสู้ไม่เกรงกลัวใครของนกแซงแซว โดยเฉพาะช่วงวางไข่และฟักลูกจะมีนิสัยก้าวร้าวมากขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญอย่างไม่เป็นทางการว่า“King-crow” ที่แปลตรงตัวได้ว่า“ราชาแห่งอีกา”

มักเกาะหากินใกล้ๆนกชนิดอื่น เช่น นกเอี้ยง เป็นต้น เพื่อรอจังหวะโฉบจับแมลงที่หนีออกมาจากนกชนิดอื่น ในขณะเดียวกันนกชนิดอื่นก็มีนกแซงแซวคอยการันตีความปลอดภัยจากนกล่าเหยื่อ แต่นกเหล่านั้นก็อาจโดนนกแซงแซวฉวยโอกาสขโมยเหยื่อตัวใหญ่จากปากไปกินเป็นค่าคุ้มครองได้เช่นกัน

พฤติกรรมการหาอาหารมีหลายแบบ อาทิเช่น เกาะกิ่งไม้ รอโฉบจับแมลงกลางอากาศ แล้วกลับมาที่เดิมเพื่อกลืนกินอาหาร , บินฉวัดเฉวียนกลางอากาศเพื่อไล่จับแมลงเหนือบริเวณที่กำลังเกิดไฟไหม้ , ลงมาตามพื้นดินแล้วใช้ปากจิกมด ปลวก หรือแมลงต่างๆ , เกาะหลังสัตว์เลี้ยงจำพวกวัวควาย เพื่อรอจับแมลงที่หนีจากสัตว์เลี้ยงที่เดินย่ำไป เป็นต้น

ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ มักรวมฝูงเกาะนอนตามป่าละเมาะ และบินอพยพไปด้วยกันในเวลากลางวัน บางครั้งอาจมีนกแซงแซวอพยพชนิดอื่นและนกกิ้งโครงมารวมฝูงนอนปะปนด้วย

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้เกือบปลายสุดของกิ่ง บางครั้งในต้นเดียวกันอาจมีรังของนกชนิดอื่นอยู่ด้วย อย่างเช่น นกขมิ้น นกเขา และนกปรอด ซึ่งนกเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อนกแซงแซว และนกแซงแซวก็ไม่ก้าวร้าวกับนกเหล่านี้ รังเป็นรูปถ้วยตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ สารเยื่อใยต่างๆ และเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม ปูพื้นรังด้วยขนสัตว์และหญ้าอ่อน

วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ขนาดไข่ 1.98 x 2.71 ซม. ส่วนใหญ่ไข่มีสีขาว หรือสีครีมแกมชมพู มีลายจุดลายดอกดวงสีดำและสีน้ำตาลแกมแดง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน บ่อยครั้งที่นกคัคคูต่างๆ(Cuckoo)และนกกาเหว่า(Asian Koel)จะใช้รังของนกแซงแซวหางปลาเป็นที่วางไข่ และปล่อยให้เจ้าของรังช่วยฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เสียงร้องแหบดังว่า“แซ่ก-แซ่ก” และสามารถร้องเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้

ชื่อชนิด macrocercus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า macr,-o หรือ makros แปลว่า ใหญ่ หรือยาว และคำว่า cerc,-o,=us แปลว่า หาง ความหมายก็คือ“นกที่มีหางขนาดใหญ่หรือมีหางยาว” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย

ทั่วโลกพบ 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย albirictus Hodgson, 1836 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ alb,-i,-id หรือ albus แปลว่า สีขาว และคำว่า rict หรือ rictus แปลว่า มุมปาก ความหมายก็คือ“บริเวณมุมปากเป็นสีขาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเนปาล แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย จีน เมียนมาร์ตอนเหนือ และไทย สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบทางภาคเหนือ

– ชนิดย่อย cathoecus Swinhoe, 1871 ชื่อชนิดย่อยยังไม่ทราบที่มาและความหมายที่แน่นอน อาจจะมาจากคำว่า Catholic แปลว่า ผู้นับถือศาสนาคริสต์ หรือมีถิ่นกำเนิดทั่วโลก ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศจีน แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และสิงคโปร์ สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ พบทั่วทุกภาค

– ชนิดย่อย thai Boden Kloss, 1921 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชนิดย่อยนี้มีขนาดเล็กกว่าชนิดย่อย cathoecus แต่หางแฉกลึกกว่า แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย และกัมพูชา สำหรับในไทยชนิดย่อยที่เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน

พบอาศัยตามสวนสาธารณะ ทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม หนอง บึง ส่วนใหญ่พบตามพื้นที่ราบ น้อยมากที่จะพบตามป่าเขา แต่ก็อาจพบได้ในช่วงย้ายถิ่น โดยอาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก เป็นนกประจำถิ่น ส่วนทางภาคใต้จะเป็นนกอพยพมาในช่วงฤดูหนาว

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

5. นกปลีกล้วยลาย

ชื่อสามัญ : Streaked Spiderhunter

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Arachnothera magna Hodgson, 1836

วงศ์ : NECTARINIIDAE

นกปลีกล้วยลาย ชนิดย่อย musarum

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 17-20.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลำตัวด้านบน ปีก และหางมีสีเหลืองแกมเขียวไพล คอสีเทาแกมขาว ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมครีม หรือสีเทาแกมขาว ทั้งด้านบนและด้านล่างมีลายขีดสีดำตามยาวหนาแน่น แข้งและตีนสีเหลืองอมส้มจนถึงสีส้มสด

ชอบเดินไต่ไปตามกิ่งไม้เพื่อกินน้ำหวานจากดอกไม้ โดยเฉพาะปลีกล้วย หรือหาแมลงตัวเล็กๆ โดยเฉพาะแมงมุม เป็นอาหารในช่วงเลี้ยงดูลูกอ่อน อันเป็นที่มาของชื่อสามัญว่า“Spiderhunter”

เป็นนกปลีกล้วยในประเทศไทยเพียงชนิดเดียวที่จำกัดถิ่นอาศัยอยู่ในป่าบนภูเขา ต่างจากชนิดอื่นๆที่อยู่ป่าต่ำ นกปลีกล้วยลายเป็นหนึ่งในนกที่เจอตัวง่ายและเห็นหน้าค่าตากันได้บ่อยๆบนภูเขา

ทำรังวางไข่ใต้ใบกล้วย

มักได้ยินเสียงร้องมากกว่าเห็นตัว โดยเฉพาะช่วงที่มันบินผ่านเราไป เสียงร้องรัวและดังว่า“ชิอิก-ชิอิก-ชิอิก” และ“ชิ-ชิ-ชิ-ชิ” คล้ายเสียงนกเขียวก้านตองท้องสีส้ม(Orange-bellied Leafbird) มักได้ยินเสียงร้องมากกว่าเห็นตัว โดยเฉพาะขณะบินผ่าน

ชื่อชนิด magna เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ magn,-i หรือ magnus แปลว่า ใหญ่ ความหมายก็คือ“นกปลีกล้วยขนาดใหญ่” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเนปาล

นกปลีกล้วยลาย ชนิดย่อย musarum

                    ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย(พบเฉพาะในเขตชีวภาพอินโดมลายู ซึ่งครอบคลุมอนุทวีปอินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย musarum Deignan, 1956 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาอราบิก คำว่า mus,-a,-o แปลว่า กล้วย และคำว่า -arum เป็นคำลงท้ายในภาษาละติน แปลว่า สถานที่ที่อยู่อาศัย ความหมายก็คือ“นกที่อาศัยและหากินตามป่ากล้วย” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดน่าน แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย ลาว และเวียดนามตอนเหนือ สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้านตะวันตก

– ชนิดย่อย pagodarum Deignan, 1956 ชื่อชนิดย่อยคำว่า pagoda เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาโปรตุเกส แปลว่า วัด หรือเจดีย์ และคำว่า -arum เป็นคำลงท้ายในภาษาละติน แปลว่า สถานที่ที่อยู่อาศัย ความหมายก็คือ“นกที่อาศัยอยู่ตามวัด หรือรอบๆหมู่บ้าน” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดกาญจนบุรี แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ไทย และมาเลเซีย สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก

สกุลนี้ทั่วโลกพบ 11 ชนิด ในไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามชายป่า ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 300-1,800 เมตร

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

6. นกปรอดภูเขา

ชื่อท้องถิ่น : นกปรอดภูเขาอกลาย

ชื่อสามัญ : Mountain Bulbul ; Mountain Streaked Bulbul ; Rufous-bellied Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixos mcclellandii Horsfield, 1840

ชื่อพ้อง : Hypsipetes mcclellandii Horsfield, 1840

วงศ์ : PYCNONOTIDAE

นกปรอดภูเขา

                    เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 21-24 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวด้านบนสีน้ำตาลแดง ท้ายทอยมีหงอนฟูสั้นๆ ใบหน้าสีเทา ม่านตาสีแดงเข้ม แก้มและข้างคอสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลแกมแดง คางและอกสีเทา มีลายขีดสีขาวจางๆที่หัวและอก ปีกและลำตัวด้านบนสีเหลืองอมเขียว สีเขียวไพล หรือสีเขียวมะกอก ลำตัวด้านล่างสีขาว ขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีเหลือง ก้นสีเหลือง

เป็นนกปรอดที่มีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ แต่หากไม่ใช่ขณะกำลังง่วนอยู่กับการกิน มันจะมีนิสัยค่อนข้างขี้อาย ไม่ค่อยออกมาเกาะโล่งๆ นอกจากน้ำหวานดอกไม้แล้ว มันยังชอบกินลูกไม้ขนาดเล็กเป็นอาหารอีกด้วย

มักพบเป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ แต่อาจพบหลายฝูงที่หากินในที่เดียวกัน มักอาศัยและหากินภายในเรือนยอดไม้ ออกจากเรือนยอดไม้มายังกิ่งก้านที่โล่งเป็นครั้งคราว ทำให้มองไม่ค่อยเกห็นตัว นอกจากเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้ยิน

อาหารได้แก่ ผลไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เช่น ไทร หว้า เป็นต้น โดยจะใช้ปากเด็ดจากขั้ว แล้วกลืนกินทั้งผล นอกจากนี้ยังกินหนอนและแมลงต่างๆ โดยจิกกินตามกิ่งไม้ ใบไม้ และยอดไม้ บางครั้งก็โฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยบนกิ่งไม้ที่อยู่นอกสุดของต้นและอยู่สูงจากพื้นราว 6-12 เมตร แต่บางครั้งก็พบทำรังตามไม้พุ่มเตี้ยที่สูงเพียง 2 เมตร ด้วยวัสดุจากกิ่งไม้เล็กๆ ใบไม้แห้ง หญ้าหญ้า รากเฟิน และเยื่อใยต่างๆ รองพื้นรังด้วยหญ้าที่ฉีกละเอียดเป็นฝอย วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง หายากที่มี 4 ฟอง ขนาดไข่ 1.81 x 2.57 ซม. ไข่สีครีมอ่อนหรือสีขาว มีลายต่างๆสีน้ำตาลแดงทั่วทั้งฟอง ทั้งสองเพศช่วยกันทำรัง ฟักไข่(ใช้เวลาประมาณ 15 วัน) และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เสียงร้องแหลมคล้ายลูกเจี๊ยบดังว่า“เจี๊ยบ-เจี๊ยบ” หรือ“จิ๊บ-จิ๊บ”

ชื่อชนิด mcclellandii เป็นคำมาจากชื่อของบุคคล คือ John MacClelland เป็นนักสัตววิทยา และนักธรณีวิทยาชาวอังกฤษ ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย

ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 5 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย canescens Riley, 1993 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ loquac แปลว่า ช่างพูด ความหมายก็คือ“นกที่ส่งเสียงร้องเป็นประจำ” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดตราด แพร่กระจายในไทย และกัมพูชา สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออก

– ชนิดย่อย loquax Deignan, 1940 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ can แปลว่า สีเทา และคำว่า -escens เป็นคำลงท้าย ความหมายก็คือ“นกที่มีสีเทา” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดน่าน แพร่กระจายในไทย และลาว สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือด้านตะวันออก และ จ.เลย

– ชนิดย่อย peracensis Hartert and Butler, 1898 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก แพร่กระจายในไทย และมาเลเซีย สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคใต้

– ชนิดย่อย similis Rothschild, 1921 ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในจีนตอนใต้ เมียนมาร์ ไทย และลาว

– ชนิดย่อย tickelli Blyth, 1855 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล คือ พันเอก Samuel Richard Tickell นักการทหารชาวอังกฤษประจำประเทศอินเดียและประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นนักปักษีวิทยา นักเขียน และนักศิลปะ ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมืองตะนาวศรี ประเทศเมียนมาร์ แพร่กระจายในเมียนมาร์ด้านตะวันออก และไทย สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือด้านตะวันตก

แต่ละชนิดย่อยมีสีสันแตกต่างกันบริเวณด้านข้างของหัวและคอ โดยมีสีสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลแกมแดง ช่วงไหล่สีเขียวแกมสีไพลจนถึงสีน้ำตาลแกมเทา อกและสีข้างมีสีเทาแกมน้ำตาลจนถึงสีเทา อาจจะมีลายขีดสีขาวมากหรือน้อย ท้องสีขาวจนถึงสีเหลือง

นกสกุลนี้ทั่วโลกพบ 5 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชายป่า ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯตั้งแต่ 800 เมตร ขึ้นไป

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

7. นกปรอดหัวสีเขม่า

ชื่อสามัญ : Black-capped Bulbul ; Sooty-headed Bulbul ; White-eared Bulbul

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pycnonotus aurigaster Vieillot, 1818

วงศ์ : PYCNONOTIDAE

นกปรอดหัวสีเขม่า ชนิดย่อย klossi

                    เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 19-21 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวด้านบนสีดำและมีหงอนสั้นเป็นสัน แก้มและคอสีเทาแกมขาว ปากขนาดเล็ก ปลายปากแหลม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมเทา ตะโพกสีขาว หางสีดำ มีลายพาดสีออกขาวบริเวณขนคลุมโคนขนหางด้านบน ปลายหางสีขาวหรือสีขาวแกมเทา ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเทาจนถึงสีเทา มีภาวะสีขน2แบบ(dimorphic) คือ บางตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีแดง และบางตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง บางตัวอาจดูเป็นสีส้ม

มักพบเป็นคู่หรืออยุ่เป็นฝูงเล็กๆ ปกติอาศัยหากินตามต้นไม้ ทั้งตามลำต้น กิ่งก้าน และยอดไม้ และบ่อยครั้งลงมายังพื้น อาหารได้แก่เมล็ด ผลไม้ แมลง และหนอน พฤติกรรมการกินอาหารที่เป็นผลไม้นั้น จะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้ว แล้วกลินกินทั้งผล เช่น ไทร หว้า ตะขบ อบเชย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นผลไม้ขนาดใหญ่ เช่น มะละกอ ชมพู่ มะม่วง เป็นต้น จะใช้ปากจิกกินผลไม้สุกคาต้นทีละชิ้น โดยไม่มีการเด็ดผลออกจากขั้ว หากเป็นอาหารที่เป็นแมลงและหนอนจะจิกกินตามลำต้น กิ่งก้าน และบนพื้น บางครั้งโฉบจับแมลงกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ

ชนิดที่มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีแดง อาจพบอยู่ร่วมกับชนิดที่มีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีผลกำลังสุก แต่ปกติมักจะแยกฝูงกัน ไม่ค่อยจะอยู่ในฝูงเดียวกัน

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังเป็นรูปถ้วยตามกิ่งก้านของไม้ต้น ไม้พุ่ม หรือกอไผ่ วัสดุทำรังประกอบไปด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ และใบหญ้า แล้วรองพื้นรังด้วยใบไม้และใบหญ้าอีกชั้นหนึ่ง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาดไข่ 1.55 x 2.11 ซม. สีขาวแกมชมพู มีลวดลายต่างๆสีน้ำตาลแกมม่วงทั่วฟองไข่ ตัวเมียจะวางไข่ในตอนเช้าตรู่ และวางทุกๆ 24 ชั่วโมง จนกระทั่งครบรัง ระยะเวลาฟักไข่ราว 13-14 วัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

นกปรอดหัวสีเขม่า ชนิดย่อย klossi

                    เสียงร้องแหบแห้งว่า“แอ่-แอ่ด”หรือ“วิ-วิ-วี่-วี่” คล้ายเสียงคนบ่นหรือพูดคุยตลอดเวลา

ชื่อชนิด aurigaster เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ 2 คำ คือ คำว่า aur,-ar,-at,-e,-ro หรือ aurum เป็นรากศัพท์ภาษาละตินแปลว่า สีทอง และคำว่า gast,=er,-ero,-r,-ro เป็นรากศัพท์ภากรีกแปลว่า ท้อง ความหมายก็คือ“นกที่มีบริเวณท้องเป็นสีทองหรือสีเหลือง” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศจีน

ทั่วโลกพบ 9 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 5 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย germani Oustalet, 1878 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในเมืองโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม แพร่กระจายในภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สำหรับในประเทศไทยพบชนิดย่อยนี้ในจังหวัดอุบลราชธานี

– ชนิดย่อย klossi Gyldenstolpe, 1920 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในจังหวัดลำพูน ประเทศไทย แพร่กระจายในเมียนมาร์ด้านตะวันออกเฉียงใต้ และไทย สำหรับในประเทศไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

– ชนิดย่อย latouchei Deignan, 1949 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศลาว แพร่กระจายในจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ไทย ลาวตอนเหนือ และเวียดนามตอนเหนือ สำหรับในประเทศไทยพบชนิดย่อยนี้บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนเหนือในจังหวัดเชียงราย

– ชนิดย่อย schauenseei Delacour, 1943 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในจังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ และไทย สำหรับในประเทศไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันตก

– ชนิดย่อย thais Boden Kloss, 1924 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากชื่อของสถานที่ คือ ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้ทุกตัวมีขนคลุมโคนขนหางด้านล่างหรือก้นสีเหลือง แพร่กระจายในไทย และลาว โดยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก

นกปรอดหัวสีเขม่า ชนิดย่อย klossi

                    ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ประมาณ 45-47 ชนิด ในเมืองไทยพบ 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่เกษตรกรรม ชายป่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และพื้นที่เปิดโล่งตามพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,830 เมตร

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

8. นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่

ชื่อสามัญ : Velvet-fronted Nuthatch

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sitta frontalis Swainson, 1820

วงศ์ : SITTIDAE

นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ ชนิดย่อย frontalis ตัวเมีย

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 12-13.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีปากสีแดงสด หน้าผากมีกระจุกขนแน่นสีม่วงจนถึงสีดำ หนังรอบตาสีเหลือง คอหอยสีขาว ลำตัวด้านบนสีฟ้าแกมม่วงหรือสีน้ำเงินแกมม่วง ด้านข้างของท้องและก้นสีขาวแกมม่วงอ่อน ตัวผู้มีคิ้วหรือแถบสีดำแคบๆหลังตา และลำตัวด้านล่างสีเทาอ่อน

ส่วนตัวเมียไม่มีคิ้วหรือแถบสีดำหลังตา ลำตัวด้านล่างแกมน้ำตาลจางๆ

ช่วงวัยอ่อนมีปากสีดำ

เสียงร้องแหลมใสและรัวเร็ว ดังว่า“ชิดอิอิอิด”

พบเป็นคู่ หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆ บ่อยครั้งที่พบหากินร่วมกับนกไต่ไม้ท้องสีเม็ดมะขาม(Chestnut-bellied Nuthatch) การเกาะตามลำต้นและกิ่งไม้ไม่แตกต่างจากนกไต่ไม้อื่นๆ เริ่มต้นหากินจากโคนต้นไม้หนึ่ง จากนั้นก็กระโดดไปรอบๆต้น สูงขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงยอด แล้วบินไปเกาะโคนต้นไม้อื่น และทำเช่นเดียวกันอีก บ่อยครั้งที่พบลงมายังพื้นดิน

อาหารได้แก่ หนอน และแมลงที่อาศัยอยู่ตามเปลือกไม้ บางครั้งก็กินผลไม้ และเมล็ดไม้เปลือกแข็ง ด้วยการกินเนื้อในที่แตกออกโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการใช้ปากเจาะให้แตกออก

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน ทำรังตามโพรงของกิ่งและลำต้นของต้นไม้ อยู่สูงจากพื้นดินราว 1-12 เมตร มักเป็นโพรงตามธรรมชาติ หรือโพรงเก่าของนกหรือสัตว์อื่นๆ โดยใช้วัสดุต่างๆรองพื้นในโพรง เช่น มอสส์ ขนนก และขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นต้น หากโพรงมีขนาดใหญ่เกินไปก็จะใช้โคลนปิดปากทางเข้าออกโพรงให้พอดีตัว วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ขนาดไข่ 1.32 x 1.72 ซม. ไข่สีขาว และมีลายสีแดงกระจายทั่วฟองไข่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน แต่ส่วนใหญ่ตัวเมียจะทำหน้าที่ฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนมากกว่าตัวผู้ ใช้เวลาฟักไข่ 11-12 วัน

ชื่อชนิด frontalis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า front,-o หรือ frontis แปลว่า หน้าผาก และคำว่า เป็นคำลงท้าย -alis ความหมายก็คือ“นกที่มีหน้าผากเด่น” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกในประเทศศรีลังกา

นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ ชนิดย่อย frontalis ตัวเมีย

                              ทั่วโลกพบ 10 ชนิดย่อย แต่พบในไทย 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย frontalis Swainson, 1820 ที่มาและความหมายของชนิดย่อยเช่นเดียวกับชื่อชนิด แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน จีน ฮ่องกง เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สำหรับในไทยพบเกือบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้

– ชนิดย่อย saturatior Hartert, 1902 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำในภาษาละติน คือ saturate แปลว่า หลากสี ความหมายก็คือ“นกที่มีหลากสี” พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลกที่รัฐปาหัง ประเทศมาเลเซีย แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย สำหรับในไทยพบเฉพาะทางภาคใต้

นกสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 30-31 ชนิด ในเมืองไทยพบ 7 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,800 เมตร ทั่วทุกภาค

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546


บึงบอระเพ็ด


ขากลับจากดอยสุเทพ-ดอยปุย เพื่อกลับกรุงเทพฯ เราได้แวะที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรค์ ด้วยหวังว่าจะได้ยลโฉม“นกอีแจว”(ชื่อสามัญ Pheasant-tailed Jacana ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrophasianus chirurgus Wagler, 1832) เนื่องจากเป็นนกที่มีรูปร่างสวยงาม จึงได้รับสมญานามว่า“ราชินีแห่งนกน้ำ” แต่ผู้เขียนกลับคิดว่าเหตุที่ได้สมญานามนี้ น่าจะเป็นเพราะว่าตัวเมียจะผสมพันธุ์กับตัวผู้ถึง4ตัว หรือมากกว่า ก่อนวางไข่ น่าเสียดายที่พบเห็นก็ไกลตาเกินกว่าจะบันทึกภาพได้

นกอีแจว

                              สำหรับบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ แต่เดิมเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยนกน้ำนานาชนิด แต่เมื่อมีการล่าทำลายในรูปแบบของเกมส์กีฬา และการมีอาชีพดักนกขาย จึงทำให้ปริมาณนกลดลงอย่างน่าวิตก งานจัดการสัตว์ป่า กองบำรุง กรมป่าไม้ จึงได้รวบรวมข้อมูลรายงานต่อกรมป่าไม้ เพื่อให้ดำเนินการประกาศกำหนดให้บริเวณบึงบอระเพ็ดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 มีพื้นที่ 66,250 ไร่ มีพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์

บึงบอระเพ็ดมีลักษณะเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีน้ำเก็บกักตลอดปี สามารถเก็บกัดน้ำไว้ได้ระดับมาตราฐานที่กำหนด คือ 23.80 เมตร ร.ท.ก. บริเวณขอบบึงบอระเพ็ดเป็นที่ราบมีบ้านเรือนราษฎรปลูกล้อมรอบเป็นระยะๆ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้น้ำจะท่วมในฤดูน้ำหลาก(ช่วงเดือนกันยายน – เดือนมกราคม) จึงทำให้อาณาเขตของบึงกว้างออกไปอีกในช่วงเวลาดังกล่าว รอบบึงมีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นอยู่ทั่วไป บางตอนมีซากพันธุ์ไม้ทับถมเป็นผืนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งที่นกจะทำรังและวางไข่ ความลึกโดยเฉลี่ยของน้ำประมาณ 3 เมตร

นกอีแจว

                              บึงบอระเพ็ดมีเกาะเล็กๆอยู่ในบึงประมาณ 10 เกาะ มีเนื้อที่ประมาณ 900 ไร่ เป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมรวมตัวของพืชน้ำจำพวกสนุ่น(เป็นอ้อชนิดหนึ่ง) เอื้องหญ้าไผ่ กกขนาก เอื้องเพ็ดม้า หญ้าไทร ฯลฯ พืชน้ำที่พบตามชายฝั่งส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับพวกตามเกาะ มีเพิ่มเติมบางชนิด เช่น อ้อกระโจง บัวสาย บัวหลวง บอน จอกหูหนู ผักตบชวา ฯลฯ พันธุ์พืชที่สำรวจพบขณะนี้มีประมาณ 100 ชนิด

บีงบอระเพ็ดเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในด้านความอุดมสมบูรณ์ของนกนานาชนิด ทั้งที่หากินในน้ำและบนบก อาศัยทำรังและวางไข่ตามชายฝั่ง หรือตามกลุ่มพืชน้ำ มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ รวมนับร้อยชนิด ชนิดที่สำคัญได้แก่ นกยาง นกนางแอ่น นกจาบคาเล็ก นกเป็ดน้ำ นกกาน้ำ นกเอี้ยง นกอัญชัญ นกปากซ่อม นกกวัก นกกาบบัว นกเขา นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกกระเรียน ฯลฯ นอกจากนี้อาณาเขตของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดยังครอบคลุมถึงบริเวณวัดเกรียงไกร(วัดใหญ่คงคาราม) และสำนักสงฆ์จอมดอยเขาพนมเศษ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง มีลิงแสมแห่งละประมาณ 1,000 ตัว อาศัยอยู่ในป่าใกล้วัด

วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน

                              ในที่นี้ขอแบ่งสัตว์ป่าที่พบออกเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ แมงและแมลง(1 ชนิด) และนกบึงบอระเพ็ด(19 ชนิด)


แมงและแมลง


บันทึกภาพได้เพียง 1 ชนิด ด้วยความที่ตั้งใจมาดูนก แต่เจ้าตัวนี้กลับบินผ่านเหนือพื้นน้ำอย่างไม่เกรงกลัวเหล่านกที่บินไปมา สมแล้วที่มีชื่อสามัญว่า Birdwing

ผีเสื้อถุงทองธรรมดา

ชื่อสามัญ : Golden Birdwing

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Troides aeacus C. Felder & R. Felder, 1860
วงศ์ย่อย : PAPILIONINAE

วงศ์ : PAPILIONIDAE

ผีเสื้อถุงทองธรรมดา

                              ผีเสื้อสกุลนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ชนิดนี้มีขนาด 15-17 ซม.(วัดมุมจากปลายปีกซ้าย-ขวาของปีกคู่หน้า) เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน แต้มด้วยจุดสีดำ โคนปีกมีสีแดง

ปีกด้านบนมีพื้นปีกคู่หน้าสีดำคล้ายกำมะหยี่ ปีกคู่หน้าของเพศผู้มีเงาสีขาวหรือสีขาวเทาอยู่รอบเส้นปีก เห็นได้ชัด ปีกคู่หลังมีขนาดเล็ก มีแต้มสีดำอยู่บนสีเหลือง และมีอยู่ในช่องปีกที่ 2-5 เท่านั้น ส่วนปีกคู่หน้าของเพศเมียมีเงาสีขาวรอบเส้นปีกน้อยกว่า และเห็นไม่ชัดเจน

ปีกคู่หลังมีขนาดเล็ก เพศผู้มีสีเหลืองตามช่องระหว่างเส้นปีกเกือบเต็มแผ่นปีก เส้นปีกสีดำ บริเวณขอบปีกด้านข้างมีแต้มสีดำ ส่วนเพศเมียมีแต้มสีดำขนาดใหญ่บนสีเหลืองในแต่ละช่อง

ส่วนปีกด้านล่างมีลักษณะคล้ายปีกบน เห็นสีดำจางๆของปีกบน และมีจุดสีน้ำตาลเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป

มีพฤติกรรมชอบบินค่อนข้างสูง ไม่ค่อยลงเกาะพื้นดิน

ผีเสื้อสกุลนี้พบในเมืองไทย 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ป่าละเมาะ ริมลำน้ำลำห้วยในป่าโปร่ง และป่าดิบ ตลอดจนบนภูเขาสูง ทั่วทุกภาค


นกบึงบอระเพ็ด


บันทึกภาพได้ 19 ชนิด โดยข้อมูลต่อไปนี้จะจัดเรียงลำดับตามวงศ์ สกุล และชนิด

1. นกกะเต็นอกขาว

ชื่อท้องถิ่น : นกกระเต็นอกขาว , นกกินปลาอกขาว

ชื่อสามัญ : White-breasted Kingfisher ; White-throated Kingfisher

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Halcyon smymensis Linnaeus, 1758

วงศ์ : ALCEDINIDAE

นกกะเต็นอกขาว

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 27-29.5 ซม.(วัดจากปลายปากพาดผ่านลำตัวจนถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) บริเวณหัว ไหล่ หลังตอนบน และท้องมีสีน้ำตาลเข้ม คอและอกสีขาว ปากสีแดงสด บริเวณปีก หลัง และหางสีฟ้าเข้มจนถึงสีน้ำเงินสด หลังตอนล่างและตะโพกสีฟ้าวาว ขาและตีนสีแดง ขณะบินจะเห็นด้านบนของปีกเป็นสีน้ำเงิน โคนของขนปลายปีกมีแถบสีขาวขนาดใหญ่พาด ปลายของขนปลายปีกและขนปกคลุมปีกแนวแรกมีสีดำ ขนปกคลุมปีกแนวที่สองเป็นสีน้ำตาล

เป็นชนิดที่พบในพื้นที่แห้งแล้งได้ดีกว่านกชนิดอื่นในสกุลนี้ ออกหากินในเวลากลางวัน พบอาศัยและหากินตามทุ่งโล่งใกล้กับแหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล ปกติพบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยพบอยู่เป็นฝูง มักเกาะตามกิ่งไม้ ตอไม้แห้ง หรือสายไฟฟ้า ขณะเกาะนั้นลำตัวตั้งเกือบตรง เป็นนกที่บินได้ดีและค่อนข้างเร็ว

อาหารได้แก่ ปลา กบ เขียด แมลง และสัตว์ขนาดเล็ก พฤติกรรมการหาอาหารใช้วิธีเกาะกิ่งไม้ ตอไม้ หรือสายไฟฟ้า แล้วจ้องหาเหยื่อในแหล่งน้ำหรือในอากาศ เมื่อพบเหยื่อจะบินโฉบจับด้วยปาก เมื่อจับเหยื่อได้ก็จะบินกลับมาเกาะที่เดิมหรือใกล้เคียง หากเหยื่อมีขนาดใหญ่ก็จะฟาดเหยื่อกับที่เกาะจนเหยื่อตาย แล้วกลืนกินเหยื่อทั้งตัว ไม่มีการฉีกเหยื่อกินแต่อย่างใด

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังในโพรงดินตามฝั่งแม่น้ำลำคลองหรือเนินดิน โดยมักจะมีหญ้าปกคลุมพอประมาณ ด้วยการใช้ปากและกรงเล็บขุดดินให้เป็นโพรงลึกเข้าไปราว 40-50 ซม. หรือมากกว่า ปากโพรงกว้างราว 4-5 ซม. ด้านในโพรงเป็นแอ่งกว้างเพื่อใช้วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ขนาดไข่ 2.54 x 2.87 ซม. รูปค่อนข้างกลม สีขาวนวล ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆจะไม่มีขนคลุมร่างกาย ยังไม่ลืมตา และขายังไม่แข็งแรงพอที่จะยืนหรือเดินได้ ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ช่วงแรกพ่อแม่นกจะนำเหยื่อเข้าไปป้อนภายในโพรง เมื่อลูกนกแข็งแรงพอที่จะเดินได้ก็จะมาป้อนแค่ปากโพรง เมื่อลูกนกอายุได้ราว 2-3 สัปดาห์ ก็จะมีขนปกคลุมเต็มตัวและแข็งแรงพอที่จะเริ่มหัดบิน เมื่อบินได้ดีแล้วจึงจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินเอง แล้วทิ้งรังในที่สุด

เสียงร้องแหลมสั่นว่า“ครี้-ครี้-ครี้” และร้องก้องรัวว่า“แก๊ก-แก๊ก-แก๊ก” มักร้องขณะเกาะหรือแม้แต่ขณะบิน

ชื่อชนิด smymensis เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก คือ เมือง Smyrna (Izmir) ประเทศตุรกี

ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย perpulchra Madarasz, 1904 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า per แปลว่า ตลอด และคำว่า pulch,-ell,=er,-r แปลว่า สวยงาม ความหมายก็คือ“นกที่มีความสวยงามตลอดทั้งร่าง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศสิงคโปร์

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 13 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามทุ่งนา สวนผลไม้ แหล่งน้ำในพื้นที่โล่ง ป่าชายเลน ตลอดจนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,500 เมตร ทั่วทุกภาค

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

ชนิดย่อย perpulchra แพร่กระจายในอินเดียด้านตะวันออก เนปาล ภูฏาน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

2. เป็ดแดง

ชื่อสามัญ : Indian Whistling-Duck ; Lesser Treeduck ; Lesser Whistling-Duck ; Tree Duck ; Whistling Duck ; Whistling Teal

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrocygna javanica Horsfield,1821

วงศ์ : ANATIDAE

เป็ดแดง

                              เป็นทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 40-43 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลำตัวทั่วไปสีน้ำตาลแกมเหลือง ปากแบนกว้างสีเทาแกมดำจนถึงสีดำ ยาว 2.5-2.8 ซม. หน้าผากและกลางกระหม่อมสีน้ำตาลปนเทาคล้ำ หัว คอ และอกสีเนื้อแกมเทาหม่น คอยาวปานกลาง ใต้คอสีจางออกขาว ด้านข้างคอและหลังคอสีเข้มกว่า ท้ายทอยและหลังสีน้ำตาลเข้ม ขนคลุมไหล่และหางสีน้ำตาลแดง ปีกยาว สีน้ำตาลคล้ำและมีลายเกล็ดสีแดงแกมน้ำตาล ปลายปีกแหลม ขนปลายปีกสีเทาดำจนถึงสีน้ำตาลไหม้ เวลาบินจะเห็นสีขนปลายปีกตัดกับสีลำตัวอย่างเห็นได้ชัด สีข้างและท้องสีแดงอมน้ำตาลปนเหลือง มีลายขีดสีครีมตามแนวสีข้างตอนบน ขนคลุมใต้โคนหางและก้นสีค่อนข้างขาว ขายาวปานกลาง แข้งและตีนสีเทาปนฟ้าคล้ำจนถึงสีดำ นิ้วตีนด้านหน้า3นิ้วมีเยื่อหนังเชื่อมต่อกัน ส่วนนิ้วตีนด้านหลัง1นิ้วจะอยู่ในระดับสูงกว่านิ้วตีนด้านหน้า

ขณะบินจะต่างจากนกเป็ดน้ำชนิดอื่นตรงที่หัวและคออยู่ระดับต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย ปีกกว้างและกลมกว่านกเป็ดน้ำชนิดอื่นๆ จะบินตรงและกระพือปีกไม่เร็วมาก

ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ อาจพบได้มากกว่า 1,000 ตัว มักอยู่เฉพาะฝูงของตนเอง แต่บางครั้งก็มีนกเป็ดน้ำชนิดอื่นปะปนด้วย เช่น เป็นลาย เป็ดคับแค เป็ดหางแหลม เป็นต้น ปกติจะหากินในช่วงเย็นเป็นต้นไปจนจรดตลอดทั้งคืน ส่วนกลางวันจะว่ายน้ำหรือพักผ่อนนอนหลับตามต้นไม้ชายน้ำ หรืออาจขึ้นมาบนบกใกล้แหล่งน้ำ หรืออาจเกาะกิ่งไม้ในน้ำหรือใกล้ชายน้ำ

การหลับนอนของเป็ดแดงจะหดคอให้สั้นติดกับลำตัว บางครั้งก็เอาหัวซุกใต้ปีก เวลาบินขึ้นจากน้ำจะต้องใช้ตีนตะกรุยน้ำเป็นระยะทางพอประมาณราวกับสตาร์ทเครื่องจึงจะบินขึ้นเหนือน้ำได้ ขณะบินนั้นหัวและลำคอจะเหยียดตรงไปข้างหน้า ขาและตีนพับมาทางด้านหลัง ขนหางกางแผ่ออก กระพือปีกในอัตราที่ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป การบินเป็นฝูงอาจบินในรูปแบบหัวลูกศร รูปแถวหน้ากระดาน รูปเส้นทแยงมุม หรือเป็นกลุ่มไม่มีระเบียบ โดยมักมีตัวนำฝูงตัวหนึ่งเสมอ และอาจมีการผลัดกันเป็นตัวนำฝูงได้

แหล่งหากินอาจอยู่ใกล้หรือไกลจากแหล่งอาศัย แล้วบินกลับแหล่งเดิมในตอนเช้าตรู่ อาหารได้แก่ พืชน้ำ สัตว์น้ำ แมลง และไส้เดือน บ่อยครั้งที่เราพบตามทุ่งนาที่กำลังออกรวงสุกเหลือง สร้างความเสียหายให้กับชาวนาเป็นจำนวนมาก เพราะเป็ดแดงจะกัดต้นข้าวหรือโน้มรวงข้าวลงมากิน รวมทั้งการบินขึ้นลงเป็นฝูงในนาข้าว ทำให้เมล็ดข้าวตกหล่น เก็บเกี่ยวไม่ได้

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน ทำรังรูปคล้ายจานหงายตามต้นกก จูด อ้อ หรือหญ้าที่อยู่ในน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำ รังเป็นแบบง่ายๆและสร้างหยาบๆ ใช้ใบพืชที่อยู่บริเวณนั้นมาสร้างรัง แล้วใช้ขนท้องของตัวเองมาวางซ้อนปูพื้นรัง ขนาดรังกว้างราว 22-23 ซม. ลึกราว 5-10 ซม. และอยู่สูงจากผิวน้ำราว 10-40 ซม. วางไข่ครั้งละ 9-13 ฟอง ขนาดไข่ 3.37 x 6.25 ซม. รูปไข่ สีขาว ไม่มีลวดลายใดๆ ตัวผู้และตัวเมียช่วยกันสร้างรัง และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เป็ดแดง

                              เมื่อวางไข่แล้ว มักปกปิดอำพรางรังและไข่ด้วยการนำใบพืชมาพาดผ่านบนรังโดยรอบ ทำให้สังเกตเห็นได้ยาก พ่อแม่นกจะออกไปหาอาหารด้วยกัน เมื่อกลับมาก็จะบินวนห่างจากรังพอควร ก่อนเดินช้าๆมาที่รังและหยุดเป็นระยะๆหันหัวไปมา หากเห็นว่าปลอดภัย แม่นกก็จะปีนขึ้นไปรังเพื่อฟักไข่ ส่วนพ่อนกจะยืนเฝ้าระวังภัยอยู่ใกล้ๆ ใช้เวลาฟักไข่ราว 29-31 วัน ลูกแรกเกิดลืมตาได้ มีขนอุยสีดำลายขาวปกคลุมลำตัว ปากสีดำ ปลายปากสีแดง แข้งและตีนสีดำ หลังออกจากไข่ได้ราว 2-3 ชม. และขนลำตัวแห้งดีแล้ว ลูกนกสามารถเดินหรือว่ายน้ำตามพ่อแม่ไปหาอาหารได้ ลูกนกมักหลบซ่อนอยู่ใต้ปีกแม่ขณะพักผ่อนบนพืชน้ำหรือบนบก หากมีภัยหรือมีสิ่งรบกวนก็จะวิ่งหรือว่ายน้ำหลบซ่อนตามดงพืชน้ำ ส่วนพ่อนกหรือแม่นกจะล่อศัตรูด้วยการส่งเสียงร้องให้ศัตรูตามเสียงของตน บางครั้งก็แสดงท่าทางคล้ายได้รับบาดเจ็บให้ศัตรูสนใจตนเอง ละความสนใจลูกๆ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจะกลับมาที่เดิมแล้วส่งเสียงร้องให้ลูกๆออกมาจากที่ซ่อน อีก2เดือนต่อมาลูกนกก็มีสีสันเหมือนตัวเต็มวัย แต่ยังมีขนาดเล็ก ก่อนจะแยกจากพ่อแม่เข้ารวมฝูง

ขณะลอยหรือว่ายน้ำจะไม่ส่งเสียงร้อง ต่อเมื่อบินเพื่อออกหากินหรือมีสิ่งรบกวนนั้น มักส่งเสียงร้องค่อนข้างแหลมสูงเป็นจังหวะยาวๆสั้นๆคล้ายเสียงผิวปากหรือเสียงนกหวีด ดังว่า“วี้ด-วี้ด”หรือ“ซี-ซิก” อันเป็นที่มาของชื่อสามัญว่า Whisting Duck แต่นักปักษีบางท่านบอกว่าเสียงที่ดังคล้ายนกหวีด ไม่ใช่เสียงร้อง แต่เกิดจากการขยับปีกที่เสียดสีกับอากาศ

ชื่อสกุล Dendrocygna มาจากคำว่า dendro แปลว่า ต้นไม้ และคำว่า cygnus แปลว่า หงส์ ความหมายก็คือ“หงส์บนต้นไม้” ด้วยนกสกุลนี้มีคอค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับลำตัว ต่างจากเป็ดสกุลอื่น อีกทั้งมีกิริยาที่ชอบยืดคออยู่บ่อยๆ นักปักษีจึงตั้งชื่อสกุลนี้เพื่อแยกแยะให้เห็นความแตกต่างจากเป็ดน้ำสกุลอื่นๆ ประกอบกับเป็นเป็ดป่าไม่กี่ชนิดที่มีพฤติกรรมชอบพักอาศัยและทำรังบนต้นไม้ จึงมีชื่อสามัญว่า Tree Duck แปลว่า เป็ดต้นไม้

ส่วนชื่อชนิด javanica เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 8 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ บางครั้งอาจพบตามแหล่งน้ำกร่อย และนากุ้ง ทั่วทุกภาค

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย หมู่เกาะอันดามัน ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน

3. นกอ้ายงั่ว

ชื่อท้องถิ่น : นกคองู , นกงั่ว , นกสร้อยอีร้า

ชื่อสามัญ : African Darter ; Anhinga ; Indian Darter ; Oriental Darter ; Snake Bird

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anhinga melanogaster Pennant, 1769

วงศ์ : ANHINGIDAE

นกอ้ายงั่วปะปนอยู่กับฝูงนกกาน้ำเล็ก

                              ส่วนใหญ่เป็นเป็นนกประจำถิ่น ส่วนน้อยเป็นนกอพยพ มีขนาด 85-97 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากเรียวแหลมยาวสีเหลือง หัวเล็ก คอยาวเรียวเล็กดูคล้ายงู โดยเฉพาะขณะว่ายน้ำ ลำตัวทั้งหมดจะจมอยู่ใต้น้ำ ชูเฉพาะคอและหัวขึ้นเหนือน้ำดูคล้ายงูว่ายน้ำ อันเป็นที่มาของชื่อท้องถิ่นว่า“นกคองู” และชื่อสามัญว่า“Snake Bird” หัวและคอด้านหลังสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลเข้ม คอด้านหน้าสีอ่อน มีเส้นขาวลากจากใต้ตาไปตามความยาวคอเกือบถึงอก ลำตัวด้านบนสีดำ ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลดำจนถึงสีดำ หลังและปีกมีลายขีดสีขาวแวววาวหรือสีเทาแกมเงินเป็นริ้ว ปีกยาว ปลายปีกค่อนข้างมน ขนปลายปีกเส้นที่2และ3นับจากด้านนอกเป็นขนยาวที่สุด หางยาวแข็งและมีลายบั้งสีขาวแกมเทา ปลายหางเป็นหางพลั่ว มีขนหาง12เส้น ขาใหญ่แต่ค่อนข้างสั้น มีพังผืดนิ้วเป็นแบบตีนพัด

ช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้น กระหม่อม หลังคอ และหลังตอนบนมีสีดำ คอด้านหน้ามีสีน้ำตาลแดงมากขึ้น

ตัวไม่เต็มวัยมีสีจางกว่าตัวเต็มวัย โดยเฉพาะหัวและคอมีสีขาว ลำตัวด้านบนและด้านล่างสีน้ำตาล

ว่ายน้ำและดำน้ำได้ดี ชอบเกาะตามกิ่งไม้แห้งใกล้กับแหล่งน้ำหากินหรือแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อผึ่งแดดหรือไซร้ขนหลังจากดำน้ำหาอาหาร นอกจากนี้ยังบินได้ดีอีกด้วย

อาหารได้แก่ ปลา วิธีการจับปลานั้นจะว่ายน้ำและดำน้ำ แล้วใช้ปากที่ยาวและแหลมคมแทงทะลุตัวปลา จากนั้นจะชูหัวและลำคอขึ้นเหนือน้ำ แล้วโยนปลาขึ้นไปในอากาศพร้อมกับอ้าปากรับ ก่อนกลืนเข้าไปทั้งตัว แต่ถ้าปลาตัวใหญ่เกินไปก็อาจจะนำขึ้นมากินบนกิ่งไม้หรือตอไม้ริมน้ำ แล้วใช้ตีนช่วยถอดปลาออกจากปาก ก่อนจิกกิน

นกอ้ายงั่วปะปนอยู่กับฝูงนกกาน้ำเล็ก

                              ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม ทำรังรวมกันเป็นกลุ่มตามต้นไม้ขนาดใหญ่ อาจร่วมกับนกและสัตว์อื่นๆ เช่น นกยางเปีย นกแขวก ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง เป็นต้น รังเป็นแบบง่ายๆ โดยใช้กิ่งไม้ กิ่งไผ่ และหญ้าแห้งมาวางซ้อนทับกันบนง่ามไม้ อาจใช้ใบไม้สดหรือหญ้าสดมาปูรองพื้นรังตรงกลางที่เป็นแอ่ง รังอยู่สูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า 20 เมตร ขนาดรัง 35-40 ซม. ลึก 10-15 ซม. วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ขนาดไข่ 3.55 x 5.30 ซม. รูปรียาว สีขาว และมักมีผงคล้ายชอล์กปกคลุม ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่(ใช้เวลา 27-30 วัน) และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกจะใช้ฟันเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง ลูกนกแรกเกิดมีรูปร่างเทอะทะ ไม่มีขนปกคลุมร่างกาย ยังไม่ลืมตา และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อน และช่วยกันกกให้ความอบอุ่น ป้องกันแดด ฝน และศัตรูต่างๆ โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆที่ทำรังอยู่บนต้นไม้เดียวกัน ลูกนกเมื่อมีอายุราว 2 สัปดาห์ เริ่มมีขนอุยสีขาวปกคลุมลำตัว ยกเว้นด้านท้อง เมื่ออายุได้ 7-8 สัปดาห์ จึงมีขนคลุมทั่วตัว บริเวณหัวและคอมีสีขาว ลำตัวด้านบนและปีกสีน้ำตาล ท้องสีจางกว่าลำตัวด้านบน และเริ่มหัดบินในระยะใกล้ๆ การป้อนอาหารนั้นพ่อแม่นกจะสำรอกออกมาที่โคนปาก แล้วให้ลูกๆสอดปากเข้าจิกกิน เมื่อลูกนกโตพอประมาณก็จะสำรอกทิ้งไว้ในรัง ให้ลูกๆจิกกินกันเอง

ชื่อชนิด melanogaster เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า melan,-o หรือ melanos แปลว่า สีดำ และคำว่า gast,=er,-ero,-r,-ro แปลว่า ท้อง ความหมายก็คือ“นกอ้ายงั่วที่มีท้องสีดำ” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศศรีลังกา

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 4 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอยู่เป็นฝูงตามบึง หนองน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ทะเลสาบ และแม่น้ำขนาดใหญ่ พบประปรายทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และพบมากทางภาคกลาง

นกอ้ายงั่วจัดเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ดีอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งปริมาณของอาหารและสภาพแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4. นกยางโทนใหญ่

ชื่อสามัญ : Common Egret ; Eastern Great Egret ; Great Egret ; Great White Egret ; Large Egret ; White Egret

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardea alba Linnaeus, 1758

วงศ์ : ARDEIDAE

นกยางโทนใหญ่

                              ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว ส่วนน้อยเป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 85-102 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) เป็นนกยางสีขาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ปากยางตรงสีเหลือง ปลายปากสีเทาเล็กน้อย ผิวหนังบริเวณใบหน้ามีสีเหลืองแกมเขียว ขนคลุมลำตัวทั้งหมดสีขาว คล้ายนกยางโทนน้อย(Intermediate Egret) แต่ชนิดนี้มีมุมปากลึกเลยตำแหน่งดวงตาเข้าไป นอกจากนี้มีหัวค่อนข้างเล็ก หน้าผากลาด คอเรียวยาวมากและมักจะขมวดเป็นปมบริเวณตรงกลางขณะหันหัวไปด้านข้างหรือด้านหลัง ปลายปีกกลม ขาค่อนข้างยาว นิ้วยาว ขาและตีนสีดำ

ช่วงฤดูผสมพันธุ์มีปากสีดำสนิท บางครั้งโคนปากมีสีเหลือง ผิวหนังบริเวณใบหน้ามีสีฟ้า สีน้ำเงิน หรือสีน้ำเงินแกมเขียว อกและหลังมีขนเจ้าชู้ยาวออกมา โดยเฉพาะขนที่หลังจะยาวมาก มีขนละเอียดแตกเป็นฝอยบริเวณกลางหลังจนถึงตะโพก ทั้งขนเจ้าชู้และขนละเอียดนี้จะหลุดร่วงไปเมื่อสินสุดฤดูผสมพันธุ์ ขาสีแดงคล้ำโดยเฉพาะที่น่อง บางครั้งพบขาเป็นสีเขียว

เกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ได้ดี บินได้เร็วพอประมาณ ขณะบินนั้นคอจะพับไปด้านหลังเป็นรูปตัวเอส(S) ขาเหยียดตรงไปข้างหลังและโผล่พ้นปลายหาง ออกหากินในตอนกลางวัน โดยหากินโดดเดี่ยวหรือเพียงลำพัง จึงได้ชื่อเรียกว่า“นกยางโทน” แต่บางครั้งก็พบหากินอยู่รวมกันเป็นฝูง อาหารได้แก่ ปลาต่างๆ ทั้งปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย และปลาน้ำเค็ม นอกจากนี้ยังกินสัตว์อื่นๆ เช่น กุ้ง ปู กบ และเขียด ส่วนแมลงนั้นก็กินแต่เป็นส่วนน้อย การหากินจะเดินลุยน้ำที่ไม่ลึกมากนัก เดินตามชายเลน หรือยืนนิ่งอยู่กับที่บนพืชลอยน้ำ ตาจ้องหาเหยื่อ เมื่อพบก็จะใช้ปากงับแล้วกลืนกิน หากหันหัวไปด้านข้างหรือด้านหลังเพื่อจับเหยื่อจะเห็นคอบิดเป็นเกลียวหรือเป็นปมได้ชัดเจน

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกันยายน โดยทำรังตามต้นไม้อยู่เป็นกลุ่ม และอาจทำรังอยู่ร่วมกับนกชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด เช่น นกยางกรอกพันธุ์ชวา นกยางควาย นกยางเปีย นกแขวก นกกระสาแดง และนกกาน้ำเล็ก ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรังแบบง่ายๆด้วยการนำกิ่งไม้หรือกิ่งไผ่มาวางซ้อนทับกันหลายๆชั้น กลางรังทำเป็นแอ่ง อาจมีใบหญ้าหรือใบไม้สดมาวางกลางแอ่งเพื่อรองรับไข่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรังวัดจากขอบนอก 50-60 ซม. วัดจากขอบใน 30-40 ซม. ตรงกลางรังลึกราว 15-20 ซม. ซึ่งขนาดรังอาจใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความหนา เนื่องจากจะเสริมสร้างรังอยู่เรื่อยๆเมื่อวัสดุเก่าผุพัง หรือเมื่อต้องรับน้ำหนักไข่ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนฟอง

วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ไข่รูปรี ขนาดไข่ 4.24 x 6.03 ซม. สีเขียวอ่อนเกือบเป็นสีขาว มีผงสีขาวคล้ายผงชอล์กปกคลุมเล็กน้อย ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันฟักไข่ ใช้เวลาฟักไข่ 25-28 วัน ลูกนกจะใช้ฟันเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง ลูกนกแรกเกิดมีรูปร่างเทอะทะ หัวและท้องใหญ่ มีขนอุยเล็กน้อยบริเวณลำตัวด้านบน ส่วนผิวหนังที่ไม่มีขนปกคลุมมีสีน้ำตาล เมื่อลูกนกมีอายุ 2-3 สัปดาห์ จะเริ่มมีขนคลุมลำตัวเกือบหมด ยกเว้นด้านท้อง ต่อเมื่อมีอายุ 5-6 สัปดาห์ จึงมีขนคลุมเต็มตัวและมีสันเหมือนตัวเต็มวัย แต่ปากมีสีเหลืองซีด ขาสีเทา จวบจนมีอายุ 7-8 สัปดาห์ ลูกนกจะบินได้แข็งแรง บางตัวก็จะแยกจากพ่อแม่ออกไปหากินเอง

ช่วงที่ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น พ่อแม่นกจะผลัดกันกกและหาอาหารมาป้อนเมื่อตัวใดตัวหนึ่งออกไปหาอาหาร อีกตัวหนึ่งจะอยู่ในรังกกลูกและคอยป้องกันอันตรายจากศัตรู พ่อแม่นกจะสำรอกอาหารที่ย่อยบ้างแล้วออกมาป้อนใส่ปากลูกนกที่อ้าปากรอรับ เมื่อลูกนกโตพอประมาณ พ่อแม่นกก็จะสำรอกอาหารทิ้งไว้ในพื้นรัง ให้ลูกนกจิกอาหารกินเอง

เสียงร้องดังว่า“กร้า..ก..ก”

ชื่อชนิด alba เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า alb,-i,-id หรือ albus แปลว่า สีขาว ความหมายก็คือ“นกยางที่มีสีขาว” พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลกในประเทศสวีเดน

ทั่วโลกพบ 5 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย modesta J.E.Gray, 1831 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำในภาษาละติน คือ modestus หรือ modest แปลว่า ทุ่งราบ ความหมายก็คือ“นกยางสีขาวที่พบตามทุ่งราบ” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 14-15 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ทั่วทุกภาค

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

ชนิดย่อย modesta แพร่กระจายในอินเดีย-เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิวกินี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

5. นกกระสาแดง

ชื่อสามัญ : Purple Heron

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardea purpurea Linnaeus, 1766

วงศ์ : ARDEIDAE

นกกระสาแดง

                              ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว ส่วนน้อยเป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 78-97 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากยาวเรียวแต่แคบบางมีสีเหลืองเหลือบดำ ปลายปากแหลมคม หัวค่อนข้างเล็กและคอยาวมากสีน้ำตาลแดง คอที่ยาวนี้บางครั้งอาจมองดูคล้ายงู โดยเฉพาะเวลายืนนิ่งหลังกอวัชพืช แล้วมองเห็นแต่หัวและคอโผล่ออกมา มีเส้นสีดำลากจากหน้าผากมาถึงท้ายทอย มีแถบคาดสีดำจากหางตาไปยังท้ายทอยและโผล่ออกไปคล้ายหงอนขน มีลายขีดสีดำจากมุมปากยาวผ่านข้างคอไปจนถึงอก ตาสีเหลือง ใต้คางค่อนข้างขาว มีขนประดับหรือขนสร้อยสีน้ำตาลดำ ลักษณะเป็นเส้นเล็กยาวแหลมห้อยจากหน้าอกในช่วงฤดูผสมพันธุ์ อกสีน้ำตาลแดงเข้ม ลำตัวด้านบนและปีกสีเทาเข้ม และมีขนยาวสีน้ำตาลแดงแซมทั่วๆไป ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลเข้มออกดำ ความกว้างของปีกสองข้าง 120-150 ซม. แต่มีลำตัวผอมบาง มีน้ำหนักเพียง 0.5-1.3 กก. เท่านั้น ปลายปีกมน

ตัวไม่เต็มวัยนั้นลำตัวทั่วๆไปเป็นสีน้ำตาลอ่อนออกสีเทา ลวดลายที่หัวและคอมองดูไม่ชัดเจน โดยเฉพาะยังไม่มีขนยาวออกมาที่ท้ายทอย

เป็นนกที่จับเกาะกิ่งไม้ได้ดี บินได้ช้า แต่แข็งแรงและในระยะที่ไกล ขณะบินนั้นจะหดคอเข้าลำตัวเป็นรูปตัวเอส(S) ขาเหยียดตรงไปทางด้านท้าย โผล่พ้นปลายหาง มองเห็นลำตัวด้านล่างสีเทาตัดกับสีเลือดหมูของขนคลุมใต้ปีก สีข้าง และท้องด้านท้าย ขายาวมีสีเหลือง

มีลักษณะใกล้เคียงกับนกกระสานวล(Grey Heron) แต่ชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างเล็กกว่า และมีสีขนที่แตกต่างกัน คือมีขนสีน้ำตาลแดงเข้ม เมื่อโตเต็มวัยขนที่หลังจะเป็นสีเทาเข้มขึ้น

ออกหาอาหารตามลำพังในช่วงเช้าและช่วงเย็นตามบริเวณน้ำตื้นของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลางวันชอบเกาะอยู่ตามต้นไม้หรือกอหญ้าริมพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่บางครั้งอาจพบหากินในช่วงกลางวันได้ พฤติกรรมการล่าเหยื่อจะยืนนิ่งๆบนพืชลอยน้ำเพื่อรอเหยื่อ หรือค่อยๆเดินตามล่าเหยื่อ อาหารได้แก่ ปลา กุ้ง กบ เขียด และหอย โดยใช้จะงอยปากที่ยาวและแหลมคมจับแล้วกลืนกิน หากเหยื่อมีขนาดใหญ่ก็จะใช้ปากที่แหลมคมแทงเหยื่อ แล้วใช้ตีนช่วยก่อนจิกกินทีหลัง บางครั้งก็พบเดินย่องไปตามพื้นหญ้าที่ไม่มีน้ำขัง แต่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำมากนัก เพื่อกินแมลง หนอน และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก

นกกระสาแดง

                    ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน แต่บางพื้นที่จะทำรังเกือบตลอดทั้งปี เช่น ทะเลน้อย จ.พัทลุง จะทำรังวางไข่ในราวเดือนมกราคม – เดือนกันยายน เป็นต้น โดยทำรังตามต้นไม้ขนาดใหญ่ และทำรังรวมเป็นกลุ่ม ซึ่งอาจจะทำรังร่วมกับนกอื่นๆ เช่น นกยางควาย นกยางเปีย และนกยางโทนใหญ่ เป็นต้น เป็นรังง่ายๆที่ทำจากวัสดุจำพวกกิ่งไม้ ทั้งกิ่งไม้สดและแห้งมาวางซ้อนทับกันตามง่ามไม้หรือกิ่งของต้นไม้ที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งหากิน บางครั้งก็สร้างครอบหรือทับรังเดิมของนกตัวอื่นๆที่ทิ้งรังไปแล้ว โดยเสริมรังให้แข็งแรงขึ้น รังมีขนาดใหญ่ โดยมีขนาด 50-55 ซม. แอ่งตรงกลางรังลึกราว 5-10 ซม. และอยู่สุงจากพื้นดินหรือพื้นน้ำราว 4-5 เมตร วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ขนาดไข่ 4.3 x 5.8 ซม. ไข่รูปรียาว สีเขียวอ่อน ไม่มีจุดหรือลายใดๆ ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่(ใช้เวลาราว 27-29 วัน) และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกที่ออกจากไข่ในช่วงแรกจะมีขนอุยปกคลุมลำตัวบางส่วน โดยเฉพาะลำตัวด้านบน แต่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องผลัดกันกก โดยให้ลูกซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และหาอาหารมาป้อน ด้วยการสำรอกอาหารใส่ปากลูกนก แต่เมื่อลูกนกเริ่มโตขึ้น พ่อแม่ก็จะสำรอกอาหารทิ้งไว้ในรัง ให้ลูกนกจิกกินเอง ใช้เวลาเลี้ยงดูลูกนกราว 40-50 วัน ลูกนกก็จะแข็งแรงและบินได้ ก่อนทิ้งรังไป

เสียงร้องดังว่า“ร้าก” หรือ“ร้าก-กา”

ชื่อชนิด purpurea เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า purpur,-a แปลว่า สีแดงเข้ม ความหมายก็คือ“นกยางที่มีสีแดงเข้ม” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศฝรั่งเศส

ทั่วโลกพบ 4 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย manilensis Meyen, 1834 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก

พบอาศัยตามพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำจืด บางครั้งพบตามชายฝั่งทะเล พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคกลาง

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

ชนิดย่อย manilensis แพร่กระจายในปากีสถาน-ฟิลิปปินส์ และจากปากีสถาน-รัสเซีย

6. นกยางดำ

ชื่อสามัญ : Black Bittern ; Indian Black Bittern

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dupetor flavicollis Latham, 1790

วงศ์ : ARDEIDAE

นกยางดำ ตัวเมีย

                              เป็นนกอพยพ และนกอพยพมาทำรังวางไข่ในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 54-61 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากยาว ตรง และปลายแหลม หัวค่อนข้างเล็ก คอยาวมาก ปีกยาวและปลายปีกกลม ขาค่อนข้างยาว นิ้วยาวปานกลาง

ตัวผู้มีปากสีเหลืองคล้ำ ปลายปากและสันปากบนสีดำ บริเวณคอและลำตัวด้านบนสีดำ ด้านข้างคอมีแถบยาวสีเหลืองแกมเนื้อจนถึงสีเหลืองแกมน้ำตาล คอด้านล่างและอกสีขาว มีลายขีดยาวสีเนื้อ สีดำ หรือสีดำแกมน้ำตาลแดงคล้ำ ลำตัวด้านล่างสีเทาเข้ม แข้งและตีนสีดำ

ตัวเมียบริเวณหัวและลำตัวด้านบนสีดำแกมน้ำตาลมากกว่าตัวผู้ ลายขีดที่คอและอกสีน้ำตาลแดง

นกวัยอ่อนมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่บริเวณหัวและลำตัวด้านบนมีลายเกล็ดจากขอบขนสีน้ำตาลอ่อน

มักพบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่เกาะตามกิ่งไม้ บินได้เก่ง ขณะบินนั้นลำคอที่ยาวจะพับงอเป็นรูปตัวเอส(S) แต่ขณะเกาะนิ่งนั้นคอจะหดสั้น ปกติออกหากินตอนกลางคืน บางครั้งพบออกหากินตอนเช้าตรู่และเย็นค่ำ หรือแม้แต่ในตอนกลางวัน อาหารได้แก่ สัตว์น้ำ และแมลงต่างๆ มันจะเกาะกิ่งไม้หรือกอหญ้าที่ขึ้นในน้ำหรือชายน้ำ ตาคอยจ้องหาเหยื่อ เมื่อพบจะยืดคอยาวออกไปใช้ปากงับเหยื่อ จากนั้นก็หดคอกลับดังเดิม พร้อมกลืนเหยื่อทั้งตัวเข้าปาก

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูฝน ทำรังตามกอพืชที่ขึ้นอยู่ตามชายน้ำหรือในน้ำ หรือต้นไม้ในป่าชายเลน ชีววิทยาการสืบพันธุ์ไม่แตกต่างจากนกยางไฟในสกุล Ixobrychus เพียงแต่ขนาดของไข่นกยางดำจะมีขนาดใหญ่กว่า

ชื่อชนิด flavicollis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า flav หรือ flavus แปลว่า สีเหลืองแกมทอง และคำว่า coll,-i หรือ collis แปลว่า คอ ความหมายก็คือ“นกที่บริเวณคอมีสีเหลืองแกมทอง” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย

ทั่วโลกพบ 6 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย flavicollis Latham, 1790ชื่อชนิดย่อยมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด

นกสกุลนี้ทั่วโลกพบเพียงชนิดเดียว ในเมืองไทยพบตามทุ่งนา พงอ้อพงหญ้าที่ขึ้นหนาแน่น พื้นที่น้ำจืดตามพื้นที่ราบ ลำห้วยต่างๆในป่า หรือตามป่าชายเลน ส่วนใหญ่พบในภาคกลาง และภาคใต้ แต่มีพบประปรายทางภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชนิดย่อย flavicollis แพร่กระจายในปากีสถานด้านตะวันออก อินเดีย จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

อนึ่ง Howard and Moore (1980) และ Sibley and Monroe (1990) ได้จัดนกยางดำไว้ในสกุลเดียวกับนกยางไฟ โดยมีชื่อวิทยฯว่า Ixobrychus flavicollis Latham, 1790

7. นกยางไฟหัวดำ

ชื่อสามัญ : Chinese Little Bittern ; Chinese Yellow Bittern ; Yellow Bittern

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixobrychus sinensis Gmelin, JF, 1789

วงศ์ : ARDEIDAE

นกยางไฟหัวดำ

                              ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น ส่วนน้อยเป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 36-38 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากหนา ยาว และตรง มีสีเหลือง ซึ่งปากมีความยาวมากที่สุดในบรรดานกยางไฟด้วยกัน โดยยาวมากกว่า 5.2 ซม. คอยาวปานกลาง ขณะบินหรือยืนนิ่งๆคอจะหดสั้น ปีกยาวปานกลาง โดยยาวราว 9.5-13 ซม. ปลายปีกค่อนข้างแหลม ขายาวปานกลาง มีขนคลุมเกือบถึงข้อ แข้งและนิ้วสีเขียวแกมเหลือง สีของขนลำตัวโดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาลแดง บริเวณหัว ขนโคนปีก ขนปลายปีก และขนปลายหางมีสีดำ

สีสันของตัวผู้และตัวเมียแตกต่างกัน โดยตัวผู้บริเวณหน้าผากถึงท้ายทอยสีดำ ตัดกับหัวและลำตัวสีน้ำตาลอ่อนแกมเหลือง ไหล่และหลังสีเข้มกว่าส่วนอื่น กลางคอด้านหน้าถึงอกสีขาว มีเส้นยาวสีน้ำตาลอ่อน ลำตัวด้านล่างมีสีน้ำตาลอ่อน หางสั้นมากและมีสีดำ ขณะบินต่างจากชนิดอื่นที่ขนคลุมปลายปีกและขนปีกบินมีสีดำ ขนคลุมใต้ปีกสีขาว

ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้มาก แต่หน้าผากถึงท้ายทอยมีสีน้ำตาลแกมดำ กลางคอถึงอกสีขาว มีเส้นยาวสีน้ำตาลชัดเจนกว่า

นกวัยอ่อนมีลักษณะคล้ายตัวเมีย แต่กระหม่อมถึงท้ายทอยมีลายขีดสีดำ กลางคอมีลายยาวสีน้ำตาลเข้ม และลำตัวด้านบนมีลายขีดสีน้ำตาลเข้ม

มักพบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ เมื่อมีศัตรูหรือสิ่งรบกวนจะบินหนีไปหลบอยู่ตามดงพืชที่หนาแน่นกว่า ออกหากินในตอนเช้าตรู่และเย็นค่ำ บางครั้งพบหากินในตอนกลางวัน อาหารได้แก่ แมลงต่างๆ โดยเฉพาะแมลงปอ แมลงปอเข็ม จิ้งหรีด และหนอนต่างๆ นอกจากนี้ยังกินสัตว์น้ำจำพวกปลา กุ้ง หอย ปู กบ เขียด และงูขนาดเล็ก ขณะออกหากินจะเกาะตามต้นไม้เล็กๆในน้ำหรือพืชลอยน้ำ ตาก็จ้องหาเหยื่อ เมื่อพบก็จะใช้ปากงับแล้วกลืนเข้าปากทันที

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม ก่อนทำรังจะมีการเกี้ยวพาราสี โดยตัวผู้เป็นฝ่ายแสดงพฤติกรรมด้วยการส่งเสียงร้องและบินไล่ต้อนตัวเมีย เมื่อตัวเมียยินยอม การผสมพันธุ์จึงจะเกิดขึ้น ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรังแบบง่ายๆ โดยใช้ส่วนของก้านและลำต้นของพืชต่างๆมาทำรัง ด้วยการวางซ้อนทับกันที่โคนของพืชที่ขึ้นอยู่ในน้ำหรือชายน้ำ เช่น อ้อ กก หรือหญ้าต่างๆ โดยอยู่สูงจากระดับน้ำราว 10-15 ซม. ทำรังอยู่โดดเดี่ยว ไม่ได้อยู่เป็นกลุ่มเหมือนนกยางสีขาวทั่วไป ตรงกลางรังเป็นแอ่งคล้ายรูปจาน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรังวัดจากขอบนอก 20-25 ซม. ตรงกลางรังลึกราว 8-10 ซม.

วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง โดยวางไข่วันละฟองทุกวันในตอนเช้า ไข่รูปไข่ ขนาดไข่ 2.63 x 3.36 ซม. สีขาว ไม่มีลายใดๆ ใช้เวลาฟักไข่ 15-17 วัน ลูกนกออกจากไข่โดยใช้ฟันเจาะเปลือกไข่ออกมา ลูกนกแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 10 กรัม มีขนอุยสีขาวหรือสีออกครีมปกคลุมร่างกายบางส่วน โดยเฉพาะลำตัวด้านบน ผิวหนังส่วนที่ไม่มีขนคลุมมีสีแดง ตาโปนสีดำ ขอบตาสีฟ้า ปากและขาสีแดง เมื่อลูกนกมีอายุได้ 1 สัปดาห์ ปากจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ขาสีเหลืองอมเขียว ลำตัวเริ่มมีขนแข็งสีน้ำตาลอมเหลือง สามารถเดินและเกาะตามกิ่งพืชที่อยู่รอบๆรังได้เป็นอย่างดี เมื่อลูกนกมีอายุ 3-4 สัปดาห์ จะมีขนแข็งปกคลุมทั่วตัว สีสันต่างๆคล้ายกับตัวเมียที่เป็นตัวเต็มวัย แต่มีขนาดเล็กกว่า และเริ่มหัดบิน เมื่อบินได้แข็งแรงก็จะแยกจากพ่อแม่ไปหากินเองตามลำพัง และทิ้งรังไปในที่สุด

ช่วงที่ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น พ่อแม่นกจะผลัดกันกกและหาอาหารมาป้อน โดยพ่อแม่นกสำรอกอาหารออกมาป้อนใส่ปากลูกนกที่อ้าปากรอรับ เมื่อลูกนกโตพอประมาณ พ่อแม่นกก็จะสำรอกอาหารทิ้งไว้ในพื้นรัง ให้ลูกนกจิกอาหารกินเอง

ขณะทำรังวางไข่นั้นจะมีพฤติกรรมอำพรางรัง เมื่อมีศัตรูหรือสิ่งรบกวนก็จะใช้วิธีเดินหลบไปในกอหญ้า พงกก หรือพงอ้อ ให้ไกลจากรังพอสมควร แล้วบินไปที่อื่น เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วก็จะบินกลับมา แต่จะไม่บินลงมาที่รังโดยตรง โดยบินลงห่างจากรังพอควรแล้วค่อยๆเดินผ่านกอพืชไปยังรัง เพื่ออำพรางตำแหน่งรัง ไม่ให้ศัตรูสังเกตได้จากการบินเข้าออกรังโดยตรง ส่วนลูกนกที่ยังบินไม่ได้จะลงน้ำและว่ายน้ำหนี เมื่อแน่ใจว่าปลอดภัยแล้วก็จะว่ายกลับไปที่รังหรือรอจนกว่าพ่อแม่จะส่งเสียงร้องเรียก

เสียงร้องดังว่า“ก่าก-ก่าก-ก่าก”

ชื่อชนิด sinensis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินสมัยใหม่ คือ คำว่า sinens แปลว่า แห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 12 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามทุ่งนา แหล่งน้ำจืดที่มีพืชน้ำหนาแน่น ป่าชายเลน ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ระดับต่ำ ช่วงย้ายถิ่นอาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,000 เมตร ทั่วทุกภาค พบประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบได้ยากในภาคตะวันออก

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในอินเดีย จีน ไต้หวัน รัสเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนิวกินี

8. นกปากห่าง

ชื่อสามัญ : Asian Openbill

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anastomus oscitans Boddaert, 1783

วงศ์ : CICONIIDAE

นกปากห่าง และนกกาน้ำเล็ก

                              เป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกอพยพ มีขนาด 68-81 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากสีน้ำตาลแกมเหลือง ปลายปากแหลม บริเวณใกล้ๆกับปลายขากรรไกรล่างจะเว้าลง ทำให้เมื่อประกบปากติดกันจะเกิดช่องว่าง มองเห็นได้ชัดเจนในตัวเต็มวัย หัวและคอสีน้ำตาล คอค่อนข้างยาว ขนลำตัวสีขาวมอๆจนถึงสีเทาอ่อน ปีกกว้างและยาว ขนโคนปีก ขนปลายปีก และหางสีดำเหลือบน้ำเงินเป็นมันเงา ขายาว แข้งและตีนสีชมพูคล้ำ

ช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้นลำตัวด้านบนและด้านล่างมีสีขาวมากขึ้น ขนปลายปีก ตะโพก และขนปลายหางเป็นสีดำ แข้งและตีนเปลี่ยนเป็นสีชมพูสดใส หรือสีแดง

ตัวไม่เต็มวัยมีหัวและคอค่อนไปทางสีน้ำตาล ปากสั้นและทื่อ ขนลำตัวสีเทา และปากยังไม่มีช่องว่างให้เห็น

เป็นนกที่บินได้ดี และเป็นระยะทางไกล ขณะบินนั้นหัวและลำคอจะเหยียดไปข้างหน้า ส่วนขาและตีนเหยียดไปข้างหลังจนพ้นปลายหาง

เป็นนกที่อาศัยและหากินเป็นฝูง มีพฤติกรรมการป้องกันอาณาเขตรังในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และอาณาเขตที่มันใช้เกาะอาศัยในช่วงฤดูอื่นด้วย

ออกหากินตั้งแต่เช้าตรู่ยามแสงตะวันขึ้น โดยหากินไปเรื่อยๆ เมื่ออากาศเริ่มร้อนขึ้นราว 11.00 น. จึงจะหยุดพักหากิน แล้วกางปีกผึ่งแดดไซร์ขน จวบจนช่วงเย็นก็จะหากินอีกครั้ง จนตะวันลับฟ้าจึงจะกลับรังนอน อาศัยและหากินเป็นฝูง บางครั้งพบฝูงใหญ่กว่า 1,000 ตัว

อาหารหลักได้แก่ หอยโข่ง และหอยเชอรี่ นอกจากนี้ยังกินหอยน้ำจืดชนิดอื่น ปลา ปู กุ้ง กบ เขียด แมลง ตัวหนอน งู และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ

พฤติกรรมการกินอาหารนั้น จะบินไปหาอาหารตามแหล่งน้ำทั้งที่ใกล้และไกลจากแหล่งอาศัย ซึ่งบางครั้งไกลกว่า 100 กม. ก่อนลงไปยังแหล่งอาหาร มันจะบินร่อนเป็นวงกลมกลางอากาศ เพื่อสำรวจความปลอดภัยและปริมาณอาหาร เมื่อแน่ใจว่าปลอดภัยและมีอาหารเพียงพอ จึงบินลงและเดินหาอาหารไปตามชายน้ำที่ไม่ลึกมากนัก นอกจากนี้มันยังชอบลงหากินบริเวณนาที่ไถพรวนใหม่ๆ และบางครั้งก็เดินตามคนหรือรถไถนาเพื่อกินสัตว์น้ำและแมลงด้วย

ร่องปากเปิดเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น เพื่อให้นกปากห่างสามารถคาบหอยโข่งหรือหอยเชอรี่ได้ถนัดและไม่หลุด ด้วยการคาบไว้ตรงร่องปาก ในลักษณะปากบนคาบอยู่บนเปลือกด้านข้างของลำตัวหอยโข่ง ส่วนปากล่างคาบอยู่ที่ฝาปิดปาก บางครั้งก็ใช้เท้าช่วยจับให้ตรงตามต้องการ แล้วนกจะขยับปากกระทบเปลือกและฝาปิดปากของหอยในลักษณะถี่ๆจนฝาหอยเริ่มเผยออก ก่อนเขย่าด้วยการผงกทั้งตัวและคอขึ้นลงเล็กน้อยให้เปลือกหอยหลุดออกไป แล้วกลืนกินเนื้อหอย แต่นักวิชาการบางท่านบอกว่านกปากห่างจะปล่อยน้ำลายอุ่นๆลงบนฝาหอย ทำให้ฝาหอยค่อยๆเผยอออกมา จากนั้นจะใช้ปลายปากดึงฝาหอยทิ้งไป แล้วค่อยๆคาบเนื้อหอยออกมากิน แต่ที่ผู้เขียนพบเห็นก็คือ นกคาบหอยจากน้ำมาวางบนบก แล้วใช้ปากแทงข้างฝาปิดปากหอย เมื่อฝาปิดปากหอยกระเด็นออกมาพร้อมกับเนื้อหอย นกจะจิกตัวหอยสลัดให้ส่วนปลาย(ขี้หอย)หลุดออกไป แล้วจึงกินเนื้อ

หากเป็นหอยขนาดเล็ก ไม่ใช่หอยโข่งหรือหอยเชอรี่ นกจะกินเนื้อหอยพร้อมฝาปิดปากหอย กรณีพื้นที่เป็นเลน เมื่อนกได้หอยแล้วจะคาบหอยไปหาแอ่งน้ำ แล้วนำหอยจุ่มน้ำ ก่อนสลัดให้เศษดินหลุดออกจากเปลือกหอย แล้วจึงใช้ปากจิกแทงฝาปิดปากหอย

นกปากห่าง และนกกาน้ำเล็ก

                              ช่วงผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์ ทำรังรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่บนต้นไม้ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือต้นไม้บนเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ รังเป็นรูปถ้วย โดยตัวผู้จะบินไปหักกิ่งไม้ กิ่งไผ่ หรือยอดไม้ มาให้ตัวเมียที่รออยู่ที่รัง นำมาขัดสานกัน แล้วปูรองพื้นรังด้วยต้นหญ้า โดยจะต่อเติมเสริมรังอยุ่เสมอเมื่อวัสดุเก่าผุพังลง ขนาดรัง 40-50 ซม. แอ่งตรงกลางรังลึกราว 5-10 ซม. วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ขนาดไข่ 4.20 x 5.68 ซม. ไข่สีขาว ไม่มีจุดหรือลาย ตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่(ใช้เวลา 27-29 วัน) และเลี้ยงดูลูกอ่อน

ขณะผสมพันธุ์ที่ตัวผู้ขึ้นทับตัวเมียนั้น ตัวผู้จะใช้เท้าจับขอบปีกหน้าของตัวเมียไว้แน่น ทั้งคู่จะช่วยกันกระพือปีกเพื่อช่วยการทรงตัว และตัวผู้จะแกว่งปากของมันให้กระทบกับปากของตัวเมียอยู่ตลอดเวลาที่ผสมพันธุ์

ลูกนกออกจากไข่ด้วยการใช้ฟันเจาะเปลือกไข่ออกมา เมื่อออกจากไข่ใหม่ๆจะมีขนอุยสีขาวปกคลุมลำตัวบางส่วน โดยเฉพาะลำตัวด้านบน ปากติดกัน ไม่มีร่องเปิด แข้งและตีนไม่แข็งแรงพอที่จะยืนหรือเดินได้ ช่วงนี้พ่อแม่นกจะผลัดกันออกไปหาอาหารและเฝ้ารัง หากมีอากาศร้อนก็จะให้ลูกๆซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง หรือกางปีกยกขึ้นบังแดดให้ หรือคาบกิ่งไม้มาจุ่มน้ำแล้วนำไปวางไว้ในรัง เพื่อให้รังชุ่มชื้น บางครั้งก็จะอมน้ำนำมาพรมบนรังหรือตามตัวลูกนกเพื่อให้คลายร้อน ป้อนอาหารลูกด้วยการสำรอกใส่ปากลูกที่คอยอ้ารับ เมื่อลูกโตพอประมาณจึงจะสำรอกไว้ในรัง ให้ลูกจิกอาหารกินเอง จวบจนเมื่อลูกนกมีอายุได้ราว 40-50 วัน ก็จะแข็งแรงและบินได้ ก่อนจะทิ้งรังไป แต่ก็ยังคงเกาะตามกิ่งไม้ใกล้เคียงเพื่อพักผ่อนและหลับนอน

ชื่อชนิด oscitans เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ คำว่า oscitans หรือ oscitare แปลว่า อ้าปากกว้าง ความหมายก็คือ“นกที่มีปากอ้าขึ้น” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในเมือง Pondicherry ประเทศอินเดีย

พบอาศัยอยู่เป็นฝูงตามทุ่งนา หนอง บึง พื้นที่ชุ่มน้ำ และแหล่งน้ำจืด อาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 700 เมตร พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม)

9. นกยอดข้าวหางแพนลาย

ชื่อสามัญ : Fan-tailed Warbler ; Streaked Fantail Warbler ; Zitting Cisticola

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cisticola juncidis Rafinesque, 1810

วงศ์ : CISTICOLIDAE

นกยอดข้าวหางแพนลาย

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 10.5-12 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) คิ้วยาวสีขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเนื้อ จนถึงสีน้ำตาลแกมเหลือง และมีลายขีดหนาสีดำกระจาย ตะโพกสีน้ำตาลแดงแกมเนื้อจะเห็นได้ชัดขณะบิน หางสีน้ำตาล ปลายหางสีดำ-ขาว ลำตัวด้านล่างสีขาว อกและสีข้างสีน้ำตาลเหลืองหรือแกมน้ำตาลแดง ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย แต่มีหางสั้นกว่า ส่วนตัวเมียไม่มีแต้มสีขาวที่ปลายขนหางคู่ในเหมือนตัวผู้

ช่วงฤดูผสมพันธุ์บริเวณหัวมีสีเข้มขึ้น หางสั้นลงเล็กน้อยและมีสีน้ำตาลแดงมากขึ้น ตัวเมียมีลายสีดำบนกระหม่อมและหลังชัดเจนขึ้น ส่วนตัวผู้นั้นลายสีดำบนกระหม่อมจะจางเลือนหายไป และหางจะสั้นกว่าตัวเมีย ซึ่งหางที่สั้นลงของตัวผู้ช่วยให้มีความคล่องตัวในการส่งเสียงประกาศอาณาเขตกลางอากาศและบินขับไล่ตัวผู้ตัวอื่นที่เข้ามา

มักพบโดดเดี่ยว หรือเป็นฝูงเล็กๆ มักหลบซ่อนตามกอหญ้า กอข้าว หรือพุ่มไม้ ทำให้มองไม่ค่อยเห็นตัว นอกจากได้ยินเสียงร้อง เมื่อตกใจหรือมีสิ่งรบกวนจะบินหนี แต่ในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วก็จะบินกลับมายังที่เดิมหรือใกล้ที่เดิม

หากินเกือบชิดติดพื้นดิน ไม่ค่อยพบที่เกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ ไม้พุ่ม หรือแม้กระทั่งยอดหญ้ายอดข้าว เวลาเกาะนั้นขนหางจะแผ่ออกเล็กน้อยคล้ายพัด อาหารได้แก่ แมลง และหนอนต่างๆ

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรังตามพืชกอหญ้า โดยใช้ต้นหญ้าและใบหญ้ามาโอบหุ้มเข้าด้วยกันเป็นโครงร่าง แล้วใช้ใบหญ้าและพืชอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงมาปกคลุมโครงฯ เย็บหรือเชื่อมวัสดุต่างๆเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุมหรือใบพืชที่ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆตามยาว รังที่สร้างเสร็จแล้วจะมีรูปร่างคล้ายรูปถุงแคบๆ รูปทรงกระบอก หรือรูปไข่ ด้านบนมีขนาดเล็กใช้เป็นทางเข้าออกรัง

วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ขนาดไข่ 1.15 x 1.5 ซม. สีสันมีหลายแบบแตกต่างกัน ส่วนใหญ่มีสีพื้นเป็นสีขาว บางครั้งก็เป็นสีน้ำเงินจาง มีลายจุด ลายขีด หรือลายดอกดวงสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง การฟักไข่นั้นตัวเมียจะทำหน้าที่เป็นส่วนใหญ่ ใช้เวลาฟักไข่ 10-11 วัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันเลี้ยงดูลูกอ่อนจนแข็งแรง จึงทิ้งรังไป

นกยอดข้าวหางแพนลาย

                    เสียงร้องเป็นจังหวะสูงๆต่ำๆดังว่า“พิพ-พิพ-พิพ” , “พริด-พริด-พริก” หรือ“ชิด-ชิด-ชิด”

ชื่อชนิด juncidis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ 2 คำ คือ คำว่า junc,=us หรือ iuncus เป็นภาษาละติน แปลว่า ต้นกก หรือต้นอ้อ และคำว่า -idi,=a,=um,=us เป็นภาษากรีก แปลว่า เล็ก ความหมายก็คือ“นกที่อาศัยตามพุ่มกอหญ้าขนาดเล็ก”

ทั่วโลกพบ 18 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย malaya Lynes, 1930 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลก ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

แต่นักวิชาการบางท่านบอกว่าในไทยพบ 2 ชนิดย่อย อีกชนิดย่อยหนึ่ง คือ ชนิดย่อย tinnabulans Swinhoe, 1859 มีชื่อสามัญว่า Double Zitting Cisticola ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในจีน ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และฟิลิปปินส์

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ประมาณ 40 ชนิด ในเมืองไทยพบ 2 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งหญ้า แหล่งน้ำต่างๆ ป่าละเมาะ ตลอดจนพื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 1,220 เมตร ทั่วทุกภาค

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

10. นกเขาใหญ่

ชื่อท้องถิ่น : นกเขาหลวง

ชื่อสามัญ : Eastern Spotted Dove ; Spotted Dove ; Spot-necked Dove

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Streptopelia chinensis Scopoli, 1786

วงศ์ : COLUMBIDAE

นกเขาใหญ่

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 28-32 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวสีเทา ปากสีน้ำตาลค่อนข้างยาวและตรง คอและลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลแกมม่วง คอค่อนข้างสั้น หลังคอมีแถบสีดำและมีจุดเล็กๆสีขาวกระจาย อกสีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านบนสีออกน้ำตาล โดยปีกจะมีสีเข้มกว่า มีสีเทาพาดบริเวณขนปกคลุมปีกแนวแรกที่อยู่ทางด้านนอกและบริเวณส่วนโค้งของปีก หางยาวปานกลาง ขนหางคู่นอกสุดมีความกว้าง ปลายสุดมีสีขาว ท้องและขนคลุมโคนขนหางด้านล่างสีขาว ขาและนิ้วสีแดง

มักพบเป็นคู่หรืออยู่เป็นฝูงเล็กๆเกาะตามสายไฟฟ้าสองข้างทางถนน และเกาะตามกิ่งไม้แห้ง ยกเว้นในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนจะเกาะตามกิ่งไม้ที่ใบแน่นทึบ อาจเกาะตามพื้นถนนหรือพื้นดินเพื่อหากิน โดยกินเมล็ดธัญพืช เมล็ดพืช แมลง และหนอนต่างๆ

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม ทำรังแบบง่ายๆด้วยการใช้กิ่งไม้เล็กๆหรือกอหญ้ามาวางซ้อนทับกัน อาจจะมีการสานสอดหรือไขว้ไปมาบ้าง บนต้นไม้ที่อยู่สูงจากพื้นดินราว 2-4 เมตร โดยทำตรงกลางรังให้เป็นแอ่ง แล้วนำหญ้าหรือใบไม้มาวางกลางแอ่งเพื่อรองรับไข่ รูปร่างรังคล้ายจานกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง(วัดจากขอบนอก) 12-15 ซม. ลึกราว 3-5 ซม.

วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาดไข่ 2.15 x 2.9 ซม. ไข่เป็นรูปไข่ สีขาว ไม่มีลาย จุด หรือขีดใดๆ ใช้เวลาฟักไข่ราว 14-15 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่ลืมตา และยังไม่แข็งแรงพอที่จะยืนหรือเดินได้ รูปร่างค่อนข้างเทอะทะ หัวโต ท้องป่อง มีขนอุยสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมเล็กน้อย โดยเฉพาะทางด้านบนลำตัว พ่อแม่จะช่วยกันกกลูก โดยให้ลูกๆซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และช่วยกันเลี้ยงดูลูกด้วยสิ่งที่สกัดออกมาจากกระเพาะพัก ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำนม เมื่อลูกนกมีอายุราว 1 สัปดาห์ จะมีขนอุยปกคลุมเกือบทั่วตัว และเมื่อมีอายุราว 2 สัปดาห์ จะมีขนอุยปกคลุมเต็มตัวคล้ายตัวเต็มวัย ยกเว้นบริเวณต้นคอไม่มีลายแถบสีดำและจุดสีขาว ต่อมาจะเริ่มหัดบิน โดยมีพ่อแม่คอยดูแล เมื่อลูกนกบินได้แข็งแรงแล้วก็จะทิ้งรังไป ลูกนกใช้เวลาปีเดียวก็จะโตเต็มวัยพอที่จะผสมพันธุ์ได้ เมื่อลูกนกมีอายุ 2-3 ปี ก็จะแข็งแรงเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดี ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน

นกชนิดนี้มีชุกชุม เพราะปรับตัวได้เก่งตามภูมิประเทศที่อาศัยอยู่

มักอยู่เป็นคู่และส่งเสียงร้องในยามเช้าและเย็น เสียงร้องก้องกังวานไพเราะได้ยินไปไกล โดยร้องได้หลายแบบ ดังว่า“วุ่ก-วุค-ครู่ วุ่ก-วุค-ครู่” “คุ๊ก-ครู-คุก” “คุ๊ก-ครู-รู-คุก” “คุ๊ก-คุ๊ก-ครูรู-ครุ๊ก” “คู-ครรรู-ครุ๊ก” และ“คุ-คุ-ครรรู” ทำให้เป็นนกที่นิยมนำมาเลี้ยงกันมากชนิดหนึ่ง ซึ่งนกชนิดนี้ในกรงเลี้ยงมีอายุยืนถึง 20 ปี หรือมากกว่า ต่างจากนกตามธรรมชาติที่มีอายุน้อยกว่า เพราะมีภัยตามธรรมชาติมากกว่า

การร้องเป็นการประกาศอาณาเขต และดึงดูดเพศตรงข้ามในการผสมพันธุ์

ชื่อชนิด chinensis เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศจีน ซึ่งพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก

ทั่วโลกพบ 8 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย suratensis Gmelin, JF, 1789 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ จ.สุราษฎร์ธานี ประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบชนิดย่อยนี้เป็นครั้งแรกของโลก

– ชนิดย่อย tigrina Temminck, 1810 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า igri,-n แปลว่า เสือโคร่ง ความหมายก็คือ“มีลายลักษณะคล้ายลายเสือโคร่ง” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย มีลักษณะลำตัวสีจางกว่าและมีแต้มสีน้ำตาลที่ปีกเข้มชัดกว่าชนิดย่อย chinensis ที่พบในประเทศจีน นอกจากนี้นั้นชนิดย่อยนี้ยังมีม่านตาสีเหลืองหรือสีส้ม และวงรอบตาสีฟ้าอมเทา ชนิดย่อยนี้แพร่กระจายในอินเดีย บังกลาเทศ เมียนมาร์ ภูมิภาคอินดดจีนผไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินดดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และติมอร์ สำหรับในไทยพบชนิดย่อยนี้ได้ทั่วทุกภาค

– ชนิดย่อย vacillian Hartert ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า vacill,-a แปลว่า คลื่น ความหมายก็คือ“มีลายลักษณะคล้ายคลื่น” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ทางภาคเหนือตอนบน

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 9 ชนิด ในเมืองไทยพบ 3 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามชุมชน สวนสาธารณะ พื้นที่เกษตร เรือกไร่สวน ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 2,040 เมตร ทั่วทุกภาค

11. นกเขาไฟ

ชื่อสามัญ : Burmese Red Turtle Dove ; Indochinese Red Dove ; Red Collared Dove ; Red Turtle Dove

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Streptopelia tranquebarica Hermann, 1804

วงศ์ : COLUMBIDAE

นกเขาไฟ ตัวผู้

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 22-24.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ปากอ้วนและค่อนข้างสั้น คอสั้น ปีกยาวแหลม หางยาวปานกลาง ขนหางคู่นอกสุดกว้าง ตอนปลายสีขาว และขาค่อนข้างสั้น

ตัวผู้มีสีสันตามลำตัวและขนปกคลุมปีกด้านบนเป็นสีน้ำตาลแดงจนถึงสีน้ำตาลแดงแกมม่วง ตัดกับสีของหัวและคอหอยที่เป็นสีเทา และขนปลาบปีกที่เป็นสีดำ บริเวณต้นคอมีแถบสีดำลักษณะเป็นครึ่งวงกลมอยู่ทางด้านบน ทางด้านท้ายของลำตัวด้านบนจนถึงหางมีสีเทา ขนปกคลุมด้านล่างของหางเป็นสีขาว ขนหางคู่นอกๆสีขาวประมาณครึ่งหนึ่ง ปากสีดำ ขาและนิ้วสีน้ำตาลแกมดำ

ส่วนตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้ แต่ลำตัวมีสีน้ำตาล หัวและหลังตอนท้ายจนถึงหางมีสีน้ำตาลแกมเทา มีแถบที่ต้นคอเช่นเดียวกับตัวผู้

ตัวไม่เต็มวัยมีสีสันเหมือนตัวเมีย แต่ไม่มีแถบที่ต้นคอ

มักพบเป็นคู่หรือเป็นฝูงเล็กๆ 4-5 ตัว มักพบเกาะตามสายไฟฟ้าสองข้างทางถนน และลงหากินตามพื้น หรืออาจเกาะตามกิ่งไม้แห้ง ยกเว้นในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนจะเกาะตามกิ่งไม้ที่ใบแน่นทึบ มีลักษณะการบินคล้ายนกพิราบ กินเมล็ดธัญพืชต่างๆเป็นอาหาร เช่น ข้าว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด เป็นต้น นอกจากนี้ยังกินเมล็ดพืชอื่นๆอีกด้วย การหากินใช้วิธีเดินจิกอาหารตามพื้นในทุ่งนา ทุ่งหญ้า เรือกไร่สวน หรือถนน นอกจากนี้ยังกินโป่งที่เป็นแหล่งดินหรือน้ำที่มีธาตุแคลเซียมและโซเดียมสูง เนื่องจากแร่ธาตุทั้งสองมีความจำเป็นต่อร่างกายมาก เพราะนกชนิดนี้ได้แร่ธาตุดังกล่าวจากอาหารปกติน้อยมาก

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรังแบบง่ายๆด้วยการใช้กิ่งไม้เล็กๆหรือกอหญ้ามาวางซ้อนทับกันตามง่ามไม้ที่อยู่สูงจากพื้นดินราว 2-5 เมตร โดยทำตรงกลางรังให้เป็นแอ่ง แล้วนำหญ้าหรือใบไม้มาวางกลางแอ่งเพื่อรองรับไข่ รูปร่างรังคล้ายจานกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง(วัดจากขอบนอก) 8-12 ซม. ลึกราว 2-3 ซม.

วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาดไข่ 1.97 x 2.75 ซม. ไข่เป็นรูปไข่ สีขาว ไม่มีลาย จุด หรือขีดใดๆ ตัวผู้จะฟักไข่ในเวลากลางวันและช่วงที่ไข่กำลังจะฟักออกมาเป็นตัว ส่วนตัวเมียจะฟักไข่ในเวลากลางคืน ใช้เวลาฟักไข่ราว 13-14 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆยังไม่ลืมตา มีขนอุยปกคลุมลำตัวบางส่วนโดยเฉพาะทางด้านบนลำตัว พ่อแม่จะช่วยกันกกลูก โดยให้ลูกๆซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และช่วยกันเลี้ยงดูลูกด้วยสิ่งที่สกัดออกมาจากกระเพาะพัก ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำนม เมื่อลูกนกมีอายุราว 1 สัปดาห์ จะมีขนอุยปกคลุมเกือบทั่วตัว และเมื่อมีอายุราว 2 สัปดาห์ ลูกนกก็แข็งแรงและบินได้ ก่อนทิ้งรังไป ลูกนกใช้เวลาปีเดียวก็จะโตเต็มวัยพอที่จะผสมพันธุ์ได้

เสียงร้องก้องในลำคอดังว่า“ครุด-อู่-ครู่-ครู่” หรือ“ครู-ครู-ครู-ครู” โดยร้อง 4-5 พยางค์ ซ้ำๆกันหลายครั้ง แต่เป็นเสียงไม่ค่อยดังและไพเราะเหมือนนกเขาใหญ่(Spotted Dove)

การร้องเป็นการประกาศอาณาเขต และดึงดูดเพศตรงข้ามในการผสมพันธุ์

ชื่อชนิด tranquebarica เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ Tranquebaria ประเทศอินเดีย ซึ่งพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก

ทั่วโลกมี 3 ชนิดย่อย แต่พบในเมืองไทยเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย humilis Temminck, 1824 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ humil,-i แปลว่า พื้นดิน หรือพื้นที่ที่ต่ำ ความหมายก็คือ“นกที่หากินตามพื้นดิน หรือนกในพื้นที่ระดับต่ำ” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกที่รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย

พบอาศัยตามแหล่งชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม เรือกไร่สวน ชายป่า และพื้นที่เปิดโล่งต่างๆตามพื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,200 เมตร ทั่วทุกภาค แต่พบได้ยากในภาคใต้

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

ชนิดย่อย humilis แพร่กระจายในอินเดีย หมู่เกาะอันดามัน เนปาล ทิเบต จีน ไต้หวัน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย(พบได้น้อยมาก) และฟิลิปปินส์

12. นกแซงแซวหางปลา

ชื่อสามัญ : Black Drongo

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicrurus macrocercus Vieillot, 1817

วงศ์ : DICRURIDAE

นกแซงแซวหางปลา ชนิดย่อย cathoecus

                              เป็นนกประจำถิ่น บางส่วนเป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว มีขนาด 27-28.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ขนลำตัวสีดำเหลือบน้ำเงินเล็กน้อย หางยาว 12.5-18.4 ซม. หางเว้าลึกมากที่สุดในในนกแซงแซวทั้ง7ชนิดที่พบในไทย ปลายขนหางคู่นอกสุดจะโค้งขึ้นเล็กน้อย ม่านตาสีแดง ปากสีดำ ปากบนขบปากล่าง แข้งและตีนสีดำ บางครั้งมีจุดสีขาวที่หัวตาหรือมุมปาก

ตัวไม่เต็มวัยมีอกสีเทาเข้ม มักมีลายเกล็ดสีขาวบริเวณขนปีกด้านล่าง อกตอนล่าง ท้อง และขนคลุมโคนขนหางด้านล่าง

ที่จริงชื่อไทย“นกแซงแซวหางปลา”ไม่ได้บ่งบอกลักษณะเฉพาะเจาะจงเท่าใดนัก เพราะนกแซงแซวหลายชนิดก็มีหางแฉกลึกคล้ายหางปลาตะเพียนอยู่แล้ว อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ตัวสีดำ ชื่อสามัญ Black Drongo จึงไม่สื่ออะไรเท่าไหร่ แต่ก็จะพอหยวนๆได้ตรงที่มันเป็นนกแซงแซวที่มีหางแฉกลึกที่สุด และตัวสีดำขลับไม่เหลือบเป็นมันวาวเท่าชนิดอื่นๆ หลายตัวมีจุดสีขาวที่มุมปากด้วย

เป็นนกแซงแซวชนิดเดียวที่ชอบเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ที่โล่งแจ้ง ตามท้องทุ่งริมทางใกล้แหล่งน้ำ บางครั้งก็ลงมาตามพื้นดิน มักหากินเพียงตัวเดียว หรืออยู่เป็นคู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ บางครั้งออกหากินเป็นฝูงเล็กๆ 3-6 ตัว เป็นนกที่มีอุปนิสัยก้าวร้าว หากมีนกอื่นมาใกล้ก็จะไล่จิกตี แม้แต่นกล่าเหยื่อก็ต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกรงเล็บที่แหลมคมและอุปนิสัยใจสู้ไม่เกรงกลัวใครของนกแซงแซว โดยเฉพาะช่วงวางไข่และฟักลูกจะมีนิสัยก้าวร้าวมากขึ้น จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญอย่างไม่เป็นทางการว่า“King-crow” ที่แปลตรงตัวได้ว่า“ราชาแห่งอีกา”

มักเกาะหากินใกล้ๆนกชนิดอื่น เช่น นกเอี้ยง เป็นต้น เพื่อรอจังหวะโฉบจับแมลงที่หนีออกมาจากนกชนิดอื่น ในขณะเดียวกันนกชนิดอื่นก็มีนกแซงแซวคอยการันตีความปลอดภัยจากนกล่าเหยื่อ แต่นกเหล่านั้นก็อาจโดนนกแซงแซวฉวยโอกาสขโมยเหยื่อตัวใหญ่จากปากไปกินเป็นค่าคุ้มครองได้เช่นกัน

พฤติกรรมการหาอาหารมีหลายแบบ อาทิเช่น เกาะกิ่งไม้ รอโฉบจับแมลงกลางอากาศ แล้วกลับมาที่เดิมเพื่อกลืนกินอาหาร , บินฉวัดเฉวียนกลางอากาศเพื่อไล่จับแมลงเหนือบริเวณที่กำลังเกิดไฟไหม้ , ลงมาตามพื้นดินแล้วใช้ปากจิกมด ปลวก หรือแมลงต่างๆ , เกาะหลังสัตว์เลี้ยงจำพวกวัวควาย เพื่อรอจับแมลงที่หนีจากสัตว์เลี้ยงที่เดินย่ำไป เป็นต้น

ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ มักรวมฝูงเกาะนอนตามป่าละเมาะ และบินอพยพไปด้วยกันในเวลากลางวัน บางครั้งอาจมีนกแซงแซวอพยพชนิดอื่นและนกกิ้งโครงมารวมฝูงนอนปะปนด้วย

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำรังตามง่ามไม้เกือบปลายสุดของกิ่ง บางครั้งในต้นเดียวกันอาจมีรังของนกชนิดอื่นอยู่ด้วย อย่างเช่น นกขมิ้น นกเขา และนกปรอด ซึ่งนกเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อนกแซงแซว และนกแซงแซวก็ไม่ก้าวร้าวกับนกเหล่านี้ รังเป็นรูปถ้วยตื้นๆ วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ต้นหญ้า ใบไม้ สารเยื่อใยต่างๆ และเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม ปูพื้นรังด้วยขนสัตว์และหญ้าอ่อน

นกแซงแซวหางปลา ชนิดย่อย cathoecus

                              วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ขนาดไข่ 1.98 x 2.71 ซม. ส่วนใหญ่ไข่มีสีขาว หรือสีครีมแกมชมพู มีลายจุดลายดอกดวงสีดำและสีน้ำตาลแกมแดง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน บ่อยครั้งที่นกคัคคูต่างๆ(Cuckoo)และนกกาเหว่า(Asian Koel)จะใช้รังของนกแซงแซวหางปลาเป็นที่วางไข่ และปล่อยให้เจ้าของรังช่วยฟักไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน

เสียงร้องแหบดังว่า“แซ่ก-แซ่ก” และสามารถร้องเลียนเสียงนกชนิดอื่นได้

ชื่อชนิด macrocercus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า macr,-o หรือ makros แปลว่า ใหญ่ หรือยาว และคำว่า cerc,-o,=us แปลว่า หาง ความหมายก็คือ“นกที่มีหางขนาดใหญ่หรือมีหางยาว” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย

ทั่วโลกพบ 7 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 3 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย albirictus Hodgson, 1836 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ alb,-i,-id หรือ albus แปลว่า สีขาว และคำว่า rict หรือ rictus แปลว่า มุมปาก ความหมายก็คือ“บริเวณมุมปากเป็นสีขาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเนปาล แพร่กระจายในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย จีน เมียนมาร์ตอนเหนือ และไทย สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นนกอพยพ พบทางภาคเหนือ

– ชนิดย่อย cathoecus Swinhoe, 1871 ชื่อชนิดย่อยยังไม่ทราบที่มาและความหมายที่แน่นอน อาจจะมาจากคำว่า Catholic แปลว่า ผู้นับถือศาสนาคริสต์ หรือมีถิ่นกำเนิดทั่วโลก ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกทางตอนใต้ของประเทศจีน แพร่กระจายในจีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และสิงคโปร์ สำหรับในไทยชนิดย่อยนี้เป็นทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ พบทั่วทุกภาค

– ชนิดย่อย thai Boden Kloss, 1921 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศไทย ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชนิดย่อยนี้มีขนาดเล็กกว่าชนิดย่อย cathoecus แต่หางแฉกลึกกว่า แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย และกัมพูชา สำหรับในไทยชนิดย่อยที่เป็นนกประจำถิ่น พบทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน

พบอาศัยตามสวนสาธารณะ ทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม หนอง บึง ส่วนใหญ่พบตามพื้นที่ราบ น้อยมากที่จะพบตามป่าเขา แต่ก็อาจพบได้ในช่วงย้ายถิ่น โดยอาจพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯได้ถึง 2,000 เมตร ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก เป็นนกประจำถิ่น ส่วนทางภาคใต้จะเป็นนกอพยพมาในช่วงฤดูหนาว

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

13. นกกระติ๊ดขี้หมู

ชื่อสามัญ : Nutmeg Mannikin ; Ricebird ; Scaly-breasted Munia ; Spice Finch ; Spotted Munia

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lonchura punctulata Linnaeus, 1758

วงศ์ : ESTRILDIDAE

นกกระติ๊ดขี้หมู ชนิดย่อย topela

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 11-12.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) รูปร่างอ้วนสั้น หัว อก และลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ปากหนาเป็นกรวยสีดำ ลำตัวด้านล่างสีขาวแกมเทาและมีลายเกล็ดสีน้ำตาล กลางท้องถึงก้นสีขาว ปลายปีกและปลายหางมน หางสีน้ำตาลแกมเหลือง

ช่วงวัยอ่อน ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลอ่อนกว่า ลำตัวด้านล่างสีเนื้อ ไม่มีลายเกล็ดที่อก และปากล่างสีอ่อนกว่าปากบน

พบเป็นคู่ หรืออยู่รวมกันเป็นฝูง บางครั้งอาจพบกว่าหลายร้อยตัว เป็นนกที่บินได้ดีมาก แต่บินในระดับที่ไม่สูงมากนัก ลักษณะการบินเป็นฝูงจะเกาะกลุ่มกันคล้ายกับการบินของฝูงผึ้ง อาจบินตรง หรือบินเป็นลูกคลื่นพร้อมๆกัน หรือตามกัน อาจพบเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ขนาดกลาง ไม้พุ่ม ต้นหญ้า และธัญพืชต่างๆ บางครั้งลงมายังพื้นดิน บ่อยครั้งที่มีพฤติกรรมอาบน้ำและอาบฝุ่นโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน

อาหารได้แก่ เมล็ดข้าวเปลือก ธัญพืช และเมล็ดหญ้า ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์จะหากินเป็นฝูงใหญ่ มักลงกินข้าวในนาที่กำลังออกรวงเหลืองสุก โดยเฉพาะช่วงบินขึ้นลงพร้อมๆกันเป็นฝูง ทำให้เมล็ดข้าวหล่นจากรวงเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้แก่ชาวนา นอกจากนี้ยังกินหนอน และแมลงในช่วงเลี้ยงดูลูกอ่อน

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนสิงหาคม ทำรังตามง่ามไม้ของต้นไม้และไม้พุ่มต่างๆที่เป็นแหล่งอาศัยและหากิน ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2-6 เมตร รังเป็นรูปโดมหรือรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 20-30 ซม. มีทางเข้าออกรังอยู่ทางด้านข้าง ปากทางเข้าออกมีขนาด 3-5 ซม. วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบไปด้วยใบหญ้าหรือใบไม้ที่มีรูปเรียวยาว ไม่ว่าจะเป็นใบหญ้า ใบสนทะเล และใบสนประดิพัทธ์ ภายในรังจะบุด้วยดอกหญ้าหรือขนนกเพื่อรองรับไข่

เมื่อทั้งตัวผู้และตัวเมียเลือกสถานที่สร้างรังแล้ว ตัวใดตัวหนึ่ง(น่าจะเป็นตัวผู้)จะเป็นตัวหาวัสดุ จากนั้นคาบมาส่งให้อีกตัวหนึ่ง(คาดว่าน่าจะเป็นตัวเมีย)ทำการสร้างรัง ใช้เวลาค่อนข้างเร็วมาก เพียง 3-4 วัน ก็เรียบร้อย วางไข่ครั้งละ 6-8 ฟอง ขนาดไข่ 1.13 x 1.72 ซม. สีขาว ไม่มีลายจุดหรือลายขีดใดๆ ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันฟักไข่ ใช้เวลาฟักไข่ราว 10-12 วัน ลูกนกที่ออกมาจากไข่ใหม่ๆจะไม่มีขนคลุมร่างกาย พ่อแม่นกต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาเลี้ยงดู ส่วนใหญ่จะเป็นหนอน และแมลง เมื่อลูกมีอายุได้ราว 13-15 วัน ก็จะมีขนคลุมเต็มตัวและบินได้ จากนั้นจะบินออกไปหากินร่วมกับนกตัวอื่นหรือครอบครัวครัวอื่นๆจนเป็นฝูงใหญ่ และทิ้งรังไป

นกกระติ๊ดขี้หมูเป็นนกชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้หรือไม่รู้ว่าผิดกฎหมายก็ไม่ทราบได้ นำตาข่ายไปดักจับตามทุ่งนาทุ่งหญ้า มาขังไว้ในกรง แล้วมาขายให้แก่ผู้ที่มาทำบุญตามวัด เพื่อปล่อยนกตามความเชื่อของชาวไทยพุธที่นิยมปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อทำบุญหรือสะเดาะเคราะห์ เหตุที่คนเหล่านั้นดักจับนกชนิดนี้ก็เพราะเป็นนกที่ปรับตัวอยู่ได้ในทุกถิ่นอาศัย เว้นแต่เพียงป่าลึกเท่านั้น นอกจากนี้มันสามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ทำให้พบได้เป็นจำนวนมาก

เสียงร้องติดต่อกันและค่อนข้างถี่ ดังว่า “ชิด-อิด” จะได้ยินเสียงร้องเกือบทุกฤดู แต่จะร้องบ่อยมากในช่วงฤดูผสมพันธุ์

ชื่อชนิด punctulata เป็นคำในภาษาละตินสมัยใหม่ คือ punctulatus (punct,-i) แปลว่า ลายจุด ความหมายก็คือ“นกที่มีลวดลายเป็นลายจุด” โดยพบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลกบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

ทั่วโลกพบ 12 ชนิดย่อย แต่พบในไทยเพียง 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย fretensis Kloss, 1931ไม่ทราบที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อย แพร่กระจายในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในเมืองไทยพบเฉพาะทางภาคใต้ มักเรียกว่า“นกกระติ๊ดขี้หมูพันธุ์ใต้” มีสีน้ำตาลอ่อนกว่า แต่ลายเกล็ดใหญ่กว่าและหนากว่า และตะโพกสีเทา

– ชนิดย่อย topela Swinhoe, 1863 ไม่ทราบที่มาและความหมายของชื่อชนิดย่อย คงรู้แต่ว่าชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกในประเทศจีน แพร่กระจายในจีนด้านตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน เมียนมาร์ และภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ในเมืองไทยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ มักเรียกว่า“นกกระติ๊ดขี้หมูพันธุ์เหนือ”

นกสกุลนี้ทั่วโลกพบประมาณ 35 ชนิด ในเมืองไทยพบ 6 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบตามสวนสาธารณะ ทุ่งหญ้า ทุ่งนา สวนผลไม้ ป่าละเมาะ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,500 เมตร

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

14. นกจาบคาหัวเขียว

ชื่อสามัญ : Blue-tailed Bee-eater ; Brown-breasted Bee-eater ; Green-headed Bee-eater

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Merops philippinus Linnaeus, 1766

ชื่อพ้อง : M. superciliosus Linnaeus, 1766

วงศ์ : MEROPIDAE

นกจาบคาหัวเขียว

                              มีทั้งที่เป็นนกประจำถิ่น และนกอพยพ มีขนาด 30 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัว ท้ายทอย และลำตัวด้านบนสีเขียว และมีสีน้ำตาลแดงแซมปะปน โดยเฉพาะบนหัว ทำให้เมื่อส่องดูด้วยกล้องฯจะมองราวกับว่าหัวมีสีเขียวแกมน้ำตาลส้ม ดวงตาสีแดงก่ำ แถบคาดตาสีดำ ขอบแถบคาดตามีสีฟ้าอ่อน ใต้คางสีขาวแกมเหลือง ปากแหลมยาว คอและอกตอนบนสีน้ำตาลแดงหรือสีส้มแกมน้ำตาล ตะโพกสีฟ้าวาว หางสีฟ้า หางคู่กลางยื่นยาวออกไปจากขนหางคู่อื่นๆ รูปแหลมยาวเหมือนเข็ม

ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ต่างกันที่ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย สีสันสดใสกว่า และหางคู่กลางยื่นยาวออกมามากกว่าเล็กน้อย ซึ่งสังเกตได้ยาก

ตัวไม่เต็มวัยนั้นบริเวณคอและอกตอนบนมีสีทึมกว่าตัวเต็มวัย และยังไม่มีหางคู่กลางยื่นยาวออกมา ดูคล้ายนกจาบคาหัวสีส้ม(Chestnut-headed Bee-eater)

มักพบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรืออยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ มักพบเกาะสายไฟ กิ่งไม้ หรือตอไม้ ขณะเกาะนั้นลำตัวเกือบตั้งตรง เป็นนกที่บินได้ดีและเร็วมาก บางครั้งใช้วิธีการร่อน บางครั้งพบฝูงใหญ่หลายร้อยตัวในช่วงพลบค่ำเพื่อเกาะนอน

อาหารได้แก่ แมลงต่างๆที่บินได้ โดยเฉพาะปอ และผึ้ง ด้วยการโฉบจับกลางอากาศ แล้วกลับมาเกาะที่เดิม หากเป้นแมลงขนาดเล็กก็จะกลืนกินทันที หากเป็นผึ้งก็จะถูเอาเหล็กในออก ก่อนที่จะกลืนเข้าไป และหากเป็นแมลงขนาดใหญ่ก็จะฟาดเหยื่อเข้ากับที่เกาะจนตาย บ้างก็คาบไว้จนกว่าแมลงจะตาย แล้วใช้กรงเล็บจับเหยื่อแทน และใช้ปากเด็กปีกทิ้ง ก่อนกลืนกินทั้งตัว หรืออาจฉีกกินทีละชิ้น ส่วนเปลือกและเศษแมลงที่ไม่สามารถย่อยได้จะถูกขย้อนทิ้งออกมาเป็นก้อน

ช่วงผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนเมษายน – เดือนกรกฎาคม โดยทำรังใกล้ๆกันเป็นฝูงตามริมตลิ่ง หน้าผาดิน หรือเนินดินเตี้ยๆที่เป็นดินทราย ด้วยการใช้ปากที่แหลมยาวและกรงเล็บขุดดินให้เป็นโพรง ขนาดปากโพรง 4-6 ซม. ลึกราว 1-2 เมตร ข้างในสุดทำเป็นโพรงขนาดใหญ่ วางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง ขนาดไข่ 1.92 x 2.31 ซม. ไข่รูปค่อนข้างกลม สีขาวนวล ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันขุดโพรง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลุกนกที่ออกมาใหม่ๆยังไม่มีขนคลุมร่างกายและยังไม่ลืมตา พ่อนกแม่นกต้องช่วยกันกกและหาอาหารมาป้อนให้ ใช้เวลาราว 2-3 สัปดาห์ ลูกนกก็จะเริ่มหัดบิน จากนั้นไม่นานก็จะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพังและทิ้งรังในที่สุด

นกจาบคาหัวเขียว

                    เสียงร้องแหลมดังว่า“ริริบ ริริบ” และ“ชริป ชริป”

ชื่อชนิด philippinus เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้ครั้งแรกของโลก

ชื่อชนิดที่เป็นชื่อพ้อง superciliosus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า superciliosus หรือ supercilios แปลว่า คิ้ว ความหมายก็คือ“นกที่มีคิ้วหรือขนเหนือตาเด่นชัด”

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย javanicus Horsfield, 1821 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ คือ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดย่อยนี้ครั้งแรกของโลก

สกุลนี้ทั่วโลกพบ 28 ชนิด ในเมืองไทยพบ 4 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามสวนสาธารณะ เรือกสวนไร่นา พื้นที่เปิดโล่งใกล้แหล่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน ตลอดจนบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 800 เมตร ในช่วงนกอพยพ นกที่ทำรังทางภาคเหนือจะอพยพลงใต้ในช่วงฤดูหนาว มาสมทบกับนกประจำถิ่นที่พบได้ตลอดทั้งปีในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออก ส่วนนกที่พบในภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพผ่าน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล จีน ฮ่องกง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

15. นกกาน้ำเล็ก

ชื่อสามัญ : Little Cormorant

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microcarbo niger Vieillot, 1817

ชื่อพ้อง : Phalacrocorax niger Vieillot, 1817

วงศ์ : PHALACROCORACIDAE

นกกาน้ำเล็ก

                              ส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น มีบางส่วนเป็นนกอพยพ มีขนาด 50-54.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) มีขนาดเล็กกว่านกกาน้ำชนิดอื่น ปากยาวเพียง 3-4 ซม. สีเทาแกมเนื้อ ปลายปากเป็นขอเล็กน้อย บริเวณรอบตามีจุดสีขาวขนาดเล็ก คอสั้น มีถุงใต้คางขนาดเล็กสีขาวหรือสีครีม ขนลำตัวสีน้ำตาลดำเหลือบน้ำเงิน ปีกสั้นกว้างแต่แข็งแรง ปีกและขอบขนปีกสีน้ำตาลแกมเทา ปีกยาวไม่เกิน 23 ซม. ปลายปีกมน หางค่อนข้างยาว สีน้ำตาลแกมดำ ปลายหางมน ขาค่อนข้างสั้น เท้ามีพังผืดยึดระหว่างนิ้วคล้ายกับเป็ด โดยยึดตลอดทั้ง4นิ้ว(เป็ดมีพังผืดเพียง3นิ้ว)

ตัวไม่เต็มวัยนั้นลำตัวมีสีจางออกไปทางน้ำตาล คอจนถึงอกตอนบนมีสีขาว ขนคลุมขนปีกสีเทา และปากสีเหลืองปนเทา

ช่วงฤดูผสมพันธุ์บริเวณหัว คอ และลำตัวด้านบนมีสีดำเหลือบน้ำเงินและเขียวเป็นมัน กระหม่อม ขนคลุมหู ท้ายทอย และลำตัวด้านบนมีขนสีขาวแซมเป็นเส้นเล็กๆ ปากเปลี่ยนเป็นสีดำ ถุงใต้คางเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม

บินออกจากรังหรือกลับรังจะบินเป็นฝูง โดยรูปแบบบินจะเป็นรูปหัวลูกศร รูปแถวหน้ากระดาน หรือรูปแถวตอน เป็นนกที่บินได้เก่งและแข็งแรง ขณะบินจะเหยียดคอตรงไปข้างหน้า

ช่วงหาอาหารอาจพบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรือเป็นฝูง สามารถว่ายน้ำได้คล่องแคล่ว ชอบดำน้ำไล่จับปลาเป็นอาหารโดยใช้ปาก เมื่อจับปลาได้ก็จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อจัดตัวปลาให้อยู่ในลักษณะที่กลืนกินปลาทั้งตัวได้ง่าย เมื่อหาปลาจนอิ่มแล้วก็จะขึ้นมายืนเกาะตามตอไม้หรือกิ่งไม้ แล้วกางปีกผึ่งแดดและไซร้ขนให้แห้ง เพราะไม่มีต่อมน้ำมันที่ขนเหมือนเป็ด ขณะที่เกาะนั้นถุงใต้คางมักจะสั่นอยู่ตลอดเวลา

นอกจากปลาที่เป็นอาหารหลักแล้ว ยังพบกินกบ เขียด กุ้ง แมลง และพืชน้ำบางชนิด โดยเฉพาะสาหร่าย

แต่จะเป็นนกที่งุ่มมากเมื่อเดินตามพื้นดิน

นกกาน้ำเล็ก

                              พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีนั้น นกตัวเมียจะเลือกทำเลที่สร้างรัง แล้วกางปีกทั้งสองข้างออกเล็กน้อย แต่ปีกจะตกลงทางด้านข้างของลำตัว ขนหางแผ่กว้างและยกตั้งขึ้น ส่วนคอยืดตั้งตรงแล้วผงกหัวลงพร้อมกับเปล่งเสียงร้อง เมื่อนกตัวผู้บินเข้ามาหาตัวเมียแล้วใช้ปากไซร้ขนให้ตัวเมีย หากตัวเมียไซร้ขนตอบให้ตัวผู้ก็เป็นอันตกลง ตัวผู้ก็จะบินจากไปชั่วครู่ แล้วบินกลับมาข้างตัวเมีย ก่อนทำการผสมพันธุ์กันหลายครั้ง จากนั้นตัวผู้ก็จะบินออกไปหาวัสดุมาทำรัง ส่วนตัวเมียจะรออยู่ที่เดิมราวกับทำการจับจองพื้นที่เพื่อไม่ให้นกตัวอื่นมาแย่ง เมื่อตัวผู้นำวัสดุสร้างรังกลับมาก็จะช่วยกันสร้างรัง

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม ทำรังรวมกันเป็นฝูงใหญ่บนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งอาจจะทำรังร่วมกับนกอื่นๆ เช่น นกยางเปีย นกกาน้ำปากยาว นกอ้ายงั่ว และนกแขวก เป็นต้น รังสร้างขึ้นอย่างหยาบๆ ด้วยกิ่งไม้เล็กๆและกิ่งไผ่มาเรียงซ้อนทับกันคล้ายถ้วย ปูพื้นรองรังด้วยใบไม้หรือหญ้าสด รังมีขนาด 10-15 ซม. แอ่งตรงกลางรังลึกราว 4-7 ซม. รังอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากนกจะคอยเสริมสร้างรังเรื่อยๆเมื่อวัสดุเก่าผุพังลง วางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ขนาดไข่ 2.91 x 4.44 ซม. ไข่รูปรียาว สีเขียวอมฟ้าจางๆจนเกือบเป็นสีขาว และมักมีผงขาวคล้ายผงชอล์กปกคลุม ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง ฟักไข่(ใช้เวลาราว 22-26 วัน) และเลี้ยงดูลูกอ่อน

ลูกนกจะเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง ด้วยการใช้ฟันเจาะออกมา เมื่อออกมาจากไข่ใหม่ๆ ยังไม่มีขนคลุมตัว ยังไม่ลืมตา และขายังไม่แข็งแรง ผิวหนังตามลำตัวและขามีสีน้ำตาลเข้ม หัว ปาก และผังพืดนิ้วมีสีชมพูปนเหลืองอ่อน เมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ จะเริ่มมีขนอุยตามลำตัวด้านบน เมื่ออายุได้ 5 สัปดาห์ จะเริ่มมีขนอุยขึ้นที่หัวและมีขนแข็งปกคลุมร่างกาย พร้อมทั้งเริ่มหัดบินระยะใกล้ๆ

ช่วงที่ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่นกจะหาอาหารมาป้อน ด้วยการสำรอกอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาที่ย่อยแล้วมาไว้ที่โคนปากของตนแล้วอ้าขึ้น ลูกนกก็จะสอดปากหรือมุดหัวเข้าไปในปากพ่อแม่เพื่อจิกกินอาหาร จวบจนลูกนกเดินหรือยืนได้แล้ว พ่อแม่นกก็จะสำรอกอาหารทิ้งไว้ที่พื้นรัง บางครั้งก็เป็นปลาทั้งตัว เพื่อให้ลูกๆจิกกินเอง เมื่อมีอายุได้ 1 ปี ก็จะเป็นตัวเต็มวัยที่สามารถผสมพันธุ์ได้

ชื่อชนิด niger เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า nig,-el,=er,-ra,-resc,-ri,-ro แปลว่า สีดำ ความหมายก็คือ“นกที่มีลักษณะคล้ายอีกาที่มีสีดำ” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 5 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามหนอง บึง แม่น้ำ ทะเลสาบ แหล่งน้ำต่างๆ ท้องนา และป่าชายเลน ทั่วทุกภาค พบมากทางภาคกลาง

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายในปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล ภูฏาน จีน เมียนมาร์ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

16. นกเป็ดผีเล็ก

ชื่อสามัญ : Dabchick ; Little Grebe

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tachybaptus ruficollis Pallas, 1764

วงศ์ : PODICIPEDIDAE

นกเป็ดผีเล็ก

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 25-29 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) รูปร่างทั่วไปคล้ายเป็ด แต่มีขนาดเล็กกว่า ปากเล็กและแหลม ไม่แบนเหมือนเป็ดทั่วไป ปีกสั้นและปลายปีกกลม หางสั้นมากหรือไม่เจริญ มี4นิ้ว หันไปข้างหน้า3นิ้ว และหันไปข้างหลัง1นิ้ว โดยนิ้วด้านหลังมีขนาดเล็กและอยู่ในระดับที่สูงกว่า3นิ้วข้างหน้า นิ้วข้างหน้า3นิ้วมีพังผืดนิ้วแผ่ออกด้านข้างเป็นแบบตีนกลีบ(lobate) ไม่เชื่อมต่อกับนิ้วอื่นๆเหมือนเป็ด ขนตามตัวละเอียดอ่อน

ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ ปากสีเหลืองอ่อน หน้าผาก ท้ายทอย จนถึงหลังมีสีน้ำตาลเข้ม บริเวณหน้า ข้างคอ อก และท้องสีน้ำตาลแกมเหลือง ลำตัวด้านล่างสีจะจางกว่าและค่อนข้างออกเป็นสีขาว เวลาบินจะเห็นสีขาวเป็นลายพาดบริเวณปลายปีกชัดเจนมาก

ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ปากสีดำ มุมปากมีสีเหลือง ตาสีเหลือง บริเวณหน้า ข้างคอ และอกมีสีน้ำตาลแดงเข้ม สีข้างน้ำตาลเข้ม และลำตัวด้านล่างสีเทา

นกวัยอ่อนมีลำตัวสีน้ำตาล ปากสีเหลือง ปลายปากสีดำ มีลายทางสีดำสลับสีขาวที่แก้มและข้างคอ สีปากจะเข้มขึ้นตามวัย

ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์อาศัยอยู่เป็นฝูง ปกติฝูงหนึ่งมีไม่มากนัก แต่อาจพบบางฝูงได้ถึง 100 ตัว ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะพบอยู่เป็นคู่ๆ หรือเป็นครอบครัวเล็กๆประมาณ 5-7 ตัว

เป็นนกที่ชอบหลบซ่อนตัวตามพุ่มไม้ ว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง เพื่อจับปลาและสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังที่อยู่ใต้น้ำเป็นอาหาร เวลาตกใจหรือจวนตัวจะดำน้ำได้นานกว่า 3 นาที และโผล่ไกลจากที่เดิม 15-20 เมตร ปกติจะหนีภัยด้วยการบินเรี่ยๆไปกับผิวน้ำ หรือสูงกว่าผิวน้ำไม่เกิน 3 เมตร โดยบินไปไกลไม่เกินระยะทางไม่เกิน 50 เมตร แต่บางครั้งก็พบบินในระดับสูงพอประมาณ โดยเฉพาะเมื่อบินหลงฝูง หรือเมื่อบินอพยพไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ ไม่ค่อยพบเกาะตามกิ่งก้านของต้นไม้ นอกเหนือจากยืนอยู่บนบกใกล้ริมน้ำเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น

ออกหากินตามบริเวณพื้นน้ำ พืชลอยน้ำ พืชโผล่พ้นน้ำ และป่าหญ้าต่างๆที่อยู่ตามขอบแหล่งน้ำ อาหารส่วนใหญ่ คือ แมลง ราวร้อยละ 40-70 ของอาหารที่กิน นอกจากนี้ยังพบว่ากินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหารอีกด้วย เช่น กุ้ง ปลาขนาดเล็ก กบเขียด เป็นต้น บางครั้งก็พบกินพืชจำพวกสาหร่าย

นกเป็ดผีเล็ก

                              ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน และอาจผันแปรไปได้ตามปริมาณน้ำฝน โดยจะผสมพันธุ์วางไข่ในช่วงที่มีฝนตกมากที่สุดของแต่ละปี ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันทำรังบริเวณพืชลอยน้ำ พืชโผล่พ้นน้ำ หรือพืชที่ขึ้นตามริมน้ำ โดยรังอยู่สูงจากระดับน้ำราว 10-15 ซม. เป็นรังแบบง่ายๆ สร้างหยาบๆ โดยใช้ลำต้นและใบของพืชน้ำจำพวกสาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายข้าวเหนียว จอกหูหนู ดีปลีน้ำ และผักตบชวา มาวางซ้อนทับกันจนแน่น แล้วทำด้านบนให้เป็นแอ่งคล้ายจานรองรับไข่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรังวัดจากขอบนอก 30-35 ซม. วัดจากขอบใน 9-12 ซม. ความลึกของรัง 2-4 ซม.

วางไข่ครั้งละ 3-7 ฟอง ไข่รูปไข่ ขนาดไข่ 2.55 x 3.56 ซม. สีขาว บางครั้งมีสีน้ำตาลเคลือบผิว ซึ่งเป็นผลมาจากพืชที่ปกคลุมไข่ โดยทั้งสองจะช่วยผลัดกันฟักไข่ อีกตัวที่ไม่ได้ฟักไข่ก็จะออกไปหาอาหารและวัสดุมาเสริมรังให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอกจากนี้จะคอยระวังภัยให้ตัวที่ฟักไข่ด้วย เมื่อมีสิ่งรบกวนหรือมีศัตรูเข้ามาใกล้ จะส่งเสียงร้องเตือนให้ตัวที่ฟักไข่รีบคาบวัสดุต่างๆที่อยู่ใกล้ๆรังมาปิดทับไข่เอาไว้ แล้วตัวเองก็จะออกจากรังด้วยการดำน้ำหนีไป เมื่อแน่ใจว่าปลอดภัยก็จะกลับมาฟักไข่ต่อ โดยคาบเอาวัสดุที่ปิดไข่ออกไป

ใช้เวลาฟักไข่ราว 19-24 วัน ลูกนกจะใช้ฟันทีมีลักษณะคล้ายกระดูก สีขาว ตั้งอยู่บริเวณปลายขากรรไกรบนเจาะเปลือกไข่ออกมาเอง โดยจะฟักเป็นตัววันละตัวจนครบฟอง ลูกนกแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 7.2 กรัม มีขนาด 7.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงปลายหาง) มีขนอุยปกคลุมลำตัวสีดำ โดยมีลายเป็นทางสีน้ำตาลแดงสลับขาวจากกระหม่อมถึงท้ายทอย4เส้น ปากสีแดง ขาสีดำ

เมื่อลูกนกออกจากไข่แล้ว พ่อแม่นกจะช่วยคาบเปลือกไข่ไปทิ้งให้ไกลจากรัง หลังออกจากไข่มาได้เพียง 2-3 ชั่วโมง ลูกนกก็แข็งแรงพอที่จะว่ายน้ำเองได้ และบ่อยครั้งจะพบเกาะอยู่บนหลังพ่อแม่ออกไปหากิน ลูกนกจะติดตามพ่อแม่หาอาหารราว 3-4 เดือน ก็จะไปรวมกับนกในครอบครัวอื่นๆเป็นฝูงใหญ่ เมื่อลูกนกมีอายุ 1 ปี ก็โตพอที่จะผสมพันธุ์ได้

เสียงร้องรัวดังว่า“กรี๊รก-กรี๊รกกก”

ชื่อชนิด ruficollis เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือ คำว่า ruf,-esc,-i หรือ rufus แปลว่า สีแดง และคำว่า coll,-i หรือ collis แปลว่า คอ ความหมายก็คือ“นกที่บริเวณคอมีสีแดง” ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศเนเธอร์แลนด์

ทั่วโลกพบ 10 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย poggei Reichenow, 1902 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อของบุคคล ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกที่เมือง Chihli ในประเทศจีน

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 5 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามหนอง บึง ทะเลสาบ ตลอดจนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 800 เมตร หรืออาจพบได้ในบริเวณน้ำกร่อยหรือน้ำทะเลหนุนถึง ทั่วทุกภาค โดยพบมากในภาคกลาง และภาคใต้

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

ชนิดย่อย poggei แพร่กระจายในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

17. นกอีโก้ง

ชื่อท้องถิ่น : นกไก่น้ำ

ชื่อสามัญ : Purple Coot ; Purple Gallinule ; Purple Swamphen ; Purple Waterhen

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Porphyrio porphyrio Linnaeus, 1758

วงศ์ : RALLIDAE

นกอีโก้ง

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 38.5-43 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัวและลำตัวสีน้ำเงินแกมม่วง ปากหนาอวบใหญ่และแบนด้านข้างมีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง โคนสันปากมีกระบังสีแดงจาง ลำตัวด้านบนสีน้ำเงินเหลือบดำแกมเขียว ปีกยาวข้างละ 35.6-38 ซม. ปีกสีฟ้าอมเขียว หรือสีน้ำเงินคล้ำแกมน้ำตาล คอและท้องสีจางกว่า มักเป็นสีฟ้าอมเขียว ก้นและขนคลุมใต้หางสีขาว ขายาวราว 10.4-11.2 ซม. แข้งและตีนสีส้มจนถึงสีแดงสด ขาที่แข็งแรงและนิ้วตีนที่ยาวช่วยให้มันเดินบนกอพืชน้ำและใบบัวได้ดี

ช่วงฤดูผสมพันธุ์ โคนสันปากมีกระบังสีแดงเข้มขึ้น

ตัวไม่เต็มวัยมีสีคล้ำกว่า ปากสีดำ

เป็นนกที่ว่ายน้ำได้ดีแม้ว่าตีนจะไม่มีพังผืดก็ตาม แต่ไม่ค่อยจะพบเห็นสักเท่าใด ส่วนใหญ่จะเดินตามพืชลอยน้ำหรือเดินลุยบนดินเลน บินได้ดีปานกลาง มักบินในระดับที่ไม่สูงและไม่ไกลนัก

พบโดดเดี่ยว เป็นคู่ หรืออยู่เป็นครอบครัว ออกหากินในตอนเช้าตรู่และเย็นค่ำตามป่ากก ป่าจูด หรือป่าหญ้าริมชายน้ำหรือขึ้นในน้ำ  กินอาหารได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เมล็ดพืช และพืชน้ำ โดยเฉพาะยอดอ่อน บางครั้งพ่อแม่นกจะมีลูกจากปีก่อนมาช่วยเลี้ยงลูกที่เกิดใหม่ด้วย

อาหารได้แก่ พืชน้ำ และเมล็ดธัญพืช โดยเฉพาะยอดอ่อนของพืช เวลากินจะใช้ปากดึงพืชขึ้นมาจากน้ำหรือดินเลน แล้วเลือกกินส่วนสีขาวที่ยังอ่อนอยู่ของพืชชนิดนั้น นอกจากนี้ยังกินสัตวส์น้ำ แมลง และหนอน

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม ทำรังรูปคล้ายจานหงายอยู่เหนือผิวน้ำราว 20-60 ซม. เป็นรังแบบง่ายๆและหยาบๆด้วยการใช้ต้นกก จูด หรือหญ้ามาวางซ้อนทับกับบนต้นกก จูด หรือผักตบชวาอีกทีหนึ่ง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางรังวัดจากขอบนอก 30-35 ซม.3 ตรงกลางลึกราว 5-10 ซม. วางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ไข่เป็นรูปไข่ มีขนาด 3.60 x 5.34 ซม. มีสีพื้นเป็นสีขาว และมีลายจุดสีม่วงอมน้ำเงินทั่วทั้งฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันเลือกสถานที่สร้างรัง ทำรัง ฟักไข่(ใช้เวลา 22-25 วัน) และเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนกจะใช้ฟันกะเทาะเปลือกออกมาเอง ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยเปียกแนบชิดปกคลุมลำตัว ลืมตาได้ เมื่อขนแห้งแล้วจะฟูและมีสีดำ ปากสีขาว(ก่อนเปลี่ยนเป็นสีดำ) แข้งและตีนสีแดงจางๆ พ่อแม่นกจะคาบเปลือกไข่ไปทิ้งไกลๆจากรัง ลูกนกจะเดินได้ดีและแข็งแรงเมื่อขนลำตัวแห้ง แม่นกจะพาลูกออกไปหาอาหาร พ่อนกจะคอยระวังอันตรายอยู่ใกล้ๆ อาหารที่ลูกนกกินในระยะแรกจะเป็นแมลงและสัตว์น้ำขนาดเล็ก กินพืชบ้างเฉพาะเมล็ดบัว พ่อแม่นกดูแลลูกราว 60-90 วัน ลูกนกก็จะแยกออกไปหากินตามลำพัง หรือรวมกับครอบครัวอื่นๆ เมื่อมีอายุ 1 ปี จึงจะเป็นตัวเต็มวัยและพร้อมที่จะผสมพันธุ์

นกอีโก้ง

                              เสียงร้องแหบดังว่า“คร้ากก..” ปกติตัวผู้จะร้องเพื่อประกาศอาณาเขตของตนไม่ให้ตัวผู้อื่นเข้ามา แต่หากมีตัวผู้อื่นเข้ามาก็จะไล่จิกตี ทั้งนี้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะร้องบ่อยมากขึ้นเพื่อเรียกความสนใจจากตัวเมีย

ทั่วโลกพบ 13 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบ 2 ชนิดย่อย ได้แก่

– ชนิดย่อย poliocephalus Latham, 1801 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือคำว่า poli,-o หรือ plios แปลว่า สีเทา และคำว่า cephal,=a,-o หรือ –kephalos แปลว่า หัว ความหมายก็คือ“บริเวณหัวมีสีเทา” มีชื่อสามัญว่า Grey-headed Swamphen ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศอินเดีย แพร่กระจายในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน จีน เมียนมาร์ตอนเหนือ และไทย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ประปรายทางภาคเหนือ

– ชนิดย่อย viridis Begbie, 1834 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือคำว่า virid,-esc แปลว่า สีเขียว ความหมายก็คือ“มีสีเขียว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศมาเลเซีย แพร่กระจายในเมียนมาร์ตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย ในเมืองไทยพบชนิดย่อยนี้ประปรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และพบมากทางภาคกลาง

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ประมาณ 10 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบอาศัยตามทุ่งนาใกล้แหล่งน้ำ หนอง บึง ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ราบ แต่สามารถพบได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 1,000 เมตร

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

18. นกอีแพรดแถบอกดำ

ชื่อสามัญ : Pied Fantail

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhipidura javanica Sparrman, 1788

วงศ์ : RHIPIDURIDAE

นกอีแพรดแถบอกดำ

                              เป็นนกประจำถิ่น มีขนาด 17.5-19.5 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) ลำตัวด้านบนสีดำ หลังสีเทาเข้มจนถึงสีดำแกมน้ำตาล คิ้วสั้นและบางมีสีขาว คอและลำตัวด้านล่างสีขาว มีแถบกว้างสีดำพาดอกตอนบน ท้องสีขาวแกมสีเนื้อ หางสีดำ ปลายหางสีขาว

ตัวไม่เต็มวัยนั้นปีกมีลายพาดสีน้ำตาลแดง แถบพาดที่อกตอนบนมีขนาดเล็กและมีลายสีขาว ตะโพกและขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีน้ำตาลแกมน้ำตาลแดง

มักเกาะหรือกระโดดไปมาตามกิ่งไม้ระดับต่ำ ไม้พุ่ม ไม้พื้นล่าง หรือตามพื้นดิน บางครั้งพบเกาะตามเรือนยอดไม้สูง ขณะเกาะหรือกระโดดไปมานั้นมักยกหางขึ้นเล็กน้อยแล้วแผ่ขนหางเป็นรูปพัด

อาจพบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ มีพฤติกรรมค่อนข้างก้าวร้าวในการป้องกันอาณาเขตของตน หากมีตัวใดตัวหนึ่งที่ไม่ใช่คู่ของมันหลงเข้ามาในอาณาเขตที่มันครอบครองอยู่ จะใช้วิธีส่งเสียงร้องและไล่จิกตีให้ออกไป โดยใช้พฤติกรรมเช่นนี้กับนกชนิดอื่นและสัตว์อื่นๆอีกด้วย

อาหารได้แก่ หนอน และแมลงขนาดเล็ก โดยจิกกินตามกิ่งไม้ ยอดไม้ พื้นดิน หรือโฉบจับกลางอากาศใกล้ๆกับที่เกาะ

ช่วงฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤษภาคม – เดือนกรกฎาคม ทำรังเป็นรูปถ้วยกลมตามกิ่งก้านของต้นไม้หรือไม้พุ่มที่แตกกิ่งขนานไปกับพื้นดิน โดยอยู่สูงจากพื้นดินราว 2-6 เมตร ขนาดรังกว้างราว 7-8 ซม. และลึกราว 2-4 ซม. วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยกิ่งไม้เล็กๆ ใบไม้ ใบหญ้า เปลือกไม้ หรืออาจมีเส้นใยมะพร้าว ซึ่งจะเชื่อมและอัดกันแน่นด้วยใยแมงมุม สร้างรังด้วยการใช้ใบไม้หรือใยมะพร้าวมาผูกติดกับกิ่งไม้ แล้วใช้กิ่งไม้ ใบไม้ และใบหญ้ามาโค้งเป็นรูปรัง จากนั้นใช้ใบไม้หรือเปลือกไม้มาห่อหุ้มรังด้วยการใช้ใยแมงมุมเป็นตัวเชื่อมจนรังหนาแน่นและแข็งแรง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาดไข่ 1.345 x 1.65 ซม. สีน้ำตาลอ่อน และมีจุดสีน้ำตาลเข้มโดยรอบไข่บริเวณด้านป้าน ใช้เวลาฟักไข่ราว 12-13 วัน ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆไม่มีขนคลุมร่างกายและยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ลูกนกมีอายุราว2สัปดาห์จึงมีขนคลุมร่างกายและบินได้ ช่วงนี้ยังออกหากินร่วมกันเป็นครอบครัว ก่อนจะแยกออกไปหากินตามลำพัง ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันสร้างรัง ฟักไข่ และเลี้ยงดูลูก่อน

เสียงร้องเป็นเสียงสูงและเน้นพยางค์สุดท้าย ดังว่า“ชิบ-ชิบ-ชิวิก” บางครั้งร้องสูงต่ำเป็นท่วงทำนองคล้ายนกกางเขนบ้าน ดังว่า“ช-แอ่ด ช-แอ่ด”

ชื่อชนิด javanica เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่ที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก คือ เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

ทั่วโลกพบ 3 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย longicauda Wallace, 1865 ชื่อชนิดย่อยเป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำ คือคำว่า long,-i หรือ longus แปลว่า ยาว และคำว่า caud,=a แปลว่า หาง ความหมายก็คือ“นกที่มีหางยาว” ชนิดย่อยนี้พบครั้งแรกบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 63-64 ชนิด ในเมืองไทยพบ 5 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบอาศัยตามสวนสาธารณะ สวนผลไม้ ป่าชายเลน ทุ่งโล่ง ตลอดจนพื้นราบจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 450 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ และพบบางพื้นที่ทางภาคเหนือ

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

ชนิดย่อย longicauda แพร่กระจายในเมียนมาร์ ไทย กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

19. นกช้อนหอยดำเหลือบ

ชื่อสามัญ : Glossy Ibis

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plegadis falcinellus Linnaeus, 1766

วงศ์ : THRESKIORNITHIDAE

นกช้อนหอยดำเหลือบ

                              เป็นทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพ ลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับนกช้อนหอยดำ(White-shouldered Ibis) และนกช้อยหอยดำใหญ่(Giant Ibis) แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีขนาด 55-65 ซม.(วัดจากปลายปากตลอดลำตัวถึงขนหางเส้นที่ยาวที่สุด) หัว คอ และลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม รอบใบหน้าเป็นเส้นสีขาวแกมฟ้า มีลายขีดสีขาวกระจายที่หัวและคอ ปากโค้งยาวสีเหลืองคล้ำ ปีกและหลังตอนท้ายสีเขียวเข้มเหลือบสีทองแดงและสีม่วงเป็นมัน ช่วงไหล่และปีกมีแถบสีขาว แข้งและตีนสีน้ำตาลเข้ม

ช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้น หัว คอ และลำตัวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มแกมม่วง หน้าผากสีเขียวเข้ม ไม่มีลายขีดสีขาวกระจายที่หัวและคอ เส้นรอบใบหน้ามีสีฟ้าอ่อนเห็นชัดเจนขึ้น ปากสีน้ำตาลอ่อนกว่าช่วงปกติ ปีกและหลังตอนท้ายสีเขียวเหลือบเป็นมันและแกมสีม่วงมากขึ้น

ตัวไม่เต็มวัยมีสีหม่น ไม่มีเส้นรอบใบหน้า หัวและคอมีลายขีดสีขาวแกมเทาหนาแน่น ขนปีกไม่เหลือบเป็นมัน หรือเป็นมันเพียงเล็กน้อย

ออกหากินและอาศัยอยู่เป็นฝูง ฝูงหนึ่งอาจมีมาก 40-50 ตัว เดินหากินบริเวณน้ำตื้น หรืออาจลึกถึงท้อง ใช้ปากชอนไชในน้ำและตามโคลน อาหารได้แก่ หอยวัยอ่อนตัวเล็กๆ ปลา ปู กุ้ง กบ เขียด งู แมลง หรือแม้กระทั่งลูกนก หลังจากกินอิ่มแล้วจะบินไปเกาะตามกิ่งไม้เพื่อพักผ่อนและหลับนอน ซึ่งอาจอยู่ใกล้หรือไกลจากแหล่งหากิน

แต่ก่อนนกชนิดนี้เป็นเพียงนกอพยพในช่วงฤดูหนาว แต่เมื่อราวๆสิบปีที่ผ่านมาเริ่มมีประชากรของนกชนิดนี้มาตั้งรกรากทำรังวางไข่ในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ปัจจุบันเป็นนกที่พบได้ประจำตลอดทั้งปี แถมยังดูจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถพบได้เป็นฝูงใหญ่ในจังหวัดอื่นๆทางภาคกลาง เช่น พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานพบฝูงเล็กๆในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ไกลถึงจังหวัดพัทลุง และจังหวัดเชียงใหม่

นกช้อนหอยดำเหลือบ

                    ชื่อชนิด falcinellus เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ คำว่า falc,-i แปลว่า เคียว และคำว่า ellus แปลว่า เล็กน้อย ความหมายก็คือ“นกที่มีปากโค้งเล็กน้อย” ซึ่งคล้ายๆกับความหมายของชื่อสกุล ชนิดนี้พบครั้งแรกของโลกในประเทศออสเตรีย และประเทศอิตาลี

ทั่วโลกพบ 2 ชนิดย่อย ในเมืองไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ ชนิดย่อย falcinellus Linnaeus, 1766 ชื่อชนิดย่อยมีความหมายเช่นเดียวกับชื่อชนิด

ทั่วโลกพบนกสกุลนี้ 3 ชนิด ในเมืองไทยพบเพียงชนิดเดียว โดยพบตามทุ่งนา พื้นที่ชุ่มน้ำ และหาดโคลนชายทะเล โดยพบมากทางภาคกลาง และพบประปรายทางภาคเหนือและภาคใต้

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2546

แพร่กระจายกว้างขวางตั้งแต่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา ทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย และกระจายเป็นหย่อมๆไปจนถึงออสเตรเลีย

………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..